Thursday, December 20, 2007

จ้องเล่น“ทักษิณ”สนช.ผ่านฉลุยสัญญาข้ามชาติ

สนช. พิจารณาเป็นวาระด่วน เห็นชอบให้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านทุจริต หวังเป็นช่องทางนำตัว “ทักษิณ กลับมาขึ้นศาลไทย นิตย์ ระบุถือเป็นความก้าวหน้าในเวทีต่างประเทศ พร้อมผลักดันเร่งออกกฎหมาย 3 ฉบับรองรับ


การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงเช้าวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ รองประธาน สนช. คนที่ 1 ได้นั่งทำหน้าที่ประธาน โดยที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องด่วน การให้ความเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ


นายนิตย์ พิบูลสงคราม รมว.ต่างประเทศ กล่าวชี้แจงว่า เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่นได้สร้างความเสียหายและชื่อเสียงของประเทศ ดังนั้นการที่ไทยจะเข้าไปเป็นภาคีในอนุสัญญาถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ดีในเวทีต่างประเทศ เพื่อร่วมมือในการต่อต้านการทุจริต


ทั้งนี้ จะต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มเติม ฐานความผิดเรื่องการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือสินบนข้ามชาติ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวกับอายุความ โดยให้หยุดอายุความในกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างประเทศ เมื่อกลับมาดำเนินคดีก็ให้นับอายุความ


และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา พ.ศ.2535 เพิ่มเติมหลักการการติดตาม อายัด ยึดทรัพย์ ริบทรัพย์ ผู้ต้องหาที่นำออกไปไว้ที่ต่างประเทศ ตามมูลค่าที่ทุจริต ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ ทางกระทรวงยุติธรรมได้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามอนุสัญญาได้


ด้าน นายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ได้ศึกษาร่างอนุสัญญาแล้ว พบว่าอาชญากรข้ามชาติมีคดีหลายประเภท ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินการของภาครัฐและเอกชน ที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด การฟอกเงิน ปัญหาการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าหากออกกฎหมายทั้ง 3 ฉบับและมีการลงสัตยาบันแล้ว จะสามารถดำเนินการตามพันธกิจในการปราบปรามการทุจริตได้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกหลายคน เช่น นายโคทม อารียา นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายสมชาย แสวงการ นายภัทระ คำพิทักษ์ ได้อภิปรายสนับสนุนการลงสัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว แต่ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ผู้ที่กระทำความผิดการฟอกเงิน เรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการฟอกเงิน โดยได้หยิบยกกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะสามารถติดตามยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ที่ยักย้ายถ่ายโอนไปยังบริษัทการเงินต่างประเทศ เช่น ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้น หรือบางประเทศในกลุ่มอาเซียน การทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย และจะสามารถใช้อนุสัญญาดังกล่าวเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่


นอกจากนี้ ในคดีบีบีซี ที่รัฐบาลไทยไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษและตามยึดทรัพย์สิน จะยังใช้อนุสัญญาในการดำเนินการได้หรือไม่


นายนิตย์ ชี้แจงว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นประเด็นที่รัฐบาลจะต้องตกลงกับประเทศคู่กรณี ซึ่งประเทศได้มีการทำสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 10 ประเทศ โดยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ทั้ง 2 ประเทศที่เป็นคู่กรณีจะต้องมีประมวลกฎหมายอาญาที่สอดคล้องกันด้วย และถึงไม่มีกฎหมายที่ไม่สอดคล้อง ก็สามารถที่จะเจราต่อรองกันได้


ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเรื่องของการส่งตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย ในเรื่องนี้ต้องมีการหารือกับประเทศนั้นโดยใช้วิธีการฑูต แต่ในเรื่องการลงสัตยาบันในอนุสัญญา เป็นการเสริมสร้างการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีประสิทธิภาพได้ นอกจากนี้ การเจรจาจะต้องผ่านวิธีการฑูต โดยกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ต้องกระทำเช่นเดียวกัน


ในที่สุด ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ด้วยคะแนน 136 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากนั้นได้มีมติเลื่อนการพิจารณาให้ความเห็นชอบการสมัครเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงปารีส ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม และสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านสิทธิบัตร โดยที่ประชุมเห็นว่าควรจะพิจารณากฎหมายที่ค้างการพิจารณาให้เสร็จก่อน


อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้


1.ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้สัตยาบันให้ไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอาเซียน ว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย (ASEAN Convention on Counter Terrorism – ACCT)


2.ให้ศูนย์ประสานความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายสากลและอาชญากรรมข้ามชาติ (ศกอช.) สังกัดสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหน่วยงานประสานงานกลางของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภายใต้อนุสัญญาตามข้อ 15 ของอนุสัญญาฯ


3.ให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานดำเนินการแจ้งภาคีที่เกี่ยวข้อง กรณีมีการจับกุมตามข้อ 8 วรรค 6 ของอนุสัญญาฯ