ที่มา ประชาไท
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน พูดถึงการต่อสู้ทางการเมืองผ่านโลกออนไลน์ว่า คือเนื้อเดียวกันกับโลกออฟไลน์ และอินเทอร์เน็ตคือป่าออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีการต่อสู้ ซุ่มโจมตีทุกรูปแบบ
ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ ‘สื่อทางเลือก’ หรือ ‘นิวมีเดีย’ มี รูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย ขณะ เดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำ หน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการ เมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป |
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: อินเทอร์เน็ตคือป่าออนไลน์ขนาดใหญ่
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ โดยวิชาชีพเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันพิชญ์ค่อยๆ ขยับความเข้าใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับสื่อออนไลน์ทั้งผ่านการศึกษาวิจัยและการใช้งานจริง
พิชญ์ใช้งานสื่อออนไลน์ในหลายๆ มิติ ทั้งการเอาไปประกอบการเรียนการสอนในบางวิชาเช่น การเมืองไทยสมัยใหม่ และแม้แต่การเล่นกับเครื่องมือใหม่ๆ ผ่านเว็บไซต์ประชาไทที่ผู้อ่านติดตามได้จากรายการ “บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา” ซึ่งแรกเริ่มเดิมที่เปิดตัวอย่างเกือบๆ จะเป็นมืออาชีพ มีตากล้อง เซ็ตไฟเซ็ตฉากกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง มาสู่การใช้กล้องวีดีโอแบบพกพาตัวกระจิ๋วหลิว ที่บังคับมุมมองผู้ชุมแคบลงแบบที่คนใช้งานอินเตอร์เน็ตคุ้นเคยจากเว็บแคม เหตุผลของพิชญ์ก็คือ รูปแบบเก่าๆ นั้น “เทอะทะ” และไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการนำเสนอที่ต้องการความเร็วเป็นส่วนประกอบ
ปัญญาชนบนเว็บ
การ ปรับตัวของพิชญ์ต่อวัฒนธรรมการสื่อสารออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เรา-ประชาไท พบว่าเขาขยายขอบเขตความอดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์แบบสาดเสียเทเสียได้มากขึ้น นิ่งขึ้น แม้จะไม่สนุกกับสิ่งเหล่านั้นก็ตาม
"ผมไม่ได้เอ็นจอย แต่ผมรู้สึกผมปิดไม่ได้ ผมไม่ได้มีความสุขกับการถูกด่านะ แต่ผมรู้สึกว่า การเป็นปัญญาชนในเว็บมันมีลักษณะของการต้องการสาวก หรือเป็นแก๊งถล่มไปถล่มมา หรือตรรกะการโต้ในเว็บ บางครั้งมันเป็นตรรกะที่จะเผยแพร่ในงานทั่วไปก็ทำไม่ได้ เพราะบางครั้งมันเป็นการโต้วาที หยิบเรื่องเล็กเรื่องน้อยมา ถามว่ามีความเห็นกี่อันในเว็บ ที่มันเป็นเรื่องจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นข้อสังเกตสั้นๆ แล้วถล่มคนเสร็จ มีคนเขียนเยอะๆ ก็นึกว่าถูก อาจไม่ถูกก็ได้ เพราะอาจจะมีพวกคุณเข้าไปเขียนอยู่พวกเดียว หรือเว็บนี้ก็ต้องอารมณ์นี้เท่านั้น อารมณ์อื่นไม่ได้”
แม้ จะน่าขมขื่นสักเล็กน้อยแต่พิชญ์ยอมรับว่าเว็บส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนี้เอง ธรรมชาติของเว็บสำหรับพิชญ์ก็คือการรวมตัวของคนที่มีความเห็นตรงกัน ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าลักษณะแบบนี้แสดงถึงข้อด้อยของเว็บในฐานะพื้นที่แลก เปลี่ยนเรียนรู้ เพียงแต่สำหรับเขาแล้ว การเรียนรู้ก็มีอีกหลากหลายรูปแบบ และเว็บเป็นพื้นที่แบบหนึ่ง
“ไม่ได้เป็นรูปแบบเดียว ไม่งั้นจะมีมหาวิทยาลัยทำไม ต่อไปก็สอนตามเว็บสิ ใช่ไหม ไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์สิ”
เรา ขอให้เขาอธิบายต่อถึงสภาพการณ์แบบพวกมากลากไปของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะเว็บบอร์ด ซึ่งลักษณะที่เป็นพรรคเป็นพวก มีความเห็นไปในทางเดียวกันในเว็บหนึ่งๆ พวกเราอยู่เว็บนี้ พวกเขาอยู่เว็บนั้น เว็บนี้สีนี้อยากพูดภาษาสีอื่นไปอยู่เว็บอื่น แม้จะไม่ถูกเซ็นเซอร์โดยผู้มีอำนาจ แต่เสรีภาพในการแสดงความเห็นก็ถูกกดทับไว้โดยพวกมากในแต่ละเว็บอยู่แล้ว ยังไม่นับการสื่อสารผ่านความเกลียดชังและขาดความรับผิดชอบ การมีเว็บมาก มีสื่อมาก ถึงที่สุดจึงไม่ได้เท่ากับการมีเสรีภาพในการสื่อสารเสมอไป
พิชญ์เปรียบเทียบเสรีภาพกับตลาดเสรีว่าถึงที่สุดก็ต้องมีความเข้าใจว่าต้องมีการบริหารจัดการ เพื่อให้เสรีภาพดำรงอยู่ด้วย
“ดังนั้นจะมาพูดเรื่องเสรีภาพโดยเชื่อว่า การพูดมากๆ จะเป็นเสรีภาพไม่ได้ ก็เหมือนวิธีคิดเรื่องตลาด เราไปเชื่อว่ามีคนซื้อคนขายแล้วทุกคนจะลงตัว ไม่ใช่ จริงๆ มันก็ต้องมีสถาบันเรื่องตลาด เรื่องการแลกเปลี่ยนเงิน คือมันต้องมีกฎกติกาบางอย่าง เรากำลังพูดถึงว่า มันต้องเป็นกฎกติกาที่คนเขาตกลงกันได้ด้วย ไม่ใช่กฎกติกาที่กำหนดโดยคนนอกเข้าไปสั่งหรือตัดสินแทนเขา”
และบางที่ในบางโอกาส เผด็จการก็จัดการอะไรๆ ได้ดี
“การมีสื่อเยอะๆ มันจะต้องไปถึงขั้นที่การที่สื่อนำไปสู่แบบแผนความสัมพันธ์หรือกฎกติกาบางอย่าง ซึ่งคนรู้ว่านี่มันมากไป นี่มันน้อยไป จริงๆ มันมีอยู่ในบางที่ เช่น ผมเคยพูดอะไรที่มันขัดกับเรื่องนี้มากที่สุดถ้าคนที่เคยเล่นสื่อออนไลน์มาเป็นหลัก จะเข้าใจว่า ตัวแบบที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้มากที่สุด คือตัวแบบที่เผด็จการที่สุด ในกรณีของเว็บหลุดโลกสมัยก่อน คือเว็บหลุดโลกมันจะมีระบบพิเศษของมันเลยก็คือมีตัวประธานอยู่หนึ่งตัว แล้วจะคอยแบ่งงานให้แต่ละคนควบคุมในแต่ละวัน ฉะนั้น คนที่เคยควบคุมในแต่ละวัน คนพวกนั้น วันนี้มีอำนาจก็สั่ง รู้สึกว่าใครพูดอะไรงี่เง่าแหลมมาก็เซ็นเซอร์เลย บล็อคเลย แต่คนที่โดนสามารถทำฎีกาหรือคำร้องไปถึงตัวใหญ่ให้พิจารณาได้ว่า คนที่ควบคุมในวันนั้นแรงเกินไปหรือไม่
“นี่มันเหมือนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ผมกำลังพยายามจะบอกว่า ตัวอย่างในอดีตมันก็มี เรานับจำนวนเว็บไม่พอในเรื่องของเสรีภาพ การมีเว็บมากเว็บน้อยไม่เกี่ยว อาจจะมีเว็บที่ไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้เลยก็ได้ ต่างฝ่ายรู้ว่าอยู่ก๊วนไหน ก็ไปพูดกันอย่างนั้น แล้วมันก็มาด่าทอสร้างความรุนแรง สร้างความเสียหายกันก็ได้ ประเด็นของผมก็คือว่า การมีกติกาต้องเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันเอง มันต้องกินเวลาและต้องมีความอดทน ไม่ใช่เชื่อว่าเราคือองค์ประธานที่เข้าไปทำเสร็จแล้วไม่มีใครตรวจสอบเราได้ แม้กระทั่งในหมู่เว็บใต้ดินที่ด่าทอกันหยาบคายที่สุด ก็ยังมีข้อห้ามเลย เยอะแยะ ถ้าใครละเมิดกติกาก็ถูกเตะออกจากชุมชนนั้น แต่ว่าในยุคนั้นมันก็มีคนๆ หนึ่งที่สามารถมาแก้ทุกเรื่อง ใช่ไหม”
ประเด็นสื่อออนไลน์ไม่ได้มีแค่เรื่องปะทะกับรัฐ
แน่ นอนว่าทุกวันนี้ยังไม่มีการวิจัยเรื่องพฤติกรรมออนไลน์ที่หนักแน่นอ้างอิง ได้ การสนทนากับผู้คนจำนวนมากอาจจะได้ข้อสังเกตบางระดับ พิชญ์ก็ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงสื่อออนไลน์ ประเด็นที่แหลมออกมาตำตาผู้สนทนาก็มักอยู่กับเรื่องการต่อสู้กับอำนาจรัฐ แต่ในฐานะนักวิชาการที่สนใจบทบาทของสื่อออนไลน์กับการเคลื่อนไหวทางสังคม พิชญ์มองว่ายังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องศึกษาวิจัยและพิสูจน์สมมติฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการสื่อสารในโลกออนไลน์
“ตอนนี้เราพูดได้แค่ข้อสังเกต ที่ผมต้องการจะบอกก็คือว่า เวลาเราพูดถึงสื่อออนไลน์ ประเด็นเรื่องเสรีภาพ เราอาจจะไปไกลและเร็วเกินที่เราจะบอกว่ามันต้องสู้ทางกฎหมายอย่างเดียว คือมันอาจต้องสู้ แต่ มันอาจจะต้องเข้าใจโครงสร้างภาษาและพฤติกรรมด้วย”
สิ่งที่ยังขาดคือการศึกษาวิจัย
“ผมกำลังคิดว่ามันยังไม่มีการวิจัยเรื่องโลกออนไลน์อย่างเป็นระบบ คือตอนนี้เวลาทำเรื่องโลกออนไลน์โดยเฉพาะกับเรื่องการเมือง ก็จะวนอยู่กับเรื่องเสรีภาพและกรอบกฎหมาย แต่ไม่ได้อธิบายพฤติกรรมของโลกออนไลน์อย่างเป็นระบบ คือในทางรัฐศาสตร์มันอธิบายได้ เหมือนกับยุคหนึ่งในเมืองไทยมันเริ่มมีการเลือกตั้งก็มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเริ่มมาศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้ง ดังนั้น มันก็คงจะต้องมีคนสื่อสารพฤติกรรมของโลกออนไลน์ด้วย ไม่ใช่มีแต่คนที่ออกไปต่อสู้เพื่อสิทธิของโลกออนไลน์ คือพวกคุณก็ทำไป แต่ควรมีงานวิจัยที่รองรับว่าพฤติกรรมของโลกออนไลน์เป็นอย่างไร โครงสร้างทางภาษา โครงสร้างข้อถกเถียงของโลกออนไลน์เป็นอย่างไร ซึ่งข้อสังเกตบางอันมันจะเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ เช่น มันจะมีคนแบบหนึ่งที่ตอนนี้ถนัดแต่เขียนอะไรที่อยู่ในออนไลน์ ไม่สามารถเขียนอะไรในโลกออฟไลน์ได้แล้ว หมายความว่า การอ้างอิงก็อาจจะไม่ต้อง หรือตรรกะในการวิจารณ์ก็จะรุนแรงมาก และเขียนแล้วก็คาดว่าหวังว่าจะมีคนมาอ่าน มาชอบ ไม่ชอบ ด่ากัน แต่มันอาจจะเป็นคนละโลกกับการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ซึ่งอาจจะมุ่งหวังว่าจะเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกแบบที่เข้าอกเข้าใจคนอีกฝ่าย หนึ่ง มันอาจจะเป็นโลกที่เปิดโอกาสให้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงแล้วก็มีคนมุง แต่อาจจะไม่ได้เป็นโลกซึ่งมีกระบวนการในการตรวจสอบอย่างจริงจัง ผมไม่ได้หมายความว่าดังนั้นไม่ควรจะมีเสรีภาพนี้ แต่ว่าเราควรจะเข้าใจรูปแบบ เหมือนกับวงการนิเทศศาสตร์ก็จะเข้าใจว่าโลกของทีวีก็จะมีโลกแบบนี้ โลกของหนังสือพิมพ์ ก็กลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า medium is a message (สื่อคือสาร) คือรูปแบบของสื่อมันก็กำหนดโครงสร้างเนื้อหาและโลกทัศน์ได้ด้วย
“ผม คิดว่าเราต้องไปถึงขั้นนู้น เราอย่าเพิ่งไปมองแค่ว่าสื่อออนไลน์คือสื่อที่เผชิญปัญหากับรัฐอย่างเดียว แต่เราต้องไปอธิบายพฤติกรรมของสื่อออนไลน์ด้วยว่ามันมีลักษณะยังไง มันจริงหรือเปล่าที่ตอนนี้คนพยายามอ้างว่าสื่อออนไลน์มีปัญหา เพราะไม่มีการตรวจสอบกรองให้ดี แล้วสื่อออฟไลน์ก็นำไป ใช้ นั่นมันน่าจะเป็นความผิดที่สื่อออฟไลน์ ไม่ใช่สื่อออนไลน์ แล้วคำถามว่าสื่อออฟไลน์ต่างๆ มันไม่เต้าข่าวเหรอ มันก็ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้นนั่นอาจไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของสื่อออนไลน์ก็ได้ สื่อออนไลน์อาจเป็นสื่อซึ่งมีลักษณะที่เรายังไม่ได้อธิบายมันอย่างเป็นระบบ
“และ การนำเสนอประเด็น บทสนทนาในสื่อออนไลน์เป็นบทสนทนาที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายหรือเปล่า เราอาจจะพบแพทเทิร์นของการพูด เช่น มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งพูดแบบหนึ่ง อีกกลุ่มพูดแบบหนึ่ง อีกคนก็พยายามมาอยู่ตรงกลางๆ หรือมันเริ่มมีแบบใหม่ เช่นในเฟซบุ๊ค เริ่มมีการกดไลค์ แต่ยังไม่สามารถคอมเม้นท์ต่อจากไลค์นั้นได้ มันก็จะมีการพยายามปรับตัวเหล่านั้นไปเรื่อยๆ”
อินเตอร์เน็ตคือป่าออนไลน์
พิชญ์อธิบายว่าการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์จะช่วยนำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ๆ ด้วย เช่น ยุคแรก อาจจะไม่มีคนคิดว่าสื่อออนไลน์มันจะสื่อสารได้สองทาง (interactive) เพราะอาจจะถูกกำหนดโดยผู้นำเสนอเนื้อหาแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปแล้ว
“มัน ก็ต้องเกิดจากการศึกษาพฤติกรรมแล้วก็ปรับเปลี่ยนตัวสื่อในเชิงเทคโนโลยีให้ มันครอบคลุมมากขึ้น เราก็ต้องมีการศึกษาด้านนี้ควบคู่ไปกับการพูดเรื่องกรอบกฎหมาย เพื่อจะได้เห็น แต่ไม่ได้พูดไปเพื่อควบคุม เราต้องเข้าใจพัฒนาการของสื่อออนไลน์อย่างจริงจังด้วย โอเค ตอนนี้เราก็เห็นชัดว่า ประเด็นใหญ่คือเรื่องเสรีภาพ แต่มันไม่ใช่ประเด็นเดียว ถ้าเราจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพเราก็ต้องมีความเข้าใจตัวอย่างโครงสร้างเนื้อหา บทสนทนาหรือวิธีการใช้ภาษา เพื่อเราจะได้ proof อะไรบางอย่างได้ว่าตกลงมันจริงหรือเปล่า สื่อออนไลน์ในระยะสั้นมันอาจจะมีความรุนแรง แต่ภายใต้สังคมที่มีความอดทนเพียงพอ มีอดทน (toleration) ยอม รับความแตกต่างได้มากขึ้นจริงๆ ในระยะยาวนี้ก็อาจจะก่อให้เกิดเหตุผลร่วมกันได้ แต่เราต้องมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง งานเก่าผมเคยทำไว้บ้าง แต่ก็นานแล้ว ยังไม่ได้ทำในช่วงหลังรัฐประหาร”
พิชญ์ยกตัวอย่าง บ.ก.ลายจุดเป็นข้อยืนยันของการเปลี่ยนแปลง
“ยุค แรกๆ ที่น่าสนใจมาก ในข้อถกเถียงของ บก.ลายจุด - ลายด่าง เป็นยุคแรกๆ ที่มีข้อถกเถียงว่า ไม่ควรมีการพูดหยาบคาย สมัยนั้น พูดกันง่ายๆ ว่า บก.ลายจุด หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นฝ่ายขวาในเว็บ คือมองว่าเว็บต้องมีไว้เพื่อวิชาการ เพื่อประชาชน จะเอาพื้นที่เว็บมาพูดจาลามกไม่ได้ มันเป็นข้อถกเถียงระหว่างพี่หนูหริ่งกับแก๊งหลุดโลก แล้วมีแก๊งค์หลุดโลกไปสู้กับกระปุก พันทิป พวกเทพ พวกมาร
“วันนี้กลายเป็นว่า บก.ลายจุด เป็นหนึ่งในแกนนำที่เป็นศัตรูของรัฐแล้วกลายเป็นว่า บ.ก.ลายจุดถูกมองว่ามีพฤติกรรม subversive (ต่อต้านรัฐ/ทำลายล้าง) ตอนนี้ข้อความของเขาถูกรัฐมองด้วยสายตาแบบนั้นมากกว่า”
สิ่งที่หนึ่งที่เขาเห็นว่าเปลี่ยนไปคือ ความหมายและรูปแบบของความรุนแรง
“ความรุนแรงในเว็บอาจจะไม่ใช่ความรุนแรงเชิงความหยาบคาย เหมือนยุคก่อนรัฐประหาร ความรุนแรงก่อนรัฐประหารอาจเป็นเรื่องความหยาบคายลามก หลังรัฐประหารเห็นเลย การปิดเว็บจำนวนมาก โอเค เราพูดถึงเสรีภาพ เราเห็นว่ามันเป็นเสรีภาพทางการเมือง แต่เมื่อดูโครงสร้างพฤติกรรม เรื่องใหญ่เป็นเรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว เราต้องอธิบายเงื่อนไขเหล่านี้”
และปัจจัยสำคัญที่เปลี่ยนแปลงความหมายของความรุนแรง ส่วนหนึ่งก็คือรัฐ
“รัฐก็กระโดดลงมาในยุคนั้น (ยุคแรกๆ ของการมีเว็บบอร์ด) แต่มันเป็นรัฐแบบศีลธรรม แต่หลังๆ มันไม่ใช่ พื้นที่นี้มันถูกเปลี่ยนจากพื้นที่ใต้ดินในแบบโบราณซึ่งเป็นแบบศีลธรรม มาสู่พื้นที่ที่ผมเรียกมันว่า เป็น digital jungle เหมือนยุค 6 ตุลา คนเข้าป่า แต่หลังรัฐประหารมา พื้นที่เว็บมันคือป่า ชูวัส (ฤกษ์ศิริสุข ) เคยบอกว่าเราไม่มีป่าให้เข้า แต่อินเทอร์เน็ตมันคือป่าออนไลน์ขนาดใหญ่ที่มีการต่อสู้ ซุ่มโจมตีทุกรูปแบบ ถ้าเรามองอย่างนี้มันก็คือการกลับไปสู่ยุคการต่อสู้ เหมือนยุค 6 ตุลา แต่มันคือป่าขนาดใหญ่”
การต่อสู้ของโลกออนไลน์ ก็คือการต่อสู้เรื่องเดียวกับโลกออฟไลน์ นั่นคือ อำนาจอธิปไตย
“คือของบางอย่างเรารู้สึกว่ามันใหม่ แต่โครงสร้างเดิม ตัวอย่างเช่น คำถามคลาสสิกของอินเทอร์เน็ตก็คือ เรื่อง sovereignty(อำนาจอธิปไตย) เหมือนเดิม คำถามเรื่องอำนาจอธิปไตย ในยุคเก่านักหนังสือพิมพ์ไทยเป็นคนในบังคับประเทศอื่น รัฐฟ้องลำบาก คือสมัย ร.6 นักหนังสือพิมพ์คือคนจีน คือคนในสังกัดอื่น ปัจจุบันก็เช่นกัน เว็บต่อต้านรัฐส่วนใหญ่อยู่นอกอำนาจของรัฐที่จะไปปิด คุณก็ทำได้แค่บล็อก นี่ก็เหมือนกัน เรามักจะบอกว่านี่คือเรื่องใหม่ๆ จริงๆ มันมีตรรกะเดิมๆ ของรัฐสมัยใหม่ ที่ดำรงอยู่ ค้างอยู่ ดังนั้นจึงไม่แปลก เมื่อพูดเรื่องนี้มันสามารถโยงไปที่คนที่อยู่ต่างประเทศ ก็อาจจะอยู่ต่างประเทศจริง หรือเมื่อคุณอยู่ในประเทศยิงสัญญาณออกไป เซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศก็เคลื่อนไหวได้เหมือนกัน มันก็เกี่ยวพันกับอำนาจรัฐ”
พื้นที่ออนไลน์มีพลังจริงหรือ
อย่างไรก็ตาม การกล่าวถึงพื้นที่ออนไลน์เป็นเสมือนสมรภูมิปฏิบัติทางการเมืองไม่ต่างกับ “ป่า” ในยุคทศวรรษ 1970 อาจจะเกินจริงไปหรือไม่ ในเมื่อปฏิบัติการออนไลน์จำนวนไม่น้อยเริ่มอ่อนกำลังลง เช่น การรณรงค์ล่ารายชื่อสารพัดสารเพ ที่รัฐเริ่มเฉยๆ เพราะรู้ว่าเป็นปฏิบัติทางไกลของกลุ่มคนที่จะไม่ออกมารวมตัวกันจริงๆ ในโลกทางกายภาพ ซึ่งพิชญ์มองว่าออนไลน์และออฟไลน์ต้องเดินไปด้วยกัน ไม่อาจแยกขาด
“ก็ใช่ไง ก็มันเป็นป่า รูปแบบการต่อสู้ที่นุ่มนวล สุภาพเรียบร้อย มันไม่มีพลัง เหมือนคุณยืนอยู่ตรงป่าแล้วเอาผ้ามายืนผืนหนึ่ง มันไม่มีอำนาจ แต่ถ้าคุณซุ่มโจมตีมัน ตู้มเดียวไงถูกไหม
“คืออย่าไปมองว่า petition online ไม่มีความหมาย ไม่จริง ยกตัวอย่างกรณีการเคลื่อนไหวให้ปล่อย อ.สุธาชัย ส่วนที่มีความสำคัญที่เคลื่อนไหวให้ปล่อยตัว อ.สุธาชัย ได้มันไม่ใช่การมี petition online ธรรมดา มันคือการใช้ออนไลน์เป็น petition เป็นพื้นที่ที่ดึงคนที่ต้องมีจุดร่วม ตัวอย่างเช่น ตอนที่เราเคลื่อนไหวให้ปล่อย อ.สุธาชัย โดยทำจดหมายถึงอธิการบดี และใช้พลังของศิษย์เก่าเพื่อทวงถามว่าคนในประชาคมเราอยู่ตรงไหน แล้วเราไม่ได้ต่อสู้ ต่อต้านใครโดยตรง แต่ให้อธิการบดีไปช่วยสอบถามให้ คุณต้องดูให้ดีว่า มันไม่ใช่ว่า petition online ไม่มีความหมาย ประเด็นมันอยู่ที่ว่ามันก็เหมือนการทำสื่อที่ต้องมีประเด็น ก็ต้องรู้จักการเคลื่อนไหว มันไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าถ้าทำอะไรออนไลน์แล้วจะมีประโยชน์ไม่จริง ก็เหมือนการแข่งขันทั่วไปที่มีทั้งคนที่ประสบความเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ เหมือนกัน เพียงแต่ออนไลน์มันช่วยสร้างพลังได้บางอย่าง แต่ไม่ได้ช่วยทั้งหมด ถ้าไม่ได้มีการเคลื่อนไหวออฟไลน์หรือการเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกัน มันต้องมีทั้งคู่”
พลังไม่ได้อยู่ที่ออนไลน์แต่อยู่ที่ประเด็น
การ พูดถึงพื้นที่ออนไลน์ในฐานะที่เป็นตัวจักรในการทำให้เกิดกระบวนการทางสังคม เป็นการมองเพียงด้านเทคนิค สำหรับพิชญ์แล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ พล็อตและการออกแบบการเคลื่อนไหว ซึ่งแน่นอนว่า หากพลังจะเกิดขึ้นกับฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้วไซร้ สิ่งเดียวกันนั้นก็เกิดกับพลังแห่งการคุกคามเสรีภาพ หรือความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์พอๆ กัน
“พลังไม่ได้อยู่ที่เพราะมันออนไลน์ พลังมันอยู่ที่มันมีพล็อตอะไร แล้วมันใช้ได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่ไม่ใช่เพราะอ๋อ ออนไลน์ นั่นเป็นวิธีคิดแบบเทคโนโลยีกำหนด เชื่อว่าใครเข้าถึงเทคโนโลยีคนนั้นมีอำนาจ ซึ่งมันไม่จริงเสมอไป การเคลื่อนไหวออนไลน์บางเรื่องถ้าเกิดคุณต้องการการสนับสนุนบางเรื่อง มันก็อาจจะไม่สำเร็จก็ได้ แต่มันอาจจะสำเร็จถ้ามันเป็นการต่อต้านใครบางคน ซึ่งตรรกะนี้มันก็ใช้กับออฟไลน์ได้ เพียงแค่ว่า เทคโนโลยีมันช่วยให้การเคลื่อนไหวบางอย่างง่ายขึ้น แต่ไม่เสมอไป คุณต้องไปดูว่าตรรกะนี้มันเป็นตรรกะเดิมที่ใช้กันมาตลอดใช่ไหม อย่างการล่าแม่มด ที่เขาใช้คำว่า "ล่าแม่มด" ไม่ใช่เพราะมันออนไลน์ แต่ตรรกะการล่าแม่มด มันมีมาตั้งแต่ยุคกลาง อย่าไปหลงประเด็นว่าเพราะเทคโนโลยี ต้องดูว่าคนที่คุมเทคโนโลยีได้เขามีพล็อตอะไร ความสำเร็จของผู้จัดการไม่ใช่เพราะว่าเขามีเทคโนโลยี เว็บไซต์ผู้จัดการกับเว็บอื่นๆ เหมือนกัน มีเทคโนโลยี แต่ผู้จัดการสำเร็จ เพราะมันมีพล็อตบางอย่างที่อยู่ในเทคโนโลยีนั้นด้วย”
interactive สำคัญ แต่เรื่องราวก็สำคัญ
พิชญ์ วิเคราะห์ถึงตัวแบบแห่งความสำเร็จที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ เว็บไซต์ผู้จัดการ ที่กลายมาเป็นพลังทางความคิดหนุนเสริมขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างประสบความสำเร็จยิ่ง
“ออนไลน์ทั้งหมดมันมีขึ้นเพื่อรองรับการเคลื่อนไหวจริงบนท้องถนนด้วย และมีขึ้นเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวออฟไลน์ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เรื่องความรวดเร็ว การสร้างชุมชน แต่มันไม่เสมอไป มันตอบไม่ได้หรอกว่าคนออนไลน์ทั้งหมดออกมาชุมนุม แต่มันอาจจะเป็นคนที่ช่วยให้ข้อมูลใหม่ๆ ให้คนที่ชุมนุมเอาไปใช้ก็ได้ และภาพที่เกิดจากที่ชุมนุมก็ทำให้คนที่อยู่ในโลกออนไลน์เข้ามาดูได้ ผมไม่ใช่คนแรกที่พูดว่าโลกออนไลน์กับออฟไลน์อย่าไปแบ่งแยกจากกัน มันเป็นโลกที่เชื่อมโยง ความสำคัญคือการหาความเชื่อมโยงเหล่านี้ เพราะมันคือพื้นที่ทางสังคมใหม่ แต่เมื่อคนๆ เดิมใช้ ก็ยังมีโครงสร้างของโลกออฟไลน์เข้าไปเกี่ยวพันอยู่ และในทางการเมือง กรอบใหญ่ก็คือกรอบของโลกออฟไลน์ทั้งนั้นที่เข้าไปอยู่ในนั้น”
พื้นที่ส่วนตัวกลายเป็นพื้นที่การเมือง
เรา อาจจะพูดถึงเว็บที่ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่พิชญ์บอกว่า ถึงที่สุดแล้ว เว็บในฐานะที่เป็นเครื่องมือก็สร้างข้อจำกัด และ ไม่ใช่ทุกเว็บจะประสบความสำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่พื้นที่ออนไลน์ได้ทำหน้าที่ไปแล้วบางส่วนจากความขัดแย้งทาง การเมืองครั้งนี้ก็คือ การเปิดพื้นที่ส่วนตัวออกให้เห็นแง่มุมทางการเมืองของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต
“เว็บทุกเว็บไม่ได้ประสบความสำเร็จ มันประสบความสำเร็จอยู่ไม่กี่เว็บ ก็เหมือนกับคนมีตังค์ก็อาจไม่ได้สำเร็จเสมอไป มันมีหลายเรื่อง เราต้องตอบคำถามความสำคัญทางสังคม ถ้าเรามองว่า ออนไลน์ออฟไลน์คือ การสื่อสาร เราก็ต้องบอกว่ามันมีความสัมพันธ์เหล่านี้ ซึ่งมันเข้าไปเป็นเงื่อนไขในการกำหนดการสื่อสารอย่างไร โอเคในยุคแรก เฟซบุ๊ค หรือสื่อทางสังคมใหม่ๆ มันเกิดจากการหวนระลึก อยากมีชุมชนของตัวเอง เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงคนซึ่งห่างจากกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงมันเข้าด้วยกันคือมิตรภาพกับความเชื่อถือ ทีนี้เมื่อประเด็นทางการเมืองมันแทรกเข้ามา มันได้แบ่งสิ่งเหล่านี้ออกจากกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มันเป็นสิ่งน่ามหัศจรรย์ คุณเริ่มตกใจว่า เพื่อนของคุณคิดไม่เหมือนกับคุณทางการเมือง มันก็ย้อนกลับไปสิ่งเดิมๆ ซึ่งสังคมเราพูดตลอดว่า อย่าพูดเรื่องการเมืองกันเลย ซึ่งเมื่อก่อนนี้ การพูดเรื่องการเมืองมันเป็นทางเลือก หมายถึงว่า คุณเลือกเข้าไปในเว็บบอร์ดการเมือง แต่ตอนนี้การเมืองมันวิ่งเข้ามาหาคุณในเฟซบุ๊ค ในเครือข่ายทางสังคม การเมืองมันทะลุทะลวงเข้ามาในสื่อทางสังคม มันชี้ให้เห็นว่ามันแยกความเป็นส่วนตัวกับสาธารณะยากแล้ว”
“ถ้าดัดจริตใช้คำแบบ gender มันก็คือ Personal is politics ด้วย คือพื้นที่ส่วนตัวคุณมันกลายเป็นพื้นที่สาธารณะไปด้วย บางคนก็อาจอยากเป็นสาธารณะ คือเราอยากบอกว่าเราคิดอะไร แต่ปัญหาคือเราอยากบอกทุกคนรึเปล่า มันมีคนอื่นที่เราไม่รู้จักบวกเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อนของเพื่อนๆ ในยุคแรกๆ เมื่อมันไม่เป็นพื้นที่การเมือง มันก็ไม่มา แต่มันมาประจวบเหมาะกับเรื่องการเมืองของเรา
คือเฟซบุ๊คมันก็ออกมาเพื่อแก้ปัญหาโบราณคือคนสมัยแรกๆ ทำเว็บเองไม่เป็นเขียนเว็บเองไม่ได้ และบล็อกก็ไม่ได้เชื่อมโยงกันเร็วอย่างเฟซบุ๊ค ที่สร้างเครือข่ายในวันเดียว มีเพื่อนเป็นพันเป็นหมื่นคนได้ และกลายเป็นปัญหาคือยุคหนึ่งเราอาจจะอยากพูดเรื่องการเมือง แต่อีกยุคเราก็ไม่อยากพูดแล้ว”
กฎกติกาของการติดต่อสื่อสารจะเกิดออกมาจากพวกเราได้อย่างไร
นอก เหนือจากเรื่องการปิดกั้นโดยรัฐ ประเด็นที่อยู่ร่วมสมัยกันก็คงไม่พ้นเรื่องการกำหนดกฎกติกามารยาทของผู้ใช้ สื่อออนไลน์ ทั้งในแง่ความหยาบคาย การหมิ่นประมาท และปล่อยข่าวลวง ข้อความที่ไม่ได้คัดกรองตรวจสอบ พิชญ์เห็นว่ามีความจำเป็นเช่นกันที่จะต้องออกแบบกติกาในการอยู่ร่วมกันในโลก ออนไลน์ แต่สิ่งสำคัญสำหรับเขาคือ กติกาเหล่านั้นต้องมาจากผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเอง
“ถ้าเราพูดถึงการจัดการ เราจะมีประเด็นท้าทายว่า กฎกติกาของการติดต่อสื่อสารกันมันจะเกิดออกมาจากพวกเราได้อย่างไร ในเมื่อโลกออฟไลน์มีการทำอย่างเป็นระบบมาก เช่น มีสภา แต่ออนไลน์มันไม่มีคอนเซ็ปต์ความเป็นตัวแทนที่จะเข้าไปต่อรองกับรัฐอย่างจริงจัง
“มันก็จะมีกลุ่ม advocate อย่างเครือข่ายพลเมืองเน็ต ทะเลาะกันจริงๆ ก็เถียงกันอีกว่า ตกลงคุณเป็นตัวแทนใคร ใช่ไหม ไม่ได้เป็น เป็น advocacy group ซึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่า เป็นตัวแทน”
กฎกติกามารยาทสำหรับพิชญ์จึงไม่ใช่การร่างขึ้นโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่ต้องการ “เวลา” และความอดทนรอคอย กลับไปหาคำถามที่คลาสสิกที่สุดของการสื่อสาร อันหนึ่งก็คือความน่าเชื่อถือ (trust) กลับมาแสวงหา trust กลับไปหากลุ่มเล็กๆ คือชุมชนใครชุมชนมัน
“แล้วสักพัก ก็เริ่มอยากจะเรียนรู้คนอื่นอีก ก็ต้องหากติกา แต่เรายังไปไม่ถึงไงฮะ คือผมพยายามมองในมุม revolution มันค่อยๆ เปลี่ยนค่อยๆ ปรับ ส่วนหนึ่งเราก็เป็นคนซึ่งอยู่ในนั้น แต่ส่วนหนึ่งเราก็ต้องศึกษา พูดง่ายๆ กลับไปหาคำถามคลาสสิก ที่มีความเป็นจริงประกอบ คือ สังคมเกิดได้อย่างไร รัฐเกิดขึ้นได้อย่างไร คือมันกลับไปถามคำถามคลาสสิกแบบนั้นแหละ แต่ว่าเราอาจต้องอธิบายมันผ่านประวัติศาสตร์จริง แต่มันไม่ควรจะเป็นประวัติศาสตร์ง่ายๆ ที่เขียนกันมา โดยมองแค่ตัวแปรสองตัวเป็นหลัก ก็คือตัวแปรกฎหมาย กับตัวแปรประชากรเว็บ เราต้องไปศึกษาให้มันไกลขึ้นว่าเขามีพฤติกรรมอะไร และมันได้ก่อให้เกิดแบบแผนความสัมพันธ์แบบไหนบ้าง ในยุคนี้พื้นที่ในเว็บมันเชื่อมประสานกันได้มาก ในยุคนี้มันเกิดรอยร้าว เกิดการต่อสู้กันขึ้น คำถามมันไม่ใช่คำถามเดียวเรื่องกฎหมาย มันเป็นคำถามเชิงพฤติกรรม เชิงความหมาย ทำไมคนเล่นเว็บในแต่ละยุค ปัจจุบันคนเล่นเว็บมากขึ้นหรือน้อยลง หรือรูปแบบเว็บมันเปลี่ยน ทำไมทวิตเตอร์มีความสำคัญมากขึ้น ทำไมเฟซบุ๊คมีความสำคัญมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะต้องตอบว่ายุคหนึ่งคนเล่นเว็บ เพราะมีคอมพิวเตอร์ แล้ว เราก็ไปมองแต่ว่าคอมพิวเตอร์คือทางออก ไม่ใช่ สุดท้ายแล้ว มันกลับมาที่โทรศัพท์มือถือ เอสเอ็มเอสกลับมาแรงอีก พอเอสเอ็มเอสกลับมาแรงอีก มันก็เกิดโทรศัพท์มือถือซึ่งใหญ่ขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง จากนั้น ทวิตเตอร์มันจะตอบโจทย์นั้น เพราะคุณไม่ต้องเข้าเว็บที่ทำงาน เพราะที่ทำงานบล็อคเว็บคุณ นี่ไม่ใช่เรื่องกฎหมายรัฐแล้ว คุณกำลังไปในระดับสังคม เมื่อที่ทำงานบล็อคเว็บ มีเว็บ filtering มากขึ้น ทางออกก็คือใช้โทรศัพท์ของคุณ คุณมี BB คุณจะแคร์หรือคุณก็นั่งทำงานไปเล่น BB เจ้านายจะมาเล่นอะไรคุณ มันก็เปลี่ยนโจทย์ text มันก็กลับมาอีก text มัน ไม่ไปไหน มันอยู่ที่ตัวเทคโนโลยี ทีนี้ เฟซบุ๊ค สั้นๆ เล็กๆ พอเห็นรูป อย่าเขียนเยอะ เพราะจะได้อ่านเร็ว ส่งเร็ว ทวิตเตอร์ ก็คือเอสเอ็มเอสแบบหนึ่ง medium ของการส่งก็กลับ มา เป็นระยะเวียนไปเวียนมา มันไม่ใช่โลกที่เป็นคอมพิวเตอร์แล้วมันจะคอมพิวเตอร์ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ มันก้วนกลับมาไอแพด เน็ตบุ๊ค ใช่ไหม มันหนีไปไม่พ้นเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่ในยุคนี้ ตอนนี้เวลาเราพูดถึงเว็บ การดีไซน์เว็บ จะพูดถึงความละเอียดหน้าจอเหมือนเมื่อ 3-4 ปี ที่แล้วหรือ มาตรฐานพันกว่า เข้าไอโฟนไม่ได้แล้ว มันเปลี่ยนแล้ว คุณจะดีไซน์เว็บแบบไหน เมื่อก่อนคิดว่าเว็บต้องละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ต้องอัดข้อมูลเยอะๆ ไม่ใช่ สุดท้ายต้องโหลดเร็ว กูเกิ้ลมาพลิกหมดเห็นมั้ย มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา เราต้องเข้าใจแพทเทิร์นแล้วไปดูว่าการเมืองมันสัมพันธ์กันอย่างไรมากขึ้น
“ผม พยายามบอกว่าเราพยายามศึกษาเว็บอย่างจริงจังและมันไม่มีสูตรสำเร็จ แต่โอเค การเคลื่อนไหวทางการเมืองสิทธิเสรีภาพกำลังไป แต่เราเข้าใจคนที่เราสู้ให้ด้วย อย่าไปคิดง่ายๆ ว่าโอเคเราสู้เพื่อกรอบกฎหมายอย่างเดียว คือมันก็เหมือนแก๊งเฟมมินิสต์นะ มีที่อยากเหมือนผู้ชาย หรือ ลึกขึ้นไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็ต้องศึกษาเว็บมากขึ้น แล้วไม่ใช่เราศึกษาเพื่อหนีจากโลกแห่งความเป็นจริง เพราะมันก็คือโลกแห่งความเป็นจริงอีกแบบหนึ่ง”
ข้อเสนอเพื่อการศึกษา หอจดหมายเหตุออนไลน์
พิชญ์ เสนอว่า สิ่งที่ควรทำก็คือการเก็บเอกสาร ทำหอจดหมายเหตุออนไลน์ โดยต้องเปิดใจกว้าง ยอมรับให้มีการจัดเก็บข้อมูลทุกๆ อย่างเพื่ออ้างอิงได้ ไม่ใช่ไล่ลบ แม้กฎหมายห้ามเผยแพร่ก็ต้องทำการจัดเก็บ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่เขากำลังคิดศึกษาเป็นงานวิจัย
“ผมกำลังจะทำวิจัย สองเรื่องคือ หนึ่ง ทำความเข้าใจพฤติกรรม และสอง เราจะจัดเก็บความเห็นแบบนี้ให้คนเข้ามาอ่านได้อย่างไร สื่อสิ่งพิมพ์เราตัดเก็บคลิปปิ้ง ทำอ้างอิงได้ โลกยังยอมรับการอ้างอิงในอินเทอร์เน็ต แต่คุณไม่เก็บ การเก็บไม่ได้แปลถึงเสรีภาพที่จะด่าพ่อล่อแม่ใคร ต้องแยก แต่เราต้องต่อสู้เพื่อให้เกิดการจัดเก็บ ทุกคนต้องส่ง โดยเชื่อถือคนที่เราส่งไป ตำรวจเก็บไว้หมดแล้ว ก็เก็บให้เป็นระบบ แต่อันนี้ไม่แน่การต่อสู้เพื่อให้เก็บทุกอย่าง วันหนึ่ง มันจะเป็นพื้นฐานการต่อสู้เรื่องเสรีภาพก่อน เราเก็บว่า เรายอมรับว่ามัน exist คนชอบเราไม่ชอบเรา มี เพราะมันไม่มีหลักฐานในการฟ้องไง แต่จะให้เข้าถึงได้อย่างไร เป็นผลต่อสังคมอย่างไร สังคมต้องเป็นคนกำหนด
โดยลักษณะการทำงานของหอจดหมายเหตุออนไลน์ที่เขาคิดไว้คร่าวๆ ก็คือเจ้าของเว็บต้องส่งเนื้อหามายังหอจดหมายเหตุนี้เพื่อทำการจัดเก็บเป็นระบบ
“มันต้องมีการเก็บหลักฐาน เพราะคำพิพากษายุคหนึ่ง มันเปลี่ยนแปลงได้ หลักฐานที่ถูกมองในแบบหนึ่ง ในวันรุ่งขึ้นก็อาจจะมีการมองย้อนกลับ เมื่อมองย้อนกลับในระยะยาวมันทำให้เราเข้าใจรูปแบบเชิงวรรณกรรมได้ไหม รูปแบบการสื่อสารได้ไหม ราชบัณฑิตยังมีการบัญญัติศัพท์ใหม่เลย ของพวกนี้เราต้องยอมรับก่อนว่า มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป มันคือเรื่องจริง เมื่อมันเป็นเรื่องจริง ก็อย่าไปทำอะไรเล่นๆ อย่างเดียว มันไปกระทบคนอื่น ก็ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย แต่โอเค มันอาจจะต้องมีกฎหมายอีกชุดหนึ่งก็ว่ากันไป อย่างมาเลเซียที่พื้นที่เว็บมีเสรีภาพมากกว่าข้างนอก มันมีได้ แต่เราต้องมองอย่างเข้าใจก่อน ไม่ใช่มองใครเป็นมิตรเป็นศัตรูอย่างเดียว คือโอเค เวลาผมพูดมันก็ดูไม่แรง ก็ต้องเข้าใจทุกฝ่าย พยายามที่จะอยู่ด้วยกัน มันไม่แปลกเลย คือทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในเสรีภาพ ยอมรับในหลักฐาน มันไม่แปลกเลยที่จะบอกว่า ผมไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่เห็นด้วยให้จัดเก็บ เพราะจะได้ฟ้องคุณได้ อีกฝ่ายบอก ให้เก็บ เพราะต้องกล้ายอมรับสิ่งที่ผมสู้ ทีนี้กฎหมายเรื่องหมิ่นไม่หมิ่นก็ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากขึ้น แต่พื้นฐานคือ เราต้องยอมรับก่อนว่ามันมีพื้นที่และมันจริงจัง เมื่อมันกระทบ ทุกคนที่เข้ามาเล่นก็ต้องมีวิจารณญาณ ก็ต้องรู้”
สิ่ง ที่พิชญ์เสนอนั้นดูจะเป็นไปได้ยากยิ่ง ภายใต้บรรยากาศของการพยายาม ลบความเห็นต่างและคู่ต่อสู้ทางการเมือง แต่พิชญ์ยืนยันว่าสิ่งที่เขาเสนอนั้นเป็นเรื่องของ “ความศิวิไลซ์”
“จะด่าใครจะเกลียดใคร ไม่ใช่ไล่ลบ โอเค แม้บางอันกฎหมายห้าม แต่อย่าลบ ให้เก็บไว้ โอเคเข้าถึงไม่ได้ภายใน 20-30ปีก็ว่าเหมือนเอกสารแห่งชาติ อันนั้นผมไม่ว่า ก็ต้องต่อสู้ในเชิงเสรีภาพ แต่ให้ดูหรือไม่ คนละเรื่อง แต่ห้ามลบ แต่ต้องมี รัฐบาลและหอสมุดแห่งชาติต้องมีการจัดเก็บเว็บ เพื่อการศึกษาในอนาคตเมื่อย้อนกลับมา เพราะมันเป็น civilization”
“ผมไม่ได้ extreme เสรีภาพเลย เชื่อแบบอนาธิปไตยว่าทุกคนจะตกลงกันได้เอง ไม่ใช่ เราจะสู้เรื่องเสรีภาพทางหนึ่งสู้เรื่องกฎหมาย อีกทางต้องสู้เรื่องการเก็บเนื้อหาเว็บ จะปิดไม่ปิดต้องเก็บให้หมด มันต้องคิดวิธีเก็บ โดยหน่วยงานรัฐหรืออิสระก็ได้ ข้อมูลมันเข้าถึงได้ก็เก็บ จะฟ้องก็มาฟ้อง เว็บ คุณด่าคนอื่น คุณก็ต้องผิด คุณก็ต้องถูกฟ้องครับ ไม่เกี่ยว ผมไม่ได้บอกว่าเว็บคือด่าใครก็ได้ hate speech มีหลักฐานก็ฟ้อง แต่ไม่ใช่ใช้กฎหมายที่ฟ้องแบบครอบจักรวาลแบบนี้ หรือกระบวนการยุติธรรมมันไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ใช้เสรีภาพ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่เสรีภาพในการแสดงความเกลียดชัง มันคนละเรื่องกัน แต่ตรงนี้สังคมต้องช่วยกันกำหนด แต่อย่างน้อยเราต้องมีเสรีภาพกับมัน exist จะฟ้องไม่ฟ้องก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลแล้ว แล้วศาลก็ต้องตอบสนองต่อความต้องการของสังคม แต่มันต้องเริ่มยืนพื้นฐานนี้ก่อน ตรงนี้สำคัญ ไม่ใช่ห้ามหมดหรือลบหมด ถ้าสังคมต้องการจะฟ้องและทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องเก็บ เพราะมันจะได้เป็นบทเรียนว่าครั้งหนึ่งมันฟ้องได้ ครั้งนึงมันเปลี่ยน คำพิพากษาคุณเก็บ หลักฐานคุณก็ต้องเก็บ”
พื้นที่ออนไลน์เปิดบทบาทให้ผู้หญิงมากขึ้น
พิชญ์ ทิ้งท้ายขอสังเกต อีกประการที่กระตุ้นให้เขาอยากศึกษานั่นคือ บทบาทของผู้หญิงต่อประเด็นการเมือง และศาสนา โดยยกตัวอย่าง คำ ผกา และภัควดี (ไม่มีนามสกุล) ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์พระและองค์กรทางการเมืองอย่างเผ็ดร้อน โดยใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นสนามหลัก ซึ่งเขาบอกว่า เป็นสิงกระทบถึงรากฐานจริงๆ ของสังคม
“เรากำลังเห็นบทบาทใหม่ๆ ที่ผู้หญิง เริ่มใช้สติปัญญาในการท้าทายรากฐานของสังคม สำหรับผมนะครับ นี่คือกระแสเฟมมินิสต์ที่ชัดเจนที่สุดของสังคมไทย ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่กระแสเฟมมินิสต์เป็นกระแสเฟมมินิสต์ของไทยจริงๆ ที่ไม่ใช่ต่อสู้แค่กรอบกฎหมาย หรือลอกตำราฝรั่ง แล้วมาสอนหนังสือ...ไม่ใช่ การต่อสู้ของคำ ผกาและภัควดี ไม่ได้บอกว่าเขาถูกนะ แต่มันกำลังปลุกกระแสผู้หญิงชนชั้นกลางที่ตั้งคำถามของการครอบงำของสังคมนี้ ผ่านอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ในสังคม ที่ผูกกับเรื่องการเมืองและศาสนา มันเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงวิจารณ์ศาสนาอย่างเป็นระบบ และการตอบโต้ของพระไพศาลก็น่าสนใจนะ ถ้าถามผู้หญิง แมนนะ หนีไม่พ้นภาพของผู้ชาย เพราะพระมีสไตล์การพูดของพระ และพระก็เป็นผู้ชาย”
พิชญ์บอกว่า เหตุหนึ่งที่ผลักให้เกิดปรากฏการณ์นี้เพราะผู้หญิงใช้อินเตอร์เน็ตเยอะ
“แล้วเขาพูดอะไรกัน มันไม่ใช่เรื่องปัญญาอ่อนอีกแล้ว มันมีข้อถกเถียงเหล่านี้ มันเกิดคำถามใหม่ๆ ผู้หญิง แสดงความเห็นเรื่องเสื้อแดงแรงมาก เริ่มถามถึงความชอบธรรม ใช้ปัญญามากกว่าอารมณ์แล้ว ไม่ใช่เรื่องสร้างวิชาการจากอารมณ์ผู้หญิงแบบทฤษฎีเฟมมินิสต์ฝรั่ง เฟม มินิสต์ไทย ผู้หญิงใช้ปัญญา เถียงกับพุทธศาสนาแล้ว โดยถามคำถามว่า ควบคุมไปทำไม หรือการควบคุมนี้มันเอื้อต่อรัฐหรือไม่ ถามมากขึ้นแล้ว ไม่ใช่เสรีภาพว่าผู้หญิงจะไปบวช แต่ผู้หญิงได้อะไรจากพุทธศาสนา”
ใน สายตาของพิชญ์ ปรากฏการณ์ผู้หญิงวิพากษ์พระนี้จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ หากแต่มันจะขยายวงออกไปยังพื้นที่ออฟไลน์และกลับมาทรงพลังกว่าเดิมในโลกออ นไลน์
“คุณ สังเกตนะว่ามันกำลังจะนำไปสู่การต่อสู้ใหม่ ในเฟซบุ๊คก็จะเริ่มมากขึ้น นี่ต่างหากคือการเคลื่อนไหวใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคม การเคลื่อนไหวในการต่อสู้เรื่องเพศ ที่ไม่เกี่ยวกันกับเรื่องเซ็กส์ มันท้าทายคำสอนทางศาสนา มันถามเรื่องความเป็นธรรม ขณะที่ในยุคที่แล้ว มัน มีกระแสผู้หญิงที่ไปอยู่ในศาสนา "เข็มทิศชีวิต" "สปาอารมณ์" อะไรมากมาย มันเยอะไปหมด ที่ผู้หญิงมองว่าศาสนาพุทธช่วยเขา แต่นี่คุณกำลังเจอกระแส radical feminist แบบ ไทยๆ จริงๆ ที่หลุดจากทฤษฎีฝรั่งเพียวๆ มาถามคำถามที่ท้าทายสังคมไทยอย่างจริงจัง แล้วมันผูกกับการเมืองชาติด้วย เพราะมีพระเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูป และความคิดของพระบางคนถูกนำไปใช้สร้างความชอบธรรมให้กับระบบการเมืองใหม่ และนี่ไม่ใช่การต่อสู้กับพระสงฆ์แก่หรือ Establishment (กลุ่มอำนาจเก่า) ใน ความหมายของพระเถระ มันเป็นการต่อสู้ทางปัญญาระหว่างพระที่ถูกอ้างว่าเป็นพระของคนรุ่นใหม่กับ นักวิชาการทางเฟมมินิสต์ ที่ท้าทายประเด็นการเมืองและผู้หญิง ฯลฯ ตรงนี้อินเทอร์เน็ตกำลังจะทำให้พื้นที่นี้ขยายตัว และน่าสนใจเพราะไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นเรื่องของการต่อสู้เชิงความหยาบคายหรือ เสรีภาพทางเพศ มันผูกโยงว่าโลกของการเมืองมันสัมผัสกับเรื่องหลายเรื่อง
ไม่ปะทะตรงๆ แต่สร้างสรรค์เพื่อทวงพื้นที่
ท้าย ที่สุด การต่อสู้ในโลกออนไลน์สำหรับพิชญ์นั้นดำเนินไปได้หลากหลายรูปแบบ แม้การเข้าปะทะของผู้หญิงต่อการเมืองและศาสนาที่กล่าวมาข้างต้นจะน่าตื่นตา ตื่นใจและต้องติดตามต่อไปด้วยใจระทึก แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเลือกสร้างสรรค์วิธีการสื่อสารโดยไม่เข้าปะทะตรงๆ
“การ มองเรื่องการมีอำนาจไม่ใช่เรื่องของการปะทะอย่างเดียว หรือว่าใครปิดใครได้ โลกออนไลน์มันอาจเป็นพื้นที่ของความสร้างสรรค์ได้ ความสร้างสรรค์มันถูกกำกับไม่ได้ มันมีคำบางคำที่แบบไม่เห็นรู้เรื่องเลย งง เช่น อยู่ๆ ก็ตั้งนามสกุล"รักใครก็ได้" ในเฟซบุ๊ก มัน เป็นพื้นที่ที่เกิดความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ คุณคุมไม่ได้หมดหรอก คือความสร้างสรรค์ไม่ใช่การปะทะหรือแฮกอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างภาษาใหม่ในการสื่อสารขึ้นมา ซึ่งไม่มีใครรู้ หรืออยู่ดีๆ ก็มีเอารูปลงเว็บ เป็นรูปตู้เอทีเอ็ม แล้วมีคนกำลังถือบัตรอยู่ ผมเลยนึกว่าเป็นเรื่องต่อท่อน้ำเลี้ยง”
พิชญ์ ยกตัวอย่าง และว่า รูปแบบสร้างสรรค์เหล่านี้ เป็นอีกรูปแบบที่ทำให้ทวงคืนพื้นที่บางส่วนที่ขาดหายไปได้เช่นกัน – แน่นอน เขาพูดไว้แต่ต้นแล้วว่า การเรียนรู้มีหลายรูปแบบ และการสื่อสารก็เฉกเช่นกัน