Sunday, October 9, 2011

วรเจตน์ ภาคีรัตน์" เดินหน้าหยุดระบบปฏิวัติ

ที่มา มติชน



คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน โดย การ์ตอง มติชน



หลังเปิดความคิดคณะนิติราษฎร์ ที่ออกมาเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีกำหนดโทษคนทำรัฐประหาร จนส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันเข้มข้นและกว้างขวางสั่นสะเทือนไปทั้งวง การวิชาการ ระดับที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทบจะนั่งไม่ติดเก้าอี้

"วรเจตน์ ภาคีรัตน์" หัวขบวนนิติราษฎร์ ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ประกาศว่าสัปดาห์หน้าจะเปิดประเด็นเพื่อเคลื่อนต่อ

"การทำให้ระบอบประชาธิปไตยยั่งยืน การปรับความคิดเป็นเรื่องสำคัญ ปูฐานความคิดให้คนเห็นภาพ ที่สุดจะทำให้ประเทศไปในทิศทางประชาธิปไตยได้" คือบทสรุปทั้งเป้าหมาย และวิธีการของ อาจารย์วรเจตน์แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความยุ่งยากของการบริการจัดการประเทศนี้ ถ้าจะว่ากันแบบตรงไปตรงมาคงต้องสรุปว่า เกิดจากความสับสนในรูปแบบการปกครอง

ไม่รู้ว่าจะบริหารจัดการชาติด้วยระบบไหนดี

ทางหนึ่ง เดินตามอารยประเทศ ด้วยการประกาศตัวเป็น "ประชาธิปไตย"

แต่อีกทางหนึ่งก็ช่วยกันปลุกระดมความคิด ความเชื่อ ว่านักการเมืองเป็นกลุ่มคนเลวร้าย แย่งชิงอำนาจกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

เป็นกลุ่มคนที่ต้องกีดกันไม่ให้เข้ามามีอำนาจ

เมื่อระบอบประชาธิปไตย เป็นระบบการปกครองที่กำหนดให้นักการเมืองเป็นผู้แทนประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อ

ประชาชนเลือกใครเข้ามา กลุ่มคน หรือที่เรียกว่าพรรคนั้นถือว่าได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้เป็นผู้บริหารชาติ จนกว่าจะพ้นวาระ

โดยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดกำหนดไว้ชัดเจน

แต่เพราะมีบางกลุ่มบางพวกพยายามปลุกความคิดไม่ไว้วางใจนักการเมือง ประกอบกับนักการเมืองเองบางคนมีพฤติกรรมส่อไปในทางแสวงประโยชน์

ประชาชนส่วนหนึ่งจึงชื่นชมยินดีที่ "กองทัพ" ทำการรัฐประหาร ขับไล่รัฐบาลจากพรรคการเมืองให้พ้นอำนาจ และฉีกกฎหมายสูงสุดทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่า

ขณะเดียวกันก็มีประชาชนอีกฝ่าย ที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจให้ประชาชน ผสานเสียงกับแรงกดดันจากอารยประเทศ

ทำให้รัฐบาลทหารไม่เคยไปรอด ต้องแปลงร่างมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย บ่อยครั้งที่พยายามหารูปแบบ เชิดพรรคการเมืองบางพรรคขึ้นมาอยู่ข้างหน้า

แต่ที่สุดก็ไม่รอด ต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง ให้รัฐบาลจากพรรคการเมืองกลับเข้ามา แล้วหาทางทำลายใหม่

สภาพที่การเมืองวนไปเวียนมากับสองระบบเช่นนี้ ไม่เพียงทำให้ประเทศไม่พัฒนา แต่ยังทำให้เกิดการปะทะ มีการใช้กำลังรุนแรงกับประชาชน จนต้องสูญเสียเลือดเนื้อ และชีวิตมาหลายครั้งหลายหน

จนไทยเป็นเหมือนประเทศที่ไม่เคยเข็ดหลาบกับการไม่ทำให้การบริหารประเทศไปทางใดทางหนึ่ง

จะมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ ประชาชนต้องเลิกสับสนไปเรียกหา อำนาจนอกระบบ

การจะทำเช่นนั้นได้ ต้องสร้างความคิดให้ประชาชนอย่างจริงจัง

เป็นความคิดที่จะร่วมกันหากลไกสกัดกั้นไม่ให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นมาอีก

เพื่อหยุดการสูญเสียซ้ำซาก

"อาจารย์วรเจตน์" และ "คณะนิติราษฎร์" กำลังเดินต่อเนื่อง

เพื่อประเทศไทยปลอดการปฏิวัติรัฐประหารอย่างถาวร