คอลัมน์ : สิทธิประชาชน
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย
เมื่อผลการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 26 เขต จำนวน 29 คน และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครออกมาทุกเขต ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทุกกลุ่มตั้งแต่สื่อมวลชน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักธุรกิจนายทุน ฯลฯ ต่างไชโยโห่ร้อง พากันตีความชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลว่า เป็นชัยชนะต่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคนเสื้อแดง ว่าประชาชนอยากให้พรรค ปชป. เป็นรัฐบาลบริหารประเทศยาวนาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ฉวยโอกาสสรุปผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ายังสะท้อนความคิดของประชาชนที่ไม่ชอบความขัดแย้ง แตกแยก และต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหา เศรษฐกิจ ผมขอเสนอแง่คิดต่อผลการเลือกตั้งสัก 2 ประการ หวังว่าคงไม่สาย
ประการแรก ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใครๆ ก็คาดว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ คงจะได้รับเลือกตั้งอย่างแน่นอน แล้วก็จะได้คะแนนเสียง 8-9 แสนคน แต่ไม่เท่ากับที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน คะแนนดังกล่าวมิได้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนคนกรุงเทพว่า อยากให้พรรค ปชป. เป็นรัฐบาลต่อไปหรือไม่ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่พรรค ปชป. มาเป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายได้เปรียบ พรรคพลังประชาชนถูกยุบ กลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคฝ่ายค้าน อยู่ในช่วงปรับตัว และพลังเสื้อแดง แม้จะเติบใหญ่อย่างก้าวกระโดดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่เมื่อมีผู้สมัคร 2 คน คือ นายยุรนันท์ ภมรมนตรี และ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ซึ่งโดดเด่นไปคนละอย่าง นายยุรนันท์เป็นผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยซึ่งมีความคิดและพูดได้ดีมาก ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ต่อต้านพันธมิตรฯ และวิพากษ์วิจารณ์ ปชป. มาตลอด คนเสื้อแดงจึงแบ่งคะแนนให้ทั้ง 2 คน ว่ากันตามตรรกะของสถานการณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ควรได้คะแนนมากกว่าล้าน จึงจะสะท้อนความคิดของชาว กทม. ดังกล่าว
ประการที่สอง การเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 29 คน จาก 26 เขต แม้มีผล พรรค ปชป. ได้ ส.ส. เพิ่ม 7 คน พรรคร่วมรัฐบาล พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 10 คน พรรคเพื่อแผ่นดินได้ 3 คน ส่วนฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยได้เพียง 5 คน พรรคประชาราชได้ 4 คน ดูจากตัวเลข ถือว่าพรรครัฐบาลได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นถึง 20 คน แต่หากวิเคราะห์ในแต่ละเขต แต่ละจังหวัด ผลการเลือกตั้งส่วนใหญ่มิได้สะท้อนสภาพทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพลังคนเสื้อแดงมากนัก เริ่มจากภาคกลาง ซึ่งกระแสคนเสื้อแดงน้อย และเป็นฐานเสียงของพรรคชาติไทยเดิมและพรรคประชาธิปัตย์ เช่นที่ จ.สุพรรณบุรี 4 เขตเลือกตั้ง ผู้สมัครของพรรคชาติไทยพัฒนา ร่างใหม่ของพรรคชาติไทยย่อมได้รับเลือกตั้งเหมือนกับที่ จ.อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัยธานี พรรคนี้จะชนะในการเลือกตั้งค่อนข้างแน่นอน ที่พอพูดได้ว่าเป็นชัยชนะต่อเสื้อแดง มีที่เดียวคือสมุทรปราการ ส่วนที่ราชบุรี นครปฐม และสระบุรี เป็นฐานเสียงของ ปชป. ประชาชนที่นั่นย่อมกลับมาสนับสนุนพรรคนี้
การเลือกตั้งในภาคเหนือ 2 จังหวัด 2 เขตเลือกตั้งใน จ.ลำปาง และลำพูน แม้โดยทั่วไป จะเป็นการต่อสู้ทางความคิดการเมืองของฝ่ายเสื้อแดง-ปชป. ซึ่งผลการเลือกตั้งออกมา ชนะกันคนละจังหวัด แต่มีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เช่น ตัวผู้สมัครและการทุ่มเงินของฝ่ายหลัง ส่วนในภาคอีสานเป็นที่ที่มีคนนิยมอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และกระแสเสื้อแดงสูง พรรคเพื่อไทย และฝ่ายคนเสื้อแดงได้รับเลือกตั้งมาเพียง 4 คน จากมหาสารคาม อุดรธานี และร้อยเอ็ด อันเป็นจำนวนค่อนข้างน้อย แต่พูดไม่ได้ว่าพรรคอื่นๆ ที่ได้รับเลือกตั้งมาจำนวน 6 คน คือ พรรคประชาราช 3 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 2 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน มาจากคนไม่นิยมคนเสื้อแดงหรือมนต์ทักษิณเสื่อม เพราะประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครพรรคประชาราช 3 คน ส่วนหนึ่งเป็นคนเสื้อแดง ด้วยคิดว่าพรรคนี้เป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไม่เป็นที่น่าพอใจของคนเสื้อแดง แต่ส่วนใหญ่มิได้รู้สึกอะไรมากนัก เพราะความคิดทางการเมืองของพวกเขาสูงกว่าการต่อสู้ทางรัฐสภา แล้วก็เสถียรภาพของรัฐบาลไม่ได้ขึ้นกับจำนวน ส.ส. ในสภา ความจริงข้อนี้ประจักษ์ให้เห็นอยู่บ่อยโดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง
รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มี ส.ส. 387 คน รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีส.ส. กว่า 320 คน ยังพังพาบด้วยพันธมิตรฯ ทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ
ในนั้นมีพรรค ปชป. ด้วย ระวังกรรมที่ตนเองก่อไว้ให้ดี
Friday, January 16, 2009
แง่คิดต่อผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. และผู้ว่าฯ กทม.
ที่มา ประชาทรรศน์
