Monday, November 14, 2011

อิตาลีฉลอง 'แบร์ลุสโคนี' ลาออก

ที่มา ประชาไท

หลังจากดำรงตำแหน่งนายกฯ อิตาลีมา 17 ปี 'แบร์ลุสโคนี' ลาออกแล้ววานนี้ตามสัญญา หลังรัฐสภาโหวตอนุมัติแผนปฏิรูปศก. เพื่อรัดเข็มขัดตามข้อเรียกร้องของอียู

นายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนีของอิตาลีลาออกจากตำแหน่งแล้วเมื่อคืนวันที่ 12 พ.ย. หลังรัฐสภาลงมติอนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการตัดลดรายจ่าย เพื่อบรรเทาวิกฤติหนี้จำนวนมหาศาลตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นการปิดฉากเส้นทางชีวิตทางการเมืองอันยาวนาน 17 ปีท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกด้วยคดีอื้อฉาวทางเพศและคอร์รัปชั่น และกระแสกดดันจากวิกฤติเศรษฐกิจ

ทำเนียบประธานาธิบดีแถลงว่า แบร์ลุสโคนี ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อประธานาธิบดีจิออร์จิโอ นาโปลิตาโนเมื่อคืนวาน และประธานาธิบดีจะขอให้นายมาริโอ มอนติ วัย 68 ปี นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมาธิการยุโรป เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล โดยจะเชิญพรรคการเมืองต่างๆร่วมหารือในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น

การลาออกของแบร์ลุสโคนี วัย 75 ปีเป็นไปตามคำสัญญาที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อรัฐสภาลงมติอนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและ มาตรการตัดลดรายจ่าย และทั้งสองสภาโหวตเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นจากนั้นประธานาธิบดีได้ลงนาม บังคับใช้ในบ่ายวันเดียวกัน

ทั้งนี้ มาตรการรัดเข็มขัดที่อียูเรียกร้องให้จัดทำ มีเป้าหมายในการประหยัดเงินงบประมาณให้ได้ราว 59.8 พันล้านเหรียญยูโร โดยวิธีการต้องตัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มการจัดเก็บภาษี แล้วไปทำงบประมาณสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายให้ได้ในปี 2014 ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

  • เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากระดับ 20 % เป็น 21 %
  • ตรึงเงินเดือนลูกจ้างของภาครัฐไปจนกว่าจะถึงปี 2014
  • อายุเกษียณสำหรับผู้หญิงลูกจ้างในภาคเอกชนจะค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 60 ปีในปี 2014 ไปเป็น 65 ปีในปีค.ศ.2026 เช่นเดียวกับผู้ชาย
  • สร้างมาตรการที่เข้มแข็งจัดการกับผู้ที่หลบเลี่ยงภาษีอย่างเข้มงวด และเอาจริงเอาจัง รวมถึงการกำหนดให้ทำธุรกรรมทางด้านเงินสดที่เป็นเงินยูโร ได้อย่างมาก 2500 ยูโร
  • สร้างมาตรการภาษีฉบับพิเศษ ในการเก็บภาษีทางด้านธุรกิจพลังงานให้มากขึ้น
ไม่เพียงรัฐบาลอิตาลี ต้องทำตามมาตรการที่กลุ่มอียู และไอเอ็มเอฟ.เรียกร้องมาเหล่านี้เท่านั้น ทางอียู จะส่งทีมงานเข้ามาทำงานตรวจสอบและวางระบบสร้างมาตรการให้ในโรม เพื่อที่จะลดภาระหนี้ที่สูงถึง 120 % ของ GDP ให้ได้ด้วย
ชาวอิตาลีหลายพันต่างออกมาแสดงความยินดีตามท้องถนนในกรุงโรม พร้อมกับโบกธงชาติและเต้นรำ และตะโกนคำว่า "ตัวตลก" ระหว่างที่รถของแบร์ลุสโคนีเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อยื่นหนังสือลา ออก นอกจากนี้ตอนที่แบร์ลุสโคนีร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายเพื่ออำลา ตำแหน่ง ก็มีฝูงชนไปตะโกนขับไล่เขาที่ด้านนอกทำเนียบรัฐบาล และบางคนตะโกนคำว่า "น่าละอาย" "ลาออก" หรือชูป้ายคำว่า"ลาก่อนซิลวิโอ" ระหว่างเดินขบวนไปตามท้องถนนด้วย
แบร์ลุสโคนีนับเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาชนะการเลือกตั้ง 3 ครั้ง และบริหารประเทศรวม 10 ปีนับตั้งแต่เข้าสู่เวทีการเมืองในปี 2537 แต่ตลอดการบริหารประเทศ ต้องเผชิญเสียงเรียกร้องให้ลาออกมานานแล้วด้วยข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีข้อ หาคอร์รัปชั่นและเรื้องอื้อฉาวทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดการซื้อบริการทางเพศจากสาววัย 17 ปี จนกระทั่งล่าสุดทนแรงกดดันไม่ไหวจากวิกฤติหนี้ของประเทศที่สูงถึง เกือบ 1.9 ล้านล้านยูโร และนายมอนติ ตัวเก็งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เตรียมจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่นักการเมือง หรือเทคโนแครต เพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาด ด้วยการเร่งตัดลดหนี้สินจำนวนมหาศาล ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีพุ่งสูงถึง 7.4% ก่อนลดลงอยู่ที่ราว 7% จนสร้างความวิตกไปทั่วโลก
ที่มา: เรียบเรียงจาก คมชัดลึก, อุณหภูมิเศรษฐกิจ