Friday, April 8, 2011

10 เมษามาบรรจบ

ที่มา มติชน



โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 เมษายน 2554)

เวลา 1 ปี ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

กระทั่งอีก 3 วันข้างหน้า จะเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของเหตุการณ์นองเลือดที่สี่แยกคอกวัวและถนนราชดำเนิน

ซึ่งมอบ "บทเรียนทางการเมือง" หลายหน้าแก่สังคมไทย

ประการแรก เหตุการณ์ปะทะในวันนั้น นำไปสู่การสูญเสียของทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพ และกลุ่มคนเสื้อแดง

ว่ากันว่าถ้าเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ไม่ยุติลง จากการตัดสินใจร่วมกันของแกนนำ นปช.และผู้นำรัฐบาล

รัฐบาลอภิสิทธิ์อาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับ

ทว่า การสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อก็คงมีมากมายมหาศาลเช่นกัน

คนกลุ่มหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในเหตุการณ์ครั้งนั้นก็คือ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ที่คล้ายจะยืนอยู่ข้างคนเสื้อแดง

จนนำไปสู่ความวิตกกังวลต่อการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธฝ่ายประชาชน

แต่เหตุการณ์การสลายการชุมนุมในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ก็พิสูจน์ว่ากองกำลังดังกล่าวยืนระยะได้ไม่นานพอ และไม่มีศักยภาพมากพอจะต่อต้านประสิทธิภาพของกองทัพ

ประการต่อมา การดำเนินนโยบายต่างประเทศถือเป็นข้อกังขาหนึ่งที่หลายฝ่ายมีต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์

และสถานการณ์ก็ยิ่งย่ำแย่หนักขึ้นด้วยการเสียชีวิตที่สี่แยกคอกวัวของ "นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ" ช่างภาพรอยเตอร์สชาวญี่ปุ่น

ภายหลังความสูญเสีย เจ้าหน้าที่ทางการทูตของญี่ปุ่นได้เฝ้าติดตามความคืบหน้าของคดีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยกลับไม่สามารถให้คำตอบที่น่าพอใจแก่ทางการญี่ปุ่นได้ว่า อะไรคือสาเหตุการเสียชีวิตของนายมูราโมโตะ? ใครเป็นคนฆ่าเขา?

รัฐบาลไทยหลายชุด รวมทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์อาจไม่ได้ห่วงใยในชีวิตพลเมือง (บางกลุ่ม) ของตนเอง

แต่อย่าคิดว่ารัฐบาลของประเทศอื่นจะมีท่าทีเช่นเดียวกัน

ประการสุดท้าย ถ้ามองในระยะสั้น เหตุการณ์ 10 เมษา 2553 อาจถือเป็นความพ่ายแพ้ของกองทัพ

ส่วนเหตุการณ์ 19 พฤษภา 2553 ก็ถือเป็นความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดง

ทว่า หากพิจารณาในระยะยาว ทั้งสองเหตุการณ์อาจถือเป็นส่วนเสี้ยวของ "ภาพใหญ่" ว่าด้วยความไม่สอดคล้องลงรอยกันระหว่างรัฐไทยกับประชาชนไทยจำนวนมากในยุคปัจจุบัน

ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่สามารถครอบงำอุดมการณ์ของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกต่อไป

ทิศทางอำนาจในสังคมไทยไม่ได้ดำเนินไปในลักษณะ "ทางเดียว" หรือ "บนลงล่าง" อีกต่อไป

หนทางคลี่คลายสภาวการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่การใช้กำลังเข่นฆ่ากัน

แต่คือการกลับมาต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้ง การขยายเพดานและเปิดพื้นที่ให้ความเห็นต่าง การดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่

และต่อให้ดำเนินการเช่นนี้ได้ ก็ใช่ว่าความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จะจบสิ้นลงในเวลาอันใกล้