Saturday, January 8, 2011

′แด่อาเนี้ย′

ที่มา มติชน



โดย เกษียร เตชะพีระ



อาเนี้ยกับผู้เขียนในงานฌาปนกิจอาเตีย พ.ศ.2546

เมื่อปลายเดือนเมษายนศกก่อน ญาติผู้ใหญ่ที่ผมนับถือเสมือนแม่และเรียกหาว่า "อาเนี้ย" ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ในฐานะที่ท่านเคยชุบเลี้ยงและรักใคร่เอ็นดูผมเหมือนลูกชายคนโตมาแต่ก่อน ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานไว้อาลัยและฝังร่างของท่านที่สุสานตามธรรมเนียมศาสนิกคริสเตียนที่ท่านเป็น ระหว่างนั่งรถโดยสารกับญาติมิตรลูกหลานและเพื่อนร่วมโบสถ์ไปสุสานที่ต่างจังหวัด ความคิดจิตใจก็ประหวัดไปถึงชะตาชีวิตของอาเนี้ยและจีนอพยพโพ้นทะเลร่วมรุ่นกับท่านทั้งหลายในเมืองไทย.....

เมื่อผมเล่าเรื่องราวชีวิตอาเนี้ยโดยไม่บอกชื่อและความสัมพันธ์จริงกับตัวเองให้คนอื่นฟัง (เช่น เล่าให้สหายหญิงหน่วยลำเลียงในป่าภาคอีสานใต้ฟังเป็นภาษาลาวระหว่างพักเหนื่อยจากขนเสบียงกลางดง) ผู้ฟังมักบอกว่ามันเหมือนนิยายและยุให้ผมเขียนขึ้นมาซะ

ชีวิตอาเนี้ยเต็มไปด้วยอุปสรรคมรสุม การต่อสู้ฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ แล้วก็เจออุปสรรคมรสุมใหม่อีก ครั้งแล้วครั้งเล่า ในฐานะหญิงจีนอพยพรุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่สองคนหนึ่ง คนรุ่นนี้ในวัย 80-90 ปี กำลังอยู่บั้นปลายชีวิต ใกล้หมดไปจากเมืองไทย

ในกรณีอาเนี้ย มีอุปสรรคมรสุมที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตอาเนี้ย 4 ครั้ง

1) อพยพถอนรากจากจีนมาไทย (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง)

อาเนี้ยอพยพทางเรือจากบ้านเกิดที่เมืองจีนมาอาศัยช่วยงานในบ้านคนรู้จักที่มาอยู่ก่อน ได้พบรักและแต่งงานกับ "อาเตีย" หนุ่มจีนอพยพจากภูมิลำเนาใกล้เคียงกัน (อาเตียเคยเล่าว่าครั้งแรกที่เห็นหน้ากันในร้านค้าแห่งหนึ่ง สายตาของอาเนี้ยที่จ้องมองมาคมกริบบาดใจไม่รู้ลืม)

ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจค้าเหล้าฝรั่ง-จีน เปิดร้าน "แต้น่ำฮง" เป็นห้องแถวคูหาเดียวอยู่บนถนนกรุงเกษม ริมคลองผดุงกรุงเกษม ว่ากันว่าห้องแถวนี้เคยเป็นสิทธิของเถ้าแก่ชิน โสภณพนิชมาก่อนแล้วท่านยกสิทธิให้ด้วยความเมตตา

อาเตียกับอาเนี้ยดิ้นรนต่อสู้ปากกัดตีนถีบจนค้าขายประสบความสำเร็จพอควร อาเตียสามารถออกรถยี่ห้อเปอโยต์ของฝรั่งเศสราคาราว 3-4 หมื่นบาท ในสมัยกึ่งพุทธกาลเพื่อไว้ขนเหล้าส่งลูกค้า (รถฝรั่งราคาแพงเป็นยันต์กันตำรวจตรวจจับ เหมือนเบนซ์ทุกวันนี้)

ในยุคทหารครองเมือง พ่อค้าจีนเป็นพลเมืองชั้นสอง อาเนี้ยเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีนายทหารใช้อำนาจอภิสิทธิ์มายกเหล้าบรั่นดีเฮนเนสซี่ (จีนเรียก "โป๋วเท้า" หรือหัวขวานตามโลโก้ในฉลากบนขวด) ไปขึ้นรถดื้อๆ 2 ลัง อาเนี้ยวิ่งตามออกจากร้านไปฉุดกระชากลากดึงแย่งคืนมาได้ 1 ลัง

2) ปัญหาการสมรส-ครอบครัว แยกมาตั้งตัวใหม่พร้อมลูกสาว (พุทธทศวรรษ 2500)

ปรากฏว่าอาเนี้ยให้กำเนิดลูกสาว ทำให้สองผัวเมียไม่มีลูกชายตามธรรมเนียมจีนด้วยแรงยุจากเพื่อนมิตรญาติโยม อาเตียจึงแต่งภรรยาคนที่สองเรียกกันว่า "อาอี๊" เป็นสาวลูกจีนเกิดในเมืองไทยฐานะยากจน ต่อมาได้ให้กำเนิดลูกชายแก่อาเตียหลายคน

สภาพหนึ่งผัวสองเมียร่วมชายคาและมุ้งหลังเดียวกัน ไม่ช้าก็นำไปสู่ปัญหาการสมรสและครอบครัว เกิดทะเลาะเบาะแว้งวุ่นวาย ทำให้อาเนี้ยตัดสินใจพาลูกสาวคนเดียวแยกบ้านมาตั้งตัวเปิดธุรกิจใหม่

ในช่วงมรสุมชีวิตนี้เองที่อาเนี้ยได้พบพระผู้เป็นเจ้าที่โบสถ์คริสตจักรแถวหัวลำโพงจากคำแนะนำของเพื่อนสนิทของลูกสาว และทั้งสองคนแม่ลูกก็เข้า "เจียะก่า" หรือถือรีตเป็นคริสเตียนแต่นั้นมา

3) ปัญหาครอบครัว-ธุรกิจเมื่อบุตรเขยสิ้นชีวิตกะทันหัน (พุทธทศวรรษ 2520)

อาเนี้ยกับลูกสาวต่อสู้ดิ้นรนสารพัด อาทิ รับเหมาก่อสร้างทางสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์-ถนอม พัฒนาเศรษฐกิจและอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพรบเวียดนาม อาเนี้ยเคยเล่าว่าสองแม่ลูกหิ้วเงินนับหมื่นขับรถตามถนนบ้านนอกดึกดื่นเพื่อไปจ่ายค่าจ้างคนงานสร้างทาง, รับเป็นนายหน้าขายที่ดินกินคอมมิสชั่น, เป็นเซลส์ขายสินค้านานาชนิด ฯลฯ

สองแม่ลูกทำงานหลายอย่างจนตั้งตัวได้ ลูกสาวแต่งงาน ร่วมกันกับลูกเขยทำธุรกิจเปิดร้านค้าเครื่องมือเหล็กที่ศูนย์การค้าวรรัตน์ ย่านถนนตก ประสบความสำเร็จพอควร

ทว่าต่อมาปัญหาความขัดแย้งแข่งขันทางธุรกิจร้ายแรงถึงขั้นถูกมือปืนปองร้าย ผลสืบเนื่องต่อมาภายหลังทำให้ลูกเขยเสียชีวิตกะทันหัน เหมือนเสาหลักหนึ่งของครอบครัวและธุรกิจหักสะบั้นไป ส่งผลกระทบกระเทือนมาก

แต่สองแม่ลูกอาเนี้ยกับลูกสาวก็กัดฟันบากบั่นยืนหยัดต่อสู้ขึ้นมาใหม่ ไม่เพียงฟื้นฟูธุรกิจค้าเครื่องมือเหล็กจนแข็งแรงอยู่ได้ แต่ยังเดินหน้าบุกเบิกขยายกิจการ จากตัวแทนนำเข้าและจำหน่ายไปตั้งโรงงานผลิตเครื่องมือเหล็กในประเทศเองแถวอยุธยา โดยอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องจักรจากรัสเซีย บวกวิศวกรจากอินเดีย

นับว่าเหนื่อยหนักเป็นภาระมากในการดูแลธุรกิจที่มีมูลค่านับร้อยๆ ล้าน แต่ก็ค่อยเห็นผลสำเร็จและความมั่นคงรุ่งเรืองขึ้น

4) ปัญหาธุรกิจอันเป็นผลสะเทือนสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก พ.ศ.2540

ทว่า "เสี้ยเส้อปู้เต๋ออี้" เรื่องราวในโลกไม่ได้เป็นไปดังใจปรารถนา ภาวการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตฟองสบู่แตก พ.ศ.2540 ทำให้เศรษฐกิจการเงินผันผวนเกินคาดหมาย ส่งผลสะเทือนให้ธุรกิจโรงงานที่บุกเบิกไว้ทรุดลงเพราะภาระหนี้สินพอกพูน

นับเป็นอุปสรรคมรสุมใหญ่อีกครั้งในชีวิต แต่อาเนี้ยก็กัดฟันสู้ปรับตัวรัดเข็มขัดตัดสินทรัพย์ขายทิ้ง ลดทอนความเสียหายลง ดูแลลูกหลานเหลนที่อยู่ด้วยกันให้ดีที่สุด

มาในชั้นหลังนี้เองที่ความเครียดและเหนื่อยล้าซึ่งสั่งสมมาทั้งชีวิตทำให้อาเนี้ยเริ่มมีปัญหาสุขภาพหลงๆ ลืมๆ ตามวัยที่ร่วงโรย อาการค่อยๆ ทรุดลงตามลำดับ จนไปพบภายหลังว่าเป็นมะเร็งปอดด้วย หลังเข้าโรงพยาบาลรักษาอยู่แรมเดือน อาเนี้ยก็ถึงแก่กรรมไปอย่างสงบราวสองทุ่ม เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2553 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ในช่วงท้ายได้อยู่ท่ามกลางการดูแลอาลัยรักของลูกหลานเหลนรอบข้างอย่างอบอุ่นแม้จะไม่รู้สึกตัวแล้วก็ตาม

สรุปได้ว่าตลอดชีวิตอาเนี้ย มี 4 เรื่องที่น่าสนใจ:

1) จิตใจอันแข็งแกร่ง ล้มแล้วลุกขึ้นยืนหยัดสู้ใหม่

2) ความรักใคร่ปรานีที่มีให้ลูกหลานเหลนญาติมิตร

3) การให้อภัยอโหสิกรรมเมื่ออาเนี้ยตัดสินใจไปร่วมงานศพ "อาเตีย" อดีตสามีที่แยกทางกัน

4) ทั้งหมดนี้คงเป็นเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงให้พรและพลังแก่อาเนี้ยในการฟันฝ่าความทุกข์ยากอุปสรรคมรสุมต่างๆ มาได้ในชีวิต ดังกาพย์ยานีที่ลูกหลานช่วยกันแต่งเพื่อรำลึกอาลัยถึงอาเนี้ย ณ สุสานว่า:

ร่มไม้ที่ทอดเงา

หน้าทิวเขาที่ทอดไป

สุดทางอันยาวไกล

เมื่อดวงเนตรได้หลับลง

วางร่างอันเหนื่อยล้า

ในศรัทธาต่อพระองค์

วางใจโดยบรรจง

ในหลักธรรมพระคัมภีร์

อ้อมรักอันอุ่นหวาน

ของลูกหลานเป็นเวที

ร้องรับขับดนตรี

ขอพระเจ้าประทานพร

วิญญาณผู้ศรัทธา

สถิตฟ้านิรันดร

เพื่อฟื้นตื่นจากนอน

แทบพระบาทพระองค์เทอญฯ