Sunday, December 13, 2009

"ศิวรักษ ชุติพงษ์" ละครการเมือง

ที่มา มติชน

คอลัมน์ โครงร่างตำนานคน

โดย การ์ตอง




ถ้ารัฐบาลภายใต้การนำของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่มี "กษิต ภิรมย์" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ถูก "ความรู้สึกเสียหน้า" มาควบคุมการแสดงออก หลังกษัตริย์นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา พระราชทานอภัยโทษแก่ "ศิวรักษ์ ชุติพงษ์" เรื่องราวของคดีวิศวกรไทยที่ถูกศาลกัมพูชาสั่งจำคุก 7 ปี ในข้อหาจารกรรมข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของกัมพูชา ก็คงจะจบลง บทส่งท้ายว่าทุกคนทุกฝ่ายเห็นอิสรภาพของ "ศิวรักษ์" ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อไม่ให้ "สิมารักษ์ ณ นครพนม" ผู้เป็นแม่ของ "ศิวรักษ์" ต้องหลั่งน้ำตาไปมากกว่านี้

แต่หากทิศทางการเคลื่อนของรัฐบาลไปในทางที่ "ประสงค์ สุ่นศิริ" ชี้นำ คือทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่องจัดฉากเพื่อสร้าง "ทักษิณ ชินวัตร" ให้เป็นพระเอกขี่ม้าขาว โดย "ศิวรักษ์-สิมารักษ์" รู้เห็นเป็นใจกับ "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" และ "ฮุน เซน" ปฏิเสธบทบาทของ "อภิสิทธิ์-กษิต" สร้างเรื่องราวเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของครอบครัวชุติพงษ์กับ "ทักษิณ" เพื่อให้เป็นประเด็นโจมตีว่า "ทักษิณ" ทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะทางการเมือง

เรื่องจะไม่จบแค่ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือศิวรักษ์

เพราะ "พรรคเพื่อไทย" ซึ่งเป็นฝ่ายค้านจะต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เป็นอีกเรื่องราวหนึ่ง คือ "ศิวรักษ์" ได้รับคำสั่งจาก "คำรบ ปาลวัฒน์วิชัย" เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ นำตารางบินของ พ.ต.ท.ทักษิณมาให้กระทรวงการต่างประเทศ ที่มี "กษิต ภิรมย์" ซึ่งภารกิจที่โดดเด่นสุดคือการไล่ล่าทักษิณ

เรื่องราวนี้จะถูกเสริมเติมต่อด้วยเนื้อหาที่ "ทักษิณ ชินวัตร" เคยสงสัย คือรัฐบาลเตรียมส่งข้อมูลการบินของ "ทักษิณ" ให้กองทัพอากาศ เพื่อใช้เครื่องบินรบขึ้นบินประกบเครื่องของทักษิณบังคับให้ลงจอดและจับตัว แต่ข่าวในกองทัพอากาศรั่วเขมรจึงขับเลขานุการเอกฯคำรบ และจับกุม "ศิวรักษ์"

ท่ามกลางความแตกแยกในประเทศ ที่ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือความเป็นเหตุเป็นผลไร้ความหมาย เพราะต่างฝ่ายต่างเปิดใจเชื่อเรื่องราวที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตัว และช่วยขยายให้ฝ่ายตรงกันข้ามได้รับความเกลียดชัง

เรื่องจริงเป็นอย่างไร ไม่มีคนใส่ใจที่จะฟังเท่าเรื่องราวอันถูกจริตของฝ่ายตัวที่จะใส่สีตีไข่กันไปไกลได้สนุกสนานแค่ไหน

เรื่องราวของ "ศิวรักษ์" จึงมาถึงทางสองแพร่งว่าจะจบลงด้วยดี แบบ "ทุกฝ่ายช่วยกันเพื่ออิสรภาพของคนไทย" หรือจะไปแบบต่างคนต่างแต่งเรื่องขึ้นมาเพื่อเอามาใช้โฆษณาชวนเชื่อให้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตัว หรือทำลายฝ่ายตรงกันข้าม ขึ้นอยู่กับท่าทีของคู่หู "อภิสิทธิ์-กษิต" จะถูกครอบงำด้วยความรู้สึก "เสียหน้า" มากน้อยแค่ไหน

หากออกอาการ "เสียหน้า" อย่างรุนแรง ถึงขั้นต้องแสวงหาเรื่องมาทำลายบทบาทของ "ทักษิณ-ชวลิต" ซึ่งใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับ "ฮุน เซน" ขออภัยโทษให้ "ศิวรักษ์" ได้ทำสำเร็จให้ได้

เรื่องราวของ "ศิวรักษ์" ก็จะแปลเป็นเกมการเมือง

ผลจะเป็นอย่างไร ตัวคีย์สำคัญอยู่ที่ "ศิวรักษ์" จะยืนอยู่ข้างใคร และจะเลยไปถึง "เลขานุการเอกฯคำรบ" จะเล่าเรื่องราวนี้อย่างไร

เล่าแบบน่าเชื่อถือได้หรือไม่ และไปในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์กับใคร

เรื่องของ "ศิวรักษ์" จะเป็นภาพสะท้อนการเล่นเกมการเมืองของประเทศไทยที่น่าติดตามยิ่ง

เพราะเป็นภาพสะท้อนของคุณธรรม จริยธรรมของทุกคนที่ออกมามีบทบาทการแสดง

เป็นละครการเมืองที่มากสีสัน