ที่มา ประชาไท
Sat, 2012-06-23 07:27
22 มิ.ย.55 วงเสวนา “อดีตและอนาคต จาก 80 ปีประชาธิปไตย”
ในงานสัมมนาเรื่อง “จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” จัดโดย
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาบันนโยบายศึกษา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์
และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดยเวียงรัตน์ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เมื่อมองย้อนกลับไป เจษฎ์มองว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่าคณะราษฎร์ถือเป็นการกบฏ
แต่เมื่อรัฐประหารสำเร็จจึงเป็นการปฏิรูปและมีการเขียนรัฐธรรมนูญขึ้น
เขาตั้งคำถามต่อประกาศของคณะราษฎรที่เขียนถึงความอดอยากยากแค้นของราษฎรเกิด
จากรัชกาลที่ 7 ว่า ไม่รู้ว่าประกาศนั้นจริงเท็จประการใด
รวมถึงส่วนที่กล่าวถึงบรรพบุรุษของกษัตริย์ว่าไม่ได้ทำอะไรเลยนั้นว่าจริง
หรือไม่ โดยชี้ว่าการรบในอดีตนั้น
ยากที่บรรพบุรุษของฝ่ายใดจะไม่ได้ทำอะไรเลย
เพราะผู้นำและทหารจะต้องร่วมมือกัน
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า
ดังนั้นจึงไม่สามารถตอบได้ทีเดียวว่าสิ่งที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นที่มาของการ
สถาปนาหรือเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก
และเมื่อคณะราษฎรเริ่มต้นก่อการ ไม่ดี จึงยังกระพร่องกระแพร่งอยู่ทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม มองว่าแทบไม่มีประเทศไหนที่เริ่มต้นดี
เพราะการล้มล้างกันไม่ว่าจะเริ่มด้วยคิดดีหรือไม่
ย่อมเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดี เพราะไม่ใช่สันติวิธี
อย่างไรก็ตาม เขาเสนอทางออกต่อสถานการณ์ปัจจุบันว่า
ต้องมีการพูดคุยกันว่า ปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาอย่างไร
และมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
สังคม อย่างไร รวมถึงปัญหาเชิงความเป็นประชาธิปไตย
โดยพูดคุยในรูปแบบสานเสวนา ทั้งนี้
แนะว่าอย่าคิดว่าคนที่คิดต่างเป็นคนละพวก ต้องแยกจากเรื่องการทุจริต
วงศ์ตระกูล สีเสื้อ หรือชาติพันธุ์ หากเอามารวมกันหมดจะไปไม่ถึงไหน
โดยสิ่งที่ต้องตระหนักตลอดคือประชาธิปไตยต้องอดทน
นักการเมืองติดสินบน-รัฐบาลไร้เสถียรภาพ วิวาทะเก่า 100 ปี ใช้โต้ประชาธิปไตย
จากวิวาทะของคณะ ร.ศ.130 เสนอหลักการเสรีนิยม ความมีเหตุและผล
ความเสมอภาค ส่วนวิวาทะของฝ่ายตรงข้ามคือเรื่องความริษยา
มีการตอบโต้ว่าหากมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้วจะเกิดพวกนักการเมือง
หรือในสมัยนั้นเรียกว่าโพลิทิเชียน (politician)
เป็นผู้ที่ทำมาหากินทางการเมือง มีการเลือกตั้ง เกิดการล่อใจประชาชน
ด้วยถ้อยคำ การเลี้ยงดู และติดสินบน นำมาสู่ความแตกแยก
เกิดเป็นระบบพรรคการเมือง และเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพต้องเปลี่ยนบ่อยๆ
ทั้งนี้วิวาทะเหล่านี้มีมาเมื่อ 100 ปีก่อน และถึงวันนี้
เมื่อมีคนบอกว่าต้องการเป็นประชาธิปไตย
สิ่งที่โต้กลับก็ยังคงเป็นความเห็นแบบเดิมนี้อยู่
จาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงในปี 2475
เป็นการยืนยันว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่เหมาะกับสังคมไทย
และต้องการสถาปนา “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่มีเรื่องการปกครองหลักนิติธรรม
มีแนวความคิดเรื่องนิติรัฐที่ว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ดีอย่างเท่า
เทียมกัน ใช้อำนาจได้เท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ และกฎหมายต้องมีที่มา
คณะราษฎรต้องการสร้าง“ระบอบรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาโดยให้
“อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” ซึ่งต่อมามีการใช้คำว่า
“อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน” และ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”
“เวลาประเมินคณะราษฎร
เส้นแบ่งสำคัญอยู่ตรงเรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
กับอีกระบอบที่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์
ซึ่งในแง่นี้ถ้าเราดูจากทั่วโลกและดูจากประเทศไทยเอง
เข้าใจว่ามันเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก
และผมคิดว่าสังคมไทยแม้จะมีคนเสนอว่าทำไมไม่เพิ่มพระราชอำนาจ
อยากให้เพิ่มอยากให้คือพระราชอำนาจในหลายสิบปีมานี้
แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าเสนอว่าให้กลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ก็เท่ากับเป็นความยอมรับอยู่ แต่ในความเห็นผม
ผมคิดว่าเป็นความก้าวหน้าเป็นคุณูปการในเรื่องนี้”
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยให้ความเห็น
ประสบการณ์สังคมไทยชี้การปกครองโดยไม่มี “รัฐธรรมนูญ” คือระบอบเผด็จการ
จากประเด็นที่ว่าการเป็นประชาธิปไตยจำเป็นหรือไม่แค่ไหนที่ต้องมีรัฐ
ธรรมนูญ จาตุรนต์ แสดงความเห็นว่า เมื่อ 80 ปีที่แล้ว
หากไม่มีรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้ว่าอะไรคือการเปลี่ยนระบอบการปกครอง
หรือจะเปลี่ยนจากอะไรไปสู่อะไร
เพราะสิ่งที่ต้องการคือการมีกฎหมายสูงสุดขึ้นมาหนึ่งฉบับ
และด้วยแนวคิดแบบนิติรัฐที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจึงมีรัฐธรรมนูญขึ้น
และในสภาพการณ์แบบในประเทศไทยหากไม่เขียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็จะเกิดคำ
ถามว่าจะเริ่มกันอย่างไร
ใน 80 ปี มานี้ ช่วงเวลาที่ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ
หรือไม่มีสิ่งที่พอจะเรียกว่ารัฐธรรมนูญได้
ก็คือช่วงที่เกิดการรัฐประหารหรือการปกครองโดยคณะรัฐประหาร
โดยจะเรียกสิ่งที่ใช้อยู่ว่าเป็นธรรมนูญการปกครอง หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว
แต่ความจริงทั้งธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น
คือกฎหมายสูงสุดที่คณะรัฐประหารเขียนกันเองหลังจากออกคำสั่งคณะรัฐประหาร
แล้ว
จาตุรนต์ กล่าวต่อมาว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เป็นสัญลักษณ์ที่ดีอย่างหนึ่งคือทำให้เห็นว่าความเป็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบ
นั้นเป็นอย่างไร คือคนๆ เดียวอยู่เหนือกฎหมาย ทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3
อำนาจออกจากกันอย่างสิ้นเชิงโดยคนๆ เดียวที่คุมกำลังกองทัพ
มาจนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ในที่สุดก็จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ
หลังจากที่ทำการร่างมายาวนานตั้งแต่ปี 2500 จนมีรัฐธรรมนูญ 2511
และจัดการเลือกตั้งในปี 2512 ต่อมาในปี 2514
ก็เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองของจอมพลถนอม
ในส่วนสังคมไทยก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า
การปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญนี้ก็คือปกครองโดยระบอบเผด็จการ
หากไม่มีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติอะไรไว้ให้ดี ก็จะกลายเป็นเผด็จการเด็ดขาด
จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาปี 2516
โดยข้อเรียกร้องสำคัญในครั้งนั้นคือให้มีรัฐธรรมนูญ
แต่ต่อมาก็มีการรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งในปี 2519 จะเห็นได้ว่า 80
ปีมานี้ สังคมไทยผ่านช่วงที่พยายามสถาปนาสร้างระบอบรัฐธรรมนูญ
สร้างระบบรัฐสภาให้มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง
สลับไปมากับการสู้กับความพยายามที่จะกลับคืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มีการรัฐประหารยึดอำนาจ จนมาถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าวแสดงความเห็นต่อมาว่า
ในแง่ความสำเร็จในการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญส่วนตัวคิดว่าไม่สำเร็จ
และถึงแม้ในปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญก็คิดว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากใน 80
ปีที่ผ่านมา มีการปกครองโดยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญใช้นานมาก
หลายช่วงไม่มีรัฐธรรมนูญ ตอนที่มีรัฐธรรมนูญ
เรามีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยมากในช่วงแรกๆ
แต่ต่อจากการไม่มีรัฐธรรมนูญ
ก็มามีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหลายครั้ง
“พูดได้ว่าเวลาที่เรามีรัฐธรรมนูญ
เรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือที่จะทำไว้ให้โลกเขาดูว่า อ้อ
ประเทศนี้ก็มีรัฐธรรมนูญ
แต่รัฐธรรมนูญของประเทศนี้ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกันว่าประชาชนจะเป็น
ผู้กำหนดความเป็นไปของประเทศ หรือพูดอีกแบบก็คือว่า จริงๆ
แล้วอำนาจอธิปไตยไม่ใช่เป็นของปวงชน
หรือไม่ต้องพูดถึงว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” จาตุรนต์กล่าว
จาตุรนต์ ยกตัวอย่างว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งมีการระบุห้าม
ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี
ซึ่งเป็นการเขียนไว้เพื่อให้ผู้ที่ยึดอำนาจได้ขึ้นเป็นรัฐบาล
ต่อมาก็มีการเขียนให้ ส.ว.มาจากการแต่ตั้งและมีอำนาจขึ้นมา
ที่แย่ไปกว่านั้นคือไทยผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้ง
ในแต่ละครั้งเมื่อยึดอำนาจได้แล้วมีคนมาคัดค้านร้องเรียน
บ้างก็จะถูกจับติดคุก บ้างถูกปฏิเสธ
ด้วยเหตุผลจากฝ่ายตุลาการว่าผู้ที่ยึดอำนาจได้แล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์
“80 ปีมานี้จึงพูดได้ว่า
เราปกครองโดยระบอบที่รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุดจริง ในความหมายนี้คือ
ถ้ามีการรัฐประหารเมื่อไหร่ คำสั่งรัฐประหารสูงกว่ารัฐธรรมนูญ
ในระหว่างที่ไม่มีรัฐประหาร คณะรัฐประหารเลิกไปแล้วและยอมให้มีรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุด
แต่ก็เป็นกฎหมายสูงสุดที่ไม่ได้มุ่งให้อำนาจประชาชน
ซึ่งตรงนี้เป็นความจริงมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าว
จวก “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ออกแบบไว้ เพื่อประกันไม่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
จาตุรนต์ วิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า มาจากคณะยึดอำนาจเมื่อปี
2549 และถูกออกแบบไว้เพื่อที่จะประกันไม่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
โดยเขียนไว้ในเรื่อง อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ อำนาจของ ส.ว.ในการถอดถอน ที่มาของ
ส.ว.จากการสรรหาที่มีอยู่ถึงครึ่งหนึ่ง
ตรงนี้เป็นระบบที่เมื่อประชาชนเลือกตั้งมา
แต่อาศัยกลไกและเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญนี้สามารถล้มรัฐบาลได้โดยง่าย
โดยไม่ต้องเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยหรือหลักความยุติธรรม
และที่ผ่านมาก็เกิดมาแล้วกับ 2 รัฐบาล
การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้นำมาสู่วิกฤติมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เพราะคนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยเพราะพรรคที่เขาเลือกตั้งมาถูกยุบ
และออกมาเรียกร้องให้ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อพิสูจน์กันอีกครั้ง
แต่กลับนำมาสู่เหตุการณ์นองเลือด
และเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ประชาชนได้ตัดสินแล้ว
แต่จะถูกหักล้างอีกจากกลไกรัฐธรรมนูญหรือไม่
นี่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
ล้ม “ร่างรัฐธรรมนูญ” ความถดถอยครั้งใหญ่จาก น้ำมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
จาตุรนต์ กล่าว่า จากวิกฤติที่เกิดขึ้น
คนกลุ่มหนึ่งจึงเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องและเป็นธรรม
และเกิดคำถามว่าใครจะแก้ ทำให้มีการกำหนดแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291
ให้มีการเลือกตั้ง สสร.เพื่อลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถูกยับยังโดย
“ศาลรัฐธรรมนูญ”
เนื่องจากมีคนไปร้องว่ามีผู้จะล้มล้างระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี
พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งผู้ถูกร้องคือประธานรัฐสภา
ครม.พรรคการเมืองบางพรรค และส.ส.บางคน ข้อหาดังกล่าวเป็นข้อหาเดียวกันกลุ่ม
ร.ศ.130 ทั้งที่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภา
และจะมีการนำไปลงมติโดยประชาชนทั้งประเทศ
นอกจากนี้
การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องโดยตรงนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ขัดกับบรรทัดฐานเดิม ขัดกับการตีความของนักกฎหมาย
โดยมีวินิจฉัยไปแล้วว่าสามารถรับคำร้องเองได้ และจะมีผลต่อไป
ตรงนี้เท่ากับเป็นการแก้รัฐธรรมนูญโดยการวินิจฉัยที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ
เป็นการแก้รัฐธรรมนูญโดยทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง อีกทั้งมีการตีความรัฐสภา
และครม.เป็นบุคคลโดยศาลรัฐธรรมนูญตีความเข้าตามมาตรา 68
และศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำผิดต่อไปอีก จากการตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งที่มีอำนาจเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้นำไปสู่การล้มการ
ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
โดยไม่นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองหรือมีผลบานปลายตามมา
แต่เพียงการวินิจฉัยล้มการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ถือเป็นความเสียหายครั้ง
ใหญ่หลวงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เป็นความล้าหลังที่ไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ เพราะกระทำโดยศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่เหมือนการยึดอำนาจแต่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายขอบเขตอำนาจของตนเอง
ให้กลายเป็นสามารถตรวจสอบและวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญเหนือกว่ารัฐสภา
ถือเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ ปิดทางการแก้รัฐธรรมนูญ
เท่ากับนำสังคมไทยสู่ทางตัน
“ภายในประมาณต้นเดือนหน้า อย่างเร็วคือต้นเดือนหน้า
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเร็ว
ก็จะเกิดระบบที่ฝ่ายตุลาการในที่นี้คือศาลรัฐธรรมนูญในประเทศนี้มีอำนาจ
เหนือกว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
หมายความว่ากำหนดความเป็นไปของคณะรัฐมนตรีได้ กำหนดว่าจะให้แก้กฎหมาย
หรือไม่ให้แก้กฎหมาย หรือปฏิเสธการแก้กฎหมายที่รวมถึงรัฐธรรมนูญ
ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากก็คือเรากำลังบอกว่าเราจะก้าวไปสู่ระบบที่ผู้มีอำนาจ
ทางตุลาการที่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใดทั้งสิ้น
และตรวจสอบโดยประชาชนไม่ได้ กำลังจะมีอำนาจเหนือกว่าอำนาจอื่นๆ
ที่ยึดโยงกับประชาชน” อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายจาตุรนต์ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นว่า
ขณะนี้ประชาชนในสังคมไทยมีความเข้าใจมากขึ้น จาก 80 ปี ที่ผ่านมา
และต่างจาก 20 ปีที่แล้วมาก กระแสโลกเปลี่ยนแปลงไป
ตรงนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตย
และในประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความเข้าใจของประชาชนต่อระบบพรรค
การเมืองและการเลือกตั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงระยะ 10
กว่าปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้นพลังประชาชนที่ไม่ใช้เฉพาะในสภาก็มีการตื่นตัวมาก
ตรงนี้เป็นข้อดีที่จะทำให้การชักคะเย่อกันต่อไปนี้จะไม่ถูกดึงจนชนะไปทางไหน
ได้ง่ายๆ
วิจารณ์นักประวัติศาสตร์ไม่ตีความ 2475 ปล่อยรัฐศาสตร์กระแสหลักคุมวาทกรรม
พิชิต กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจ คือ การตีความ 24 มิ.ย.2475
โดยกระแสหลักของฝ่ายซ้ายไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ตีความคล้ายกับรัฐศาสตร์กระแสหลักไทยมาก โดยไม่ให้ความสำคัญกับ 24
มิ.ย.2475 และวิจารณ์คณะราษฎรในทางลบว่า แม้จะมีท่าทีต่อต้านจักรวรรดินิยม
ศักดินานิยม แต่ล้มเหลวในภารกิจ เพราะผูกขาดอำนาจไว้ในกลุ่มเล็กๆ
ไม่เอาอำนาจผูกโยงกับประชาชน และเป็นการรัฐประหารเช่นเดียวกัน
เขามองว่า
การตีความทั้งในแบบของนักรัฐศาสตร์กระแสหลักหรือฝ่ายซ้ายต่างครอบงำวิธีคิด
ของนักวิชาการไทยมานานมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5
ปีตั้งแต่รัฐประหาร 19 ก.ย. ก่อให้เกิดกระแสที่สาม คือ กลุ่มคนเสื้อแดง
ที่หันมามอง 24 มิ.ย.2475 ในแบบที่ต่างออกไป การตีความและมอง 24 มิ.ย.2475
ของพวกเขามีความโดดเด่น เพราะไม่ได้ถูกครอบงำโดยรัฐศาสตร์กระแสหลัก
ไม่ยอมรับว่าคณะราษฎรเป็นต้นกำเนิดของอำมาตยาธิปไตยไทย
เมื่อเปิดวิทยุในที่ต่างๆ จะเจอดีเจเอา 24 มิ.ย.2475
มาพูดในมุมที่ต่างกับที่นักวิชาการพูด
ซึ่งเป็นเรื่องดีในแง่ที่ว่าการประเมินไม่ควรอยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัยหรือนัก
วิชาการอีกต่อไป เราทำจนเป็นพิธีกรรมไปแล้ว ไม่อาจหลุดจากการวิเคราะห์ได้
เสนอว่านักวิชาการต้องมองภายนอกและฟังมากขึ้น
ทั้งนี้ พิชิตกล่าวว่า
ปัญหาใหญ่ของคณะราษฎรซึ่งแก้ไม่ตกและล้มเหลวเป็นปัญหาจนทุกวันนี้ คือ
ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย
คณะราษฎรพยายามหาสูตรสำเร็จ จัดวางสถานะของสถาบันกษัตริย์
โดยพิมพ์เขียวที่วางไว้ชัดเจน ในฉบับ 10 ธ.ค.75
ระบุชัดเจนว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ซึ่งมีอำนาจที่จำกัดอย่างยิ่ง เพราะทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านรัฐสภา
และใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรีที่มาจากรัฐสภา
มีเพียงอำนาจตุลาการอำนาจเดียวที่รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธ.ค.75
ไม่ได้แตะต้อง อย่างไรก็ตาม การจัดวางตำแหน่งแห่งที่นี้ล้มเหลว
โดยรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์
นำมาซึ่งการฟื้นคืนสถานะและพระราชอำนาจของกษัตริย์
พิชิต ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า
หลายสิบปีมานี้มีคดีการเมืองที่ตัดสินโดยศาลจำนวนมาก อาทิ
การลงโทษกบฏบวรเดช เนรเทศนักโทษการเมือง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
มีการจับกุมนักเขียนฝ่ายซ้าย
หรือคำวินิจิฉัยของศาลฎีกาที่บอกว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย
แต่การใช้องค์กรตุลาการแทรกแซงอย่างเป็นระบบเพิ่งมีมาไม่กี่ปีมานี้
ดังนั้น เหตุการณ์ใน 4-5 ปีมานี้ หรือเทศกาลยุบพรรคที่อาจจะเกิดขึ้น
ก็เป็นบทเรียนที่ดีที่ทำให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองปัจจุบัน
การแก้ไขโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถ้ายังร่างได้
(ส่วนตัวคิดว่าจบไปแล้ว)
การปฏิรูปตุลาการจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ
และคงจะต้องมีการพูดถึงการเชื่อมโยงองค์กรตุลาการเข้ากับอำนาจที่มาจากการ
เลือกตั้งไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
"ปัญหาของการใช้อำนาจทางตุลาการไปแทรกแซงปัญหาทางการเมืองอย่าง
โจ่งแจ้ง มันได้กระตุ้นให้คนคิดและเข้าใจปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น
และมันก็ทำให้เห็นชัดเจนด้วยว่าอำนาจที่แท้จริงในระบอบการเมืองปัจจุบันมัน
อยู่ที่ไหน
ความขัดแย้งในปัจจุบันนี้มันก็คือความขัดแย้งระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือก
ตั้งกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
และมันแสดงออกอย่างชัดเจนและแหลมคมที่องค์กรตุลาการ
ก็คือศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาก้าวก่ายและครอบงำอำนาจนิติบัญญัติ"
พิชิตกล่าวและว่า ก่อนหน้านี้ ชัดเจนว่า
องค์กรตุลาการเข้ามาครอบงำอำนาจบริหารเป็นหลัก เห็นได้จากการยุบพรรค
ถอดถอนนักการเมือง
แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอำนาจตุลาการนั้น
อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนืออำนาจนิติบัญญัติด้วย