
วันนี้ (9 พ.ค.) วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เปิดเวทีสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “แก้ ไม่แก้ รัฐธรรมนูญ คนไทยได้อะไร” ที่ห้องประชุม ดร.เกริก ชั้น 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในอดีต ปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางในการคาดการณ์ถึงสถานการณ์การเมืองไทยในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลต่อประชาชนชาวไทยทุกคน
ทั้งนี้ มีวิทยากรเข้าร่วมในการสัมมนา อาทิ รศ.สมชาย ภคภาควิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ อ.วรพล พรหมิกบุตร คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ขณะที่มีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสัมมนาวันนี้ ประมาณ 300 คน
รศ.ดร.วรพล พรหมมิกบุตร อ่านแถลงการณ์ แนวทางการสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยด้วยวิธีสมานฉันทร์ที่ยึดระบบของปวงชนชาวไทยเป็นใหญ่กว่าประโยชน์ของพรรคและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ตามที่ตนได้วิเคราะห์และนำเสนอให้ทราบไปแล้วว่า รธน. 50 เป็นรัฐธรรมนูญแบบกึ่งเผด็จการที่จัดวางตำแหน่งและอำนาจให้แก่กลุ่มอำนาจธนาธิปไตยใหญ่กว่าอำนาจของปวงชนชาวไทย โดยกำหนดบทบัญญัติรองรับวงจรอุบาทก์การแต่งตั้งสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่มีการใช้ รธน. ฉบับดังกล่าว อำนาจธนาธิปไตยใหญ่กว่าอำนาจของปวงชนชาวไทย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจการปลด การถอดถอนผู้ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้าไป รวมไปถึงอำนาจการยกโทษล่วงหน้าให้แก่กลุ่มสมาชิกเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ทั้งที่ความผิดยังไม่เกิด หรือความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว
รศ.ดร.วรพล กล่าวต่อว่า ยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำคัญต่างๆ ตามที่กลุ่มการเมืองหรือบุคคลสำคัญๆ นำเสนอแล้วเห็นว่า ล้วนแต่เป็นวิธีการที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เป็นวิธีการที่ควรผสมผสานโดยมีขั้นตอนที่เหมาะสม ดังนี้คือ นำสาระสำคัญของ รธน. 40 เดิม ซึ่งมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากกว่ามาบังคับใช้แทน รธน.50 โดยเร็ว เพื่อให้บุคคลจากวงจรอุบาทก์ไม่สามารถใช้อำนาจหรืออำนาจประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทยได้ ซึ่งวิธีการนำ รธน.40 กลับมาใช้โดยเร็ว คือ การแก้ไขตามอำนาจของรัฐสภาตามมาตรา 291 เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาขณะนี้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยสามารถที่จะถ่วงดุลเฉลี่ยน้ำหนักเสียงข้างมากข้างน้อยในสภาได้ การนำ รธน.40 มาใช้แทน รธน.50 จึงไม่จำเป็นต้องตั้ง สสร.3 (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีลงประชามติ เพราะว่าประชามติจะแฝงอยู่ในตัวแทนของประชาชนในรัฐสภาแล้ว
ประการต่อมา หากจะมีการแต่งตั้ง สสร.3 เห็นควรให้การแต่ตั้งโดยอยู่บนพื้นฐานของ รธน.40 ที่นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อไม่ให้บุคคลที่มาจากวงจรอุบาทก์เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการสรรหาแต่งตั้ง ทั้งนี้ สสร. 3 สามารถดำเนินการศึกษาข้อดีข้อเสียดังกล่าวแล้วปรับปรุงแก้ไข และสร้าง รธน.ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในประเด็นนี้ที่พรรคประชาธิปัติย์บอกเป็นจุดอ่อนใน รธน.50 เดิม เรื่องการตรวจสอบก็สามารถเข้าไปแก้ไขได้ตอนนั้น แต่ต้องนำ รธน.40 กลับมาใช้ก่อน
อย่างไรก็ดี เห็นว่าหลังจาก สสร.3 ศึกษา และร่าง รธน. ของ สสร.3 ใหม่แล้ว ยังไม่ให้บังคับใช้ทันทีจนกว่าจะผ่านการพิจารณาของสภาฯ และจนกว่าจะได้รับประชามติจากพี่น้องประชาชน
รศ.ดร.วรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ลำดับที่นำเสนอ คือ ใช้กระบวนการในรัฐสภาโดยอาศัยเสียงข้างมากในสภาทั้งสองสภาร่วมกันนำ รธน.40 กลับมาใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดมาจากอำนาจเผด็จการ ส่วนที่บางกลุ่มขอเวลาออกไปอีก 1 ปี น่าวิตกกังวลว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นอีก เนื่องจากขณะนี้ รธน.50 ส่งผลให้เกิดผลเสียและกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างมาก และเมื่อมี รธน.40 ฉบับใหม่ กลับมาใช้แล้วจะใช้ฐานของ รธน.ฉบับดังกล่าวไปร่าง รธน.ฉบับใหม่โดยตั้ง สสร.3 ได้ หลังจากนั้นจึงทำประชามติ
ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าว จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือแม้แต่ นปช. เพราะเป็นการนำข้อเสนอของทุกฝ่ายมารวมกัน ซึ่งหากเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งก็ไม่น่าจะขัดแย้ง
