Saturday, April 17, 2010

ใครฆ่าทหาร

ที่มา ข่าวสด


คอลัมน์ เหล็กใน




ครบรอบ 7 วันเหตุการณ์ 10 เมษาเลือด

จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 23 คน

แต่ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆ

จากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้สั่งการสูงสุดทางการเมือง

จากคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบร่วมกันในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อันนำมาสู่การใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมจนเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน

จากพรรคการเมือง"หุ้นส่วนอำนาจ"ของรัฐบาล

ตลอดจนบรรดาผู้นำกองทัพซึ่งเปรียบเสมือนเสาค้ำยันรัฐบาล ทั้งยังมีส่วนสำคัญในฐานะ"เครื่องมือ"ของรัฐบาลในปฏิบัติการสลายการชุมนุม

ใครคิดจะชิ่งหนีตอนนี้คงไม่ทัน

การฉวยโอกาสผสมโรงเรียกร้องให้รัฐบาล"ยุบสภา"หลังเกิดเหตุ

ก็ไม่ช่วยให้ภาพของตนเองดูดีขึ้นเท่าไหร่

โดยเฉพาะผู้นำกองทัพที่เอาชีวิตทหารผู้ใต้บังคับบัญชาไปแลกกับการปกป้องรัฐบาล

หันปากปืนเข้าหาประชาชน

การให้โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ซึ่งเป็นคนเดียวกับโฆษกกองทัพบกออกมาเล่าความข้างเดียวผ่านสื่อในมือ

ทิ้งน้ำหนักลงในเรื่องทหารเป็นฝ่ายสูญเสียจากการถูกโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเป็นใคร อยู่ฝ่ายใด หรือเป็นมือที่สาม สี่ ห้า ฯลฯ

มีคลิปภาพและเสียงออกมาเสร็จสรรพ

ถามว่าแล้วยังไง?

ศพทหารช่วยให้นายกฯ รัฐบาลและกองทัพมีความชอบธรรมมากขึ้นหรืออย่างไร

ในเมื่อรัฐบาลรู้อยู่แล้วจากเหตุระเบิดป่วนเมืองรายวันที่ผ่านมา ว่ากลุ่ม "มือที่สาม" ซึ่งจ้องฉวยโอกาสขยายสถานการณ์ความรุนแรงนั้น มีตัวตนอยู่จริง

และกลุ่มที่รัฐบาลไม่รู้ชัดว่าเป็นใครและยังจับกุมไม่ได้นี้เอง

ได้แฝงตัวเข้ามาก่อเหตุฆ่าทหารและประชาชนกลางเมือง

เมื่อเป็นเช่นนี้หากมีใครสักคนกล่าวหารัฐบาลส่งทหารออกไปเป็นเหยื่อ

ก็คงไปว่ากล่าวเขาไม่ได้

อย่าว่าแต่ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าการไม่เอาจริงเอาจังกับปัญหา "มือที่สาม" เพราะต้องการใช้เป็นเครื่องมือทำลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

สุดท้ายจนถึงป่านนี้ก็ยังไม่มีใครสรุปได้ชัดเจนจริงๆ ว่ามือที่สามดังกล่าว

ยื่นยาวออกมาจากฝ่ายใดกันแน่