Wednesday, October 26, 2011

มาตรา 31

ที่มา มติชน



โดย ฐากูร บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2554)

ใครที่เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้ ′พ.ร.ก.ฉุกเฉิน′ อาจจะผิดหวังไปนิดหน่อย

เมื่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจประกาศใช้มาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแทน

เป็นกฎหมายที่ใช้บริหารงานในภาวะฉุกเฉินโดยไม่ต้องประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน

อย่างน้อยก็ทำให้ไม่เสียบรรยากาศด้านเศรษฐกิจ หรือไม่ทำให้เกิดปัญหาและข้อถกเถียงในเรื่องการประกันภัยภายหลังน้ำลด

แต่ถามว่าทำไมต้องประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้

ประเด็นก็มีอยู่แค่ว่า จัดการกับปัญหาน้ำจำนวนมหาศาลว่ายุ่งยากอยู่แล้ว แต่จัดการกับเรื่องของคนด้วยกันยิ่งยุ่งยากเข้าไปใหญ่

ไม่ว่าจะกับประชาชนหรือนักการเมือง

เพราะไม่ได้ทำงานมาต่อเนื่องเรื่องทำความเข้าใจกับชาวบ้านแต่ต้น

คนที่ต้อง ′เสียสละ′ มาตลอด ก็มีสิทธิตั้งคำถามว่า ทำไมเขาต้องสังเวยชีวิตและอนาคตให้กับคนอีกจำนวนหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

ที่จนป่านนี้ยังไม่รู้ว่าหน้าตาของน้ำท่วมเป็นอย่างไร

นอกจากในจอทีวี

และเพราะพูดจากัน ′คนละภาษา′ กับพรรคการเมืองที่เป็นคู่แข่งกัน ′การประสานงาน′ ก็กลายเป็น ′การประสานงา′

กว่าจะทำให้กลับมาพูดเรื่องเดียวกันได้ ก็ไม่รู้ว่าสายไปแล้วหรือเปล่า

และที่สาหัสไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การพูดจาคนละภาษา กับคนในพรรคเดียวกันเอง

เอโพดำในสำรับตัวเองทั้งสิ้น

มี ′พนังที่มองไม่เห็น′ คอยปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง เหมือนกับคันกั้นน้ำของแต่ละพื้นที่ ซึ่งตั้งขึ้นมาด้วยความหวังว่า น้ำจะไม่เข้าบ้านฉัน

แต่จะไปบ้านเธอหรือเปล่าไม่รู้

เมื่อเห็นแต่ภาพเล็กไม่เห็นภาพใหญ่

การบริหารจัดการก็อลหม่าน จนกระทั่งวิกฤตคุกคามเข้ามาจ่อคอหอย จึงได้รู้สึกว่า

หนนี้ไม่ใช่จะเอาตัวรอดยังไง แต่จะช่วยกันยังไงให้น้ำและวิกฤตผ่านไปเร็วที่สุดและกระทบกระเทือนน้อยที่สุด

ความ เป็นจริงของวันนี้บอกกับเราทุกคนว่า ลำพังแค่ปัญหาน้ำจำนวนมหาศาลที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญหน้ามาก่อน ก็จัดการให้ลดหรือหมดไปด้วยหลักวิชายากยิ่งอยู่แล้ว

ถ้าการตัดสินใจแก้ปัญหา ยังมีประเด็นการเมืองเข้ามาสอดแทรก ยังลูบหน้าแล้วปะจมูกคนนั้นบ้างคนนี้บ้าง

ก็เอวัง

วันนี้ ให้รักและผูกพันกันขนาดไหนก็ต้องพูดจาด้วยภาพรวมของปัญหา ด้วยงาน ด้วยวัตถุประสงค์ของการแก้ปัญหาที่เป็นเอกภาพและด้วยภาษาเดียวกัน

ในวาระที่มีทุกข์คนครึ่งประเทศเป็นเดิมพัน

ไม่มีที่ว่างให้สำหรับความไร้สาระใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 31 ไม่ได้แก้ปัญหานี้ทั้งหมด แต่เป็นแค่สัญญาณเตือนให้รู้ว่า

วาระของความเป็นตายมาถึงแล้ว