ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทน 24 อธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยพายัพ และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นำโดย นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมแถลงผลการหารือของที่ประชุมอธิการบดี เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองขณะนี้
นายสุรพล กล่าวว่าที่ประชุมอธิการบดีฯ เห็นควรยื่นข้อเรียกร้องตรงต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ผ่านสื่อมวลชน โดยข้อเรียกร้องมีสาระสำคัญคือ ให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้การแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองร้ายแรงเป็นวาระแห่งชาติและดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อปฏิรูปการเมืองการปกครอง โดยให้นายกรัฐมนตรีตั้งเฉพาะตัวประธาน เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง มีความสามารถและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย จากนั้นให้ประธานไปสรรหาและแต่งตั้งกรรมการอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
นายสุรพล กล่าวว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะมีเวลาทำงาน 120 วัน โดยให้รัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุน และให้กรรมการมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการเรียกบุคคลและข้อมูลเอกสารมาชี้แจง และต้องรายงานการทำงานต่อสาธารณชนอย่างเปิดเผย สม่ำเสมอ เมื่อศึกษาเสร็จต้องจัดทำรายงานเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่กระบวนการลงประชามติ หากประชาชนให้ความเห็นชอบตามแนวทางของรายงาน ให้คณะรัฐมนตรีนำเสนอเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป
นายสุรพล กล่าวว่าที่ประชุมอธิการบดีฯ ไม่ได้วางตัวบุคคลที่สมควรเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ แต่ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี ขอเพียงให้พิจารณาอย่างรอบคอบ และสรรหาบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ จะเห็นว่าข้อเสนอของเรา เป็นทางออกเดียวที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้ และเป็นข้อเสนอที่เป็นการไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการเริ่มต้นที่จะทำให้ความขัดแย้งที่ปัจจุบันถูกมองไปคนละทิศละทาง ถูกนำกลับมายังโต๊ะเจรจา
“เราเสนอเป็นกลาง เป็นแค่เริ่มต้น จะเห็นว่าเราไม่ได้ลงลึกถึงการยึดสถานที่ การมอบตัว หรือการแก้-ไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่เราเห็นว่าสิ่งที่เสนอเป็นเพียงทางออกเดียว และเป็นก้าวแรกที่จะยุติความขัดแย้งลงได้” นายสุรพล กล่าว พร้อมยอมรับว่า นพ.ประเวศ วะสี เป็นบุคคลหนึ่งที่สังคมให้การยอมรับ
ด้านนายอาทิตย์ เชื่อว่าหากทุกฝ่ายมีความจริงใจ ข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดีฯ น่าจะเป็นที่ยอมรับ เพราะถ้ารัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังเป็นวาระแห่งชาติ และไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง เชื่อว่าพันธมิตรฯ น่าจะยอมรับ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าข้อเสนอจะได้รับการตอบสนองจากนายกรัฐมนตรี และจะดำเนินการอย่างไร หากไม่ได้รับการตอบสนอง นายสุรพล กล่าวว่า พื้นฐานของนายกรัฐมนตรีเป็นนักกฎหมาย น่าจะตอบรับข้อเสนอ แต่จะดำเนินการมากน้อยเพียงใด ต้องรอดูต่อไป แต่ขอย้ำว่าถ้าดำเนินการตามข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดีหัวใจของเรื่องอยู่ที่การตั้งประธานที่เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย .- สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-09-26 17:25:59
