Sunday, June 6, 2010

"มาร์ค"กระชับ วงล้อมตัวเอง

ที่มา ข่าวสด


ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ถึงแม้ นายอภิ สิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะอ้างว่าสภาและประชาชนยังให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป

แต่จากตัวเลขผลการลงคะแนนในญัตติ

เน้นไปที่ในส่วนของ นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม และ นาย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย 2 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย ที่ครองอันดับบ๊วยและรองบ๊วย

เนื่องจากส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินบางกลุ่มเล่นเกมตลบหลังลงมติไม่ไว้วางใจและงดออกเสียง

ก็คือเครื่องสะท้อนธรรมชาติของ "รัฐบาลผสม" ที่แออัดยัดทะนานไปด้วยพรรคการเมืองและนักการเมืองหลากหลายสายพันธุ์

โดยเฉพาะรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ที่มีความแตกต่างจากรัฐบาลผสมโดยทั่วไป เพราะไม่ได้เกิดจากการผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติหลังการเลือกตั้ง

แต่เกิดจากการพลิกขั้วย้ายข้างทาง การเมืองหลังรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ประสบอุบัติเหตุถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากอำนาจ

รัฐบาลอภิสิทธิ์ ตั้งขึ้นมาโดยการอุ้ม ชูของ "ผู้มีบารมี" มากหน้าหลายตาทั้งในการเมืองและนอกการเมือง ตลอดจนกองทัพคอยให้การหนุนหลังทั้งในทางลับและเปิดเผย

ภาพของการจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นภาพของการตอบแทนบุญคุณกันขนานใหญ่ ผ่านการจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี และการแบ่งเค้กงบประมาณ

พรรคใดได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับอำนาจการต่อรองซึ่งหมายถึงจำนวนเสียงส.ส.ที่มีอยู่ในมือ

พรรคภูมิใจไทยได้รับการปรนเปรอเอาอกเอาใจจากนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลมากเป็นพิเศษ

สร้างความอัดอั้นตันใจให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคเพื่อแผ่นดินที่มีสภาพเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคภูมิใจไทยมาตลอด

ซึ่งไม่ต่างจากระเบิดเวลาที่เข็มกระดิกเดินอย่างเงียบๆ

ในช่วงเวลาเกือบปีครึ่งของรัฐบาลอภิสิทธิ์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน หนึ่งในแกนนำพรรคภูมิใจไทย เคยกล่าวถึงรัฐบาลผสมชุดนี้ว่า เหมือนกับทุกคนตกอยู่ในอาการกลัวผีจนต้องหนีไปกอดกันที่มุมห้อง

สะท้อนภาพของรัฐบาลชุดนี้ได้ตรงที่สุด

พรรคร่วมรัฐบาล 5-6 พรรคที่กอดกันกลม ไม่ใช่เพราะรักกันดูดดื่มแต่เพราะกลัว "ผีทักษิณ" หลอกหลอน

นอกจากนั้นแล้วตลอดระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประสบปัญหาในการบริหารประเทศแทบทุกด้านทั้งการ เมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และการต่างประเทศ

สัญญาประชาคมที่นายอภิสิทธิ์ เคยให้ไว้ในวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 5 ข้อ

1.ปกป้องสถาบัน 2.เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3.ยึดหลักนิติธรรมและนิติรัฐ 4.ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต 5.สร้างความสมาน ฉันท์นำพาชาติพ้นจากวิกฤต

ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง

กฎเหล็ก 9 ข้อซึ่งถูกกำหนดเป็นกรอบการปฏิบัติตัวและการทำงานร่วมกันของรัฐมนตรีทุกพรรค ถูกแหกละเมิดหลายครั้งหลายหนจนหมดความศักดิ์สิทธิ์

ถ้อยคำหรูๆ อย่างเช่น "ความรับผิดชอบทางการเมืองจะต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย" กลายเป็นเรื่องล้อกันเล่น ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

ต้นทุนของนายอภิสิทธิ์ ที่ว่ามีอยู่สูง ถูกพรรคพวกกันเองกัดเซาะทำลายจนแทบไม่เหลือ

ขณะที่การเมืองนอกสภา เดินมาถึงจุดแตกแยกรุนแรงมากที่สุดเมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนคนเสื้อแดง

เป็นเหตุให้มีคนตาย 90 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

แม้รัฐบาลจะดั้นด้นเอาตัวรอดจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านมาได้

แต่กรณีของพรรคเพื่อแผ่นดินกับพรรคภูมิใจไทยก็เป็นโจทย์ยากข้อใหม่ให้ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ต้องเร่งแก้ไข

ไม่เช่นนั้นขืนปล่อยให้กระแสความไม่ชอบธรรมจากเรื่องสลายม็อบจนมีคนตายเจ็บเป็นเบือ ไหลไปรวมกับปัญหาเสถียร ภาพภายในของรัฐบาล

ต่อให้รัฐบาลเทพประทานก็ยากจะฝืนอยู่ต่อไปได้

จากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

พรรคภูมิใจไทยด่าทอพรรคเพื่อแผ่นดินกลุ่มที่ลงคะแนนไม่ไว้วางใจนายชวรัตน์ และนายโสภณ ว่าไม่มีมารยาท หน้า ด้าน ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดินโต้กลับว่าไม่ต้องการพายเรือให้โจรนั่ง

ยากจะสมานฉันท์กันได้อีกต่อไป

เดือดร้อนพรรคประชาธิปัตย์แกนนำรัฐบาลต้องเร่งหาทางเจรจาปรองดอง

แต่ด้วยความที่ยังต้องยืมจมูกคนอื่นต่อลมหายใจให้ตนเอง ผลเจรจาที่ออกมาจึงมีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อแผ่นดินที่ "กำปั้น" เล็กกว่าพรรคภูมิใจไทยจะถูกปรับออกจากรัฐบาล

เหลือให้ลุ้นแค่จะถูกเขี่ยออกทั้งพรรค หรือเฉพาะ "กลุ่มกบฏ" แล้วริบ 3 เก้าอี้รัฐมนตรีคืนเพื่อนำมา เกลี่ยกันใหม่ ใช้เป็นรางวัลล่อใจพวกที่ยังเหนียวแน่น

ไม่ก็พวกที่จ้องเสียบภายหลัง

ขณะที่ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่เคยพลาดเก้าอี้ในช่วงแรกจัดตั้งรัฐบาล ก็ฉวยจังหวะแปรวิกฤตเป็นโอกาส กดดันให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีภายในพรรคเช่นกัน

สิ่งที่เป็นสัจธรรมในการปรับครม.ทุกครั้ง ก็คือแรงกระเพื่อมที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะเมื่อมีคนใหม่เข้ามาอย่าง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

คนเก่าที่ถูกปรับออกอย่าง คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายไพฑูรย์ แก้วทอง นายธีระ สลักเพชร อาจจะไม่พอใจ

ยิ่งปรับหลายเก้าอี้ ความปั่นป่วนวุ่นวายยิ่งมีมาก

โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีที่ไม่ได้ยึดโยงกับผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และไม่ได้นับเอาเรื่องประสิทธิภาพหรือผลงานเป็นหลัก

แต่เป็นไปในลักษณะสมบัติผลัดกันชมนั้น

แทนที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้รับการฟื้นฟูเยียวยา กลับจะเป็นการกระชับวงล้อมตัวเอง

นับถอยหลังสู่การพังทลายเร็วขึ้นกว่าเดิม