Sunday, June 13, 2010

ยิ่งปรองดอง ยิ่ง"แตกแยก"

ที่มา ข่าวสด


เข้าสู่บรรยากาศของฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้

หลายต่อหลายครั้งที่การเมืองเคร่ง เครียด แต่ก็พลิกเปลี่ยนทันทีเมื่อเข้าสู่เทศกาลฟาดแข้งที่ 4 ปีมีครั้ง

แต่ครั้งนี้ปีนี้ ความขัดแย้งลึกซึ้งและเข้มข้นกว่าที่ผ่านๆ มา

อุณหภูมิอาจจะลดลงบ้าง แต่ก็เพื่อรอเวลาปะทุใหม่อีกครั้ง

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงเป็นเรื่องการสลายม็อบเสื้อแดง

ตลอดทั้งเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิต 90 ชีวิต บาดเจ็บนับพันคน

เป็นบาปลึกในใจผู้เกี่ยวข้อง เหมือนกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กับกรณีฆ่าตัดตอน, ตากใบและกรือเซะ

จุดอ่อนในการชุมนุมของเสื้อแดง คือการมีกองกำลัง การไม่ยุติการชุมนุมในจังหวะอันควร และเกิดความเสียหายมหาศาลจากการเผาสถานที่ต่างๆ

กลายเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลใช้อ้างความชอบธรรม เพื่อให้ตนเองได้อยู่ในตำแหน่งต่อไป

ทั้งที่โดยความรับผิดชอบ นักวิชาการบางคนชี้ว่า รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์แจกปลากระป๋องเน่าให้ประชา ชนยังต้องลาออกมาแล้ว การสลายม็อบมีคนตายร่วมร้อยคนเป็นเรื่องใหญ่กว่ากันมาก แต่นายกฯยังไม่แสดงความรับผิดชอบ

ท่ามกลางความแตกร้าวของคนในชาติ ก็ไม่แปลกที่รัฐบาลจะชูธง "ปรองดอง" ผืนใหญ่เป็นพิเศษ

นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ประกาศแผนปรองดอง พร้อมกับมีชื่อของบุคคลต่างๆ มาทำหน้าที่ต่างๆ

อาทิ นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด มาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการชุมนุมของเสื้อแดง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มาเป็นประธานกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยังจะไปทาบทามนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย หลังจากที่นายอานันท์ปฏิเสธตำแหน่งประธานสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชุมนุมไปแล้ว

เห็นชื่อก็นึกออกว่าฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จะตอบรับแผนการปรองดองหรือไม่

เลยต้องมีการออกตัวว่า อยากจะเชิญคนเสื้อแดง หรือไปพบคนเสื้อแดงเพื่อขอฟังความคิดเห็น

เป็นงานระดับอภิมหาโปรเจ็กต์ ซึ่งคงต้องประชุมกันอีกยาวนานหลายเดือน ไม่ว่าบทสรุปจะออกมาอย่างไร ก็ทำให้ปฏิทินงานของนายกฯและรัฐบาลเต็มขึ้นมา

ถามว่าใครได้ประโยชน์

รัฐบาลรับไปเต็มๆ เพราะได้ซื้อเวลา ยืดอายุออกไปอีก

และใช้เวลาที่ได้มา ควบคุมผลสะเทือนจากการสลายม็อบ ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด

หากรัฐบาลจริงใจที่จะดำเนินแผนปรองดอง ห้วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสดียิ่งของรัฐบาล

เพราะแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.อยู่ในช่วงพักรบ

แกนนำบ้างถูกจับ บ้างถูกควบคุมตัวและบ้างก็หลบหนี ขณะที่รัฐบาลยังใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การรวมตัวยังทำไม่ได้

ถ้าหากรัฐบาลต้องการเจรจา ก็นับว่าบรรยากาศเป็นใจ

แต่รัฐบาลดูจะสนใจใช้โอกาสไปในเรื่องของการเช็กบิลมากยิ่งกว่า

การใช้กฎหมายของรัฐบาลเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องสนับสนุน

แต่ควรจะทำอย่างตรงไปตรงมา ด้วยมาตรฐานเดียวกันหมด

ความฉับไวในการติดตามผู้ต้องหาคดีต่างๆ ระหว่างการชุมนุม แสดงให้เห็นถึงสมรรถนะของเจ้าหน้าที่รัฐ

แต่ก็ทำให้เกิดคำถามเช่นกันว่า ในคดีสำคัญอย่างคดียึดสนามบินทำไมแตกต่างออกไป

ที่น่าวิตกอย่างยิ่ง คือการยกระดับการเช็กบิล จากติดตามตัวมาดำเนินคดี กลายเป็นการไล่ล่าใช้อำนาจทมิฬ ตามสังหาร

สดๆ ร้อนๆ คือกรณีมือปืนควบปิกอัพไปลั่นกระสุนสังหารนายศักรินทร์ กองแก้ว หรืออ้วน บัว ใหญ่ แกนนำนปช.โคราช เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา

หากการตามเข่นฆ่า กระทำโดยแวดวงอำนาจฝ่ายรัฐบาล แผนการปรองดองของรัฐบาล ซึ่งดูเป็นหัว ข้อการประชุมหรือการปาฐกถา มากกว่าจะเป็นแผนงานที่หวังผลทางปฏิบัติอยู่แล้ว

โอกาสที่ความปรองดองจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งยากอยู่แล้ว ก็ยิ่งมืดมน

สถานการณ์หลังการปรับครม. ของรัฐบาล แม้รัฐบาลกับทหารผนึกกำลังกันได้เหนียวแน่น

โดยเฉพาะในการปกป้องปฏิบัติการสลายม็อบที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด

แต่ในแง่เสถียรภาพ ไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่าเข้มแข็ง

การปรับครม.ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 31 พฤษภา คม และ 1 มิถุนายน ไม่ได้ทำให้รัฐบาลแข็งแกร่งขึ้น

การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ทำให้รัฐบาลสูญเสียมิตรสหายไปไม่น้อย

ฝ่ายค้านได้อภิปรายถึงปัญหาการทุจริตในกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคม

จนเกิดปรากฏการณ์ส.ส.พรรค เพื่อแผ่นดินไม่ยกมือไว้วางใจ 2 รัฐมนตรี จากพรรคภูมิใจไทย

แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากกลุ่มโคราชและหนองคาย พรรคเพื่อแผ่นดินต้องพ้นจากรัฐบาลไป

เท่ากับรัฐบาลได้วางเฉยต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งที่ได้ประกาศสัญญาประชาคมไว้อย่างเข้มข้น

ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของคนเสื้อแดง ก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

ความคิดที่จะกลับมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลก็ยังดำรงอยู่

ทั้งสองประการ ส่งผลกระทบต่ออนาคตของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าใหม่ล่าสุดว่าจะอยู่ครบเทอม

ด้วยปัญหาเหล่านี้ พื้นที่อันตรายของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นอีก

ไม่เฉพาะแค่จังหวัดเสื้อแดงที่รัฐบาลจะเหยียบย่างไปไม่ได้เท่านั้น

บางพื้นที่อย่างในสภาผู้แทนฯ เมื่อจำนวนส.ส.รัฐบาลไม่แน่นอน ก็กลายเป็นพื้นที่อันตรายไปด้วย

ความแตกแยกในสังคม บีบให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเจรจาปรองดอง

ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเลือกปรองดองอย่างแท้จริง

หรือแค่ต้องการสร้างภาพว่าปรองดองเท่านั้นเอง