WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, January 13, 2012

112สยองศุกร์13!ออกหมายเรียกสมศักดิ์ เจียมฯ

ที่มา Thai E-News



ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งทางเฟซบุ๊คช่วง ค่ำวันนี้( 13 ม.ค.)ว่าเขาได้รับหมายเรียกไปให้ปากคำกับตำรวจ สน.บา่งเขน โดยเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องจากมีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของอดีต นิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รายหนึ่ง

ตอนแรก แม่โทรศัพท์มา บอกมีหมายเรียกจาก สน.บางเขน ผมยังนึกว่า "เฮ้ย ตรู โดนอีกแล้วเหรอ"

คือตอนนี้ ยังไม่อยู่ในฐานะผู้ถูกกลาวหา หรือผู้ต้องหาก็แล้วกัน แต่ว่า ตำรวจเขาบอกว่า คนแจ้งความ (มีชื่อพสมควร) เขาบอกว่า ผมโพสต์ในเฟซบุ๊คด้วย ผมเลยต้องเช็คดู

แล้วตำรวจเขาว่า มีข้อความที่โพสต์ทาง fb ผม ที่มีคนไปร้องเรียนแจ้งความ (แต่ไมใช่กล่าวหาผมนะ แต่เขาว่า ผมก็โพสต์อยู่ด้วย และเป็น fb ผม)

คืออย่างที่บอกว่า ผมยังไมใช่ผู้ต้องหา แต่ว่า เนื่องจาก ผมยังไม่เห็นข้อความนั้นเลย เพราะนานแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เลยบอกไม่ได้เหมือนกันว่า สุดท้าย เราจะโดนไปหรือเปล่า หรือเป็นเรื่องของคนอื่นโพสต์มากกว่า


ตำรวจเขาก็ดีนะ ผมเพิ่งโทรไปคุยเมื่อครู่ ค่ำแล้ว ก็คุยดี ที่ "ตลก" คือ สถานีเดียวกับคุณ "ก้านธูป" นั่นแหละ (สน. บางเขน)โทรไปคุย ก็เลยได้เรื่องมาอย่างที่บอกข้างบน

("ตลก" อีกนิด ตำรวจคนเดียวกับที่ดูแลคดีคุณ "ก้านธูป" ด้วย 555)

ก็เป็น "อุทาหรณ์" เตือนๆกันทุกท่านนะครับ โพสต์อะไร ก็ระมัดระวังเสมอ โดยเฉพาะ fb ที่มีคนอ่านเยอะน่ะ ใครไปแจ้งอะไร ไม่ว่าเราจะโดนกล่าวหา หรือโดนเกียวข้องสอบถาม มันไมใช่เรื่องสนุกนัก

ทั้งนี้ดร.สมศักดิ์เคยถูกกองทัพบกแจ้งความดำเนินคดี 112 มาก่อนหน้านี้กรณีเขียนบทความเรื่องรายการวู้ดดี้เกิดมาคุยประทานสัมภาษณ์ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ลงทางfacebook แล้วมีสื่อทางอินเตอร์เน็ตนำไปเผยแพร่ต่อ โดยได้เข้ามอบตัวต่อสู้คดีและได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวนออกมา

********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

-เฮี้ยน!ยัดคุกเหยื่อคดี112รายวัน คิวล่าสุดนักล่าแม่มดร่วมสถาบันกดดันม.เกษตรฯแจ้งจับบัณฑิตจบใหม่

สิทธิมนุษยชนไทยในUSAจี้ม.เกษตรถอนฟ้องบัณฑิตคดี112 ประณามขบวนการล่าแม่มดยุติวิธีหมาหมู่

ผมนี่แหละหล่อสุดและปากจัดสุด

ที่มา การ์ตูนมะนาว



การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรพิจารณาหลักประชาธิปไตยของอำนาจตุลาการด้วย

ที่มา thaifreenews

โดย Bugbunny

อำนาจตุลาการในประเทศใหญ่น้อยที่สำคัญต่าง ๆ นั้น มีที่มาและความสัมพันธ์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งหรือประชาชนทั่วไปตามระบอบ ประชาธิปไตยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น

ประธานศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาได้มาโดยวิธีที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเสนอชื่อให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ

ผู้ นำฝ่ายตุลาการของสหราชอาณาจักรประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มาจากนักกฎหมายซึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี หรือ ประธานสภาขุนนาง

ใน ฝรั่งเศสนั้น ประธานคณะกรรมการตุลาการคือประธานาธิบดีแห่งรัฐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน และคณะกรรมการตุลาการอีก 12 คน

ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานศาลสูงสุดของประชาชนได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสามัญประจำรัฐสภา อยู่ในตำแหน่งวาระ ละ ๕ ปี

ส่วน องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารของศาลฎีกาของสหพันธรัฐรัสเซีย จะได้รับการ อนุมัติตามการแนะนำของประธานาธิบดีของรัสเซีย โดยการนำเสนอของหัวหน้าผู้พิพากษารัสเซีย

ฯลฯ


รัฐ ธรรมนูญ 2550 ที่เรากำลังจะแก้ไขกันวันนี้นั้น อำนาจตุลาการแทบจะเป็นอภิมหาอำนาจ ผู้คนจากแวดวงตุลาการเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในองค์กรอิสระต่าง ๆ กันมากมาย ศาลฎีกาก็มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญก็มีตุลาการที่มาจากแวดวงอื่นในสัดส่วนที่น้อยกว่าจากอำนาจ ตุลาการ แต่ชี้เป็นชี้ตายผู้ที่มาจากประชาชนผู้เลือกตั้งได้ ไม่เหมือนอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติที่คานกันอยู่ และเห็นต่างกันได้ บทเรียนจากกลุ่ม “ตุลาการวิบัติ” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ หนักหนาจนประเทศพินาศเสียหายไปขนาดไหน คนไทยรู้แก่ใจกันดีอยู่

ดัง นั้น ข้อเสนอหนึ่งสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือ ให้พิจารณาความเกี่ยวข้องสัมพันธฺ์กับระบอบประชาธิปไตยของอำนาจตุลาการด้วย ทั้งในด้านที่มา ความรับผิดชอบตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมสากล และการต้องรับโทษหากกระทำการใดลงไปด้วยอคติหรือไม่โปร่งใส

หลายคนอาจ ไม่พอใจ ถ้าจะมีการปรับปรุงที่มาและอำนาจขององค์กรนี้ โดยเฉพาะพรรคแพ้ซ้ำซาก ในฐานะที่ผู้อาวุโสในพรรค มักเป็นทนายความชรา หรือนักโต้วาทีเฒ่า เพราะในประเทศไทยนั้น การเป็นพรรคพวกกัน เป็นคนบ้านเดียวกัน หรือเรียนจบที่เดียวกันมานั้นมีความสำคัญอยู่ เชื่อได้ว่าพรรคนี้จะต้องออกมาค้านแบบสุดลิ่มทิ่มประตู แต่จะเป็นไรไป เพราะวันนี้พรรคนี้ก็แทบจะหมดสภาพไปแล้ว ทั้งหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค ไปจนยัน สส.รุ่นใหม่ ที่มีแต่พวก “ดีแต่พูด” และ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วโยนให้คนอื่น” ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเขารู้ซึ้งในสันดานกันหมดแล้ว

จึงขอให้การแก้ไขใหม่รัฐธรรมนูญคราวนี้ แข็งขันการพิจารณาเรื่องอำนาจตุลาการด้วย

ไม่ อย่างนั้นก็เสียเวลาเปล่าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ มันก็จะกลับไปแบบเก่า ชนะเลือกตั้งก็อาจโดนกลุ่ม “ตุลาการวิบัติ” ถล่มเอา ไหน ๆ ท่านก็มาจากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ช่วย “ทุบโต๊ะ” แบบที่อาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงษ์ เสนอด้วย จะเป็นพระคุณต่อประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเป็นอย่างสูง

ชวนกันไปสนับสนุนนิติราษฎร์กัน.....วันอาทิตย์นี้ 15 มค.13.00น.หอฯเล็ก มธ.ครับ

ที่มา thaifreenews

โดย ควาย.ไท

เอาสำเนาบัตรปชช.กับสำเนาทบบ.ไปด้วยนะครับ ถ้าหากอยากลงชื่อสนับสนุนการแก้ ม.112 ..

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่http://www.ccaa112.org/ ครับ

เชิญชมหนังการกุศล "The Lady ออง ซาน ซูจี" รายได้ช่วยนักโทษ

ที่มา thaifreenews

โดย bozo

เขียนโดย JJ_Sathon








go6tv และ เดอะเรดโพลล์
ขอเชิญชม
ภาพยนต์การกุศล

" The Lady ออง ซาน ซูจี คนสู้อำนาจ"
และเสวนาพิเศษ "ผู้หญิงกับการเมือง"


ห้างอิมพีเรียล ชั้น ๖
รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้นักโทษการเมืองเสื้อแดงในเรือนจำ

(วันและเวลา จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง-น่าจะวันที่ ๘ หรือ ๑๕ กุมภาพันธ์)

บัตร ราคาใบละ ๑๙๙ บาททุกที่นั่ง

จัดโดย โกซิคทีวี และ เดอะเรดโพล

http://www.go6tv.com/2012/01/lady_12.html

ข้อเสนอนิติราษฎร์ก้าวหน้าหรือไม่?

ที่มา ประชาไท


ก. มุมมองต่อปัญหา ม.112

"แต่อย่างไรก็ ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์" (พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548)

"การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในทางที่ผิดซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายเช่นนั้นที่มีต่อประเทศไทย ทั้งภายในไทยเองและภายนอกประเทศ"
นายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา หนึ่งในแปดราชนิกุลเขียนจดหมายถึงนายกฯยิ่งลักษณ์ให้แก้ ม.112

“ขอเตือนว่าถ้า คุณไม่แก้ไขมาตรา 112 จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ในสังคมไทย ผมพูดเสมอสมัยจักรพรรดิไกเซอร์วิลเฮล์มของเยอรมนี มีการใช้กฎหมายหมิ่นมากที่สุดในเยอรมนี แล้วพระองค์ก็สละราชสมบัติไปเป็นสามัญชนอยู่ที่เบลเยี่ยม”
ส.ศิวรักษ์ (ที่มา “โลกวันนี้วันสุข,14-20 มกราคม 2555)

ผมเองตระหนักดีว่า การอ้างพระราชดำรัสในเชิงสนับสนุนการแก้ไข (หรือยกเลิก) ม.112 นั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก แต่นี่เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เราไม่อาจมองข้ามได้ว่า แม้แต่ในหลวงก็ทรงเห็นว่า การใช้ ม.112 ตามที่เป็นมา “เดือดร้อนพระมหากษัตริย์” ฝ่ายกษัตริย์นิยมเองก็เห็นว่า การบังคับใช้ ม.112 ในทางที่ผิดมีผลกระทบ “ต่อประเทศไทย ทั้งภายในไทยเองและภายนอกประเทศ"

แม้แต่รอยัลลิสต์ที่ยืนยันตลอดมาว่า การรักษาสถาบันที่ถูกวิธีคือ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ หรือทำให้สถาบันดำรงอยู่อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ก็เตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าไม่แก้ไข “มาตรา112 จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ในสังคมไทย”

แน่นอนว่า เสียงคัดค้านก็มีมากเช่นกัน โดยเฉพาะจาก ผบ.ทบ. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นักการเมืองบางคน สื่อเครือผู้จัดการ เป็นต้น

แต่การเดินหน้าให้แก้ไข ม.112 ก็นับวันจะเข้มข้นและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ดังจะมีคณะกรรมการรณรงค์แก้ไข ม.112 (ครก.112) ตามข้อเสนอของ “นิติราษฎร์” ที่จะเปิดตัว แถลงจุดยืนและเหตุผลต่างๆ ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมนี้ ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ข.ข้อเสนอนิติราษฎร์

ครก.112 สรุปสาระสำคัญ ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ 7 ประเด็น ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีสำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกินสองปีสำหรับ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น


ค. ข้อเสนอนิติราษฎร์ก้าวหน้าหรือไม่?

1. ประเด็นเรื่องตัวกฎหมาย ต้องถือว่าก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ ทั้งเรื่องยกเลิก ม.112 ออกจากลักษณะความผิดว่าด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ที่มีผลให้พระมหากษัตริย์กับรัฐไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนรัฐใน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การลดอัตราโทษ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำ การแบ่งแยกการคุ้มครองพระมหากษัตริย์กับพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ถือว่าก้าวหน้ากว่าเดิม

โดยเฉพาะข้อ 5,6,7 เป็นการกำหนด “หลักเกณฑ์” ที่ชัดขึ้นว่า การแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ได้รับการยกเว้นความผิด หรือถ้าพูดความจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะก็ได้รับการยกเว้นโทษ และการห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิดก็เป็นการป้องกันไม่ให้มีการ ใช้ ม.112 เป็น “เครื่องมือ” ทำลายคู่แข่ง หรือผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

2. ประเด็นเรื่องหลักการหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ประเด็นนี้มีข้อถกเถียงกันมาก เพราะถ้ายึดหลักการ คือ “หลัก ความเสมอภาค” ตามระบอบประชาธิปไตย “พระมหากษัตริย์ย่อมเท่ากับบุคคลธรรมดา” และย่อมได้รับความคุ้มครองใน “มาตรฐานเดียว” กับบุคคลสาธารณะที่เป็นคนธรรมดา การมีกฎหมายคุ้มครองพระมหา กษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่าง “เป็นพิเศษ” กว่าบุคคลธรรมดาจึงขัดแย้งกับหลักการดังกล่าว

และโดยที่เคยมีตัวบุคคล และ/หรือกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้ “ยกเลิก ม.112” ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งการยกเลิกย่อมสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากกว่า ฉะนั้น ข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงถูกตั้งคำถามในแง่ว่า ไป “ดึง” หรือฉุดรั้งอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ล้ำหน้าไปแล้ว ทำให้การเสนอ “ยกเลิก” มีพื้นที่แคบลง ยากมากขึ้น หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย (ความเห็นในเรื่องดังกล่าวนี้ที่ “เด่นชัดมาก” คือ ความเห็นของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งมีเหตุผลรายละเอียดค่อนข้างมาก สามารถตามอ่านได้ที่ เฟชบุ๊กส่วนตัวของเขา หรืออีกไม่นานนี้อาจมีการเผยแพร่ในวงกว้าง)

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากคำอธิบายของอาจารย์นิติราษฎร์บางคน ข้อเสนอ 7 ข้อ เป็นข้อเสนอภายใต้ “บริบท” ของระบบกฎหมายปัจจุบันที่มีการกำหนดโทษหมิ่นฯเจ้าหน้าที่รัฐสูงกว่าบุคคล ธรรมดาทั่วไป ฉะนั้น กฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐจึงต้องถูกนำไปเทียบเคียงเพื่อหาข้อสรุปที่เห็น ว่าสมเหตุสมผลมากที่สุด

แต่หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงของสถานการณ์ขัดแย้งทางความคิดเห็นที่ดำรง สืบเนื่องมากว่า 5 ปี ประเด็นเรื่องหลักการ หรืออุดมการณ์ อาจต้องถกเถียงกันไปอีกยาว และภายใต้ ม.112 ในปัจจุบันการถกเถียงเรื่องนี้ย่อมสุ่มเสี่ยงอยู่มาก มีคน “ตาสว่าง” จำนวนมากที่อาจไม่กล้า “ปากสว่าง” ในบรรยากาศของการล่าแม่มด และความคลุมเครือของการบังคับใช้กฎหมาย

ฉะนั้น หากมองในแง่ดี ถ้าแก้ ม.112 ตามที่นิติราษฎร์เสนอได้จริง การวางมาตรการตามข้อ 5,6,7 จะทำให้การถกเถียงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ (เช่น เรื่องการปรับปรุงข้อความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับสถาบัน การประชาสัมพันธ์ด้านเดียว ฯลฯ) มีความปลอดภัยมากขึ้น หรือมีเสรีภาพมากขึ้น สื่อมวลชนก็น่าจะกล้านำเสนอความเห็นโต้แย้งกันในปัญหาดังกล่าวกว้างขวางมาก ขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อพัฒนาการประชาธิปไตยในระยะยาว

ผมอาจมองโลกในแง่ดีเกินไปก็ได้ แต่อย่างน้อย ไม่ว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะถูกรัฐสภารับไปแก้ไขตามนี้หรือไม่ก็ตาม แต่นิติราษฎร์ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ให้สังคมรับรู้ และเข้าร่วมถกเถียงปัญหา ม.112 กว้างขวางขึ้น ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางความคิดในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน!

จดหมายจากชาญวิทย์: วันหยุดราชการ เพื่อความเสมอภาค สมานฉันท์ ปรองดอง รักสามัคคี ในชาติ

ที่มา ประชาไท

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมที่รัฐบาลกำหนด "ตรุษจีน" เป็นวันหยุดในพื้นที่ชายแดนใต้ พร้อมเสนอว่าควรมีวันหยุดสำหรับมุสลิมด้วย พร้อมแนะรัฐบาลกำหนดวันหยุดราชการให้สอดคล้องกับเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของคนในชาติ และประเทศเพื่อนบ้าน

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 55 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกในเฟซบุคของตนถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดียนายกรัฐมนตรี เรื่อง "วันหยุดราชการ เพื่อความเสมอภาค สมานฉันท์ ปรองดอง รักสามัคคี ในชาติ" โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

Public Holidays in Thailand (Indonesia, Malaysia, Singapore)

เรื่อง วันหยุดราชการ เพื่อความเสมอภาค สมานฉันท์ ปรองดอง รักสามัคคี ในชาติ

เรียน ฯพณฯ ปัจจุบันนายกรัฐมนตรี (หญิง) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (สำเนา: ฯพณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี (ชาย) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, นายอานันท์ ปันยารชุน, พลเอกสุจินดา คราประยูร, นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร, พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


สืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรีของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน (หญิง) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติให้ "วันตรุษจีน" เป็นวันหยุดราชการในจังหวัดภาคใต้ชายแดนมาเลเซียนั้น กระผมขอแสดงความชื่นชมและยินดี ที่ท่านจะทำให้ประชากรของประเทศ ทั้งที่มีเชื้อสายและความเชื่อแบบจีน กับที่มีเชื้อสายและความเชื่อแบบมุสลิม ได้มีวันหยุดที่เป็นทางการเสมอภาคกันในจังหวัดชายแดน ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระผมขอเรียนให้ทราบว่า ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา ใน "ประชาคมอาเซียน" ที่มีประชากรหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นั้น กำหนดให้มีวันหยุดราชการและรัฐการระดับชาติ สำหรับศาสนา และความเชื่อหลักๆ ดังนี้ คือ
วันวิสาขะ/พุทธศาสนา
วันฮารีรายา/ศาสนาอิสลาม
วันทีปวาลี/ศาสนาฮินดูพราหมณ์
วันคริสตมาส/คริสตศาสนา
และวันตรุษจีน

ดังนั้น เพื่อความเสมอภาค สมานฉันท์ ปรองดอง รักสามัคคี ในชาติของเรา ที่ประกอบด้วยประชากร ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ กระผมจึงขอเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และพิจารณาตามที่ ฯพณฯ เห็นสมควร

(นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ)
ข้าราชการบำนาญ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกษียร เตชะพีระ:“ให้ใจเพื่อนนิติราษฎร์”

ที่มา ประชาไท

ใช่ที่ว่าจุดหมายยังไม่ถึง

ใช่ที่ว่าเป็นฝันซึ่งยังต้องสร้าง

รัฐธรรมนูญยิ่งใหญ่ใส่พานวาง

แต่ทวยราษฎร์เป็นเบี้ยล่างเสมอมา

แต่หากไร้คณะนิติราษฎร์สู้

ราษฎรคงยังอยู่เป็นไพร่ข้า

ก้าวแรกการแก้ปมสมบูรณาฯ

เป็นก้าวสั้นแต่ทว่ายั่งยืนยาว.....

1 แท็บเล็ต 1 นักเรียน : ต้องไม่ใช่แค่ของเล่น

ที่มา ประชาไท

ทีดีอาร์ไอประเมินผลกระทบโครงการ 1 แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน จากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 6,192 คน เฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์ พบการใช้คอมพิวเตอร์มีผลต่อคะแนนสอบของนักเรียนแตกต่างกันตามลักษณะการ ใช้ สิ่งสำคัญอยู่ที่การออกแบบสื่อการเรียนการสอน มาตรการควบคุมการใช้ให้เหมาะสม และมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ โรงเรียนและผู้ปกครองต้องทำให้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการ สอนอย่างแท้จริงไม่ใช่แค่ของเล่นชิ้นใหม่

ชัดเจนแล้วว่าในปีการศึกษา 2555 นี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้านโยบายประชานิยมเร่งด่วนด้านการศึกษาตามที่หา เสียงไว้อย่างแน่นอนนั่นคือ โครงการ “1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน (One Tablet Pc per Child)” โดยเริ่มแจกจริงให้กับนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ 1 บางส่วนก่อน แม้นโยบายนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเกรงว่าจะเป็นการใช้งบประมาณแบบ ไม่ถูกทาง และอาจไม่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนด้วย

เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่า เนื้อหาสื่อการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์

แทบเล็ต รวมถึงครู และโรงเรียนมีความพร้อมเพียงใด จะมีแผนการพัฒนาต่อไปอย่างไร และจะมีการวัดและประเมินผลกระทบของโครงการต่อความสามารถของเด็กหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีการจัดเก็บและเปิดเผยเพื่อก่อให้เกิดความ รับผิดรับชอบ (Accountability)ต่อการใช้จ่ายที่เกิดจากโครงการนี้

หากดูในขั้นแรก โครงการนี้ใช้งบประมาณราว 1,600 ล้านบาทเศษ สำหรับการแจกคอมพิวเตอร์

แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 ในรอบนี้ แต่เมื่อทำการแจกจ่ายให้ครอบคลุมกับนักเรียนในระดับชั้นประถมและมัธยมจน เสร็จสิ้นโครงการจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ในการขยายเครือข่ายระบบ internet ที่มีความเร็วพอสมควรไปยังทุกโรงเรียนในทุกพื้นที่ของประเทศอีกด้วย ดังนั้นความคุ้มค่าต่อการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนี้กับผลสำเร็จที่จะเกิด ขึ้นในตัวเด็กจึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสนใจมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อเป็นการตอบคำถามเรื่องผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์ในบริบทของประเทศ

ไทย ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ ทำการศึกษาประเมินผลกระทบโครงการหนึ่งคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อหนึ่งนักเรียน โดยได้ใช้ข้อมูลที่เก็บโดย OECD Programme for International Student Assessment หรือ PISA ซึ่งทำการวัดความสามารถทางด้านการใช้ภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียนอายุ 15 ปี ใน 65 ประเทศ ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย (นักเรียนไทยถูกจัดอยู่ประมาณลำดับที่ 50 ในทุกวิชา)

จำนวนนักเรียนในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์มี 6,192 คน โดยการสุ่มตัวอย่างของ PISA ถูกออกแบบให้สะท้อนถึงนักเรียนทั่วประเทศ การศึกษานี้แบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม โดยแยกตามลักษณะการใช้คอมพิวเตอร์ดังนี้

1. ใช้เกือบทุกวันเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว เช่นใช้ software เพื่อการเรียน ใช้ spreadsheet หรือใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูล เป็นต้น (945 คน)

2. ใช้เกือบทุกวันเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว เช่น ใช้เพื่อเล่นเกมส์ หรือ download เพลงเป็นต้น (351 คน)

3. ใช้เกือบทุกวันเพื่อการศึกษา และความบันเทิง (1,473 คน)

4. ใช้เพียงไม่กี่ครั้งต่ออาทิตย์ หรือไม่ใช้เลย (3,423 คน)

อย่างไรก็ตาม การวัดผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์นั้นไม่สามารถทำได้โดยการนำคะแนนเฉลี่ย ของแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกันตรงๆ เนื่องจากเด็กที่ไม่มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่เสีย เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ครอบครัวยากจน พ่อแม่มีการศึกษาต่ำ หรือมาจากโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อย เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์อย่างมากต่อความสามารถทางการศึกษาของเด็ก การ ศึกษาจึงต้องนำเทคนิคทางเศรษฐมิติมาใช้ เพื่อปรับลักษณะสำคัญต่างๆที่กล่าวมาของเด็กใน 4 กลุ่มให้มีความทัดเทียมกันก่อน จึงจะสามารถวัดผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์ในลักษณะต่างๆที่กล่าวมาแล้วได้ และในงานวิจัยนี้วัดผลกระทบต่อคะแนนสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่านั้น

ดร.ดิลกะ เปิดเผยว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าผลกระทบของการใช้คอมพิวเตอร์ต่อคะแนนสอบ

นั้นมีความแตกต่างกันตามลักษณะการใช้ โดยการใช้เพื่อความบันเทิง เพียงอย่างเดียวบ่อยๆมีผลในทางลบต่อคะแนนเฉลี่ยในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เท่ากับ 16 และ 11 คะแนนตามลำดับ ทั้งนี้สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถในระดับมัธยฐานของประเทศ (หรือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) ผลกระทบในทางลบดังกล่าวเทียบเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นไทล์สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ และ 6 เปอร์เซ็นไทล์สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ ในทางกลับกัน พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียวมีผลในทางบวก 1 คะแนนสำหรับวิชาวิทยาศาสตร์และ 2 คะแนนสำหรับวิชาคณิตศาสตร์ แต่ผลดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ผลการศึกษาในต่างประเทศส่วนมากก็ไม่พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ หรือ software เพื่อการเรียนการ

สอนมีผลกระทบในทางบวกต่อคะแนนสอบของนักเรียนเช่นกัน หรือถ้ามีก็ไม่มาก หรือจะมีเพียงบาง software เท่านั้น

ประเด็นที่สำคัญคือหากการออกแบบสื่อการเรียนการสอนของไทยไม่ดีเพียงพอ หรือโรงเรียนและผู้ปกครองไม่สามารถควบคุมการใช้ให้ถูกวิธีได้ การดำเนินโครงการนี้โดยไม่มีการวางแผนที่ดีจะไม่ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็ก การใช้จ่ายงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นการสูญเปล่าอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นระบบที่ล้มเหลว และต้องการการปฏิรูปรอบด้านอย่างจริงจังและถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพครู การออกแบบหลักสูตร ความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษาที่มีอยู่มาก และแม้แต่การออกข้อสอบกลางเพื่อใช้ประเมินคุณภาพนักเรียนและโรงเรียนทั่ว ประเทศก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ดังนั้นผลสำเร็จของการแจก 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตต่อ 1 นักเรียน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การใส่อะไรไว้ในแท็บเล็ต และ ครูและผู้ปกครองจะมีส่วนร่วมควบคุมให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่าง ไร จึงจะทำให้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนการสอนที่ช่วยเพิ่ม ศักยภาพการศึกษาของเด็กได้

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: จดหมายเปิดผนึกถึงหมอตุลย์

ที่มา ประชาไท

ก่อนปีใหม่คุณหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ โทรมาคุยกับผม เกี่ยวกับการเสนอร่างแก้ไข ม.112 ของนิติราษฎร์ แต่คุยกันทางโทรศัพท์ก็ไม่มีเวลาแลกเปลี่ยนกันเป็นสาระสักเท่าไหร่ จนผมมาได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของคุณหมอตุลย์กับผู้สื่อข่าวฝรั่งเศส ที่เกษียร เตชะพีระ แปลลงในมติชน ก็รู้สึกอยากแลกเปลี่ยน แต่การโทรศัพท์ไปคุยกันไม่สามารถลำดับความคิดเห็นได้ชัดเจนเหมือนเขียน หนังสือ จึงขอเขียนเป็นจดหมายเหมือนที่คุณหมอตุลย์กับผมเคยแลกเปลี่ยนความเห็นกันใน คอลัมน์ว่ายทวนน้ำในไทยโพสต์ แต่ตอนนี้ผมเป็นฝ่ายเขียนเอง

ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมอ่านบทสัมภาษณ์แล้ว รู้สึกชื่นชมคุณหมอ ที่กล้าแสดงความเห็นว่า ควรปฏิรูป ม.112 ในประเด็นอัตราโทษและใครก็สามารถกล่าวโทษได้ (แม้คุณหมอจะอ้างว่าไม่ต้องการให้เคลื่อนไหวช่วงนี้เพราะกลัวจะพาลถูกยกเลิก ไป)

คุณหมอยังกล้าพูดในอีกหลายๆ ตอนเช่น

“เอาล่ะสถาบันกษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์อาจไม่ถูกต้องไปทั้งหมด อาจมีบางอย่าง... ไม่ถูกต้อง 100% ดังนั้น ถ้าคุณเลือกหยิบบางอย่างที่ผิดมาลบล้างด้านดีของสถาบันกษัตริย์ ผมคิดว่ามันไม่แฟร์ และผมคิดว่าสถาบันกษัตริย์ยังสำคัญอยู่สำหรับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย”

“ถ้าคนไทยเข้มแข็งพอเหมือนคนฝรั่งเศสหรือคนอังกฤษละก็ โอเค เราอาจเปลี่ยนโดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ในลักษณะที่แตกต่างจาก เดี๋ยวนี้ แบบเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เปลี่ยนอย่างเฉียบพลัน”

ผมคิดว่านี่เป็นด้านที่ต้องชื่นชม และเป็นเหตุผลที่ผมให้ความนับถือคุณหมอตุลย์ คือคุณหมอกล้าแสดงความเห็นของตัวเอง แสดงทัศนะที่มองสองด้าน มองข้อดีข้อเสีย ไม่ใช่แกนนำฮาร์ดคอร์แบบคัดค้านต่อต้านอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วก็ยกแต่ด้านลบมาอ้าง ทำให้มันเป็นสีขาวดำ เพื่อปลุกอารมณ์มวลชน

ฉะนั้นผมหวังว่าคุณหมอจะเผยแพร่บทสัมภาษณ์นี้ให้มวลชนที่ไปร่วมชุมนุม หรือร่วมลงชื่อคัดค้านการแก้ไข ม.112 กับคุณหมอได้อ่านโดยทั่วกัน มีความเข้าใจตรงกัน ว่าที่คุณหมอเป็นผู้นำต่อต้านการแก้ไข ม.112 ไม่ใช่ต่อต้านแบบหัวชนฝา คุณหมอก็เห็นว่า 112 มีข้อบกพร่อง (และที่สำคัญ คุณหมอก็เห็นความจำเป็นว่าอนาคต เราอาจเปลี่ยนโดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในลักษณะที่แตกต่างจากเดี๋ยว นี้) แม้เราจะยังมีความเห็นต่างกัน แต่ถ้าทำความเข้าใจได้เช่นนี้ อารมณ์เกลียดชังหรือความเป็นปรปักษ์ระหว่างมวลชนก็จะลดลง นำไปสู่ลู่ทางที่จะพูดคุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้น

เพราะถ้าคุณหมอยอมรับโดยเปิดเผยว่า 112 ควรปฏิรูป เพียงเห็นต่างบางประเด็นและเห็นต่างในเชิง timing คุณหมอและมวลชนของคุณหมอก็ควรจะยอมรับว่าคนที่ต้องการแก้ไข 112 ก็ไม่ใช่พวกที่ต้องการ “ล้มเจ้า” ไปเสียหมด แต่เราอาจมองการ “รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้” ในลักษณะที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่นผมอาจมองว่าใกล้ถึงเวลาแล้วที่เราควรรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ในลักษณะเดียวกับอังกฤษ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้สถาบันยิ่งเผชิญแรงต้านมากขึ้น แต่คุณหมอมองว่าในสภาพที่ประชาชนถูกนักการเมืองหลอกใช้ ยังจำเป็นต้องรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในลักษณะปัจจุบัน


โครงสร้างทางกฎหมาย

ประเด็นถัดมาผมอยากฝากคุณหมอคือ ผมหวังว่าคุณหมอจะทำความเข้าใจกับมวลชน ว่านิติราษฎร์ได้เสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร แล้วคุณหมอจะแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างไร มีเหตุผลอย่างไร ก็เป็นสิทธิของคุณหมอและมวลชน

สาระสำคัญในการแก้ไขของนิติราษฎร์ ที่จริงก็ตรงกับความเห็นคุณหมอทั้ง 2 ประเด็นคือ ลดอัตราโทษ และป้องกันไม่ให้ใครก็เดินไปแจ้งความกล่าวโทษได้ แต่แน่นอน เรามีส่วนที่ต่าง อย่างเช่น คุณหมอเห็นว่าบางกรณีที่เป็นการกล่าวเท็จให้ร้าย โทษควรจะสูงกว่าสิบปีด้วยซ้ำ

ทัศนะแตกต่างข้อสำคัญคือ ทัศนะต่อ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งนิติราษฎร์เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์เป็นความผิดต่อผู้ดำรงตำแหน่ง ไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคงของชาติ เพราะถ้าเรายังอยู่ในการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ แน่นอน การหมิ่นพระมหากษัตริย์เป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ แต่นี่เราเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 79 ปีแล้ว การหมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอีกต่อไป เพียงแต่รัฐต้องให้ความคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง เราจึงมีความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับที่มีความผิดฐานดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประธานาธิบดี ก็มีกฎหมายคุ้มครองประธานาธิบดี ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ ก็ล้วนมีความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่มีโทษเบา และบางประเทศเช่นอังกฤษก็มีแต่ไม่ใช้เลย เพราะเขาปรับทัศนะไปอีกขั้นหนึ่งว่า ราชวงศ์เป็นบุคคลสาธารณะในสังคมประชาธิปไตย

ฉะนั้น ในด้านหนึ่งเรายืนยันได้ว่า นิติราษฎร์ไม่ได้มุ่งหวังเสนอแก้ไข 112 เพื่อนำไปสู่การยกเลิก เพราะนิติราษฎร์ยึดหลักกฎหมาย ตราบใดที่ยังมีความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา เราจะยกเลิกความผิดฐานหมิ่นพระมหากษ้ตริย์ไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล ซึ่งมีโทษสูงกว่าดูหมิ่นคนธรรมดา เราจะให้ความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์มีโทษเท่ากับหมิ่นคนธรรมดาไม่ได้ มันขัดแย้งกับระบบกฎหมายที่ดำรงอยู่

ในอีกด้านหนึ่ง นิติราษฎร์ก็เสนอแก้ไข 112 โดยมีการแยกแยะความผิด แยกแยะตำแหน่ง และลดอัตราโทษลงให้สมควรแก่เหตุ เพราะความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามีโทษสูงสุดเพียงจำคุก 1 ปี ความผิดฐานดูหมิ่น ขู่เข็ญ ตามมาตรา 392,393 เป็นความผิดลหุโทษ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน แต่ 112 เอาความผิดทั้ง 3 มาตรามารวมกัน กำหนดโทษจำคุก 3-15 ปี สูงกว่าหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา 15 เท่า สูงกว่าดูหมิ่นบุคคลธรรมดา 180 เท่า

เมื่อใช้หลักความสมควรแก่เหตุประกอบกับอุดมการณ์ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” นิติราษฎร์จึงเสนอให้กำหนดโทษหมิ่นพระมหากษัตริย์เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งสูงกว่าคนธรรมดา 2 เท่า และถ้าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

แน่นอนว่านี่คงไม่ตรงใจคุณหมอ ที่ให้ลงโทษรุนแรงแก่ผู้กล่าวความเท็จ แต่ผมมองต่างมุมว่า การลงโทษรุนแรงกว่าหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา 15 เท่า ไม่ได้เป็นสิ่งเสริมพระเกียรติ แต่กลับทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทางสากล ดังที่ปรากฏแล้ว และในความเป็นจริง ผู้ที่ต้องคำพิพากษาก็มักได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ประเด็นอัตราโทษยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าสูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ ซึ่งพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท ร.ศ. 118” ที่ตราขึ้นครั้งแรกในสมัย ร.5 ยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีเท่านั้น ต่อมาเมื่อปี 2451 ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 จึงบัญญัติโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี อัตราโทษนี้ใช้มาถึง 70 ปี จนประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499 ก็ไม่เปลี่ยนแปลง มาเปลี่ยนแปลงเอาเมื่อปี 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เพิ่มโทษเป็น 3-15 ปี

ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยกับคุณหมอที่บอกว่า สาเหตุมาจากคอมมิวนิสต์พยายามล้มล้างสถาบันกษัตริย์ จนทำให้เกิดเผด็จการ เพราะเผด็จการครั้งนั้นเกิดขึ้นหลัง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการตกแต่งภาพละครแขวนคอ อ้างสถาบันปลุกปั่นให้เข่นฆ่านักศึกษาประชาชนจนเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่โหด เหี้ยมอำมหิตที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ภาพ “เก้าอี้” ยังติดอันดับ 1 ใน 10 ภาพช็อกโลกจนบัดนี้

อัตราโทษที่กำหนดไว้ใน ม.112 ปัจจุบันจึงเป็นมรดกของเหตุการณ์อัปยศ เป็นมรดกของการแปลงสถาบันเป็นอาวุธ ปลุกให้คนบ้าคลั่งจนลืมความมนุษย์ เป็นตราบาปของเมืองไทยเมืองพุทธ ที่ลบล้างไม่ออกจนปัจจุบัน

นอกเสียจากอัตราโทษที่คงไม่ถูกใจคุณหมอ นิติราษฎร์ได้แก้ไข 112 ตามหลักกฎหมายทุกประการ

ประการแรกคือ ถอดมาตรา 112 ออกจากความผิดต่อความมั่นคง ไปบัญญัติเป็นลักษณะความผิดต่อพระเกียรติ เพราะการที่ ม.112 เป็นความผิดต่อความมั่นคง ทำให้ประชาชนคนใดก็แจ้งความกล่าวโทษได้ และเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ ที่จะดำเนินคดี เรื่องที่คุณหมอเสนอให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง แม้รัฐบาลอาจใช้อำนาจบริหารสั่งการให้ตั้งขึ้น ก็ไม่มีผลทางกฎหมาย หากมีผู้ไปกล่าวโทษแล้วตำรวจ อัยการ ยืนยันจะดำเนินคดี เขาก็มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้น และอ้างได้ว่าหากไม่ทำคือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

นิติราษฎร์จึงเสนอให้แยก ม.112 ออกมาเขียนใหม่ เป็นความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พร้อมกับเสนอให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษ

ประเด็นนี้บางคนคัดค้านว่าเป็นการดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ความจริงไม่ใช่นะครับ คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด สำนักราชเลขาธิการไม่ได้เป็นหน่วยงานส่วนพระองค์ ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม 2545 สำนักราชเลขาธิการมีฐานะเป็นกรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสำนักพระราชวัง (แต่ที่ คอป.เสนอให้สำนักพระราชวังกล่าวโทษเนี่ย มั่วนะครับ เพราะ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม ระบุว่า “สำนักราชเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ สำนักพระราชวัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการพระราชวัง ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์” สรุปคือสำนักพระราชวังส่วนใหญ่จะดูแลเรื่องอาคารสถานที่)

ประการที่สอง นิติราษฎร์ได้แยกฐานความผิดตามมาตรา 112 เป็น 4 ฐาน 4 มาตรา ตามลักษณะของความผิดและตามตำแหน่งของผู้ถูกหมิ่นพระเกียรติ

ความผิดต่อบุคคลธรรมดา แยกเป็นความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ ตามมาตรา 392 ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา มาตรา 393 กับใส่ความต่อบุคคลที่สาม ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ตามมาตรา 326

การที่กฎหมายอาญาแยกเช่นนี้เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นหนักเบาต่างกัน (เช่น มีคนไปตะโกนด่าคุณหมอด้วยถ้อยคำหยาบคาย กับมีคนกล่าวหาเป็นตุเป็นตะว่าคุณหมอฉ้อโกงเงินของโรงพยาบาล อย่างหลังร้ายแรงกว่า) แต่ 112 รวมมิตรเป็น “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย” โดยไม่แยกแยะ แม้แต่คำพิพากษาของศาลก็ไม่แยกแยะ ว่านี่เป็นดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท

นิติราษฎร์จึงแยกเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท กับความผิดฐานดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย อย่างแรกถ้ากระทำต่อพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 2 ปี อย่างหลัง 1 ปี ถ้าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เพิ่มโทษจำคุก 3 ปี

นิติราษฎร์ยังแยกความผิดที่กระทำต่อพระมหากษัตริย์ ออกจากความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งนิติราษฎร์ไม่ได้แยกเองหรอกครับ แต่อิงมาตรา 107-110 ที่แยกความผิดฐานปลงพระชนม์ และประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ ปลงพระชนม์ และประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จฯ ออกเป็น 4 มาตรา โดยมีโทษหนักเบาต่างกัน นิติราษฎร์จึงเห็นว่าความผิดฐานหมิ่น ก็ต้องแยกเช่นกัน

การแยกความผิดเป็น 4 ฐานมีเหตุผลนะครับ และผมคิดว่าใครก็โต้แย้งในเชิงเหตุผลลำบาก

ประการที่สาม นิติราษฎร์ ได้เพิ่มมาตรายกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ เช่นเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 326 ซึ่งมีมาตรา 329 ยกเว้นความผิด และมาตรา 330 ยกเว้นโทษ โดย 2 มาตรานี้ระบุว่า

“ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ เพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด”

“ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความ จริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์ และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”

เสรีภาพความเห็นเพื่อใคร

คุณหมอจะเห็นได้ว่า การแก้ไข 112 ไม่ได้ปล่อยให้ใช้ถ้อยคำจ้วงจาบหยาบช้าต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ปล่อยให้ติฉินนินทาเรื่องส่วนพระองค์ แต่มุ่งยกเว้นการแสดงความคิดเห็นเพื่อ “รักษาระบอบ” เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ปลายปีที่ผ่านมา คดีอากงได้จุดกระแสรณรงค์เรื่อง 112 ขึ้นสูงและร้อนแรง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราเห็นว่า การส่ง SMS ใช้ถ้อยคำจ้วงจาบไม่เป็นความผิด ปัญหาในคดีนี้คือสาธารณชนไม่สิ้นสงสัยว่าอากงเป็นผู้ส่ง SMS จริงหรือ ซึ่งมันสะท้อนอุดมการณ์ของการบังคับใช้ 112

ประเด็นสำคัญของการแก้ไขมาตรา 112 อยู่ที่การเปิดให้มีเสรีภาพ แสดงความคิดเห็นได้หลากหลาย เพราะการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ที่ผ่านมาถูกผูกขาดไว้ให้ต้องยกย่องสดุดีในแบบพิมพ์เดียว ใน pattern เดียว

นี่ผมยังไม่ได้พูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบด้วยซ้ำนะครับ เอาแค่การยกย่องสดุดี ผมก็มองว่ามี pattern เดียว ใครจะสดุดีแบบคิดนอกกรอบ ก็กลัวถูกพวกหัวเก่าหาว่าไม่เหมาะสม ยกตัวอย่าง เพลงสรรเสริญสมัยก่อนก็ซ้ำกันอยู่นั่นแหละ กว่าจะกล้าเปลี่ยนมาเป็นของพี่เบิร์ด ถึงค่อย Pop ขึ้นหน่อย

บางคนอ้างว่าถ้าไม่อยากด่าเจ้าทำไมต้องแก้ไข แต่ความเป็นจริงที่ผ่านมาคือ แม้แต่การท้วงติง การแสดงความเห็นด้วยความปรารถนาดี พูดเพื่อให้สถาบันเป็นที่รักเคารพของประชาชนตลอดไป ก็ยังไม่สามารถทำได้ เราไม่สามารถพูดได้ว่า ปรากฏการณ์บางอย่างอาจส่งผลให้ผู้คนที่แตกแยกกันอยู่หวาดระแวงว่าสถาบันจะ ไม่เป็นกลางทางการเมือง เพราะขืนพูดไป ศาลก็อาจบอกว่าสถาบันอยู่เหนือการเมือง คุณพูดอย่างนั้นไม่ได้ คุกไปซะ 5 ปี

คุณหมอยกพระราชดำรัสในหลวงมากล่าวว่า พระองค์อาจทรงทำผิดพลาดและอาจถูกวิจารณ์ได้ แต่ในความเห็นคุณหมอ คำวิจารณ์จะต้องมีเหตุผล ไม่ใช่กล่าวเท็จหรือพยายามปลุกกระแสเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน หากคำวิจารณ์มีเหตุผล คุณหมอก็เห็นด้วย หากต้องการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะไม่ถูกลงโทษหรอก สามารถชี้แจงผู้พิพากษาได้

เรียนคุณหมอ ผมก็อยากวิจารณ์อย่างมีเหตุผล แต่ผมไม่กล้า เชื่อว่าอีกหลายคนก็ไม่กล้า ในเมื่อยังมีโทษจำคุก 3-15 ปี ในเมื่อใครก็แจ้งความกล่าวโทษได้ ในเมื่อถูกกล่าวหาแล้วส่วนใหญ่จะไม่ได้ประกัน ในเมื่อการใช้และการตีความ 112 ของศาลยังอยู่ใต้อุดมการณ์ “เทวราชา” ที่ถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์แตะต้องไม่ได้แม้แต่น้อย

คูณหมออาจจะบอกว่าทองแท้ไม่กลัวไฟ ถ้าเจตนาดีจริงต้องไม่กลัวถูกแจ้งจับ แต่การพิสูจน์อย่างนั้นต้องสู้คดี 3 ศาลอยู่ในคุก 5-6 ปี ใครจะอยากลองครับ

โธ่ ต่อให้แก้ 112 ตามข้อเสนอนิติราษฎร์ทันที ผมก็ยังไม่กล้าวิจารณ์หรอก ให้ลดโทษเหลือคุก 1-2 ปี ผมก็ไม่เสี่ยง เพราะปัญหาเชิงอุดมการณ์ในการใช้และตีความยังมีอยู่ แต่ถ้าเราแก้ไขได้ กำหนดให้มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดได้ ยกเว้นโทษได้ มันก็จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การค่อยๆ เปลี่ยนแปลง (แต่ให้คนอื่นลองก่อนนะ ผมมิกล้า แหะแหะ)

ที่ผ่านมาสถาบันจึงดำรงอยู่อย่างไม่กล้ามีใครแสดงความคิดเห็น ที่ต่างจากความเห็นกระแสหลัก ที่เป็น “สูตรสำเร็จ” ว่าด้วยการสดุดีลูกเดียว คนกล้าวิจารณ์มีนับหัวได้ ตอนนี้ก็ดูเหมือนจะมี ส.ศิวรักษ์ เหลืออยู่หัวเดียว (ที่เหลือหดหัวไปอยู่ในวิกิลีกส์)

ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมของโลก เข้าใจหลักวิทยาศาสตร์ของหม้อต้มไอน้ำ ก็น่าจะมองเห็นได้ว่า ที่คดี 112 มีจำนวนมากมายใน 5 ปีของวิกฤติการเมือง เป็นเพราะกรอบอุดมการณ์ที่ห้ามแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่เอง

ปัญหามันเริ่มต้นจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ฝ่ายหนึ่งอ้างอิงสถาบัน แล้วก็กล่าวหาด่ากราดฝ่ายตรงข้ามว่าไม่จงรักภักดี พอฝ่ายตรงข้ามตอบโต้ แน่นอนมันก็มีบางคนตอบโต้ด้วยอารมณ์ ข้อกล่าวหาก็เพิ่มเป็น “ล้มเจ้า” คราวนี้สถาบันก็ตกเข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง ด้วยความที่สังคมไทยห้ามแสดงความเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายที่ต้องการท้วงติงด้วยความปรารถนาดี ต้องการพูดอย่างมีเหตุผล ก็ไม่สามารถแสดงออกได้ ฝ่ายที่แสดงออกได้อย่างเปิดเผยเมามัน คือฝ่ายที่อ้างสถาบันไปทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ขณะที่อีกฝ่ายก็ซัลโวเต็มที่ทางใต้ดิน จริงบ้าง เท็จบ้าง มีเหตุผลบ้าง ไม่มีบ้าง ไม่มีใครกลั่นกรองได้

สถานการณ์ขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการบอกว่า ช่วยกันเทิดทูนสถาบันกลับไปอยู่เหนือความขัดแย้ง เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เราต้องแก้เงื่อนปมอีกหลายประการ ขั้วอำนาจต่างๆ ที่อยู่ในความขัดแย้ง ต่างก็ยังอ้างสถาบันอยู่ เห็นได้ชัดที่สุดคือ กองทัพ เราจำเป็นต้องพูดกันให้ชัดเจนถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็น ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เราจำเป็นต้องเปิดกว้างเพื่อพูดถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง เชิงระบอบ นี่ต่างหากคือสาเหตุที่ต้องการเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เสรีภาพเพื่อจะใช้วาจาจ้วงจาบหยาบช้า

พระบารมีส่วนพระองค์

คุณหมอกล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าคนไทยเข้มแข็งพอเหมือนคนฝรั่งเศสหรืออังกฤษ เราอาจเปลี่ยนโดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ในลักษณะที่แตกต่างจาก เดี๋ยวนี้ แต่ขอให้เปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เปลี่ยนอย่างฉับพลัน

ถ้อยคำนี้ผมขอสรุปว่า คุณหมอยอมรับว่าสักวันหนึ่งเราอาจเปลี่ยนไปเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ แบบอังกฤษ เพียงแต่จังหวะเวลายังไม่เหมาะสม (คนไทยยังโง่อยู่)

ที่จริงมันก็มีคำถามเหมือนกันว่า เอ๊ะ แล้วระบอบที่เราดำรงอยู่ ในสายตาคุณหมอ เป็นระบอบอะไร ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญจริง หรือ

แต่ช่างเถอะ ขอข้ามไป ฝากไว้เป็นการบ้าน ประเด็นสำคัญกว่าคือ ถ้าคุณหมอเห็นอย่างนี้แล้ว สมมติผมบอกว่า ผมอยากให้เปลี่ยนเป็นแบบอังกฤษ ผมก็ไม่ผิดใช่ไหมครับ ผมไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า” และผมมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นเต็มที่ใช่ไหมครับ

ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะพวกรอแยลลิสต์ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่า ข้อเรียกร้องให้เป็น “แบบอังกฤษ” แตกต่างจาก “ล้มเจ้า” ใครเรียกร้องอย่างนี้เผลอๆ จะโดนข้อหา “ปฏิญญาฟินแลนด์” ต้องการทำให้สถาบันเป็นเพียงสัญลักษณ์

แต่ถ้าคุณหมอแยกแยะทำความเข้าใจ คุณหมอจะพบว่าคนที่ต้องการให้เป็นแบบอังกฤษมีมากกว่า เพราะยังไงเราก็เป็นคนไทยที่เกิดและเติบโตมาอย่างคุ้นเคยกับสถาบันพระมหา กษัตริย์ ขณะเดียวกัน พวกที่ “นิยมสาธารณรัฐ” ในเชิงอุดมการณ์เขาอาจต้องการอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าเราไปสู่ “แบบอังกฤษ” ได้ ผมก็เชื่อว่าพวกเขายอมรับได้ ไม่มีปัญหา และไม่สามารถมีอิทธิพลมากมายอะไร

ดูอย่างอังกฤษสิครับ อังกฤษเปิดให้พวก Republic เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย ก็ไม่เห็นทำอะไรได้ นั่นคือการตีความ “ประชาธิปไตย” แบบอังกฤษ คือคนส่วนใหญ่ยังรักยังนิยมราชวงศ์ แต่ใครไม่รักไม่ชอบไม่มีความผิด แถมมีสิทธิเสรีภาพที่จะเสนอรูปแบบการปกครองอีกแบบ

สำหรับประเทศเรา ขอแค่ยอมรับว่าคนที่เรียกร้องให้เป็นแบบอังกฤษ ไม่ได้ผิดอะไร เป็นพวกสมองปลายเปิด ไม่ควรไล่ไปอยู่ต่างประเทศ (เอ๊ะ ยังไงแน่) แค่นั้นผมก็ว่าดีแล้ว แล้วเราก็มาถกเถียงกันสิว่า ตรงไหนคือ timing ที่ควรจะเป็น และจะเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้อย่างไร

คุณหมออ้างว่าอุปสรรคสำคัญคือทักษิณ ผู้ที่เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ก็เพื่อสนับสนุนทักษิณ คุณหมอพูดทำนองว่าทักษิณต้องการเป็นหมายเลขหนึ่งในเมืองไทย ทักษิณและเสื้อแดงคิดเรื่องประชาธิปไตยบริสุทธิ์หรือเบ็ดเสร็จโดยปราศจาก สถาบันกษัตริย์มากขึ้นทุกที (ที่จริงประชาธิปไตยบริสุทธิ์กับเบ็ดเสร็จนี่คนละอย่างกัน แต่เอาเหอะ)

ผมว่าคุณหมอมองทักษิณผิดไป ทักษิณไม่ได้มีอุดมการณ์ขนาดนั้น และไม่ได้โง่ขนาดนั้น ผู้มีอำนาจในสังคมไทยไม่เคยมีใครโง่ขนาดทำลายสถาบันเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ แต่ผู้เดียว ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ปี 2490 มาถึงขณะนี้มีแต่การห้อยโหนอ้างอิงสถาบันเพื่อให้ตนเองมีอำนาจและผลประโยชน์

ที่จริงคุณหมอก็น่าจะเข้าใจสถานการณ์เหมือนผม หรือเหมือนคนที่สนใจการเมืองทั่วไป ว่าจริงๆ แล้วก่อนรัฐประหาร 49 ทักษิณไม่ได้ต้องการล้มสถาบันหรอก จริงๆ ทักษิณก็อยากโหนสถาบัน เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจยาวๆ เพียงแต่โหนไม่สำเร็จ ถูกฝ่ายตรงข้ามถีบออกมาก่อน ถ้าทักษิณโหนสำเร็จ สนธิ ลิ้ม แกนนำพันธมิตรทั้งหลาย ป่านนี้อาจจะกลายเป็นฝ่ายเข้าคุกระนาวเพราะ 112 ก็เป็นได้

คำถามคือทักษิณเลิกความพยายามไปแล้วหรือไม่ ผมฝากให้คุณหมอไปคิดวิเคราะห์เอง ให้ทุกคนไปคิดวิเคราะห์เองว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร

แต่ที่แน่ๆ คือการเคลื่อนไหวแก้ 112 ของนิติราษฎร์ครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับทักษิณ เพราะเอาไว้คุณหมอดูรายชื่อผู้ที่ร่วมเสนอแก้ไขก็คงเห็นได้ว่ามีคนจำนวนไม่ น้อยที่ต่อต้านทักษิณ มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใช่เสื้อแดง หรือถ้าคุณหมอจะมองว่าตกเป็นเครื่องมือทักษิณ อ.ไชยันต์ ไชยพร ที่ฉีกบัตรเลือกตั้ง 2 เมษา มาแล้วก็ยังเห็นว่าควรยกเลิก 112

ผมเห็นด้วยกับคุณหมอที่บอกว่า “ทางแก้ปัญหานี้คือต้องเปิดอภิปรายอย่างกว้างขวางด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นแบบนั้นเลย อย่างในการสัมมนาครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีกลุ่มเสื้อแดงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การพูดคุยกันอย่างสันติ ไม่เคยเกิดขึ้นเลย”

ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า ตอนที่นิติราษฎร์เสนอประเด็น 112 ครั้งแรกนั้น คุณหมอกล้าหาญมากที่ไปร่วม แต่ก็มีอุปสรรคเพราะมวลชนที่เข้าร่วมเต็มไปด้วยอารมณ์ จนไม่มีโอกาสให้คุณหมอได้ตั้งคำถามให้นิติราษฎร์ชี้แจงด้วยเหตุผล

ผมจึงหวังว่าหลังการเสนอแก้ไข 112 ของนิติราษฎร์ จะมีการจัดเวทีวิชาการ พูดคุยเสวนาระหว่างฝ่ายต่างๆ ถึงทัศนะที่เหมือนหรือต่างต่อ 112 ต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมเคยเขียนไปแล้วว่าอยากให้มี forum ที่เชิญทุกฝ่ายตั้งแต่นิติราษฎร์ สยามสามัคคี อดีตนายกฯอานันท์ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ หรือ คอป. มาพูดคุยกัน โดยไม่มีมวลชนข้างหนึ่งข้างใดเข้ามาทำให้เสียบรรยากาศ

ประเด็นที่ผมอยากฝากมากที่สุด คือคำกล่าวของคุณหมอที่ผมยกมาข้างต้น ซึ่งกล่าวทำนองว่าประชาชนยังไม่เข้มแข็ง ยังถูกนักการเมืองหลอกใช้ เราจึงจำเป็นต้องรักษาสถาบันไว้ในรูปแบบที่เป็นอยู่

อันที่จริงเป็นถ้อยคำที่มีปัญหาเชิงทฤษฎี เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงพ้นไปจากการเมือง

แต่ช่างเหอะ ผมไม่จ้องจับผิดถึงขนาดนั้นหรอก เพียงแต่ผมอยากเตือนมากกว่าว่า สิ่งที่เราพูดถึงกัน ที่คนชั้นกลางคนกรุงหวังพึ่งพิง ไม่ใช่ตัวสถาบันที่เป็นโครงสร้างนะครับ คำว่า “เรารักในหลวง” สะท้อนชัดเจนว่าเป็นพระบารมีส่วนพระองค์

ฉะนั้น ผมจึงอยากแลกเปลี่ยนกับคุณหมอมาก อยากหาเวลาคุยกันที่ไม่ใช่ทางมือถือ ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ขอแสดงความนับถือ
ใบตองแห้ง
12/01/2012

จดหมายคณะ 'แสงสำนึก' ถึงเพื่อนนักเขียน เชิญร่วมงาน ครก.112

ที่มา ประชาไท

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

เรียนเพื่อนนักเขียนผู้ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2554

หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนไทยทั่วประเทศ เรื่อง ขอเชิญร่วมลงชื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความ คิดเห็นทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ได้มีการลงนามจากเพื่อนนักเขียนตลอดจนถึงออกคำประกาศ 359 นักเขียน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 แม้ว่าตลอดสองเดือนของการเคลื่อนไหวของนักเขียนดังกล่าว จะได้ผลักดันประเด็นปัญหาในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปไม่น้อย ให้ได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติเข้ามาจับตา ดูปัญหาการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมาย อาญามาตรา 112 ของประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะมิได้ลดความรุนแรงลงแม้แต่น้อย อีกทั้งรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ยังคงแสดงความเฉยเมยต่อข้อเรียก ร้องดังกล่าว และไม่ตระหนักถึงปัญหาของการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ปรากฏการดำเนินคดีโดยกฎหมายอาญามาตรา 112 เฉพาะตามที่ปรากฏเป็นข่าวถึง 5 กรณี

22 พฤศจิกายน ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ดออกหมายเรียกนายสุรพศ ทวีศักดิ์ เนื่องจากถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ในการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นท้ายบทความ จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร? ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท

23 พฤศจิกายน ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์อ่านคำตัดสินพิพากษาจำคุกนายอำพล 20 ปี จากกรณีส่งข้อความสั้นหมิ่นประมาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสถาบันกษัตริย์ 4 ครั้ง ไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

25 พฤศจิกายน อัยการ สำนักงานพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นฟ้องนายสุรภักดิ์ เนื่องจากโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมกับคัดค้านการขอประกันตัว

8 ธันวาคม ศาลตัดสินจำคุกโจ กอร์ดอน 5 ปี แต่สารภาพจึงลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกระทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกซึ่งใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือ The King Never Smiles และมีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลหนังสือดังกล่าวเป็นภาษาไทย หนังสือดังกล่าวเขียนโดย Pual Handley เป็นหนังสือวิชาการจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย Yale เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2549 โดยระหว่างถูกจับกุมศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อหาที่ กระทบต่อความมั่นคง และกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีโทษสูง

15 ธันวาคม ผู้พากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์อ่านคำตัดสินจำคุกนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล กระทำผิดโดยกล่าวปราศรัย 3 ครั้งที่ท้องสนามหลวง จำคุก 15 ปี

คดีความทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลจากกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างโทษและการกระทำผิด ซึ่งเป็นการกระทำฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่กลับมีการลงโทษอย่างรุนแรงจนสูงกว่าคดีที่ร้ายแรงกว่าเช่น การพยายามฆ่า และการฆ่าคนตายในบางกรณี ความผิดสัดส่วนนี้รุนแรงจนกระทั่งสามารถรู้สึกได้โดยสามัญสำนึกธรรมดา และมิต้องมีความรู้หรืออ้างอิงหลักกฎหมายแต่ประการใด

กรณีของนายอำพล ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่กระทบต่อหลักการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่มีความผิด หากแต่คำพิพากษาในคดีนี้ กลับสวนทางกับหลักคดีอาญา และผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 39 อีกทั้งยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้ระบุความผิด และกระบวนการนำสืบของโจทก์ อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดบรรทัดฐานการดำเนินคดีที่นำข้อมูลอันเกี่ยวเนื่อง กับเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลักฐานในการระบุตัวผู้กระทำผิดอย่างไม่รัดกุม

การตัดสินคดี 112 สะท้อนให้เห็นว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว การได้รับการตรวจสอบพยานเอกสารอย่างถูกต้องครบถ้วน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 39 มาตรา 40 (2) มาตรา 40 (7) เป็นต้น เป็นเพียงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่บนกระดาษเท่านั้น หาได้มีอยู่ในสำนึกของผู้บังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ คดีตัวอย่างทั้ง 5 กรณีซึ่งมีการดำเนินการในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งหมดนี้ เกิดขึ้น หลังจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง แห่งชาติ (คอป.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 แนะนำให้ชะลอคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมดไว้ก่อน ซึ่งประกอบด้วย คดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหลายก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ความเคลื่อนไหวของคดีความระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่สวนทางกับข้อเสนอของ คอป. และทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังต่อหนทางคลี่คลายวิกฤตการเมืองด้วยการปรองดอง และเชื่อว่ายากที่ผู้ต้องหาคดีอันเนื่องมาจากกฎหมายอาญามาตรา 112 จะได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าขั้วการเมืองสองฝ่ายจะสามารถปรองดองกันได้หรือไม่

ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด อดีตเจ้าภาพผู้ริเริ่มเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนักเขียนได้หารือกับคณาจารย์ คณะนิติราษฎร์ นักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม กลุ่มเคลื่อนไหวรณรงค์อาร์ติเคิล 112 ไอลอว์ และปัญญาชนกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยตัวเอง ผู้เข้าร่วมหารือ

ทั้งหมดจึงได้ตั้ง คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (ครก.112) ขึ้น เพื่อผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา ด้วยการร่วมกันรณรงค์และขอความเห็นชอบจากประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป การรณรงค์แก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ซึ่งระบุว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราช บัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยการลงชื่อดังกล่าวมีเพียงการกรอกแบบฟอร์มและแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และการเซ็นรับรองความถูกต้อง

การผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 คือการเปลี่ยนเจตนารมณ์ในจดหมายเปิดผนึกที่พวกเรานักเขียนทั้งหมดได้ลงนาม ไว้ ให้เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติโดยใช้สิทธิตามกฎหมาย และเป็นการกระตุ้นนักการเมืองให้ต้องหันมาใส่ใจปัญหานี้อย่างแท้จริง

ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม คณะนิติราษฎร์ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมเพื่อแนะนำ ครก.112 ในงานจะมีการอธิบายรายละเอียดในร่างแก้ไขอีกครั้ง พร้อมทั้งอภิปรายเหตุผลในการที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และกิจกรรมอื่น ๆ อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะแก้กฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโต๊ะลงชื่อเพื่อแก้กฎหมาย มีการเตรียมแบบฟอร์มราชการ และเครื่องถ่ายเอกสารไว้พร้อมสำหรับการลงชื่อ งานดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เวลาบ่ายโมงตรงเป็นต้นไป ที่ห้องประชุมเล็ก (ศรีบูรพา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เราขอเรียนเชิญเพื่อนนักเขียนเข้าร่วมลงนามและร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวตามแต่ความสะดวกของท่าน หากไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมได้ก็สามารถลงชื่อได้ภายหลัง โดยทางคณะนักเขียนแสงสำนึกจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไป

เรียนมาด้วยความนับถือและสวัสดีปีใหม่

คณะนักเขียนแสงสำนึก

ปราบดา หยุ่น
วาด รวี
วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ซะการีย์ยา อมตยา
กิตติพล สรัคคานนท์
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
ธิติ มีแต้ม
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
บินหลา สันกาลาคีรี
ศุภชัย เกศการุณกุล
สุจิตต์ วงษ์เทศ
เรืองรอง รุ่งรัศมี
อุทิศ เหมะมูล

ดุลยภาค ปรีชารัชช: ทิศทางพม่า 2555: (1) ประชาธิปไตยสไตล์พม่า

ที่มา ประชาไท



สัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช นำเสนอเป็นตอนแรก โดยเป็นการวิเคราะห์ทิศทางการปฏิรูปในพม่า ขั้วอำนาจหรือ “มุ้ง” ทางการเมืองในพม่า และแนวโน้มการแก้ไขปัญหาระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์

ดุลยภาค ปรีชารัชช (ที่มา: ประชาไท)

เมื่อ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทสัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เขียน "Naypyidaw: New Capital of Burma" ซึ่งพิมพ์ในปี 2551 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงทิศทางของพม่าในปี 2555 โดยเฉพาะทิศทางการปฏิรูปพม่า และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ต่างๆ ในประเทศ โดยประชาไทแบ่งการนำเสนอเป็น 2 ตอน วันนี้นำเสนอเป็นตอนแรก

ดุลยภาค มองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพม่าว่า "การที่พม่าจัด ให้มีการเลือกตั้ง เป็นเพราะพม่าปิดประเทศมานาน แต่ด้วยการถาโถมของโลกาภิวัตน์กับทุนนิยม ทำให้พม่าคิดว่า เมื่อโลกเปลี่ยนพม่าก็ต้องเปลี่ยน เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลพม่าจัดให้มีนั้น เป็นความเปลี่ยนแปลงที่รัฐบาลหรือกองทัพต้องสามารถควบคุมได้ เพราะฉะนั้นระบอบการปกครองพม่าในปัจจุบัน ทุกคนต้องอย่าลืมว่าเป็น "ระบอบประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย" หรือ "ประชาธิปไตยสไตล์พม่า" นั่นหมายความว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่โลกตะวันตกคาดคิดนั้น อาจจะผิดหวังในกรณีของพม่า เพราะต้องไม่ลืมว่าตอนนี้แสงไฟหรือสปอร์ตไลท์ได้ฉากแสงพุ่งเป้าไปที่พม่า แล้วบอกว่าเขาให้ความสำคัญกับ Democratization (กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย) อย่างเต็มที่ แต่จริงๆ แล้วต้องอย่าลืมว่า กองทัพยังมีบทบาทในการนำทางการเมือง การดูประชาธิปไตยในพม่าต้องดูความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน”

ต้องไม่ลืมว่า ทั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง รองประธานาธิบดี ทิน อ่อง มิ้น อู เหล่านี้คือนายพลทั้งนั้นเลย เพียงแต่ถอดเครื่องแบบมาได้ปีกว่าๆ คือแปลงร่างเป็นพลเรือน ยังไม่นับร้อยละ 25 โดยตรงที่เป็นทหารโดยตรงเข้าไปนั่งในสภา ส่วนอีกเกือบร้อยละ 75 ก็เป็นพรรค USDP (พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา) ซึ่งเป็นแนวร่วมของรัฐบาลพม่าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นองค์ประกอบในรัฐสภาหรือรัฐบาลพม่า แท้จริงแล้วคือทหารในคราบพลเรือน และพลเรือนที่ฝักใฝ่ทหาร รวมถึงทหารเพรียวๆ ผสมปนเปกันไป เพราะฉะนั้น ระดับดีกรีการเป็นประชาธิปไตยยังมองยากอยู่ คิดว่าสักร้อยละ 15-20 เท่านั้นที่รัฐบาลพม่าเริ่มเปิดวิถีทางการเมืองให้มีอิสระมากขึ้นเท่านั้น เอง แต่จริงๆ แล้วเรื่องนักโทษทางการเมืองนั้น คนที่สำคัญ ที่เคยเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลพม่า ถ้ารีบปล่อยตัวมาจะเป็นสัญญาณอันตรายต่อเสถียรภาพในการปกครอง เขาก็ยังถูกกักอยู่ เพราะฉะนั้นระดับการเป็นประชาธิปไตย พม่าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้มั่นคง ให้เป็นวิถีที่กองทัพสามารถควบคุมได้อยู่ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงฉับพลันแล้วสังคมการเมืองพม่ารู้สึกว่าระส่ำระสาย”

ดุลยภาคยังเสนอด้วยว่าต้องจับตาบทบาทของกองทัพพม่าซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีอำนาจสูงมาก “เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยพม่า ต้องจับตาดูกองทัพ ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญปี 2008 ระบุไว้เลยว่าเมื่อใดก็ตามที่ประเทศชาติมีภาวะสุ่มเสี่ยงวุ่นวาย สุ่มเสี่ยงต่ออธิปไตยและความมั่นคงในชาติ ประธานาธิบดีต้องถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคือ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย เพราะฉะนั้น ผบ.สส. จริงๆ อาจจะมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีพม่าด้วยซ้ำ แต่คนไม่ค่อยพูดถึงเพราะแสงไฟหรือสื่อต่างๆ พุ่งเป้าไปที่เต็งเส่ง เท่านั้นเอง คำถามที่ตามมาคือ เต็งเส่ง มีอำนาจแท้จริงหรือไม่ในระบบการเมืองพม่า"

นอกจากนี้ดุลยภาค ยังได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางอำนาจของชนชั้นนำพม่าภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปี 53 ซึ่งเกิด "มุ้งทางการเมือง" ที่ทับซ้อนกันมากขึ้น แตกต่างจากโครงสร้างชนชั้นนำแบบยอดพีรามิดที่แต่เดิมมีเพียงนายทหารระดับสูง เป็นชนชั้นนำเท่านั้น ทั้งนี้ขั้วอำนาจต่างๆ ในปัจจุบันนั้น แต่ละกลุ่มต่างมีฝ่ายสนับสนุนของตนเอง โดยมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนให้พม่าเปลี่ยนแปลงแบบเสรีนิยม กลุ่มที่สนับสนุนให้พม่าเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่รับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่บทบาทของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งแม้จะมีการคุยกับออง ซาน ซูจี และพบกับทูตต่างประเทศ และทำประเทศให้เสรีมากขึ้นในอนาคต แต่บทบาทของรองประธานาธิบดี ทิน อ่อง มิ้น อู ก็คัดค้านบทบาทของเต็งเส่งในหลายโอกาส นอกจากนี้ต้องจับตาดูด้วยว่า ผบ.สส. อย่าง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และผู้มีอำนาจนอกวงรัฐบาลพม่าอย่าง พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ซึ่งเพิ่งลงไปเมื่อปีกว่าๆ จะรับได้กับบทบาทของเต็งเส่ง หรือไม่

ต่อคำถามเรื่องบทบาทของ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย หลังการเกษียณนั้น ดุลยภาคอธิบายว่า บทบาททางการเมืองของทหารพม่า ก็เหมือนกับหลายประเทศในอุษาคเนย์ทั่วไป พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ครองอำนาจมานาน มีอายุมากเกือบ 80 ปี มีอิทธิพล เป็น Moderator (ผู้ไกล่เกลี่ย) ไม่ให้ผู้นำพม่าอีกรุ่นหนึ่งตีกันมากนัก ตานฉ่วยเป็นคนคุมให้ผู้นำพม่าเล่นไปตามรางที่ตานฉ่วยวางไว้ แต่ปัญหาของตานฉ่วยคือจะคุมได้อีกนานเท่าไหร่ ปล่อยไว้นานๆ ปัญหาการไม่เชื่อฟัง พล.อ.อาวุโส ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และปัญหาสุขภาพของ พล.อ.ตานฉ่วย ซึ่งมีอายุมากแล้ว

โดยบทบาทของ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย และรอง พล.อ.อาวุโส หม่องเอ ยังคงมีบทบาทในช่วงเร็วๆ นี้ แต่ถ้ามองในอนาคตต่อไปก็พูดยาก เพราะระดับการปกครองในพม่าถ้าจะพิจารณาให้แม่นต้องดูที่ทหารว่ามีกี่รุ่น แล้ว ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 3 โดยรุ่นแรกคือ นายพลเนวิน ที่มาพร้อมกับนายพลออง ซาน ในช่วงเรียกร้องเอกราชพม่า รุ่นที่สองคือ ตานฉ่วย และหม่องเอ ซึ่งทำสงครามสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ และให้ความสำคัญกับความมั่นคงสูงมาก และรุ่นที่ 3 คือ เต็งเส่ง หรือ ทิน อ่อง มิ้น อู ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่

ส่วนแนวโน้มเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่ม ชาติพันธุ์ในรัฐต่างๆ นั้น ดุลยภาคกล่าวว่า พม่าเป็นรัฐพหุชนชาติ หนึ่งรัฐมีหลายชาติ เมื่อผ่าโครงสร้างออกมาก็มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง กะเหรี่ยง คะยาห์ มอญ พม่า ไทใหญ่ ฯลฯ จะเห็นว่ามีโครงสร้างทางชาติพันธุ์ที่หลากหลายสลับซับซ้อน ที่ผ่านมาพม่าใช้กลไกของกองทัพและความเด็ดขาดทางทหารเข้าไปสัประยุทธ์กอง กำลังต่างๆ ตามแนวชายแดน ขณะที่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็ใช้การซุ่มโจมตี สงครามจรยุทธ์สู้รบ ทหารพม่าก็เสียกำลังพลไปเยอะ

เพราะฉะนั้นการสู้รบมีมาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 สิ่งสำคัญที่ต้องมองให้ออกคือ ทั้งตัวรัฐบาลพม่าเองและกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มมีโลกทัศน์เกี่ยวกับโมเดลทางการปกครอง หรือสถาปัตยกรรมแห่งรัฐพม่าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะรัฐบาลพม่ามุ่งความสนใจไปที่รัฐเดี่ยว ต้องเป็นรัฐเดี่ยว แบ่งแยกไม่ได้ อย่างเก่งก็ให้มีเขตปกครองพิเศษที่รัฐบาลพม่าจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป แต่กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มขอเป็นสหพันธรัฐ ในหนึ่งรัฐ ก็ต้องมี 8 รัฐ มีรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 7 และรัฐพม่า แต่รัฐพม่าไม่ตอบรับ เพราะมองว่าไปทำให้เขาไปมีสถานะเท่าเทียมกับรัฐเล็กๆ ก็อาจจะรับไม่ได้”

เพราะฉะนั้นความขัดแย้งระหว่างระหว่างแนวคิด เอกรัฐนิยม กับ สหพันธรัฐนิยม ก็จะตีกันเป็นวิกฤตการณ์ด้านการปกครองในพม่า ยังไม่นับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ไม่ต้องการทั้งเอกรัฐ และสหพันธ์รัฐ แต่เป้าหมายที่สู้รบมาตลอดชีวิตคือสถาปนารัฐเอกราชสมัยใหม่ กรณีแบบสหภาพโซเวียต ยูโกสลาเวีย เป็นโมเดลที่นักความมั่นคงพม่าหวาดเกรงเป็นพิเศษ จึงต้องทำทุกวิถีทางให้กลุ่มต่างๆ ให้เข้ามาร่วมธงเดียวกัน โดยเทคนิควิธีใหม่ที่นำมาใช้คือการหยิบยื่นให้มีเขตปกครองพิเศษให้ชนชาติ บางกลุ่มเช่น ว้า ปะโอ ปะหล่อง แทนวิธีการเดิมที่ใช้กองทัพเข้ามากดดันปราบปราม”

"ในปี 2555 จะเห็นการเคลื่อนไหวหลายประการ การสู้รบอาจจะเกิดขึ้นประปราย อาจจะมีลดทอนในหลายพื้นที่ แต่จะมีดำรงอยู่หลายพื้นที่ จะเห็นการเคลื่อนไหวของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้นทั้ง KNPP (พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี) KNU (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) SSA-S (กองทัพรัฐฉาน) ในการเดินสายเพื่อการปรองดองทางการเมือง เห็นผู้นำเหล่านี้พูดคุยกับผู้นำระดับสูงของพม่ามากขึ้น แม้กระทั่งการพูดคุยกับออง ซาน ซูจี แม้กระทั่งกับผู้นำมหาอำนาจประเทศต่างๆ ก็จะหันมาพูดคุยกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดี หรือการประชุมเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ก็ดี จะมีเวทีการต่อสู้ ควบคู่กับความร่วมมือในบางจุดที่ล้ำลึกเป็นพิเศษ และอาจมีมหาอำนาจทางการเมืองโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” โดยดุลยภาคมองว่าในช่วงนี้จะเป็นช่วงปรับบรรยากาศพูดคุยระหว่างกองทัพพม่า และชนกลุ่มน้อย พร้อมๆ กับการสะสมอำนาจเพิ่มอำนาจต่อรอง และเจรจาให้ได้ผลประโยชน์แต่ละฝ่าย ซึ่งคงยังไม่จบอย่างง่ายดาย

[สำหรับตอนต่อไปจะเป็นการ วิเคราะห์สถานการณ์ที่กองทัพพม่ายังคงเสริมขยายความเข้มแข็งทางการทหาร การขยายอำนาจของจีนในพื้นที่อ่าวเบงกอล-มหาสมุทรอินเดีย รวมถึงโครงการพัฒนาของพม่า โดยเฉพาะกรณีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย และบทบาทของมหาอำนาจตะวันตกในพม่า]

8 ราชนิกูล ยื่นจม.ถึงนายกฯ แก้ไขม.112 ยิ่งลักษณ์ปัด ยังไม่ทราบเรื่อง

ที่มา ประชาไท

กลุ่มราชนิกูล 8 คน ยื่นจดหมายให้นายกฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แนะรบ. แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมองส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อสถาบัน ด้านยิ่งลักษณ์แจง ยังไม่ได้รับจดหมายดังกล่าว

มติชนออนไลน์ รายงานโดยอ้างถึงข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 55 ว่า ราชนิกูลกลุ่มหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับปรุง แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากมองว่าส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์

โดยราชนิกูลผู้มีชื่อเสียงจำนวน 8 คน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิ วัตน์ หรือ ท่านชิ้น - มติชนออนไลน์), หม่อมราชวงศ์สายสิงห์ ศิริบุตร (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ - มติชนออนไลน์), หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ (ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ - มติชนออนไลน์), นายวรพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (อดีตเอกอัครราชทูต - มติชนออนไลน์), พลเอก หม่อมราชวงศ์กฤษต กฤดากร, หม่อมราชวงศ์ภวรี สุชีวะ (รัชนี), หม่อมราชวงศ์โอภาส กาญจนะวิชัย และนายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ได้ลงนามในจดหมายที่ส่งไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มกราคม ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตรา ดังกล่าว

จดหมายที่ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีมีเนื้อหาระบุว่า จำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญในช่วงเวลา 7 ปี จากจำนวน 0 คดี ในปี พ.ศ.2545 มาเป็น 165 คดี ในปี พ.ศ.2552 ซึ่งข่าวคราวเกี่ยวกับคดีความเหล่านั้นได้ถูกรายงานไปทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

จดหมายของราชนิกูลกลุ่มนี้ยังได้อ้างถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2548 ซึ่ง ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการลงโทษจับกุมคุมขังบุคคลผู้วิพากษ์วิจารณ์ สถาบันนั้น มีแต่จะก่อปัญหาให้แก่พระองค์เอง ("แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทาง หนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์" - พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548)

"นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสดังกล่าว มีรัฐบาลหลายชุดหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่มีรัฐบาลชุดใดเลยที่จะริเริ่มดำเนินการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน" จดหมายที่ส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

"เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ ในปี พ.ศ.2554 รัฐบาลควรใช้โอกาสนั้นทำความเข้าใจในพระราชประสงค์ของในหลวงต่อประเด็นดัง กล่าวด้วย" นายสุเมธ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายกล่าวและว่า ราชนิกูลกลุ่มนี้ได้พบปะกันในช่วงสิ้นปี 2554 เพื่อร่วมครุ่นคิดในประเด็นว่าด้วย "การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในทางที่ผิดซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายเช่นนั้นที่มีต่อประเทศไทย ทั้งภายในไทยเองและภายนอกประเทศ"

"ที่สำคัญสุดเหนือสิ่งอื่นใด พวกเราต้องการให้มีการคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายมาตราดังกล่าว" นายสุเมธ ให้สัมภาษณ์

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ราชนิกูลกลุ่มนี้ออกมาเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ แต่กลับไม่มีการระบุอย่างเด่นชัดว่าเนื้อหาของกฎหมายในส่วนใดที่ควรได้รับ การแก้ไข

"พวกเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งต้องแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิด ขึ้น" นายสุเมธกล่าวและว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดนี้ที่จะทำการปกป้องสถาบัน และในกรณีนี้ ยังถือเป็นการเอาใจใส่ต่อความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สังคมไทยกำลังแตกแยก ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายอย่างสุดขั้ว รัฐบาลจึงควรให้ความสนใจกับคำแนะนำของในหลวงก่อนจะดำเนินมาตรการอื่นใด

ในขณะที่วอยซ์ทีวี รายงานในวันเดียวกันว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการตอบคำถามเรื่องนี้ โดยระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, วอยซ์ทีวี

ร้องรัฐเยียวยาเท่าเสื้อแดง ถกตั้ง 12 ทีมช่วยดับไฟใต้

ที่มา ประชาไท

รัฐมนตรียุติธรรมนำประชุมกรรมการเยียวยา เหยื่อไฟใต้ร้องช่วยเท่าผู้ชุมนุมทางการเมือง พล.ต.อ.ประชา รับไปคุยกับนายกฯ ถกตั้งอนุกรรมการ 12 ชุดช่วยดับไฟใต้

เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. วันที่ 12 มกราคม 2555 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่ สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ประมาณ 100 คน

นางคอดีเยาะ หะหลี หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบิดาเสียชีวิตในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 กล่าวในที่ประชุมว่า ตนคิดจะเลิกต่อสู้ให้มีการช่วยเหลือเยียวยาจากกรณีที่ได้รับผลกระทบแล้ว แต่เมื่อทราบว่ารัฐบาลจะมอบเงินช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดง เสื้อเหลืองที่เสียชีวิตรายละเกือบ 8 ล้านบาท ทำให้ตนต้องลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ว่า คนในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าจะเยียวยาก็ต้องให้เท่าเทียมกัน

พล.ต.อ.ประชา กล่าวตอบเรื่องนี้ รับที่จะนำเรื่องนี้ไปคุยกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน แต่มติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 เห็นชอบให้ช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตรายละ 4.5 ล้านบาท ไม่ทราบว่าทำไมข่าวออกมาว่าเกือบ 8 ล้านบาท

นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงการตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่มีการร่างรายชื่อไว้เป็นกรอบในการพิจารณา รวม 12 ชุด เช่น คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การเยียวยา คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การเยียวยา คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการ คณะอนุกรรมการการสื่อสร้างเพื่อสร้างความเข้าใจ คณะอนุกรรมการฮัจย์ คณะอนุกรรมการระบบการรักษาความเป็นธรรม คณะอนุกรรมการป้องกันผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น

ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายถึงการตั้งคณะอนุกรรมการ ชุดต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการระบบการรักษาความเป็นธรรม โดยนายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ถ้าระบบความยุติธรรมหมายถึงกระบวนการยุติธรรม น่าจะไม่เข้ากับเรื่องกฎหมายอิสลาม

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ยังไม่ต้องการให้แตะไปถึงกระบวนการยุติธรรมปกติ เพราะอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล ส่วนพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องการรักษาความเป็นธรรม ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม

พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ในฐานะกรรมการ กล่าวว่า ถ้าไม่แตะไปถึงกระบวนการยุติธรรมก็น่าจะแก้ปัญหาความยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้นคณะอนุกรรมการจึงน่าจะประมวลปัญหาทั้งหมดแล้วเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ แก้ไข

ส่วนประเด็นการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การเยียวยา พล.ต.อ.ประชา ได้มอบให้ศอ.บต.นำมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองมาใช้ในการพิจารณาในการช่วย เหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ด้วย

ส่วนประเด็นการตั้งคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการ พล.ต.อ.ประชา ได้มอบหมายให้พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.)รับดำเนินการเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ ที่ได้ย้ายออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว

นายอับดุลรอซัก อาลี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐไม่มีการติดตามประเมินผล ทำให้ไม่ทราบว่าผู้ได้รับการช่วยเหลือเยียวสามารถช่วยเหลือตัวเองแล้วหรือ ไม่ เช่น กรณีคนร้ายกราดยิงในมัสยิดไอร์ปาแย จังหวัดนราธิวาส จึงควรติดตามประเมินผลด้วย

นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานด้านยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงชุดเดียว คือ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ หรือ กอส. ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็ไม่มีคณะกรรมการที่ทำงานลักษณะนี้ จึงเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้ทำงานในระยะยาวไม่ใช่ 1 ปี

พล.ต.อ.ประชา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อจะกำหนดแนวทางการทำงานของคณะกรรมการเยียวยาฯ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ช่วยเหลือผู้ที่ ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง โดยในส่วนของพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลเป็นรูปธรรมอย่างถูกต้องต่อไป

พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีหลักการส่วนหนึ่งคือ ต้องให้สอดรับกับหลักศาสนา ซึ่งหลังจาก ศอ.บต.ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด เมื่อหลายวันก่อน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาว่า ควรมีการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกอิสลาม และขอให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการใช้ภาษามลายูในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ศอ.บต.มีนโยบายเร่งด่วนในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เด็กกำพร้า ทั้งในเรื่องทุนการศึกษา การส่งเสริมอาชีพ โดยการเยียวยาในด้านต่างๆ ต้องสอดคล้องกับหลักศาสนา เป็นการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ทั้งด้านเงินและด้านจิตใจอย่างยั่งยืน

สำหรับคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ให้ถ่ายโอนภารกิจการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปเป็นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน ภาคใต้ (ศอ.บต.)

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย - พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธงทอง จันทรางศุ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลนางจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายเจริญ หมะเห ประธานชมรมสรรหาคนดีศรีทักษิณ นายถิรชัย วุฒิธรรม โฆษกกระทรวงยุติธรรม นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์

ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดร.เมตตา กูนิง อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี และศูนย์ประสานงานวิชาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ จังหวัดชายแดนใต้ (ศว.ชต.)

รศ.รัตติยา สาและ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีมลายูศึกษา นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย น.ส.ศุภวรรณ พึ่งรัศมี จาก ศว.ชต.

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายแพทย์ อนันต์ชัย ไทยประทาน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ส่วน เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นกรรมการและเลขานุการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล จากกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอื่นจำนวนไม่เกิน 3 คนที่เลขาธิการ ศอ.บต.แต่งตั้ง

15 มกรา 'ครก.112' ระดมชื่อแก้ไขมาตรา 112

ที่มา ประชาไท

คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมงาน “แก้ไขมาตรา 112” กิจกรรมวิชาการและศิลปวัฒนธรรม ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555 เวลา 13.00 – 17.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กิจกรรมในงานประกอบด้วย การเปิดตัว “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112)” การระดมชื่อประชาชนอย่างน้อยหนึ่งหมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเข้าสู่รัฐสภา การเปิดรายชื่อ 112 รายชื่อแรกที่ร่วมผลักดันให้แก้ไขกฎหมายตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ เวทีวิชาการว่าด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯลฯ

กิจกรรมนี้ถือเป็นการเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 อันมาจากการรวมตัวกันของเครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กลุ่มกรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มกวีราษฎร์ กลุ่มแดงสยามกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มนิติม่อน กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาชน กลุ่มเพื่อนนักโทษการเมืองไทย กลุ่มมหิดลเสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มสันติประชาธรรม กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ กลุ่มอาร์ติเคิล112 คณะนักเขียนแสงสำนึก คณะนิติราษฎร์ แนวร่วมนักเรียนนิสิตนักศึกษาเสรีชนล้านนา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)

ในงานจะเปิดให้ผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันกฎหมายภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของครก.112 โดยเปิดให้ประชาชนผู้สนใจเตรียมเอกสารอันได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน มาเข้าร่วมเพื่อแนบเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในงานนี้ด้วย



ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่: เว็บไซต์คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 http://www.ccaa112.org





เวทีวิชาการ - ศิลปวัฒนธรรม

“แก้ไขมาตรา 112”

จัดโดย คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112)

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555 เวลา 13.00 – 17.30 น.
ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์



กำหนดการ

13.00 – 13.15 น. เปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 หรือ ครก.112
อ่านแถลงการณ์โดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ตัวแทนครก.112 และนักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล


13.15 - 13.30 น. ปาฐกถา “ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112” (บันทึกเทป) โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

13.30 – 13.50 น. นำเสนอวิดีทัศน์ “เส้นทางกฎหมายหมิ่น”

13.50 – 14.10 น. กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมช่วงที่หนึ่ง
วิดีโอ “เงียบจนแสบแก้วหู” โดย กลุ่มศิลปินนิติม่อน
ละครเวที หายนะ (Catastrophe) โดย ซามูเอล เบคเกตต์ (Samuel Beckett) โดยกลุ่มละครอิสระ

14.10 – 15.10 น. กิจกรรมวิชาการช่วงที่หนึ่ง
ข้อเสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ และกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดย คณะนิติราษฎร์

15.10 – 15.50 น. กิจกรรมศิลปวัฒนธรรมช่วงที่สอง
อ่านบทกวีและแถลงการณ์ โดยกลุ่มกวีราษฎร์

15.50 -17.00 น. กิจกรรมวิชาการช่วงที่สอง

ตอบคำถามคาใจ: ทำไมต้องแก้ 112 โดย
ผศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ กลุ่มสันติประชาธรรม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กลุ่มสันติประชาธรรม และอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วาด รวี คณะนักเขียนแสงสำนึก
อ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติราษฎร์
ดำเนินรายการโดย ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ กลุ่มสันติประชาธรรม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

17.00 – 17.30 น. ผู้เข้าร่วมร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ นำเอกสารเข้าชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา112 หย่อนลงในกล่องรับรายชื่อ

*** ดำเนินรายการตลอดงาน โดย อ.วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ล้านคำบรรยาย การ์ตูนเซีย 13/01/55 ม็อบภายนอก...ม็อบภายใน....

ที่มา blablabla

โดย

ภาพถ่ายของฉัน



กี่เรื่องราว สารพัด ซัดกระหน่ำ
เหมือนตอกย้ำ บ้านเมืองนี้ มีปัญหา
ม็อบภายนอก ภายใน จัดให้มา
ต่างมุ่งหน้า หาประโยชน์ ลิงโลดใจ....



ม็อบจัดตั้ง ปิดถนน ตะโกนด่า
เกณฑ์กันมา กดดัน จนหวั่นไหว
จบเรื่องนี้ ต่อเรื่องนั้น ว่ากันไป

วิถีไทย คือประท้วง หวังช่วงชิง....

ยังมีอีก ม็อบภายใน ใช่ใครอื่น
ต่างแย่งยื่น โน่นนี่ ดั่งผีสิง
ขุดหาเรื่อง ย้อนยอก หลอกเหมือนลิง
อนาถจริง พวกมนุษย์ สุดบรรยาย....


ผลประโยชน์ ทั้งนั้น มันแอบแฝง
คิดยื้อแย่ง โลดลิ่ว หิวกระหาย
เห็นมึงได้ กูเก็บกด กลัวอดตาย
หน้าไม่อาย แย่งเหมือนหมา บ้าสิ้นดี....



ม็อบภายนอก ภายใน เห็นได้หมด
ใส้กี่ขด ลิ้นกี่แฉก แลกศักดิ์ศรี
คือกลเกม เลวทราม ตามราวี
เพราะคนชั่ว คนอัปรีย์ มีเต็มเมือง....



๓ บลา ๑๓ ม.ค.๕๕

ฆ่าแกนนำแดงภูเก็ตตร.ชิงปิดคดีขัดผลปย.-ชู้สาว-การพนัน เป่าทิ้งปมการเมืองแก๊งเหลืองรุมยำ-ทุบรถ

ที่มา Thai E-News

ภาพบน-รอยกระสุนที่มือปืนยิงปลิดชีวิตนายวิสุทธิ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในภูเก็ต และแกนนำเสื้อแดงภูเก็ต ภาพล่าง-วิสุทธิ์ ถ่ายภาพกับเสธ.แดงขณะนำคนเสื้อแดงภูเก็ตร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯเมื่อปี2553 ทั้งนี้เขาเคยถูกอันธพาลพันธมิตรกลุ้มรุมทำร้ายและทุบรถมาหนหนึ่งขณะที่ไป จัดกิจกรรมเสื้อแดงในภูเก็ต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดงเสื้อเหลือง และวิพากษ์วิจารณ์ข้าราชการระดับสูงในจังหวัด รวมทั้งตำรวจพัวพันบ่อนพนัน

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
13 มกราคม 2555

ตำรวจภูเก็ตพุ่งประเด็นการสังหารเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และแกนนำเสื้อแดงภูเก็ตไปที่การนำเสนอข่าวปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทำให้ขัดผล ประโยชน์ผู้มีอิทธิพล นอกจากนั้นเป็นประเด็นชู้สาว และการพนัน เป็นประเด็นรองลงมา แต่๋็เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีการตั้งประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองแต่อย่างใด แม้ผู้ตายเ้ป็นแกนนำเสื้อแดง และเคยถูกอันธพาลการเมืองเสื้อเหลืองในภูเก็ตคุกคามทำร้าย รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ข้าราชการในจังหวัด

ได้เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายวิสุทธิ์ ตั้งวิทยาภรณ์ อายุ 44 ปี เจ้าของ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อินไซด์ภูเก็ต และ แกนนำนปช.ภูเก็ต เสียชีวิต เมื่อเวลา 09.15 น.วานนี้ โดยคนร้าย 2 คนขับรถจักรยานยนต์ฮอนด้าคลิก ปาดหน้ารถยนต์เก๋งฮอนด้า แจ๊ซ สีดำ ป้ายทะเบียน กฉ-2863 ภูเก็ต ใช้อาวุธปืนขนาด 9 มม.ยิงเข้าใส่ด้านหน้ากระจกรถของนายวิสุทธิ์ 4 นัดกระสุนปืนทะลุกระจกรถด้านหน้าคนขับถูกบริเวณหน้าอก 2 นัด และไหล่ 1 นัด ได้รับบาดเจ็บสาหัส นำตัวส่งโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แต่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในเวลาต่อมา

พล.ต.ต.พิสัณห์ จุลดิลก รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 กล่าวว่า เป็นคดีที่สำคัญและเป็นคดีที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในการเสนอ ข่าวเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และจากที่สอบถามคนที่เกี่ยวข้องทราบว่า นายวิสุทธิ์ หรือ“เอ๋ อินไซด์” พยายามปกป้องทรัพยากรของชาติ แต่ถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลผลประโยชน์มาคุกคามถึงชีวิต

จากการสอบถามภรรยาและเพื่อนของผู้ตาย ทราบว่าผู้ตายพยายามนำเสนอข่าวสารในการปกป้องทรัพยากรของชาติ แต่กลับถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพล และผลประโยชน์มาคุกคามถึงชีวิต ซึ่งจะมีการสรุปสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง

ขณะนี้ประเด็นหลักๆ ที่คาดว่า น่าจะเป็นสาเหตุของการลอบสังหารนั้นได้ตั้งไว้หลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องของ การออกเอกสารสิทธิที่ดิน ที่หาดฟรีดอม และนาคาเล ซึ่งจากการขุดคุยดังกล่าวอาจจะไปกระทบผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลและผล ประโยชน์ ส่วนเรื่องประเด็นชู้สาว และการพนันนั้นขณะนี้เป็นประเด็นรองลงมา แต่ยังไม่ตัดประเด็ดใดออกไป โดยวันที่ 13 จะมีการสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง
เว็บไซต์phuketpostnews รายงานว่า นายวิสุทธิ์ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น อินไซด์ภูเก็ต ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ขุดคุ้ยเรื่องต่างๆ ที่ไม่ชอบมาพากลในจังหวัดภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นการออกเอกสารที่ดินไม่ถูกต้องจำนวนหลายแปลง นอกจากนี้ยังเป็นแกนนำเสื้อแดง (นปช.ภูเก็ต) เคยลงสมัครรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดภูเก็ต เขต 1 อ.เมือง ภูเก็ต แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าจะลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลรัษ ฎา ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้

สาวกพันธมิตรใจบอดยินดีปรีดากับการตาย เผยเคยโดนอันธพาลพธม.ล้อมกรอบทุบรถ ตีหัวแดงภูเก็ตเลือดอาบ

ข่าวการเสียชีวิตของนายวิสุทธิ์ มีสาวกของพันธมิตรเข้าไปแสดงความเห็นท้ายข่าวของASTVผู้จัดการในทำนองสาแก่ ใจที่แกนนำเสื้อแดงภูเก็ตเสียชีวิตอย่างล้นหลาม โดยที่เว็บไซต์ผู้จัดการปล่อยฟรีไม่มีกา่ีรกลั่นกรองแต่อย่างใด (ดูความเห็นในท้ายข่าวผู้จัดการ:มือปืนควบ จยย.สังหารโหด “เอ๋ อินไซด์” เจ้าของ นสพ.ท้องถิ่น-แกนนำ นปช.ภูเก็ตดับ)


แต่ก็มีคนเสื้อแดงและฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปแสดงความไว้อาลัยทางเฟซบุ๊คของเอ๋ อินไซด์ จำนวนมากเช่นกัน

นายวิสุทธิ์ นอกจากเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแล้วยังเป็นแกนนำเสื้อแดงภูเก็ตที่มี บทบาทอย่างแข็งขันต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมเสื้อแดงในภูเก็ต และเข้าร่วมกิจกรรมและการชุมนุมของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ เคยถูกกลุ่มอันธพาลการเมืองพันธมิตรทำร้ายคุกคามมาก่อนหน้านี้ โดยสำนักข่าวเนชั่นเคย รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกา่ยน 2551 กลุ่มพันธมิตภูเก็ต 200 คน พร้อมมือตบ ได้เดินทางไปรวมตัวกันบริเวณทางเข้าโรงแรม เพื่อกดดันไม่ให้กลุ่มพิทักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดภูเก็ต หรือเสื้อแดงภูเก็ต รวมตัวกันจัดประชุมสัมมนา

ทั้งนี้เนื่องจากทางกลุ่มได้ทราบว่าในช่วงเวลา 19.00 น.ทางกลุ่มพิทักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดภูเก็ต จะมีการจัดประชุมสัมมนาสมาชิกประมาณ 100 คน ภายในโรงแรมดังกล่าว และจะมีแกนนำของกลุ่ม นปช.จากส่วนกลางมาร่วมประชุมด้วย

จนกระทั่งเวลา 18.30 น.ของวันเดียวกัน ได้มีรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแจ๊ส สีบรอนด์เงิน หมายเลขทะเบียน กฉ.440 ภูเก็ต ซึ่งเป็นของ นายวิสุทธิ์ ตั้งวิทยาภรณ์ เลขากลุ่มพิทักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดภูเก็ต ขับเข้ามายังทางเข้าโรงแรม เมื่อทางกลุ่มพันธมิตรฯ เห็นเข้า ก็ได้เข้าล้อมรถไว้พร้อมกับตะโกนไล่ และก็มีบุคคลบางส่วนได้เข้าไปทุบรถยนต์จนทำให้กระจกด้านหลังทางขวา แตกเป็นรู

นอกจากนี้บริเวณที่กระจกด้านคนขับ ยังมีรอยร้องเท้าติดอยู่ที่กระจก เมื่อนายวิสุทธิ์ เห็นเช่นนั้นได้พยายามที่จะขับรถออกจากบริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นได้ทางสมาชิกกลุ่มพิทักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดภูเก็ต ก็ได้ทยอยกันเดินทางเข้ามายังบริเวณโรงแรม แต่เมื่อเห็นกลุ่มพันธ์มิตรมารวมตัวกันดังกล่าว ต่างก็แยกย้ายกันกลับออกไป

จนกระทั่งมีผู้ชายสวมเสื้อสีแดงขับเข้ามา 2 คน ทราบชื่อ นายวิทวัช แซ่นาย อายุ 21 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68/54 ถ.แม่หลวน อ.เมือง ภูเก็ต เป็นคนขับ และ นายวิทยา แซ่นาย อายุ 52 ปี ซึ่งเป็นบิดาของนายวิทวัช ทางกลุ่มพันธมิตรฯบางส่วนได้วิ่งตามเข้าไปใช้ไม้ตีเข้าที่ศีรษะของนายวิทยา ได้รับบาดเจ็บต้องนำตัวส่งเข้าทำการรักษาพยาบาลที่รพ.วชิระ ภูเก็ต ทางแพทย์ทั้งทำการเย็บบาดแผลจำนวน 4 เข็ม

อย่างไรก็ตามทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้รวมตัวกันอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ทางผู้จัดการโรงแรมคาทีน่า ก็ได้ออกมาแจ้งว่า ได้มีการยกเลิกการจองห้องประชุมสัมมนาทั้งหมดแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ ที่รออยู่ด้านนอก จึงได้ประกาศให้ผู้ที่มาร่วมชุมนุมแยกย้ายกันกลับบ้าน

ขณะที่ทางกลุ่มพิทักษ์ประชาธิปไตยจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วยนายวิสุทธ์ นายวิทยา และนายวิทวัช ก็ได้เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.สฤษฏ์ บุตรหนองแสง สารวัตรเวร สภ.เมือง ภูเก็ต เพื่อให้ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มารวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าโรงรีมคาทีน่าดังกล่าว ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์ต่อไป

เปิดเฟซบุ๊คก่อนตายวิจารณ์การเมือง-ข้าราชการ

ก่อนการเสียชีวิตไม่กี่วัน เฟซบุ๊คของเอ๋ อินไซด์ได้วิจารณ์ประเด็นการเมืองและข้าราชการในจังหวัดภูเก็ตไว้ 2 เรื่อง

เรื่องแรกเขียนไว้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 เวลา 17.34 น.ว่า

อยากฝากถึง...พี่อารี ไกรนรา...ช่วงนี้มีคนอ้างชื่อพี่ไปหากินอยู่ในภูเก็ต 2-3 คน คอยรับอาสาคนของพรรคแมงสาปมาฟอกสีวิ่งเต้นตำแหน่ง ยังงัยก็สอบถามข้อมูลทางภูเก็ตบ้าง เพราะไอ้พวกที่แอบอ้างมันไม่เคยช่วยเหลืออะไรคนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยใน ภูเก็ต มีแต่คอยหาเศษ หาเลยอยู่เสมอ หากอยากรู้เป็นใครบ้างก็ติดต่อผมได้ และเชื่อว่ากรณีเยี่ยงนี้มีทุกจังหวัด...

อีกเรื่องเขียนไว้ในวันที่ 7 มกราคม เวลา 17.39 น.ว่า

ภูเก็ตได้รองผู้ว่าฯ ใหม่แล้ว เป็นชาย 1 หญิง 1 แต่เสียดายไอ้คนเก่าไม่โดนย้าย ไม่รู้รัฐบาลนี้เป็นอะไร ชอบเลี้ยงหอกข้างแคร่ ชอบดูแลเหี้ยกลายพันธุ์ ชอบฟันพวกตัวเอง ...

เขายังได้วิจารณ์นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ในภูเก็ตว่าเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ขณะที่บางรายพัวพันบ่อนการพนันในเว็บบล็อกชื่อ phuketdaily ว่า


พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความใกล้ชิดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นอย่างมาก และในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็มีส่วนในการช่่วยเหลือจนพรรคประชาธิปัตย์ สามารถกวาดเรียบทั้ง 2 ที่นั่งในพื้นที่ภูเก็ต และหลังการเลือกตั้งเจ้าตัวก็ทราบชะตากรรมเป็นอย่างดี แต่ก็พยายามที่จะมีการวิ่งเต้นต่อสายกับนักการเมืองซีกรัฐบาลหลายช่องทางแต่ ก็ไม่ประสบผล ที่สุดก็ถูกโยกเข้ากรุเป็น ผบก.กองกฎหมาย

ทางด้าน พล.ต.ต.เดชา บุตรน้ำเพชร รอง ผบช.ภ.8 นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ไม่มีชื่ออยู่ในโผแต่อย่างใด แต่ก็ถูกเลื่อยขาเก้าอี้โดยนายตำรวจใหญ่ใน ภ.8 รายหนึ่ง ที่ต้องการยึดขาเก้าอี้ตัวเอง โดยใส่ความกับนักการเมืองซีกรัฐบาลบางคนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบ่อนการพนัน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วบุคคลดังกล่าวนั่นเองที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีลูกน้องชื่อ จ่า"ท" เป็นมือขวาคอยเก็บผลประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตส่งส่วยให้ทุกเดือน ...

เป็นคนมีจิตอาสาเพื่อสังคม

นอกจากเป็นสื่อมวลชนท้องถิ่น และแกนนำเสื้อแดงภูเก็ตแล้ว นายวิสุทธิ์เป็นผู้มีจิตอาสาเพื่อสังคม โดยจัดกิจกรรมเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด เมื่ิอปลายปีเขารวบรวมผ้าห่มไปบริจาคแก่ชาวบ้านที่อ.ชาติตระการ พิษณุโลก จำนวน 1,000 ผืน และก่อนเสียชีวิตก็กำลังเตรียมงานวันเด็กในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม

คำฝากจากวิสุทธิ์ถึงคนเสื้อแดง

มาถึงวันนี้ ผมมองว่า "พรรคเพื่อไทย" ได้เป็นแค่รัฐบาลหรอกครับ หากแต่การบริหารงานยังคงตกอยู่ภายใต้ข้าราชการสายแมงสาปแทบทั้งสิ้น ในทุกกระทรวง ทบวง กรม เป็นเพียงเพราะความมียางอายมากเกินไปเท่านั้นที่ไม่ยอมย้ายไอ้พวกข้าราชการ ทาสแมงสาปออกจากการกุมอำนาจ ... มันจึงเกิดเหตุการณ์ต่างๆ มาคอยมะรุมมะตุ้มอย่างนี้

ฝากพี่น้องคนเสื้อแดงที่รักครับ พวกเราหลายคนยังไม่ได้ออกจากคุกกันเลย แถมคดีก็ไม่มีความคืบหน้า พวกเราจะเอายังไงกันดี สงสารพี่น้องเราที่อยู่ข้างใน ขณะที่หลายคนได้ดิบได้ดีก็อย่าลืมตัว อย่ามัวแต่แย่งเก้าอี้ แย่งตำแหน่ง รับปากอะไรพวกเราเอาไว้จงอย่าลืม ทั้งเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ คืนความเป็นธรรมให้แก่คนเสื้อแดง แก้ ม.112 และนำท่านทักษิณกลับบ้าน ...


ได้มีการนำศพนายวิสุทธิ์ไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 2 วัดขจรรังสรรค์ ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง ภูเก็ต