เนื่องจาก "ข้ออ้าง" เรื่อง "พลังพิเศษ" บันดาลให้เกิดการก่อตั้งพรรคการเมืองน้องใหม่ โดยมี "มือที่มองไม่เห็น" รับหน้าที่จัดหา "ปัจจัยที่ 5" พร้อมนำส่งให้ถึงที่ทำการพรรค นับวันจะยิ่งมีน้ำหนักเบาบางลง
เพราะเอาเข้าจริง กลับพบแต่ความแห้งแล้งภายใน แม้ไม่ถึงขนาด "อดอยากปากแห้ง" แต่ก็ต้องใช้จ่ายแบบจำกัดจำเขี่ย เนื่องจากท่อน้ำเลี้ยงที่คอยหล่อเลี้ยงมวลสมาชิกทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ มีเพียงสายเดียวเท่านั้น
คือท่อน้ำเลี้ยงที่ต่อตรงจากบ้านพักในซอยพัฒนาการ 20 ของ "นักการเมืองใจนักเลง" ที่ชื่อ "วัฒนา อัศวเหม" ประธานที่ปรึกษาพรรค โดยมี "หัวหน้ามุ้ง" รับหน้าที่ "หมุนก๊อก" คอยเปิด-ปิดทวารสายน้ำดังกล่าวอีกชั้นหนึ่ง
ว่ากันว่า "ทุนประเดิม" ของพรรคการเมืองแห่งนี้ ได้จากการขาย "แหล่งทำเงินนอกประเทศ" ของครอบครัวอัศวเหม
ส่วนค่าใช้จ่ายรายเดือน ถือเป็นภาระรับผิดชอบของ "เสี่ยธุรกิจยานยนต์" คนหนึ่ง ซึ่งทำ "สัญญาปากเปล่า" ไว้กับ "พินิจ จารุสมบัติ" ผู้ชักนำเข้าสู่วงการการเมือง ว่าก่อนเลือกตั้งจะจัดให้ 3 งวด งวดละ 100 เพื่อแลกกับการครองตำแหน่งใหญ่ในพรรค
แต่พอถึงวัน น. เวลา ว. "เสี่ยคนดัง" กลับเบี้ยวหน้าตาเฉย โดยอ้างว่าหมุนเงินไม่ทัน ทำเอา "บรรดาบิ๊กเนม" ต้องยกคณะบากหน้าไปขอหยิบยืม "เงินก้อน" จาก "ทุนใหญ่รายเดิม" เพื่อมาจ่ายเป็น "เบี้ยยังชีพเด็กในคาถา"
คราวนี้ "เจ้าพ่อปากน้ำ" ถึงกับต้องเปิดกรุสมบัติ-ตัดใจชักโฉนดที่ดินสวยๆ ออกมาหลายใบ ก่อนส่งให้ "นายหน้าจำเป็น" ที่ชื่อ "สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" วิ่งรอกไปเสนอต่อ "เจ้าสัวธุรกิจน้ำเมา" เพื่อขอให้รับจำนองเอาไว้
ขณะนี้โฉนดดังกล่าวถูกเก็บไว้ใน "เซฟพิเศษ" ของ "เสี่ยน้ำเมา" แล้ว แต่พร้อมเปิดให้ "เจ้าของตัวจริง" ใช้ "ยอดเดิม" คือ 500 มาไถ่ถอนคืนทุกเมื่อ
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจหาก "วัฒนา" จะมีบทบาทสูงยิ่งใน พผ. แม้จะเป็น ส.ส.สอบตก เพราะเขาเหนือกว่านักการเมืองหน้าอื่นด้วยสถานะ "นายทุนผูกขาด" เพียงรายเดียว!!!
หลังจากที่การเมืองไทยผ่านพ้น "การเลือกตั้ง" ไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ถือเป็นหนึ่งในผลงาน "ชิ้นโบว์แดง" ของการปฏิรูปการปกครอง ภายใต้การนำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่าการเมืองไทยเดินหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
จากนี้ไปเป็นภาระหน้าที่ กกต.ที่จะทำหน้าที่รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
แต่ถึงอย่างไรบทบาทภารกิจของ คมช.ก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
หลังจากนั้น คมช.จะยุติบทบาทและภารกิจไปพร้อมกับคณะรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ คมช.เป็นห่วงอยู่ คือการเดินเกมทางการเมืองของแต่ละพรรค โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวอย่างหนักกลุ่มการเมืองผู้มีอิทธิพลใน จ.บุรีรัมย์ ซึ่งจัดแจงว่าจ้าง "แกนนำท้องถิ่น" และ "ผู้มีอิทธิพล" จัดตั้งม็อบกดดันการทำหน้าที่ กกต.บุรีรัมย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์
จากการหารือระหว่าง พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และรักษาการประธาน คมช. กับ อภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ทำให้ทราบปัญหาว่า ขณะนี้ กกต.ในแต่ละจังหวัดไม่กล้าที่จะดำเนินคดีทุจริตการเลือกตั้งกับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง
แม้ปรากฏมีข้อร้องเรียนการทุจริตอื้อ แต่ กกต.จังหวัด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง "ใส่เกียร์ว่าง" ไม่กล้าทำสำนวนฟันคนโกง ทำให้ "5 เสือ" กังวลการให้ "ใบเหลือง-ใบแดง" แก่ "ว่าที่ ส.ส." ที่ถูกร้องเรียนการทุจริต นอกจากนี้ ยังมีการข่มขู่พยานคดีทุจริตการเลือกตั้ง คมช. ถึงขนาดต้องส่ง "สีเขียว" เข้าไปดูแลความปลอดภัย
เบื้องต้นที่ประชุม คมช. มอบให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของตำรวจ แต่เนื่องภายหลังผลการเลือกตั้งออกมา ท่าที "บิ๊ก สตช." เปลี่ยนไป ไม่สนที่จะเข้าร่วมประชุม คมช.เหมือนเก่าก่อน รวมทั้งไม่เข้าร่วมกิจกรรมเท่าที่ควร
ทำให้ใน คมช.ไม่ค่อยไว้วางใจ เพราะการทำงานตำรวจที่ผ่านมา เหมือน "ไม่เต็มที่" ปล่อยให้มีการพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตในหลายพื้นที่
โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมสืบสวนสอบสวนปล่อยวางในการเร่งรวบรวมคดีที่มีการแจ้งความทุจริต
คมช.จึงต้องการส่งสัญญาณให้เห็นถึงการทำงานของ กกต.บุรีรัมย์ และผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ที่พยายามต่อสู้กับ "กลุ่มอำนาจเก่า" อยู่เพียงจังหวัดเดียว
ดังนั้น คมช.ต้องพยายามทำทุกอย่าง ให้เจ้าหน้าที่รัฐได้มีอิสระและความปลอดภัยในการทำงานอย่างเต็มที่
นี่คือภารกิจที่ คมช.เห็นพ้องกันที่จะเร่งดำเนินการ
ทำเอาบรรดาชาวบ้านร้านตลาด เกิดอาการ "ปวดเฮด" ไปตามๆ กัน
สำหรับการจับขั้วผสม 6 สายพันธุ์ จัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ
โดยใช้กลยุทธ์ "รัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ" ที่รวบรวมทุกพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคคู่แข่งคู่แค้นตลอดกาล ให้เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวอย่างโดดเดี่ยวและเดียวดาย ตามบัญชาของ "นายใหญ่" เจ้าของพรรคตัวจริงเสียงจริง ที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลหนีหนาวในเมืองผู้ดี มาเกาะติดผลคะแนนเลือกตั้งไม่ไกลจากประเทศไทยเท่าใดนัก
กลยุทธ์ที่ "นายใหญ่" คิดค้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ "รัฐบาลสมัคร" มีจำนวนเสียงสนับสนุนมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ การลงมติในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และการผลักดัน นโยบายประชานิยม ในเวอร์ชั่นใหม่ๆ เพื่อมัดใจชาวรากแก้วทั้งหลาย
ประเด็นนี้ "นายใหญ่" จึงสั่งลุยแจกเก้าอี้รัฐมนตรีกับพรรคเอสเอ็มอี ทั้ง 5 พรรคอย่างไม่คิดเล็กคิดน้อย พร้อมกำชับขุนพลสายจันทร์ส่องหล้าคนสนิท ว่าเขาขออะไรมาก็ให้เขาไป ขอเพียงให้มาร่วมแจมจัดตั้งรัฐบาลด้วยก็เป็นพอ
ส่งผลให้ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ฝุ่นตลบ เริ่มกลับมาอีกครั้ง โพยจองเก้าอี้กระทรวงต่างๆ ถูกส่งเข้ามายังตึกไอเอฟซีทีหลายใบ บางโพยขอไม่มากก็ให้กันไปถือว่าเป็นคนกันเอง
บางโพยแม้น้องขอมาแต่พี่ไม่ให้ ก็ต้องมีนำกลับไปอัพเดทให้เหมาะสมตามเนื้อผ้า
แต่กระทรวงสำคัญ ที่พรรคพลังประชาชนจะไม่ยินยอมให้พรรคใดมาหยิบชิ้นปลามันไปง่ายๆ คือ กระทรวงด้านเศรษฐกิจ ที่แม่บ้านพรรคอย่าง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แสดงบทบาทเป็นจงอางหวงไข่ ประกาศว่าพรรคพลังประชาชนจะขอดูแลเอง
เรื่องนี้บิ๊กวงในขาเม้าธ์คอนเฟิร์มกันว่า ผู้ที่จะนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่จะควบคุมกระทรวงเศรษฐกิจ เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "โดเรมิ่ง" มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ว่าที่ ส.ส.สัดส่วนกลุ่มที่ 6 อย่างแน่นอน
และที่สำคัญว่าที่รองนายกฯคนนี้ ยังมีส่วนช่วยสกรีนผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้วย ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย และเลขาฯรัฐมนตรีนั้น จะพิจารณาจาก "คนกันเอง" ที่อยู่ในทีมเศรษฐกิจก่อน
จากนี้ไปห้ามกะพริบตาจะเห็นโฉมหน้า ครม.ใหม่กันในเร็วๆ นี้แน่ ถ้าไม่มีพลิกล็อค!!!