Thursday, July 8, 2010

ศรัทธา ความเชื่อมั่น ภายใต้เงา พ.ร.ก. "ฉุกเฉิน" ต่อรัฐบาล "อภิสิทธิ์"

ที่มา ข่าวสด

หากใครติดตามการถาม-การตอบระหว่าง นักข่าว กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่อประเด็นการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 3 เดือน

จะมองเห็น "แง่ง" จะมองเห็นปม "เงื่อน"

ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า การต่ออายุพ.ร.ก.ออกไปจะสามารถทำให้ยุติการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลได้อย่างราบคาบหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ไถลออกไปไกลถึงกรณีการยิงจรวดอาร์พีจีเข้าใส่ถังน้ำมันของกรมพลาธิการทหารบกในลักษณะและทิศทางที่ว่า "หลายฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชนเห็นว่าเป็นการสร้างสถานการณ์"

เป็นแง่งที่ไม่แน่ใจว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะสามารถคืนความสงบเรียบร้อยให้ได้จริง เป็นเงื่อนปมที่คลางแคลงใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามิได้เป็นเรื่องจริง หากแต่เป็นการสร้างขึ้นโดยคนจากฝ่ายรัฐบาล

เป็นการสร้างเพื่อเป็นเงื่อนไขในการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก

หากมองบนพื้นฐานทฤษฎี "ภาพลวงตา" จากบทสรุปของ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ก็อาจเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

กระนั้น หากมองจากสภาพความเป็นจริงที่รัฐบาลเป็นผู้กุมกลไกแห่งอำนาจรัฐ ทั้งยังเป็นการกุมกลไกอำนาจบนพื้นฐานแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอันถือได้ว่าเป็นกฎหมายพิเศษ

แม้จะเป็น "ภาพลวงตา" ก็เป็นเรื่องน่าวิตก

เพราะว่าการมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ในฐานะเป็นเครื่องมือ เหมือนกับว่ารัฐบาลอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายได้เปรียบ อยู่ในฐานะเหนือกว่าทุกองคาพยพที่ดำรงอยู่ในสังคม

แต่คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ แล้วเหตุใดคนไม่เชื่อถือกับแถลงจากรัฐ

อย่างเช่นคำแถลงจากรัฐที่ว่าการยิงจรวดอาร์พีจีเข้าใส่คลังน้ำมัน กรมพลาธิการทหารบกเป็นการกระทำของฝ่ายที่ไม่หวังดี การลอบวางระเบิดที่พรรคภูมิใจไทยเป็นเรื่องของเสื้อแดง

แต่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยรับฟังแล้วไม่ยอมเชื่อ หากมากด้วยความคลางแคลงใจ

ความคลางแคลงใจ ประการหนึ่ง มาจากการไม่สุกงอมและเห็นด้วยกับการคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ในฐานะเครื่องมือ

ดังที่ศูนย์วิจัยกรุงเทพ พบว่ามีคนกทม.ถึงร้อยละ 62.5 ต้องการให้ยกเลิก

ดังที่คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลเอง

ขณะเดียวกัน ความคลางแคลงใจประการหนึ่งมาจากความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล

นั่นก็คือ ไม่เชื่อมั่นต่อคำแถลงจากนายกรัฐมนตรี ไม่เชื่อมั่นต่อคำแถลงจากรองนายกรัฐมนตรี ไม่เชื่อมั่นต่อเหตุผลที่ศอฉ.ให้มา

เห็นว่าเรื่องหลายเรื่องเป็นการกระทำในลักษณะสร้างสถานการณ์

เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อรักษาอำนาจอันเบ็ดเสร็จเอาไว้ทำลายล้างอีกฝ่ายอย่างไม่เป็นธรรม

ความรู้สึกอย่างนี้หากขยายกรอบและขอบเขตออกไปมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นเรื่องน่ากลัว

การคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 3 เดือนสะท้อนการมองอย่างด้านเดียวของรัฐบาล

นั่นก็คือ มองแต่ในส่วนที่ตัวเองมีเครื่องมือในการจัดการอีกฝ่าย อันเป็นเรื่องได้ แต่มิได้มองว่าภายในเรื่องได้ก็ย่อมจะมีเรื่องเสียอันเป็นด้านลบดำรงอยู่อย่างมิอาจปฏิเสธได้

นั่นก็คือ ด้านที่เป็นเผด็จการ ด้านที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม