Saturday, June 7, 2008

ส.ว.เอาแน่ซักฟอกรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภา วานนี้ (6 มิ.ย.) กลุ่ม ส.ว.สรรหาและ ส.ว.เลือกตั้งประมาณ 40 คน ร่วมหารือถึงการลงชื่อเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 จากนั้นนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ถึงแม้รัฐบาลจะเข้ามาทำงานได้เพียง 4 เดือน แต่สภาพปัญหาของประเทศได้เกิดขึ้นเร็ว เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ น่าเป็นห่วงว่าสังคมไทยจะก้าวไปสู่จุดใด ส.ว.ส่วนหนึ่งจึงเห็นร่วมกันว่าเราควรเข้ามาร่วมแก้ปัญหา เพราะขณะนี้ราคาสินค้า น้ำมันแพง ปัญหาสังคมมีการขุดลอกทององค์พระประธาน ขโมยเกี่ยวข้าว ราคาพืชผลตกต่ำการรื้อฟื้นหวยออนไลน์ เกิดปัญหาความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า เพราะรัฐบาลมุ่งแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ไยดีปากท้องประชาชน

ย้ำไม่ใช่ฝ่ายแค้นจ้องล้มใคร

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันเข้าชื่อเสนอขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ โดยจะยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 มิ.ย. เพื่อให้ ส.ว.มีโอกาสอภิปรายปัญหาวิกฤติ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่รัฐบาลเป็นผู้จุดชนวนขึ้นมาเอง เราจะต้องนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนรับรู้และให้รัฐบาลตอบกับสังคม ถ้าเปรียบเป็นการบริหารองค์กรอื่นทำแบบนี้ถือว่าสอบไม่ผ่าน วุฒิสภาจะเป็นผู้ประเมินเพื่อให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไข ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็จะไม่มีโอกาสได้บริหารงานอีกตลอดไป หวังจะทำให้ รัฐบาลได้สติแล้วคิดแก้ไข ยืนยันว่า ส.ว.ที่ยื่นญัตติไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน แต่ได้ทำหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการของรัฐบาล เพราะขณะนี้บ้านเมืองเดือดร้อนทั้งปัญหาเศรษฐกิจ และการเมือง เราจำเป็นต้องยื่นญัตติ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงการทำงานที่ผ่านมา แล้วก็ยังให้ ส.ว.ได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล เพราะขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญฯที่เป็นช่องทางให้ประชาชนร้องเรียน อย่าคิดว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ส.ว.เป็นตัวแทนของประชาชน และไม่ใช่ว่ารัฐบาลเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ ไม่บริหารบ้านเมืองก็อยู่ได้ เราจะต้องอภิปรายอย่างน้อยจะเป็นการเตือนสติ และหวังว่ารัฐบาลจะไม่ถูกเลิกจ้างในอนาคต

ชี้อีกช่องนายกฯชิงเปิดอภิปรายตัวเอง

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ประชาชนฝากความหวังไว้กับ ส.ว.แต่ก็มีคำถามขึ้นมาว่า ส.ว.กำลังทำอะไรอยู่ในสภาพบ้านเมืองที่กำลังขัดแย้งอย่างนี้ ขณะที่ผ่านมามีการตอบโต้ทางการเมือง แต่รัฐบาลมีโอกาสพูดอยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่กลุ่มพลังด้านนอกไม่มีโอกาสพูดในสภาฯ เราจำเป็นต้องเปิดเวทีสภาให้มีการนำเสนอข้อมูล โดยใช้สิทธิรัฐธรรมนูญตามมาตรา 161 ถือว่าครั้งนี้จะเป็นโอกาสเดียว โอกาสสุดท้ายก็เกือบจะสุดท้ายที่จะให้หาทางออกให้กับบ้านเมืองได้ จึงน่าจะใช้โอกาสที่เปิดประชุมสมัยวิสามัญนี้ยื่นญัตติดังกล่าว เพราะหากพ้นจากนี้ก็จะเป็นสมัยประชุมนิติบัญญัติก็ไม่สามารถยื่นได้ เห็นว่าหากถึงตอนนั้นกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ อย่างไรก็ตามยังมีอีกทางคือ ให้นายกฯใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ขอเปิดประชุมเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้อภิปราย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปแก้ไขปัญหา แต่นายกฯจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ญัตติ นี้มีความชัดเจนว่าจะยื่นเรื่องอะไร และมีสำเนาให้กับ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อได้อ่าน รับรองไม่มีการหลอกกันแน่ และจะไม่มีการถอนชื่อ ทั้งนี้ญัตติจะเสร็จและยื่นได้ในวันจันทร์ที่ 9 มิ.ย. พร้อมรายชื่อ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อ

ปชป.จี้ สมัครเปิดอภิปรายทั่วไป

นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ส.ว.จะเข้าชื่อยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วย และอยากจะเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 เปิดให้มีการอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว.ได้มีโอกาสแสดงความเห็นในปัญหาต่างๆ อย่างเต็มที่ พรรคเห็นว่าช่องทางนี้น่าจะเป็นการนำปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ บนท้องถนน เข้ามาอยู่ในระบบของรัฐสภา แนวทางดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยเสนอมาแล้ว สมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดย พ.ต.ท.ทักษิณได้ขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนจากประเทศสิงคโปร์ หรือเทมาเส็ก จนถูกกลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมต่อต้าน โดย พ.ต.ท.ทักษิณรับปากว่าจะเปิดให้มีการอภิปรายรัฐบาล แต่ก็ยุบสภาหนีไป เชื่อว่าหากครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยอมทำตามวิธีการที่ฝ่ายค้านเสนอ ก็อาจจะไม่ต้องเจอกับการรัฐประหาร 19 กันยาก็เป็นได้ มารัฐบาลชุดของนายสมัครก็กำลังเจอเหตุการณ์ในลักษณะทำนองเดียวกัน ดังนั้นนายสมัครจึงน่าจะเปิดใจกว้างรับฟังแนวคิดเพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป