WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, March 11, 2011

คอมมิวนิสต์มาแว้ว

ที่มา มติชน



โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2554)

คนที่ผ่านการเมืองมามาก ได้ยินนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง งัดทฤษฎีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาโหมประโคม เพื่อจะอธิบายถึงกลุ่มเสื้อแดง โดยเจตนาลึกๆ ก็คงไม่พ้นงัดข้อหาคอมมิวนิสต์ขึ้นมาโจมตีใส่เสื้อแดงนั่นแหละ

ได้ยินคำพูดทำนองนี้ปุ๊บ หลายคนบอกว่า อันนี้เริ่มออกอาการหน้ามืดแล้ว

เหมือนไปปัดฝุ่นคำพูดของผู้มีอำนาจในอดีต ซึ่งมักงัดข้อกล่าวหาเช่นนี้ เมื่อหันซ้ายหันขวาหาอะไรมาเล่นงานคู่ขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ ก็ต้องงัดข้อหาคอมมิวนิสต์ออกมาใช้เป็นสูตรสำเร็จ

เพียงแต่สมัยก่อน คนไม่ค่อยรู้จักคอมมิวนิสต์ ฟังโฆษณาชวนเชื่อมากๆ แล้วรู้สึกว่าน่ากลัว

อีกอย่างย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว คอมมิวนิสต์มีความเคลื่อนไหวมาก ก็ไม่ใช่เรื่องล้าสมัยอะไรในยุคนั้น

แต่ยุคนี้ต้องบอกว่าเชยไปแล้ว

ประเทศไทยยังมีคอมมิวนิสต์ไหม

เห็นมีแต่ค่ายร้าง ฐานที่มั่นเก่าๆ ซึ่งกรมอุทยานฯเปิดไว้เก็บเงินจากนักท่องเที่ยว

อาจจะมีมาร์กซ์ เลนิน เหมาเจ๋อตุง นั่นแหละที่แอบยิ้มอยู่ในหลุมศพ ขอบอกขอบใจรองนายกฯประเทศไทยที่ทำให้คนในโลกไม่ลืมคำว่าคอมมิวนิสต์

เพราะอาตี๋อาหมวยในจีนยุคใหม่ก็แทบจะลืมลุงเหมาไปหมดแล้ว ในรัสเซียหลังคอมนิสต์ล่มสลาย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

จู่ๆ นายสุเทพยกทฤษฎีคอมมิวนิสต์ออกมาใช้ เพราะมีการพูดถึงข่าวสารจากหน่วยรัฐเองที่มองว่าคนเสื้อแดงจะมาชุมนุมในวันเสาร์นี้มากกว่าทุกครั้ง

แทนที่จะยอมรับว่าเพราะรัฐบาลยังไม่สามารถคลี่คลายปมปริศนา 91 ศพได้ เลยเป็นเงื่อนไขชักจูงให้เสื้อแดงลุกฮือและขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

กลับอธิบายว่า เพราะเสื้อแดงมีการจัดตั้งแบบคอมมิวนิสต์ ใช้ยุทธวิธีเหมือนคอมมิวนิสต์

แถมบอกด้วยว่า เมื่อไม่มีกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว พวกคอมมิวนิสต์เก่าๆ จึงออกจากป่ามานั่งอยู่ในวอร์รูม มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงการปกครองเหมือนอย่างที่เคยคิดตอนเป็นคอมมิวนิสต์

พูดจาแบบนี้ก็ชัดเจนว่า งัดข้อหาคอมมิวนิสต์ออกมาโจมตีเสื้อแดงนั่นแหละ

ความจริงประเด็นการต่อสู้ในขณะนี้ คือ พยานหลักฐานเรื่องความตายของคน 91 ศพ และการใช้ความรุนแรงมือเพลิงมือไฟเป็นใคร

รัฐบาลกำลังเผชิญกับปัญหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคมปี 2553

ทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา และการชุมนุมเพื่อรำลึกเหตุการณ์ของเสื้อแดง

ยังไม่มีใครรู้ว่า พยานหลักฐานที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ คุยโฆษณานั้น จะชัดเจนจริงหรือไม่

ยังมีสิทธิต่อสู้โต้แย้งกันไปตามข้อเท็จจริง

ส่วนความหวั่นไหวว่าคนเสื้อแดงจะชุมนุมกันมากในวัน 19 พฤษภาคมนั้น ฝ่ายรัฐบาลมีแผนจะยุบสภาก่อนพฤษภาฯอยู่แล้ว เพื่อคลี่คลายบรรยากาศ ลดเงื่อนไขการลุกฮือ

ไม่เห็นจะต้องออกอาการหน้ามืดตามัว ถึงขั้นต้องปลุกผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมาหลอกหลอนกัน

เดี๋ยวเถอะ ดึกดื่นอาจมีคนหนวดเคราขาวโพลน หัวเถิกๆ มีไฝเม็ดโตที่คาง บุกไปจูบปากขอบคุณถึงเตียงนอ

นายกฯลั่น"ยุบสภา"ก่อนสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. คุย กกต.เปิดทางออกระเบียบคุมเลือกตั้ง

ที่มา มติชน

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 12 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ถึงการพบและหารือกับคณะกรรมการการเลือก (กกต.) ตั้งเกี่ยวกับเงื่อนไขและข้ออติดขัดเกี่ยวกับการยุบสภาว่าตนได้ไปพบกับ กกต.เพื่อดูเรื่องความพร้อมที่เกี่ยวข้องกับการยุบสภาและการเลือกตั้ง ซึ่งได้มีการพูดคุยสอบถามประเด็นในเชิงของเทคนิคและปัญหาข้อกฎหมายทั้งหมด

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาตนได้ย้ำเสมอว่ารัฐบาลได้เข้ามาเพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง ซึ่งขณะนั้นมีทั้งปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมือง แทบจะกล่าวได้ว่าขณะนั้นคนมองประเทศไทยถึงขั้นที่จะเป็นรัฐที่ล้มเหลว แต่รัฐบาลก็ได้คลี่คลายปัญหาหลายเรื่องจนเห็นความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนต่อนโยบายสำคัญๆ เช่น การเรียนฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและการประกันรายได้เกษตรกร ตลอดจนภาพรวมทางเศรษฐกิจก็มีความมั่นคงขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังดำรงอยู่ สิ่งที่รัฐบาลได้ทำตลอด 2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาด้วยการรักษาความเป็นนิติรัฐและพร้อมจะพิจารณาคืนอำนาจให้ประชาชนในเวลาที่เหมาะสม วันนี้สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนคือสภาพปัญหาของบ้านเมือง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชนก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ก็คือเราอาจจะผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้ว แต่ขณะนี้สภาพปัญหามันเปลี่ยนเป็นปัญหาเรื่องปากท้อง ของแพง

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนต้องการจะเห็นประเทศเดินหน้า ต้องการเห็นการเดินหน้าเพื่อมีคำตอบสำหรับพี่น้องประชาชน ผมไม่ต้องการให้ปัญหาเรื่องของการเมืองมาเป็นอุปสรรค มาเป็นสิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองแทนที่จะมีความชัดเจน เดินหน้าต่อไปในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบกับพี่น้องประชาชน ต้องมาอึมครึมทางการเมืองอยู่ และด้วยเหตุผลนี้จึงอยากจะเรียนว่าการเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญ เมื่อสภาพปัญหามันพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ แล้วเราต้องการความชัดเจน เสียงของพี่น้องประชาชนจะเป็นเสียงที่ชี้อนาคตของชาติบ้านเมืองได้ ซึ่งยังมั่นใจด้วยว่าเสียงนี้จะเป็นเสียงสำคัญที่สุด ดังที่สุดมากกว่าจะปล่อยให้สภาพการเมืองให้เป็นเรื่องของคนจำนวนน้อยแต่ส่งเสียงดัง แต่คนส่วนใหญ่ประสบกับปัญหาความเดือดร้อนแล้วไม่มีโอกาสออกสิทธิออกเสียง ใช้สิทธิใช้เสียง

“ก็ต้องเรียนว่าผมตั้งใจจะนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อให้มีการยุบสภาไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าความชัดเจนเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ การแบ่งเขตเลือกตั้งจะเรียบร้อย คือไม่มีปัญหาแล้วจากการได้พูดคุยกับ กกต. ในวันนี้ ผมทราบดีว่าอาจจะมีเพื่อนนักการเมือง เพื่อนพรรคร่วมรัฐบาล หรือเพื่อน ส.ส. ที่ไม่เห็นด้วย แต่ผมได้ตัดสินใจ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของผมตั้งแต่ต้นว่าเราควรมีการเลือกตั้งก่อนที่สภาจะครบวาระ และเราควรจะได้เลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อขจัดความไม่ชัดเจนและความอึมครึมต่อไป ดังนั้น จึงขอยืนยันว่าสัปดาห์หน้าจะเริ่มต้นกระบวนการเร่งรัดการพิจารณากฎหมายต่างๆ และจะดูความก้าวหน้าการทำงานต่างๆ ซึ่งได้พูดคุยกับ กกต.ในรายละเอียด แล้วไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ผมก็จะนำเรื่องกราบบังคมทูลฯเพื่อให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกฯ-รองนายกฯ ถกทหารรับมือม็อบ-ซักฟอก

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

"อภิสิทธิ์-สุเทพ"หารือทหาร เตรียมข้อมูลรับซักฟอก "ประยุทธ์"หวั่นม็อบแดงยื้อ ทหารเตรียม24ชม. คาด 12มี.ค.ชุมนุม5หมื่นคน ให้"ดาว์พงษ์"คุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 14.00 น. วันที่ 10 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ได้เดินทางมาที่กองบัญชาการกองทัพบก เพื่อประชุมกับ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ดาว์พงษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายยุทธการ ฝ่ายข่าว และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เพื่อรับฟังข้อมูล และ ซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทหารในช่วงเหตุการณ์กระชับพื้นที่ในสถานการณ์เมื่อเดือน พฤษภาคม 2553 ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ สถานการณ์ไทย-กัมพูชา และ การแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปใช้ชี้แจงในสภาฯ ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในวันที่ 15-18 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางออกจากรัฐสภาโดยรถยนต์ของชุดรักษาความปลอดภัยตำรวจสันติบาล โดยไม่ใช้รถประจำตำแหน่ง เบนซ์ เอส 600 หมายเลขทะเบียน 3834 เพื่อไม่ให้เป็นจุดสนใจของผู้สื่อข่าว และได้สั่งให้ขบวนรถยนต์ประจำตำแหน่งไปจอดรอที่ทำเนียบรัฐบาล โดยรถยนต์ที่นายกฯ นั่งเข้ามาพร้อมกับขบวนรถยนต์ของนายสุเทพ ซึ่งใช้เส้นทางถนนการเรือน เพื่อเข้าประตูด้านหลังกองทัพบก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้ใช้เวลาหารือประมาณ 3 ชม. และเดินทางกลับจากกองทัพบก เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. โดยเวลาส่วนใหญ่ เป็นการชี้แจงการปฏิบัติหน้าที่ของ ศอฉ. ที่ถูกฝ่ายค้านและแกนนำเสื้อแดง นำไปโจมตีทหาร ทั้งกรณีของเหตุการณ์เผาเซ็นทรัลเวิลด์ และเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม อย่างไรก็ตาม กองทัพ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ในการส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลเพื่อชี้แจงในสภาฯ ในทุกกรณี เพราะเกรงว่าจะมีการนำข้อมูลเท็จมาใช้ปลุกปั่นสร้างกระแสให้กลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงออกมาต่อต้านกองทัพมากขึ้น โดยที่กองทัพไม่ได้มีโอกาสตอบในสภาฯได้หรือชี้แจงได้ทันท่วงที

แหล่งข่าวกองทัพเปิดเผยว่า วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วย พล.อ.ดาว์พงษ์ พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รอง เสธ.ทบ. พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.อักษรา เกิดผล ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายยุทธการทหารได้รายงาน และประเมินภาพรวมให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบในการชุมนุมของ กลุ่มนปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง ในวันที่ 12 มี.ค. โดยทางกองทัพคาดว่าน่าจะมีคนเสื้อแดงเข้าร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน และการชุมนุมวันดังกล่าวทางแกนนำทั้งหมดที่ได้รับปล่อยตัวมาจะขึ้นร่วมปราศรัย โดยจะมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการมาพบกับแกนนำเหล่านี้ และมีกระแสข่าวว่าทางพรรคเพื่อไทยจะระดมคนเข้าร่วมชุมนุมอีกส่วน

“พล.อ.ประยุทธ์ ให้หน่วยข่าว และเจ้าหน้าที่จับตาการการปราศรัยของ แกนนำ นปช. โดยเฉพาะการพูดบนเวที ที่อาจจะส่อไปในเชิงพาดพิงสถาบัน รวมทั้งให้อัดเทป และถ่ายภาพหากแกนนำมีพฤติกรรมพูดไปในทางที่ผิดเงื่อนไขของศาล ที่ห้ามกระทำการอันเป็นการปลุกปั่น ปลุกระดมเพื่อให้เกิดความยั่วยุ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”แหล่งข่าวกล่าว และว่าสิ่งที่ทาง พล.อ.ประยุทธ์ หวั่นที่สุด เมื่อการชุมนุมมีการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียด และมีแรงเสียดทานจะทำให้ไม่สามารถควบคุม และจะเกิดความรุนแรง และยื้อการชุมนุม

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กอ.รมน. ได้มอบหมายให้กองทัพบก ตั้งวอร์รูมขึ้นมาติดตามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างใกล้ชิด โดยให้มีการมอร์นิเตอร์ตลอด และ มอบให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. และเลขาธิการ กอ.รมน.เป็นผู้ควบคุม และดูแลเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมี กรมฝ่ายเสนาธิการเข้าทำหน้าที่ ตลอดทั้งวันที่ 12 มี.ค. นอกจากนี้มีการสั่งการ พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 สั่งการหน่วยทหารทุกหน่วยในกรุงเทพ โดยเฉพาะ กองพลที่ 1 รักษา พระองค์ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.)กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์(ม.พัน.4 รอ.) มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กองพันสารวัตรทหารบก กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 1 เตรียมพร้อมในหน่วยที่ตั้งตลอด 24 ชม.เพื่อหากมีเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรง รวมทั้งภายใน กองบัญชาการกองทัพบก จะมีการจัดกำลังพล สุนัขทหาร และยุทโธปกรณ์ประเภท รถน้ำดับเพลิง รถเครื่องขยายเสียง เข้ามาประจำกันเพื่อป้องกันม็อบที่เกรงว่าจะเดินผ่านและมาหยุดที่หน้า บก.ทบ.

พรุ่งนี้เจอกันที่เก่าเวลาเดิม...ใครแกล้งป่วยไม่ต้องมา

ที่มา thaifreenews

โดย แมวอ้วนอ้วน



พรุ่งนี้เจอกับ ทีม FARED ได้ที่ บริเวณด้านหน้าอนุสรณ์ 14 ตุลา (ใกล้ 4 แยกคอกวัว) เวลาตั้งแต่ 12.00 น เป็นต้นไป (แต่ทีมกางเต็นท์คงจะต้องไปประมาณ 10.00 น. เป็นอย่างช้า)

ใครป่วย....ปวดหัวตัวร้อน ปวดท้อง คันเนื้อคันตัว แวะมารับ ยาดม ยากิน ยาทา กันได้เลย

ใครไม่ป่วย....ก็มารับลูกอม ท๊อฟฟี่ กันได้ตามสบาย

ส่วนคนที่แกล้งป่วย....ก็นอนเล่นอยู่บ้านริมน้ำไป ไม่ต้องมาให้ชาวบ้านเขาเดือดร้อน


ปล. กิจจกรรมรณรงค์รักษาความสะอาด ยังมีเช่นเดิมนะครับ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ดี ไม่ทิ้งขยะกันเรี่ยราด
เชิญอาสาสมัคร มารับ ที่คีบขยะ และถุงขยะได้ที่ เต็นท์FARED 5fc0f220

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดีอุ้ม "ทนายสมชาย" เหตุพยานหลักฐานไม่ชัด

ที่มา ประชาไท

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก้ยกฟ้อง คดีอุ้ม “ทนายสมชาย” หลังญาติแจ้ง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 สาบสูญ ชี้คดีนี้ยังไม่ชัดว่า ทนายสมชายบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้วหรือไม่ ส่วนคำให้การพยานยังสับสน ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ พ.ต.ต.เงิน และให้ออกหมายขังไว้ระหว่างฎีกา

เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 11 มี.ค. ศาลอาญา ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และบุตรของนายสมชาย ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน.ช่วยราชการกองปราบปราม, พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อายุ 42 ปี อดีตพนักงานสอบสวน กก.4 ป., จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อายุ 40 ปี อดีต ผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กก.2 บก.ทท., ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 38 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กก.4 ป. และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อายุ 45 ปี อดีตรอง ผกก.3 ป. เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ เพื่อกระทำผิด และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย จากกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย เมื่อปี 2546

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก พ.ต.ต.เงิน ทองสุก เป็นเวลา 3 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย และให้ยกฟ้องจำเลยอื่น วันนี้อัยการโจทก์ และโจทก์ร่วมที่ 1, 3 รวมทั้งจำเลยที่ 2-5 เดินทางมาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลได้ออกหมายจับไว้แล้ว พร้อมสั่งปรับนายประกัน 1.5 ล้านบาท

ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลได้แถลงว่า คดีนี้ นายประกัน ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งปรับนายประกัน 1.5 ล้านบาท โดยโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้หลบหนี แต่เป็นบุคคลสาบสูญ จึงแยกสำนวนส่งให้ศาลอุทธรณ์ เพื่อมีคำสั่งต่อไป ต่อมาศาลอ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ว่า ศาลได้ประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าคดีนี้จำเลยได้ยื่นคัดค้านการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมที่ 1 และ 3 จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และ 3 มีสิทธิขอเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้หรือไม่ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ยังไม่ชัดเจนว่า นายสมชาย นีละไพจิตร บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแล้วหรือไม่ แม้โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาและโจทก์ร่วมที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายจัดการแทนในคดีและไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วม

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.5 (2) ได้มีประเด็นต่อมาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2-4 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ศาลพิเคราะห์แล้วได้ข้อเท็จจริงว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.วันที่ 12 มี.ค. 47 นายสมชาย นีละไพจิตร ได้ขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค สีเขียว ทะเบียน ภง 6768 กรุงเทพมหานคร ไปพบเพื่อนที่โรงแรมชาลีน่า ย่านรามคำแหง 65 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ

ต่อมาเวลาประมาณ 20.15 น.นายสมชาย ได้ออกจากโรงแรมเพื่อพักกับเพื่อนที่อยู่บริเวณแยกลำสาลี จากนั้นนายสมชายได้หายตัวไป โดยวันรุ่งขึ้นพบรถยนต์ซีวิคคันดังกล่าวของนายสมชายจอดอยู่ที่สถานีขนส่งหมอชิต ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวบพยานหลักฐาน การใช้โทรศัพท์จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ซึ่งทั้งหมดได้เข้ามอบตัวและให้การปฏิเสธแต่คำเบิกความของพยานจำนวน 3 ปากให้การว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนเห็นรถยนต์เก๋งสองคันจอดอยู่ริมถนนรามคำแหง

จากนั้นมีบุคคล3-5 คนฉุดกระชากนายสมชายขึ้นรถเก๋งคันหลังไป แต่ไม่เห็นใบหน้าชัดเจน ประกอบกับเอกสารการใช้โทรศัพท์ติดต่อของจำเลยที่ 2-5 คนที่ได้มาจากบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนนั้นเป็นเพียงสำเนา ไม่อาจใช้รับฟังในชั้นศาลได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ให้พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่ 2-5 ตามศาลชั้นต้น

นอกจากนี้มีประเด็นให้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยคดีนี้จำเลยที่ 1เคยอุทธรณ์ไว้ว่าไม่มีพยานเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน แม้ปรากฎว่ามีแสงไฟจากเสาไฟฟ้า มองเห็นสลัวได้ในระยะประมาณ 10 เมตร รวมทั้งแสงไฟจากริมรั้วบ้าน และแสงไฟจากรถยนต์ที่สัญจรไปมา แต่พยานให้การว่าเห็นชาย 3-5 คน ผลักดันชาย อายุประมาณ 50 ปี รูปร่างไม่สูงใหญ่ สวมเสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวให้ขึ้นรถเก๋ง แต่พยานให้การว่ามองเห็นจากด้านข้าง รูปร่างคล้ายจำเลยที่ 1 อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นจำเลยที่ 1 คำให้การของพยานยังสับสน จึงมีเหตุความสงสัยตามสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 1 อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฟังขึ้น จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 แต่คดีนี้ศาลได้ออกหมายจับจำเลยไว้แล้ว จึงให้ออกหมายขังจำเลยที่ 1 ไว้ระหว่างฎีกา ส่วนจำเลยอื่นพิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

ด้านนางอังคณา กล่าวด้วยเสียงนิ่งเฉยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับศาลอุทธรณ์ในเรื่องการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน และตนเห็นว่ามีพยานบางปากไม่ได้รับการคุ้มกัน อาจจะมีความกลัวจนส่งกระทบต่อคดี ตนเกรงว่า ต่อไปคดีลักษณะเดียวกันนี้อาจจะถูกยกฟ้องก็ได้ ตนจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป

บนรถไฟสายเชียงใหม่-เชียงราย

ที่มา ประชาไท

(1)

Time: 7.45 Destination: Chiang Rai - Train on arriving -

เป็นข้อความบนป้ายแอลอีดีสีสันสวยงามที่ผมแหงนมองมันกระพริบได้ไม่ทันไร รถไฟหัวมนราวกับจรวดก็พุ่งเข้าเทียบชานชาลาอย่างเงียบเชียบมาหยุดอยู่ตรงหน้า เพื่อให้แน่ใจ ผมหยิบตั๋วที่อยู่ในมือขึ้นมาดูอีกที ที่ตั๋วระบุด่วนพิเศษ ขบวนที่ 3 หมายเลขนั่ง A2 ผมเข็นกระเป๋าเดินทางใบเล็กๆ จูงขึ้นมาบนรถ มองหาที่นั่งจนเจอ จึงยกกระเป๋าขึ้นเก็บบนชั้นเหนือที่นั่ง

ในเช้าจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนเช่นนี้ อากาศเริ่มเย็นลงเห็นได้ชัด ทำให้ตื่นสายกว่าปกติ วันนี้ผมจึงเปลี่ยนใจมารอขึ้นรถที่สถานีดอยสะเก็ดแทนที่จะเป็นสถานีต้นทางคือสถานีเชียงใหม่อย่างทุกครา พื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ในชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้าช่วงเย็น รถติดขนาดไหนคงไม่ต้องบรรยาย ยิ่งวันนี้เป็นวันเปิดเทอมวันแรกอีกด้วยแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองคงพากันไปส่งลูกหลานถึงที่โรงเรียนกันเยอะ ถ้าให้ฝ่าฟันเข้ามาถึงในเมืองคงเสียเวลาโข

ภายในตู้รถไฟที่ผมนั่งวันนี้เต็มไปด้วยผู้คน กลุ่มใหญ่น่าจะเป็นพนักงานรัฐกับนักศึกษามหาลัย มีที่เห็นบ้างเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่นานก็มีพนักงานชายสูงวัยคนหนึ่ง สวมสูทสีกรมท่าทางใจดี เดินมาตรวจตราไถ่ถาม “ทุกอย่างเรียบร้อยดีนะครับ” ระหว่างที่ผมกำลังก้มหน้าก้มตาเช็คข่าวผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ หลายๆ จังหวัดในภาคเหนือที่เพิ่งจะเลือกกันไปเมื่อวานจากเครื่องคินเดิ้ลคู่ใจ ผมเงยหน้าขึ้นยิ้มให้แก โดยไม่ได้พูดอะไรตอบ จากนั้นพนักงานสาวในชุดพื้นเมืองล้านนาก็เข็นรถที่เต็มไปด้วยอาหารกล่อง อาหารว่าง และเครื่องดื่มสำเร็จรูป รวมทั้งของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ มาจำหน่ายค่อยๆ ผ่านข้างตัวผมไป ผู้โดยสารคนหนุ่มที่นั่งข้างๆ นั่งเล่นโน๊ตบุ๊ค (เหลือบไปเห็นสัญญาณไวไฟเต็มที่ด้วย) ไม่สนใจเหมือนกัน

ความเร็วที่ระบุตรงป้ายไฟเล็กๆ กลางทางเดินขึ้นๆ ลงๆ ตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 222 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟวิ่งผ่านอุโมงค์หลายต่อหลายแห่ง ตลอดสองข้างทางเป็นป่าเขาหนาแน่น มองไปเห็นสีเขียวของแมกไม้สบายตา จนรถมาหยุดจอดอีกครั้งที่สถานีแม่ขะจาน ช่วงนี้หมอกหนาจัด แล่นฉิวผ่านทุ่งนาเขียวขจี บ้านเรือนอยู่ไกลลิบๆ ไม่ทันไรก็มาถึงสถานีเวียงป่าเป้า แม่สรวย แม่ลาว และมาถึงที่สถานีเชียงรายตามลำดับ

ข้อมูลจากแผ่นพับที่อยู่ตรงหน้าที่นั่งบอกอีกไม่นานโครงการขยายเส้นทางรถไฟแยกไปถึงแม่สาย-เชียงแสน-เชียงของจะเปิดให้บริการได้ นึกในใจเอาเอง ถึงตอนนั้นอาจจองตั๋วยากขึ้น เพราะคงมีบริษัททัวร์ นักท่องเที่ยวแบ็คแพคเกอร์ที่จะเข้าไปเที่ยวต่อในจีน พม่า ลาว ใช้รถไฟเส้นทางนี้กันเยอะ

หลังลงจากรถ ผมหยิบมือถือขึ้นมาดู เวลา 9 โมง 15 พอดี เดินไปที่จอดรถรวมขับรถไปถึงที่ทำงานไม่น่าเกิน 20 นาที...

(2)

เป็นเช้าอีกวัน ผมตื่นขึ้นมาเจอข่าวอุบัติเหตุใหญ่ เผยชื่อ 13 ผู้เสียชีวิต-17 คนเจ็บ บัสครูเชียงรายตกเขาเมืองน่าน ที่เพื่อนในเฟซบุ๊กหลายคนเอามาแชร์ต่อๆ กัน ทุกคนถือโอกาสแสดงความเสียใจ (สั้นๆ เช่น RIP) แนบลิงก์ไปด้วย ความเห็นต่อท้ายที่มีก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

อุบัติเหตุ

อ่านข่าวจึงทราบ รถคันที่ประสบอุบัติเหตุเป็นรถบัสของคณะครูโรงเรียนบ้านด้ายเทพกาญจนาอุปถัมภ์ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเดินทางไปส่งครูบรรจุใหม่ที่โรงเรียนบ้านมณีพฤกษ์ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เหตุเกิดบนเส้นเชียงราย-น่าน ช่วง อ.สองแคว จ.น่าน ซึ่งเป็นทางลงเขาโค้งหักศอก เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา

คนเคยใช้เส้นทางนี้ทราบดีว่าหฤโหดขนาดไหน ลองนึกภาพตาม ถนนสองเลนรถวิ่งสวนกัน คดเคี้ยวและสูงชันแทบจะโดยตลอด บนระยะทางกว่า 270 กิโลเมตร (เชียงราย-เทิง-เชียงคำ-ปง-สองแคว-ท่าวังผา-น่าน) แน่นอนนี่ไม่ใช่อุบัติเหตุครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ครั้งหนึ่งที่ผมพอจำได้ ครั้งนั้นเกิดขึ้นกับคณะ รมช.มหาดไทย (นายประชา มาลีนนท์) คนขับรถบัสตัดสินใจพุ่งชนเขาข้างทางหลังควบคุมรถไว้ไม่อยู่ ทั้งที่ก็มีรถตำรวจนำขบวนไป ผลคือเจ็บกันถ้วนหน้า เตชะบุญไม่มีคนตาย

เส้นเชียงใหม่-เชียงราย คืออีกเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ภายในรอบ 5-6 ปีมานี้ มีหนักๆ เลย 3 ครั้งด้วยกันที่มีผู้เสียชีวิตร่วม 10 คนขึ้น โดยครั้งร้ายแรงสุดเกิดแถวสะพานโค้งหักศอกบ้านปางแฟน รถทัวร์ซึ่งพาคณะครูจาก อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี มาทัศนศึกษาภาคเหนือ และมุ่งไปต่องานพืชสวนโลก ประสบอุบัติเหตุคว่ำตกลงไปในลำธารข้างทาง ครานั้นมีผู้เสียชีวิตมากถึง 20 กว่าราย อีก 2 ครั้งเกิดที่ทางลงดอยนางแก้ว และช่วงรอยต่อ อ.เวียงป่าเป้า-อ.แม่สรวย นับแค่เฉพาะ 3 ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวมกันเกือบๆ 50 คนเลยทีเดียว ไม่ว่าครั้งใดก็เห็นสังคม (โดยเฉพาะสื่อ) แสดงอาการโศกเศร้าซะทุกครั้ง พร่ำพูด “ขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายๆๆ” แต่ไม่เคยพยายามแสวงหาคำตอบ หรือกระทั่งเสนออะไรที่จริงจังออกมา

ย้อนนึกถึงครั้งยังเด็กที่ใช้เส้นลำปาง-เชียงใหม่ พบเห็นอุบัติเหตุอยู่ประจำ บ่อยครั้งเกิดขึ้นกับญาติหรือคนรู้จัก หลายคนเสียชีวิต ตอนนี้ทุกครั้งที่ผมค่อยๆ ขับผ่านศาลเจ้าพ่อขุนตาล ผมจะยกมือขึ้นไหว้และนึกถึงเรื่องนี้เสมอ ว่าหลังจากที่ได้รับการขยายเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรในปี 2544 แล้ว (จากเดิม 2 ช่องทางรถวิ่งสวนกัน) แน่นอน ผมยังคงใช้เส้นทางนี้ แต่ก็ไม่เจอะอุบัติเหตุรายทางมากมายดังเช่นแต่ก่อน และไม่เคยต้องไปร่วมงานศพใครที่ต้องจากไปบนถนนเส้นนี้อีกเลย

(3)

ถ้าจะให้พูดถึงประเทศต้นแบบที่พัฒนาระบบการเดินทาง-ขนส่งภายในประเทศ “ทางบก” ได้อย่างยอดเยี่ยม คงหนีไม่พ้นต้องเอ่ยถึงสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่สองประเทศนี้เลือกหนทางพัฒนากันคนละแบบ อเมริกาไปทางถนน ญี่ปุ่นเน้นมุ่งระบบราง

ลองสืบค้นพบว่าเดิมทีอเมริกาก็ให้ความสำคัญต่อการสัญจรทางรถไฟมาก่อน ตั้งแต่ห้วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มีทั้งเส้นทางสายยาวข้ามประเทศ และเส้นทางสั้นๆ ระหว่างภูมิภาค ขณะนั้นดำเนินการโดยเอกชนเป็นหลัก (ตอนหลังสภาคองเกรสออกกฎหมายให้กิจการรถไฟเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจัดตั้ง National Railroad Passenger Corporation ที่รู้จักกันในชื่อ Amtrak ขึ้น) จุดเปลี่ยนที่ทำให้อเมริกาหันไปพัฒนาระบบถนน และละเลยทางรถไฟ (ที่อเมริกาไม่มีรถไฟความเร็วสูง เพิ่งจะมาพูดถึงกันเมื่อไม่นานนี่เอง) สืบเนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะแรงผลักดันจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายของตน และเหตุผลทางการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งน่าจะเป็นเพราะอเมริกาได้ค้นพบแหล่งน้ำมันสำรองปริมาณมหาศาล

สหรัฐอเมริกามีเนื้อที่ขนาดใหญ่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบกว้าง ระบบถนนหลักที่มี ได้แก่ Interstate Highway เป็นโครงข่ายถนนที่เชื่อมทุกรัฐเข้าด้วยกัน (ยกเว้น อลาสก้ากับฮาวาย) ริเริ่มสมัยประธานาธิบดีดไวท์ ดี ไอเซนฮาว (Dwight D. Eisenhower) ตั้งแต่ปี 1921 ก่อนที่จะเป็นรูปเป็นร่างจริงจังในปี 1956 ใช้งบของรัฐบาลกลางรวมกับที่ได้จากแต่ละมลรัฐ ถนน Interstate มาตรฐานขั้นต่ำอย่างน้อย 4 ช่องทาง แบ่งทิศไปกลับ ไม่มีสัญญาณไฟจราจรระหว่างทาง มีทางเข้า-ออกเป็นระยะๆ (พูดง่ายๆ คือไม่มีจุดตัดเลยแม้แต่น้อย) สภาพถนนมีคุณภาพสูง เส้นทางไม่ชันไม่โค้งเกินไป ขีดจำกัดอัตราเร็วสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 65-80 ไมล์ต่อชั่วโมง เป็นต้น รวมความยาวทั้งสิ้น 46,876 ไมล์ (หรือ 75,440 กิโลเมตร) ถือเป็นระบบถนนไฮเวย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ก็ยังมี United States Highway ที่เป็นโครงข่ายถนนระหว่างรัฐเช่นเดียวกัน แต่มาตรฐานไม่สูงเท่า รวมถึง State Route ถนนของมลรัฐระดับพื้นฐาน ใช้เชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ภายในรัฐ ซึ่งจะว่าไปแล้ว Interstate Highway เมื่อเทียบกับระยะทางถนนทั้งหมด (ซึ่งก็มีถนนของท้องถิ่นต่างๆ อีกไม่รู้เท่าใด) คิดเป็นแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยมีหน่วยงานที่ดูแลคือ Federal Highway Administration สังกัดกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ

เมื่อเป็นดังนี้ บวกกับการที่รถยนต์มีราคาถูก (หมายถึงกรณีรถนำเข้าด้วย เทียบรุ่นเดียวกันกับที่มีในไทยราคาขายที่อเมริกาจะถูกกว่าราว 1-2 เท่าตัว) คนอเมริกันจึงนิยมใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง ถ้าท่องเที่ยวระยะไกลก็จะใช้รถ RV กัน มีจุดจอดรถ RV บริการเป็นระยะ ประมาณกันว่าเฉพาะประเทศนี้ประเทศเดียวมีรถยนต์มากถึง 250 ล้านคันทีเดียว หรือคิดง่ายๆ 2 ใน 3 ของคนอเมริกามีรถใช้

แผนที่ Highway ในประเทศสหรัฐอเมริกา
แผนที่ทางไฮเวย์ในสหรัฐอเมริกา

ส่วนญี่ปุ่น ระบบรถไฟเริ่มขึ้นปลายศตวรรษที่ 19 (ก่อนหน้ารถไฟไทยราวๆ 20 ปี ตรงสมัยรัชกาลที่ 5) แม้นช่วงแรกรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนเอง แต่การต่อขยายเส้นทางเป็นไปอย่างเชื่องช้า นำไปสู่การจัดตั้งบริษัท Nippon Railway กระทั่งภายหลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ภาครัฐต้องการควบคุมเบ็ดเสร็จ จึงได้ทำการซื้อกิจการรถไฟจาก 17 บริษัทเอกชนมาเป็นของภาครัฐ (Nationalization) โดยยอมให้ภาคเอกชนยังสามารถลงทุนในทางรถไฟสายรองได้ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ญี่ปุ่นตกเป็นผู้แพ้สงคราม อเมริกาได้เข้ามามีส่วนตัดสินใจจัดตั้ง Japanese National Railway ในรูปบริษัทมหาชนขึ้น ต่อมาได้เติบโตอย่างรวดเร็ว อนึ่ง สิ่งที่ส่งผลให้ระบบรถไฟญี่ปุ่นโดดเด่นยิ่งกว่าประเทศใดในโลก นั่นคือ รถไฟความเร็วสูง หรือชินกันเซ็น (Shinkansen) เป็นประเทศแรกที่มีรถไฟความเร็วสูงวิ่งให้บริการมาตั้งแต่ 1964 โดยพยายามที่จะก่อสร้างเครือข่ายรถไฟด่วนชนิดนี้ออกไปทั่วประเทศ ทว่าอีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งการขาดทุนต่อเนื่องอีกหลายสิบปี กระทั่งต้องมีการแปรรูปกิจการรถไฟ (Privatization) ครั้งใหญ่ในปี 1987 ด้วยการแบ่งออกเป็นบริษัทย่อยๆ หลายบริษัท มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า JR Group เปิดดำเนินการตามภูมิภาคต่างๆ แทน บางบริษัทก็เป็นของเอกชนเต็มรูป บางบริษัทก็มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ

กล่าวเฉพาะชินกันเซ็นที่เหมาะสำหรับการเดินทางในระยะไกลที่เชื่อมเมืองใหญ่ๆ เป็นหลักก่อน ปัจจุบันมีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 2,600 กิโลเมตร (1,600 ไมล์) สร้างเส้นทางเป็นเส้นตรง คดเคี้ยวน้อย มีอุโมงค์ลอดหรือสะพานข้ามเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง บางขบวนในบางเส้นทางจึงวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดได้ถึง 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้ารวมเส้นทางของ JR Group ทั้ง 6 บริษัทที่ส่วนใหญ่เป็นรถไฟแบบธรรมดาด้วย ตัวเลขจะเข้าใกล้ 20,000กิโลเมตร (12,400 ไมล์) นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางรถไฟแยกย่อยที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ (เรียกรวมๆ ว่า Third Sector) อีกเกือบ 3,400กิโลเมตร (2,100 ไมล์) (เปรียบเทียบกับไทยที่มีระยะทางรวมกันไม่ถึง 4,000 กิโลเมตร) ภายใต้การดูแลของหน่วยงานอิสระที่ชื่อ The Japan Railway Construction, Transport and Technology Agency

แผนที่แสดงเส้นทางชินกันเซน
แผนที่แสดงเส้นทางชินกันเซน

เมื่อเดินทางด้วยรถไฟเป็นเรื่องง่ายๆ สะดวกสบาย ตรงเวลา รวดเร็ว และปลอดภัย เนื่องจากมีเส้นทางเชื่อมโยงติดต่อครอบคลุมทุกมุมเมือง ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงนิยมใช้รถไฟ ไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว เกิดวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับรถไฟชนิดไม่เหมือนใครขึ้น ชินกันเซ็นบางสายปีหนึ่งๆ มีคนใช้บริการมากถึง 150 ล้านคน แม้นจะเป็นถึงประเทศผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกแท้ๆ

อีกประการหนึ่งที่ขอพูดถึง คือ ที่ญี่ปุ่นมีมาตรการจำกัดอายุของรถที่วิ่งบนท้องถนนด้วย กฎหมายบังคับให้ต้องมาทดสอบสมรรถนะทุกปี (น่าจะ) ตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป ถ้าไม่ผ่านจะไม่รับอนุญาตให้ใช้งานได้อีก เช่น ปล่อยคาร์บอนฯ หรือเสียงดังเกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นต้น

เหตุที่ญี่ปุ่นเน้นพัฒนาการเดินทางระบบราง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดด้านภูมิประเทศ ซึ่งประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่และเต็มไปด้วยภูเขา และข้อสำคัญคือไม่มีแหล่งน้ำมันภายในประเทศ ถ้ามุ่งพัฒนาถนนระยะยาวค่อนข้างลำบากกว่า ประกอบกับไม่มีแหล่งน้ำมันภายในประเทศนั่นเอง

(4)

สำหรับผม เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดกับคณะครูเชียงรายคราวนี้ จึงไม่ใช่แค่อุบัติเหตุ หรือมาจากความประมาท หรือแค่เพราะความเมาอย่างที่สื่อชอบให้ร้ายไว้ก่อน แต่ผมเห็นปัญหาใหญ่หลวงของประเทศนี้อยู่ในนั้น

4.1 หน้าที่ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนาดใหญ่ ย่อมเป็นเรื่องของรัฐบาลระดับชาติแน่นอน แต่ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร พูดอย่างหยาบที่สุด ก็คือ รัฐบาลที่ “เป็นของ” ประชาชนคนส่วนใหญ่จริงๆ ไม่เคยมี จะให้มาคิดอะไรๆ ที่มองไกลออกไปถึงอนาคตข้างหน้า (เช่นเรื่องโลกร้อน, พลังงานทดแทน เป็นต้น) จึงเป็นเรื่องยาก อยู่ได้หรือไม่ รัฐบาลหาใช่ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน หากแต่เป็นเพราะ?

นโยบายที่ก้าวหน้า ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแรงๆ จึงคิดได้ แต่ไม่มีทางทำได้ เพราะอาจจะไปกระทบกับเครือข่ายชนชั้นปกครองเข้าอย่างจัง ไม่มียอมง่ายๆ ดังนั้น การ “หยุด” ความเปลี่ยนแปลงเช่นว่าด้วยการลากเอารถถังออกมา จึงมีให้คนกลุ่มน้อยได้ยิ้มอยู่ตลอด

ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะพัฒนาระบบรางจริงจัง กลุ่มทุนใหญ่ บริษัทข้ามชาติ นักการเมือง ผู้รับเหมา และพวกพ้องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างถนน-ผลิตรถยนต์ ก็ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ถ้ามีรถไฟ รถยนต์ก็จำเป็นน้อยลง คิดกันง่ายๆ แค่นี้

หลายคนอาจจะเถียงได้ว่าข้างต้นไม่เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตย ดูอย่างจีน ซึ่งประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองนัก ก็มีระบบถนนที่ดีมากๆ มีรถไฟความเร็วสูงที่ทั้งเร็วและยาวที่สุดในโลก (ล่าสุดประกาศที่จะสร้างสนามบินใหม่อีก 56 แห่งทั่วประเทศภายใน 5 ปีข้างหน้า) แต่นั่นคงเป็นข้อยกเว้นสำหรับบางประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่อุดมการณ์แบบสังคมนิยมถูกระลึกถึงและยังทำงานอยู่ รวมถึงการมีผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลออกไป

4.2 ด้วยหลายหลากเหตุผล โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้างการเมืองการปกครองแบบรวมศูนย์ เราจึงเป็นประเทศที่ “ปรนเปรอ” เมืองหลวงมากเกินไป ทั้งประเทศจึงมีที่นี่ที่เดียวที่มีระบบรางภายในเมือง ทั้งรถไฟฟ้า (BTS) และรถไฟใต้ดิน (MRT) แต่ไม่มีเอกภาพเท่าไหร่ แบบแรกเป็นของ รฟม. แบบหลังเป็นของ กทม.ที่ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ต่างก็ว่ากันไปไม่เกี่ยวกัน ไหนจะมีแอร์พอร์ตเรลลิงก์อีก ถนนดีๆ ทางยกระดับ มอเตอร์เวย์ มีแต่จากเส้นกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดบริวาร แต่ไม่มีถนนดีๆ ระหว่างจังหวัดสำคัญในภูมิภาคต่างๆ เลย

หรือไม่เช่นนั้น หากจังหวัดใดสามารถ “เข้าถึง” ศูนย์กลางอำนาจได้ก็ได้ไป (มากกว่าที่ควรจะเป็น) อย่างสุพรรณบุรี ที่มีถนนกว้างใหญ่จนใครต่อใครเอาไปเอ่ยถึงด้วยความชื่นชม (ทั้งๆ ที่ควรถูกตำหนิเพราะไปเบียดบังจากที่อื่นมา) หรืออาจจะหมายรวมถึงบุรีรัมย์ในปัจจุบัน

มีข้อมูลน่าตกใจที่คุณภัควดี (ไม่มีนามสกุล) เคยพูดถึงในรายการคมชัดลึกไว้ว่า “...รายได้ของเชียงใหม่ประมาณแสนกว่าล้าน ส่งรายได้แผ่นดินให้กรุงเทพ กรุงเทพส่งเงินกลับมาให้พัฒนาเชียงใหม่สี่หมื่นล้าน หายไปไหนกว่าครึ่ง..."

จึงไม่แปลกเลยที่ทุกวันนี้ คนเชียงรายยังเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มี “เส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย” กันอยู่ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถูกพูดมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. ปี 2496 โน่นแล้ว ในขณะที่คนกรุงเทพฯ กำลังจะได้ “ซุปเปอร์สกายวอล์ค” ทางเท้าลอยฟ้ามูลค่า 10,000 ล้านบาท (จากเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศ) ส่วนคนเชียงใหม่กำลังจะได้ “กองพลทหารราบที่ 7” (พล.ร.7) รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยงบลับกระทรวงกลาโหมกว่า 2,000 ล้านอยู่รอมร่อ ถ้าเปิดโอกาสให้คนเชียงใหม่เลือกได้เอง เค้ายังอยากจะเห็นค่ายทหารมาลงกระนั้นหรือ?

4.3 อีกข้อที่เห็นนั่นคือ การเดินทางคราวนี้ไปเพื่อที่จะส่งครูบรรจุใหม่คนหนึ่ง (ซึ่งเสียชีวิตด้วย) ก็เกี่ยวกับปัญหาการ “กระจายอำนาจ” ที่น้อยเกินไป ถ้ายอมให้ท้องถิ่นดูแลตัวเองได้ในระดับพื้นฐาน (เช่น ด้านการศึกษา, สาธารณสุข, จราจร ฯลฯ) ไม่ต้องพึ่งพิงส่วนกลางมากอย่างที่เป็นอยู่ ครูคงไม่ต้องย้ายโรงเรียนบ่อย ปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลก็น่าจะหมดไป

รูปธรรม ถ้าโรงเรียนเป็นของท้องถิ่น ใครอยากสอนที่ไหนต้องไปสมัครสอบคัดเลือกกับโรงเรียนนั้นโดยตรง จะทำให้ได้คนที่มีความผูกพันกับท้องถิ่น ขณะที่ระบบส่วนกลางมีสอบทีไร คนแห่กันไปสอบทีหลายหมื่นหลายแสนคน ผู้ที่สอบได้มักไม่มีโอกาสได้เลือกที่ลง หลายคนได้ไปสอนที่ห่างไกล บ้างไม่เอา หลายคนยอมไป แต่ก็เพื่อจะรอวันย้ายภายหลัง แน่นอนคนที่มีอุดมการณ์ก็มี แต่ไม่มีหลักประกันเลยว่าเมื่อถึงวันหนึ่งเขาจะไม่คิดถึงบ้าน

กรณี “จ่าเพียร” (พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา) ซึ่งสังคมและสื่อสะเทือนอกสะเทือนใจอย่างยิ่ง (แต่กลับไม่แตะต้นตอของปัญหาจริงๆ ในเชิงโครงสร้างเลย) ก็สืบเนื่องมาจากปัญหานี้เฉกเช่นกัน การที่ พ.ต.อ.สมเพียร ร้องขอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาย้ายตัวเองจากผู้กำกับการ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา กลับไปเป็นผู้กำกับการ สภ.กันตัง จ.ตรัง หลังปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาเกือบจะทั้งชีวิตราชการ แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งต่อมาได้ถูกลอบวางระเบิดจนเสียชีวิตนั้น เพื่อที่จะกลับไปอยู่กับครอบครัว (ก่อนหน้าที่จะเกษียณในอีก 1 ปีข้างหน้า) แต่คนที่มีอิทธิพลจริงๆ ในการจัดทำโผ “ตรงกลาง” ไม่เอาตามนั้น เปลี่ยนจากที่ทางตำรวจภูธรภาค 9 ได้เสนอขึ้นไป (ตามข่าว) “วิ่ง” “ตั๋วนักการเมือง” “ตั๋ว ผบ.(ตร.)” จึงเป็นคำที่คนในแวดวงสีกากีคุ้นชินเป็นอย่างดี เพราะการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่ “ข้างบน” ไม่ใช่จากพื้นที่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมฝันถึงในช่วงต้นจะไม่มีทางเป็นจริงได้เลย ตราบใดที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นกับประเทศนี้ และถ้ายังเป็นเช่นนั้นจริง ไอ้ผมก็คงทำได้แค่ “ฝันตุ้ย*” ไปวันๆ... ต่อไป...

*ฝันตุ้ย เป็นภาษาเหนือ แปลว่าเพ้อฝัน

ข้อมูลประกอบการเขียน:

นิติราษฎร์: เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะ: หลักทั่วไปและข้อจำกัด

ที่มา ประชาไท


(แฟ้มภาพ: ประชาไท)

1. บทนำ

ในประเทศที่ปกครองโดยระบอบเสรีประชาธิปไตย การชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนถือเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลของตน เสรีภาพในการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนเป็นเสรีภาพที่พัฒนาต่อยอดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจากการแสดงความคิดเห็นโดยบุคคลแต่ละคน (individual) มาสู่การแสดงความคิดเห็นแบบกลุ่ม (collective) ในแง่นี้ การชุมนุมและการเดินขบวนจึงถือเป็นวิวัฒนาการสำคัญของวิธีการแสดงความคิดเห็นของพลเมือง รัฐบาลของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจึงไม่อาจลิดรอนจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงหรือเดินขบวนเรียกร้องของประชาชนโดยอาศัยเหตุผลใด ๆ ที่นอกเหนือจากเหตุผลอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นการทำลายพื้นที่ที่ประชาชนจะใช้เป็นเวทีสะท้อนความทุกข์ร้อน และความต้องการของตนไปยังรัฐบาลและสังคมโดยตรง

โดยเหตุนี้ กฎหมายของประเทศที่พัฒนาด้านประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน อาทิประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และประเทศสหราชอาณาจักร จึงได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะที่เป็นไปโดยสงบโดยไม่จำต้องได้ รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนและรัฐต้องให้ความคุ้มครองการชุมนุมที่ ชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนห้ามการสลายการชุมนุมด้วยมาตรการที่รุนแรง ไม่ได้สัดส่วนพอสมควรแก่กรณีและไม่เป็นไปตามขั้นตอนจากระดับเบาไปสู่หนัก นอกจากนี้ กฎหมายได้ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม คุ้มครองการสาธารณสุข และสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่สามในอันที่จะได้ใช้พื้นที่สาธารณะนั้นในคราว เดียวกันด้วย

สำหรับประชาชนไทย การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550) ได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 63 [1] นอกจากนี้ สิทธิดังกล่าวยังได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ พลเมืองและสิทธิทางการเมือง (The UN International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 21 [2] ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2539 [3] และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ในด้านเศรษฐกิจสังคม การชุมนุมและการเดินขบวนเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับประชาชนระดับล่างของ สังคมไทยในการสะท้อนความเดือดร้อนปัญหาปากท้องและข้อเรียกร้องของตนไปถึง รัฐบาล ในทางการเมืองการปกครอง การชุมนุมและการเดินขบวนถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารความคิดเห็น ทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ต่อสังคมและเป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐบาล เสรีภาพในการชุมนุมจึงนับว่าเป็นเสรีภาพที่สำคัญของประชาชนไทยในการแสดงออก ซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างรากฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตยและนิติรัฐในที่สุด

แม้ว่าเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนชาวไทยจะได้รับการคุ้มครองโดย รัฐธรรมนูญไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ก็ตาม เสรีภาพประการนี้ไม่ใช่เสรีภาพสัมบูรณ์ แต่เป็นเสรีภาพที่อาจถูกจำกัดได้ กล่าวคือ ในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติสุข การจำกัดการชุมนุมสามารถกระทำได้ในกรณีที่เป็นการชุมนุมในสถานที่สาธารณะ และการจำกัดเสรีภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนบุคคลที่ สามที่จะใช้ที่สาธารณะนั้น [4] นอกจากนี้ ตามมาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) การจำกัดเสรีภาพการชุมนุมในที่สาธารณะยังอาจเป็นไปเพื่อคุ้มครองรักษาความ ปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม และคุ้มครองการสาธารณสุขด้วย [5] (วัตถุประสงค์สามประการหลังนี้ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของไทย) และรัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติวางหลักเกณฑ์วิธีการในการจำกัดสิทธิเสรีภาพใน การชุมนุมในที่สาธารณะไว้ด้วย ส่วนในยามที่ประเทศอยู่ในสภาวการณ์ฉุกเฉินหรืออยู่ในภาวะสงครามการสู้รบ เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะจะถูกจำกัดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคง ปลอดภัยของรัฐ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยคงมีแต่กฎหมายที่ใช้จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะใน ระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก [6] ยังไม่ปรากฏว่ามีการตราพระราชบัญญัติวางหลักเกณฑ์ข้อจำกัดการชุมนุมในที่ สาธารณะและการเดินขบวนในภาวะปกติออกมาใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ในทางปฏิบัติเมื่อมีการชุมนุมประท้วงของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องนำกฎหมายอื่นมาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งที่กฎหมายเหล่านั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการกับการชุมนุมใน พื้นที่สาธารณะ อีกทั้งยังมีบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับหลักเสรีภาพในการชุมนุมโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้ผู้ชุมนุมต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการ ได้แก่ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งบัญญัติห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือใช้พื้นที่ถนนหลวง รวมทั้งไหล่ทางในการชุมนุมหรือเดินขบวนก่อนได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก เจ้าหน้าที่ [7] หรือพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 เป็นต้น

เมื่อยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ข้อ จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองรักษาความ ปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม และคุ้มครองประโยชน์ของบุคคลที่สามในอันที่จะได้ใช้พื้นที่สาธารณะนั้นตาม ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 63 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามกติการะหว่างประเทศฯ จึงทำให้ข้อจำกัดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายไม่มีความชัดเจน

ขณะที่กฎหมายยังมีความไม่ชัดเจน และหลักการสำคัญของการชุมนุมและเดินขบวนประท้วงคือจะต้องสามารถสื่อสารข้อ เรียกร้องของตนไปยังสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ และไปยังสังคมเพื่อสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนั้น ยิ่งสื่อและสังคมเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมากเท่าใดย่อมสามารถ สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลได้มากเท่านั้น โดยเหตุนี้ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคม การชุมนุมและเดินขบวนเรียกร้องจึงมักต้องกระทำในสถานที่ที่ส่งผลกระเทือนได้ สูง เป็นต้นว่าในเมืองหลวง ในสถานที่สำคัญอันเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาลากลางจังหวัด กระทรวงหรือหน่วยราชการที่รับผิดชอบ หรือในย่านธุรกิจที่ส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ เช่น บนถนนสายเศรษฐกิจหรือถนนหลวงสายสำคัญ ในสถานที่ที่เป็นสัญญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์หรืออนุสรณ์สถาน ฯลฯ

สำหรับประชาชนบุคคลที่สามซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม (non-participant) แต่จำเป็นต้องใช้สถานที่สาธารณะเหล่านี้ เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจัดสรรการใช้พื้นที่ สาธารณะระหว่างผู้ชุมนุมกับบุคคลภายนอกให้เกิดความสมดุลและสะดวกปลอดภัยแล้ว ผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมก็อาจกระทำการที่กระทบกระทั่งสิทธิเสรีภาพของบุคคล ที่สามได้ เป็นต้นว่า ไปจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของผู้ที่ต้องใช้ทางสาธารณะที่ถูกปิดกั้น ล่วงละเมิดเสรีภาพในความเป็นอยู่อย่างปกติสุขหรือเสรีภาพในการประกอบกิจการ งานอาชีพในบริเวณนั้น ฯลฯ ในส่วนเจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องนำกฎหมายอื่นที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ควบคุมดูแลการชุมนุมโดยเฉพาะมาใช้บังคับ เป็นเหตุให้มีข้อขัดข้องหลายประการ

สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะในกรณีที่มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองดังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 วันที่ 5-6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เหตุการณ์วันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ.2535 วันที่ 7 ตุลาคม 2551 เหตุการณ์วันที่ 13-15 เมษายน พ.ศ.2552 และล่าสุดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งรัฐบาลได้ใช้กำลังทหารและตำรวจอาวุธครบมือเข้าปราบปรามสลายการชุมนุมของ กลุ่มผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 90 ราย บาดเจ็บอีกราว 2,000 ราย เมื่อไม่มีกฎหมายวางหลักเกณฑ์ขั้นตอนวิธีการจัดการกับการชุมนุมประท้วงของ ประชาชนในกรณีที่รัฐจำเป็นต้องเข้าควบคุมแก้ไขสถานการณ์ที่จะเป็นอันตรายต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ไปภายใต้นโยบายหรือการสั่งการ ของผู้บังคับบัญชา ส่วนการควบคุมและสลายฝูงชน ได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนวิธีการซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติภายในของหน่วยงาน เท่านั้น (ที่เรียกว่าแผนกรกฏ แผนไพรีพินาศ เป็นต้น)

คำสั่งของผู้บังคับบัญชาก็ดีระเบียบปฏิบัติภายในของหน่วยงานก็ดีไม่ได้ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตหรือหายสาบสูญไปและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปกป้องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้พ้นจากความรับผิด ทางกฎหมายแม้จะได้ปฏิบัติตามคำสั่งโดยสุจริต เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามหน้าที่ถูกดำเนินการทางวินัยอย่าง ร้ายแรงและถูกดำเนินคดีอาญาดังกรณีเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 [8] เป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต แต่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ขาดการฝึกฝนอบรมเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจตัดสินใจในสภาวการณ์ต่าง ๆ ภายใต้ความกดดันและขาดการฝึกปฏิบัติในด้านขั้นตอนวิธีการทำงานเพื่อควบคุม การชุมนุมหรือแม้กระทั่งการสลายการชุมนุม ในท้ายที่สุด การสลายการชุมนุมทุกครั้งจึงมีการใช้อาวุธร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชาชนและประเทศชาติเหลือที่จะประมาณได้ เป็นเหตุให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 1065/2551 กำหนดกรอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุมว่าจะต้อง กระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและมีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการ ชุมนุมของประชาชน

สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมทำลายหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมในที่ สาธารณะของประชาชน บั่นทอนกำลังใจของเจ้าหน้าที่ และขณะเดียวกันก็บั่นทอนความชอบธรรมในการปกครองประชาชนของรัฐบาลในระยะยาว

โดยเหตุนี้ การศึกษาหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะและการเดินขบวนและข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพดังกล่าวย่อมเป็นประโยชน์แก่การปรับปรุง ระบบกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นแนวทางในการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนของไทยในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้ การคุ้มครอง และการจำกัดสิทธิของผู้ชุมนุมฯ ตลอดจนสิทธิหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องฝ่ายอื่น ๆ ในการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนเป็นไปตามหลักการสากล


เชิงอรรถ

1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก”

2 UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) Article 21 The right of peaceful assembly shall be recognized. No restrictions may be placed on the exercise of this right other than those imposed in conformity with the law and which are necessary in a democratic society in the interest of national security or public safety, public order (order public), the protection of public health or morals or the protection of the rights and freedoms of others.

3 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน (3 ฉบับ), สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรุงเทพฯ, 2551, หน้า 18.

4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 63 วรรคสอง

5 UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR), Article 21.

6 ประกอบด้วยกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

7 ต่อมาปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่ กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะบนถนนหลวงและไหล่ทางต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ ก่อน เป็นบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฯ ดังปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 11/2549 วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ดังนี้ “มาตรา 46/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมกันในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร หรืออาจเป็นอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือผู้ใช้ทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือผู้ซึ่งได้รับ มอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง หรือเป็นการเดินแถว ขบวนแห่ หรือชุมนุมกันตามประเพณี หรือวัฒนธรรม หรือเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรืออยู่ในเขตที่ได้รับการยกเว้นไม่ ต้องขออนุญาตตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด” และวรรคสองบัญญัติว่า “การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กําหนดในกฎกระทรวง” (นั้น) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 44 เนื่องจากเป็นการจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเกินความจํา เป็น และกระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพราะการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพขั้นฐานของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 44บัญญัติไว้”

8 ดูรายงานผลการพิจารณาศึกษาและรวบรวม ข้อมูล กรณีเหตุการณ์การสลายกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ เว็บไซต์นิติราษฎร์

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ความท้าทายเบื้องหน้า นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน”

ที่มา ประชาไท

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
11 มีนาคม 2554

การให้ประกันตัวแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) "แดงทั้งแผ่นดิน" พร้อมกับการจับกุมนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ในข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" (ป.อาญา ม.112) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงทางความคิด แนวทางนโยบาย และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอย่างกว้างขวางภายในขบวนประชาธิปไตย จึงสมควรที่จะอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตร เพื่อผลักดันให้ขบวนประชาธิปไตยยกระดับคุณภาพทางความคิดและการจัดตั้งไปสู่ขั้นตอนใหม่

1. กลยุทธ์ปล่อยตัว นปช. ปราบปราม "แดงสยาม"

เป็นที่ชัดเจนว่า ฝ่ายปกครองเผด็จการต้องการตอกลิ่มความแตกแยกให้ขยายกว้างขึ้นระหว่างแกนนำ นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" กับแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ โดยหวังผลสองด้าน คือ ในด้านหนึ่ง ให้แกนนำ นปช. เกิดอาการหลงทิศผิดทาง ยึดติดอยู่กับแนวทางการต่อสู้และการจัดตั้งแบบเก่าที่เชื่อว่า สามารถต่อรองทำให้พวกตนได้รับการปล่อยตัว รวมทั้งให้มวลชนเกิดการระแวงสงสัยในตัวแกนนำ นปช. ซึ่งก็คือ กลยุทธ์ "ปล่อยตัวแกนนำ นปช.เพื่อทำลาย" ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ผู้ปกครองเผด็จการก็พุ่งปลายหอกแห่งการปราบปรามมาที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงย่อย ๆ ที่ไม่ได้สังกัด นปช. ที่พวกเขาเชื่อว่า "เป็นแดงล้มเจ้า" โดยหันมาใช้อาวุธข้อหา "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" อย่างเอาการเอางาน โดยเชื่อว่า นปช. จะไม่เคลื่อนไหวต่อต้านเนื่องจากแกนนำ นปช.ไม่ต้องการ "ติดเชื้อโรคแดงล้มเจ้า"

ฉะนั้น จังหวะก้าวและท่าทีของแกนนำ นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" ต่อการเคลื่อนไหวอิสระของเสื้อแดงกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่สังกัดนปช. และต่อการกวาดล้าง "แดงสยามและแดงอื่นๆ" ของฝ่ายปกครองจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะกำหนดว่า แกนนำ นปช. จะยังดำรง "ภาวะการนำ" และ "ความเชื่อมั่น" ในหมู่มวลชนไว้ได้หรือไม่ ในเบื้องต้น จะต้องเข้าใจว่า การให้ประกันตัวชั่วคราวนี้เป็นกลยุทธ์หลอกลวงของฝ่ายปกครองหลังจากที่ปราบปรามคนเสื้อแดงทั้งด้วยอาวุธและกฎหมายมายาวนานและเป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ประสบความสำเร็จ นี่เป็นการรุกทางการเมืองที่แหลมคมที่มุ่งทำลายทั้งแกนนำ นปช.และแกนนำคนเสื้อแดงอื่นๆ โดยตรง แกนนำ นปช. จะต้องรับมืออย่างถูกต้องด้วยการสามัคคีกับแกนนำเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้านการปราบปรามรอบใหม่ด้วยเครื่องมือ ม.112 ของฝ่ายปกครองอย่างจริงจัง เพื่อยุติความกังวลสงสัยในหมู่มวลชน และพัฒนายกระดับการนำของขบวนประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม การสามัคคีร่วมมือระหว่างแกนนำ นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" และกลุ่มเสื้อแดงอื่นๆ จะต้องยืนอยู่บนความเข้าใจร่วมกันในหลักการสำคัญจำนวนหนึ่ง

2. ลักษณะเฉพาะของมวลชนคนเสื้อแดง

การประชุมแกนนำเสื้อแดงภาคตะวันตก 7 จังหวัดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ได้ตกผลึกทางความคิดและการจัดตั้งที่สำคัญ เป็นการบรรลุเอกภาพอย่างเป็นไปเองโดยปราศจากการชี้นำจาก นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" และคาดได้ว่า แกนนำเสื้อแดงในภาคอื่น ๆ จะทยอยกันบรรลุเอกภาพในลักษณะเดียวกัน ทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องหมายแสดงว่า การรวมตัวทางความคิดและจัดตั้งของมวลชนคนเสื้อแดงในท้องที่ทั่วประเทศกำลังเกิดการยกระดับคุณภาพครั้งสำคัญอย่างเป็นไปเอง

ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ยิ่งใหญ่ไพศาลที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีความหลากหลาย เป็นประชาธิปไตย และเป็นอิสระอย่างสูง ประกอบด้วยชั้นชนต่าง ๆ หลากอาชีพ อายุ เพศ ศาสนา และมีหลายขนาด ตั้งแต่กลุ่มเล็กไม่ถึงสิบคน ไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่กลุ่มละหลายพันคน กระจายกันหลายพันกลุ่มในเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย

นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดง กลุ่ม นปช.นั้นประกอบด้วยแกนนำจำนวนหนึ่งและมวลชนเสื้อแดงจำนวนมาก แต่ก็ไม่ครอบคลุมขบวนคนเสื้อแดงทั้งหมด ความจริงที่ว่า การชุมนุมใหญ่ของ นปช.ทุกครั้ง มีผู้คนเข้าร่วมมากกว่าการจัดกิจกรรมของกลุ่มเสื้อแดงอื่นๆ มิได้หมายความว่า มวลชนเสื้อแดงที่มาร่วมทั้งหมดขึ้นต่อ นปช.

มวลชนคนเสื้อแดงนั้นไม่ยึดติดว่า ต้องเป็น นปช.หรือไม่ แต่ที่พวกเขามาร่วมชุมนุมกับแกนนำ นปช.อย่างสม่ำเสมอเป็นจำนวนมากนั้น เพราะลักษณะของมวลชนคนเสื้อแดงคือ ความเป็นประชาธิปไตยและเสรีชน

ในด้านความเป็นประชาธิปไตย พวกเขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเองว่า อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางประชาธิปไตยในประเทศไทยคืออะไร การสังหารหมู่เมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้พวกเขาตกผลึกชัดเจนว่า พวกเขาไม่ต้องการสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบประชาธิปไตยจารีตนิยม" ซึ่งเปลือกนอกอาจเป็นเผด็จการทหารหรือเป็นระบอบรัฐสภาหุ่นเชิด แต่มีเนื้อในเป็นเผด็จการของพวกจารีตนิยม พวกเขาต้องการระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเป็นของปวงประชามหาชนในลักษณะเดียวกันกับที่มีแพร่หลายอยู่แล้วในบรรดาประเทศที่เป็นอารยะ

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว มวลชนคนเสื้อแดงจึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงทุกกลุ่ม เห็นคนเสื้อแดงทุกกลุ่มเป็นดั่งพี่น้อง เห็นแกนนำทุกกลุ่มประดุจญาติสนิท แต่พวกเขารู้ว่า ในกลุ่มต่าง ๆ นั้น แกนนำ นปช.มีศักยภาพมากที่สุดในทางบุคลากร ความสามารถส่วนบุคคล ทรัพยากร ตลอดจนความสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย สามารถสร้างผลสะเทือนทางการเมืองและมีอิทธิพลต่อสื่อมวลชนกระแสหลักได้ยิ่งกว่าแกนนำกลุ่มอื่นๆ จึงมีโอกาสมากกว่าที่จะผลักดันการต่อสู้ให้ก้าวไปในทิศทางใหญ่ที่พวกเขาต้องการ พวกเขาจึงหนุนช่วยแกนนำ นปช. อย่างเอาการเอางาน นัยหนึ่ง มวลชนคนเสื้อแดงกำลัง "ใช้งาน" แกนนำ นปช. ไปบรรลุจุดประสงค์ของตนแม้จะรู้ว่า แกนนำ นปช. มีขีดจำกัดทางเป้าหมายและทางความคิดที่สำคัญ

ในขณะเดียวกัน มวลชนคนเสื้อแดงก็เป็นเสรีชน จึงมีการเรียนรู้เป็นของตนเอง บทเรียนอันเจ็บปวดเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทำให้พวกเขายกระดับความคิดขึ้นสู่ขั้นใหม่ สุกงอมและชัดเจนในเป้าหมาย พวกเขาจึงตรวจสอบ ประเมิน และวิจารณ์ แกนนำนปช.และแกนนำกลุ่มอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ และในเมื่อ นปช. "แดงทั้งแผ่นดิน" เป็นกลุ่มที่มีผลสะเทือนมากที่สุด แกนนำ นปช.จึงต้องถูกประเมินวิจารณ์มากที่สุดด้วยทั้งจากมวลชนและจากแกนนำกลุ่มอื่นๆ นี่คือ "ภาระของการเป็นแกนนำใหญ่" ที่ควรแบกรับไว้ด้วยความอดทน อดกลั้น อ่อนน้อมถ่อมตน และใจกว้าง

วาทกรรม "แดงเทียม" "แดงเสี้ยม" ที่ใช้กล่าวหากันระหว่างกลุ่มต่างๆ นั้นจึงสะท้อนถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการทำลายความสามัคคี สมควรยุติ เพราะในขบวนประชาธิปไตยไม่มี "แดงแท้" ไม่มี "แดงเทียม" ไม่มี "แดงเสี้ยม" มีแต่ "แดง" เท่านั้น

ความเป็นเสรีชนของคนเสื้อแดงยังหมายความว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของพวกเขา ไม่มีใครเป็น "ครูสั่งสอน" ของพวกเขา และที่สำคัญคือ ไม่มีใครไป "จัดตั้ง" พวกเขา พวกเขาเรียนรู้เอง เติบโตเอง รวมทั้ง "จัดตั้งตนเอง" ในรูปแบบและจังหวะก้าวที่ช้าเร็วของพวกเขาเองอีกด้วย วิธีการที่เอาความคิดสูตรสำเร็จรูปและการจัดตั้งแบบรวมศูนย์จากบนสู่ล่างไปยัดเยียดให้กับพวกเขา จึงขัดกับธรรมชาติของคนเสื้อแดงที่เป็นเสรีชน มีแต่จะทำลายความหลากหลายและริเริ่มสร้างสรรค์ของพวกเขา

3. ขบวนการมวลชนประชาธิปไตยแห่งศตวรรษที่ 21

ประสบการณ์ในการต่อสู้เผด็จการทั่วโลกช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสคลื่นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในตะวันออกกลาง ได้แสดงให้เห็นว่า ขบวนการมวลชนประชาธิปไตยสมัยใหม่มีลักษณะที่แตกต่างจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 19-20 และกลุ่มคนเสื้อแดงก็คือ แบบอย่างแรกสุดของขบวนการมวลชนสมัยใหม่นี้เอง

ลักษณะสำคัญของขบวนการมวลชนแบบใหม่นี้คือ ไม่มีแกนนำ หรือมีหลายแกนนำ อีกทั้ง "แกนนำ" ที่ปรากฏก็ไม่ใช่แกนนำในความหมายเดิมที่เป็น "ผู้ชี้นำ ผู้กำหนดวาระ ผู้กำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ผู้ออกคำสั่ง" หากเป็นแต่เพียงผู้ประสานงาน ผู้ส่งสัญญาณ

ขบวนการมวลชนสมัยใหม่นี้เกิดขึ้นในระบอบเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน ผู้ปกครองมีเครือข่ายอำนาจและผลประโยชน์ที่กว้างขวางหยั่งลึก แทรกแซงควบคุมองค์กรสังคมและสื่อสารมวลชนทุกส่วนอย่างเบ็ดเสร็จ การต่อสู้ของมวลชนจึงต้องใช้การจัดตั้งและเครื่องมือที่ผู้ปกครองควบคุมได้น้อยที่สุดคือ การรวมตัวจัดตั้งในรูปสภาหรือสมัชชาประชาชนในแนวนอนและจากล่างสู่บน ที่ไม่มีแกนนำหรือ มี "หลายแกนนำ" ใช้สื่อสารไร้สาย เครือข่ายสังคมอินเทอร์เน็ต และสื่อดิจิตอลเป็นเครื่องมือสื่อสาร โฆษณาเผยแพร่ข้อมูล และรณรงค์ต่อสู้กับผู้ปกครองเผด็จการ ประสานกับการต่อสู้บนท้องถนนไปสู่ชัยชนะ

สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นคนแรกที่เข้าใจลักษณะของการเคลื่อนไหวมวลชนสมัยใหม่นี้และเรียกชื่อได้อย่างสวยงามว่า การเคลื่อนไหวแบบ "แกนนอน" ขบวนคนเสื้อแดงได้พัฒนาเข้าสู่การเคลื่อนไหวมวลชนลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจนภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่ซึ่งคนเสื้อแดงแต่ละกลุ่มคือ "แกนนอน" ที่รวมตัวกัน ริเริ่มสร้างสรรค์และเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ด้วยเครื่องมือดิจิตอลหลากหลายในมือ แม้แต่นักรบไซเบอร์ที่มีอยู่หลายพันคนในปัจจุบัน แต่ละคนก็เป็นเสมือน "แกนนอนออนไลน์" ในตัวเอง

แกนนำไม่ว่ากลุ่มใดจะต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะในขั้นตอนใหม่นี้ของคนเสื้อแดง ความพยายามที่จะ "ดึงมวลชนกลับ" ให้เข้ามาอยู่ในกรอบความคิดสูตรสำเร็จและการจัดตั้งแนวดิ่งที่ตายตัวอันเป็นลักษณะของการเคลื่อนไหวในศตวรรษที่ 19-20 นั้นขัดกับธรรมชาติของมวลชน และจะถูกมวลชนปฏิเสธ ที่ผ่านมา แกนนำ นปช.เป็นหนี้ต่อการเคลื่อนไหวแบบแกนนอนนี้เอง ที่ประสานหนุนช่วยในยามที่ถูกคุมขัง แน่นอนว่า นปช. มีลักษณะจำเพาะที่ไม่ใช่ "แกนนอน" แต่ก็สามารถเป็นกำลังสำคัญผลักดันการก้าวไปของขบวนเสื้อแดงแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยการสนับสนุนส่งเสริม ร่วมมือและประสานกัน

"อารีย์-วิสา-ไพจิตร"รับฟังข้อกล่าวหาที่ DSI

ที่มา Voiec TV









หลังจากเมื่อวานนี้(10 มี.ค) นายอดิศร เพียงเกษ ผู้ต้องหาในคดีก่อการร้ายแล้ว ได้ขอเข้ามอบตัว กับทาง DSI แล้ววันนี้ นายอารีย์ ไกรนรา หัวหน้าการ์ด นปช. พร้อมด้วย นายวิสา คัญทัพ และนางไพจิตร อักษรณรงค์ ก็เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอเช่นกัน

ที่กรมสอบสวนคดี พิเศษ นายอารี ไกรนรา หัวหน้าการ์ด นปช. พร้อมด้วย นายวิสา คัญทัพ และนางไพจิตร อักษรณรงค์ พร้อมด้วยทนายส่วนตัว เดินทางเข้าพบ พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีก่อการร้าย จากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. เมื่อช่วงเดือนมีนาคมถึง เดื่อน พฤษภาคม 2553 โดยเบื้องต้น นายอารีย์ ได้ให้การปฏิเสธ และแจ้งว่า จะมาให้การเพิ่มเติมในวันต่อไป ทั้งนี้คาดว่า แกนนำทั้ง 3 จะได้รับการประกันตัวในหลักทรัพย์และเงื่อนไขเดียวกับนายอดิศร เพียงเกษ ที่ได้รับการประกันตัวไป ไปก่อนหน้านี้

ด้านนาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มั่นใจว่า ภายในสัปดาห์หน้าแกนนำ นปช. ที่เหลือจะเข้ามอบตัวทั้งหมด ซึ่งทาง DSI พร้อมให้ประกันตัวทุกคนที่มามอบตัว ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือไม่

ทั้ง นี้ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายที่ยังคงหลบหนีหมายจับ ได้แก่ พันตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายพายัพ ปั้นเกตุ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ส่วนผู้ต้องหาคดีร่วมกันบุกรุก รัฐสภาขู่บังคับรัฐบาล ปราศรับปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งยังไม่เข้ามอบตัว ได้แก่ นายธนกฤต ชะเอมน้อม หรือนายวันชนะ เกิดดี นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นายพายัพ ปั้นเกตุ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และนางกัญญาภัค มณีจักร หรือ ดีเจอ้อม

"ประวิตร" ยันกลุ่มชายชุดดำเผาเซ็นทรัลเวิลด์

ที่มา Voice TV



รมว.กลาโหมยันชายชุดดำเผาเซ็นทรัลเวิลด์ไม่ใช่ทหาร เตรียมข้อมูลพร้อมแจงกลางสภาฯ ย้ำกองทัพ-รัฐบาลไม่มีปัญหา ไม่มีปฏิวัติแน่

ที่องค์การทหารผ่านศึก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่กองทัพมีความพร้อมในการจัดเตรียมข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่บริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ โดยฝ่ายค้านจะนำข้อมูลการเผาเซ็นทรัลเวิลด์มาอภิปรายฯว่า ตนขอยืนยันว่า เป็นชายชุดดำ ไม่ใช่เป็นการกระทำของทหาร โดยขณะนี้การเตรียมข้อมูล มีความพร้อมให้รัฐบาลไปชี้แจง และส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลใจเรื่องนี้

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีปัญหาไม่มีการปฏิวัติอย่างแน่นอน เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการติดตามอาวุธปืนที่หายไปจากคลังอาวุธค่ายธนะรัตน์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ และได้มีการติดตามโดยสามารถนำกลับคืนมาได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ มีคนในกองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทำกันเป็นขบวนการใต้ดิน และรู้ตัวผู้ที่กระทำผิดทุกคนหมดแล้ว


Source : news center/thairath/AFP

ทำอย่างไรให้ "คนเสื้อเหลือง" กับ "คนเสื้อแดง" เลิกเกลียดกัน

ที่มา มติชน



ผศ.ดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ Mongkolchai@acc.chula.ac.th

จากคอลัมน์ องค์กรแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

............



ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์สอนวิชาทางด้านการบริหารความขัดแย้ง ผมขอนำประเด็นทางการเมืองนี้มาเป็นบริบทเพื่อที่จะสร้างคำแนะนำสำหรับท่านผู้อ่านในการที่จะสร้างวิธีการบรรเทาความขัดแย้งให้อยู่ในขั้นที่จัดการได้ หรือในขั้นที่จะสามารถที่จะทำให้ความขัดแย้งนั้นหมดไปได้ สาเหตุหนึ่งที่ฝ่ายสองฝ่ายไม่สามารถขจัดความขัดแย้งให้สงบลงได้ หรือมิหนำซ้ำความขัดแย้งอาจก่อตัวทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ การไม่ฟังซึ่งกันและกัน หรือการไม่พยายามที่จะรับรู้ในความคิดเห็นของฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งเกิดจากที่แต่ละฝ่ายเป็นผู้มีทิฐิ หรืออัตตาสูง ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนเองมากจนเกินไป จนไม่สามารถมีสติพอที่จะเห็นได้ว่าคนอื่น ๆ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวนั้นเขาเป็นอย่างไร เขาคิดอะไรกันอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อคนสองคนที่ต่างก็อยู่ในโลกของความคิดของตนเองเท่านั้นมาเจอกัน ก็เห็นทีว่าการบริหารความขัดแย้งจะไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้เลยทีเดียว

เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองไทย ที่ "สื่อ" หรือ "สื่อสารมวลชน" นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการที่จะทำให้ความขัดแย้งมากขึ้น หรือ

ลดลงไปได้ แต่เท่าที่สังเกตเห็นในบ้านเมืองไทย ผมเห็นว่าสิ่งที่คนไทยเราสื่อสารกันในเรื่องของการเมืองนั้นก็มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งนั้นทวีคูณเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าจะให้อธิบายเพื่อให้เข้าใจกันอย่างง่าย ๆ กล่าวคือ คนเสื้อเหลืองนั้นก็สื่อสารกันด้วยเนื้อหาที่มีแต่ความคิดเห็นที่เป็นของคนเสื้อเหลือง ถึงแม้ว่าจะมีช่องทางให้ได้รับรู้ถึงสิ่งที่คนเสื้อแดงคิด แต่ก็ไม่คิดจะนำสิ่งที่คนเสื้อแดงคิดมารับรู้ มาประเมิน หรือมาต่อยอดในสิ่งที่คนเสื้อเหลืองได้คิดไว้ และเช่นเดียวกันกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง ตรงที่ไม่รับรู้อะไรในสิ่งที่กลุ่มเสื้อเหลืองเขา

คิดหรือเขาเป็น ต่างฝ่ายต่างถูกครอบงำด้วยอารมณ์ของความอยากที่จะเอาชนะ จนทำให้การสื่อสารที่ออกมานั้นออกมาอย่างไร้ซึ่งสติ ยิ่งทำให้กลุ่มคนที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม หรือฝ่ายที่เป็นกลาง มองเห็นความโมโหโทโสของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดภาพการเจรจาทางการเมืองที่ดูมีเหตุผลหรือน่าอภิรมย์แต่อย่างใด

การบริหารขัดแย้งที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งคือ การถกเถียงกันอย่างมีสติ การถกเถียงกันอย่างมีสติ คือ การระลึกได้ว่า ณ ขณะนั้น ๆ ท่านกำลังอยู่ภายใต้ความขัดแย้งอยู่ ณ ขณะนั้น ๆ ท่านระลึกได้ถึงความคิดเห็นของตัวท่าน ณ ขณะนั้น ๆ ท่านระลึกได้ถึงความคิดเห็นของฝั่งตรงกันข้าม และ ณ ขณะนั้น ๆ ท่านระลึกได้ว่าท่านกำลังขัดแย้งในเรื่องของประเด็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน (หาไม่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความอยากที่จะเอาชนะอีกฝ่ายตรงข้าม) การระลึกได้นี้ถือเป็นการรู้เท่าทันความขัดแย้งเพื่อมิให้ความขัดแย้งถลำลึกไปเป็นอารมณ์ และกลายเป็นความจงเกลียดจงชังระหว่างกันและกันเป็นการส่วนตัว การระลึกได้นี้จะทำให้ผู้ขัดแย้งมีสติพอที่จะ "ฟัง" ซึ่งกันและกัน และการตอบโต้หรือเจรจาต่อรองที่เกิดขึ้นจะเป็นในเชิงที่จะตอบโต้กันไปมาตามประเด็นที่ฝ่ายตรงกันข้ามกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ อันจะเป็นการตอบโต้ที่ก่อให้เกิดการต่อยอดเป็นแนวคิด เป็นองค์ความรู้ที่จะนำมาซึ่งทางออกของปัญหา

การต่อยอดทางความคิดนั้น ถือเป็นสิ่งดีอย่างยิ่งต่อการบริหารความขัดแย้ง เพราะต่างฝ่ายต่างรับรู้ซึ่งกันและกันว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้น้อมรับประเด็นความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะความขัดแย้งหรือการทะเลาะเบาะแว้งที่ไม่จบไม่สิ้นก็เพราะว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ถูกให้รับรู้ว่า ฝ่ายตรงกันข้ามนั้นรับทราบถึงประเด็นที่ได้พยายามสื่อออกไปหรือไม่ และถ้าฝ่ายตรงกันข้ามออกมายืนกรานด้วยคำพูดเดิม ๆ แนวคิดเดิม ๆ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องออกมายืนกรานคำพูดเดิม ๆ และความคิดเดิม ๆ เช่นกัน ด้วยความรู้สึกที่ว่าฝ่ายตรงกันข้ามยังไม่ได้รับรู้ในสิ่งที่ได้พยายามจะสื่อออกไป

และผมก็กำลังมองว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเมืองไทยนั้นไม่มีวี่แววที่จะถึงจุดจบเสียที เพราะสิ่งที่ถูกสื่อสารกันไปมากันระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ตอบโต้กันแต่อย่างใด มิได้เป็นการสื่อสารเพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดทางประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด

หลาย ๆ ท่านที่สนใจติดตามข่าวการเมืองแต่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งก็เริ่มรู้สึกเบื่อในสารที่สื่อออกมาจากแต่ละฝ่าย ซึ่งมิใช่เป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่เป็นเพราะว่าสิ่งที่กลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาสื่อให้ฝ่ายตรงข้าม และประชาชนทั่วไปให้รับทราบนั้น เป็นเรื่องแนวคิดเดิม ๆ ประเด็น

เดิม ๆ ตามความยึดติดในตัวตนที่มีอยู่ เนื้อหาที่ออกมาจากสื่อมิได้ก่อให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้อะไรใหม่ ๆ และการที่เอาประเด็นเดิม ๆ ออกมาสื่อกันไปสื่อกันมานั้น ผมก็ไม่เห็นทางออกเลยว่าความขัดแย้งจะจบลงได้อย่างไร หรือถ้าจะให้เปรียบก็คือ คนสองคนทะเลาะกัน มีความคิดที่ต่างกัน แล้วนานวันไปสิบ ๆ ปี ความคิดของคนสองคนนี้ก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญก็คือมันยังเป็นความคิดที่ต่างกันเหมือนเดิม

แต่ทว่าถ้าคนสองคนนี้ลองมาคุยกันแบบฟังกันบ้าง ก่อนจะสื่ออะไรออกไปก็ลองเอาประเด็นของฝ่ายตรงกันข้ามมาสะท้อนและอภิปรายกันบ้าง ผมเชื่อว่าเนื้อหาที่จะออกมาในสื่อนั้นน่าจะมีประเด็นหรือแนวคิดอะไรใหม่ ๆ ออกมาด้วย และสิ่งนี้จะช่วยทำให้การเมืองไทยนั้นมีวิวัฒนาการอย่างแท้จริง จริง ๆ แล้วความขัดแย้งมิใช่เรื่องเสียหาย การบริหารราชการบ้านเมือง หรือบริหารองค์กรต้องมีความขัดแย้งกันบ้าง เพื่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันไป เพื่อก่อให้เกิดบทสรุปของวิธีการบริหารราชการแผ่นดินที่ดีที่สุด มิเช่นนั้น จะมีทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านไปเพื่ออะไร ส่วนกรณีของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และเสื้อแดงนั้น ถ้าจะมองโลกในแง่ดี ก็ต้องกล่าวขอบพระคุณพวกเขาที่แสดงจิตวิญญาณของความเป็นคนไทย ที่กล้าหาญพอที่จะออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง

แต่อย่างที่ผมได้เรียนให้ทราบว่า การบริหารความขัดแย้งนั้นต้องใช้สติ ต้องใช้ขันติในการระงับความโกรธ และความอยากเอาชนะ เปลี่ยนมาเป็นการใช้ปัญญาเพื่อที่จะหาทางออกให้กับบ้านเมืองไทย โดยพยายามที่จะฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง และนำประเด็นที่ได้จากการฟังมาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ที่จะเป็นหนทางไปสู่ความสงบสุขในประเทศชาติต่อไป ผมหวังว่าคนไทยจะกลับมารักกันในเร็ววันนี้

กลับไปสภา

ที่มา มติชน



โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 มีนาคม 2554)

สัปดาห์ก่อนมีโอกาสชมรายการโทรทัศน์แนววิเคราะห์ข่าว

พิธีกรท่านหนึ่งเป็นห่วงว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้น จะเต็มไปด้วยการใช้ถ้อยคำหยาบคายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในสภาผู้แทนราษฎรยุคเก่าๆ

พิธีกรอีกรายจึงโต้ว่า คุณแน่ใจได้อย่างไรว่า ส.ส.ยุคเก่าอภิปรายโดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย?

คุณจำเนื้อหาการอภิปรายในสภาสมัยก่อนได้จริงหรือ? คุณได้รับฟังการอภิปรายเหล่านั้นผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุจริงหรือ? และการอภิปรายในสภายุคเก่ามีการถ่ายทอดภาพ/เสียงผ่านสื่ออยู่ตลอดจริงหรือ?

นี่อาจเป็นการปะทะกันระหว่าง "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์" กับ "ความทรงจำ" ที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนในสังคม

ในความทรงจำว่าด้วยการเมืองไทยร่วมสมัย ภาพของนักการเมืองก็ถูกวาดไว้อย่างไม่สวยงามสักเท่าใดนัก

เพราะดูเหมือนกลุ่มคนผู้มีอำนาจรัฐซึ่งถูกด่ามากที่สุด จะเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง

ระบบรัฐสภาหรือรัฐธรรมนูญถูกล้มถูกฉีก ก็เพราะข้ออ้างสำคัญประการหนึ่ง คือ "นักการเมืองเลว"

แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่ง นักการเมืองจากการเลือกตั้ง ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือครองอำนาจรัฐเพียงไม่กี่กลุ่ม

ที่สามารถถูกด่าและตรวจสอบได้อย่างละเอียดมากที่สุด

เพราะพวกเขามีที่มาจากประชาชน จึงต้องพร้อมจะแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม ความทรงจำทางการเมืองในราว 2 ทศวรรษหลัง กลับสร้างให้นักการเมืองกลายเป็นต้นตอแห่งความเสียหายต่างๆ (ทั้งที่พวกเขาอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น)

กระทั่งอำนาจสำคัญหลายประการในการตัดสินชะตากรรมของประเทศ ค่อยๆ ถูกพรากออกมาจากสภา

จนมีคนบอกว่าเรามีสภาก็เหมือนไม่มี

คำถามคือ สภาไทยไร้ค่าขนาดนั้นจริงหรือ?

ถ้าพิจารณาจริงๆ สภาผู้แทนราษฎรชุดปี 2550 ก็มีการอภิปรายถกเถียงในประเด็นน่าสนใจจำนวนมาก

อันแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการต่อสู้นอกสภาดำเนินเคียงคู่กันไปด้วย

เพราะสภาอาจรองรับประเด็นความขัดแย้งต่างๆ ไว้ได้ไม่หมด

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสภาจะไร้ความหมาย

เพราะแม้แต่แกนนำ นปช. ก็ยังแสดงความต้องการที่จะกลับมาต่อสู้ในระบบรัฐสภา

แน่นอนว่า ขบวนการเสื้อแดงบนท้องถนนยังเดินหน้าต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ

แต่หากพรรคเพื่อไทย/กลุ่มคนเสื้อแดงต้องการได้อำนาจรัฐและสิทธิคุ้มครองอันมั่นคงแล้ว

พวกเขาก็จำเป็นต้องทำการต่อสู้ในพื้นที่สภาด้วย

ฉะนั้น ในระยะยาวที่ไม่ใช่แค่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ (ซึ่งน่าจะตามมาด้วยการเลือกตั้งครั้งต่อไป) รัฐสภาจึงยังคงเป็นเวทีทางการเมืองที่สำคัญ

แต่สภาจะ "ทำงาน" หรือ "ไม่ทำงาน" ก็ไม่ได้อยู่ที่ ส.ส. หรือ ส.ว.เท่านั้น

หากยังอยู่ที่ "ความทรงจำ" หรือ "ความรับรู้" ที่คนในสังคมมีต่อสภาด้วย

ถ้าพวกเราไม่เชื่อในการเมืองระบบ "ตัวแทน"

ก็ยากที่กลไกของระบบรัฐสภาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เข้าใจฝูงชนเพื่อความปลอดภัย

ที่มา มติชน



โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์



ในยุคฟุตบอลลีกของไทยเบ่งบาน ผู้คนซึ่งกรึ่มมาแล้วหรือกำลังจะกรึ่มหลั่งไหลกันเข้าชมอย่างแน่นขนัดในบางแมตช์ การเหยียบกันจนบาดเจ็บล้มตายเป็นเรื่องน่าหวาดกลัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีเด็กเล็กไปด้วย อย่างไรก็ตาม วิชาการสามารถช่วยได้ เมื่อเข้าใจการไหลถ่ายเทของผู้คนจากสนามเมื่อยามแออัด

ฝูงชนเหล่านี้แม้กระทั่งม็อบที่จงรักภักดีก็ไม่มีใครสามารถกำกับให้กระทำอะไรได้ดังใจ โดยเฉพาะในยามอยู่กันหนาแน่นและเกิดตกใจวิ่งแยกจากกัน แต่ละคนในฝูงชนจะมีพฤติกรรมของตนเอง โดยขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ถัดไป เช่น แรงผลักเบาๆ จากคนข้างๆ ก็จะกลายเป็นแรงผลักไปสู่คนถัดไป แต่ถ้าบริเวณนั้นมีความแออัดมากขึ้น แรงผลักเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดการตกอกตกใจ ผู้คนวิ่งกันออกไปคนละทิศทางก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นได้ทันที

ความเข้าใจพลวัตของการเคลื่อนไหวของฝูงชนเช่นนี้มีความสำคัญมาก เช่น ถ้าเกิดเสียงระเบิด หรือไฟไหม้ขึ้นใกล้ๆ ฝูงชนใหญ่ คนเหล่านี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไร? เส้นทางหนีหรือประตูออกควรอยู่ตรงที่ใดในสนามดูกีฬาขนาดใหญ่เมื่อเข้าใจธรรมชาติของฝูงชนแล้ว

ชาวมุสลิมที่ไปเมกกะนับเป็นล้านๆ คนต่อปี และเคยเกิดปัญหาเหยียบกันตายเป็นร้อยคนในอดีต ควรจัดการกับฝูงชนอย่างไรเพื่อหลีกหนีอันตรายอันเกิดจากความหนาแน่นของฝูงชนขนาดใหญ่

John D. Barrow ในหนังสือเกี่ยวกับการใช้คณิตศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลก (100 Essential Things You Didn′t Know You Didn′t Know (2010) ชี้ให้เห็นพฤติกรรมของฝูงชนอย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าการไหลของผู้คนก็เหมือนกับการไหลของของเหลว

ผู้คนอาจคิดว่าฝูงชนที่ต่างแตกต่างกันในเรื่องอายุ เพศ รายได้ วัฒนธรรม ฯลฯ จะมีพฤติกรรมในฝูงชนที่ต่างกันจนอธิบายอะไรไม่ได้เลย แต่ Barrow บอกว่าในความเป็นจริงแล้วผู้คนปฏิบัติเหมือนกันอย่างน่าแปลกใจ ความเรียบร้อยอย่างเป็นธรรมชาติของฝูงชนเกิดขึ้นเสมอ ลองสังเกตดูในสถานที่ที่ผู้คนแออัด ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา รถไฟใต้ดิน สถานีขนส่ง ช็อบปิ้งมอลล์ ฯลฯ ดูก็ได้ ฝูงชนจะจัดการตัวของมันเอง ผู้คนจะเดินไหลเวียนกันเป็นระเบียบ จนเกิดความเป็นธรรมชาติขึ้น ไม่มีความติดขัดจนเกิดความตกใจและวิ่งเหยียบกัน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะต่างคนกระทำดั่งที่คนข้างเคียงทำ ถ้าคนอยู่ใกล้ๆ เดินเหินปกติไม่มีการตกอกตกใจก็จะกระทำอย่างเดียวกัน อาจเดินสวนกันหรือเดินตามกันตามเส้นทางอย่างสงบสุข

เมื่อศึกษาพฤติกรรมของฝูงชนลึกลงไปก็พบว่ามีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนเหมือนกับการไหลของของเหลว

ขั้นตอนแรก เมื่อไม่มีคนแออัดมากนัก และฝูงชนเคลื่อนไหวกันไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เดินออกจากอัฒจันทร์กีฬาเพื่อกลับบ้าน คลื่นฝูงชนก็จะไหลไปในอัตราความเร็วใกล้เคียงกัน ไม่มีการหยุด และเริ่มเคลื่อนไหวใหม่

อย่างไรก็ดี หากความหนาแน่นสูงขึ้นอย่างมากก็จะเข้าสู่ขั้นตอนสอง คราวนี้ร่างกายจะสัมผัส ผลักกันไปมาและการเคลื่อนไหวเริ่มจะเป็นไปในหลายทิศทาง โดยในภาพรวมการเคลื่อนไหวจะ "กระตุก" ไปมา มีลักษณะไปๆ หยุดๆ คล้ายคลื่นในทะเลที่มาเป็นลูกๆ

คำอธิบายก็คือความหนาแน่นที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราความเร็วของการเดินไปข้างหน้าลดลง และจะมีความพยายามของบางคนที่จะออกไปข้างๆ แทน ตราบที่บางคนคิดว่าจะทำให้ไปได้เร็วขึ้น (คนเหล่านี้มีจิตวิทยาเหมือนกับคนขับรถบางคนบนถนนที่ติดขัดก็จะเลือกหาช่องทางที่ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นด้วยการมุดไปทางซ้ายและขวา) การกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น โดยทำให้เคลื่อนไปข้างหน้ากันได้ช้าลง เพราะต้องหลีกไปข้างๆ เพื่อให้คนเหล่านี้แทรกเข้ามา คราวนี้ก็จะเกิดคลื่นไปๆ หยุดๆ ของการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าของฝูงชน ณ จุดนี้ยังไม่ถึงกับเป็นอันตราย แต่เป็นสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ว่าสิ่งเลวร้ายกว่านี้กำลังจะเกิดขึ้น

ขั้นตอนสาม เมื่อความแออัดมากยิ่งขึ้นอีก ความวุ่นวายไร้ระเบียบ (chaos) ก็จะเกิดขึ้นคล้ายกับของเหลวเมื่อประสบการอุดตันของท่อก็จะไหลเวียนด้วยความรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้คนจะพยายามไปในทิศทางใดก็ได้เพื่อหาที่ว่าง โดยผลักคนที่อยู่ข้างๆ อย่างรุนแรงจนอาจทำให้บางคนล้มลงขวางทาง ซึ่งยิ่งทำให้มีพื้นที่ว่างน้อยลงและตกใจมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกพลัดพรากจากพ่อแม่

เหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในหลายพื้นที่พร้อมๆ กันในฝูงชนซึ่งใหญ่และหนาแน่นมาก ผลกระทบจะกระจายออกไปอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ในที่สุด เสียงร้องแสดงความตกใจหรือเจ็บปวดจะยิ่งเร่งเร้าให้แต่ละคนเคลื่อนไหวไปในทุกทิศทางอย่างไร้จุดหมายเพื่อหาที่ว่าง ถ้าไม่มีการแทรกแซงอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้ความแออัดลดลง หรือตัดกลุ่มฝูงชนที่เป็นปัญหาออกจากฝูงชนใหญ่แล้ว ก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมได้

การเปลี่ยนแปลงจากขั้นตอนหนึ่งถึงสามอาจใช้เวลาไม่กี่นาทีหรืออาจถึงครึ่งชั่วโมงโดยขึ้นอยู่กับขนาดของฝูงชน ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อใดกับฝูงชนใดฝูงชนหนึ่ง แต่การเฝ้าติดตามดูลักษณะการเคลื่อนไหวของฝูงชนที่ไปๆ หยุดในบางจุดของฝูงชนใหญ่ สามารถช่วยป้องกันไม่ให้นำไปสู่ขั้นตอนที่สามได้

ความรู้ข้างต้นนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมฝูงชนที่ออกจากสนามกีฬาหลังฟุตบอลลีกเลิก แต่ไม่อาจช่วยการไล่เหยียบกรรมการหรือฝ่ายตรงข้ามได้ เนื่องจากนักคณิตศาสตร์ยังไม่สามารถนำ "ความป่าเถื่อน" มาใช้เป็นตัวแปรในสมการคณิตศาสตร์ได้

"อารีย์-วิสา-ไพจิตร"เข้ารับทราบข้อกล่าวหาดีเอสไอ คดีก่อการร้าย คาด"อริสมันต์-สุภรณ์"มอบตัวสัปดาห์หน้า

ที่มา มติชน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มีนาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายอารีย์ ไกรนรา หัวหน้าการ์ดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วย นายวิสา คัญทัพ และนางไพจิตร อักษรณรงค์ พร้อมทนายส่วนตัว เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีก่อการร้าย โดยมีการเตรียมหลักทรัพย์ 6 แสนบาท เพื่อขอประกันตัวด้วย เบื้องต้น นายอารีย์ได้ให้การปฏิเสธ และแจ้งว่า จะมาให้การเพิ่มเติมในวันต่อไป

สำหรับการขอประกันตัวพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ต้องหาได้ติดต่อเข้ามาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเอง เนื่องจากนายอารีย์ผู้ต้องหาไม่ได้มีหมายจับของศาล ประกอบกับในชั้นนี้ยังไม่มีเหตุที่จะนำตัวไปขอให้ศาลออกหมายขังไว้ แต่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้กำหนดเงื่อนไขไปกับนายอารีย์ไว้ในทำนองเดียวกันกับเงื่อนไขของศาล คือ ห้ามมิให้ผู้ต้องหาดังกล่าวกระทำการอันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามผู้ต้องหาดังกล่าวเดินทางออกนอกราชอาญาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และเนื่องจากคดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนไปยังสำนักงานอัยการคดีพิเศษแล้วจึงนัดส่งตัวนายอารีย์ให้อัยการในวันที่ 29 มีนาคมนี้

ส่วนแกนนำกลุ่มฮาร์ดคอร์ เช่น นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ มีกระแสว่าจะเข้ามอบตัวภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งก่อนหน้านี้ นายอดิศร เพียงเกษ แกนนำ นปช. ฝากบอกถึงแกนนำ นปช.คนอื่นๆ ที่ยังหลบหนีอยู่ว่าให้มอบตัว

นายกฯ-ทบ.ถกลับ! ประเมินม็อบแดง "มาร์ค"สั่งกองทัพตอบโต้ปมเผา"เซ็นทรัลเวิลด์"ให้ชัดเจน

ที่มา มติชน

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม แหล่งข่าวจากกองทัพบก (ทบ.) เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รอง เสธ.ทบ. พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.อักษรา เกิดผล ผช.เสธ.ทบ.ฝ่ายยุทธการทหาร ฝ่ายข่าว และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ประชุมลับร่วมกันที่ ทบ. เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน

ที่ประชุมได้รายงานและประเมินภาพรวมให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบถึงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. วันที่ 12 มีนาคม โดยทางกองทัพคาดว่าน่าจะมีคนเสื้อแดงเข้าร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน และการชุมนุมวันดังกล่าวทางแกนนำทั้งหมดที่ได้รับปล่อยตัวมาจะขึ้นร่วมปราศรัย ทำให้มีผู้ชุมนุมมากขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการมาพบกับแกนนำเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า พท.ระดมคนเข้าร่วมชุมนุมอีกส่วน

"พล.อ.ประยุทธ์ให้หน่วยข่าวและเจ้าหน้าที่จับตาการปราศรัยของแกนนำ นปช. โดยเฉพาะการพูดบนเวที ที่อาจจะส่อไปในเชิงพาดพิงสถาบัน รวมทั้งให้อัดเทป และถ่ายภาพหากแกนนำมีพฤติกรรมพูดไปในทางที่ผิดเงื่อนไขของศาล" แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในช่วงท้ายการประชุม นายอภิสิทธิ์ได้แสดงความคิดเห็นด้วยว่า การออกมาสร้างข่าวของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. มีการพาดพิงถึงการเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงหลายเหตุการณ์ที่มักจะโยงทหารเข้าไปพัวพัน น่าเชื่อว่าต้องการที่จะสร้างความแตกแยก ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ จึงขอให้กองทัพตอบโต้อย่างชัดเจนด้วย

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กอ.รมน.ได้มอบหมายให้กองทัพบกตั้งวอร์รูมขึ้นมาติดตามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างใกล้ชิด โดยให้มีการมอนิเตอร์ตลอด และมอบให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ และเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้ควบคุมและดูแลเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมี กรมฝ่ายเสนาธิการเข้าทำหน้าที่ ตลอดทั้งวันที่ 12 มีนาคม นอกจากนี้ มีการสั่งการแม่ทัพภาคที่ 1 สั่งการหน่วยทหารทุกหน่วยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กองพันสารวัตรทหารบก กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 1 เตรียมพร้อมในหน่วยที่ตั้งตลอด 24 ชม. หากมีเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรง รวมทั้งภายในกองบัญชาการกองทัพบก จะมีการจัดกำลังพล สุนัขทหาร และยุทโธปกรณ์ประเภท รถน้ำดับเพลิง รถเครื่องขยายเสียง เข้ามาประจำการ เพื่อป้องกันม็อบที่เกรงว่าจะเดินผ่านและมาหยุดที่หน้า บก.ทบ.

เปิดร่างกฎหมายคุมม็อบ

ที่มา ข่าวสด

รายงานพิเศษ



สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยเห็นชอบ 229 ต่อ 85 ไม่ลงคะแนน 7 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 24 คน พิจารณาวาระ 2 ภายใน 7 วัน



ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ... มีทั้งหมด 39 มาตรา แยกเป็น 5 หมวด

หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 7-9)

หมวด 2 การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ (มาตรา 10-15) กรณีการชุมนุมนั้นกระทบต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ

หมวด 3 หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม (มาตรา 16-19)

หมวด 4 การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการชุมนุม สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะ (มาตรา 20-29)

หมวด 5 บทกำหนดโทษ (มาตรา 30-38) และบทเฉพาะกาล (มาตรา 39)

มีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้

มาตรา 7 การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ และการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุม สาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 8 การชุมนุมต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ประทับ และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รวมทั้งไม่กีดขวางทางเข้าออกรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลและหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานี รถไฟหรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษาและศาสนสถาน สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศด้วย

มาตรา 10 ผู้ใดประสงค์จัดการชุมนุม ซึ่งกระทบต่อประชาชน ให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง (หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมหรือบุคคลอื่น ตามที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้ง) ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง

มาตรา 13 หากผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมนั้นกีดขวางทางเข้าออก ตามมาตรา 8 ให้ยื่นคำขอต่อศาล เพื่อให้มีคำสั่งห้ามการชุมนุม และให้ศาลพิจารณาคำขอเพื่อมีคำสั่งห้ามการชุมนุมเป็นการด่วน โดยคำสั่งของศาลให้เป็นที่สิ้นสุด

มาตรา 14 กรณีผู้ประสงค์จัดการชุมนุม ไม่สามารถแจ้งก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง ให้ผู้นั้นมีหนังสือแจ้งการชุมนุม พร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาดังกล่าวต่อผบช.น.ในกทม. หรือผู้ว่าฯ ก่อนเริ่มการชุมนุม

ผู้รับคำขอต้องมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอผ่อนผัน พร้อมเหตุผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับคำขอ

กรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่พอใจผลการพิจารณา ให้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา คำสั่งของศาลให้เป็นที่สิ้นสุด

มาตรา 15 การชุมนุมที่ศาลมีคำสั่งห้ามการชุมนุม ให้ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 16 ผู้จัดการชุมนุม มีหน้าที่อยู่ร่วมการชุมนุมตลอดเวลา ต้องดูแลรับผิดชอบการชุมนุมให้สงบ ปราศจากอาวุธ ภายใต้ขอบเขตสิทธิและเสรีภาพของรัฐธรรมนูญ ดูแลไม่ให้ขัดขวางประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม และต้องไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

มาตรา 18 กรณีผู้จัดการชุมนุมมิได้แจ้งว่าจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้าย จะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งรับผิดชอบดูแลการชุมนุมนั้น

มาตรา 19 ผู้ชุมนุมต้องเลิกการชุมนุมภายในเวลาที่ผู้จัดได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง

มาตรา 20 หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ที่มีการชุมนุมและผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจ อาจมีคำสั่งปิดการจราจรได้ แต่ให้กระทำการได้เฉพาะบริเวณอันจำกัดและเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและประชาชน และต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ เจ้าพนักงานต้องผ่านการฝึกอบรมให้มีการเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุม ต้องแต่งเครื่องแบบและอาจใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 22 ให้หัวหน้าสถานีตำรวจและผู้ที่ได้รับมอบหมายฯ เป็นเจ้าพนักงานรับผิดชอบดูแลการชุมนุม แต่เพื่อความคล่องตัวและสอดคล้องกับสถานการณ์ หากรัฐมนตรีหรือผบ.ตร.เห็นสมควรก็อาจแต่งตั้งข้าราชการ อาจเป็น ข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง เป็นเจ้าพนักงานรับผิดชอบการชุมนุมแทนหัวหน้าสถานีตำรวจ

มาตรา 24 - 27 กรณีมีการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.นี้ ให้เจ้าพนักงานดำเนินการดังนี้

1.ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด

ทั้งนี้ ต้องไม่ตัดสิทธิของผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมนั้น ที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม

2.หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมนั้น โดยให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน และให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศคำสั่งศาลไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ในพื้นที่ชุมนุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมทราบด้วย

3.ระหว่างรอคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการควบคุมการชุมนุม ที่ ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

4.กรณีศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกตามคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานประกาศกำหนดพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ควบคุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมโดยเร็ว และให้รายงานนายกฯเพื่อทราบ

เมื่อกำหนดพื้นที่ควบคุม ให้ผบช.น.ในกทม. ผู้ว่าฯในจังหวัดอื่นหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายให้รับผิดชอบ เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้เลิกการชุมนุมตามคำสั่งศาล

5.เมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุม หากยังมีผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ควบคุม ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และให้ผู้ควบคุมฯดำเนินการให้เลิกการชุมนุม โดยให้ผู้ควบคุมและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายฯ มีอำนาจค้นและจับผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่ควบคุม ยึดหรืออายัดทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ชุมนุมนั้น หรือกระทำการที่จำเป็น ตามแผนหรือแนวทางการควบคุมการชุมนุม โดยผู้ปฏิบัติการต้องผ่านการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุม ต้องแต่งเครื่องแบบและใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามที่รัฐมนตรีประกาศ

มาตรา 28 กรณีผู้ชุมนุมกระทำการใดที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานหรือผู้ควบคุมสถานการณ์ดำเนินการตามมาตรา 26 และ 27 โดยอนุโลม

กรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงาน ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเพื่อพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่วันมีคำสั่ง คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

บทกำหนดโทษ

มาตรา 30 ผู้จัดการชุมนุมที่กระทบต่อประชาชนโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุม ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

มาตรา 31 ผู้จัดเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นเข้าร่วมชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 32 ผู้จัดการชุมนุมไม่อยู่ร่วมตลอดการชุมนุม ไม่ดูแลและรับผิดชอบให้การชุมนุมสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ดูแลไม่ให้เกิดการขัดขวางประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงาน หรือกรณีผู้ชุมนุมนำอาวุธเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าพนักงาน ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

มาตรา 33 ผู้จัดการชุมนุมยุยง ส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด บุกรุกหรือทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและได้รับความเดือดร้อน หรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้ชุมนุมหรือผู้อื่น ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 34 ผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นระหว่างการชุมนุม ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 35 ผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้ายอมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในเวลาที่กำหนด ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำผิดนั้น

มาตรา 36 หากผู้ชุมนุมไม่ยอมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในเวลาที่ประกาศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 37 ผู้ที่ไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานหรือจากผู้ควบคุมสถานการณ์ พกอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าอาวุธนั้นเป็นอาวุธปืน หรือวัตถุอื่นใดที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 38 ทรัพย์สินที่ยึดได้จากการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้ริบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

บทเฉพาะกาล

มาตรา 39 ร่างพ.ร.บ.นี้กำหนดให้การชุมนุมที่กระทบต่อประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะที่จัดขึ้นก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมตามความในหมวด 2 แห่งพ.ร.บ.นี้ แต่การอื่นให้เป็นไปตามพ.ร.บ.นี้

คนไทยโชคดี ?

ที่มา ข่าวสด

คอลัมน์ เหล็กใน
สมิงสามผลัด



ยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯต้องบอกว่าเดือดร้อนกันถ้วนหน้าจริงๆ

กระจายทั่วถึงทั้งคนต่างจังหวัดและคนกรุงจากปัญหาข้าวยากหมากแพง

การบริหารประเทศประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็วัดกันได้ง่ายๆ จากความเป็นอยู่ของประชาชน

วัดได้จากปัญหาน้ำมันปาล์ม สินค้าแพง ไข่ขาดตลาด ฯลฯ

ยังมีชาวนาทั้งภาคกลางและภาคเหนือต้องประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ

จนต้องชุมนุมปิดถนนเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคาข้าว

เพื่อให้มีรายได้พอกินพออยู่และพอชดใช้หนี้สิน

ชาวบ้านปากมูนหอบลูกหอบหลานเข้ามาปักหลักประท้วงถึงในเมืองกรุง

หวังว่ารัฐบาลจะยอมเปิดเขื่อนถาวร

คืนวิถีชีวิตให้ชาวอีสาน

แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมเปิดเขื่อน ยื้อเรื่องกลับไปศึกษาผลกระทบซะงั้น

นี่คือตัวอย่างชาวต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศได้รับความเดือดร้อนจากรัฐบาลนี้

ส่วนคนกรุงก็ใช่ว่าจะอยู่สบาย ปัญหาข้าวของแพงมันกระทบไปหมด

แต่ยังมีชาวบ้านอีกกลุ่มที่เดือดร้อนจากความดันทุรังของนายอภิสิทธิ์

เป็นชาวบ้านและธุรกิจห้างร้านที่อยู่รอบๆ บ้านพักของนายกฯเอง

เดือดร้อนเพราะคำสั่งปิดถนน 4 เส้นทางรอบบ้าน นายกฯที่ย่านสุขุมวิท 31

ความจริงเดือดร้อนกันมานานแล้ว เคยมีการร้องเรียนไม่รู้กี่ครั้ง ด่านทหาร-ตำรวจถือปืนเต็มซอย

พอความเป็นอยู่เริ่มกระเตื้อง ก็มีเจอคำสั่งใหม่ซ้ำอีก

ที่พอจะลืมตาอ้าปากได้ก็ทรุดฮวบลงทันตา

หลายคนเคยเสนอแนะกันมาไม่รู้กี่ครั้งให้นายกฯอภิสิทธิ์ย้ายไปอยู่ที่บ้านพิษณุโลก

แต่นายกฯก็ปฏิเสธมาตลอด เลือกที่จะอยู่สบายๆ ที่บ้านหลังเดิม

ปล่อยให้เพื่อนบ้านของนายกฯก้มหน้ารับกรรมกันไป

พอคิดจะไปยืนถือป้ายประท้วง ยืนตะโกนเรียกร้องให้นายกฯแก้ปัญหา

ก็คงทำไม่ได้แล้ว

เพราะส.ส.ประชาธิปัตย์ที่เป็นกมธ.ตำรวจเรียกตำรวจไปเฉ่ง

บอกให้หาช่องกฎหมายให้ดำเนินคดีกับประชาชนที่ไปยืนโห่ตะโกนไล่นายกฯ

เตรียมงัดข้อหาหมิ่นประมาทขึ้นมาเล่นงาน

แทบไม่เชื่อเลยว่าเป็นวิธีคิดของรัฐบาลในระบบประชาธิปไตย

ปิดกั้นความคิด ห้ามแม้กระทั่งไปยืนตะโกน

ทำให้ต้องหวนคิดอีกครั้งว่าเป็นความจริงหรือที่...คนไทยโชคดีได้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

คอมมิวนิสต์ เทือกปลุกผี -ด่าแดง

ที่มา ข่าวสด

อ้างจัดตั้งล้างสมอง "อดิศร"โผล่มอบตัว ทหารชี้ 12มีค.5หมื่น



มอบตัว - นายอดิศร เพียงเกษ เข้ามอบตัวต่อดีเอสไอแล้ว หลังจากหนีหมายจับคดีก่อการร้ายไปตั้งแต่เดือนพ.ค. 53 พร้อมแนะให้เพื่อนแกนนำเสื้อแดงที่ยังหลบหนีเข้ามอบตัว

"มาร์ค"เปิดงานเมืองทอง ทำบรรยากาศกร่อย รปภ.เข้มงวดสกัดคนตะโกน ชูป้ายไล่ ค้นละเอียดยิบแม้กระทั่งเจ้าของบูธก็ยังเข้างานไม่ได้ "เทือก" แจงพัลวัน คำสัมภาษณ์ม็อบเดินเข้ามาหากระสุนเอง โวยบิดเบือน ซัด "อัมสเตอร์ดัม" ต้นตอให้ร้าย ลั่นจะเอา "ชายชุดดำ" มาให้ดู ฉะยุทธวิธีเสื้อแดงเหมือนคอมมิวนิสต์ ขณะที่ "อดิศร เพียงเกษ" โผล่มอบตัวที่ดีเอสไอ สู้คดี ก่อการร้าย หลังหลบหนีไป 9 เดือน "ธิดา" เข้าให้ข้อมูลวุฒิสภา ย้ำอยุติธรรม ตั้งข้อหามั่ว หลัก ฐานไม่ชัด ชี้มีแรงงาน 24 ล้านคนเป็นเสื้อแดง ให้จับตาผู้นำเหล่าทัพไหว้ศาลหลักเมือง คล้ายก่อนรัฐประหาร 2549 ด้านกองทัพประเมินแดงไม่ต่ำกว่า 50,000 คน ชุมนุม 12 มี.ค. ด้านนักกฎหมายชี้ชูป้ายไล่มาร์ค ถ้าไม่หยาบคาย ถือว่าไม่ผิด มีทำกันทั่วโลก

"เทือก"พัลวัน"เดินมาหาลูกปืน"

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต อ้างเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุนายสุเทพให้สัมภาษณ์ว่าผู้เสียชีวิตในเหตุ การณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553 เพราะเดินเข้ามาหาลูกกระสุนปืนเองว่า จะพูดกับสื่อที่ทำเนียบรัฐ บาลที่เดียว และวันละครั้งเท่านั้น ไม่พูดพร่ำ เพรื่อ เข้าใจว่าคนที่ระบุต้องการบิดเบือน คาดว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา สื่อถามประเด็นที่มีคนกล่าวหาว่ามีการฆ่าประชาชน 91 ศพ และชี้แจงไปว่าไม่ได้ทำ ไม่มีเรื่องที่จะให้ตำรวจและทหารไปสลาย หรือถือปืนไล่ยิงประชาชน ข้อเท็จจริงผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งเพราะเข้ามาโจมตีสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ตั้งป้อมและด่านไว้ เจ้าหน้าที่ต้องป้องกันด่านและตัวเอง จำได้ว่าคำพูดเป็นเช่นนี้ แต่ไปใส่คำใหม่ คนบ้าอย่างตนจะพูดอย่างนั้นได้อย่างไร ไม่มีทาง

"ผมเข้าใจดีเพราะทั้งหมดนี้มาจากนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่รับ จ้างทำงานให้เขาอยู่แล้ว และพูดจาให้ร้ายประ เทศไทยและรัฐบาลไทยมาหลายครั้ง เป็นคนที่เราไม่ให้เข้าประเทศอยู่แล้ว" รองนายกฯ กล่าว

โชว์ภาพแฉกลับมือเผาห้าง

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา มีคนนำคลิปที่มีผู้เผยแพร่ทางสื่ออิเล็ก ทรอนิกส์ อ้างว่าเจ้าหน้าที่ไล่ยิงคนภายในห้างเซ็นทรัล เวิลด์ เพื่อให้ออกจากห้าง จะได้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนทำ และโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ ขอให้ประชาชนติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะการนำมาเผยแพร่นี้ เข้าใจว่าเขาเริ่มกระบวนการปูพื้นก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ โหมโรงชักนำความรู้สึกของประชาชนก่อนถึงวันอภิปราย ตนจะนำรูปภาพของจริงไปแสดงว่า คนที่ลงมือเผาห้างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่งตัวอย่างไร ใช้อะไรเผา และใครทำอะไรอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เพราะไม่ใช่แค่เผาห้าง แต่สถานที่อื่นทั้งธนาคารและอาคารต่างๆ เป็นไปตามคำสั่งของแกนนำที่สั่งให้เผาบ้านเผาเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะให้ฝ่ายค้านเปิดเผยคลิปเผาห้างต่อสาธารณชน นายสุเทพ กล่าวว่า อยากให้มีอะไรให้เอามาเปิด ไม่ต้องยั้งมือ แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตรวจสอบ ที่มีตัว แทนจากฝ่ายค้านและรัฐบาลตกลงกันว่าจะให้เปิดหรือไม่ เพราะถ้าไม่ระวังก็จะเผยแพร่ไม่เหมาะสม ไปกระทบกับคนอื่น หากตกลงกันได้อย่างไรก็พร้อมดำเนินการ

ลั่นจะเอา"ชายชุดดำ"มาให้ดู

ต่อข้อถามว่าทำไมคิดว่าฝ่ายค้านดิสเครดิต เพราะมีอดีตทหารบางคนที่ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย อาจให้ข้อมูลส่วนนี้ก็ได้ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบแหล่งข้อมูลเขา แต่เข้าใจว่าวงการข้าราชการยังมีคนที่เคยได้ดิบได้ดี ที่เขาชุบเลี้ยง และบางคนยังอยู่ในตำแหน่งสำคัญลงไปถึงระดับเล็ก เช่น ระดับรองผบ.ตร.เป็นต้น เพราะเวลาที่ใช้อะไรก็ไม่ทำ ใช้ไปปราบยาเสพติดก็เฉย เห็นชัดเจน แต่ตำรวจส่วนใหญ่คือตำรวจของประชาชน ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเริ่มทำงานกันมากแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการอภิปรายครั้งนี้จะตีแผ่ได้หรือไม่ว่าชายชุดดำเป็นใคร นายสุเทพ กล่าวว่า ยืนยันว่าตีแผ่ได้ คอยดูก็แล้วกัน จะเอามาให้ดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร จะแสดงให้ดูด้วยว่าจับตัวได้กี่คน เมื่อถามว่าถ้ากลุ่มแนวร่วมประชาธิป ไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่ยอม รับว่าเป็นคนของเขาจะทำอย่างไร นายสุเทพ ย้อนว่า "เขาจะยอมรับได้อย่างไร ขนาดมันบอกว่าเอาน้ำมันมาคนละลิตร แล้วเผามันเลย ผมรับผิดชอบเอง พูดออกทีวีทั้งประเทศ แต่วันนี้มันบอกว่าไม่ได้พูด" รองนายกฯ กล่าว

ฉะแดงจัดตั้งแบบคอมมิวนิสต์

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะยื่นถอนประกัน 7 แกนนำนปช. นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ทราบ การให้ประกันเป็นดุลพินิจของศาล โดยศาลมีเงื่อนไขการประกันตัว เช่น ต้องไม่ก่อความวุ่นวาย ถ้าปฏิบัติตามนั้นคงไปคัดค้านและขอถอนไม่ได้ แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข เช่น ศาลห้ามไม่ให้ขึ้นเวทีไปปลุกระดมประชาชน แต่ไปขึ้น อย่างนี้ก็มีเหตุผลถอนประกัน

ต่อข้อถามว่าตำรวจยอมรับว่าการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. จนไปถึงวันที่ 19 พ.ค.2554 จะมีมวลชนมากกว่าทุกครั้ง เป็นเพราะอะไร นายสุเทพ กล่าวว่า การจัดตั้งของเขาดีได้ผล ยุทธวิธีที่แกนนำคนเสื้อแดงใช้ เหมือนสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์ทำในอดีต เพียงแต่สมัยก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์ทำ ต้องแอบทำอยู่ใต้ดิน เพราะมีพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์คอยป้องกันเอาไว้ แต่วันนี้คอมมิวนิสต์ส่วนนั้นกลับเข้ามานั่งในวอร์รูมวาง แผนดำเนินการ มีจุดมุ่งหมายเดิม เป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย อย่างที่เคยคิดตอนเป็นคอมมิวนิสต์

อ้างปลุกระดม-ล้างสมอง

"วันนี้ใช้อิทธิพลและเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำกันอย่างเปิดเผย เพราะกฎหมายคอมมิวนิสต์ไม่มี เข้าไปปลุกระดมตามหมู่บ้านเพื่อต่อสู้เพื่อล้มอำมาตย์ เปิดโรงเรียนคนเสื้อแดง เนื้อหาที่เปิดสอน 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ 99 เปอร์เซ็นต์ เหมือนที่คอมมิวนิสต์เคยอบรมเลย ทำให้เขาระดมคนได้มาก ใหม่ๆ อาจจะจ้างมาวันละ 500-1,000 บาท แต่มาฟังพูดติดต่อกันมา 2-3 เดือน จนเข้าสมองไปเอง ไม่ต้องจ้างแล้ว บางส่วนเป็นอย่างนั้น" นายสุเทพ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ว่าพรรคซีกไหนก็ทำแบบเดียวกันหมด อดีตสมาชิกพรรคคอมมิว นิสต์แห่งประเทศไทย ก็กลับใจมานั่งเป็นรัฐ มนตรีในรัฐบาลหลายคน แสดงว่าไม่ได้พยายามสลายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเลย นายสุเทพ กล่าวว่า ถูกต้อง เดิมคนที่เคยต่อสู้ในป่ากับพรรคคอมมิว นิสต์ เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ ออกคำสั่งที่ 66/23 ก็ออกมาจากป่าแยกสายกันไป พวกหนึ่งยังยืนยันจะทำแนวทางเดิม อีกพวกกลับมาสู่ระบบปกติ คนดีๆ เยอะที่ออกจากป่ามาทำเรื่องดีๆ ให้บ้านเมือง บางคนไปเป็นเอ็นจีโอ หรือลงสมัครส.ส. ส่วนคนที่ยังยืน ยันจะทำตามแนวความคิดเดิม ก็ยังไปสุมหัวกันอยู่ พวกนี้บางคนเคยเป็นรัฐมนตรีด้วย

อ่านรายละเอียดทั้งหมดคลิก ข่าวสด

...มาดูกันเพื่ออุดมการณ์หรือเพื่อเงินกันแน่

ที่มา thaifreenews

โดย คนเมืองกาญ

ล้านคำบรรยาย การ์ตูนเซีย วันที่ 11/03/54

ที่มา thaifreenews

โดย blablabla



ยามเมื่อนัก การเมือง เรืองอำนาจ
จึงสามารถ โกงกิน จนสิ้นใส้
เอาเงินบาป จัดสรร แบ่งปันไป
พวกจัญไร ใจอุบาทว์ ชาติโสมม....

คนใกล้ชิด สนิทกัน มันตัวแสบ
เป็นอีแอบ คอยเร่งรัด จัดผสม
ทำมุบมิบ หยิบให้ ไว้ชื่นชม
พวกโง่งม ต่างปิดตา ไม่มามอง....

รัฐสูญเสีย บานเบอะ เลอะเทอะต่อ
หวังเกิดก่อ ความชอบธรรม นำสนอง
หมื่นแสนล้าน หายฉับพลัน มันจับจอง
แล้วป่าวร้อง มือสะอาด ปราศมลทิน....

พวกตนทำ อย่างไร ก็ไม่ผิด
ช่วยปกปิด ซ่อนไว้ ได้ทั้งสิ้น
ดำเป็นขาว หนาวเป็นร้อน ซ่อนบนดิน
เปื้อนราคิน แห่งบาป หยาบสามานย์....

คนใกล้ตัว ชั่วทราม ตามประชิด
แม้นปกปิด เรื่องราว อย่างห้าวหาญ
กินเงินบาป แล้วอำพราง อย่างลนลาน
เห็นสันดาน หางโผล่มา ช่างน่าอาย....

วันนี้มาสาย ขออภัยทุกๆ ท่านด้วยครับ

๓ บลา / ๑๑ มี.ค.๕๔
http://3blabla.blogspot.com