ที่มา ประชาไท
Mon, 2012-07-16 15:29
สืบเนื่องจากการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้อำนาจรับคำร้องคัดค้านการ
แก้ไขรัฐธรรมนูญตาม ม.68 ที่ผ่านมา
และได้มีคำสั่งให้รัฐสภาหยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งรัฐสภาได้ผ่านวาระ 2 มาแล้ว ล่าสุดได้มีการไต่สวนและออกคำวินิจฉัย
ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วนั้น
คณะ “กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ” ซึ่งประกอบด้วยอดีตนักกิจกรรม
นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยยุคต่างๆ รวมทั้งแพทย์ นักวิชาการ ฯลฯ
ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์บ้านเมืองมาโดยตลอด
นับตั้งแต่เหตุการณ์การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน
คณะของเรามีความเป็นห่วงต่อวิกฤตระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น
และเห็นภัยคุกคามต่อหลักรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ
และหลักนิติธรรมของประเทศมาโดยตลอด
จึงมีมติคัดค้านบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
1.คำตัดสินหรือคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ตั้งแต่ต้น ไม่ควรยอมรับในทุกมิติ ไม่ว่าจะมีผลลบมากน้อยอย่างไร
และควรถือว่าคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 กรกฎาคม 2555
ในทุกประเด็นเป็นโมฆะทั้งสิ้น
ทั้งนี้เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่มีอำนาจรับคำร้องในคดีตั้งแต่ต้น
แต่ใช้ดุลยพินิจตีความขยายอำนาจตนเองเพื่อรับคำร้องเองไต่สวนเองและวินิจฉัย
เอง โดยขัดต่อถ้อยคำและเจตนารมณ์ใน กฏหมายรัฐธรรมนูญ ม.68 อย่างชัดเจน
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นเพียงองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเพียงอำนาจเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้
เท่านั้น
การกระทำของตุลา-การศาลรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
ขยายอำนาจรุกล้ำเขตอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภา
อันมีที่มาจากอำนาจประชาชนโดยตรง คำสั่งให้หยุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คำสั่งหรือคำแนะนำเชิงข่มขู่ให้ลงประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตาม
ม. 291 ล้วนไม่อยู่ในอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ทั้งสิ้น
หากรัฐสภาปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นจะเป็นการนำ
อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไปซุกอยู่ใต้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
และจะเป็นการยอมรับการสถาปนาอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าอยู่เหนือรัฐ
ธรรมนูญและอธิปไตยของปวงชน
และในที่สุดเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจลงโดยสิ้นเชิง
2.เมื่อประมวลบทบาทของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่ผ่านมา
นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เช่น คำตัดสินยุบพรรคการเมือง
(ทุกพรรคยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์) ตัดสิทธิ์นักการเมือง ล้มรัฐบาลนายก ฯ
สมัคร-สมชาย และคำวินิจฉัยครั้งนี้ เราเห็นได้ชัดเจนว่า
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายรัฐประหาร
หรือฝ่ายอำนาจนอกระบบ โดยเชื่อมโยงประสานกับพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร
กลุ่มสยามประชาภิวัตน์ อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องมาโดยตลอดระยะเวลา 5-6 ปี
โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ
โค่นล้มทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550
อันเป็นมรดกสำคัญของการรัฐประหารในอดีตอย่างสุดกำลัง
โดยไม่ยึดหลักกติกาในระบอบประชาธิปไตย ทำลายหลักนิติรัฐ
หลักนิติธรรมและความยุติธรรมในสังคม
อันเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคม
3.ขอเรียกร้องต่อรัฐสภา ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใด ๆ
ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น
ยืนหยัดพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปกป้องอำนาจนิติบัญญัติ
อันเป็นอำนาจทางตรงของประชาชน จัดให้มีการประชุมรัฐสภาและลงมติวาระ 3
เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร.
ทำการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญของ
สสร. แล้วเสร็จ ให้นำร่างดังกล่าว
เสนอผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการที่เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับของสังคม
หลังจากนั้นจัดให้ประชาชนลงประชามติ
เพื่อรับรองความชอบธรรมของรัฐธรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
4.ขอเรียกร้องให้ประชาชนและองค์กรประชาธิปไตยแสดงจุดยืนพิทักษ์ระบอบ
ประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจตุลาการเหนือรัฐธรรมนูญ โดยการร้องทุกข์ กล่าวโทษ
ดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฏหมายอาญา ม.157 ต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ดำเนินการปฏิรูประบบศาลรัฐธรรมนูญ โดยยุบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน
ตามขั้นตอนกฏหมายรัฐธรรมนูญ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ก่อตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นใหม่
โดยให้ยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง รวมทั้งปฏิรูป
ขจัดเครือข่ายอำนาจศาลและองค์กรอื่น ๆ ที่เป็นมรดกจากการรัฐประหาร 19
กันยายน 2549
คณะของเรา ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองและรัฐสภา
ยืนหยัดปกป้องหลักการในระบอบประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ
ต่อต้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ
ให้หลักนิติธรรมอยู่เหนือความอยุติธรรมโดยไม่คำนึงถึงความอยู่รอดของตนเอง
เสียสละต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ
ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ
15 กรกฎาคม 2555