Saturday, May 14, 2011

เหยียดผิว

ที่มา ข่าวสด

คอลัมน์ คอลัมน์ที่13


ลัทธิเหยียดผิว หรือ racism (เรสซิซึม) เป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของโลกที่มีมาแต่อดีตและยัง"ตกค้าง" อยู่ในสังคม

ความ หมายของลัทธิเหยียดผิว มีขอบเขตกว้างเกินคำว่าผิว เพราะรวมถึงการเหยียดเชื้อชาติ ชนชั้น ชนเผ่า มีลักษณะของอคติ เลือกปฏิบัติ กดขี่ เหยียดหยาม

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ยกคำว่า "เหยียดผิว" จากพฤติกรรมของ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง

กรณี โพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กว่าเจอ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับครอบครัวไปกินข้าวร้านเดียวกัน ว่า "ทำให้เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่า 'ไพร่' ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวก 'อำมาตย์' สักเท่าใดนัก"

นายปลอดประสพกล่าวว่า การที่นายกรณ์คิดอย่างนี้ ทำให้ประหลาดใจว่าสมัยนี้ยังมีการเหยียดผิวเหมือนในสหรัฐ เมื่อยุคทศวรรษ 50-60

ประวัติ ศาสตร์ของลัทธิเหยียดผิว เริ่มเมื่อ 500-1,000 ปีที่แล้ว จากการที่ชาวยุโรปขยายอาณานิคมและนำชาว แอฟริกันไปเป็นทาสในโลกใหม่ หรือประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคม

เพราะเชื่อว่าคนแอฟริกันผิวดำมี ความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนผิวขาวอย่างชาวยุโรป เนื่องจากความเจริญของชาวแอฟริกัน ไม่ทัดเทียมกับอารยะของ ชาวยุโรป

ต่อ มา กลางศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาชาวอเมริกันและชาวยุโรปบางกลุ่ม มีแนวคิดการเหยียดผิวขึ้นใหม่ โดยหันไปต่อต้านชาวยิว ด้วยความเกลียดชังว่าถูกชาวยิวเข้ามาแย่งงาน แย่งโอกาสในสังคม

ต่อมาเกิดกลุ่มนาซีที่เข่นฆ่าชาวยิวราวกับผักปลา ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ส่วน การเหยียดผิวในอเมริกา เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวยุโรปบางกลุ่มและผู้อพยพได้รับความทุกข์จากความหวาดกลัวชาวต่างชาติของ ชาวอเมริกัน โดยเฉพาะในทศวรรษ 60 ที่พื้นที่ของคนผิวสีแทบมีน้อยมากในสหรัฐ

แม้ในจอโทรทัศน์ก็มีแต่ดาราผิวขาวและมีการแบ่งแยกร้านอาหารและรถเมล์ของคนผิวขาวและผิวสีอย่างชัดเจน

หลัง จากการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของชนผิวสี นำโดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กลางศตวรรษที่ 20 แนวคิดการเหยียดผิวไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคมอีกต่อไป

แม้ ในแง่ปฏิบัติ การเหยียดผิวก็ยังมีให้เห็นอยู่ในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ความไม่เท่าเทียมกันในการจ้างงาน การซื้อบ้านหรือเช่าบ้าน การศึกษา

ปัจจุบัน แม้ นายบารัก โอบามา ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกา แต่ก็ยังมีกรณีเหยียดผิวในหลายรัฐ

ใน ทางกฎหมาย นานาประเทศเป็นภาคี "อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุก รูปแบบ" (CERD) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2508 และมีผลบังคับ ใช้วันที่ 27 ก.พ. 2546 ซึ่งไทยเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อ วันที่ 28 ม.ค.2546 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2546

ในอนุสัญญาฯ ใช้คำว่า "การเลือกประติบัติทางเชื้อชาติ" ซึ่งหมายถึงการจำแนก การกีดกัน การจำกัดหรือการเลือก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสายหรือชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด ซึ่งมีเจตนาหรือมีผลให้เกิดการระงับหรือกีดกั้นการเคารพสิทธิมนุษยชนและ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและในด้านอื่นๆ ของการดำรงชีวิตในสังคม

รวมทั้งการระงับหรือกีดกั้นการใช้สิทธิเหล่านั้นอย่างเสมอภาคของบุคคล