
เหตุที่ยังไม่สามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งจำเป็นต้องให้ระยะเวลาสำหรับผู้ร้องคัดค้านการเลือกตั้ง และรอเวลาในการพิจารณาการให้ "ใบเหลือง" และ "ใบแดง" ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ คณะกรรมการการเลือกตั้งคงจะทยอยประกาศรับรองผลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกมาได้แล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีไปจัดตั้งรัฐบาล โดยมีกำหนดเวลาให้ไม่เกิน 30 วัน หลังการเลือกตั้ง
ภารกิจต่อไปทางการเมืองของประเทศไทย จึงเป็นการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารประเทศ โดยในขณะนี้ได้เกิดสูตรการจัดตั้งรัฐบาลหลายสูตร เพราะผลการเลือกตั้งที่ปรากฏออกมา ไม่มีพรรคการเมืองใดได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่า 240 คน หรือเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะมีเสียงถึง 232 เสียง แต่ก็มีกระแสข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆ ว่าพรรคพลังประชาชนอาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ได้ หากพรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคประชาราช และพรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมตัวกันไปโหวตให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองที่ยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ดังนั้น เมื่อผลการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเกินกว่าร้อยละ 70 เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรจำนวนเกินกว่า 200 คน ย่อมแสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีเจตจำนงที่จะให้พรรคพลังประชาชนบริหารราชการแผ่นดิน โดยหวังว่าพรรคพลังประชาชนจะนำพาประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤตความแตกร้าวขัดแย้ง ให้พ้นจากสภาพปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า และให้พ้นจากภาวะทางสังคมที่เสื่อมทรุด
ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชาชนเองก็ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนมีความเหมาะสมจะนั่งตำแหน่งผู้นำรัฐบาล โดยมีการประกาศมาตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่พรรคพลังประชาชนก็ประกาศสิ่งที่จะทำทางการเมือง 2 ประการใหญ่ๆ คือ 1.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 แล้วยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ และ 2.จะนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจำนวน 111 คน รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยให้พ้นผิด และสามารถกลับมาทำหน้าที่เป็นนักการเมืองได้อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อเป็นเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่ จึงไม่น่าจะมีเหตุผลอันใดที่จะไปปิดกั้นมิให้พรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และไม่น่าจะมีเหตุผลใดอีกเช่นกันที่จะปฏิเสธการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ยกเว้นแต่เพียงนายสมัครจะปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง หรือคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนเล็งเห็นว่า นายสมัครไม่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีการนำเสนอรายชื่ออื่นแทน นั่นก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาเช่นนี้ กลุ่มก้อนใดที่คิดจะปฏิเสธเสียงประชามติก็ควรจะหยุดยั้ง และยอมรับผลการเลือกตั้งเสีย ปล่อยให้พรรคพลังประชาชนและนายสมัคร สุนทรเวช ได้ทำหน้าที่ตามที่ได้ลั่นวาจาและสัญญาไว้กับประชาชน โดยเฉพาะการประกาศนโยบายในหลายรูปแบบ ซึ่งพรรคพลังประชาชนมั่นใจว่าสามารถจะทำได้ เช่น การเพิ่มรายได้ 4 เท่า และการลดรายจ่ายลงอีก 4 เท่า ขณะที่พรรคการเมืองลำดับ 3 เป็นต้นไปก็ควรจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนประสบความสำเร็จ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยืนผงาดบนเวทีโลกได้อีกคำรบหนึ่ง