WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, October 17, 2008

จากนักบิน ถึงหมอ ลามต่อที่...มะเร็งของการอ้างสิทธิ

คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ

จากนักบิน ถึงหมอ ลามต่อที่...มะเร็งของการอ้างสิทธิ


ข่าวการประท้วงโดยนักบินการบินไทยและแถลงการณ์จากแพทย์หลายสถาบันในกรุงเทพ วันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา นับเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ของภาคประชาสังคมที่มีต่อรัฐแบบทันควัน หลังตำรวจสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภา ลามไปถึงการประกาศจากทีมแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 9 ตุลาคม ที่ผ่านมา น่าแปลกที่การประท้วงเหล่านี้ได้ถูกนำไปกล่าวสดุดีในเวทีชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนกล่าวสรรเสริญการกระทำเหล่านี้ว่ากล้าหาญ เป็นผู้เสียสละเพื่อชาติ และเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทั้งเรียกร้องให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ แม่ค้า และประชาชน ยึดเอาการประท้วงในลักษณะดังกล่าวเป็นต้นแบบ (model) ในการแสดงออกซึ่ง “มาตรการกดดันทางสังคม” (social sanction)
สนธิ แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวต่อหน้าผู้ร่วมการชุมนุมพันธมิตรฯ จำนวนมากว่า แรงบันดาลใจจากการประท้วงของกัปตันการบินไทยที่ไม่ยอมให้ ส.ส. พรรคพลังประชาชนขึ้นเครื่องบิน ทำให้เขาฉุกคิดถึงการดึงเอาพลังของพันธมิตรฯ ที่ยังไม่ได้ใช้ ออกมาใช้ให้มากขึ้น ดังนั้นสนธิจึงมีความคิดที่จะทำสติ๊กเกอร์ “ที่นี่ไม่ต้อนรับนักการเมือง” ออกมานับแสนๆ ใบ เพื่อแจกจ่ายเพื่อให้เครือข่ายพันธมิตรฯ นำไปติด ว่ากันว่า เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจน หรือเป็นการขยายแนวรบของสงครามเชิงสัญลักษณ์อีกรูปแบบหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ไม่นาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยกดดันรัฐบาลสมัคร โดยปิดสนามบินหาดใหญ่และสนามบินภูเก็ต ยุติการเดินรถไฟหลายสาย ต่อมาก็มีคำขู่อย่างต่อเนื่องว่า จะตัดน้ำตัดไฟฟ้า หากรัฐไม่ทำตามความต้องการที่ร้องขอทันเวลา แม้ว่าการประท้วงรัฐเป็นเครื่องชี้วัดความตื่นตัวทางการเมืองของประชาสังคมในระบอบประชาธิปไตย แต่การประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ กำลังก่อให้เกิดคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อภาคประชาสังคมอีกปีกหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวประณามการใช้มาตรการประท้วงรัฐของแพทย์
มาตรการทางสังคมกำลังถูกนำไปใช้อย่างไร้ทิศทาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า “ภาคประชาชน” ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ที่สำคัญ การใช้มาตรการทางสังคมกำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า การใช้มาตรการทางสังคมในลักษณะไหน ภายใต้เงื่อนไขอย่างไรจึงจะเรียกว่าชอบธรรม? การหาคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถกเถียงกันเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง
มาตรการกดดันทางสังคม…ความเหมือนในความต่าง

ทั้งๆ ที่รูปธรรมของการประท้วงรัฐโดยภาคประชาสังคมเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ และการประท้วงต่างรูปแบบก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่างระดับ เช่น การที่แม่ค้าไม่ยอมขายของให้คนที่สนับสนุนรัฐบาล ย่อมมีผลกระทบไม่เท่ากับการที่พนักงานรัฐวิสาหกิจไม่ยอมให้บริการรถไฟ หรือการขู่ตัดน้ำตัดไฟ หรือการประกาศไม่ให้บริการทางการแพทย์ แต่การประท้วงรัฐที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้กลับมีจุดร่วมกันอย่างน่าประหลาด
นับตั้งแต่เป็นการแสดงออกของปัจเจกชนหรือกลุ่มบุคคลในภาคประชาสังคมเหมือนกัน มุ่งแสดงความเห็นคัดค้านรัฐเหมือนกัน ใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจและสังคมในการกดดันเหมือนกัน เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบตลาดเหมือนกัน เป็นการเคลื่อนไหวประท้วงของคนชั้นกลางระดับมีอันจะกิน หรือพวกคอปกขาว หรือไม่ก็ผู้ประกอบการเหมือนกัน เป็นการประท้วงที่อ้างอิงอำนาจความเป็นผู้เชี่ยวชาญ ความเป็นผู้รู้ เป็นอภิสิทธิ์ชน มีตำแหน่งแห่งที่พิเศษ (privileged position) ในสังคม เช่น เป็นแพทย์ เป็นกัปตัน เป็นอธิการบดี หรือไม่ก็มีอำนาจ (authority) ในการกุมช่องทางการเข้าถึงทรัพยากรที่สำคัญ เช่น เป็นผู้ควบคุมระบบการแจกจ่ายน้ำไฟ เป็นต้น
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเคลื่อนไหวเหล่านี้อ้างสถานะความเป็นประชาชนในการยืนยันความชอบธรรม และใช้วิธีการ (means) เช่น การปฏิเสธที่จะปฏิบัติหน้าที่ หรือการเลือกปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชนบางคนหรือบางกลุ่ม ตลอดจนการกีดกันไม่ให้มีการเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวม (exclusion of access to common property) เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า เพื่อต่อรองในการบรรลุเป้าหมาย
โดยทั่วไปแล้ว การอ้างสิทธิอันชอบธรรมต้องวางอยู่บนฐานอำนาจที่ชอบธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สิทธิตามกฎหมาย (law) สิทธิตามจารีตประเพณี (custom) และสิทธิอันเกิดจากการยินยอมทางสังคม (convention) นอกเหนือจากนั้นแล้ว การอ้างสิทธิก็ไม่อาจถือว่าชอบธรรม
เมื่อการอ้างสิทธิของปัจเจกชนหรือของกลุ่มบุคคลหนึ่งในขณะนี้ กลับไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอีกกลุ่มอื่นๆ การอ้างสิทธินั้นจะยังถือว่าชอบธรรม และเป็นตัวแทนของ “ประชาชน” หรือไม่?
เมื่อปัจเจกชนหรือกลุ่มคนอ้างอำนาจที่ได้จากการลงทุนความรู้ของสังคม การมีตำแหน่งแห่งที่พิเศษในสังคม หรือการเป็นสมาชิกของสถาบันที่สังคมไว้วางใจให้ควบคุมทรัพยากรของส่วนรวม เพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามที่ตนต้องการ การอ้างสิทธินี้ ยังเป็นสิ่งที่สังคมต้องยอมรับหรือไม่?
ความรุนแรงของรัฐ VS ความรุนแรงของภาคประชาชน
น่าเสียใจว่าสื่อสาธารณะจำนวนไม่น้อยกำลังสร้างมายาคติว่า เหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่หน้ารัฐสภา เป็นความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนเพียงฝ่ายเดียว นัยก็คือต้องการจะบอกว่า ประชาชนเป็นเหยื่อ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ ดังนั้น รัฐจึงสมควรถูกประณาม
การสร้างภาพแทนความจริงผ่านสื่อ กำลังสร้างความจริงขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง และความจริงชุดดังกล่าวได้เข้าปะทะ เบียดขับ และทำลายความน่าเชื่อถือของความจริงชุดอื่นๆ นำไปสู่การสถาปนาความเชื่อว่าการเข้าปิดล้อมรัฐสภา เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสภา เป็นเรื่องทำได้ในระบอบประชาธิปไตย? การตัดกระแสไฟฟ้าในขณะที่มีการประชุมสภา เป็นเรื่องชอบธรรม? การแสดงวาจามุ่งร้าย การข่มขู่ และการกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ยอมเปิดทางให้เข้าออกรัฐสภาเป็นเรื่องถูกต้อง?
มายาคติเช่นนั้นทรงพลังก็จริง แต่ไม่อาจปิดกั้นความจริงชุดอื่นๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดูจากการตั้งคำถามของสังคม เกี่ยวกับการมีอาวุธในครอบครองและการใช้ความรุนแรงของการ์ดฝ่ายพันธมิตรฯ ที่เผยแพร่ตามสื่อเว็บไซต์ต่างๆ การตั้งคำถามเรื่องการบาดเจ็บและการล้มตายของตำรวจ การตั้งคำถามต่อผู้ที่อยู่เบื้องหลังการปะทะกัน ระหว่างฝ่ายสนับสนุนพันธมิตรฯ กับฝ่ายคัดค้าน รวมถึงการตั้งคำถามกับท่าทีที่เงียบเฉยของสื่อกระแสหลักต่อความตายของฝ่ายตรงข้ามพันธมิตรฯ
เราจะนิยามความรุนแรงที่เผชิญหน้าอยู่ทุกวันนี้อย่างไร? เราจะถือว่าการทำร้ายทางกายเท่านั้นหรือคือความรุนแรง? การใช้คำพูดให้ร้าย การข่มขู่ มุ่งร้าย การไม่พูดความจริง การพูดความเท็จปนจริง เพื่อสร้างความเข้าใจผิด การสร้างความเกลียดชัง และการจงใจสร้างความแตกแยกในสังคม ถือเป็นความรุนแรงหรือไม่?
เราจะถือว่า การเข้าข้างแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายผลประโยชน์แบบไม่สมดุล ซึ่งเอื้อผลประโยชน์ให้แก่นายทุน อภิสิทธิ์ชน คนที่มีตำแหน่งแห่งที่พิเศษในสังคม คนที่กุมอำนาจในการควบคุมและเข้าถึงทรัพยากรจำเป็นของสังคม ตลอดจนคนชั้นกลางในเมือง เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งหรือไม่? รวมถึงเราจะมองการพยายามรักษาสถานภาพอำนาจเดิมในสังคม (status quo) ของคนเพียงไม่กี่หยิบมือว่า เป็นความรุนแรงต่อประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่?
นักทฤษฎีชื่อดัง มิเชล ฟูโก (Michel Foucault) กล่าวไว้ว่า อำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องที่สามารถจะครอบครองหรือผูกขาดอยู่ในมือของใคร เพราะอำนาจไม่ผูกขาดอยู่ในมือของผู้กุมอำนาจรัฐ แม้แต่ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐก็อาจแสวงอำนาจผ่านยุทธวิธีต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตน ดังนั้น วาทกรรมที่กำลังเกร่ออยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ความรุนแรงของรัฐ” “เหยื่อของอำนาจรัฐ” “การต่อต้านของประชาชนสองมือเปล่า” “อารยะขัดขืน” หรือ “ประชาภิวัตน์” จึงเป็นมากกว่าถ้อยคำที่ใส ซื่อ ไร้เดียงสา ปราศจากนัยแฝงเร้นทางการเมือง หากแต่เป็นความพยายามสถาปนาอำนาจนำ ผ่านการสร้างความหมาย คุณค่า และบรรทัดฐานทางสังคม อันนำไปสู่การปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างกลุ่มคนในทางปฏิบัติ
การถกเถียงกันในเรื่องผลกระทบของการสร้างวาทกรรมเป็นเรื่องจำเป็น บทความนี้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการเตือนสติว่า การใช้วาทกรรมทางการเมืองอย่างขาดความระมัดระวัง เป็นเรื่องที่อันตรายต่อสังคม
เมื่อนักบินการบินไทยอ้างสิทธิในฐานะพนักงานการบินไทย ที่ทับซ้อนกับสิทธิในฐานะสมาชิกชุมชนพันธมิตรฯ เพื่อปฏิเสธไม่ให้ ส.ส. พรรคพลังประชาชน ที่ซื้อตั๋วอย่างถูกต้องขึ้นเครื่องบินของการบินไทย โดยอ้างอำนาจที่ได้มาจากสถานภาพการเป็น “กัปตัน” โดยมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า เครื่องบินไม่ใช่สมบัติส่วนตัว หากแต่เป็นทรัพย์สินของบริษัท และบริษัทการบินไทยเติบโตจากการสนับสนุนของเงินภาษีของประชาชน บริษัทมีพันธะผูกพันที่ต้องให้บริการแก่สังคมและต่อผู้บริโภค จึงเท่ากับว่า การอ้างสิทธิของกัปตันไปกระทบต่อสิทธิของส่วนรวมโดยตรง คำถามคือ การอ้างสิทธิเช่นนี้อาศัยอำนาจอะไรมารองรับความชอบธรรมของการอ้างสิทธิของตน?
ในทำนองเดียวกัน เมื่อแพทย์และพยาบาล (บางคน) อ้างสิทธิในนามสถาบัน เช่น แพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ประกาศว่า “จะงดตรวจและรักษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยอ้างว่าการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่เป็นหนึ่งในมาตรการกดดันทางสังคม ที่แพทย์และพยาบาลมีสิทธิแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้บริหารประเทศและตำรวจ รวมถึงกรณีคณะแพทย์จากโรงพยาบาลเชียงใหม่ (บางคน) ประกาศไม่รับรักษา “ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลในชุดปัจจุบัน งดการตรวจรักษาผู้รับบริการที่เป็นตํารวจ และเรียกร้องให้เพื่อนแพทย์ทั่วประเทศ ร่วมกันดําเนินมาตรการกดดันทางสังคมต่อผู้นํารัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตํารวจโดยพร้อมเพรียงกัน”
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การอ้างสิทธิของบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าว อ้างอิงความชอบธรรมจากอะไร ในเมื่อการอ้างสิทธิไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ ไม่มีอยู่ในจารีตประเพณี และไม่ได้ผ่านการรับรองจากสังคม
ตราบเท่าที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการมีอาวุธในครอบครอง การใช้ความรุนแรง ยังคงเป็นข้อกล่าวหาที่มีต่อทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน ตราบเท่าที่ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชนต่างบาดเจ็บล้มตาย ตราบเท่าที่การพิสูจน์ความจริงเบื้องหลังความขัดแย้งยังอยู่ในดำเนินการไม่แล้วเสร็จ การด่วนสรุป ตัดสิน และการเลือกข้าง เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จึงเป็นความรุนแรงที่ยากจะปฏิเสธ ความรุนแรงชนิดนี้คือมะเร็งที่กำลังแพร่ระบาดในสังคม
ผลกระทบในระยะสั้น คือการสร้างเกลียดชังและแบ่งขั้ว แยกข้างให้บาดลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ส่วนผลกระทบในระยะยาว คือการฉีดวัคซีนให้คนไทยเคยชินกับการจัดประเภทกลุ่มคน (categorization) การตีตรากลุ่มคน (stigmatization) รวมถึงการตัดสินคนแบบเหมารวม (generalization) อย่างมืดบอด ซึ่งเท่ากับทำลายโอกาสเข้าถึงความจริง ทำลายโอกาสแยกแยะถูกผิด และทำลายโอกาสอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างของแนวคิด และเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์