Sunday, December 6, 2009

"สุเทพ เทือกสุบรรณ" ถึงเวลารับงานหนัก

ที่มา มติชน

คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน

โดย การ์ตอง




แม้จะยืนยันเสียงแข็งทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้จัดการรัฐบาล ว่าจะยังไม่มีการปรับ ครม. แต่กรอบเวลาของการยืนยันอยู่แค่ในเดือนธันวาคม ทำให้มีการประเมินกันว่า ไม่น่าจะเกินเดือนมกราคมปีหน้าโฉม ครม.จะต้องเปลี่ยน

สาเหตุต้องปรับนั้นมีมากมายจนสาธยายไม่จบ แต่ประเด็นใหญ่อยู่ที่ความหนักใจของผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่เห็นรัฐมนตรีชุดนี้สร้างผลงานไม่เป็นที่ประทับใจ หากขืนปล่อยไว้จะก่อกระแสความเบื่อหน่ายของประชาชนอันจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อรวมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี จะต้องมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีแทนนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ หรือกรณีหมอพฤฒิชัย ดำรงค์รัตน์ ที่ต้องหลุดจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพราะ กกต.ตัดสินว่ามีความผิดฐานถือหุ้นในธุรกิจเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ยื่นความจำนงขอทิ้งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี

ทำให้การปรับ ครม.เป็นเรื่องหนีไม่ออก

นั่นหมายถึงเวลาที่จะต้องใจนักประสานมืออาชีพอีกครั้ง

ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรั้ฐบาล "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ การดึงพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ดูเหมือนว่าการเคลียร์โควต้าในพรรคประชาธิปัตย์เองเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากกว่า โดยจะเห็นได้ว่าหลังจากรายชื่อคณะรัฐมนตรีออกมาในครั้งนั้น ตัวละครที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจเป็น ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์เกือบทั้งสิ้น

ครั้งนั้น "สุเทพ" เคลียร์ได้ถือว่าแน่แล้ว แต่ครั้งนี้มีเงื่อนไขที่ยากยิ่งกว่า

ครั้งนั้น เป็นความพยายามของหลายฝ่ายที่ช่วยกันทำให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าเป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศพ้นจากความวุ่นวายทางการเมือง พรรคการเมืองต่างๆ ถูกล็อบบี้จากผู้มีอำนาจและบารมีให้กลับหลังมายืนอยู่ข้างประชาธิปัตย์ ขณะที่ในพรรคประชาธิปัตย์เองคำขอร้องของ "ผู้จัดการรัฐบาล" ว่าจะต้องยอมเสียสละบางอย่างเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลก่อน เพราะถึงอย่างไรก็เป็นพรรคที่มีเสียงในสภาน้อยกว่าพรรคเพื่อไทย

เป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาด้วยทุกคนรู้สึกถึงภาวะจำยอม และได้รับการส่งเสริมจากหลายคนหลายฝ่ายที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศ

แต่วันนี้ไม่ใช่วันนั้นอีกแล้ว ท่าทีผู้นำแบบ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ทำให้ผู้มีบารมีหลายคนส่ายตัว ขณะที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ถูกกดดันให้ต้องถอยออกมายืนอยู่ในจุดที่พูดอะไรไม่ได้มาก

แรงสนับสนุนประชาธิปัตย์จากภายนอกถดถอยลงไปมาก ทำให้ความเกรงอกเกรงใจของพรรคร่วมรัฐบาลลดน้อยลงไปด้วย เมื่อผสมกับความไม่พอใจที่รัฐมนตรีของพรรคถูกกดดันจาก "ทีมงานของอภิสิทธิ์" ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลตั้งท่าที่จะต่อรองแบบมีเงื่อนไขมากขึ้นกับประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน ภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง เริ่มจะมีการก่อกระแสเรียกร้องเก้าอี้กันเสียงดังและกว้างขวางขึ้น

แม้อาจบางทีจะเป็นที่รับรู้กันอยู่ว่า เป็นแค่การเรียกราคาเพื่อผลตอบแทน แต่นั่นก็หมายถึงต้องมีค่าใช้จ่าย

ในสถานการณ์เช่นนี้ คนที่จะจัดการได้จะต้องเป็นนักต่อรอง และแบ่งสรรผลประโยชน์ตัวยงจึงจะเอาอยู่

กวาดตาไปในพรรคประชาธิปัตย์ คนจะเล่นเรื่องนี้อย่างรู้เข้าใจเกม และกล้าที่จะเล่น มีเพียง สุเทพ เทือกสุบรรณ" เท่านั้น

เป็น "สุเทพ" ที่ก่อนหน้านั้นผู้มีอำนาจภายในพรรค ทำเหมือนไม่เห็นคุณค่า