Sunday, March 8, 2009

ยุทธการ “ทักษิณ” ดิ้นอีกเฮือก

ที่มา ไทยรัฐ

เข็น เฉลิม ขึ้นเก้าอี้นายกฯนำศึกซักฟอกล้ม อภิสิทธิ์

หลังจากประกาศตีปี๊บโหมโรงมาเป็นแรมเดือน

ล่าสุด ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยก็ได้มีมติอย่างเป็นทางการที่จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวันที่ 11 มีนาคมนี้ เป้าหมายชัดเจนเตรียมเล่นงานตั้งแต่หัวขบวน

ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

พ่วงด้วยรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีกอย่างน้อย 3 คน ได้แก่ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พร้อมทั้งมีมติส่งรายชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส. ระบบสัดส่วน และประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นนายก-รัฐมนตรี แนบญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ

ชูโรงให้ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นนายกฯคนต่อไป ถ้าโค่นรัฐบาลได้สำเร็จ

งานนี้ บรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างประโคมโหมกระแสกันเต็มที่ว่า มีข้อมูลเด็ดถึงขั้นน็อกรัฐบาลกลางเวทีสภาฯ

โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิมในฐานะหัวหน้าทีมทำศึกอภิปรายฯ ถึงกับประกาศเปรี้ยง แสดงความมั่นอกมั่นใจข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่ในมือ

ท้าเดิมพันตำแหน่ง หากฟังการอภิปรายฯแล้วเห็นว่าไม่ได้เรื่องจะลาออกจากตำแหน่งประธาน ส.ส.พรรค

เพื่อไทยทันที

ปลุกขวัญ เรียกความฮึกเหิมกันเต็มที่

แน่นอน หลักการในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา

ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายค้าน มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบการทำงาน การใช้อำนาจรัฐ และ

งบประมาณแผ่นดินของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล

เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

แต่การเมืองไทยในระยะหลังค่อนข้างสลับซับซ้อน ยิ่งมีการช่วงชิงอำนาจรัฐกันอย่างรุนแรง

ก็ยิ่งทำให้มาตรการตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือห้ำหั่นฟาดฟันกันทางการเมืองมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นกระทู้สด ญัตติทั่วไป รวมถึงญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดยเฉพาะการตรวจสอบรัฐบาลด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในยุคที่ผ่านๆมา ปกติแล้วทางฝ่ายค้านจะเปิดโอกาสให้เวลารัฐบาลได้ทำงานบริหารประเทศไประยะหนึ่งก่อน 3-4 เดือน หรือหนึ่งสมัยประชุม

เมื่อพบว่ามีปัญหาการทุจริตคอรัปชัน หรือความผิดพลาดบกพร่องในการบริหารราชการ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ

ถึงตอนนั้นจึงจะใช้มาตรการตรวจสอบระดับรุนแรง ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่มาคราวนี้ การเมืองมีการพลิกขั้ว พรรคประชา-ธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังมีการยุบพรรคพลังประชาชน โดยมี ส.ส.จากพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ฉีกขั้วมาสนับสนุน

ไม่ใช่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งธรรมดา แต่เป็นรัฐบาลที่เกิดจากการหักดิบกันมา

แน่นอน ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ที่โดนพวกเดียวกันหักหลัง พลิกขั้วให้หลุดจากอำนาจ ย่อมเจ็บแค้นฝังลึก

ตรงนี้จึงเป็นตัวเร่งที่ทำให้มีการเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบในระบบ เพื่อควบคุมการบริหารของรัฐบาลไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ถือเป็นเรื่องที่ดี

โดยเฉพาะถ้ารัฐบาลมีพฤติการณ์ทุจริตคอรัปชัน หรือบริหารราชการผิดพลาดบกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบทันที ช้าไปวันเดียวก็ไม่ได้

ยิ่งถ้าการตรวจสอบของฝ่ายค้าน ทำหน้าที่โดยสุจริต ข้อมูลหลักฐานแน่นหนา ประชาชนยิ่งได้ประโยชน์

ไม่ใช่มีข้อมูลแค่นิดหน่อย แต่ตีปี๊บโหมกระแสเอามัน ถึงเวลาจริงไม่ได้เนื้อได้หนัง ฝ่ายค้านก็จะเสียเครดิต เสียความน่าเชื่อถือจากสังคม

ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐบาลทั้งตัวนายกฯอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีที่โดนจับขึ้นเขียงอภิปรายฯ ก็ต้องพร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบ

เพราะในยุคนี้คนที่มาเป็นรัฐบาลต้องทำงานอย่างเปิดเผย ท่ามกลางการตรวจสอบจากหลายฝ่าย เหมือนต้องทำงานท่ามกลางสปอตไลต์

โดยสรุปแล้ว มาตรการตรวจสอบด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นเรื่องที่ดี แม้จะมีการเชื่อมโยงแฝงการชิงอำนาจทางการเมืองอยู่ลึกๆก็ตาม

เพราะการตรวจสอบจะช่วยทำให้การเมืองไทยสะอาดขึ้น

ที่สำคัญ ทุกฝ่ายต้องยอมรับการตรวจสอบ ไม่ว่าจะมีอะไรแฝงเร้น แต่ก็ยังถือว่าเล่นกันในเกมกติกา เล่นกันในระบบ

ฝ่ายค้านมีสิทธิอภิปรายตั้งข้อกล่าวหา รัฐบาลมีหน้าที่ต้องตอบชี้แจงแสดงเหตุผลแก้ข้อกล่าวหา

สุดท้ายตัดสินกันด้วยเสียงในสภาฯ

ถ้าเสียงโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ในสภาฯ รัฐบาลก็ต้องล้มไปทั้งชุด

ถ้าเสียงโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีกระทรวงใดเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ รัฐมนตรีคนนั้น ก็ต้องหลุดจากตำแหน่ง แต่ถ้าเสียงโหวตไม่ไว้วางใจไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็อยู่บริหารประเทศต่อไปได้

ขณะเดียวกัน ประชาชนที่รับฟังข้อมูลการอภิปรายฯของฝ่ายค้าน และคำชี้แจงจากฝ่ายรัฐบาล ก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินว่าจะเชื่อถือข้อมูลของฝ่ายใดมากกว่า

ถ้าประชาชนเห็นว่าข้อมูลฝ่ายค้านชัดเจน แม้รัฐบาลจะอาศัยเสียงข้างมากเอาตัวรอดไปได้ในสภาฯ แต่กระแสสังคมก็จะกดดันจนทำให้ต้องปรับ ครม. เหตุการณ์อย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

นี่คือภาพรวมของการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านๆมา ในกรณีที่ฝ่ายค้านมีข้อมูลหลักฐานแน่นหนา แต่แพ้เสียงโหวตในสภาฯ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นการอภิปรายฯในห้วงที่การต่อสู้ทางการเมืองกำลังร้อนแรง

รัฐบาลที่มาจากการพลิกขั้ว ต้องเผชิญกับแรงกระแทกจากฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยืนเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง

เพราะชัดเจนว่า ในห้วงเตรียมข้อมูลเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ส.ส.และแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนได้เดินทางไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณที่ฮ่องกง

พร้อมออกมายอมรับว่า ได้นำข้อมูลที่จะอภิปรายฯไปหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และได้รับไฟเขียวให้เปิดอภิปรายฯ

ขณะเดียวกัน คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์การเมืองเป็น 3 จังหวะ

จังหวะแรก ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะใช้เวที นปช. และม็อบเสื้อแดง เคลื่อนไหวทั่วประเทศ กดดันรัฐบาลนอกสภาฯ และให้เป็นเวทีที่ พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินเพื่อวิจารณ์ การบริหารงาน ตอกย้ำความผิดพลาดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยตั้งเวทีในจังหวัดหลักๆแต่ละภาค

จังหวะสอง ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจปลายเดือนมีนาคม ฝ่ายค้านอภิปรายฯถล่มในสภาฯ ม็อบเสื้อแดงกดดันนอกสภาฯ

จังหวะสาม หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะให้ ส.ส.

เดินสายลงพื้นที่พบปะหัวคะแนนและสมาชิกพรรคทั่วประเทศ เพื่ออธิบายถึงมาตรการแก้ปัญหาที่ล้มเหลวของรัฐบาล และเน้นภาพลักษณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จ

ตบท้ายด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคในการนำ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศ โดยเน้นการทำการเมืองภาคชนบททั่วประเทศ เพื่อรักษาฐานเสียงของพรรค ชูแคมเปญ เอาทักษิณกลับบ้าน

ที่สำคัญ มีการกำหนดการเคลื่อนไหวยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 11 มีนาคม ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีคิวปาฐกถาผ่านระบบวีดิโอลิงค์ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในฮ่องกง วันที่ 12 มีนาคม

กำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ 25-26 มีนาคม ในขณะที่ม็อบเสื้อแดงประกาศนัดชุมนุมใหญ่ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลรอบใหม่ปลายเดือนมีนาคม

ช่วงเวลาคาบเกี่ยว สอดรับกันหมด เหมือนกำหนดปฏิทินเคลื่อนไหวไว้ล่วงหน้า

แน่นอน การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นสิทธิของฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันก็เป็นสิทธิของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง เพื่อให้ตัวเองได้กลับเข้าประเทศ

ขณะที่รัฐบาลก็มีหน้าที่ในการชี้แจงในสภาฯ และบริหารประเทศแก้ปัญหาของประชาชน

ทั้งนี้ ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯจะต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯด้วย โดยงานนี้พรรคเพื่อไทยมีมติเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม

การที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนี้ เพราะมีเจตนารมณ์ ให้การเมืองเปลี่ยนแปลงกันในระบบ

ถ้ารัฐบาลถูกคว่ำด้วยญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขั้วตรงข้ามที่เป็นฝ่ายค้าน ก็จะได้เป็นรัฐบาลแทน

ฉะนั้น บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ต้องมีภาพลักษณ์โดดเด่น มีศักยภาพความรู้ความสามารถ มีความเหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำประเทศ

ไม่ใช่เสนอชื่อออกมาแล้ว แม้แต่คนในซีกฝ่ายค้านด้วยกันก็ยังไม่ยอมรับ

การเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นนายกฯ แนบญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงทำให้มองได้ว่าเป็นเพียงการเสนอเพื่อให้เป็นไปตามกติการัฐธรรมนูญเท่านั้น

และเมื่อสำรวจเสียงรัฐบาลแล้วยังแน่นปึ้ก ขณะที่ฝ่ายค้านเองกลับขาดความเป็นเอกภาพ

เพราะพรรคประชาราชของนายเสนาะ เทียนทอง และกลุ่มของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ในพรรคเพื่อแผ่นดิน ไม่เอาด้วยกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนี้

โอกาสที่จะล้มรัฐบาลกลางสภาฯจึงยังมองไม่เห็น

แต่สิ่งที่เห็นกันชัดๆก็คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การต่อสู้ของ พ.ต.ท.

ทักษิณ

ทักษิณยังขับเคลื่อนการเมืองเต็มที่

เหมือนเป็นผู้นำฝ่ายค้านตัวจริง.

ทีมการเมือง