คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
ความสวยงามในการอภิปรายจากที่ประชุมรัฐสภา ในการหารือเพื่อนำเสนอเอกสารสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบอาเซียน ให้ได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญในการจัดการประชุมที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ในเดือนหน้านี้
อาเซียน หรือ ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association for South East Asian Nations : ASEAN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาค ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) โดยมี 5 ประเทศผู้ก่อตั้งร่วมลงนามในปฏิญญาคือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510
หลังจากนั้น มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 5 ประเทศ ตามลำดับคือ บรูไนดารุสซาลาม เข้าร่วมในปี พ.ศ.2527 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วมในปี พ.ศ.2538 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ สหภาพพม่า เข้าร่วมในปี พ.ศ.2540 ราชอาณาจักรกัมพูชา เข้าร่วมในปี พ.ศ.2542
การจัดประชุมอาเซียน ในครั้งที่ 14 ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ รัฐบาลมีเป้าประสงค์ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่ประเทศไทย ทั้ง ปัญหาการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และ ปัญหาสังคม ที่หมักหมมมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3-4 ปี โดยไปจัดในจังหวัดที่มีทัศนียภาพสวยงาม นั่นคือ ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สาระสำคัญไม่ใช่เรื่องเอกสาร เรื่องกรอบความร่วมมือ แต่ที่สำคัญคือประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการเรียกความเชื่อมั่นกลับมาสู่สายตานานาชาติจะสำเร็จหรือไม่ ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ประชาชนแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ถึงขนาดมีการปลุกระดมประชาชนไปปิดสนามบินนานาชาติ 2 แห่ง ส่งผลให้ นักท่องเที่ยว นักลงทุน ชาวต่างประเทศ กระเจิดกระเจิง ขวัญหนีดีฝ่อ ซึ่งเป็นฝีมือของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปลายปีก่อน
แต่สภาพการณ์ในการดำรงอยู่ของรัฐบาล มิได้คล้อยตาม ที่จะแสดงความเสียสละ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นอันนี้แม้แต่น้อย ยังแสดงความเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว ในการตั้งบุคลากรที่มีส่วนพัวพันกับการปิดสนามบิน ทำลายชาติบ้านเมือง มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง บ้างเป็นรัฐมนตรี บ้างเป็นเลขารัฐมนตรี บ้างเป็นที่ปรึกษา
การกระทำแบบนี้ ประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นทูตต่างประเทศ หรือนักธุรกิจ นักลงทุน และ นักท่องเที่ยว ที่เขาได้รับผลกระทบเสียหาย เขาจะเชื่อมั่นศรัทธา กล้าเข้ามาเมืองไทยอีกได้อย่างไร
คดีความที่ชาวต่างชาติเขาต้องการจะฟ้องร้องในฐานที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดทำให้เสียหายทั้งทรัพย์สินและความรู้สึก ที่เขายังจ้องดำเนินการอยู่ แต่รอดูท่าทีของกระบวนการยุติธรรมภาครัฐ จะเอาอย่างไร กล้าดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่มีส่วนร่วมทำร้ายทำลายชาติ เหล่านี้หรือไม่ หรือเกรงใจเพราะเป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แม้รัฐบาลจะเสียงบประมาณไปมากมายก่ายกองในการจัดประชุมคราวนี้ ซึ่งล้วนเป็นภาษีอากรของพี่น้องประชาชน 63 ล้านคน แต่ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่น เชื่อถือ ศรัทธา จากนักธุรกิจ นักลงทุน นักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ ให้เกิดขึ้นมาได้เลย
วันนี้ยังไม่สายจนเกินไปที่ รัฐบาล หรือ คนที่เคยทำลายชาติบ้านเมือง เห็นว่าการปิดสนามบินเป็นเรื่องสนุกสนาน อาหารอร่อย ดนตรีไพเราะ อ้างว่ารักประเทศชาติบ้านเมืองจริงๆ ควรจะพิจารณาตัวเอง สมควรจะอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไปหรือไม่ ควรจะลาออกจากตำแหน่ง หรือไม่อย่างนั้นจะเข้าเงื่อนไขให้คนไปนินทาว่า ไอ้คนพวกนี้ที่แท้โกหกทั้งเพ...แท้จริงแล้ว รักตัวเองมากกว่ารักประเทศชาติ นี่หว่า
Wednesday, January 28, 2009
กำจัดจุดอ่อน
ที่มา ประชาทรรศน์
