Tuesday, June 15, 2010

วิบากกรรมทางการเมืองรอบใหม่

ที่มา ไทยรัฐ

หลังเสร็จศึกฟุตบอลโลก 2010 ไปแล้วเดือนหน้า ศึกการเมือง ที่ยังค้างคากันอยู่คงปะทุอีกรอบ เพราะวิกฤติการเมือง พฤษภามหาโหด ยังไม่มีการชำระสะสางให้โปร่งใส ยังจะต้องมีคำตอบให้ สังคมว่า ใครฆ่าประชาชน ไม่ใช่อยู่ที่จำนวนผู้เสียชีวิตจะมากจะน้อย แต่ขึ้นอยู่กับว่า เขาเหล่านั้นเสียชีวิตอย่างเป็นธรรมหรือไม่

ต่อด้วยขบวนการยุติธรรม คดีความทางการเมือง ที่ค้างคากันอยู่ น่าจะได้เวลาชำระสะสางด้วยเช่นกัน จะดึงจะยื้อกันอย่างไรกฎหมายก็กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ชัดเจน

โฟกัสไปที่ คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งกรณีเงินบริจาคเข้าพรรคจำนวน 258 ล้านบาท ที่ยังออกอาการทุลักทุเลอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กกต. และอัยการสูงสุด คดีนี้มีคณะทำงานที่เกี่ยวข้องถอนตัวไปหลายราย มีการจัดฉากเอกสารข้อมูลบางอย่างถูกฉกไป

อีกกรณีคือ การใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ ว่ากันว่ากรณีนี้ ถ้า กกต.มีความเห็นอย่างไรไปแล้วก็น่าจะได้บทสรุปไม่ยากนัก เพราะเนื้อหาของกฎหมายระบุไว้ชัดเจน จะบิดเบือนได้ลำบาก พูดภาษาชาวบ้านคือมีโอกาสรอดยาก

และต้องพ่วงเอากับข้อร้องเรียนให้ ยุบพรรคเพื่อไทย เมื่อช่วงที่มีการชุลมุนทางการเมืองที่ผ่านมา จะเป็นข้อเปรียบเทียบเรื่องของความเป็นธรรมได้เป็นอย่างดี

แล้วก็ต้องมองไปถึง คุณสมบัติของ ส.ส. และ รมต. ที่ กกต.ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญระยะหนึ่งแล้ว รมต.บางคนที่ถูกวินิจฉัยขาดคุณสมบัติ ถูกปรับออกไปแล้วก็มี

เพราะเรื่องราวทั้งหมดนี้จะโยงไปถึง อายุและเสถียรภาพของรัฐบาล ถึงจะมีอำนาจล้นฟ้าอย่างไร ก็ไม่พ้นกับดักที่จะกลับมามัดคอตัวเองเข้าจนได้

กรณีงบประมาณวาระ 2-3 ที่กลัวว่าจะไม่ผ่านสภา เพราะ เสียงรัฐบาลปริ่มน้ำ ถ้าจะว่ากันด้วยเนื้อหาของงบประมาณจริงๆ อย่าว่าแต่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็อยากให้ผ่าน เพราะงบประมาณจำนวนนี้อย่างไรเสียก็ต้องลงพื้นที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านไม่มากก็น้อย

ยกเว้นว่าตั้งใจจะล้มกระดานการเมืองกันก็เป็นอีกเรื่อง

ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะการเมืองประเทศไทยวันนี้ ไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่มีจุดยืนหรือความแน่นอนหลงเหลืออยู่เลย ทุกอย่างอยู่บนผลประโยชน์และการต่อรอง ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับลับลวงพรางเปิดช่องไว้ให้ด้วยแล้ว ไม่ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะมาจากการยึดอำนาจ หรือมาจากการปล้นประชาธิปไตยหรือเป็นบุคคลที่ล้มละลายความน่าเชื่อถือทางการเมือง

ไปแล้วถูกต้องตามครรลองคลองธรรมหรือไม่ก็ตาม

ท่ามกลางช่องว่างทางชนชั้น.

"หมัดเหล็ก"