WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, November 6, 2008

จุดหักเหของกระบวนการยุติธรรมทางการเมืองในประเทศไทย


คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ

โดย คณิน บุญสุวรรณ

กระบวนการยุติธรรมทางการเมือง ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ภายใต้กระบวนการที่ชื่อว่า “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชนเป็นสำคัญ ก่อนหน้านั้นมีแต่กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีศาลยุติธรรมเป็นกลไกหลักและที่พึ่งสุดท้ายในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ซึ่งมักจะเรียกกันเล่นๆ ว่า “กฎหมายสี่มุมเมือง” เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมทางการเมืองจึงแตกต่าง แยกต่างหาก และเป็นอิสระจากกระบวนการยุติธรรมทั่วไปที่มีศาลยุติธรรมเป็นกลไกหลัก

ถึงแม้กระบวนการยุติธรรมทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 จะมีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบที่เป็นศาลรวมอยู่ด้วย แต่ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองก็เป็นอิสระและแตกต่างไปจากศาลยุติธรรมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการ องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ ขณะเดียวกันก็มีความยึดโยงและรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประชาชนมากกว่าศาลยุติธรรม อย่างมีนัยสำคัญ

และถึงแม้จะมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาลยุติธรรม แต่ก็มีระยะห่างระหว่าง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ค่อนข้างมาก ที่สำคัญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานขององค์กรตรวจสอบที่ชื่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทำการไต่สวนแล้วสรุปเป็นรายงานว่า “ข้อกล่าวหาไม่มีมูล” นอกจากนั้น องค์คณะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีถึง 9 คน และได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ และเลือกเป็นรายคดี ก็สะท้อนความเป็น “คดีการเมือง” ซึ่งมีเอกลักษณ์ ปรัชญา และกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาเป็นพิเศษแตกต่างไปจากการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาในศาลยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัด

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่างก็ถือเป็นองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่เป็นอิสระ และยึดโยง รวมทั้งรับผิดชอบต่อประชาชนและรัฐสภาอยู่มากพอสมควรเช่นกัน

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นกลไกหลักของกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น นอกจากจะเป็นอิสระและแตกต่างจากศาลยุติธรรมแล้ว ยังมีความยึดโยงและรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประชาชนมากกว่าศาลยุติธรรมอีกด้วย

และเพื่อที่จะให้เห็นจุดหักเหซึ่งทำให้กระบวนการยุติธรรมทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกเบี่ยงเบนและเปลี่ยนแปลงไปชนิดหักมุม 90 องศา หลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิกไปโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉายภาพให้เห็นกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างชัดๆ เสียก่อนที่จะนำไปเปรียบเทียบกับกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้นและสืบเนื่องไปจนถึงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550

กล่าวคือ ในขณะที่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2540 ประกอบด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นหลักนั้น ผู้ใช้อำนาจรัฐที่จะต้องถูกตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง ได้แก่ ผู้ใช้อำนาจรัฐทั้ง 6 สาขา ไม่ว่าจะเป็นสาขานิติบัญญัติ สาขาบริหาร สาขาตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือแม้แต่บรรดาผู้ใช้อำนาจรัฐที่เป็นองค์กรตรวจสอบทั้งหลายเอง ด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง หรือการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกทำลายลงโดยผลของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้สร้างกลไกใหม่ขึ้นมาใช้แทนกระบวนการยุติธรรมทางการเมืองที่ถูกทำลายไปดังกล่าว กระบวนการยุติธรรมซึ่งเกิดขึ้นหลัง 19 กันยายน 2549 และสืบเนื่องมาจนถึงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 นี้

เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นกระบวนการและกลไกการตรวจสอบที่กำหนดขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนองตอบ และจัดการกับข้อกล่าวหา 4 ประการ ที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น (ซึ่งไม่ใช่หลักการเดียวกับกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง หรือกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ 2540) จึงเรียกเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจาก “กระบวนการยุติธรรมทางเดียว” (One way Justice)

ซึ่งเมื่อพูดถึง “กระบวนการยุติธรรมทางเดียว” ที่ว่านี้ โปรดอย่าเข้าใจผิดว่ากำลังพูดพาดพิงถึงกระบวนการยุติธรรมทั่วไป ซึ่งใช้กฎหมายสี่มุมเมือง (กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา วิแพ่ง วิอาญา) เป็นบรรทัดฐานในการบังคับใช้และวินิจฉัย หากแต่เป็นกระบวนการยุติธรรมทางการเมืองที่เบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ของการก่อกำเนิดตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย บุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการตรวจสอบ หรือแม้แต่การนำฝ่ายตุลาการมาจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

ซึ่งความเบี่ยงเบนทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวข้างต้นได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมอย่างน้อย 3 ประการ
1.เกิดสิ่งที่เรียกว่ายุติธรรมทางเดียว (One way Justice) เพราะผู้ที่ตกเป็นจำเลย และผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทางการเมือง ล้วนเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งถูกโค่นล้มลงจากอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทั้งสิ้น
2.เกิดสิ่งที่เรียกว่าการขัดกันทางอำนาจ (Conflict of Power) เพราะศาลได้ก้าวออกมานอกอาณาจักรตุลาการ แล้วใช้อำนาจในการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฐอีกแขนงหนึ่งอย่างเต็มตัว
3.เกิดมีกฎหมายพิเศษขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ได้แก่
3.1) กฎหมายที่มิได้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป แต่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ซึ่งขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมแห่งกฎหมาย (Rule of Law) อย่างเห็นได้ชัด
3.2) มีการบัญญัติกฎหมาย เพื่อกำหนดโทษย้อนหลังแก่การกระทำซึ่งในขณะนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ซึ่งก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน
3.3) ทำให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยหรือตัดสิน จำเป็นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยมีความผิด ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
3.4) มีการบัญญัติกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะได้นำเอาผู้มีส่วนได้เสียไปบัญญัติกฎหมายให้เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง แต่เป็นโทษแก่บุคคลที่ตกเป็นจำเลยและผู้ถูกกล่าวหา ภายหลังถูกโค่นล้มลงจากอำนาจโดยการรัฐประหาร

กฎหมายพิเศษที่เบี่ยงเบนอันเป็นผลต่อกระบวนการยุติธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และสืบเนื่องมาถึงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีที่มาจากแหล่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
2.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3.บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
4.บทเฉพาะกาลที่ “ไม่เฉพาะกาล”

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
1.1) มาตรา 35 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งไม่ใช่ศาล แต่มีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำความผิดภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว
1.2) มาตรา 36 บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ ทุกฉบับ ที่ออกระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
1.3) มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลายในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องหรือได้รับมอบหมาย หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมาย อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะให้มีผลบังคับทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

2.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
2.1) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549
- แต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยให้คนคนเดียวเป็นทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
2.2) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549
- แต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน
2.3) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 21 กันยายน 2549
- แต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 3 คน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือในรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ก่อนหน้านั้น
2.4) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549
- แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 9 คน
2.5) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
- ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค มีกำหนด 5 ปี ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดเพิ่มขึ้นใหม่ภายหลังที่รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกยกเลิกไปแล้ว
2.6) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
- ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จำนวน 12 คน เพื่อให้ใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อำนาจของคณะกรรมการ ปปง. และอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรในเวลาเดียวกัน โดยมีเป้าหมายที่จะให้ตรวจสอบและจัดการกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ถูกโค่นล้มลงจากอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะ ไม่เว้นแม้แต่บรรดาข้าราชการประจำซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งและตามกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้น

3.บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
3.1) มาตรา 68 วรรคสี่ และมาตรา 237 วรรคสอง ซึ่งเป็น “มรดกทางอำนาจ” ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 27 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่โดน กกต. ให้ใบแดงฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง อันนำไปสู่การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค หากปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย อันจะส่งผลให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกสั่งยุบพรรคนั้น ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปีด้วย
3.2) มาตรา 265 (1) (2) และวรรคสาม ซึ่งห้ามมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมทั้งคู่สมรส และบุตร ไปดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
3.3) มาตรา 267 ซึ่งห้ามมิให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี มีตำแหน่งในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเพื่อหากำไรหรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ซึ่งลักษณะต้องห้ามดังกล่าวก็ได้กำหนดไว้ในมาตรา 207 (3) ที่จะใช้บังคับกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการการเลือกตั้งด้วย แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็คงใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรทั้งห้าเหล่านั้นไม่ได้ เพราะผู้ที่มีอำนาจที่จะชี้ขาดว่าใครจะต้องพ้น หรือไม่พ้นจากตำแหน่งเพราะเป็นลูกจ้างใครหรือไม่ ก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง
3.4) มาตรา 126 วรรคห้า และมาตรา 162 วรรคสอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระที่จะลงมติเลือกใครหรือไม่เลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ โดยไม่ต้องฟังมติพรรคหรือตกอยู่ใต้อาณัติมอบหมายใดๆ นอกจากนั้นยังมีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งหมายความว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติไม่ไว้วางใจแม้แต่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคของตัวเองก็ยังได้

4.บทเฉพาะกาลที่ “ไม่เฉพาะกาล”
4.1) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 252 และบทเฉพาะกาลมาตรา 301) ไปจนกว่าจะครบวาระตามบทเฉพาะกาล
4.2) คณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 5 คน ซึ่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 235 มาตรา 236 และบทเฉพาะกาลมาตรา 299) ไปจนกว่าจะครบวาระ 7 ปี ในวันที่ 19 กันยายน 2556
4.3) ผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 3 คน ซึ่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 21 กันยายน 2549 และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 244 และบทเฉพาะกาลมาตรา 299) ไปจนกว่าจะครบวาระ 6 ปี ของแต่ละคน
4.4) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจำนวน 9 คน ซึ่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 250 และบทเฉพาะกาลมาตรา 299) ไปจนกว่าจะครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 21 กันยายน 2558
4.5) คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ตามมาตรา 113 จำนวน 7 คน ซึ่ง 4 ใน 7 คนดังกล่าว ประกอบด้วยประธานของ 4 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2550 และบทเฉพาะกาลตามข้อ 1-4 ข้างต้น เป็น “เสียงข้างมากเด็ดขาด” ในการที่จะชี้ขาดว่าผู้ใดจะได้เป็น ส.ว. ประเภทสรรหา จำนวน 74 คน
4.6) บทเฉพาะกาลมาตรา 309 มีผลทำให้องค์กรและคณะบุคคลทั้ง 5 ประเภทดังกล่าวข้างต้น อยู่ในฐานะที่ “ทำอะไรไม่ผิด” ไปตลอดอายุการใช้บังคับของรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะบทเฉพาะกาลมาตราดังกล่าวได้ “นิรโทษกรรมล่วงหน้า” ไว้ให้แล้ว
4.7) บทเฉพาะกาลมาตรา 306 มีผลทำให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและพนักงานอัยการ ซึ่งครบเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นไป สามารถดำรงตำแหน่ง “ผู้พิพากษาอาวุโส” และ “อัยการอาวุโส” ในชั้นศาล และในตำแหน่งที่ตนเกษียณได้จนกว่าจะอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กระบวนการยุติธรรมทางการเมืองที่ถูกเบี่ยงเบน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และสืบเนื่องมาจนถึงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ไม่สามารถนำมาแก้ไขหรือแม้แต่จะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันได้ มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวลุกลามมากยิ่งขึ้นไปอีก จนถึงขั้นกลายเป็นวิกฤติที่หาทางออกไม่เจอ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันนั้น ก็มีสาเหตุมาจากกระบวนการยุติธรรมทางการเมืองที่ถูกเบี่ยงเบน ซึ่งเริ่มก่อตัวนับแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมานั่นเอง