
เรียบเรียงโดย ไทยอีนิวส์
ที่มา ประชาไท
13 มีนาคม 2553
UNรับสื่อกระแสหลักรายงานด้านเดียว นำเสนอกรรมการสิทธิฯUN
ประชาไท รายงานว่า วานนี้ ดร.จารุพันธุ์ กุลดิลก อาจารย์ ม.มหิดล ดร.สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.สุดสงวน สุธีร์สรณ์ อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางไปที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน เพื่อพบนางนาตาลี เมเยอร์ เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาค ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติส่งเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ชุมนุม เพราะสื่อหลักนำเสนอข่าวการชุมนุมด้านเดียว
นางนาตาลีกล่าวว่า เข้าใจว่าสถานการณ์ไม่ปกติ และสื่อในประเทศยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติดังกล่าวยังแสดงความห่วงใยว่าการประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงจะนำเรื่องนี้ไปเสนอกับกรรมการสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสหประชาชาติ
ไทม์ออนไลน์:รัฐบาลพยายามทำให้เสื้อแดงเป็นผู้ร้าย
เว็บไซต์ไทม์ออนไลน์ รายงานการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที 12 มี.ค. 2010 โดยพาดหัวว่า "ผู้ประท้วงในไทยเริ่มต้นเดินขบวนด้วยพิธีกรรมทางพุทธศาสนา" (Thai protest march starts with Buddhist chants)
ไทม์ออนไลน์รายงานบรรยากาศของการชุมนุมว่า มีการเริ่มต้นในช่วงเวลา 12.12 น. ด้วยเสียงตีฆ้องและการสวดมนต์ของพระ
นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์ แหม่ม อังคณา ผู้ขายอาหารเสริมสุขภาพบอกว่าการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันเป็นที่รังเกียจของประชาชนทั่วไปขนาดไหน
อังคณากล่าวว่าเธอไม่ชอบรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเลย เขาไม่ได้ทำอะไรเพื่อคนจน โดยเธอยังกล่าวประเมินอีกว่า อาจมีความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันนี้ "กลุ่มคนเสื้อแดงมีแค่ 'มือตบ' แต่รัฐบาลมีกองทัพอยู่" และยังให้ความเห็นอีกว่านายกฯ อภิสิทธิ์ต้องการฆ่าประชาชน ต้องการฆ่าคนเสื้อแดง
ไทม์ออนไลน์รายงานถึงการรักษาความสงบว่า นอกจากจะมีการใช้หน่วยรักษาความสงบ 50,000 นายแล้ว ยังมีการติดอาวุธพวกปืนน้ำ (Water Cannon) เครื่องส่งคลื่นเสียง, แก๊สน้ำตา และไม้กระบอง ด้วย นอกจากนี้ยังมีข่าววงในรัฐบาลเตือนว่าอาจมีการใช้ปืนและปืนครกในการจู่โจม ขณะที่ผู้นำกองทัพอาวุโสจะประจำการอยู่ที่ฐานบัญชาการชั่วคราวในช่วงของการชุมนุม
รัฐบาลบอกอีกว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วยการตั้งด่านตรวจอย่างหนาแน่นตามทางหลวง ขู่ปิดปั้มน้ำมัน สั่งห้ามรถที่ใช้ในการเกษตร การประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ ที่เข้มงวด รวมถึงการทำให้เสื้อแดงดูเป็นผู้ร้าย (demonising the Red Shirt movement)
กลุ่มแกนนำบอกว่าพวกเขาเพียงแค่ต้องการเปลี่ยนระบบเก่าที่เอื้อประโยชน์แต่เพียงชนชั้นนำ, คนในเมือง และคนกลุ่มน้อย ณอน บุญประคอง โฆษกต่างประเทศของเสื้อแดง บอกว่าชาวเสื้อแดงคือคนไทย และมีชีวิตอยู่กับความจริงที่ว่าสังคมไทยไม่เท่าเทียมกัน
ณอนบอกอีกว่าเป้าหมายคือการยุบสภา หากมีการยุบสภาวันที่ 13 มี.ค. ก็จะไม่มีการชุมนุมวันที่ 14 มี.ค.
ไทม์ออนไลน์ รายงานอีกว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า เขาจะไม่ยึดติดกับอำนาจ หากการยุบสภาหรือการที่เขาออกจากตำแหน่งจะเป็นการทำให้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้น เขาก็จะไม่มีปัญหาเลย แต่การรัฐประหารเป็นสิ่งที่เขายอมรับไม่ได้
มีเดียมอนิเตอร์เตือนสื่อทีวีแยกภาพเก่า-ใหม่จากกัน ติงทำข่าวให้คนดูตื่นตระหนก
วานนี้ (12 มีนาคม) @mediamonitorth ทวิตเตอร์ของโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือมีเดียมอนิเตอร์ ทวีตข้อความแสดงความเห็นต่อการทำงานของสื่อว่า "สื่อกำลังทำข่าวแบบ ' ! ' (สร้างความตื่นตระหนก) แทนที่จะเป็น ' ? ' (ตั้งคำถามแล้วหาคำตอบในเหตุการณ์)" (อ้างจากhttp://twitter.com/mediamonitorth/status/10358312152)
นอกจากนี้ ยังแนะนำถึงการรายงานข่าวของสื่อโทรทัศน์ด้วยว่า "ทีวีต้องระบุว่าอะไร 'แฟ้มภาพ' อะไร 'สด' เพราะภาพรุนแรงจากครั้งที่แล้ว กำลังจะปลิวว่อนในทีวี ทีนี้จะแยกไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่" (อ้างจากhttp://twitter.com/mediamonitorth/status/10358339219)
ผู้เชี่ยวชาญใน ตปท. คาด หากเกิดความรุนแรงอาจไม่ใช่ฝีมือเสื้อแดง
ข่าวการชุมนุมของเสื้อแดงในหนังสือพิมพ์ New York Times วันที่ 11 มี.ค. เรียกการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่มีการโดยสารมาทางรถบัส รถบรรทุก และรถอีแต๋น ว่าเป็นยุทธการ "ป่าล้อมเมือง" New York Times รายงานอีกว่า การที่คนในชนบทเข้ามาชุมนุมกันในเมืองหลวงเน้นให้เห็นถึงความแตกแยกที่ฝังรากลึกในประเทศ ระหว่างคนจนชนบทกับคนเมือง
New York Times ยังได้นำเสนอความเห็นของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ ซึ่งตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ชุมนุมมักจะใช้คำว่า 'สงครามครั้งสุดท้าย' (Final Showdown) แต่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ลงจากอำนาจได้จริงไหม
นอกจากนี้ปวิน ยังบอกอีกว่าเขากลัวว่าจะมีคนกลุ่มอื่นมาสร้างความวุ่นวายเพื่อก่อให้เกิดความรุนแรง
"ถ้าเกิดเรื่องร้าย ๆ ขึ้น มันอาจจะไม่ได้มาจากเสื้อแดง" ปวินกล่าว "มันมีหลายกลุ่มมากในตอนนี้ มีอยู่ในทุก ๆ ที่ แม้แต่ในเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็มีกลุ่มย่อย ๆ อยู่ พวกเราไม่ทราบว่าใครเป็นพวกใคร ในสถานการณ์แบบนี้ทำให้กลุ่มคนมือที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ใช้ประโยชน์จากมันได้เสมอ"
แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อ "ทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง"
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วม "เรื่องการทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง" โดยมีรายละเอียดดังนี้
เรื่องการทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้ง
ตามที่กลุ่ม ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มเคลื่อนไหวเข้ามาชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในวันที่12 มีนาคม นี้ องค์กร วิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วยสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ประชุมหารือกันและเป็นห่วงต่อสถานการณ์ ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ องค์กรวิชาชีพสื่อฯข้างต้น มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักว่าเรากำลังทำหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งเราขอสนับสนุนให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่างเข็มแข็ง เสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรใช้ภาษาข่าวที่รุนแรงดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้สื่อมวลชนทุกแขนงต้องยึดมั่นในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน อย่างเคร่งครัด ด้วยการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากที่สุด
2. ขอให้ฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาลตระหนักว่าสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ทำหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของตนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับ ใคร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคามและแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด ซึ่งหากสื่อถูกข่มขู่และคุกคามจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ จะผลกระทบกับประชาชนที่ไม่สารมารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริง
3. นอกจากนี้องค์กรวิชาชีพสื่อฯได้ประชุมร่วมกับกันนักข่าวที่ทำข่าวในพื้นที่ ต่างๆของการชุมนุมเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้องค์กรสื่อต่างๆดูแลด้านสวัสดิการ ที่จำเป็นสำหรับการทำข่าวกรณีที่เกิดความวุ่นวายเช่นอุปกรณ์ประเภทหมวกกัน น็อก แว่นป้องกันแก๊สน้ำตา
ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อได้จัดทำปลอกแขนที่เป็นสัญลักษณ์ของสมาคมฯและได้เปิดสมาคม นักข่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักข่าวเข้ามาใช้สถานที่จนกว่าสถานการณ์จะ เข้าสู่ภาวะปกติ โดยเปิดให้ใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต อาหารว่าง รวมถึงอุปกรณ์การทำงาน ทางสมาคมจะจัดหาให้ โดยเปิดเป็นศูนย์ press center ให้กับนักข่าว
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุญาตให้ใช้พื้นที่คอมมอนรูม ใต้ตึกคณะนิติศาสตร์ และกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี(สน.นางเลิ้ง)ก็อนุญาตให้นักข่าวใช้ พื้นที่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในช่วงการชุมนุมเช่นกัน
สุดท้ายนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่าเข็มแข็ง ซื่อสัตย์ในวิชาชีพ และขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง อย่างจริงจัง เนื่องจากความรุนแรงทุกรูปแบบจะไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้อย่างยั่งยืน แต่กลับจะสร้างความสูญเสียต่อประเทศชาติอย่างยากที่จะแก้ไขเยียวยาไม่ว่าจะ ใช้วิธีการใด
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
12 มีนาคม 2553