Sunday, May 9, 2010

หาเสียงเลือด รัฐไทยล้มเหลว

ที่มา ไทยรัฐ

สถานการณ์ความตึงเครียดจากวิกฤติม็อบเสื้อแดง ผ่อนคลายลงทันที

หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ หรือโรดแม็ป 5 ข้อ

เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง คลี่คลายปัญหาวิกฤติม็อบเสื้อแดง

ยืนยันถ้ากระบวนการปรองดองสามารถนำความสงบสุขกลับคืนมาสู่สังคม เหตุการณ์บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ

รัฐบาลพร้อมที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553

ร่นระยะเวลาในการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน จากเดิมที่เคยตั้งเงื่อนไขไว้ 9 เดือน ลดลงมาเหลือเพียงแค่ 5 เดือน

โดยเสนอกรอบในการดำเนินการตามกระบวนการปรองดอง 5 ข้อ คือ

หนึ่ง ทุกฝ่ายในสังคมต้องร่วมกันทำงาน เพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วยกันดูแลไม่ให้มีการละเมิดสถาบัน และไม่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง

สอง ปฏิรูปประเทศ แก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในสังคมและระบบเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งโครงสร้าง

คนไทยทุกคนจะต้องได้รับการดูแลด้วยระบบสวัสดิการที่ดีและมีโอกาสเท่าเทียมกันทั้งการศึกษา สาธารณสุข การมีรายได้ และความมั่นคงในชีวิต

สาม สื่อมวลชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ มีกลไกอิสระในการเสนอข้อมูลข่าวสาร ไม่เป็นการเสนอข้อมูลข่าวสารที่มุ่งสร้างความขัดแย้งความเกลียดชังที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน

สี่ ต้องมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ

ทั้งเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน เหตุการณ์ที่ถนนสีลม และที่ดอนเมือง รวมถึงเหตุการณ์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อ ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ห้า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น ครอบคลุมในเรื่องของประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รวมไปถึงประเด็นเรื่องการลิดรอน การเพิกถอนสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเมือง

และในส่วนของความผิดในการชุมนุมทางการเมือง เช่น การชุมนุมเกิน 5 คน ในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

พร้อมเน้นย้ำ กระบวนการทั้งหมดนี้ไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า การประกาศแผนปรองดองแห่งชาติของนายกฯอภิสิทธิ์ครั้งนี้ ทุกฝ่ายในสังคมขานรับกันกระหึ่ม

เพราะอยากให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ

ในขณะที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่นำม็อบเสื้อแดงยึดสี่แยกราชประสงค์ กดดันให้มีการยุบสภา

ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดองสมานฉันท์

แต่ก็ยังไว้เชิง ตั้งแง่ว่านายกฯควรประกาศวันยุบสภาให้ชัดเจน

รวมทั้งต้องการคำยืนยันจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาล ว่าเห็นด้วยกับแผนปรองดองครั้งนี้

และก็เป็นนายอภิสิทธิ์ที่ออกมาชี้แจงถึงเรื่องห้วงเวลายุบสภาว่า เป็นเรื่องที่สามารถคำนวณได้อยู่แล้ว คือช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนกันยายน

เพราะโดยกติการัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีมีการยุบสภาต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันยุบสภา

นั่นก็หมายความว่า เมื่อให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 นับย้อนสู่ห้วงเวลาของการยุบสภา ก็จะอยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 15-30 กันยายน 2553

แต่ที่นายกฯไม่สามารถประกาศวันยุบสภาออกมาตรงๆ ก็เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัด การยุบสภา เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ประเด็นนี้แกนนำม็อบเสื้อแดงก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ทำเป็นไขสือ

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีมติเห็นด้วยกับแผนปรองดอง 5 ข้อของนายกฯ

เมื่อมาถึงจุดนี้ เรื่องหลักๆที่ตั้งแง่เอาไว้ ถือว่าได้คำตอบหมดแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่แกนนำม็อบเสื้อแดงจะปฏิเสธการเข้าร่วมกระบวนการปรองดองครั้งนี้

ยกเว้นเสียแต่ ยังมีเงื่อนไขปมลึกอื่นๆที่ต้องการต่อรองกันในทางลับ

ส่วนการที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มเสื้อหลากสี ออกมาคัดค้านแผนปรองดองและการกำหนดห้วงยุบสภาเลือกตั้งใหม่ของนายกฯ

โดยมองว่าแผนปรองดองครั้งนี้ เป็นการทำลายกระบวนการปฏิรูปประเทศ กระบวนการยุติธรรม และหลักนิติรัฐ ต้องการให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ไม่ต้องการให้ปรองดองกับกลุ่มก่อการร้ายและขบวนการล้มสถาบัน

ตรงนี้ถือได้ว่าเป็นสีสันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

เพราะนายกฯอภิสิทธิ์พูดชัดเจนในการประกาศโรดแม็ป 5 ข้อว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมในการกระทำความผิดในคดีอาญา โดยเฉพาะเรื่องก่อการร้ายและขบวนการล้มสถาบัน มีการจับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้องและมีการขยายผล โดยทางดีเอสไอได้รับเข้าเป็นคดีพิเศษแล้ว

ยืนยันไม่มีเกี้ยเซี้ยอย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัสไปที่โรดแม็ป 5 ข้อ ในกระบวนการสร้างความปรองดองของนายกฯอภิสิทธิ์

ในข้อแรก เรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้มีการจาบจ้วง หรือดึงลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง

ถือเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในสังคมที่ต้องช่วยกันปกป้องดูแลอยู่แล้ว

ส่วนข้อสอง เรื่องการปฏิรูปสังคมเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆทั้งระบบ และข้อสาม การสร้างกลไกดูแลสื่อให้เสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเกลียดชังให้เกิดความรุนแรง

ในส่วนนี้ยังเป็นแค่นามธรรม เพราะต้องมีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกหลายขั้นตอน

เช่นเดียวกับข้อสี่ การตั้งคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในห้วงที่มีการชุมนุมของม็อบเสื้อแดง

ยังต้องมีกระบวนการในการสรรหาบุคคลที่ฝ่ายต่างๆในสังคมให้การยอมรับในเรื่องความเป็นกลางและความยุติธรรม เข้ามาพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริงในแต่ละเหตุการณ์ เพื่อหาข้อสรุปให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคม

สำหรับข้อห้า การนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบเสื้อแดงในห้วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุมเกิน 5 คน

ในประเด็นนี้พอเข้าใจได้ว่าเป็นการนำหลักรัฐศาสตร์เข้ามาใช้ เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศและสร้างความปรองดอง

แต่สำหรับประเด็นที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการให้ความเป็นธรรมกับบรรดานักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง

ซึ่งหมายถึงพวกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรค

ประเด็นนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาให้กับนักการเมืองโดยเฉพาะ และจะต้องมีกระบวนการในการดำเนินการในสภาฯอีกหลายขั้นตอน

ยังต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอีกหลายระลอก

จากวิกฤติม็อบเสื้อแดง ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสีย ถึงขั้นมิคสัญญี จนมาถึงจุดที่นายกฯประกาศแผนปรองดอง ทำให้สถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดผ่อนคลายลง

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมสถานการณ์ถึงอ่อนลงมาถึงตรงนี้ได้

"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอบอกว่า การที่สถานการณ์ไหลมาถึงจุดนี้ สาเหตุสำคัญก็เพราะเกิดสถานการณ์รุนแรงสะสม

เกิดเหตุการณ์ปะทะรุนแรงระหว่างม็อบเสื้อแดงกับทหารจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ตามด้วยสถานการณ์ที่สร้างความสะเทือนให้แก่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ทั้งกรณีขบวนการล้มสถาบันเบื้องสูง

และเหตุการณ์ที่แกนนำ นปช.นำการ์ดเสื้อแดงนับร้อยคนบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สถานที่ตั้งสภากาชาดไทย ที่เป็นสมาชิกกาชาดสากล

ถือเป็นจุดเปราะบางที่กระทบไปถึงเวทีนานาชาติ

เพราะโดยหลักสากล แม้ในยามสงครามก็ยังมีข้อยกเว้น ไม่คุกคามหน่วยแพทย์ พยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บทุกฝ่ายด้วยมนุษยธรรม

จากปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลโดนสังคมตำหนิ ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ในขณะที่ฝ่ายม็อบเสื้อแดง ก็โดนกระแสสังคมกระหน่ำอย่างหนัก พฤติกรรมห้าวระห่ำ แนวร่วมหดหาย

สถานการณ์บีบจนทำให้เกิดเจรจาทางลับระหว่างทีมงานนายกฯอภิสิทธิ์ กับแกนนำ นปช. และตัวแทนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่เบื้องหลังแกนนำม็อบ

จนกลายเป็นที่มาของแผนปรองดอง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งวิกฤติม็อบเสื้อแดง

หาทางลงแบบวินวินด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม จากการประกาศแผนปรองดองของนายกฯอภิสิทธิ์ ที่เน้นย้ำว่าต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ

จากนั้นจะยุบสภาและจัดเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกพรรคต้องไปหาเสียงได้ทุกพื้นที่

ในประเด็นนี้ยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าทุกอย่างจะราบรื่น

เพราะถึงแม้ม็อบเสื้อแดงสลายการชุมนุม แต่ความเคียดแค้นชิงชังอาจยังตกค้างอยู่

รวมไปถึงยุทธศาสตร์การต่อสู้ขั้นต่อไปของ "นายใหญ่" ไม่มีใครคาดเดาได้

หากไม่เกิดบรรยากาศปรองดองอย่างแท้จริง มีเหตุรุนแรงแทรกซ้อนบนเวทีหาเสียงเลือกตั้ง มีการเสียเลือดเสียเนื้อบาดเจ็บล้มตาย

สถานการณ์อาจเป็นอย่างที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ออกมาเตือนไว้ล่วงหน้า ถ้าการเลือกตั้งเกิดเหตุรุนแรง สหประชาชาติอาจส่งกองกำลังต่างชาติเข้ามาดูแล

เลือกตั้งเลือด รัฐไทยล้มเหลว

เหตุการณ์เช่นนี้ อย่าคิดว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยไม่ได้.

"ทีมการเมือง"