นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้รับรายงานข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานต่างๆของธนาคารไทยธนาคารแล้ว ส่วนกระแสข่าวที่ว่าจะตั้งกรรมการสอบผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้นยังไม่ทราบ และขอเวลาตรวจสอบในรายละเอียดก่อนโดยจะขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ธปท.เพราะข้อมูลที่ได้รับมาเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น และข้อมูลที่ได้ก็ไม่ได้มาจาก ธปท.จะต้องสืบค้นและหาข้อเท็จจริงต่อไป ทั้งนี้ เท่าที่ดูข้อมูลเบื้องต้นธนาคารไม่ได้มีปัญหาถึงขนาดที่ต้องล้ม “ผมได้ฟังเพียงข้อมูลเบื้องต้นจะต้องขอข้อมูลรายละเอียดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเท่าที่ได้รับรายงานยังไม่มีการสรุปว่าใครผิดหรือถูก และก็ไม่ได้ไปไกลถึงขนาดเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร หรือผู้ว่าการแบงก์ ชาติ ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ได้มาจากผม” ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับฟังข้อมูลการดำเนินงานของไทยธนาคารแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีการรับรู้ข้อมูลหรือปัญหาของธนาคารแล้ว นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เรื่องของไทยธนาคารนั้นเป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งก็เป็นที่รู้กันทั่วไปซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็คงรับรู้ข้อมูลในภาพรวมเช่นเดียวกัน ส่วนสถานการณ์ของธนาคารนั้นคงไม่ถึงกับต้องล้มลงอย่างแน่นอน เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องเข้าไปดูข้อเท็จจริง แฉกองทุนฟื้นฟูฯสูญทันที 2 พันล้าน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องหลังความพยายามของกองทุนฟื้นฟูฯในการขายหุ้นที่ถืออยู่ในไทยธนาคารออกไปล่าสุดนั้น ก็เพื่อปกปิดและปัดความรับผิดชอบของผู้บริหารกองทุนฟื้นฟูฯที่ปกปิดข้อมูลในช่วงการเพิ่มทุนไทยธนาคารก่อนหน้านี้ เพราะมีการนำเงินกองทุนเข้าไปเพิ่มทุนด้วยทั้งที่รู้สถานะแบงก์ดีว่าจะต้องมีการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมก่อน จนทำให้กองทุนฟื้นฟูฯประสบกับความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงสิ้นปี 2549 ไทยธนาคารมีการขาดทุนสะสมอยู่ถึง 8,524 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะลดต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเป็นต้องเพิ่มทุน กองทุนฟื้นฟูฯจึงกำหนดแผนแก้ไขสถานะของธนาคาร โดยให้มีการลดทุนจดทะเบียนเพื่อล้างขาดทุนสะสมให้หมดก่อน จึงจะเพิ่มทุนใหม่เข้าไปและมีการเจรจาดึงกองทุนทีพีจี นิวบริดจ์เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนฝ่ายเดียว 3,030 ล้าน เป็น 16,860 ล้าน จากนั้นจะลดทุน 8,517 ล้านบาท เพื่อล้างขาดทุนสะสมให้หมด ก่อนจะเพิ่มทุนครั้งที่ 2 โดยขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมแบบ right offering เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในการเพิ่มทุนครั้งที่ 2 ในเดือน ม.ค. 51 ซึ่งกำหนดขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 4,145 ล้านบาทนั้น กองทุนฟื้นฟูฯได้ใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วย 1,363 ล้านบาท และยังได้ร่วมกองทุนนิวบริดจ์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนแทนผู้ถือหุ้นเดิมที่ปฏิเสธซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วย 1,934 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของกองทุนฟื้นฟูฯ 852 ล้านบาท รวมเม็ดเงินที่กองทุนฟื้นฟูฯใส่เข้าไปในช่วงปี 2550-51 จำนวน 2,215 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดน่าจะเพียงพอต่อการประคับประคองฐานะของแบงก์ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเงินเพิ่มทุนที่ลงไปดังกล่าวกลับหายวับไปทั้งหมด เนื่องจากแบงก์ประสบปัญหาขาดทุนใหม่ขึ้นมา 3,795 ล้านในสิ้นไตรมาส 4 ของปี 50 และเพิ่มเป็น 9,800 ล้าน ในสิ้นไตรมาสแรกของปี 51 จากการลงทุนตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ต่างประเทศหนุนหลัง (ซีดีโอ) กว่า 13,000 ล้านบาท และเกิดวิกฤติซับไพร์ม แฉรู้เต็มอกใส่เงินลงไปต้องสูญ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.51 ในราคาหุ้นละ 1.36 บาท และ 1.38 บาท ในวันที่ 29 ม.ค.51 นั้น ผู้บริหาร ธปท.และกองทุนฟื้นฟูฯต่างก็ทราบดีว่าราคาหุ้นตามบัญชีที่แท้จริงของไทยธนาคารหรือบีทีนั้นอยู่ที่ 0.31 บาท/หุ้นเท่านั้น เนื่องจากมีการขาดทุนสะสมใหม่สูงกว่า 9,800 ล้านบาท และจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนรอบใหม่ตามมา แต่การจะขายหุ้นใหม่ได้จะต้องมีการลดทุน เพื่อล้างขาดทุนสะสมก่อน ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯต่างรู้อยู่เต็มอกว่าหากลดทุนจดทะเบียนย่อมกระทบกับเม็ดเงินที่กองทุนจะใส่ลงไปจำนวน 2,215 ล้านบาทนี้ด้วยแต่ก็ยังตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งที่ 2 นี้ทำให้ กองทุนเสียหายทันที “การที่กองทุนฟื้นฟูฯให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นไทยธนาคารลงมติให้เพิ่มทุนจำหน่ายกับผู้ถือหุ้นเดิมในราคา 1.36-1.38 บาทต่อหุ้นนั้น แม้จะอ้างว่าไม่ทราบราคาหุ้นตามบัญชีที่แท้จริง แต่ผู้ว่า ธปท.ในเวลานั้นย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าสถานะของธนาคารจะมียอดขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเพราะฝ่ายตรวจสอบของ ธปท.ได้ติดตามปัญหาซับไพร์มมาตลอดแต่กลับปกปิดไม่แจ้งปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้ต่อกองทุนฟื้นฟูฯจนทำให้กองทุนเกิดความเสียหายขึ้นมาในที่สุด” ธปท.อ้างจูงใจดึงพันธมิตรใหม่ นายพงศ์อดุลย์ กฤษณะราช ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ ธปท.กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการมองกันต่างมุมหรือมองกันละช่วงเวลา การที่กองทุนเลือกใช้วิธีการเพิ่มทุนนั้นเพราะเห็นว่าผู้ถือหุ้นรายเดิมต้องเข้ามารับผิดชอบหากมีความเสียหายเกิดขึ้นก่อนที่จะให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา เพราะผู้ถือหุ้นรายใหม่ไม่จำเป็นต้องมารับรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากตราสารหนี้ซีดีโอไทยธนาคารก็ได้มีการกันสำรองตามที่ ธปท.กำหนดไว้เรียบร้อยแล้วจึงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนกรณีราคาหุ้นไม่น่าจะสูงถึง 1.36-1.38 บาทต่อหุ้นนั้น นายพงศ์อดุลย์กล่าวว่า ราคาหุ้นที่กำหนดเป็นช่วงที่มีการเจรจาตกลงซื้อขายร่วมกัน แต่ราคาหุ้นในช่วงปลายปีกลับตกลงมาเหลือ 0.30 บาทนั้น เป็นราคาตลาดที่สะท้อนความเป็นจริงซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตที่คาดเดาได้ยาก.