รากหญ้ารู้ทัน”จอมลอกเลียน”
“ประชาวิวัฒน์” –เรื่องเก่าชัดๆ
ของจริง... ของแท้... ของดั้งเดิม... เป็นเรื่องที่สังคมสามารถที่จะรับรู้ได้เอง โดยไม่ต้องทุ่มเทโฆษณาชวนเชื่อ
ในขณะที่ “ของลอกเลียนแบบ” ก็เป็นสิ่งที่คนรู้ได้ในทันทีว่าเป็นของก็อปปี้
ก็เหมือนกับสมัยก่อนบนถนนรังสิต สารพัดก๋วยเตี๋ยวเรือ ก็จะขึ้นยี่ห้อว่าเป็น “โกฮับ” โกนั่น โกนี่ สารพัดโก จนคนงงไปหมดว่าอะไรจะญาติเยอะปานนั้น...
แต่ด้วยความที่ของแท้เท่านั้น ที่จะมีรสชาติสมเป็นของจริง บรรดาสารพัดโกที่ลอกเลียนแบบก็ล้มหายตายจากไปเอง… นี่คือสัจจะธรรมที่เป็นจริง
ดังนั้น กรณีของนโยบายประชานิยม ที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในขณะนี้ ว่าที่พรรคประชาธิปัตย์ ชูนโยบายประชาวิวัฒน์ ว่าจะใช้เป็นนโยบายหลักนั้น
จริงๆแล้วก็แค่เป็นการลอกเลียนแบบมาจากจากนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยนั่นเอง!!!
และเป็นการลอกเลียนมา เพื่อที่จะเป็นการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง ... เนื่องจากเป็นรัฐบาลมา 2 ปี ทำไมจึงมาชูนโยบายเอาในปีสุดท้ายที่อายุรัฐบาลจะครบเทอมแบบนี้
ถือเป็นกระแสคำถามที่รุนแรงอย่างยิ่งสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ และบรรยากาศการเมืองของไทย
เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า กลไกประชาธิปไตยของประเทศไทยในห้วงเวลานับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ทุกอย่างบิดเบี้ยวผิดรูปผิดร่างผิดกติกาไปหมด เพราะปัจจัยจากขั้วอำนาจพิเศษและทหาร ที่ก่อให้เกิดการทำลายล้างทางการเมืองอย่างรุนแรงนั่นเอง
กติกาประชาธิปไตยทั่วโลก... คิดต่าง เห็นต่างได้ เพราะเป็นเรื่องของนานาทัศนะ
แต่ประชาธิปไตยไทยหลักรัฐประหาร... คิดต่าง เห็นต่าง จะต้องถูกทำลายในสารพัดรูปแบบ แม้แต่กระทั่งว่ารุนแรงชนิดเข่นฆ่าทำลายล้างกันอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย… ก็ยังเกิดขึ้นมาแล้ว
ทำให้สถานการณ์การเมืองของไทยในวันนี้ แม้ว่าจะรู้ดีว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะครบเทอมในช่วงปลายปี 2554 นี้แล้ว แต่หลายๆคนก็ยึงไม่แน่ใจว่า
ในปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นหรือไม่???
ภายใต้ขั้วอำนาจพิเศษ ภายใต้รองเท้าบู๊ท และปากกระบอกปืน อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น!!!
แล้วแค่การที่พรรคประชาธิปัตย์จะลอกเลียนแบบ หรือจะนำนโยบายประชานิยมมาใช้จะแปลกตรงไหนกัน
จริงอยู่ในอดีตสมัยที่พรรคไทยรักไทย นำนโยบายประชานิยมมาใช้ พรรคประชาธิปัตย์จะเคยไม่เห็นด้วย เคยโจมตี เคยรังเกียจรังงอน แต่นั่นมันก็เพราะความเป็นพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องค้านดะเอาไว้ก่อน
รวมทั้งอาจจะขาดวิสัยทัศน์ในการที่จะรู้ว่า จริงๆแล้วนโยบายประชานิยมไม่ใช่นโยบายที่เลวร้าย แถมเป็นนโยบายที่ประชาชนรากหญ้ายอมรับและต้องการ... ดังนั้นตอนนั้นก็เลยค้านหัวชนฝา
แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน นโยบายประชานิยมกลางเป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องการมากเสียยิ่งกว่าประชาชนคนรากหญ้าเสียอีก เนื่องจากว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณรายจ่าย ซึ่งรัฐบาลผสมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้น ถือว่ามีข้อครหาอื้อฉาวในเรื่องงบประมาณอย่างมากที่สุด
ทุจริตมากเสียยิ่งกว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กลุ่มนายทหาร ได้ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารมาแล้วด้วยซ้ำ
ฉะนั้นหากว่าจะมีการลอกเลียนแบบนโยบายประชานิยมมาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดทั้งสิ้นสำหรับรัฐบาลชุดนี้
และไม่แปลกที่แม้แต่นายอภิสิทธิ์ จะลืมคำพูดที่โจมตีเรื่องประชานิยม แล้วหันมาชื่นชมแทนด้วยการเปลี่ยนชื่อ รวมทั้งฉวยจังหวะวันขึ้นปีใหม่ ประกาศซึ้อใจประชาชนด้วยประชานิยม 9 ข้อ
1. ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม จะมีการปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยจะเปิดโอกาสให้สมทบเงินไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน พร้อมเข้ามาอยู่ในระบบกองทุนประกันสังคมได้ แล้วจะได้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของการชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต
2. เป็นสินเชื่อกรณีพิเศษให้ผู้ขับแท็กซี่ที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี สามารถเป็นเจ้าของรถแท็กซี่ใหม่ โดยผ่อนเงินดาวน์ต่ำสุด 5% ถ้ามีประสบการณ์มากกว่า 9 ปี โดยมีวงเงินสินเชื่อให้ 1,600 ล้านบาท
3. เรื่องของการขึ้นทะเบียนให้รถจักรยานยนต์รับจ้างถูกกฎหมาย 100% จะมีการจัดระบบ ออกบัตรประจำตัว เลขเสื้อวิน หมวกนิรภัย ให้สอดคล้องต้องกันทั้งหมด ซึ่งบัตรประจำตัวก็จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาระบบสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ต่อไปได้
4. เรื่องของผู้ค้าขายหาบเร่ แผงลอย ใช้หลักการเดียวกันกับผู้ที่ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งจะดูแลในเรื่องของจุดผ่อนผัน ในหลายจุดที่จะมีการผ่อนผันเพิ่มเติม
5. เป็นการบริหารจัดการเกี่ยวกับกองทุนน้ำมัน โดยเลิกการอุดหนุนแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม โดยจะให้ไปใช้แอลพีจีในราคาตลาด ส่วนภาคครัวเรือนและภาคขนส่งจะตรึงราคาไว้เหมือนเดิม
6. ผู้ที่ใช้ไฟน้อยกว่า 90 หน่วย จะใช้ไฟฟรีอย่างถาวร โดยจะปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม ใครใช้ไฟเยอะ ก็ต้องจ่ายเงินเยอะ แล้วนำเงินส่วนนั้นมาให้ผู้ที่ใช้ไฟน้อย
7. เรื่องต้นทุนของภาคเกษตร เรื่องของอาหารสัตว์ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ที่ปัจจุบันส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์สูงกว่าที่ควรจะเป็น จะพยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมที่มากขึ้น
8. เรื่องการเปิดเผยต้นทุน ราคาต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ หรือสถานีโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวของราคาต้นทุนต่างๆ จะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการค้าขาย ส่วนไข่ไก่ จะพยายามให้มีการค้าขายกันเป็นกิโล
และสุดท้าย…….
9. เป็นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จะประกาศให้ภายใน 6 เดือน กรุงเทพฯ ปัญหาอาชญากรรมต่างๆจะลดลง 20% แนวทางคือ กำหนดพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงมากที่สุด 200 กว่าจุด จะมีกล้องวงจรปิด รวมถึงบุคลากรที่จะไปตรวจตราพื้นที่ โดยใช้งบ 200-300 ล้านบาท ในการปรับปรุงเรื่องของอุปกรณ์
ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์พยายามชูว่าเป็นกระบวนการของการปฏิรูปประเทศไทย เป็นวาระเร่งด่วน ซึ่งแผนทั้งหมดจะได้มีการนำเสนอ ครม. ในวันนี้ (อังคารที่ 11 ม.ค.)
แต่แค่เปิด 9 ข้อออกมา เสียงสะท้อนผ่านคำว่าลอกเลียน ก็ระงมจนประชาธิปัตย์ทนไม่ได้!!!
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกมายืนกรานว่า ไม่มีส่วนใดที่คล้ายคลึงกับนโยบายในอดีต ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนให้รัฐบาลได้ผ่านเป็นมติ ครม. โดยถือว่าเป็นการยืนยันสัญญาประชาคมอีกครั้งหนึ่ง
ในขณะที่ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญและนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) กล่าวว่า......
จากการสุ่มตัวอย่างครัวเรือนจากฐานข้อมูล 20 ล้านครัวเรือนของประเทศ เรื่องเชื่อมั่น “แผนประชาวิวัฒน์” กับนายกฯ อภิสิทธิ์ จำนวน 1,138 ตัวอย่าง โดยดำเนินการในช่วง 9 ม.ค. 2554 พบว่า
ผู้ชมรายการสดที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.0 ระบุว่า ได้รับความชัดเจนในแผนประชาวิวัฒน์ ในเรื่อง การช่วยลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง รองลงมาหรือร้อยละ 62.5 ได้รับความชัดเจนในเรื่องการช่วยแก้ปัญหาทางการเงิน การประกอบอาชีพ ของกลุ่มอาชีพ แท็กซี่ รถรับจ้าง หาบเร่ แผงลอย และร้อยละ 62.0 ได้รับความชัดเจนในเรื่องหลักประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชมรายการสดไม่ได้รับความชัดเจนในแผนประชาวิวัฒน์ที่ตนเองคาดหวังไว้ว่าจะได้ยินความชัดเจน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.3 ไม่ได้ความชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
รองลงมาคือ ร้อยละ 56.6 ไม่ได้ความชัดเจนเรื่องการกระจายที่ดินและโฉนดชุมชน และร้อยละ 49.1 ไม่ได้ความชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตามลำดับ
ที่สำคัญส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.7 ระบุว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ยินในรายการสดเชื่อมั่นประเทศไทยฯ ล่าสุดนี้ เป็นเรื่องเก่าที่เคยได้ยินมาแล้ว
มีแค่ร้อยละ 31.3 ระบุเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งได้ยิน
ดร.นพดล กล่าวว่า สิ่งที่ประกาศไว้ในแผนประชาวิวัฒน์เวลานี้ส่วนใหญ่จะได้แค่ความรู้สึกทางจิตวิทยาเท่านั้น จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลว่า ประชาชนกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะจับต้องสิ่งที่ประกาศออกมาได้เมื่อไหร่
นอกจากนี้ยังมีความน่าห่วงใยอย่างน้อย 3 ข้อ คือ
1. ความไม่ยั่งยืนในนโยบาย 2. ความอ่อนแอในกลุ่มประชาชนที่คอยแต่จะรับสิ่งที่รัฐบาลจะให้ และ 3. “ความเท็จ”ที่จะมีการปั่นตัวเลขรายงานถึงความสำเร็จในโครงการต่าง ๆ
ทางออกคือข้อเสนอ 3 เร่ง ได้แก่
1. เร่งหามาตรการสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน 2. เร่งกระจายทรัพยากรให้ประชาชนและชุมชนได้ครอบครองเป็นเจ้าของที่ทำกินโดยเร็ว และ 3. เร่งแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการเลือกปฏิบัติในมาตรการต่าง ๆ ตามแผนประชาวิวัฒน์ครั้งนี้
ในขณะที่นายเมตตา บันเทิงสุข รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบายให้คนไทยกว่า 9.1 ล้านครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 90 หน่วยต่อเดือนใช้ไฟฟ้าฟรี คิดเป็นเงินที่ต้องชดเชย 1,200-1,600 ล้านบาทต่อปี
ซึ่งกระทรวงอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างราคาใหม่ในลักษณะที่จะเก็บค่าไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้ากับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าสูงกว่า 90 หน่วยต่อเดือนเข้ามาชดเชย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมคาดว่าจะรับภาระเพิ่มเฉลี่ยไม่เกิน 1% ต่อราย เพราะผู้ที่ใช้ไฟฟ้าฟรีคิดเป็นมูลค่าเพียง 4% ของมูลค่าการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลัง งาน กล่าวว่า กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเยอะจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงกว่า 50% ของมูลค่าใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีส่วนเข้ามารับผิดชอบตรงนี้
ขณะที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ ๆ ให้ประชาชนเลย เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำออกมานั้นไม่ได้แตกต่างจากโครงการเอื้ออาทรของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งยังเป็นโครงการที่ทำเพื่อการซื้อเสียงอย่างชัดเจนเหมือนเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า
“โครงการที่รัฐบาลพยายามทำนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรที่จะทำมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพิ่งจะมาคิดที่จะทำ จึงอยากถามว่า 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเอาเวลาไปทำอะไร เพิ่งจะมาคิดทำตอนนี้”
นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงนโยบายประชาวิวัฒน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานนอกระบบว่า โดยภาพรวมยังไม่มีความชัดเจนมากนัก ต้องดูรูปแบบการประกันความเสี่ยงที่รัฐบาลจะเสนอออกมา
ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการนำมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม มาใช้เพื่อเป็นสวัสดิการนั้นไม่เหมาะสมทั้งตัวเงินสมทบที่ต้องจ่าย และสิทธิที่ได้รับ
ก็คงต้องดูว่าโครงการเร่งรัฐปฏิบัติการด่วนเพื่อคนไทย หรือประชาวิวัฒน์ ที่อ้างว่าไม่ใช่นโยบายประชานิยม หรือลอกเลียนแบบใครมานั้น
สุดท้ายแล้วจะประทับใจประชาชนคนไทยจริงๆมากน้อยเพียงใด???