ที่มา มติชน
ถ้าถามว่าความสงบเป็นสิ่งดีหรือไม่ คนส่วนใหญ่คงตอบโดยไม่ต้องลังเลว่า "ดี"
แต่นักทฤษฎีท่านหนึ่งคือ Johan Galtung กลับมองว่ายังมีความสงบอยู่ประเภทหนึ่งที่เรียกว่า negative peace หรือ สันติที่เป็นลบ ซึ่งหมายถึงการยุติความรุนแรงเฉพาะหน้า ดูเหมือนคลี่คลาย ทุกสิ่งทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง แต่ที่เรียกว่าเป็น "ลบ" ก็เพราะอันที่จริงแล้วความขัดแย้งและปัญหาที่อยู่เดิมยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากไม่ได้มีการเข้าไปจัดการกับสาเหตุที่แท้จริงอย่างเหมาะสม
ความขัดแย้งที่ลุกลามมักเป็นส่วนผสมของสาเหตุ 2 ประเภท คือ สาเหตุพื้นฐาน (Structural causes) และสาเหตุเฉพาะหน้า (immediate causes)
สาเหตุพื้นฐานมักสัมพันธ์กับปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐานที่มีมานาน เช่น ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในสังคม
ในขณะที่สาเหตุเฉพาะหน้ามักเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ความขัดแย้งปะทุและขยายตัวออกไปในวงกว้าง เช่น การปลุกระดม บุคลิกภาพของผู้นำฝูงชนซึ่งนำไปสู่การต่อสู้
เวลาที่ความขัดแย้งลุกลาม คนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับสาเหตุประเภทหลัง เพราะเป็นรูปธรรม จับต้องได้ง่าย และดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับปัญหาหากพิจารณาตามช่วงเวลาที่เกิด
แต่กลับละเลยสาเหตุเชิงโครงสร้างซึ่งมีความสำคัญเทียบเท่าหรืออาจจะมากกว่าสาเหตุเชิงสถานการณ์เสียด้วยซ้ำ
เพราะปัญหาหรือความบกพร่องของโครงสร้างนั้นเป็นมูลเหตุเบื้องต้นที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า persisting grievance (ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ความกดดันเรื้อรัง)
เปรียบเสมือเชื้อไฟที่พร้อมจะลุกลามได้เสมอเมื่อมีลมพัด
อย่างในประเทศไทย ปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างรับรู้กันมาโดยตลอด คือ ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทในเรื่องโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งเรียกกันว่าทวิลักษณ์ (dualism)
ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าความแตกต่างดังกล่าวไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่ในแง่พื้นที่ทางกายภาพ แต่ยังหมายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มทางสังคมซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชาติไทย
การพิจารณาสาเหตุที่แท้จริงจึงเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาวเพื่อสร้างสันติภาพที่แท้จริง
แต่การระบุว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงย่อมขึ้นอยู่กับการวางกรอบ (framing) ของปัญหาด้วย
เช่น หากมองว่าความยากจนเป็นปัญหาเชิงบุคคล สาเหตุของปัญหานี้ คือ การที่คนยากจนไม่ขยัน
แต่ถ้ามองว่าเป็นปัญหาเชิงมหภาค สาเหตุของปัญหา คือ นโยบายแห่งรัฐที่ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือและกระจายโอกาสให้คนอย่างเต็มที่ความแตกต่างในการมองปัญหาจึงเป็นเรื่องดีที่ทำให้สังคมมีแง่คิดและประสานแนวคิดต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดได้
หากมองว่าเป็นปัญหาการเมือง ก็แก้ไขด้วยวิถีทางแห่งการเมือง
หากมองว่าเป็นเศรษฐกิจ ก็ต้องแก้ไขความเป็นอยู่ การทำมาหากินโดยเฉพาะการถือครองที่ดินเพื่อสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคมขั้นพื้นฐาน รวมถึงความภาคภูมิใจที่ตนได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ความสงบนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ดังที่มหาตมะ คานธี กล่าวว่าสันตินั้นมี 2 แบบ คือ สันติเพื่อปิดปากกระบอกปืน (peace that silences the guns) กับ สันติที่ทำให้การใช้ปืนเป็นเรื่องไม่จำเป็นอีกต่อไป (peace that makes the guns irrelevant)
ทุกคนปรารถนาสันติแบบที่สอง แต่ในความเป็นจริง ความพยายามมักหยุดอยู่ตรงที่สันติแบบแรก
และเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป เมื่อมีปัญหา การจัดการกับปัญหาอย่างถูกต้องจะนำไปสู่ดุลยภาพที่สูงขึ้นหรือชีวิตที่ดีขึ้นได้
สันติภาพสร้างได้หากเรามีความพยายามมากพอที่จะค้นหาและจัดการกับสาเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริง
แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นของคนส่วนมาก คือ เมื่อสงบแล้วก็ทำเฉยๆ ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ให้มันแล้วๆ ไปเพียงเพื่อหวังความสุขอย่างฉับพลัน (forget, rather than forgive)
ซึ่งภาวะแบบนี้จะมีคำศัพท์ที่เรียกกันคือ amnesia (แปลเป็นภาษาไทยว่า การลืมเสียเถิด)
Silence is not always golden.
เรามักจะพูดกันว่า พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง แต่จริงๆ แล้ว
ความเงียบก็คงจะไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกปัญหา
เพื่อไทย

เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ
Wednesday, May 26, 2010
"ความสงบไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป" (Peace is not always positive)
โดย สมิตา หมวดทอง nuienglish@hotmail.com (กระแสทรรศน์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม 2553)