WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, January 24, 2012

‘ใบตองแห้ง’ Voice TV: สัปดาห์สีข้างถลอก

ที่มา ประชาไท

ใบตองแห้ง
21 ม.ค.55
ที่มา: เว็บไซต์วอยซ์ทีวี http://www.voicetv.co.th/blog/699.html

ก่อนอื่นต้องขอยกย่องความกล้าหาญของนิติราษฎร์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และบรรดานักวิชาการ นักกิจกรรม ผู้ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชุดแรก ซึ่งแสดงให้เห็นพลังอันเข้มแข็งของผู้รักสิทธิเสรีภาพ รักประชาธิปไตย ต้องการเห็นประเทศนี้ก้าวไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง

การลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ต้องใช้ความกล้าหาญมากนะครับ เพราะต้องเสี่ยงสูญเสียสถานะที่ทุกคนดำรงอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ กับคณาจารย์เกือบทั้งมหาวิทยาลัย เป็นพันธมิตรพันธุ์แท้ อนุสรณ์ยังเคยเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ บางจาก อสมท. จัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งการลงชื่อแก้ 112 เสี่ยงที่จะถูกกดดัน ถูกต่อต้าน จนสูญเสียสถานะและโอกาสต่างๆ
คนอื่นๆก็เผชิญความเสี่ยงหลากรูปแบบกันไป ผมยังหวั่นใจแทนอาจารย์หลายมหาวิทยาลัย ที่บรรยากาศคงไม่เปิดกว้างเหมือนจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ เช่น อาจารย์เกษตรฯ ศิลปากร สงขลานครินทร์ หรืออาจารย์คมลักษณ์ ไชยยะ ที่อยู่สถาบันราชภัฏ พระนครศรีอยุธยา
ที่พูดนี่ไม่ใช่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ จะสบายนะครับ มีคลื่นใต้น้ำเหมือนกัน อย่างน้อย อ.วรเจตน์ ก่อนเคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็ต้องปลงไว้ก่อนว่าชีวิตนี้อาจไม่ได้เป็น ศาสตราจารย์ อ.ธีระ อ.สาวตรี อ.ปิยบุตร ฯลฯ ถูกกาหัวไว้ อาจไม่ได้เป็น ผศ.รศ. พวกนักเขียน ก็อาจจะมียอดขายหนังสือลดลง ลุงคำสิงห์ ศรีนอก “ลาว คำหอม” ก็อาจต้องออกจากค่าย “อมรินทร์”
คือถ้าเปรียบเทียบกัน ถ้าใครเอาเอกสารมาให้ลงชื่อต่อต้านการแก้ไข ม.112 วิสัยคนไทยย่อมลงง่ายกว่า โดยเฉพาะพวกที่เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ลงชื่อแก้มีแต่จะหาเหาใส่หัว ลงชื่อต้าน ถึงไม่ก้าวหน้าก็เสมอตัว อยู่ฝ่ายแก้มีแต่จะโดนข้อกล่าวหา อยู่ฝ่ายต้านไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผล
ผู้กำกับหนังอย่าง เจ้ย, วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ก็กล้าหาญมากนะครับ เพราะคนในวงการบันเทิง ดารานักร้อง คนที่ทำมาหากินกับกระแสนิยม เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องต้องห้าม แต่ถ้ามีเรื่องโหนเจ้าเมื่อไหร่ โดดใส่ทันที ย่อมเป็นผลดีกับอาชีพ ถ้าได้แสดงละครเฉลิมพระเกียรติ ได้ร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติ ก็ถือเป็นการอัพเกรด ความฝันอันสูงสุดคือซักวันจะได้เป็นพี่เบิร์ด แม้แต่พวก NGO ก็เหมือนกัน พวกนักอนุรักษ์ที่ต่อสู้พิทักษ์ป่าอย่างโดดเดี่ยวมานาน ตอนหลังก็อาศัยพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จฯ มาอัพเกรดการต่อสู้
ฉะนั้น ถ้าผลการรวบรวมรายชื่อออกมาเท่าไหร่ เราสามารถประเมินได้ว่านั่นคือ 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ของผู้ที่อยากลงชื่อจริง เพราะผู้ที่อยากลงชื่อแต่มีสถานะต้องกริ่งเกรง หรือผู้ที่เห็นว่าการรณรงค์ครั้งนี้มีเหตุผล แต่ไม่กล้าแสดงความเห็นของตน คงมีมากกว่า 3-4 เท่า
แบบว่าแม้แต่ชาวบ้านธรรมดา ก็ยังกลัวลงชื่อแล้วจะมึความผิดฐาน “ล้มเจ้า” ต้องปลุกปลอบใจกันหลายยก

อะไรมันจะไร้สาระ

หลัง จากนิติราษฎร์และ ครก.เปิดการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ผมสำรวจกระแสมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์จนปลายสัปดาห์ พบว่าไม่มีใครเสนอความเห็นทางกฎหมายตอบโต้นิติราษฎร์อย่างเป็นสาระแม้แต่ราย เดียว
ที่พอเป็นชิ้นเป็นอันก็มีแต่แถลงการณ์สยามประชาภิวัฒน์ กับข้อเขียนของ “กูรู” สำนักเนติบริกร มีชัย ฤชุพันธ์ ในไทยโพสต์
ที่เสนอหน้ามารายแรกแล้วหงายเลย ก็คือสมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่อยู่ๆ ก็ไปเขียนลงเฟซบุคว่า ไม่สบายใจ มธ.ให้เสรีภาพนิติราษฎร์มาล่ารายชื่อในมธ. แต่นิติราษฎร์ให้สัมภาษณ์ว่าใครคัดค้านขัดขวางนิติราษฏร์ผิดกฏหมายเข้าชื่อ อาจถูกจำคุก ทำไมนิติราษฎร์เรียกร้องให้มีเสรีภาพในการวิจารณ์สถาบัน แต่ไม่เห็นด้วยกับการมีเสรีภาพในการวิจารณ์นิติราษฎร์
โหย เพิ่งได้เสียงเชียร์จากกรณีก้านธูปไปหมาดๆ ไม่น่ามาเสียรังวัดเลย ท่านอธิการ นิติราษฎร์พูดชัดเจนว่า ถ้าใครขัดขวางการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นความผิดตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ. 2542 แต่นิติราษฎร์ไม่เคยพูดว่าห้ามวิจารณ์นิติราษฎร์หรือข้อเสนอ
ผมไม่เข้าใจ ทำไมสมคิดตายน้ำตื้นอย่างนี้ ที่ให้สัมภาษณ์มติชนก็หาสาระมิได้ ท่านบอกว่าท่านเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ คมช.พ้นตำแหน่ง อย่างนี้จะหาว่าเชียร์รัฐประหารได้อย่างไร เป็นไอเดียท่านนะ ที่ให้ คมช.พ้นตำแหน่ง ผมอ่านแล้วหัวร่อกลิ้งเลยครับ ท่านอธิการ สีข้างยังอยู่ดีหรือเปล่า
สยามประชาภิวัฒน์ทำท่าจะดี ตั้งการ์ดสวย แต่พอออกรูปมวยเท่านั้น เละไม่เป็นท่า อ.พิชาย รัตนดิลก อ.สุวินัย ภรณวลัย ท่านแรกไปพูดออก ASTV ท่านหลังเขียนลงเฟซบุค อ้างเป็นตุเป็นตะคล้ายกันว่า นี่เป็นแผนทักษิณ หวังจะยั่วยุให้ทหารรัฐประหารแล้วใช้มวลชนตอบโต้ ล้มล้างระบอบ
อ.สุวินัยเลยโดน อ.เกษียร เตชะพีระโต้ มติชนออนไลน์เอาไปลงให้เฮฮากันข้ามโลก เพราะตอนท้ายยังแถมให้อ่านข้อความในเฟซบุค อ.สุวินัย ที่ท่านเห็นพระธาตุเสด็จลงมา 25 องค์
ที่ฮาได้ใจคือ อ.ศาสตรา โตอ่อน ไปออก ASTV กับคุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตร แล้วเห็นพ้องกันว่าอเมริกาหนุนให้แก้ ม.112 เพื่อทำลายสถาบัน เพื่อแสวงหาแหล่งพลังงาน อ.ศาสตรายังยกย่องกัดดาฟี เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของลิเบีย
เทปนี้ฮาโคตรๆ เลยครับ โก๊ะตี๋ชิดซ้าย ให้อาจารย์นิติศาสตร์ อยากถามว่าท่านจะยกย่องโรเบิร์ต มูกาเบ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของซิมบับเวไหม
อ.เกษียรบอกว่านี่คือตรรกของ “คนเห็นผี” เพราะคนธรรมดาไม่เห็นผี มีแต่หมอผีที่อ้างว่าเห็นผี
อะไรมันจะไร้สาระซะปานนั้น กับการทำตัวเป็นหมอผี ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ท่านอ้างว่านิติราษฎร์ตกเป็นเครื่องมือ (หรือยอมเป็นเครื่องมือ) ของทักษิณและอเมริกา
ถ้างั้น ผมก็ควรจะกล่าวหาบ้างว่า สนธิ ลิ้ม เป็นเครื่องมือของทักษิณและอเมริกา ที่ยุให้ทหารทำรัฐประหารร่วมกับพันธมิตร เพื่อทักษิณและมวลชนเสื้อแดงจะได้ตีโต้ ล้มล้างระบอบ
ข้อกล่าวหาที่สยามประชาภิวัฒน์ ปลุกปั่นใส่นิติราษฎร์และผู้ลงชื่อสนับสนุนการแก้ไข ม.112 เปรียบเหมือนวัวสันหลังหวะกล่าวโทษคนอื่น เพราะพวกท่านทั้ง 26 คน เอ่ยชื่อมาล้วนแต่หน้าเก่าขาประจำ อ.บรรเจิด สิงคะเนติ ทั่วโลกรู้จักว่าหลังรัฐประหารท่านเข้าไปเป็น คตส. ส่วน อ.คมสัน โพธิ์คง กับ อ.จรัส สุวรรณมาลา ก็เป็น สสร. ในราย อ.จรัสนี่ เคยรับงบ คมช.มาทำ “วิจัยประชาธิปไตย” แล้วใช้งบเดินทางไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ใช้สถานะคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แก้ต่างให้การทำรัฐประหารว่าถูกต้องชอบธรรมแล้ว
อ.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ นี่เป็น “หน้าห้อง” อ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ตั้งแต่ที่ ม.สุโขทัย จนเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วก็ไปอยู่หน้าห้อง เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง คือเลขาของสุเทพ เทือกสุบรรณ ในรัฐบาลประชาธิปัตย์
พวกท่านมีภูมิหลังที่ใช้วิชาการรองรับการเลือกข้าง แต่กลับมากล่าวหานิติราษฎร์และนักคิดนักเขียนนักวิชาการที่ลงชื่อ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่เคยรับตำแหน่งรับผลประโยชน์ใดใดจากรัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนเพื่อไทย ในนั้นยังมีหลายท่านที่เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณอย่างเข้มข้น หนักหน่วง ยิ่งกว่า 26 คนนี้เสียอีก เช่น อ.พนัส ทัศนียานนท์ สมัยเป็น สว.ก็เป็นคู่หูกับ อ.แก้วสรร อติโพธิ์ ต่อสู้ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณหลายต่อหลายเรื่อง อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ก็เป็นเจ้าของผลงานที่พวกนักวิชาการพันธมิตรชอบคาบไปอ้าง โดยเฉพาะ อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้บัญญัติคำว่า “ระบอบทักษิณ” ให้พวกแกนนำพันธมิตรเอาไปทำมาหากินโดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นี่ก็ซือแป๋ของคำนูณ สิทธิสมาน (แน่จริงลองด่าสิ)
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าลองย้อนปูมหลังของสยามประชาภิวัฒน์ไปอีก เราจะพบว่า อ.สุวินัย สมัยกลับจากญี่ปุ่นใหม่ๆ ท่านก็โด่งดังเพราะเขียนตำรามาร์กซิสม์ฉบับเกียวโต แต่ตอนนี้ไหงท่านกลับมากล่าวหานิติราษฎร์เป็นฝ่ายซ้าย อ.บรรเจิด สิงคะเนติ ก็มีบทบาทที่น่าชื่นชมตรงที่ท่านเคลื่อนไหวช่วยเหลือคนไทยพลัดถิ่น ให้ได้สัญชาติไทย มาโดยตลอด
นี่มันน่าประหลาดใจนะ ครับ คนที่อุทิศตนช่วยเหลือคนไทยพลัดถิ่น กลับไปเห็นดีเห็นงาม กับการไล่คนไทยด้วยกันที่มีความเห็นต่าง ออกไปอยู่ต่างประเทศ ผมไม่เข้าใจว่าท่านคิดได้ไง
อ.สุวินัยแจ้งข่าวล่าสุดในเฟซบุคสยามประชาภิวัฒน์ว่า สำนักข่าวทีนิวส์จะให้เวลาออกอากาศทางทีวีดาวเทียม สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง ทีนิวส์ของสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ไหลไปเข้ากันตามคำพังเพย
อะไรคือความเป็นไทย
คราวนี้มาพูดถึงแถลงการณ์ของสยามประชาภิวัฒน์ และข้อเขียนของมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งมีสาระบางประการคล้ายกัน
ประเด็นแรก คือการโต้แย้งว่า ถ้าแก้ไขมาตรา 112 ก็จะลดคุ้มครองพระมหากษัตริย์ลงในระดับเดียวกับบุคคลทั่วไป กำหนดบทลงโทษต่ำกว่าประมุขของรัฐต่างประเทศ และผู้แทนรัฐต่างประเทศ ตามมาตรา 133 และมาตรา 134 เจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 136 และผู้พิพากษาหรือตุลาการมาตรา 198
ซึ่ง “กูรู” มาสเตอร์ไมน์ของการรัฐประหาร 19 กันยา ผู้ออกแบบให้เอา “ตุลาการภิวัฒน์” มาจัดการทักษิณ อย่างมีชัย บรรยายให้ฟังละเอียดยิบ ว่ามาตรา 133,134,136,198 เป็นอย่างไร
ลงทุนซะขนาดนั้นท่านไม่ได้อ่านข้อเสนอของนิติราษฎร์เลยหรือครับ ข้อเสนอของนิติราษฎร์มีหมายเหตุตอนท้ายชัดเจนว่า
“ข้อเสนอนี้ นอกจากจะเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แล้ว คณะนิติราษฎร์ยังมุ่งหวังให้เป็นมาตรฐานในการปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความผิด ฐานหมิ่นประมาทและ ดูหมิ่นกรณีอื่นๆ ในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุข หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ (มาตรา ๑๓๓ และมาตรา ๑๓๔) ความผิดฐานดูหมิ่น เจ้าพนักงาน (มาตรา ๑๓๖) ความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา (มาตรา ๑๙๘) และความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘) ให้เป็นระบบและสอดคล้องกับข้อเสนอนี้ในโอกาสต่อไปด้วย”
อ่านเข้าใจไหมครับ หรือไม่ได้อ่าน เขาหมายความชัดเจนว่าถ้าจะแก้ 112 ก็ต้องแก้ไขทุกมาตราที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดโทษลงมาให้ต่ำกว่า โดยยังพูดถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งก็ควรจะลดโทษลงหรือไม่มีโทษอาญาอีก
ยังจำได้ไหมสมัยหนึ่งที่ทักษิณไล่ฟ้องสื่อ นักกฎหมายก็ร้องแรกแหกกระเชอกันว่า ควรเอาอย่างอารยะประเทศ ความผิดฐานหมิ่นประมาทเขาไม่มีโทษจำคุกแล้ว มีแต่ความผิดทางแพ่ง จะฟ้องเรียกค่าเสียหายกันหนักๆ อย่างไรก็เชิญ
แต่มาตอนนี้นักกฎหมายพวกนี้ที่ไปอยู่ข้างพันธมิตร ข้างสลิ่ม ปิดปากเงียบ
บางคนอ่านเข้าใจ เช่น ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าว เขียนลงไทยรัฐออนไลน์ แต่อ้างว่าการที่นิติราษฎร์เสนอแก้ไขแบบแยกส่วนโดยไม่ได้มองทั้งระบบ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะมีเจตนาอื่นแอบแฝงมากับข้อเสนอหรือไม่
โห เขียนชี้นำกันซะขนาดนี้ คนอ่านก็คล้อยตามท่านอยู่แล้วว่านิติราษฎร์มีเจตนาแอบแฝง
ประเด็นที่สอง ทั้งสยามประชาภิวัฒน์และมีชัย อ้างตรงกันว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 8 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะ อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
แล้วท่านก็บอกว่าเพราะเหตุนี้จึงต้องมีมาตรา 112 เพื่อไม่ให้ “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย”
เอ๊ะ ผมถามหน่อยว่านิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย หรือครับ นิติราษฎร์เสนอให้ยังบัญญัติความผิดนี้อยู่ และคุ้มครองสูงกว่าคนธรรมดาด้วย ถ้าอย่างนั้นท่านตั้งใจจะโต้แย้งตรงไหน
ผมเข้าใจว่าท่านจะโต้แย้งตรงที่นิติราษฎร์เสนอบทยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ เพราะรู้ว่าจะเป็นจุดอ่อน “กูรู” ก็เลยตีขลุม เขียนให้การเสนอแก้ไขเป็นเหมือนยกเลิก
โปรด เข้าใจนะครับว่า ทุกประเทศในโลกที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ล้วนมีบทบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ” หรือบางประเทศก็ใช้คำว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แต่มีไม่กี่ประเทศ (เข้าใจว่าเราประเทศเดียว) ที่บัญญัติเข้ามาทั้งสองประโยค
แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะทุกประเทศ ซึ่งล้วนมีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์ เขาตีความว่าประชาชนสามารถแสดงความเห็น ติชมโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่มีความผิด
เพราะอะไร เพราะนั่นไม่ใช่การละเมิด ไม่ใช่การลบหลู่ ไม่ใช่การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท
แต่มีชัยเขียนเหมือนกับว่า การแสดงความเห็น การวิพากษ์วิจารณ์ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือการลบหลู่ดูหมิ่นไปเสียหมด ไม่ควรจะที่จะให้มี แม้แต่การแสดงความเห็นโดยสุจริต
มีชัยพูดให้มั่วไปหมดว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่ใครจะใส่ร้ายใคร ดูหมิ่นใครก็ได้ ต้องเคารพสิทธิคนอื่น พูดเหมือนกับว่าถ้าแก้ไขมาตรา 112 แล้วจะเปิดโอกาสให้ใส่ร้าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้ บิดเบือนไปขนาดนั้นเลยหรือครับ กูรู
ทั้งมีชัยและสยามประชาภิวัฒน์พยายามอ้างว่าต้องคุ้มครองพระมหากษัตริย์ เหนือคนธรรมดา ในแง่ของโทษ ใช่ครับ แต่ในลักษณะความผิด ไม่ใช่ครับ เพราะการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ไม่ว่าคนธรรมดาหรือพระมหากษัตริย์ก็เหมือนกันคือต้องเป็นการใช้ถ้อยคำลบหลู่ ดูหมิ่น จาบจ้วง ใส่ความให้เสียหาย ส่วนการแสดงความเห็นโดยสุจริต แสดงความเห็นที่ไม่ได้ทำให้เสียหาย หรือแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรา 329,330 ก็ไม่เป็นความผิดเช่นกัน
พูดง่ายๆว่า การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ก็คือการกระทำที่เข้าลักษณะความผิดตามมาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง”
นี่คือฐานทางกฎหมาย ที่เหมือนกัน แต่การคุ้มครองคือต้องกำหนดโทษสูงกว่า
แต่มีชัยพูดเหมือนกับว่า 112 ต้องตีความต่างจาก 326 โดยต้องไม่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 329,330 ถึงจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8 อย่างนั้นหรือครับ
มาตรา 326 มาตรา 329 มาตรา 320 คือหลักประกันสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย นี่ผมยังต้องอธิบายให้กูรูเข้าใจอีกหรือ ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่กระทบสิทธิผู้อื่น เว้นเสียแต่กรณีที่การแสดงความคิดเห็นพาดพิงนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งในที่นี้ก็คือบุคคลสาธารณะ
นี่คือหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องใช้กับทุกองค์กรสถาบัน เช่นเดียวกับความผิดฐานหมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นศาล ท่านยกตัวอย่างว่าหมิ่นเจ้าพนักงานนั้นรวมกระทั่งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ใช่ครับ แต่ถ้าเป็นการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ ย่อมทำได้ นั่นคือสิทธิประชาธิปไตย
สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ แม้มีลักษณะพิเศษ เป็นองค์ประมุขที่ได้รับความเคารพเทิดทูน แต่ในการทำหน้าที่ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลต่อส่วนรวม ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็น เสียงสะท้อน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่จึงพยายามวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เกี่ยวข้อง กับการใช้อำนาจให้น้อยที่สุด ตามหลัก The King can do no wrong เพราะ The King can do nothing ยกตัวอย่างบางประเทศ เช่นอังกฤษ สมเด็จพระราชินีไม่เคยมีแม้แต่พระบรมราโชวาทของตัวเอง เมื่อเปิดประชุมรัฐสภา ก็เป็นรัฐบาลร่างถวาย
อีกประการหนึ่งที่มีชัยพยายาม อ้าง คืออ้างความเป็นไทย อ้างว่าอย่าเอาความรู้สึกของประเทศอื่นมาเป็นมาตรฐาน เพราะแต่ละประเทศย่อมมีประเพณี วัฒนธรรม หรือความอ่อนไหว แตกต่างกันไป
ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า แต่ละประเทศมีประเพณี วัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน แต่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็มีความเป็นสากล นั่นคือ เปิดให้ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างมีเหตุผล
ท่านยกตัวอย่างฝรั่งด่าพ่อแม่ไม่ว่ากัน คนไทยยอมไม่ได้ นั่นคือประเพณี แต่ในเรื่องเสรีภาพของความคิดเห็น ไม่ว่าฝรั่งหรือไทย ก็ย่อมมีสิทธิเห็นต่างจากพ่อแม่ แม้จะเคารพรักพ่อแม่เพียงใด นั่นคือประชาธิปไตย
ถ้ายกตัวอย่างให้ชัดเจนกับ มาตรา 112 คือผมคิดว่าต่อให้แก้ไขอย่างไร วิสัยคนไทย ก็จะไม่เอาในหลวงหรือพระบรมวงศานุวงศ์มาวาดการ์ตูนล้อ เหมือนอังกฤษ เหมือนยุโรป นี่คือความเป็นไทย แต่ถ้าเราจะพูดถึงบทบาทของสถาบัน แสดงความเห็นว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ นั่นคือประชาธิปไตย
มีชัยยกความเป็นไทยมาโต้นิติราษฎร์ แล้วก็ทำให้ผมงุนงง ตรงที่วันถัดมา ท่านกลับปกป้องรัฐบาลที่แต่งตั้งนลินี ทวีสิน ทั้งที่ถูกอเมริกาขึ้นแบล็กลิสต์ ไม่ทราบว่าท่านต้องการแสดงออกว่าท่านไม่ได้เลือกข้างทางการเมืองหรือเปล่า แต่ตรรกของท่านก็เลอะเทอะอีกเช่นกัน บอกว่าไม่ขัดคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม ไม่บกพร่องตามวัฒนธรรมประเพณีไทย เป็นอันใช้ได้ จะไปคิดตามอเมริกาได้อย่างไร
ท่านยังด่าอเมริกาว่าเหมือนเด็กเกเร ยกกรณีพม่าว่าสองมาตรฐาน (อ้าว พูดเหมือนสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) แถมยังยุส่งว่าว่างๆ ให้เชิญมูกาเบมาเล่นสงกรานต์เมืองไทย
“บอกให้ชาวบ้านรู้ล่วงหน้าด้วย ก็แล้วกัน คนไทยจะได้พร้อมใจกันไปต้อนรับให้เอิกเกริก เพราะนิสัยคนไทยนั้นถ้าเป็นประมุขของประเทศมาเยือนแล้ว ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด เราก็ต้อนรับเต็มที่เสมอ ซึ่งยากที่คนอเมริกันจะเข้าใจได้ เพราะที่อ้างว่าเป็นผู้นำสิทธิและเสรีภาพนั้น ใจยังไม่กว้างพอที่จะเข้าใจหรือยอมรับวัฒนธรรมประเพณีของประเทศทั้งหลายที่ แตกต่างไปจากความเชื่อของตนได้”
วัฒนธรรมประเพณีอีกแล้ว ไม่ทราบว่าได้อิทธิพลความคิดพันธมิตร ว่าอเมริกาจ้องล้มสถาบัน เพื่อแสวงหาแหล่งพลังงาน อย่างนั้นหรือเปล่า
ขอเรียนว่ามันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรมประเพณีนะครับ ที่อเมริกาเขาต่อต้านมูกาเบ มันเป็นเรื่องที่มูกาเบเป็นเผด็จการ คอรัปชั่น เข่นฆ่าประชาชน มันคือเรื่องประชาธิปไตย ท่านจะว่าอเมริกา 2 มาตรฐาน ก็ว่าได้ แต่ทำไมเราไม่ยึดมาตรฐานประชาธิปไตยให้ดีกว่าอเมริกา
หรือว่าท่านมีมาตรฐานเดียว คือสนับสนุนเผด็จการ
ผมยังขำเรื่องนี้ไม่หายว่าทำไมพวกสลิ่มถึงไม่เข้าไปเชียร์อเมริกาใน เฟซบุคของสถานทูตบ้าง ทีเขาอ้างคำกล่าวของลินคอล์น กลับเข้าไปโวยวายจะเป็นจะตาย ใครเป็นพวกสองมาตรฐานกันแน่ครับ เพราะกลุ่มนักเขียนนักวิชาการ ที่ร่วมลงชื่อแก้ 112 อย่างคุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ก็ยังเขียนลงเฟซบุค ประณามรัฐบาลว่าไม่ควรแต่งตั้งนลินี เพราะเธอถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับเผด็จการ เป็นเผด็จการที่โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เคยยกมาเทียบกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสียด้วยซ้ำ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับกำลังใจจากนานาชาติ ให้พัฒนาประชาธิปไตย จะแต่งตั้งคนที่ถูกกล่าวหาเช่นนี้ไม่ได้
เห็นไหม ฝ่ายเราก็มีมาตรฐานเดียว คือไม่เอาเผด็จการ ไม่ได้เลือกข้างว่ารัฐบาลไหน