
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.00 น.พรรคพลังประชาชน ภาคกทม.จัดสัมมนาเรื่อง “การบริหารจัดการภาคกทม.” โดยผู้ที่เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคพลังประชาชน โดยมีนายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานภาค กทม.เป็นประธานการประชุม และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาร่วมบรรยาย โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า สมัยที่เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอให้พรรคผลักดัน พ.ร.บ.เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. แต่ก็ได้รับการคัดค้าน ซึ่งเป็นความตั้งใจมานานที่อยากจะเปลี่ยนแปลง กทม. เพราะการบริหาร กทม.เปรียบเหมือนการบริหารอำนาจ 3 ส่วน คือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ทั้งยังมีงบประมาณจำนวนมากโดยมีผู้ว่าฯ กทม.เป็นเหมือนนายกรัฐมนตรี
“ที่ผ่านมาภารกิจของผู้ว่าฯ กทม. มีจำนวนมาก แต่การบริหารงบประมาณขาดธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการตรวจสอบ จึงขอเสนอแนวทางเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการ กทม.โดยควรจัดตั้งกระทรวงนครหลวงจำนวน 50 เขต รวมเขตรอบตะเข็บปริมณฑลบางส่วนมาเป็นเขต กทม.ด้วย มีรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารจัดการ และเมื่อมีการเพิ่มเขตปกครอง นายกเทศบาลแต่ละเขตก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้เคยคิดร่วมกับนายพิจิตต รัตตกุล สมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ควรแบ่งพื้นที่ กทม.ออกเป็น 4 ส่วน คือ ฝั่งพระนคร 3 ส่วน ฝั่งธนบุรี 1 ส่วน ซึ่งอาจมีการเลือกตั้งผู้ว่า ฯ ให้ดูแลจำนวน 4 คน การจัดตั้งเทศบาลนครหลวงจำนวน 12-50 เขต ตามเกณฑ์ประชากร เพื่อกระจายอำนาจให้ประชาชนได้เลือกผู้ปกครอง และมีความใกล้ชิดกับผู้บริหารมากขึ้น รูปแบบการจัดตั้งกระทรวงเหมือนการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศ ซึ่งข้อเสนอนี้จะให้ภาค กทม.ของพรรคหารือกันว่าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่ นอกจากนี้ ภาค กทม.ต้องส่งตัวแทน ไปดูติดตามดูงานที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะได้รับทราบภาพรวมของ กทม.ด้วย”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเคลื่อนไหวเอาม็อบมาชนม็อบและทราบว่าสมาชิก กทม.เห็นด้วยกับตนแน่ และวันนี้จะได้เจอนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ ในฐานะโฆษกกลุ่มมหาประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งจะขออ้างมติภาค กทม.ที่เห็นว่าไม่สมควรจัดม็อบชนม็อบ ขอให้นายประชายุติการจัดการชุมนุม แต่แสดงความเห็นได้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย หากชุมนุมกัน จะทำให้มีการนำไปเป็นข้ออ้างเหมือนวันที่ 19 กันยายน 2549 อีก
ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่าจะขอร้องนายประชา เพราะเกรงว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชน ว่าส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะจัดประชาชนมาเผชิญหน้าแล้วนำไปสู่การทะเลาะกัน จะไม่ยอมให้มีเด็ดขาด จึงได้ขอมติสมาชิกในเขต กทม.ว่าแนวคิดนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องคุยกันในพรรค ไม่ใช่พบในฐานะ รมว.มหาดไทย เมื่อสมาชิกของ กทม.เห็นด้วยก็จะนำเรื่องนี้บอกกับนายประชา ซึ่งจะพบกันในงานที่วัดสวนส้ม ก็จะขอร้องนายประชา ว่าหากจะเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นตนเห็นด้วย แต่ขออย่านัดชุมนุมหรือพาประชาชนเข้ามาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มั่นใจว่าพูดกันรู้เรื่อง
ต่อข้อถามว่า การประกาศต่อสู้กันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตาต่อตาฟันต่อฟัน หมายถึงการต่อสู้กันทางความคิด ถ้าพันธมิตรพูดมาไม่ถูกเราก็ต้องตอบโต้ เป็นการแสดงความคิดเห็น จะให้พันธมิตรพูดอยู่ฝ่ายเดียว คนฟังบ่อยๆ ก็จะเชื่อ อะไรที่ไม่จริงต้องตอบโต้ ในเรื่องการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่กรณีเอาประชาชนมาปะทะกัน. - สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-05-03 18:24:59
