WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, May 31, 2008

พันธมิตรไม่หวั่นจับ 5 แกนนำ เชื่อมีรุ่นใหม่สานต่อ





















นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าววันนี้ (31 พ.ค.) กรณี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศแตกหักกับผู้ชุมนุม หากยังไม่เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว ว่า ไม่เกรงกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ยืนยันว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีสิทธิชุมนุมได้ตามกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม กลุ่มก็จำเป็นต้องป้องกันสตัวในทางสันติวิธี

ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวต่อว่า หากแกนนำทั้ง 5 คนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกจับกุม ก็พร้อมมอบตัวและจะประกันตัวออกมาต่อสู้ใหม่ ระหว่างนั้นเชื่อจะมีแกนนำรุ่นใหม่ขึ้นมาต่อสู้หรือปฏิบัติหน้าที่แทนอย่างแน่นอน

เวลา 16.00 น. วันเดียวกัน นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อ่านแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 12 เนื้อหาระบุว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีสิทธิในการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตลอดเวลาที่มีการชุมนุมก็ได้ทำอย่างสงบ อหิงสา และไร้อาวุธ การชุมนุมถือว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 การสลายการชุมนุมโดยไร้กฎหมายและสภาวการณ์รองรับ ไม่สามารถทำได้ตามที่ศาลจังหวัดสงขลา เคยพิพากษาไว้

นายพิภพ กล่าวต่อว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐจะสลายการชุมนุม ก็ต้องมีกฎหมายรองรับ ไม่เช่นนั้นจะไม่ยอมให้มีการใช้อำนาจในการสลายการชุมนุม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบครบถ้วนสามารถเข้ามาตรวจตราการชุมนุมได้ แต่จะไม่ยอมให้ผู้ใดทำร้ายผู้ชุมนุม และทำลายหรือเคลื่อนย้ายทรัพย์สินสิ่งของของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หากรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก จะขอให้ผู้ชุมนุมทุกคนอยู่ในความสงบ

แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวด้วยว่า หากมีการสลายการชุมนุมโดยมิชอบ ขอให้ประชาชนร่วมกันต่อสู่กับความไม่ถูกต้องและร่วมกันขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดจนกว่าจะสำเร็จ และหากมีการจับกุมตัวแกนนำ ก็จะมีแกนนำรุ่นใหม่เพื่อสานต่องานต่อไป

งัดพรบ.จราจรจัดการชุมนุม ไม่เคลื่อนย้าย-ใช้กำลังตร.ช่วย

พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองผู้บัญชการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวในรายการ "เรื่องเด่นเย็นนี้" ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 อสมท วันนี้ (31 พ.ค.) กรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุมออกจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรี สั่งการเพื่อไม่ต้องการให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน ไม่มีคำพูดใดที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม

"การปราบปรามใช้กับอาชญากรรม ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นพี่น้องประชาชนชาวไทยที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันไปในการดำเนินการบางเรื่องของรัฐบาล กระทั่งมีการชุมนุมกันตามกฎหมายให้สิทธิไว้ เพียงแต่ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนด้านการจราจร และมีการนำสิ่งของบางอย่างที่ใช้แทนอาวุธเข้าไปในการชุมนุม ถือว่าเกินกว่าขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงพยายามจะใช้วิธีการพูดคุยหารือกัน ว่า ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด" นายกรัฐมนตรี และว่า การดำเนินการจะเน้นการพูดคุยประสานการกับแกนนำในการที่จะให้ย้ายพื้นที่การชุมนุมออกไป จากบริเวณดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศจะไม่ย้ายการชุมนุมอกจากพื้นที่สะพานมัฆวาน ตำรวจจะสลายจะเข้าไปสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเวลาใด รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คาดว่าจะมีคำสั่งเจ้าพนักงานจราจรให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายการชุมนุม เมื่อมีคำสั่งเจ้าพนักงานจราจรแล้ว ยังไม่มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุม เจ้าพนักงานตำรวจอาจเข้าไปช่วยเหลือในการขนย้าย สำหรับบุคคลที่ไม่เข้าใจต่อต้าน ถือเป็นเรื่องแต่ละบุคคล

"บ้านเมืองเคยเผชิญกับสิ่งต่างๆที่มีการใช้ความรุนแรง ต่อต้านความรุนแรง สุดท้ายทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง ระหว่างนี้คงพยายามจะพูดคุยกัน ให้ชุมนุมโดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อน เนื่องจาก ขณะนี้ ประเด็นการชุมนุม ได้รับการสนองตอบ จากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ส่วนประเด็นที่ยังค้างคาใจอยู่ผู้ชุมนุมสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในการใช้รถใช้ถนนในบริเวณนั้น เป็นเรื่องต่อรอง" รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าว

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบนโยบายชัดเจนในการดำเนินการเรื่องนี้ ว่า ให้ดำเนินการด้วยความอดทน อดกลั้น และจะใช้ความละมุนละม่อมที่สุด ส่วนผู้ที่ใช้กำลังต่อต้านถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย จะถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ตำรวจไม่เหมารวมว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมชุมนุม อีกทั้ง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ให้แนวทางให้ผู้ชุมนุมนิ่งสงบ ถือเป็นแนวทางตรงกัน ถึงเวลาแล้วที่สังคมได้หันหน้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้

ต่อข้อถามว่า เตรียมการป้องกันมือที่สามไม่ให้ก่อเหตุอย่างไร รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตำรวจระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ และพยายามควบคุมกลุ่มที่คิดเห็นตรงกันข้ามไม่ให้เคลื่อนไหว พร้อมประสานกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้เคลื่อนย้ายไปในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากอาจทำประสิทธิภาพการควบคุมการชุมนุมลดลงไป

ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทำไมยังรวมตัวจับกลุ่มกันอยู่ เพราะถึงวันนี้ นายจักรภพ เพ็ญแข ก็ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี การเสนอญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ถอนออกไปแล้ว ถือว่าได้ปลดล็อกทุกอย่างเพื่อคลายชนวนเหตุความขัดแย้งไปหมดแล้ว การชุมนุมก็น่าจะยุติ เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไป

จุดเปลี่ยนที่พลิกกันได้


“ผมได้ตัดสินใจถอดตนเองออกจากเกมอำนาจ เพื่อรักษาเรือใหญ่ ผมจึงตัดสินใจลาออกจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้ โดยจะยื่นใบลาออกในวันนี้ เพื่อให้มีผลในสัปดาห์หน้า”

บทสรุปสุดท้ายของนายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ แถลงเปิดหมวกลา

โดยเหตุผลที่เคลียร์กันตรงๆเลยว่า จำเป็นต้อง “สละเบี้ยเพื่อรักษาขุน” เพราะทุกอย่างไหลไปตกหนักอยู่ที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะขบวนการโค่นล้มรัฐบาล มีเสียงร่ำลือการยึดอำนาจรัฐประหาร

จำเป็นต้องรักษาขุนให้รอด และประคองเรือให้ลอยลำต่อไป

“จักรภพ” ปลดล็อกตัวเอง ถอดไปได้ชนวนหนึ่ง


และเท่าที่ประเมินความเคลื่อนไหว โดยความอึดอัดของทหารที่ส่งสัญญาณถึงรัฐบาล เขาขอกันแค่ปมเดียว “จักรภพ” ต้องลาออก

เพื่อเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันตามที่ได้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

นอกนั้นกองทัพไม่ยุ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือม็อบยึดถนนราชดำเนิน ปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง

เมื่อ “จักรภพ” ถอย ตัดปมหมิ่นสถาบันออกไป ก็ผ่อนเงื่อนไข “ทหารฮึ่ม” ไม่มีกลใดจะดึงรถถังออกจากกรมกอง

ยั่วยังไงก็ไม่ขึ้น

และก็เหมือนนัดกันไว้ ล่าสุดสมาชิกวุฒิสภา 7 คน ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี นายบวรศักดิ์ คณาเสน ส.ว.อำนาจเจริญ นายรักษ์พงษ์ ณ อุบล ส.ว.หนองบัวลำภู นายมงคล ศรีคำแหง ส.ว.จันทบุรี และนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร ประกาศถอนรายชื่อจากญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้ลงชื่อก่อนหน้า

ซึ่งผลจากการถอนชื่อของ 7 ส.ว. ทำให้เสียงที่สนับสนุนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เหลือแค่ 124 เสียง ไม่ครบ 1 ใน 5 ทำให้ญัตติตกไป

เกมรื้อรัฐธรรมนูญชะลอชั่วคราว

และเหนืออื่นใด กับภาพข่าวที่ปรากฏบนหน้าหนึ่งหนังสือ พิมพ์แทบทุกฉบับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยกมือไหว้ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ยิ้มยกมือรับไหว้

ทักทายพูดคุยอย่างเป็นกันเองนานเกือบ 5 นาที

เป็นครั้งแรกหลังโดนปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา- ยน 2549 ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2551

เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในงานสวดพระอภิธรรมศพนางบุญเรือน เผ่าจินดา มารดาของ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก

ตัวเอกของท้องเรื่องเจอกันซึ่งๆหน้า

ศาลา 5 วัดโสมนัสวิหาร กลายเป็นที่รวมศูนย์อำนาจชั่วคราว ไล่ตั้งแต่ “ป๋าเปรม”-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี-อดีตนายกฯ ทักษิณ-“บิ๊กป๊อก”

แม้จะเพียงห้วงนาทีสั้นๆ

แต่โดยนัยกินความลึก

อย่างน้อยสังคมเห็นภาพนี้แล้วก็ลดบรรยากาศอึดอัดลงไปเยอะ

และก็เป็นนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่ออกมาเรียกร้องให้อดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ถอดชนวนความรุนแรง

ด้วยการปรับรูปลักษณ์ของรัฐบาล และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคณะรัฐมนตรี เพื่อลดการจุดชนวนทางสังคม โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤติ

หาก พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถถอดชนวนได้ ก็จะเป็นรัฐบุรุษ

จุดเปลี่ยนมันพลิกกันได้.

ทีมข่าวการเมือง รายงาน


ตำรวจเสริมกำลังดูแลความปลอดภัยบ้านพักนายกฯ

กทม. 31 พ.ค. - ตำรวจเสริมกำลังดูแลความปลอดภัยบ้านพักนายกรัฐมนตรี

แม้ว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ที่บ้าน เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่บรรยากาศที่บ้านพักของนายกรัฐมนตรี หมู่บ้านโอฬาร 2 ถนนนวมินทร์ วันนี้มีการเสริมกำลังตำรวจดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดย พ.ต.อ.มันทาร อภัยวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อย ระบุว่า ได้มีการเสริมกำลังตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 8 สน. กว่า 50 นาย รวมทั้งจัดชุดสายสืบนอกเครื่องแบบสำรวจการข่าว หากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวมาชุมนุมที่บ้านพักนายกรัฐมนตรี ทางตำรวจยืนยันสามารถรับมือได้ เพราะได้มีการนำแผงเหล็กมาเตรียมพร้อมหากมีเหตุรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเสริมกำลังครั้งนี้ไม่ได้เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี.

ชมรายละเอียด สำนักข่าวไทย


อัพเดตเมื่อ 2008-05-31 16:02:51


นายกฯ ให้ผู้ชุมนุมหาที่รวมตัวใหม่ที่ไม่ใช่สะพานมัฆวานฯ

เอ็นบีที 31 พ.ค.-นายกรัฐมนตรีออกรายการชี้แจงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ยืนยัน สามารถดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศได้ แนะให้กลุ่มผู้ชุมนุมหาที่รวมตัวกันใหม่หรือยุติการชุมนุม เพราะถ้าไม่ยุติ จะใช้กำลังตำรวจ-ทหารดำเนินการพร้อมรับผิดชอบทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ออกรายการ “นายกฯชี้แจงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง” ว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งและทำงานมาจะครบ 4 เดือนแล้วแต่อาจเกิดปัญหาบ้าง เพราะเป็นช่วงรอยต่อกับการรัฐประหาร และได้ทำงานอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน มั่นใจว่าจะทำงานให้บ้านเมืองได้และเข้าได้กับข้าราชการทุกกระทรวง สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากการที่มีคนไม่พอใจ ไม่อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นการแก้ไขตามกรอบของกฎหมายด้วยการให้ส.ส.และส.ว.ยื่นญัตติแก้ไข จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่กลุ่มพันธมิตรจะใช้เหตุผลเรื่องนี้มาเป็นตัวจุดชนวนการชุมนุม ซึ่งการปิดถนน หากเข้ามาล้อมทำเนียบรัฐบาลได้ ก็จะทำให้เสียภาพพจน์ของประเทศ อีกทั้ง มีการอ้างไปถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ทั้งที่ไม่เป็นความจริง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ได้มีการพูดจาหยาบคายโจมตีตนเอง และตนไม่ใช่คนที่จะยอมได้ทุกอย่าง หากมีการหมิ่นประมาทก็จะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย อีกทั้ง การปิดถนนราชดำเนิน เพื่อชุมนุมคัดค้านตามสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ส่งผลให้เกิดความเดือร้อนกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจราจรติดขัด และการตั้งกลุ่มรักษาความปลอดภัยพร้อมเครื่องป้องตัวนั้น เห็นว่าไม่สมควร เพราะไม่ได้อยู่ในสถานกาณ์รุนแรงหรือรบกับใคร ทั้งนี้ เห็นว่าแกนนำผู้ชุมนุมต้องการให้เหตุการณ์กลับไปเหมือน 19 กันยายน 2549 โดยหวังให้มีใครมายึดอำนาจ แต่ในฐานะที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำงานและมีความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกับผู้นำเหล่าทัพและดูแลฝ่ายความมั่นคง ยืนยันว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมามีแนวคิดจะลดความรุนแรงของสถานการณ์การเมืองด้วยการทำประชามติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต้องฟังความเห็นของประชาชน หากเห็นว่าไม่ควรแก้ไขก็จะยุติทันที พรรคพลังประชาชนพรรคเดียวไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องฟังเสียงของสภาด้วย คนที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่าหลับหูหลับตาเชื่อว่ารัฐธรรมนูญดีอย่างเดียว ทั้งที่สามารถแก้ไขได้ และพรรคพลังประชาชนได้หาเสียงไว้กับประชาชนไว้แล้วว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ที่ผ่านมาทุกส่วนก็เคยกล่าวไว้ว่าสามารถแก้ไขได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“คนเป็นนายกฯ นิ่งเฉยให้ด่าทอ ผมไม่ได้ดีขนาดนั้น คนต้องใช้ถนนราชดำเนินเป็นเส้นทางเดินทางก็ต้องได้รับความเดือดร้อน อยากถามว่าบ้านเมืองที่ชุลมุนวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ แกนนำพันธมิตรทั้ง 5 คนคิดอะไรอยู่ ตกลงจะขับไล่รัฐบาลหรือหาเหตุ อยากถามย้อนกลับไปว่า รัฐบาลเข้าตามตรอกอออกตามประตู มาจากการเลือกตั้ง มีหน้าที่แก้ไขปัญหาบ้านเมือง มีสิทธิที่จะทำให้บ้านเมืองเต็มไปด้วยความสงบเรียบร้อย และผมไม่เครียดเรื่องการชุมนุม การกล่าวอ้างว่าจะผมจะทำให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐนั้น ไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมาทำงานสนองพระเดชพระคุณมาตลอด จึงไม่มีแนวคิดดังกล่าว การพูดที่ไม่มีเหตุผลจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะมีการฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท”นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมกำลังทหาร-ตำรวจไว้พร้อมจะทำให้การชุมนุมออกจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์แล้ว ซึ่งไม่ใช่การข่มขู่หรือท้าทาย แต่ต้องการอยากให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลสามารถจะดูแลประเทศชาติบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ ขอให้สื่อช่วยนำเสนอข้อมูลข่าวสารในแง่ดี ไม่ส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหาย เพราะทุกเรื่องจะถูกขยายไปยังต่างประเทศ ทำให้ภาพพจน์เสียหาย เศรษฐกิจชะงัก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่เป็นตัวสำคัญและสร้างรายได้

“ผมอยากให้ประชาชนสบายใจ คนที่เข้าร่วมชุมนุมก็อยากให้กลับบ้าน เพราะไม่มีเหตุผลที่จะร่วมชุมนุมต่อแล้ว การโจมตีหรือจะชุมนุมต่อ สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช่ที่สะพานมัฆวานฯ ขอให้ไปหาสถานที่ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน จะชุมนุมเป็นปีก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่รื้อ ตำรวจก็จะไปรื้อ ที่พูดอย่างนี้ แสดงให้รู้ว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบทุกอย่างกับทุกสิ่งที่ทหาร –ตำรวจทำ”นายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย


อัพเดตเมื่อ 2008-05-31 11:50:58

อพช. แถลงเรียกร้องยุติความรุนแรง จี้พันธมิตรเลิกยั่วยุ สร้างสถานาการณ์

กป.อพช. ออกแถลงการณ์ เรียกร้องทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง พร้อมทั้งฝากถึงกลุ่มันธมิตรฯ ต้องเลิกยั่วยุ สร้างสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง รวมท้งทหารต้องไม่ฉวยโอกาส

บ่ายวันนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) พร้อมด้วยคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ(ยส.) แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรง

ขณะเดียวกันก็จากถึงกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าควรยึดหลักการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ
ตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ และคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมด้วย รวม

ทั้งยุติการสร้างสถานการณ์ที่ยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงและต้องแสดงให้เห็นว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่สนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

รวมทั้งขอให้ฝ่ายทหารอย่าฉกฉวยสถานการณ์ก่อการรัฐประหาร เพราะ การรัฐประหาร คือ อาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตยและประชาชนทุกฝ่ายจะต่อต้านจนนำไปสู่ความรุนแรงต่อชาติและประชาชนโดยไม่มีเหตุอันควร



สมาพันธ์ปชต. จี้พันธมิตรฯ หยุดเคลื่อนไหวป่วนเมือง

“สมาพันธ์” ออกแถลงการณ์จี้พันธมิตรฯ หยุดการเคลื่อนไหว ยั่วยุประชาชน หวังให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงอีกครั้งในบ้านเมือง ระบุส่อผิด ม.63,68 และ 113 โทษถึงประหาร

บ่ายวันนี้ สมาพันธ์ประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พันธมิตรฯเคารพรัฐธรรมนูญ 2550 และหยุดสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร โดยระบุว่าในเมื่อพันธมิตรฯ ยืนยันมีท่าทีเห็นด้วยกับ รธน. 50 อย่างเต็มเปี่ยมจึงต้องเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะมาตรา 63,68 และ 113

มาตรา63ในรัฐธรรมนูญ2550ได้รับรองเสรีภาพในการชุนนุมไว้ แต่ต้องเป็นการชุนนุม โดยปราศจากอาวุธ การที่พันธมิตรฯไปบังคับเอาไม้เบสบอลจำนวนมากคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ต้องการให้มีสิ่งที่เป็นอาวุธในที่ชุนนุมแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพันธมิตรฯมีเจตนาที่นำมาไว้ใช้เป็นอาวุธ เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง และยิ่งมีการทำร้ายคนเมาสุราในที่ชุนนุมอย่างรุนแรง รวมทั้งการประกาศกร้าวว่าจะทำร้ายผู้ที่มาต่อต้านให้ถึงขั้นเข้าไอซียู (หอบริบารผู้ป่วยอาการสาหัส) ด้วยแล้ว ยิ่งแสดงชัดเจนว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯไม่ได้การรับรองจากรัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย

มาตรา68ในรัฐธรรมนูญ2550ได้ระบุชัดเจนว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ “เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้........มิได้ ดังนั้นการที่พันธมิตรฯประกาศโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับพันธมิตรฯได้กระทำการอันขัดต่อมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนี้แล้ว

และย่อมเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา113ของประมวลกฎหมายอาญาที่กล่าวไว้ว่า “ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ยว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (1)........................(2) ล้มล้างอำนาจ........อำนาจบริหาร หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้.(3)..................................ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนี้ จุดมุ่งหมายที่พันธมิตรฯ ชุมนุมเดินขบวนก็เพื่อ “ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยื่นถอดถอนสส.สว.ที่เข้าชื่อยื่นญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ในขณะนี้ ญัตติของสส.สว.ดังกล่าวได้ตกไปแล้วเพราะจำนวนผู้เข้าชื่อยื่นญัตติมีไม่ถึง 126 เสียง เป้าหมายของพันธมิตรฯจึงบรรลุแล้ว

การยกระดับไปเป็นการ “ขับไล่รัฐบาลโดยข้อกล่าวหาร้ายแรงและเป็นเท็จที่ว่า มีขบวนการสร้างระบอบสาธารณรัฐขึ้นในประเทศไทยล้มล้างสถาบันกษัตริย์เพื่อเปลี่ยนให้เป็นประธานาธิบดี”ที่ไม่มีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอ นั้นมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อสร้างความวุ่นวายยุ่งเหยิงให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติบ้านเมืองอันอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการยึดอำนาจรัฐประหารขึ้น ซ้ำรอยกับเหตุการณ์สองปีที่แล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

จึงเป็นสิ่งที่เปิดเผยให้เห็นธาตุแท้ของพันธมิตรฯที่มุ่งสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ เป็นการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เลวร้ายที่สุดสร้างความพินาศวอดวายให้กับประเทศที่ยับเยินอยู่แล้วให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น

พันธมิตรฯ หยุดการเคลื่อนไหวทุกอย่างได้แล้ว ท่านหมดความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวแล้ว


ตรึงกำลังเข้มบ้านนายกฯ หลังม็อบถ่อยขู่บุก

เพิ่มกำลังตำรวจคุมเข้มบ้าน “สมัคร” หลังม็อบถ่อยขู่นำกำลังบุก แถมใช้วิชามารแจกเบอร์บ้านนายกฯ กลางเวทีชุมนุม ทำเอาโทรศัพท์ดังไม่หยุดหย่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านพักนายสมัคร หมู่บ้านโอฬาร 2 ถนนนวมินทร์ 81 ได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หลังจากที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศจะนำม็อบบุกบ้านนายสมัคร

พ.ต.อ.(พิเศษ)มันทาร อภัยวงศ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เปิดเผยว่า ได้มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก 8 ส.น. พร้อมเหล็กกั้น คือ หัวหมาก , ลาดพร้าว , วังทองหลาง, โชคชัย , บึงกุ่ม , บางชัน , ประเวศ และ อุดมสุข เป็นตำรวจในเครื่องแบบจำนวน 50 นาย และ นอกเครื่องแบบอีก จำนวนหนึ่งโดยถือว่าเป็นการดูแลความเรียบร้อยตามปกติ และยังไม่มีคำสั่งจากหน่วยเหนือให้ดูแลอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งหากม็อบพันธมิตรฯ มากจริงก็จะสามารถดูแลได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตั้งด่านสกัดการเดินทางของม็อบที่จะมาบ้านนายกฯ และนายกฯ ก็ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่เวทีพันธมิตรฯ ประกาศให้เบอร์โทรศัพท์ ที่บ้านนายสมัคร ปรากฎว่า เสียงโทรศัพท์ ดังไม่ขาดสาย โดยคนใกล้ชิดนายสมัคร ได้โทรศัพท์มาสอบถามแม่บ้านถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วย



.บชน.สั่งกำลังพลเตรียมพร้อม – คุมเข้ม จยย.ป่วน

“อัศวิน ขวัญเมือง” สั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจทุก สน. เตรียมตัว พร้อมรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาทันที เพื่อสกัดและป้องกันการรวมตัวก่อความวุ่นวาย

พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุก สน.เตรียมกำลังพลให้พร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ตัวเองอย่างเต็มที่ พร้อมกับเตรียมรับการประสานงานจากผู้บังคับบัญชาตลอดเวลาเพื่อนำกำลังพลเข้าสนับสนุนในจุดต่างๆ ได้ทันที ในกรณีมีคำสั่งรวมพลของผู้บังคับบัญชาระดับสูง

ทั้งนี้ ยังให้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวง และจุดต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพื่อป้องกันการรวมตัวเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ตั้งด่านตรวจยึดรถจักรยานยนต์ต้องสงสัย ที่มุ่งหน้าสะพานมัฆวานรังสรรค์ ด้วย

“ปริญญา” แนะพันธมิตสลายการชุมนุม เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

อ.ปริญญา เทวนฤมิตกุล ระบุประชาธิปไตยไม่มีใครได้เต็มร้อย แนะพันธมิตรฯ ควรสลายการชุมนุม พร้อมจี้ “จำลอง” ทบทวนบทเรียนจาก 17 พฤษภาคม 2535

นายปริญญา เทวานฤมิตกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าประชาธิปไตยไม่มีใครได้ 100 เปอร์เซนต์ ในเมื่อนายจักรภพ เพ็ญแข ก็ลาออกแล้ว ร่างรธน. ก็ตกไปแล้ว พันธมิตรฯ ก็ควรจะถอยบ้าง ไม่ควรจะยึดติด และควรจะสลายการชุมนุม เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

แม้ว่าโทษของพันธมิตรฯ ในขณะนี้จะมีเพียงแค่กีดขวางการจราจร แต่ในทางการเมืองก็ดูไม่เหมาะสม และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็น่าจะได้สรุปบทเรียน 17 พฤษภาคม 2535 มากๆ ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป ไม่รู้ว่า 16 ปีที่ผ่านมา พล.ต.จำลอง จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือไม่ เพราะเกรงว่าจะเกิดความสูญเสียโดยที่ไม่จำเป็น ทั้งๆ ที่ยังมีทางออก



เจ้าหน้าที่ตำรวจ สแตนบายพร้อมสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ วันนี้

ตำรวจกองกำลังควบคุมฝูงชน เตรียมตัวพร้อมลงมือปฏิบัติการสลายม็อบทันทีที่ได้รับคำสั่ง เผยนายกรัฐมนตรี เน้นให้มีการเจรจาด้วยสันติวิธีก่อน

ท่ามกลางกระแสข่าวสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีรายงานว่ากองกำลังควบคมฝูงชนจากฉะเชิงเทรา 150 นายถึง กทม.แล้ว รอเพียงคำสั่งปฏิบัติการสลายการชุมนุมร่วมกับกำลังหนุน ตชด.และตำรวจภูธรภาค 1,2 และ 7 เท่านั้น
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวอ้างว่า นครบาล และกองกำลังตำรวจทั้งจากหน่วย ตชด. 3 กองร้อยได้เดินทางมาถึงตั้งแต่วานนี้ และมีการวางแผนเตรียมความพร้อมเป็นที่เรียบร้อย โดยนายกรัฐมนตรี เน้นให้มีการเจรจาก้อน หากไม่สำเร็จจึงจะใช้วิธีการอื่นต่อไป

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า กองกำลังควบคุมฝูงชนจากฉะเชิงเทรา มี พ.ต.อ.พรพจน์ สมิตตินันทร์ รอง ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา เป็นหัวหน้าชุดในการควบคุมการปฏิบัติ ซึ่งมีกำลังพลเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทุกสถานี ภายใต้สังกัดตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 18 ท้องที่




พปช.ยืนยันปล่อยให้ญัตติแก้ รธน.ตก รอประชามติ

การประชุมพรรคพลังประชาชนขณะนี้เสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ ส.ส.ไปถอนชื่อออกจากญัตติแก้ รธน. เพื่อให้ญัตติตกไป และจะไม่มีการยื่นญัตติซ้ำ โดยจะรอฟังผลการทำประชามติ ว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากให้มีการแก้ไข รธน.หรือไม่

การประชุม ส.ส.พรรคพลังประชาชนในวันนี้ มี น.พ.ประสงค์ บูรณพงศ์ รองหัวหน้าพรรคทำหน้าที่ประธานชั่วคราว โดยมีการหยิบยกญัตติด่วนที่ ส.ส.และ ส.ว.เสนอให้มีการแก้ไข รธน.ฉบับปี 2550 ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งทางพรรคยังไม่แน่ใจว่าญัตติดังกล่าวจะตกไปแล้วหรือไม่ หลัง ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อได้ขอถอนชื่อออกไป อย่างไรก็ตามในที่ประชุมเห็นว่า หากมีการถอนชื่อจนทำให้ญัตติตกไป พรรคก็เตรียมเสนอญัตติซ้ำ แต่จะยังไม่ใช่ในช่วงนี้ โดยจะขอรอดูสถานการณ์ทางการเมืองก่อน เพราะรัฐบาลได้เตรียมที่จะทำประชามติในเรื่องนี้อยู่แล้ว

สำหรับญัตติแก้ รธน.ขณะนี้ยังคงมีรายชื่อผู้เสนอญัตติอยู่ทั้งหมด 124 คน เป็น ส.ว. 2 คน นอกนั้นเป็น ส.ส.พรรคพลังประชาชน 113 คน , เพื่อแผ่นดิน 4 คน , รวมใจไทยชาติพัฒนา 4 คน และมัชฌิมาธิปไตย 1 คน ซึ่งพอดีกับเกณฑ์ 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้ง 2 สภาเท่าที่มีอยู่ คือ 620 คน หาก ส.ส.หรือ ส.ว.แค่เพียงคนเดียวไปขอถอนชื่อก็จะทำให้ญัตติดังกล่าวตกไปทันที

นอกจากการหารือเพื่อกำหนดท่าทีของพรรคพลังประชาชนแล้ว คาดว่าที่ประชุมจะหารือกันถึงการสลับตำแหน่งรัฐมนตรี หลังนายจักรภพ เพ็ญแข ประกาศลาออก ซึ่งมีรายงานว่า ที่ประชุมจะให้นายพงศกร อรรณพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ ไปเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทนตำแหน่งที่ว่างลง แล้วให้ นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ แทน แล้วดึงนายเจริญ จรรโกมล หนึ่งในแกนนำ ส.ส.อิสาน เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ แทนนายธีระ



แกนนำ พปช.หารือ ไม่มีการประเมินสถานการณ์ชุมนุม

กรุงเทพฯ 31 พ.ค.-การหารือของแกนนำพรรคพลังประชาชนไม่มีการประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การหารือและรับประธานอาหารร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชนใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงยุติธรรม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน เปิดเผยว่า การหารือครั้งนี้ไม่ได้ประเมินการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้วิตกกังวล แต่เป็นการพูดถึงปัญาการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา และไม่ได้หารือการปรับคณะรัฐมนตรี โดยส่วนตัวเห็นว่าควรปรับเล็กเฉพาะตำแหน่งเท่านั้น

ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ แต่จะไปชี้แจงเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เช้าวันนี้.-สำนักข่าวไทย


อัพเดตเมื่อ 2008-05-31 01:10:24

ตำรวจเพิ่มกำลังคุมเข้มการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ

สะพานมัฆวานฯ 31 พ.ค.-ตำรวจสั่งเพิ่มกำลังคุมเข้มการชุมนุม ขณะที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศพร้อมเคลื่อนขบวนไปชุมนุมทำเนียบรัฐบาล

หลังแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศยกระดับการชุมนุมจากต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นขับไล่รัฐบาล แกนนำยังคงผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีปราศรัย โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ชี้แจงเหตุผลการชุมนุม พร้อมทั้งประกาศว่า จะชุมนุมยืดเยื้อต่อไป หากมีความพร้อมก็จะเคลื่อนการชุมนุมไปทำเนียบรัฐบาล

ส่วนบรรยากาศโดยรอบ กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นอาสาสมัครพันธมิตรประมาณ 40 คน พยายามเดินอ้อมเข้าไปทำเนียบรัฐบาล และไปลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ถูกกำลังตำรวจสกัดไว้ได้

ขณะที่ตำรวจนครบาลประสานขอกำลังไปยังหน่วยงานข้างเคียง เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยเพิ่มจากกำลังปกติกว่า 450 นาย พร้อมทั้งสั่งตรึงกำลังคุมเข้มรอบทำเนียบรัฐบาลตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าออกอย่างเด็ดขาด

ด้านการชุมนุมของกลุ่มซึ่งอ้างตัวว่า กลุ่มสภาสนามหลวงต่อต้านเผด็จการ มีการปราศรัยโจมตีกลุ่มพันธมิตรและพรรคฝ่ายค้าน พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ระบุว่า กลุ่มพันธมิตรเปลี่ยนวัตถุประสงค์การชุมนุม เพราะต้องการสร้างความวุ่นวายทางการเมือง โดยแกนนำประกาศจุดยืนจะชุมนุมที่สนามหลวงทุกวันเวลา 17.00-24.00 น. ก่อนสลายตัวไปเมื่อ 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย


อัพเดตเมื่อ 2008-05-31 01:08:45

ส.ว.แห่ถอนชื่อ จนส่งผลให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป

รัฐสภา 30 พ.ค. - ส.ว.แห่ถอนชื่อจากการลงชื่อสนับสนุนญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เหลือผู้สนับสนุนญัตติเพียง 123 คน ทำให้มีเสียงไม่ถึง 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาฯ คือ 124 เสียง ส่งผลให้ญัตติตกไป

นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือขอถอนชื่อจากการลงชื่อสนับสนุน ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2250 ที่รัฐสภา และเปิดเผยว่า การขอถอนชื่อครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขทางสังคม ประกอบกับรัฐบาลเตรียมจะทำประชามติในเรื่องนี้แล้ว ดังนั้น ทุกฝ่ายควรสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น จึงถอนชื่อเพื่อให้ญัตติตกไป แม้เรื่องนี้จะขัดกับหลักการของตน ที่ตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะไม่ถอนรายชื่อ แต่เมื่อเห็นว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่เงื่อนไขที่จะทำให้การชุมนุมยืดเยื้อ จึงต้องถอนเพื่อให้หมดเรื่อง

“ความจริงถ้าเอาปัญหานี้เข้ามาพิจารณาในสภาฯ จะเป็นเรื่องดี แทนที่จะไปคุยกันข้างนอก ที่ผมมาวันนี้ก็ยังฝืนความรู้สึกอยู่ แต่ก็ต้องมาเพราะ ส.ว.ที่เหลือพากันถอนชื่อกันเกือบหมดแล้ว ก็ต้องว่าตามกัน ส่วนที่ติดต่อผมไม่ได้ก่อนหน้านี้ เพราะเพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างจังหวัด ไม่ได้คิดหนีอะไร ส่วนตอนนี้เหลือคุณสมพร จูมั่น ส.ว.เพชรบูรณ์ เพียงคนเดียวซี่งยังไม่ได้ถอนชื่อ” นายทวีศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรที่ญัตติดังกล่าวตกไปแล้ว แต่ส.ส.พรรคพลังประชาชนจะยื่นญัตติเข้ามาใหม่อีก นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของพรรคพลังประชาชน ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยืนยันจะมีการชุมนุมยืดเยื้อต่อไปนั้น ก็แล้วแต่ว่า ใครจะเล่นบทอะไร แต่วันนี้ตนเห็นว่าเงื่อนไขจบไปแล้ว เพราะนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศลาออกแล้ว และญัตติเสนอแก้รัฐธรรมนูญก็ตกไป

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ระบุไว้ว่า ต้องใช้เสียง ส.ส.และ ส.ว.ในการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ สองสภาฯ รวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาฯ ซึ่งล่าสุดขณะนี้มี ส.ส.470 คน ส.ว. 150 คน รวม 620 คน เสียง 1 ใน 5 คือ 124 เสียง ดังนั้น การถอนชื่อของนายทวีศักดิ์ ทำให้เหลือผู้สนับสนุนญัตติเพียง 123 คน ส่งผลให้ญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีอันตกไปในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส.และ ส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 150 คน คือ พรรคพลังประชาชน 117 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 5 คน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 4 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 2 คน พรรคประชาราช 1 คน และ ส.ว. 29 คน แต่ก่อนที่จะยื่นญัตติมี ส.ว.ขอถอนชื่อ 8 คน. - สำนักข่าวไทย


อัพเดตเมื่อ 2008-05-30 18:47:03


ศาลฎีกามีมติไม่แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระคดี สุเทพ ร้อง มท.1

กรุงเทพฯ 30 พ.ค. - ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติไม่แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ในคดีที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ร้อง “ร.ต.อ.เฉลิม” สั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ “ศรีสุบรรณฟาร์ม” เหตุยังไม่มีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และวิธีการไต่สวน เห็นควรให้ส่ง ป.ป.ช. ดำเนินการ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 พฤษภาคม ที่ศาลฎีกา สนามหลวง นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา เพื่อพิจารณาคำร้องขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ในคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2551 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยบริษัทศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ผู้ร้อง กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกร้อง เรื่อง เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฎิบัติ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีสั่งการให้ นายบุญเชิด คิดเห็น รักษาการอธิบดีกรมที่ดิน ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดิน บริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัดและสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินของบริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำนวน 1,338 ไร่ 59 แปลง บริเวณ ต.น้ำหัก อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี

โดยผลการลงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนตามรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 250 (2) แทนการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 276 วรรค 2 กำหนดว่า คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ วิธีการไต่สวน และการดำเนินการอื่นที่จะเป็นของผู้ไต่สวนอิสระ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ จึงเห็นสมควรส่งคำร้องขอดังกล่าวให้ ป.ป.ช. ดำเนินการแทน. – สำนักข่าวไทย


อัพเดตเมื่อ 2008-05-30 18:33:18

ร้อย ร.1542 กับภารกิจนำสันติสุขกลับคืนสู่ ต.ปะแต

หากเอ่ยถึง ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรง มีการซุ่มยิง วางระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเหตุการณ์สะเทือนขวัญประชาชนมากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่คือ เหตุการณ์คนร้ายก่อเหตุยิงรถตู้สายเบตง ฆ่าผู้โดยสารชาวไทยพุทธที่บริสุทธิ์จำนวน 8 ราย เกิดขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2550 ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะเข้ามาแก้ไข โดยใช้งานด้านยุทธการและยุทธศาสตร์ ตามแนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อให้เหตุการณ์ดังกล่าวบรรเทาลง และคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

ร.อ.พรรษา พุทธผล ผบ.ร้อย ร.1542 รับผิดชอบพื้นที่ 9 หมู่บ้าน ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า ทางร้อย ร.1542 ภายใต้คำสั่งของ พ.ท.วรเดช เดชรักษา ผบ.ฉก.ยะลา 14 ได้ทำการเข้าสู่หมู่บ้านโดยพยายามใช้งานมวลชนเป็นหลัก แต่ได้ถูกตอบโต้จากกลุ่มก่อความไม่สงบ จำเป็นต้องกดดันด้วยงานด้านยุทธการ จนทางเจ้าหน้าที่ได้ปะทะกับทางหัวหน้ากลุ่มแกนนำคือ นายมุสลิม มะสัน เสียชีวิตภายหลังการปะทะ และได้จับกุม นายยูนุ มะแอ

ซึ่งเป็นแกนนำระดับปฏิบัติการ จากการปะทะกับเจ้าหน้าที่อีกหลายครั้ง ที่ทำให้แกนนำแนวร่วมตัวสำคัญเสียชีวิตลง หมู่บ้านที่จัดตั้งเป็นหมู่บ้านก่อความไม่สงบ เมื่อขาดแกนนำหลักที่ค่อยควบคุมและชี้นำชาวบ้าน ทำให้ภายในหมู่บ้านเริ่มมีความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และก็ต้องให้โอกาสผู้หลงผิดกลับมาร่วมพัฒนาบ้านเมือง พัฒนาหมู่บ้าน ให้กลับสู่สันติสุขเป็นปกติ

“ทุกวันนี้เราได้แนวร่วมยอมกลับตัวกลับใจมาช่วยเหลือ ให้เบาะแสและการเคลื่อนไหวและที่ซ่องสุม จึงออกลาดตระเวนป้องปรามป้องกันให้ชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อรู้เส้นทางหลบหนีและที่อยู่อาศัย ก็สามารถปิดล้อมตรวจค้น จับกุม ทำลายกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้ เมื่อเขาเปลี่ยนใจวางอาวุธเข้ามาร่วมมือก็สามารถให้โอกาสเขาได้ จะไม่มีความรุนแรง ดำเนินตามกฎหมาย หากไม่ยอมวางอาวุธก็ต้องใช้ความรุนแรงเพื่อให้เกิดสันติสุขกับพื้นที่”

ผบ.ร้อย ร.1542 กล่าวอีกว่า ทางหน่วยได้เข้าไปพุดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา โดยประสานทุกฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ในการร่วมกันสร้างความสงบสุขในพื้นที่ ให้โอกาสชาวบ้านที่เคยเป็นแนวร่วม ที่เคยส่งเสบียง เก็บอาวุธ กระสุน เวชภัณฑ์ ที่คอยให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้กลับมาพัฒนาหมู่บ้าน มอบของเหล่านี้ให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้ตอนนี้กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ จะอาศัยพื้นที่ป่าเขาหลบซ่อนอยู่ หรือจะเข้าไปในหมู่บ้านอื่นที่ยังให้การสนับสนุนต่อไป ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะพยายามใช้งานมวลชนประกอบกับยุทธวิธี ทั้งยุทธการและยุทธศาสตร์ ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เกิดสันติสุขในหมู่บ้านอื่นๆ ติดตามมาต่อไป


เมื่อรถหยุดวิ่ง

เชื่อว่าเช้านี้คน กทม. คงต้องประสบกับภาวะ “รถเมล์ขาด (ตลาด)” กันไปถ้วนหน้า อันเนื่องมาจากการประท้วงหยุดวิ่งของบรรดารถร่วมฯ ซึ่งรวมๆ ก็กว่า 10,000 คัน

เห็นใจผู้โดยสารก็เห็นใจ ไหนจะต้องรอนาน ไหนจะต้องเบียดเสียดกันขึ้นไปอัดแน่นยิ่งกว่าปลากระป๋อง

แต่มองจากมุมของผู้ประกอบการรถร่วมฯ ก็น่าเห็นใจเขาเหมือนกัน เพราะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเช่นนี้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก ใครก็ฉุดไม่ได้รั้งไม่อยู่

ในฐานะ “เอกชน” ที่ประกอบธุรกิจ เมื่อต้นทุนในการทำกิจการสูงเกินกว่าจะแบกรับภาระต่อไปได้ แล้วกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ขึ้นราคาค่าสินค้าหรือบริการอีกเช่นนี้ ก็เห็นทีจะต้องปิดหรือหยุดพักกิจการกันแต่เพียงเท่านั้น

ไม่เหมือนกิจการที่ดำเนินการหรือมีหุ้นส่วนใหญ่เป็นรัฐบาล จึงจะต้องมีหน้าที่ “ช่วยเหลือ" ประชาชน มากกว่าคำนึงเรื่องกำไร-ขาดทุน

หรือทางออกที่สาม คือ จะให้ศาลปกครองประกาศคุ้มครองการขึ้นราคาน้ำมัน แทนการคุ้มครองราคาสินค้า เช่นนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า (เพราะราคาน้ำมันในบ้านเราต้องผูกติดกับราคาน้ำมันดิบโลก) ถ้าทำได้ แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันได้เพียงอย่างเดียว ก็สบายไปร้อยแปดอย่าง

แต่ถ้าทำไม่ได้ดังว่ามา ก็คงต้องทำใจยอมรับแล้วว่า เราก็ต้องขึ้นรถเมล์กันแพงขึ้นอยู่ดี

เกิดเหตุการณ์รถร่วมฯ หยุดวิ่งเช่นนี้ เราจึงได้เห็นภาพชัดๆ ว่า กิจการขนส่งมวลชนโดยรัฐนั้น มีน้อยเกินกว่าความต้องการไปมาก และส่วนมากก็ต้องพึ่งพาเอกชนเป็นหลัก

ทั้งที่ประชาชนส่วนมากของประเทศนี้ ยังต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัว แต่จนป่านนี้ระบบขนส่งมวลชนบ้านเราก็ยังไม่เคยสะดวกสบาย ทั้งในด้านปริมาณ (เพียงพอต่อความต้องการ) และด้านคุณภาพ

บ่นไปก็เท่านั้น เพราะถามว่าแล้วจะให้รัฐทำอย่างไร ก็ไม่รู้ จะให้คุ้มครองราคาค่าตั๋วต่อไปหรือไม่ ก็ไม่น่าจะได้ เพราะคงไม่มีเอกชนรายไหนยอมวิ่งรถ-เรือให้ขาดทุน

คงตอบได้อย่างเดียวในฐานะคนเดินดิน คือ จะทำอย่างไรก็ให้ทำกันไปทางหนึ่งเถิด เพราะสุดท้ายคนที่เดือดร้อนที่สุด ก็คือชาวบ้านตาดำๆ นี่เอง

ปฏิญา ยอดเมฆ


พันธมิตร จะเผด็จศึกใคร

แม้การชุมนุมครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วยการประกาศว่า เพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่คนที่ติดตามและรู้จัก “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” มาเป็นอย่างดี ย่อมไม่มีใครเชื่อว่าแก๊งนี้จะมีเหตุผลแท้จริงเพียงเท่านั้น

เพียงแต่จะรอดูว่า แล้วแกนนำของพันธมิตรฯ จะหาทางออกอย่างไร จะชักนำมวลชนไปด้วยเหตุผลอะไร

แล้วก็เป็นไปตามคาด เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แกนนำอย่าง นายสุริยะใส กตะศิลา แพลมออกมาว่า อาจมีการหารือว่าจะเปลี่ยนจุดยืนจากเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการขับไล่รัฐบาล

อาจถึงการขับไล่คณะรัฐมนตรีให้ลาออกกันไปทั้งคณะ

แม้ปากจะบอกว่า “จะมีการหารือ” แต่ถ้าไม่ได้กินหญ้าเป็นอาหาร ก็ย่อมดูออกว่า นี่คืออีกหนึ่งเป้าหมายที่แกนนำพันธมิตรฯ วางเอาไว้แล้ว ตั้งแต่ก่อนจะประกาศการชุมนุมที่มีเรื่องรัฐธรรมนูญมาบังหน้าด้วยซ้ำ

เพราะถ้ามักน้อยกันแค่นั้น ไหนเลยต้องทำฮึกเหิมขนาดประกาศ ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง

และยิ่งไม่มีความจำเป็นที่คนอย่าง “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” จะต้องประกาศให้มวลชนชักจูงคนมาร่วมให้มากๆ เพื่อทำการ “เผด็จศึก”

จะเผด็จศึกใคร จะเผด็จกันอย่างไร จะเหมือนที่ พล.ต.จำลอง เคยมีส่วนในการชักจูงผู้คนมา “เผด็จศึก” อย่างนั้นหรือไม่

ยังไม่มีใครกล้าคิด

แต่ที่แน่ๆ มีการ “แยกมิตร แยกศัตรู” กันไปแล้วเรียบร้อย

นั่นคือความพยายาม “ตำหนิ” การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าหละหลวม เข้าข้างเลือกฝักเลือกฝ่าย ไม่เต็มใจรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ

ราวกับต้องการให้ตำรวจตีหัวม็อบฝ่ายตรงข้ามให้หัวร้างข้างแตก จึงจะพอใจ

ที่สำคัญ แกนนำม็อบถึงกับประกาศให้ผู้ชุมนุมสามารถ “จัดการ” กับฝ่ายตรงข้าม ด้วย “วิธีการใดก็ได้” เพราะถือเสียแล้วว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจเป็นที่พึ่งพา

ประกาศความเป็นนักเลงที่ไม่เคารพขื่อแปบ้านเมืองกันมาโต้งๆ อย่างไม่เกรงกลัว

ถ้าไม่มี “ผู้หนุนหลัง” อย่างใหญ่เบิ้ม ก็คงไม่เหิมเกริมขนาดนี้

ที่น่าสงสัยมากกว่าคือ คนนั้นคือใคร

แล้วได้ประโยชน์อะไรจากการทำร้ายให้บ้านเมืองเสียหาย ทรุดหนักทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจอย่างนี้

อีกฝ่ายที่ก็ยังต้องจับตาดูให้ดี ไม่พ้นกองทัพ

เพราะมีสรรพสำเนียงถึงความแตกกันเล็กๆ ออกมาให้ได้ยินพอกระเส็นกระสาย

ที่ขัดแย้งกันไม่มีอะไรมากไปกว่า อีกฝ่ายยังเชื่อมั่นในการรัฐประหาร ขณะที่อีกฝ่ายเข็ดหลาบและไม่ต้องการให้กองทัพโดนด่าไปมากกว่านี้

จะมีบ้างที่ยังรอดูท่าทีของ “มวลชน” พลเรือนทั้งสองฝั่ง

ถ้ามีท่าทีแตกร้าวหนัก หรือใครที่ได้รับใบสั่งให้สร้างสถานการณ์แล้วทำได้อย่างสุดฝีมือ

เมื่อนั้น ก็ได้เวลาที่กองทัพจะกลืนน้ำลายตัวเอง

ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่ “รัฐบาล” กำลังเคร่งเครียดจับตา

และพันธมิตรฯ ก็รอเวลาที่จะได้ร้องเฮ!

นปช.จุดพลุเปิดเวทีคู่ขนาน รวมพลต้าน “พันธมาร”

แกนนำ นปช. ทยอยขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยหลังประกาศเดินหน้าชุมนุมใหญ่ 5 โมงเย็นวันนี้ ย้ำเจตนารมณ์ต้านการปฏิวัติรัฐประหาร หลังมี กระบวนการ ปลุกปั่นกระแสปฏิวัติ ด้าน อ.จรัล จี้รัฐบาล - พลังประชาชนอย่านิ่งเฉย ต้องสกัดทุกวิถีทาง ขณะที่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยออกมาแสดงพลังกันอย่างคึกคัก

ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งจากท่าทีในการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นัดดีเดย์ในวันนี้ (30 พ.ค.) ขณะเดียวกันท่าทีของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนการส่งสัญญาณของทหารบางนาย ทำให้หลายฝ่ายเกิดความหวั่นไหวว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นในบ้านเมืองอีกครั้ง หลังจากที่ผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเพิ่งจะอยู่ในระยะฟื้นตัว

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวบนเวที นปช. สนามหลวงวันนี้ (30 พ.ค.) ว่า สถานการณ์ต่อไปนี้ไม่รู้ว่าจะมีไรเกิดขึ้น การชุมนุมเพื่อแก้ไขต้องมีจุดมุ่งหมายเพิ่มขึ้น คือต่อต้านรัฐประหารเพราะขณะนี้มีข่าวลือการรัฐประหารทุกสัปดาห์ การชุมนุมสนามหลวงเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร หากทหารกลุ่มที่จะฉวยโอกาสจากรัฐประหาร ก็จะถูกพวกเราต่อต้าน เพราะมันจะเป็นการล้มระบอบประชาธิปไตย

“หากมีรัฐประหารครั้งนี้ต้องแตกต่างกับ 19 กันยายน จึงขอประประชาชนพี่น้องเตรียมตัว และความคิด อย่างจริงจัง เพราะครั้งนี้ไม่อาจทราบได้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ตอนนี้เราได้รัฐบาล แต่เรายังไม่ได้อำนาจอย่างแท้จริง ดังนั้นแล้ว รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปกป้องการรัฐประหาร เป็นปราการด่านแรก จึงขอเรียกร้องให้ทำหน้าที่นี้ เพราะไม่มีรัฐบาลชาติใดอยากให้เกิดการรัฐประหาร พรรคพลังประชาชนและรัฐบาลต้องตื่นตัว” อ.จรัล กล่าว

อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังถือเป็นภาระของพวกเรา หากพวกเราช่วยกันหนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็จะเป็นการป้งอกันการรัฐประหารไปในตัว



“สมัคร” พร้อมปรับ ครม.หลังการลาออก “จักรภพ” มีผลแล้ว

ลือสะพัด! โยก “พงศกร อรรณนพพร” เสียบแทน ดัน “เจริญ จรรย์โกมล” จ่อนั่ง รมช.เกษตรฯ แทน “ธีระชัย แสนแก้ว” ที่คาดไปนั่ง รมช.ศึกษาฯ ด้าน “จักรภพ” เปิดทางนายกฯ ตัดสินใจ รมต.คนใหม่ ระบุไม่ใช่โควต้า นปก.

วันนี้ (30 พ.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวก่อนให้การต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศฝรั่งเศส และนำตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ โดยระบุว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังจากที่ นายจักรภพ เพ็ญแข ลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น จะตัดสินใจเมื่อการลาออกของนายจักรภพมีผลแล้ว ขณะที่ปฏิเสธไม่เคยได้ยินการสลับตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี และปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่า พิจารณาใครเป็นพิเศษแล้วหรือยัง

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่าจะไปร่วมรับประทานอาหารมื้อค่ำหารือ ร่วมกับรัฐมนตรีในสังกัดพรรคพลังประชาชนในวันนี้อย่างแน่นอน โดยเป็นการประชุมเดือนละครั้งอยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้ นายจักรภพ แถลงลาออกจากตำแหน่งหลังคณะกรรมการสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สรุปว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิด โดยการลาออกดังกล่าวนั้นจะมีผลในสัปดาห์หน้า พร้อมระบุถึงบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนนั้น ขอให้เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีที่จะพิจารณา และยืนยันว่า ตำแหน่งนี้ไม่ใช่โควต้าของทางกลุ่ม นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ)

และยังได้ฝากให้รัฐมนตรีคนใหม่ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ให้มีการพัฒนาเรื่องการแข่งขันกับสถานีอื่นๆ และการบริหารงานที่ควรจะบริหารงานให้กว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะในกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น

ในวันเดียวกันที่พรรคพลังประชาชน ภายหลังที่นายจักรภพประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วจะมีการปรับ ครม. 3 ตำแหน่ง โดยอาจย้าย นายพงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทนนายจักรภพ ย้ายธีระชัย แสนแก้ว มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และให้นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ กลุ่มอีสานพัฒนา พรรคพลังประชาชน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทันทีที่ นายเจริญเดินทางถึงพรรคพลังประชาชน พร้อมกับ ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนา เพื่อเข้าร่วมประชุมพรรค นายเจริญ ปฎิเสธไม่ทราบกระแสข่าวดังกล่าว “ไม่รู้เรื่อง ต้องไปถามผู้ใหญ่” จากนั้นได้เดินเข้าลิฟท์ไปทันที ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวพยายามร้องขอให้นายเจริญตอบถึงกระแสข่าวดังกล่าว แต่นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ส.ส.ศรีสะเกษ ได้กล่าวติดตลก ว่า “ไม่ได้ คุยไม่ได้ เดี๋ยวหลุดโผ”


ปธ.คปพร. ย้ำจุดยืน เดินหน้าแก้รธน. ไม่หวั่นญัตติแรกตกสภา

“อ.จรัล” ไม่สนญัตติแก้ รธน. ตกสภา หลัง 7 ส.ว. ตื่นพันธมิตรฯ แจ้นถอนชื่ออีก เดินหน้าหนุนแก้ รธน. 50 ต่อไป ขณะที่ ส.ว. หลงกลเกมพันธมาร อ้างเหตุเพื่อยุติเงื่อนไขการชุมนุม ที่แท้กลัวถูกล่าชื่อถอดถอนกลับ

ภายหลังมี ส.ส. – ส.ว. ทยอยถอนรายชื่อออกจากการรับรองญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วนั้น โดยจำนวนตัวเลขเมื่อเย็นวานนี้ ( 29 พ.ค.) อยู่ที่ 131 คน แต่ล่าสุดขณะนี้เหลือเพียง 124 รายชื่อ เนื่องจากเมื่อเช้าวันนี้ (30 พ.ค.) มี ส.ว. 7 คนทำการถอดถอนเพิ่มเติม ส่งผลให้จำนวนเสียงไม่ถึง 1 ใน 5 ตามมาตรา 291 ที่กำหนดไว้ เป็นเหตุให้ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถผลัดดันเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ได้

วันนี้ (30 พ.ค.) นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการถอนรายชื่อของ ส.ส.และ ส.ว.ออกจากญัตติเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า แม้ว่าจะมี ส.ว.ถอนชื่อเพิ่มอีก 7 คน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ญัตติตกไปก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็ไม่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่พวกเราดำเนินการเสนอ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายชื่อประชาชนว่าถูกต้องครบถ้วน มีตัวตนจริงอยู่หรือไม่ และขอยืนยันจะเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

ขณะเดียวกัน ที่รัฐสภา ส.ว. 7 ราย นำโดย นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี นายบวรศักดิ์ คณาเสน ส.ว.อำนาจเจริญ นายรักษ์พงษ์ ณ อุบล ส.ว.หนองบัวลำภู นายมงคล ศรีคำแหง ส.ว.จันทบุรี และนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร ร่วมกันแถลงข่าว ประกาศถอนรายชื่อจากญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้ลงชื่อก่อนหน้านี้

โดยระบุถึงสาเหตุต้องการยุติเงื่อนไขการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศชุมนุมเพื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อกลุ่มตนเองถอนชื่อออกแล้วก็จะทำให้ญัตติตกไป แต่หากพันธมิตรฯ ยังเดินหน้าชุมนุมก็เป็นเรื่องที่ประชาชนจะพิจารณา

ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวระบุว่า ก่อนแถลงข่าวกลุ่ม ส.ว.ทั้ง 7 คน ได้พยายามขอเจรจากับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เดินทางมายื่นเสนอถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่ลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ปฏิเสธที่จะเจรจาด้วย โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้เป็นเกมการเมือง เนื่องจากการเมืองไม่ควรแก้ด้วยการเมืองแต่ควรแก้ด้วยความจริงใจ และเห็นว่า แม้ ส.ว. จะถอนรายชื่อขณะนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะถือว่ามีการตัดสินใจอย่างรอบคอบไปแล้วก่อนที่จะลงรายชื่อ



“เหลิม” จวกก๊วนพิสดารเลียนแบบพฤษภาทมิฬฯ จุดไฟเผาเมือง

มท.1 ออกโรงซัด “คนหัวโต - หน้าแหลม - หัวเกรียน” บงการสร้างสถานการณ์ปลุกปั่นปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล ปูดแหล่งเงินใต้ดินหนุนพันธมาร ทั้ง “เจ้ามือหวย - เจ้าของบ่อน” ย่านบางซื่อ - บางยี่ขัน ปัดข่าวรัฐบาลไม่คิดสลายการชุมนุม

วันนี้ (30 พ.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่จะจัดชุมนุมใหญ่ในวันนี้ ว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ให้วุ่นวายและพัฒนาไปสู่ความรุนแรง โดยความร่วมมือของ “คนหัวโต-คนหน้าแหลม-คนหัวเกรียน” ที่ประสานกับกลุ่มที่ก่อเหตุปาระเบิด 9 จุดและการใช้วิธีเผาบ้านเผาเรือน เหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ขณะนี้กระบวนการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้ว ส่วนตัวไม่กล้าจะพูดว่าการสร้างสถานการณ์ หวังเพื่อให้เกิดปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลหรือไม่

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีแนวคิดสลายการชุมนุม แต่จะดูแลรักษาความเรียบร้อย โดยเรียกร้องให้พันธมิตรฯ กำหนดจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งหากมีการประสานขอเจรจา ส่วนตัวก็พร้อมที่จะเจรจาด้วย

นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังเปิดเผยถึงแหล่งที่มาเงินทุนของพันธมิตรฯว่า ได้มาจากเจ้ามือหวยและเจ้าของบ่อนย่านบางซื่อและบ่อนลอยฟ้าย่าน สน.บางยี่ขัน

ร.ต.อ.เฉลิม ยังกล่าวถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พบกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในงานสวดอภิธรรมศพมารดาของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อค่ำวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา มีตนอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย เป็นเรื่องที่ดี เด็กเข้าไปพบกับผู้ใหญ่ เป็นภาพที่น่ารัก แต่ไม่ได้คุยอะไรกันมาก แค่ทักทายกันเท่านั้น และ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้พูดอะไรกับตนเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง ส่วนตนได้พูดคุยกับ พล.อ.เปรม เป็นเวลานาน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าพูดอะไรบ้าง

ด้าน นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ปฏิเสธไม่แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว แต่ส่วนตัวเห็นว่าการไหว้ผู้ใหญ่เป็นประเพณีไทยที่น่าสนับสนุน เป็นสิ่งที่ดี และปฏิเสธไม่น่ามีนัยทางการเมือง แต่เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมและศาสนามากกว่า

พปช. ไม่หวั่น เดินหน้าล่าชื่อ96ส.ส.ยื่นญัตติแก้รธน.รอบสอง หากญัตติแรกตก

“นิสิต สินธุไพร” ลั่นพร้อมรวบรวมชื่อยื่นญัตติแก้ไข รธน.รอบสอง ใช้ช่องทาง ส.ส. 96 เสียงตามมาตรา 291 เดินหน้าผลักดันร่าง คปพร. ฉบับ 40 ก เข้าสภาเช่นเดิม หลัง ส.ส. – ส.ว. ใจเสาะยกโขยงถอดรายชื่อ คาดยื่นได้ก่อนเปิดประชุมสมัยวิสามัญ 9 มิ.ย.นี้

นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน แกนนำ ส.ส. ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม 2550 กล่าวถึงญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อาจต้องตกไปเพราะมี 8 ส.ส.พรรคพลังประชาชน กลุ่มอีสานอาวุโสหรืออีสานพัฒนา จะถอนรายชื่อ ว่า ยังไม่ทราบว่ามีใครถอนรายชื่อบ้าง แต่ถ้ามีการถอนชื่อจริง ตนก็จะทำการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบสอง เพราะเรามีเจตจำนงที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้น เราจะยื่นญัตติ เพื่อรอฟังผลการทำประชามติโดยจะใช้ร่างเดิมกลับไปอีกครั้ง

ส่วนที่นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ผนวกกับหากญัตติดังกล่าวอาจตกไป อาจทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงไปนั้น ต้องวิเคราะห์ให้ดี อย่างไรก็จะต้องรวบรวมรายชื่อไว้ก่อน โดยจะใช้ช่องทางยื่นเฉพาะ ส.ส.ใช้เสียง 96 คน มั่นใจว่า จะได้รายชื่อ ส.ส.มากกว่าเดิม ซึ่งในขณะนี้สามารถรวบรวมได้แล้ว 100 คน ส่วน ส่วนจะยื่นเมื่อไหร่นั้นคงต้องขอหารือกันก่อน แต่คาดว่าจะยื่นได้ก่อนเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 9 มิถุนายนนี้

“เรื่องนี้พรรคคงไม่มีมติให้มีการถอนญัตติ เพราะเป็นการยื่นเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ไม่ใช่มติของพรรค และเป็นเรื่องของรัฐบาล ดังนั้น พรรคคงไม่ก้าวล่วง หรือมีมติมาบังคับพวกเราไม่ได้ แต่ในพรรคอาจมีการปรึกษาหารือ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีผู้ใหญ่คนใดมาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของ ส.ส. เท่าที่คุยมั่นใจว่ารายชื่อ 96 ส.ส.คงไม่น่ามีปัญหา เพราะกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีอยู่ อย่างไรก็ตามในการประชุม ส.ส.ของพรรควันนี้ (30 พ.ค.) คงจะได้มีการพูดคุยกัน ถ้าพรรคมีเหตุผลดี เราก็รับฟัง หากไม่ดีก็ต้องชี้แจงกัน

พร้อมระบุถึง ส.ส.และ ส.ว.ที่ขอถอนชื่อออกไปนั้น ใครถอนชื่อก็ต้องรับกรรมกันไปเอง ก็ต้องไปตอบคำถามกับประชาชนในพื้นที่ว่า ทำไมถึงต้องถอนชื่อ และเชื่อว่าอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองด้วย


“จักรภพ” โชว์สปิริต ประกาศลาออกรักษา “สมัคร –รัฐบาล”

“ผมเป็นเพียงเหยื่อ” สุภาพบุรุษสายล่อฟ้า ยืดอกป้อง “รัฐนาวา” ให้อยู่รอด ยืนยันพร้อมต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม หวังลดเงื่อนไขพันธมิตรฯ จ้องล้มรัฐบาล ลั่นจะไม่ยอมให้ “ปชป.-พันธมิตร” ใช้วิชามารชี้นำประเทศ หนังสือถึงมือนายกฯ วันนี้ มีผลต้นสัปดาห์หน้า

วันนี้ (30 พ.ค.) เมื่อเวลา 12.20 น. นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งแล้วที่ทำเนียบรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตนได้แถลงชี้แจงถึงคำบรรยายที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ว่าเป็นการปาฐกถาเชิงวิชาการ เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งขอยืนยันความบริสุทธิ์ใจอีกครั้ง ว่าไม่มีเจตนาหมิ่นเบื้องสูง แต่มาถึงวันนี้มีกระบวนการกดดันรัฐบาลจากกลุ่มบุคคลและพรรคการเมือง เพื่อโค่นล้มรัฐบาลจึงเห็นว่า เพื่อว่าเพื่อรักษาเรือลำใหญ่ จึงจำเป็นต้องสละตำแหน่ง และขอยืนว่า จะต่อสู้ทางคดีต่อไป โดยไม่ได้หวังว่าจะได้ความเป็นธรรมจากกระบวนยุติธรรมเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อสร้างบรรทัดฐานขจัดฉ้อฉลให้หมดสิ้นไปจากสังคม โดยจะยื่นใบลาออกในวันนี้ ให้มีผลในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อจะได้สะสางงาน และเตรียมส่งไม้ให้กับผู้รับผิดชอบต่อจากผมด้วยความราบรื่น

“ผมมีความบริสุทธิ์ใจและไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร ในบัดนี้ก็คิดแบบนี้อยู่ ผมไม่มีเจตนาใดๆ ในการหมิ่นเบื้องสูง คำบรรยายเป็นวิชาการต่อที่ประชุมเปิดกว้าง ก่อนเป็นรัฐมนตรี 10 เดือน ผมจะต่อสู้คดีโดยไม่หวังความยุติธรรมสำหรับตนเอง แต่จะวางบรรทัดฐานให้สังคม ฉ้อฉลได้ยากขึ้น ลำพังผมคนเดียว ผมไม่ถอย แต่ 3 วันตกหนักที่นายกรัฐมนตรี มีเสียงร่ำลือรัฐประหาร ในกระบวนการวิชามาร ผมเป็นเพียงเหยื่อรายเดียว เพราะเรื่องที่เขาจับไปโยงกับระดับ ผมมีความจำใจ รักษาขุนไว้ให้รอด ผมจึงจำเป็นถอด ขอลาออกจาก รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ” นายจักรภพ กล่าว

พร้อมยืนหยัดว่าจะต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ทำตัวเป็นเจ้าขอและชี้นำประเทศไปเสียทุกเรื่อง เมื่อเห็นว่าภาระไปตกหนักอยู่ที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กระทั่งเกิดเสียงร่ำลือว่าจะมียึดอำนาจซ้ำ โดยใช้ตนเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงมีความจำเป็นต้องรักษาขุนเพื่อปกป้องรัฐบาล

โดยหวังว่า การลาออกในครั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ จะยุติการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาล และขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้โอกาสตัดสินใจจนถึงวินาทีสุดท้าย รวมทั้งขอโทษผู้สนับสนุนการลาออกครั้งนี้ไม่ใช่ความท้อถอย แต่เป็นหมากทางการเมือง ทั้งนี้ ตนจะไม่ใช้เวทีมวลชน หรือเวทีของกลุ่มแนวร่วมประชิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) ในการตอบโต้หรือเป็นพื้นที่เพื่อชี้แจงในกรณีดังกล่าว

แถลงเปิดใจ “สุภาพบุรุษสายล่อฟ้า” - นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ความว่า

“เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้แถลงข่าวกับท่านทั้งหลายไปแล้วครั้งหนึ่ง เพื่ออธิบายถึงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูง ผมได้อธิบายไปว่า มีความบริสุทธิ์ใจ และมีเจตนาที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรในการบรรยายที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาแล้ว และที่สำคัญก็คือว่า ได้บอกผ่านพี่น้องสื่อมวลชนไปยังพี่น้องประชาชนด้วยว่า ผมมีแนวทางในการต่อสู้กับความฉ้อฉลในครั้งนี้อย่างไร ขอเรียนว่า ในบัดนี้ผมก็ยังคิดอย่างนั้นอยู่ และจะไม่เปลี่ยนแปลงความคิดนี้เลย ผมไม่มีเจตนาใดๆ ในการหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งก็จะได้พิสูจน์ทราบในกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายกันต่อไป

คำบรรยายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 นั้น เป็นคำบรรยายทางวิชาการ ต่อที่ประชุมซึ่งเปิดกว้างต่อคนทั้งหลาย ไม่มีการหลบเร้น และเป็นคำบรรยายที่เกิดขึ้นมานานถึง 10 เดือน ก่อนที่จะได้รับพพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นจึงอยากเรียนในประเด็นแรกว่า ผมจะต่อสู้ในคดีนี้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่ได้หวังเพียงความยุติธรรม และความเป็นธรรมสำหรับตนเองเท่านั้น แต่หวังไปถึงว่า ผมจะมีส่วน ไม่มากก็น้อย ในการวางบรรทัดฐานบางอย่างเพื่อให้สังคมนี้ฉ้อฉลน้อยลง ทำลายกันด้วยวิชามารได้ยากขึ้น และหวังว่าจะทำให้เกิดแสงสว่างทางปัญญามากขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้น ลำพังตัวผมคนเดียว ผมไม่ถอยแน่ เพราะผมไม่อาจปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรฯ ทำตัวเป็นพระเจ้าที่ชี้นำประเทศนี้ได้ แต่ในช่วง 3 วันที่ผ่านมานี้ ทุกอย่างกลับไปตกหนักอยู่ที่ท่านนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นธรรม ในที่สุดก็เกิดกระแสข่าวที่ไม่เป็นมงคลขึ้นมากมาย ทั้งความมุ่งหมายที่จะโค่นล้มรัฐบาล ทั้งในรัฐสภา และนอกรัฐสภา เสียงร่ำลือในเรื่องการยึดอำนาจรัฐประหาร และการไล่รุกเข้ามาเรื่อยๆ ของผู้เล่นต่างๆ ตามแผนที่วางกันไว้แล้วของคนภายนอก

ในขบวนการวิชามารทั้งหมดนี้ อยากจะเรียนว่า “ผมเป็นเพียงเหยื่อ” รายเดียวในทั้งหมดเท่านั้น แต่ก็มีความร้อนแรงมาก เพราะเรื่องที่เขาจับนั้นไปโยงกับสถาบันระดับสูง ผมจึงสรุปในใจว่า ผมมีความจำเป็นต้องรักษาขุนไว้ให้รอด เพื่อประชาธิปไตยจะได้ชัยชนะในบั้นปลาย

จะสังเกตว่าในช่วง 3 วันนี้ มีข่าวออกมาทั้งบนดินและใต้ดิน ทั้งข่าวว่า ผมเสี้ยมผู้ใหญ่ในฟากรัฐบาลให้ชนกันเพื่อตัวจะได้อยู่รอด ข่าวว่ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ก็เลยไม่ยอมลุกขึ้นจากเก้าอี้ ข่าวเหล่านี้เป็นความสามานย์ที่คนกุข่าวจะต้องชดใช้บาปกรรมของตนเองในไม่ช้านี้ แต่ก็เป็นตัวอย่างว่า คนในฟากรัฐบาลเราเองบางครั้งก็เผลอสายตาสั้นไปร่วมแห่กับฝ่ายตรงกันข้ามเขาด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีความสำคัญและเป็นบทเรียนสำหรับคราวนี้ก็คือ พุทธภาษิตที่ว่า "วินาศกาเล วิปริตพุทธิ" เมื่อถึงคราววินาศ ปัญญาย่อมวิปลาสไปนั้น ต้องไม่พยายามให้เกิดขึ้น

เมื่อเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามหลักเหตุผล แต่เป็นเกมอำนาจล้วนๆ แล้วท่านนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้ได้รับผลดังกล่าวนั้น ผมจึงต้องตัดสินใจถอดตนเองออกจากเกมอำนาจนี้ เพื่อรักษาเรือลำใหญ่ไว้ให้รอด ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้ และจะได้ยื่นใบลาออกในวันนี้ โดยให้มีผลในต้นสัปดาห์หน้า เพื่อจะได้สะสางงาน และเตรียมส่งไม้ให้กับผู้รับผิดชอบต่อจากผมด้วยความราบรื่น

การลาออกในครั้งนี้ น่าจะส่งผลให้คนหยุดพูดเรื่องการรัฐประหารกันเสียที และน่าจะมีผลยุติความเคลื่อนไหวของกลุ่มใดๆ ที่อ้างเหตุผลทางการเมืองมาเคลื่อนไหว ถ้าหากเกมนี้ยังดำเนินต่อไป โดยมุ่งตีเมืองขึ้นไปเรื่อยๆ ผมก็หวังว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างชัดเจนในการพิทักษ์บ้านเมืองให้พ้นจากมือของผู้ที่ไม่ปรารถนาดีเหล่านี้

ผมขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรี ที่ท่านมีความเป็นสุภาพบุรุษตั้งแต่ต้นจนนาทีสุดท้าย ผมมีความศรัทธา มีความเคารพในวิธีทางการเมืองของท่านนายกรัฐมนตรี และจะยึดหลายอย่างในตัวท่านเป็นแบบอย่างในทางการเมืองต่อไป ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใหญ่ ให้แนวทางที่เป็นสติปัญญาและความสว่างกับนักการเมืองรุ่นหลัง จะเรียกว่ารุ่นลูก รุ่นหลาน ก็ไม่ผิดจากความจริง ให้ได้รู้แนวทางที่จะเดินต่อไป ท่านนายกรัฐมนตรีมีความหมายและมีความสำคัญในการรักษาบ้านเมืองในระยะนี้ เพราะฉะนั้นเหตุใดก็ตามที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อตัวท่านโดยตรง ผมจะยอมไม่ได้

นี่คือเหตุผลที่เมื่อวันจันทร์ ผมได้แถลงที่นี่ว่าผมจะสู้ต่อไป แต่มาวันนี้ถึงได้กลับเป็นการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เหตุผลก็ง่าย สั้นๆ นิดเดียวครับ เราต้องรักษาท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไว้ให้รอดในระยะนี้ เพื่อประชาธิปไตยจะได้รอดในระยะยาว

และสุดท้าย ผมต้องขอกล่าวคำนี้ครับ “ผมขอโทษผู้สนับสนุนตัวผมเอง” ซึ่งคงจะทำให้ท่านผิดหวังที่มีวันนี้เกิดขึ้น หวังว่าเมื่อท่านฟังเหตุผลตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้แล้ว ท่านก็คงพลอยเข้าใจไปด้วย ว่าผมไม่ได้มีความคิดที่จะลาออก ผมไม่ได้ทำอะไรผิด ผมจะพิสูจน์ตนเองในทางกฎหมายต่อไป และจะวางบรรทัดฐานไม่ให้คนมาใช้เรื่องแบบนี้เพื่อการทำลายกันได้ง่ายเหมือนที่เกิดกับตัวผมเองอีกด้วย

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ขอให้ผู้สนับสนุนทุกท่านได้ทราบว่า ไม่ใช่ความอ่อนแอ ทดท้อ ไม่ใช่การถอยเพื่อที่จะถอดใจทั้งสิ้น นี่เป็นเพียงขั้นตอนทางการเมือง ซึ่งเราต้องรักษาส่วนรวมไว้เท่านั้นเอง ขอโทษท่านผู้สนับสนุนถ้าหากทำให้ท่านผิดหวัง แต่ในระยะยาวแล้วท่านจะไม่ผิดหวังแน่นอนครับ ขอบคุณมากครับ”


ชาวเน็ตล่าชื่อ ท้วงปชป. เหมารวมหมิ่นฯ จี้

ชาวไซเบอร์สุดทน!พฤติกรรมพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหาหมิ่นเบื้องสูง ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโจมตีบุคคคลอื่น ย้ำพื้นที่บนเน็ตเปิดรับความเห็นต่าง โดยคนเล่นเน็ตจะช่วยกันตรวจสอบดูแลด้วยตัวเอง

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา พลเมืองในโลกไซเบอร์ร่วมกันออกล่าชื่อออกแถลงการณ์ เรียกร้องความรับผิดชอบจากนายเทพไท เสนพงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์ หลังออกมาระบุชื่อ 29 เว็บไซต์ที่ส่อเค้าว่าหมิ่นเบื้องสูง ชี้ไม่ตรวจสอบข้อมูล แต่ต้องการกดดันฝ่ายตรงข้ามโดยใช้ข้อหาหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทางการเมือง ย้ำ พื้นที่บนเน็ตเปิดรับความเห็นแม้จะเห็นต่าง โดยคนเล่นเน็ตจะช่วยกันตรวจสอบดูแลด้วยตัวเอง

การล่ารายชื่อนี้ ทำผ่านเว็บไซต์ล่ารายชื่อออนไลน์ http://gopetition.com/online/19589 และถูกส่งต่อกระจายออกไปทางอีเมลและบล็อกต่างๆ บนจุดยืนสองประการ คือ หนึ่ง เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างต้องได้รับการปกป้อง โดยถ้อยคำตอนหนึ่งในแถลงการณ์ระบุว่า “ความเคารพและมีความเข้าใจอันดีต่อกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในสังคมที่ผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย และหนทางเดียวที่จะนำเราไปสู่การเรียนรู้ที่จะเข้าใจและเคารพกันได้ คือสภาพสังคมที่เอื้อให้ทุกๆ คนมีสิทธิเสรีภาพในแสดงออกด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่”

ประเด็นที่สอง คือ ผู้เล่นเน็ตไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แถลงการณ์ระบุว่ารายชื่อเว็บไซต์และเว็บล็อกหลายแห่งที่ถูกระบุชื่อ นำเสนอข้อมูลทางวิชาการอย่างมีเหตุผล การกล่าวหาเว็บไซต์ทั้ง 29 นั้น มาจากการเหมารวมของนายเทพไท ที่ขาดการตรวจสอบข้อมูล และกดดันเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่เลือกวิธีการ และถือเป็นการปลุกปั่นนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำลายฝั่งตรงข้าม

โดยแถลงการณ์นี้ ลงนามบุคคลในสถานะต่างๆ ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ต อาทิ บล็อกเกอร์ คนเล่นเน็ต ฯลฯ ช่วงท้ายแถลงการณ์มีถ้อยคำระบุว่า “เชิญชวนชาวอินเทอร์เน็ตและพลเมืองทุกคน ให้ยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมและรับผิดชอบ และร่วมกันตรวจสอบดูแลและปกป้องพื้นที่อินเทอร์เน็ต ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้แสวงหาปัญญาและยอมรับความคิดอันหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับความคิดเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม”

//////////////////////////////////////////////////////////////


แถลงการณ์จาก
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อพลเมือง
ผู้สนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

29 พฤษภาคม 2551

เรื่อง ขอเรียกร้องความรับผิดชอบจากนายเทพไท เสนพงศ์ และ พรรคประชาธิปัตย์ และขอเชิญชวนพลเมืองทุกคนร่วมกันปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ตามที่นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยรายชื่อ 29 เว็บไซต์* ว่าเป็นเว็บไซต์อันตรายที่ส่อเค้าหมิ่นเบื้องสูง พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศจัดการ ตามข่าวทางสื่อมวลชนทั่วไป ความแจ้งแล้วนั้น พวกเราดังมีรายนามข้างท้ายมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. เราเห็นว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายต้องได้รับการเคารพและปกป้อง สังคมประชาธิปไตยทุกสังคม ที่ปรารถนาความสงบสุข สันติภาพและความสมานฉันท์ จำเป็นต้อง ส่งเสริม และ ปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเต็มที่

เหตุเพราะความเคารพและความเข้าใจอันดีต่อกัน “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมที่ผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย และหนทางเดียวที่จะนำเราไปสู่การเรียนรู้ที่จะเข้าใจและเคารพกันได้ คือสภาพสังคมที่เอื้อให้ทุกๆ คน มีสิทธิเสรีภาพในแสดงออกด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ประตูที่จะนำไปสู่ความยอมรับเคารพซึ่งกันและกัน จะถูกปิดตาย เมื่อปากและใจของเราถูกบังคับให้ปิดลง

2. เราไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง รายชื่อเว็บไซต์และเว็บล็อกส่วนใหญ่ที่ถูกระบุชื่อ มิได้นำเสนอข้อมูลหรือเนื้อหาที่หมิ่นพระมหากษัตริย์ หลายแห่งนำเสนอข้อมูลทางวิชาการอย่างมีเหตุมีผล การกล่าวหาเว็บไซต์ต่างๆ เหล่านั้นอย่างเหมารวมของนายเทพไท เสนพงศ์ จึงเป็นความผิดพลาด ขาดการตรวจสอบข้อมูล เป็นการกดดันเพื่อปิดกั้นความคิดเห็นของคนอื่นโดยไม่เลือกวิธีการ เป็นการปลุกปั่นนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงกันข้าม รวมทั้งเป็นการก่อความแตกแยกของคนภายในชาติ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงการขาดจิตวิญญาณประชาธิปไตย

พวกเราดังมีรายนามข้างท้ายนี้ขอเรียกร้องให้นายเทพไท เสนพงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว และหยุดการใส่ร้ายป้ายสีเว็บไซต์หรือบุคคลอื่นอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งหยุดกดดันหรือสร้างกระแสให้มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ โดยทันที

และเนื่องด้วยการกระทำเช่นนายเทพไท เสนพงศ์ ในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการใช้ข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายอื่นๆ และแม้การกระทำเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ แต่เราก็ยังพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวอยู่เสมอ จากทั้งหน่วยงานรัฐ นักการเมือง และสื่อมวลชน เราจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดพฤติกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนี้ พวกเราขอเชิญชวนชาวอินเทอร์เน็ตและพลเมืองทุกคน ให้ยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมและรับผิดชอบ และร่วมกันตรวจสอบดูแลและปกป้องพื้นที่อินเทอร์เน็ต ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้แสวงหาปัญญาและยอมรับความคิดอันหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับความคิดเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม

ขอแสดงความนับถือ
(ผู้ลงชื่อ)