มาอีกแล้วครับทั่น.... คราวนี้ คงไม่พูดพร่ำทำเพลงอะไรให้ยืดยาว กับภาคต่อของ "สนธิ ลิ้มทองกุล คนที่คุณไม่รู้จัก" ที่ผมคัดลอกมาจากหนังสือ "อีกด้านหนึ่งของสนธิ เล่มที่ 1" ที่ผู้เขียนได้เปลือยความเป็นตัวตนของชื่อสนธิ ลิ้มทองกุล
คนที่ไม่รู้จักพอ แต่กลับชอบ "อ้างฟ้า อิงแผ่นดิน" ไม่เคยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนต้องล้มลุกคลุกคลาน กับความอหังการ ในความพยายามกลับมายิ่งใหญ่ในแวดวงสื่อสารมวลชน
วันนี้ ผมจะนำเสนอในตอน "แค้นสั่งฟ้า" อันเป็นตอนที่นำไปสู่ความคับแค้นใจ รัฐบาลไทยรักไทย และนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ร่วมด้วยช่วยเหลือ ปล่อยให้เขาต้องเผชิญกับความโหดร้ายของปัญหาหนี้สินจำนวนมหาศาล จนถึงกับจะทำให้ประชาชนและประเทศชาติ ต้องตกอยู่ในสภาวะตึงเครียด
เอาหล่ะครับเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา มาเริ่มกันเลยดีกว่า เพราะตอนนี้ เนื้อหาสาระค่อนข้างจะยาว ผมกลัว มิตรรักแฟนนานุแฟน Hi-thaksin จะเบื่อซะก่อน
///////////////////////////////////
แค้นสั่งฟ้า
สิทธิเสรีภาพ เป็นประเด็นการเมืองที่มีการพูดจากกันมากทุกสมัยรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองก็ตาม ประเด็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ข่มขู่ คุกคามสื่อมวลชน มักจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการรบพุ่งทางการเมือง ที่ได้ผลดี เนื่องจากสื่อมวลชนจะสนใจนำเสนอประเด็นนี้เป็นกรณีพิเศษ
ขณะนั่งจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ในสตูดิโอช่อง 9 อ.ส.ม.ท. สนธิ มีมุมมองในเรื่องอำนาจรัฐกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน แปลกแยกจากปัจจุบันชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า ยังมิพักต้องพูดถึงว่ามุมมองของสนธิ ในวันนั้นแตกต่างจากเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงสื่อสารมวลชนเพียงใด
ในวันนั้น สนธิ ลิ้มทองกุล เชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจ จึงกล่าวถึงปรัชญาการทำ "สื่อ" ในแบบของสนธิ ว่า สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ยังคงต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาล และหากผู้ดำเนินรายการคนใด ถูกถอดรายการ ก็อย่าโวยวาย เพราะไม่มีรัฐบาลใด ที่จะยินดีให้มีใครมาด่ารัฐบาล ในวิทยุ หรือโทรทัศน์ ที่รัฐบาลกำกับดูแลอยู่
มีประโยคหนึ่งที่สนธิ เคยกล่าวในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์เมื่อครั้งยังชื่นมื่นกับรัฐบาลว่า "...ในที่สุดแล้วคนไทยยังเข้าใจผิด สื่อมวลชนก็ยังเข้าใจผิด มันไม่มีสื่อเสรีในประเทศ มันไม่มีสื่อเสรีในโลกนี้ ไปหามาให้ผมดู สื่อที่ไหนมีเสรีบ้าง ไม่มี มันมีแต่สื่อของทุน แล้วสื่อนี้ก็คือต้องรับใช้ทุน..."
แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงของกรอบคิด หรือกระบวนทัศน์ของสนธิ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่อาจจะอธิบายเป็นอื่นได้ นอกจากว่าเป็นผลมาจากการถูกถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกจากช่อง 9 อ.ส.ม.ท. นั่นเอง และ สนธิ ไม่เพียงแค่โวยวายเหมือนผู้ดำเนินรายการคนอื่นๆ เท่านั้น แต่เขายังคิดสะสางความแค้นครั้งนี้ด้วยการล้มรัฐบาล ปลุกระดมมวลชนมาขับไล่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการชดเชยให้กับตัวเองที่ถูกถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ออกจากช่อง 9
ด้วยปรัชญาการทำธุรกิจสื่อสารมวลชนของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่กำหนดบทบาทและหน้าที่อันชัดเจนของสื่อว่า "ต้องรับใช้ทุน" และสื่อต้องทำหน้าที่แสวงหารายได้มาให้คุ้มค่ากับการลงทุน สื่อจึงจะยืนอยู่ได้ สื่อในทัศนะของสนธิ จึงเสมอเพียงสินค้าทั่วๆ ไป เท่านั้น มิได้มีความหมายพิเศษดังเช่นสื่อในมุมมองของนักวิชาการ และนักวิชาชีพคนอื่นๆ
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ จึงไม่แปลกอะไรกับการปรากฏอยู่บนเวบไซต์ manager.co.th ด้วยคอลัมน์ ซ้อเจ็ด อย่างยาวนาน เพราะเวบไซต์ manager.co.th ก็มีหน้าที่ต้องรับใช้ทุน และแสวงหาประโยชน์ หารายได้มาเลี้ยงดูตัวเอง และซ้อเจ็ด ก็ต้องทำหน้าที่รับใช้ทุน เช่นเดียวกัน ประจวบเหมาะกับ ซ้อเจ็ด นี่แหละที่เป็นนางกวักเรียกแฟนๆ เข้ามาเยี่ยมชมเวบไซต์ manager.co.th อย่างล้นหลาม จึงเป็นจุดขายที่สำคัญของเวบไซต์ นั่นหมายความว่าสปอนเซอร์ส่วนหนี่ง เข้ามาถึงสนธิ ก็เพราะซ้อเจ็ดนี่เอง
แน่นอนว่า ทุนที่กำลังอ้างถึงอยู่ในขณะนี้ ก็คือ "ผู้ลงทุน" นั่งเอง ซึ่งโดยนิตินัยแล้ว สื่อในเครือผู้จัดการ ก็ย่อมต้องรับใช้บริษัท ไทยเดย์ดอมคอม และ เดอะแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป แต่ในทางพฤตินัยแล้ว พูดกันให้ชัดถ้อยชัดคำและชัดเจนในเจตนารมณ์ ก็ต้องบอกว่าสื่อในเครือผู้จัดการ ก็ต้องมีหน้าที่รับใช้ สนธิ ลิ้มทองกุล ในฐานะผู้ลงทุน ในฐานะผู้ที่ไปกู้เงินมาหลายร้อยหลายพันล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจชนิดนี้
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรอีกเช่นกัน หากในช่วงที่ผ่านมา เราจะได้เห็นการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวของข่าวสาร ที่ปรากฏอยู่บนสื่อในเครือผู้จัดการทุกเล่ม ทุกคลื่น และทุกรายการ ที่นำเสนอต่อสาธารณะ
อักทั้งไม่จำเป็นต้องคาดเดาให้ยุ่งยากว่า การนำเสนอข้อมูลด้านเดียวของสื่อเครือผู้จัดการ เป็นข้อมูลด้านใด และมีเจตนารมณ์ชนิดใด จึงต้องทำเช่นนี้
ก็แม้แต่คำเตือนที่ทรงคุณค่ายิ่งของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี(ในขณะนั้น) และสะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยขององคมนตรี ซึ่งก็คือผู้แทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปลุกปั่นกระแสของสนธิ ที่ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือ ตามสำนวนของเปลว สีเงิน แห่งไทยโพสต์ ที่สะบัดปากกาใส่ว่า "กำลังโหนกำแพงสู่เป้าหวังของตัวเอง" ซึ่งได้รับการนำเสนอเผยแพร่ทางสื่อสารมวลชนทุกประเภท ทุกรายการ และทุกสังกัด กลับไม่ได้รับการนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบจากสนธิ และสื่อในเครือผู้จัดการ แม้แต่คำเดียว
"คงไม่ใช่กองทัพอย่างเดียว ในส่วนที่เป็นองคมนตรีเห็นว่า มีการอ้างอิงสถาบันจากหลายๆฝ่าย เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมไม่สมควร
เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันสูงสุด ที่ไม่ควรอ้างอิง และเกี่ยวข้องกับทางการเมือง เมื่อเป็นสถาบันที่เรายกย่อง ศรัทธา เป็นสถาบันที่เราเคารพนับถือ ก็ไม่วครนำมาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง
การเมืองก็ควรจะแก้ด้วยการเมือง"
ข้อความที่เต็มไปด้วยความไม่สบายใจและความห่วงใยจากองคมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เช่นนี้ ไม่มีสาระที่สื่ออย่างสนธิ และสื่อเครือผู้จัดการจะนำเสนอหรืออย่างไร คงอาจจะเป็นเพราะ ขณะนี้ สื่อในเครือผู้จัดการ สื่อในสังกัดสนธิ ลิ้มทองกุล มิได้ทำหน้าที่ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงใดๆ หากแต่มีหน้าที่ต้องรับใช้ทุน รับใช้เงินที่สนธินำมาฟาดหัวและจ่ายแจก รับใช้สนธิ ที่กำลังมีความพยาบาท อาดมาดร้ายต่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ทำงานตามที่สนธิ ต้องการ
ถามว่าระหว่างพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี พูด กับสนธิ ลิ้มทองกุลพูด
ด้วยหัวใจของสื่อมืออาชีพ หรือสื่อวิชาชีพที่ไม่มีจิตเจตนาซ่อนเร้น ควรจะรายงานคำพูดของใครก่อน ด้วยเหตุใด และคำพูดของใครมีคุณค่าสำหรับประชาชนมากกว่ากัน
ถามว่าระหว่างคำพูดที่เต็มไปด้วยความห่วงใยต่อบ้านเมือง และสถาบันกษัตริย์ขององคมนตรี กับคำพูดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความแค้น การปลุกระดม เพื่อประโยชน์แห่งธุรกิจของตนเอง โดยอ้างสถาบันกษัตริย์ และประเทศชาติบังหน้า ของนักธุรกิจคนหนึ่ง ที่มุ่งแสวงหากำไรจากการลงทุนเป็นลำดับแรกของความคิด
ด้วยหัวใจของสื่อมืออาชีพ หรือสื่อวิชาชีพที่ไม่มีจิตเจตนาซ่อนเร้น ควรจะนำเสนอคำพูดของใครให้ประชาชนได้รับทราบก่อน และคำพูดของใครมีน้ำหนัก มีสาระมากกว่ากัน และคำพูดของใครมีคุณค่าแก่ประเทศชาติ และภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มากกว่ากัน
เหตุที่ต้องเป็นเช่นนี้ ก็เพียงเพราะว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ไม่ใช่ทุน ที่สื่อเครือผู้จัดการต้องรับใช้ สนธิ ต่างหากเล่าคือทุน ที่สื่อเครือผู้จัดการต้องรับใช้
หรือสนธิ ลิ้มทองกุลจะถามพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อีกสักคนไหมว่า
"ใครจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ มากกว่ากัน"
เพราะสื่อในเครือผู้จัดการไม่ได้ทำหน้าที่ที่แท้จริงของสื่อมวลชนแล้ว หากแต่ทำหน้าที่สื่อที่ต้องรับใช้สนธิ เพียงผู้เดียว เพราะสนธิ คือ "ทุน" ของเครือผู้จัดการ
เมื่อสนธิ คือ "ทุน" ของเครือผู้จัดการแล้ว จึงไม่แปลกประหลาดใดเลยที่สื่อเครือผู้จัดการต้องขวนขวายทำหน้าที่รับใช้ และเสาะแสวงหากำไรให้กับสนธิไม่ว่าจะเป็นกำไรทางตรง กำไรทางอ้อม กำไรทางธุรกิจ กำไรทางสังคม และที่น่ากลัวยิ่งก็คือ เป็นการเสาะแสวงหากำไรมาตอบแทนการลงทุน โดยไม่เลือกวิธีการ
บิดเบือน ปกปิด ปลุกระดม ฉวยโอกาสขายเสื้อ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" ทำได้ทั้งนั้น เพื่อตอบแทนและรับใช้ "ทุน"
แรงจูงใจที่ทำให้นักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ ต้องฉีกทฤษฎี ฉีกตำราสื่อสารมวลชนขั้นพื้นฐาน ที่ว่าด้วยการนำเสนอข้อมูลสองด้าน การนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน การนำเสนอข้อมูลที่มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนรวม เป็นสิ่งที่พึงกระทำก่อนการนำเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน และไม่ควรนำเสนอข้อมูลด้านเดียว แน่นอนว่าต้องยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ หากไม่เป็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่ ก็คงเป็นเพราะผิดหวังอย่างยิ่งใหญ่
ก่อนหน้าที่จะเกิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร การทำหน้าที่ของสนธิ ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ หลายครั้งหลายตอน ซึ่งในห้วงเวลานั้น สื่อแบบสนธิ ก็เคยรับใช้พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลมาก่อน เพราะเห็นว่ารัฐบาลเป็นแหล่งทุนที่จะเสาะแสวงหาเงินไปใส่ให้กับเครือผู้จัดการ เป็นทั้งทุนที่ให้ทั้งโอกาสในการทำมาหากิน เป็นทั้งทุนที่ทำให้สื่อแบบสนธิมีเครดิตขึ้นมาอีกครั้งในการชุบชีวิตเครือผู้จัดการ
จวบจนกระทั่งรัฐบาล หยุดการสนับสนุนสื่อเครือผู้จัดการนั่นเอง สื่อแบบสนธิจึงเห็นว่าหมดหน้าที่ต้องรับใช้ และทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามคือ โจมตี แว้งกัดอย่างรุนแรงและหนักหน่วง อันเนื่องเพราะผิดหวังอย่างรุนแรงกับรัฐบาล นั่นเอง
และความผิดหวังที่เกิดขึ้นนี้เอง ที่ทำให้สนธิ ต้องเปิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร เพื่อชำระ "แค้นสั่งฟ้า" ที่อยู่ในใจของตัวเอง เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่การชำระแค้นครั้งแรก มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ เป็นคู่แค้นที่ถูกชำระไปเรียบร้อยแล้ว
ย้อนรอยเส้นทางการเดินกลับคืนสู่ประเทศไทยของสนธิ รอบนี้ พบว่าการรับใช้ทุนของสื่อเครือผู้จัดการยุคใหม่ หลังสงครามเศรษฐกิจปี 2540 สงบลงนั้น ปรากฏชัดเจนอย่างยิ่งว่ามีการเลือกข้างมาแต่ต้น ในการรับใช้ทุนการเมืองกลุ่มหนึ่งโจมตีใส่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้นจนเสียศูนย์ และเป็นกำลังสนับสนุนที่สำคัญของกลุ่มทุนการเมืองพรรคไทยรักไทย ซึ่งฉายภาพชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่งภายหลังการเลือกตั้งปี 2544 สิ้นสุดลง ด้วยชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรคไทยรักไทย ที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ และทุกพรรคการเมือง
หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ หลุดจากวงโคจรของอำนาจ และพรรคไทยรักไทยได้เข้ามาสวมต่อการใช้อำนาจรัฐแทน สถานการณ์ในขณะนั้น พรรคไทยรักไทยยิ่งใหญ่เกรียงไกรอย่างมาก ในแวดวงการเมือง ในขณะที่ สนธิ ลิ้มทองกุล ก็เตรียมตัวที่จะกลับสู่ยุคความยิ่งใหญ่ในแวดวงธุรกิจสื่อสารมวลชนอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ผู้บริหารคนสำคัญของรัฐบาล ล้วนแต่ผูกพันกับสนธิ มาช้านาน ทั้งแบบเพื่อนฝูง พรรคพวก และลูกจ้าง
"น้ำขึ้นให้รีบตัก" เป็นภาษิตที่นำมาใช้ได้ดีกับสนธิ ในห้วงเวลาที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยครองอำนาจรัฐใน 4 ปีแรก สื่อในเครือผู้จัดการ และไทยเดย์ดอทคอม เร่งทยอยเปิดตัวเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน นิตยสาร สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ และ สถานีข่าวโทรทัศน์ 11 News 1 ซึ่งสื่อในเครือผู้จัดการทุกเล่ม ทุกรายการ ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากหน่วยงานรัฐ ทั้งรัฐวิสาหกิจ และราชการ ชนิดที่สื่อสำนักอื่นๆ ได้แต่มองตาปริบๆ พร้อมกับทำปากขมุบขมิบด้วยความอิจฉา
การอุดหนุนสื่อในเครือผู้จัดการของหน่วยงานรัฐ จนแทบจะไม่มีพื้นที่ และเวลาให้ออกโฆษณา ส่งผลให้สนธิ ตกเป็นเป้าของสมาชิกวุฒิสภา เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่าการสนับสนุนอย่างมากมายและคับคั่ง เช่นนี้ ไม่ใช่ภาวะปกติ หากแต่ต้องมี "คำสั่ง" ให้หน่วยงานต่างๆ สนับสนุนและอุดหนุนเป็นพิเศษแก่สื่อเครือผู้จัดการ ที่อยู่ภายใต้การบัญชาการของสนธิ ลิ้มทองกุล
แน่นอนว่า หลักฐาน "คำสั่ง" ย่อมหาไม่ได้ และจะมี "คำสั่ง" จริงหรือไม่ก็ไม่มีใครทราบได้ หากแต่สิ่งที่มีแน่นอน และปรากฏขึ้นในภายหลังก็คือ คำบอกเล่าของผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ที่ตกเป็นจำเลยของ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ก็คือ "คำแอบอ้าง" ที่มีไปถึงรัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่ง
รัฐวิสาหกิจเกือบทั้งหมดในกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โรงงานยาสูบ การบินไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย ฯลฯ ต่างทยอยเข้าคิวทำสัญญาซื้อพื้นที่ และเวลาโฆษณากับเครือผู้จัดการ เป็นเงินรวมกันแล้วหลายร้อยล้านบาท และแน่นอนว่าความพร้อมใจกับซื้อสื่อโฆษณาแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้
จากการตรวจสอบห้วงเวลา "น้ำขึ้น" นั้น สนธิ ได้ตักเข้าไปใส่ในเครือผู้จัดการแบบไม่หยุดหย่อน และไม่แบ่งให้ใครได้ตักบ้างเลย พบว่ามีรายงานการซื้อขายโฆษณาที่น่าสนใจอยู่ 2 รายการ(เท่าที่ตรวจสอบพบ) คือ
1. บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ซื้อโฆษณาสื่อเครือผู้จัดการ ตั้งแต่ปี 2545-2548 รวมทั้งสิ้น 54,637,987 ล้านบาท
นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ทำสัญญาซื้อขายโฆษณากับ 11 News 1 อีก 60 ล้านบาท แต่เนื่องจาก 11 News 1 ต้องมีอันเป็นไป ถูกสั่งระงับการออกอากาศเสียก่อน ส่งผลให้สัญญาการซื้อขายเวลาระหว่างปตท. กับ 11 News 1 ต้องสิ้นสุดลงไปด้วย ในขณะที่เพ่งจ่ายเงินไปเพียง 10 ล้านบาท
การซื้อสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องสงสัย เพราะเป็นสื่อที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายกันมานานแล้ว และปตท.ก็เคยซื้ออยู่เป็นประจำ แต่กับการทำสัญญาซื้อสื่อโฆษณาใน 11 News 1 ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ และสนธิ ก็เป็นเพียงผู้รับจ้างทำข่าวให้กับบริษัท RNT เจ้าของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 11/1 ตัวจริง นั้นเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ และต้องสงสัย
การทำสัญญาซื้อสื่อโฆษณาจำนวน 60 ล้านบาท ไม่ใช่เงินจำนวนน้อยนิด สำหรับบริษัทที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ เหตุใดจึงมีการใช้วิจารณญาณ หรือใช้การพิจารณาบนพื้นฐานข้อมูลใด ว่าสมควรจะจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม 11/1 มากถึงเพียงนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า 11/1 ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และ 11 News 1 ของสนธิ จะได้ออกอากาศนานเพียงใด เพราะสนธิ เป็นเพียงผู้รับจ้างทำข่าวเท่านั้น และเมื่อสนธิ ไม่ใช่เจ้าของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ทำไป ปตท.จึงต้องไปทำสัญญาซื้อสื่อโฆษณาหรือในนามไทยเดย์ดอทคอม
คำถามเหล่านี้ มีการซักไซ้ไล่เลียงกันในปตท. ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถตอบได้ชัดเจน ทุกคนทราบแต่ว่าการจ่ายเงินจำนวนมากขนาดนี้ ต้องมี "ผู้ใหญ่" สั่งมา แต่เป็น "ผู้ใหญ่" คนใด ไม่มีใครทราบ และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบว่า "ผู้ใหญ่" คนนั้นคือใคร หน้าตาเป็นอย่างไร เพราะ "ผู้ใหญ่" นั้นมาสั่งในรูปของคำบอกเล่า คำอ้าง ไม่ได้มาด้วยตัวเอง ไม่มีแม้กระทั่ง "เสียง" แต่ความน่าเชื่อถือของผู้อ้างมีสูงมาก จนทำให้มีการทำสัญญาซื้อสื่อโฆษณา 60 ล้านบาทเกิดขึ้น
การทำสัญญาครั้งนั้น มีมูลค่า 60 ล้านบาท แต่สนธิ ในนามของไทยเดย์ดอทคอม หรือ 11 News 1 ได้รับเงินไปเพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจาก 11 News 1 ประสบปัญหาสะดุดขาตัวเอง จนต้องปิดตัวลง
แม้จะเคยให้การสนับสนุนมากมายขนาดนี้ แต่ปตท. ก็ไม่เคยได้รับสิทธิเศษใดๆ จากสนธิ และเครือผู้จัดการสักครั้งเดียว หากจะมีก็แต่ได้รับเชิญขึ้นเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ค่อนข้างบ่อยครั้งในฐานะจำเลยของสังคม ในฐานะบริษัทมหาชนที่หลอกต้มคนไทย ให้ซื้อน้ำมันแพง หลอกต้มคนไทยผู้ถือหุ้นรายย่อย ให้เสียประโยชน์ หลอกต้มคนไทยให้เชื่อมั่นการบริหารงานเป็นธรรมาภิบาล และสำคัญที่สุดก็คือ การกล่าวประณามปตท. ว่าเป็นบริษัทที่เห็นแก่กำไร ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน และเห็นว่ากำไรที่เกิดจากการบริหารของปตท. เป็นสิ่งที่ผิดพลาด และเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ปตท. เอาเปรียบประชาชน รัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่จริงใจต่อประชาชน
กล่าวโดยสรุป ก็คือ การมกำไรจากการบริหารงานของปตท. คือ ความผิดพลาดของปตท. ในทัศนะของนักธุรกิจแบบสนธิ
ความผิดพลาดของปตท. ในสายตาของสนธิ และสื่อเครือผู้จัดการ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ปตท. ซื้อสื่อโฆษณาในเครือผู้จัดการน้อยลงกว่าเดิมนั่นเอง
เหตุที่ปตท. ลดพื้นที่โฆษณาในเครือผู้จัดการลง ก็เพราะรับไม่ได้จากการที่ถูกนั่งด่าอยู่ทุกวัน ยิ่งซื้อโฆษณาน้อย ก็ยิ่งถูกด่ามาก เพราะไปทำให้เขาผิดหวังมากขึ้นๆ
เหตุที่ปตท.ถูกด่า ถูกประณามบนประเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ก็มีเหตุมาจาก เรื่องการตัดงบซื้อสื่อโฆษณาเครือผู้จัดการเท่านั้นเอง
เป็นเหตุเดียวกับที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนายกฯที่ดีที่สุด เท่าที่ประเทศไทยเคยมีมาของสนธิ ถูกชี้หน้ากล่าวประณามว่าเป็นนายกฯที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา เพียงเพราะไม่ช่วยเหลือ ไม่ใช้อำนาจ "สั่งการ" ให้ 11 News 1 กลับคืนขึ้นไปอยู่บน UBC 9 อีกครั้งหนึ่ง
ตัวอย่างรายที่ 2 ของการสนับสนุนสนธิ และเครือผู้จัดการ ก็คือ...
ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ซื้อโฆษณาสื่อเครือผู้จัดการ เฉพาะรายการโทรทัศน์ 2 รายการ คือ เมืองไทยรายสัปดาห์ กับรายการ พบคนพบธรรม ซึ่งออกอากาศทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท.ทั้ง 2 รายการ ตั้งแต่ปี 2544-2548 ธนาคารกรุงไทย ใช้เงินซื้อสื่อในเครือผู้จัดการ มากถึง 276 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 77.04 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 6.42 ล้านบาท
ยังไม่นับถึงพื้นที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน รวมไปถึงเวบไซต์ manager.co.th ที่ลงกันอย่างถี่ยิบ ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ที่กำหนดให้ เดอะแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ป จำกัด ชำระหนี้ด้วยการใช้หน้าหนังสือพิมพ์แทนเงินสด ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิพิเศษของลูกหนี้ที่ไม่ธรรมดาอย่างสนธิ และเดอะแมเนเจอร์มีเดียปรุ๊ป ที่วิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีความสนิทสนมแนบแน่น และช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอดกับสนธิ เอื้อเฟื้อจัดให้ชนิดที่ลูกหนี้รายอื่น ได้แต่มอง แต่ไม่มีความสามารถที่จะทำตาม
ความเป็น "ลูกหนี้รายพิเศษ" ที่ได้รับเงื่อนไขการชำระหนี้ "พิเศษ" แบบนี้เป็นเหตุที่ทำให้ สนธิ กับวิโรจน์ มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นลึกซึ้งยิ่งนัก จนถึงขนาดที่ว่า เมื่อวันที่วิโรจน์ ไม่ได้รับการต่ออายุให้นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด วาระที่ 2 คนที่เจ็บแค้นยิ่งกว่าวิโรจน์เสียอีก ก็คือ สนธิ ลิ้มทองกุล
นับแต่นั้นมา ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ถูกขึ้นบัญชีแค้นรอชำระของสนธิ เพิ่มขึ้นอีก 1 ชื่อ ด้วยเหตุที่สนธิ แน่ใจว่า ม.ร.ว.ปรีดียาธร คือคีย์แมนคนสำคัญในการขวางทางการนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย วาระที่ 2 ของวิโรจน์ ซึ่งนั่นหมายความว่า ความพิเศษที่สนธิ เคยได้รับ ย่อมไม่มีความแน่นอนอีกต่อไป ทั้งในฐานะลูกหนี้ และในฐานะคู่ค้า
ในฐานะลูกหนี้ ที่ไม่ต้องชดใช้หนี้ด้วยเงินสด แต่สามารถชดใช้ด้วยกระดาษหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งตีราคากันไว้ที่หน้าละ 286,600 บาท เดือนละ 12 หน้า สำหรับผู้จัดการรายวัน ก็คิดเป็นเงิน 3.432 ล้านบาท หากคิดเป็นปี ก็เท่ากับ 41.184 ล้านบาท 10 ปี ผ่านไป ก็เท่ากับ 410.184 ล้านบาท
หากใช้วิธีการกันแบบนี้ ไม่นานนัก หนี้จำนวนมหาศาลของผู้จัดการ ก็จะหมดลงได้ ยังพอเห็นแสงเทียนที่ปลายอุโมงค์
นี่ยังไม่นับสื่ออื่นๆ อีก เช่นผู้จัดการรายสัปดาห์ ผู้จัดการรายเดือน และเวบไซต์ ที่ก็มีเงื่อนไขการชดใช้หนี้ด้วยกระดาษ เช่นเดียวกัน
ดังนั้นหากจะมีใครสักคนที่เสกกระดาษเป็นเงิน ได้จริงๆ คนคนนั้นย่อมชื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล
ด้วยเงื่อนไขพิเศษนี้เอง ที่ทำให้สนธิ เป็นเดือดเป็นร้อนแทนวิโรจน์ นวลแข และโกรธแค้นผู้ว่าแบงก์ชาติ โกรธแค้นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สนับสนุนคนที่สนธิสนับสนุน
การหวนคืนสู่วงการธุรกิจสื่อในประเทศของสนธิ ในรอบนี้ สนธิ ในฐานะผู้ประกอบการที่มี "หนี้เน่า" จำนวนมากที่สุดในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าผู้ประกอบการายอื่นๆ และลูกหนี้รายอื่นๆ ด้วยแต้มต่อ ที่เรียกว่าการแฮร์คัทหนี้หรือการลดหนี้ที่ตัวเองก่อไว้มากกว่า 6,000 ล้านบาท
จำนวนหนี้ 6,000 ล้านบาท ที่สนธิได้รับประโยชน์ไปนี้ เป็นเงินที่รัฐบาลต้องใช้เงินภาษีของประชาชน มาชดใช้แทน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ร่วมก่อหนี้ และไม่ได้รับประโยชน์จากเงิน 6,000 ล้านบาททั้งขาที่ก่อหนี้ และขาชดใช้หนี้ แม้แต่สลึงเดียว การแฮร์คัทหนี้ หรือลดหนี้ครั้งนั้น เป็นที่มาของข้อกล่าวหาว่า สนธิ ได้รับการปฏิบัติจากธนาคารเจ้าหนี้ซึ่งเป็นธนาคารรัฐบาล ในมาตรฐานที่พิเศษกว่าลูกหนี้ทุกราย
และ...ธนาคารรัฐบาลที่เป็นผู้นำในการแฮคัทหนี้ จำนวนนี้ให้แก่สนธิ ก็ไม่ใช่ธนาคารใดไหนเลย ก็คือ ธนาคารกรุงไทย ที่อยู่ภายใต้การกำกับของวิโรจน์ นวลแข นั่นเอง
การได้รับแต้มต่อจำนวนนี้ ทำให้สนธิ มีพลังอย่างยิ่งที่ทำให้เขากลับคืนสู่ธุรกิจสื่อสารมวลชนอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการยืนยันถึงความเป็นคนพิเศษของเขาที่ยังหาประโยชน์ได้ในประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถหาได้จากสนามธุรกิจใดๆ ในโลกนี้
นอกจากนี้ ผู้คนบริวารแวดล้อมของเขาในอดีต ยังได้ดิบได้ดี ไปกุมอำนาจสำคัญด้วยเศรษฐกิจในรัฐบาลไว้เกือบหมด จึงเป็นแต้มต่ออีกชั้นหนึ่งที่ได้เปรียบทุกๆ คนบนเวทีการแข่งขันรอบใหม่นี้
การกลับมารอบใหม่ครั้งนี้ สนธิพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจโทรทัศน์ เป็นสำคัญ เขาวางยุทธศาสตร์ให้สื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อเพื่อการชดใช้หนี้และสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อเพื่อการหารายได้ เนื่องจากเวลาโฆษณาบนสถานีโทรทัศน์ มีราคาสูงกว่าราคากระดาษมาก
เห็นได้จากการที่ธนาคารกรุงไทย ซื้อเวลาโฆษณารายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ด้วยงบประมาณ ปีละ 38.52 ล้านบาท หากทอนออกเป็น 52 สัปดาห์ ก็เท่ากับว่ารายการเมืองไทยรายสัปดาห์ มีรายได้จากธนาคารกรุงไทย เพียงรายเดียวมากถึง 740,769 บาท ต่อการจัดรายการ 1 ครั้ง ทั้งๆ ที่เวลาจัดรายการเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
นี่ยังไม่นับรวมถึงรายได้จากผู้สนับสนุนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ รายอื่นๆ อีก
ไม่แปลกเลย หากสนธิ จะคิดต่อยอดในฐานะนักธุรกิจผู้มากวิสัยทัศน์ว่า การมีเวลาเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เขายังทำรายได้มากมายขนาดนี้ หากแป็นเข้จองสถานีโทรทัศน์เสียเอง จะมีรายได้มากมายขนาดไหน แต่เมื่อยังไม่ได้เป็นเจ้าของสถานี ก็ขอให้ตัวเองได้มีโอกาสออก "จอ" ไว้ก่อน เพื่อรักษาเรตติ้งของตัวเอง จนถึงวันที่พร้อมตั้งสถานีโทรทัศน์ของตัวเอง ก็น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับสนธิ ในสถานการณ์ยามนี้
หากมองย้อนกลับไปในวันที่ยังมีรายการเมืองไทยรายวัน ซึ่งจัดกันสัปดาห์ละ 5 วัน แล้วก็จะยิ่งเห็นถึงเม็ดเนจำนวนมหาศาล ที่ออกจากกระเป๋ารัฐวิสาหกิจอย่างธนาคารกรุงไทย และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่มีน้ำใจให้สนธิ ในยามนั้นหลั่งไหลเข้าไปในกระเป๋าสนธิ ว่ามากน้อยเพียงใด คิดกันง่ายๆ ก็ต้องคูณ 5 เข้าไปของรายได้ที่ได้จากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์
การปรับผังรายการของช่อง 9 และเปลี่ยนจากเมืองไทยรายวัน เป็นเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นการหย่อนเมล็ดพันธุ์ความแค้นไว้ในใจของสนธิ โดยที่คนใน อ.ส.ม.ท.ไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย เพราะเป็นการทำงานตามหน้าที่ และเพื่อทำเรตติง เพื่อที่จะปรับแต่งตัวเองสำหรับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่สำหรับสนธิ เขาเก็บคิดเรื่อยมาว่าเป็นการกลั่นแกล้ง และตัดรายได้ แต่ไม่ได้แสดงออกมาให้ใครเห็น จนถึงวันที่เมืองไทยรายสัปดาห์ถูกถอดออกจากผังรายการของช่อง 9 เพราะความไม่เหมาะสมของเนื้อหาที่สนธิ นำเสนอนั่นเอง จึงทำให้ทุกคนได้เห็นอาการโกรธแค้นของสนธิ ที่ต้องสิ้นสุดหมดหนทางทำมาหารายได้ในช่อง 9 อีกต่อไป
11 News 1 ก็เดินหน้าต่อไม่ได้ เมืองไทยรายสัปดาห์ ก็ถูกถอดออกจากช่อง 9 ธุรกิจโทรทัศน์ที่ตั้งใจหวังไว้ ต้องล่มสลายลงทันที เส้นทางการหารายได้เพื่อความมั่งคั่งให้กับตนเอง ที่เคยเปิดโล่งกลายเป็นตีบตันจงถึงอุดตันในที่สุด ทำให้สนธิ เก็บอาการไว้ไม่อยู่
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมสนธิ จึงต้องเดือดร้อน ต้องดิ้นรน ต้องโกรธแค้น เมื่อถูกตัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เพราะรายได้สัปดาห์ละมากกว่า 1 ล้านบาท(ประมาณจากการขายโฆษณาได้ 10 นาที ต่อการจัดรายการ 1 ชั่วโมง) ต้องมลายหายไปในพริบตา และตัดสินใจเปิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรขึ้น โดยอาศัยเสื้อ "เราจะสู้เพื่อในหลวง" มาเป็นเครื่องหมายการค้า ของตนเอง และหารายได้จากการขายเสื้อ ขาย CD ขายหนังสือเมืองไทยรายสัปดาห์ แทน
2 ตัวอย่างที่นำเนอมานี้ คงพอจะทำให้เห็นภาพแล้วว่า สนธิ ได้รับสิทธิพิเศษเพียงใดจากการทำธุรกิจโทรทัศน์ และในวันที่เขาได้รับสิทธิพิเศษ เขาปกป้องรัฐบาลอย่างไร แต่ในวันที่สิทธิพิเศษที่เคยได้ถูกตัด เขามีอาการเช่นไร และแสดงอาการอย่างไรต่อ "ทุน" ที่เขาเคยรับใช้ แ ละแสวงหาประโยชน์จากการเป็น "ผู้รับใช้" ในอดีต เมื่อ "ทุน" เหล่านั้นไม่เห็นเขาอยู่ในสายตา
วิเคราะห์กันว่า หากสนธิ ไม่สะดุดขาตัวเองหกล้มเสียก่อน หาก 11 News 1 สามารถเดิหน้าไปได้ตามที่สนธิวางแผนไว้ โอกาสที่เขาจะกลับมาเป็นโมกุลแห่งวงการสื่ออีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นเช่นที่คาดคิดไว้ สถานการณ์ของสนธิในวันนี้จึงยากลำบากมาก เพราะโอกาสที่จะล้างหนี้เก่า ก็ทำไม่ได้ โอกาสที่จะหารายได้ใหม่ ก็หดหายไป
หากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ได้รับผลกระทบเป็นสนธิ ลิ้มทองกุล เหมือนเช่นในปี 2540 ก็คงไม่ก่อให้เกิดปัญหามากนัก แต่เนื่องจากสนธิ ได้ส่งมอบภารกิจในการสร้างผู้จัดการยุคใหม่ขึ้นมา แก่จิตตนารถ ลิ้มทองกุล ลูกชายคนเดียวของเขาแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ย่อมเป็นธรรมดาสำหรับผู้เป็นพ่อ ที่จะต้องปัดเป่าทุกข์ร้อนให้แก่ลูก และช่วยแก้ปัญหาให้กับลูก เนื่องเพราะไม่มีพ่อคนไหนอยากเห็นลูกลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำบากกับมรดกที่พ่อยกให้
สนธิเชื่อว่า สถานการณ์ที่บีบรัดตัวเขา เกิดขึ้นจากการกระทำของคนในรัฐบาล เริ่มจากปรับรายการเมืองไทยรายวัน เป็นเมืองไทยรายสัปดาห์ การถอดสัญญาณภาพ 11 News 1 ออกจาก UBC9 การถอดเมืองไทยรายสัปดาห์
การถูกปรับออกจากรายการโทรทัศน์ช่อง 9 ในขณะที่ 11 News1 ก็ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสนธิ ลิ้มทองกุล เพราะเป็นการปิดช่องทางรายได้หลักของเขา อันนำมาสู่ความโกรธเคือง และพัฒนาเป็นความแค้นในที่สุด
เป็นความแค้นที่เรียกกันในสำนวนของสนธิว่า "แค้นสั่งฟ้า" เช่นเดียวกับที่เคยแค้นธารินทร์ และนำไปสู่การเปลือยธารินทร์ ในที่สุด
เป็นความแค้นที่เกิดขึ้นในขณะที่รู้สึกว่าตัวเองถูกโดดเดี่ยว มิตรสหายผู้มากมีอำนาจไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
เป็นความแค้นที่พร้อมจะพัฒนาเป็นการมุ่งทำลายล้าง เพื่อให้พ้นไปจากเส้นทางเดินของตน
เป็นความแค้นที่เกิดจากความขัดแย้งทางธุรกิจ
การถูกตัดแหล่งรายได้เหล่านี้นี่เอง ทำให้สนธิ ถึงกับฟิวส์ขาด เพราะสื่อแบบเขา สื่อของเขา เป็นสื่อที่มักจะมีคนจัดงบประมาณมาให้ ด้วยความเกรงอกเกรงใจ แต่เอเปลี่ยนจาก "จัด" เป็น "ตัด" ทำให้สนธิ ที่มีความหวังอย่างมากกับการหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งของเขา ต้องฝันสลายไปในที่สุด เพราะการดำเนินรายการโทรทัศน์ หรือสถานีข่าวโทรทัศน์ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากไม่มีแหล่งรายได้เข้ามาสนับสนุน ก็ไม่สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
สนธิ จึงบังเกิดอาการคับแค้นเป็นยิ่งนัก กับรัฐบาลไทยรักไทย และนายกฯทักษิณ ด้วยความที่ไม่เข้าด้วยช่วยเหลือ ปล่อยให้เขาต้องเผชิญกับความโหดร้ายของปัญหาหนี้สินจำนวนมหาศาล ทั้งของเก่าที่ยังไม่ลด และของใหม่ที่เพิ่นพูนขึ้น อันนำมาสู่การเกิด "แค้นสั่งฟ้า" ที่เคยเกิดขึ้นกับธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สำหรับ "แค้นสั่งฟ้า" ที่เกิดขึ้นรอบนี้ มีเป้าหมายพุ่งไปที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว
มีแต่สนธิเท่านั้น ที่จะตอบได้ว่าเขามีแผนการที่จะชำระความแค้นที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามแผน ด้วยการปลุกระดมประชาชน ที่อยู่ในกรอบแห่งกฎหมายให้มาร่วมกันใช้วิธีนอกกฎหมาย เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ที่ไม่ช่วยเหลือการทำธุรกิจ ของเขาจริงๆ หรือ...?
มีแต่สนธิ เท่านั้นที่ตอบได้ว่า เพียงเพื่อชำระแค้นกันเป็นการส่วนตัวกับนายกฯทักษิณ และบริวารรอบตัวนายกฯทักษิณ เขาถึงกับจะทำให้ประชาชนและประเทศชาติ ต้องตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดไปอีกนานเท่าไหร่......
///////////////////////////////////
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับสิ่งที่สนธิ ลิ้มทองกุล ได้กระทำลงไป ก่อให้เกิดผลอย่างไรต่อประเทศชาติ และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อตัวท่าน
อย่าลืม....ร่วมแสดงความคิดเห็น ถึงผลกระทบที่ท่านได้รับจากการกระทำของสนธิ ลิ้มทองกุล ให้ทุกๆ คนได้รับทราบด้วยนะครับ จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
-อ่าน'สนธิ ลิ้มทองกุล' คนที่คุณไม่รู้จัก ตอนที่ 2 คลิ๊กที่นี่
-อ่าน'สนธิ ลิ้มทองกุล' คนที่คุณไม่รู้จัก ตอนที่ 1 คลิ๊กที่นี่
บรรทัดทอง
จาก hi-thaksin