Tuesday, September 22, 2009

พท.พร้อมเลือกตั้งใหม่

ที่มา thaifreenews

คณวัฒน์ วศินสังวร พท.พร้อมเลือกตั้งใหม่
สัมภาษณ์พิเศษ
ที่มา ข่าวสด

หนึ่งในทีมเบื้องหลังไทยรักไทย เมื่อพรรคถูกยุบและต่อมาพรรคพลังประชาชนก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน


ชื่อของ คณวัฒน์ วศินสังวร จึงขึ้นมาอยู่แถวหน้าในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

เคยผ่านงานกับคีย์แมนหรือคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่า น.พ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ จึงได้รับการวางตัวให้สานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจ

แม้อดีตเคยเป็นผู้ช่วยรมต.ไอซีที และเลขานุการ รมว. คลัง แต่ก็ไม่โด่งดังเท่ากับยุคปัจจุบันที่ปูดเรื่องตั้งรัฐบาล 1+1

วันนี้โดยภารกิจแกนนำพรรคเพื่อไทย ยังต้องวางยุทธศาสตร์รับมือเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเจ้าตัวเปิดใจให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจ



ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

เริ่มต้นการเมืองตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย มาทำนโยบายให้โดยเฉพาะโครงการกองทุนหมู่บ้าน และหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ตอนนั้นกองทุนหมู่บ้านมีคุณสุวิทย์ คุณกิตติ ดูแล ผมก็เข้าไปเป็นที่ปรึกษา

แต่หนึ่งตำบลฯยังไม่มีใครเป็นหลัก น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช (อดีตรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย) เลยเรียกผมไปช่วยเป็นเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (โอท็อป)

กระทั่งเกิดวิกฤตการเมือง 2 ครั้งกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน มาถึงปัจจุบันคือพรรคเพื่อไทย ผมเลยต้องรับช่วงต่อโดยเป็นรองหัวหน้าพรรค



เคยพูดถึงเรื่องรัฐบาล 1+1 ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์

เรื่องนี้เกิดปลายเดือนส.ค. หลังประชุมพรรคมีงานเลี้ยงชั้น 4 เชิญสื่อขึ้นมาด้วย สื่อมาถามผมเรื่องคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พูดเรื่องการตั้งรัฐบาล 1+1

ผมถามย้ำสื่อคนนั้นว่าแน่ใจนะว่าท่านสุเทพเสนอ เขาก็ยืนยัน ผมถามถึง 3 ครั้ง แถมย้ำว่าจดคำตอบผมให้ดีๆ ดังนี้ 1.เป็นกุศโลบายของพรรคประชาธิปัตย์ในการกำราบพรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย

2.พรรคเพื่อไทยไม่ต่อรองกับพรรคประชาธิปัตย์ในลักษณะนี้แน่ 3.การทำงานด้วยกันนั้น ทำได้ แต่ต้องแก้วิกฤตความขัดแย้งด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี"50 ที่ผูกเอาความขัดแย้งทั้งหมดเข้ามาอยู่ข้างในเพราะเป็นฉบับที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติ

นี่คือ 3 ข้อที่ให้ไปแล้วผมก็บอกว่าจบคำสัมภาษณ์ จากนั้นย้ำกับผู้สื่อข่าวว่าสิ่งที่จะพูดหลังจากนี้เป็นน้ำจิ้ม

ผมบอกว่าไปตีเทนนิสแล้วเจอคุณท็อป (น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์) เดินมาคุยกับผม เรารู้จักกันอยู่แล้วเพราะลูกเรียนโรงเรียนเดียวกันคือที่บางกอกพัฒนา แต่อยู่คนละชั้น เจอกันอยู่เรื่อยๆ รู้จักกัน

คุณท็อปพูดขึ้นเองว่าทำงานยากมากกับพรรคร่วมรัฐบาล เขาต่อรองหนักมาก เสียดายถ้าพรรคเพื่อไทยจับมือประชาธิปัตย์น่าจะดี มีเสถียรภาพ และทำงานได้ดี

ผมได้ยินแล้วตอบไปว่า อย่าเพิ่งพูดเลย ตอนนี้ยังไกลเกินไป ถ้าจะทำงานด้วยกัน ให้เสนอไปที่พรรคจะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ปรากฏว่ารุ่งขึ้นเรื่องน้ำจิ้มของผมกลายเป็นข่าวหมด แล้วนักข่าวเอาประเด็นนี้ไปถามนายกฯอีก ท่านก็มีอารมณ์ ถามว่าคณวัฒน์เป็นใคร



ความคืบหน้าเรื่องหัวหน้าพรรคคนใหม่

ขณะนี้ยังเป็นคุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ผ่านมามีกระแสข่าวเป็นช่วงๆ เพราะพอเราประชุมฝ่ายค้านทีไร จะมีความรู้สึกว่าต้องมีผู้นำในสภา อีกทั้งรัฐธรรมนูญเขียนว่าผู้นำฝ่ายค้านต้องเป็นส.ส. หัวหน้าพรรคไม่ได้เป็นส.ส. เลยมีกระแสให้เอาคนของเราซึ่งเป็นส.ส.อยู่แล้วมาเป็นหัวหน้า

แก้ปัญหาด้วยการมอบหมาย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ถือว่าอาวุโสมาเป็นประธานส.ส. และเป็นคนนำการอภิปรายในสภา



น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าพรรคบ่อยหรือไม่

ไม่ได้ปิดบัง ก็เข้าพรรค ภารกิจหลักมาช่วยระบบบริหารพรรค เกี่ยวกับงานบริหาร การจัดโครงสร้างเรื่องการบริหารจัดการ ท่านผ่านองค์กรบริษัทขนาดใหญ่ น่าจะวางโครงสร้าง ได้ดี

ความเป็นน้องสาวอดีตนายกฯ สมาชิกส่วนใหญ่ยังผูกพันกับอดีตนายกฯ เวลาเลือกตั้งซ่อมทุกคนจะแย่งตัวคุณยิ่งลักษณ์ไปลงพื้นที่ ชาวบ้านเห็นก็กรี๊ดกร๊าด ส.ส.ยิ่งถูกใจใหญ่

ท่านจึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่ส.ส.ในพรรคเรียกร้องอยากให้เป็นหัวหน้า บุคคลิกส่วนตัวก็เป็นกันเอง พบปะพูดคุยกันดี



วางยุทธศาสตร์การทำพื้นที่ไปถึงไหน

ในแง่การสรรหาบุคคล เรามีคณะกรรมการภาคต่างๆ คือ อีสาน กทม. ใต้ เหนือ คณะกรรมการภาคจะเสนอคณะกรรมการสรรหาซึ่งมีผมเป็นประธาน เพื่อรวบรวมชื่อทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณา

ตอนนี้เรามีส.ส. 187 คน ต้นเดือนต.ค.นี้เราจะเปิดตัวผู้สมัคร เริ่มต้นจากคนใหม่ในภาคอีสานก่อน จากนั้นจะลงพื้นที่



ทำไมเปิดตัวผู้สมัครเร็วนัก

ต้องอยู่บนสมมติฐานเรื่องการยุบสภา รัฐบาลอย่างเก่งเหลือเวลามากสุดแค่ 2 ปีเศษๆ ไม่ครบเทอมแน่ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

เมื่อเงื่อนไขทางการเมืองกับเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้า อาจมีปัจจัยการทรุดทางเศรษฐกิจที่เร็วเกินคาด จึงต้องชิงยุบสภา จากนี้ไปผมจึงเชื่อว่าจะมีการยุบสภาเมื่อใดก็ได้ อาจโปรยเม็ดเงินลงไปล่วงหน้าก่อนเลือกตั้ง

ในฐานะนักการเมืองทุกพรรคต้องเตรียมพร้อมแม้แต่ประชาธิปัตย์ ในส่วนของพรรคหากในพื้นที่ใดยังไม่มีส.ส. เราต้องเติมเต็ม



รีบเปิดตัวผู้สมัครเพื่อสกัดส.ส.ไหลไปพรรคภูมิใจไทย

ไม่ใช่ กระแสพรรคในภาคอีสานยังดีอยู่ คนที่ออกไปแล้วอยากกลับมาด้วยซ้ำ ตอนนี้ไม่มีส.ส.อีสานของพรรคย้ายไปอยู่ที่อื่นแน่

ส.ส.เขาก็รู้จักกันอยู่ คนที่ออกไปเคยเป็นคนของเรา ดังนั้นเรื่องไปคุยหรือต่อรองกันก็ต้องมี แต่สุดท้ายแล้วส.ส.ต้องตัดสินใจโดยดูจากโอกาสการชนะเลือกตั้งว่าได้แน่ๆ หรือชนะโดยไม่ยาก

เรียนตามจริงว่าไม่อยากเอาคนที่เคยออกไป กลับมาอยู่กับเราอีก ผู้สมัครใหม่ก็ไม่ใช่ใหม่ถอดด้าม อยู่กับพรรคมานาน เป็นนักการเมืองท้องถิ่นมีฐานอยู่แล้ว บวกกับกระแสพรรคจึงน่าจะชนะได้ง่าย



ชูนโยบายอะไรในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้จะเป็นนโยบายการเมืองในการหาเสียง เราจะถือโอกาสขอประชามติด้วย หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็ไม่เลือกเรา

ส่วนนโยบายเศรษฐกิจคือการแก้ปัญหาปากท้องบนหลักของการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ด้วยการต่อ ยอดนโยบายเศรษฐกิจที่ทำต่อเนื่องตั้งแต่สมัยไทยรักไทย เช่น หนึ่งตำบลฯ กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน รวมถึงนโยบายปลดหนี้ประเทศที่เราจะชูต่อไป



การเปิดตัวเร็วทั้งคนและนโยบาย เป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบพรรคอื่นหรือไม่

แคมเปญหาเสียงยังไม่ออกทันที ยังเป็นกรอบความคิดใหญ่ๆ รายละเอียดจะตามมาหลังจากยุบสภาแล้ว คาดว่าน่าจะเป็นเดือนพ.ย.

เป้าหมายพรรคจะยึดการเป็นที่ 1 แบบเกินครึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดการช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา ตรงนี้เป็นเงื่อนไขเดียวที่เราต้องชนะให้ได้ เป้าจึงอยู่ที่ 240+



เล็งพื้นที่ใดเป็นเป้าหมายเพิ่มจำนวนส.ส.

ผมยังคิดว่าจุดแข็งของเราคือภาคอีสาน ยกเว้นบางจังหวัดที่ช่วงชิงกันสูง เช่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา อีสานใต้

สนามกรุงเทพฯ ตอนนี้เรามีอยู่ 6 เสียง กระแสหากยังเป็นอย่างนี้ ผมเชื่อว่าจะบวก ได้ส.ส.เพิ่มขึ้น เบื้องต้น ส.ส.เดิมจะได้รับการพิจารณาก่อน ดังนั้นส.ส.ทั้ง 6 คนจะได้ลงแน่นอน แต่กรุงเทพฯยังไม่เปิดตัว ต้องดูกระแสและความนิยมของผู้สมัครด้วย



มองพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรอย่างไร

ถือเป็นคู่แข่ง ต้องดูนโยบายว่าจะขายอะไรบ้าง นโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ที่สุดแล้วประชาชนจะตัดสิน แต่ยังมั่นใจว่าเราไม่ใช่พรรคใหม่ถอดด้าม มีที่มาที่ไป มีผลงานในอดีตของ 2 พรรคที่โดนยุบ จุดแข็งเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่พิสูจน์มาแล้ว



เคยไปหานายใหญ่ที่ดูไบหรือไม่

ไม่เคย แต่ส.ส.ในพรรคทุกคนสนิทกับท่านดี ไม่แน่ใจว่ามีเบอร์ส่วนตัวของท่านด้วยหรือเปล่า เห็นโทร.คุยกับท่าน หรือไม่ก็บินไปหาอยู่เรื่อยๆ ด้วยความคิดถึง