ที่มา ประชาไท
มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อบทความชิ้นก่อน (คุณเป็ด) ว่าเหมือนผมจับแพะชนแกะ โยนขี้ให้ สสส.เกินไป เพราะการสนับสนุนให้อบรมนักข่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย เรื่องน่าเกลียดเช่นการจัดกอล์ฟไปเที่ยวเมืองนอก หรือปัญหาโครงสร้างค่าตอบแทนของสถาบันอิศรา เป็นปัญหาของสมาคมนักข่าว ไม่ควรโทษแหล่งทุนอย่าง สสส.หรือหมอประเวศ จนทำให้ประเด็นของบทความอ่อนลง
ยินดีรับฟังนะครับ และยอมรับว่าผมเขียนโดยเอา 2 ประเด็นมาพัวพันกัน บางครั้งอาจสับสน ประเด็นแรกคือปัญหาในสมาคมนักข่าวและสถาบันอิศรา ซึ่งถ้าให้พูดกันตรงๆ ก็คือ “มีแนวโน้มจะเกิดความไม่ชอบมาพากลและเล่นพรรคเล่นพวก” แต่เนื่องจากผมอยู่ในฐานะกึ่งคนในกึ่งคนนอก คืออยู่ในวงการ แต่ไม่เคยเกี่ยวข้องสุงสิงกับสมาคม ก็เขียนถึงเท่าที่ได้รับฟัง
อันที่จริงมันมีหลายเรื่องที่พูดได้ไม่เต็มปาก มีข้อมูลข้อครหาที่พุ่งไปยังตัวบุคคลบางคน ในทำนองที่ว่ามันเกิดความไม่ชอบมาพากลขึ้นแล้ว ไม่ใช่แค่ “แนวโน้ม” แต่ผมไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจริงหรือไม่ ไม่มีพยานหลักฐานที่แน่ชัด จึงต้องเขียนถึงในภาพรวมแบบ “นุ่มๆ” เพื่อกระตุ้นเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องกับสมาคมว่าจะต้องมีการเข้มงวดตรวจสอบแล้วนะครับ เพราะเงินมันเยอะ ตั้งแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการลงมาถึงนักข่าวในพื้นที่ หรือโต๊ะข่าวแต่ละฉบับ ต้องรู้แล้วนะว่างานสมาคมมันไม่ใช่งานอาสาอีกต่อไป แต่มีผลตอบแทน ที่เคยให้นักข่าวมาช่วยงานสมาคมเพราะคิดว่าเป็นงานการกุศล ต้องคิดใหม่ และต้องช่วยกันตามติด เพราะถึงจะไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคม มันก็เป็นศักดิ์ศรีหน้าตาของวิชาชีพ (อย่าปล่อยให้เขาบล็อกโหวตกันอยู่ไม่กี่คน แบบล็อบบี้กันภายใน หรือยกทีมจาก นสพ.ฉบับเดียวมา 30-40 คน กรรมการสมาคมนักข่าวต้องได้รับเลือกจากนักข่าวตัวจริงที่ทำข่าวอยู่ในพื้นที่ทุกคน)
ผมจำเป็นต้องเขียนเรื่องนี้เพราะไม่งั้นก็ไม่มีใครเขียน เนื่องจากทุกคนมีความผูกพันมีเพื่อนพ้องน้องพี่มีต้นสังกัด มีพันธะหลายด้าน ทำให้ต้องเกรงใจกัน แต่ผมมีความผูกพันน้อย และอยู่ในสถานะที่ไม่ต้องเกรงใจใคร (ฉะนั้น ใครอยากแฉใครในวงการสื่อ ติดต่อมาได้ ใบตองแห้งยินดีรับงานทั่วราชอาณาจักร ฮิฮิ)
ประเด็นที่สอง เรื่องการให้ทุนของ สสส. ฟังดูอาจไม่ยุติธรรมที่ไปโทษคนให้เงิน คงเพราะผมไม่ได้เน้นว่าการให้เงินของ สสส.เข้าข่าย “สิ้นเปลือง” แม้ฟังดูอาจเข้าทีว่าให้เงินนักข่าวภูมิภาคไปทำข่าวเจาะคนละ 40,000 บาท คุ้มนะครับ ให้น้อยไปด้วยซ้ำ บางโครงการเช่น “ราชดำเนินเสวนา” ก็คุ้ม เพราะให้ข่าวที่ดีให้ความรู้ที่ดี แต่จะใช้เงินซักแค่ไหนเชียวกับการเชิญวิทยากรมาพูดที่สมาคมนักข่าว ไม่ต้องมีเงิน สสส.เราก็ทำได้ เลี้ยงกาแฟแก้วเดียวไม่ต้องมีค่าวิทยากร เราก็ทำกันมาเยอะแล้ว
ฉะนั้นถามว่าเงินตั้ง 14 ล้าน เอาไปใช้อะไร ตรงนี้ผมก็ไม่มีรายละเอียด นอกจากโครงการอบรม บสส. บสก.ที่ว่าใช้ 3 ล้านบาท แล้วอีก 11 ล้านล่ะ ผมอนุมานเอาว่าน่าจะเป็นการจ้างทำวิจัย จ้างนักวิชาการ ให้เงินไปจัดประชุม จัดอบรม จัดเวทีสาธารณะ เป็นค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ฯลฯ ตามสไตล์ สสส.ซึ่งตั้งแต่ก่อตั้งมาจนบัดนี้ คงให้เงินทำวิจัยไปไม่น้อยกว่าพันล้าน แล้วก็เอาผลวิจัยไปกองไว้เป็นตั้งๆ
ขอคัดตรงนี้มาให้ดูดีกว่าว่า โครงการปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ มูลค่า 14 ล้านกว่าบาท มีเป้าหมายอย่างไรบ้าง
“๑) เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์ทัองถิ่นทั่วประเทศกว่า ๓๐๐ ฉบับ และวิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า ๕๐๐ สถานี ภายในระยะเวลา ๑๒ เดือน
๒) กลุ่มผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อมวลชน ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น และทั้งในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมทั้งภาคเครือข่ายอื่นๆ จากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จำนวน ๑๔๐ คน ได้รับการพัฒนาศักยภาพองค์ความรู้ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย เป็นระยะเวลา ๓ เดือน และ ๖ เดือน ตามแต่ระดับของผู้เข้ารับการอบรม
๓) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นจำนวน ๖๐ คนจะได้รับการเสริมสร้างศักยภาพด้านการสื่อข่าวเชิงสืบสวน ภายในระยะเวลา ๖ เดือน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในท้องถิ่นอีก ๒๐ คนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้การสื่อข่าวเชิงสืบสวนจากการปฏิบัติจริง โดยมีเป้าหมายให้เกิดเนื้อหาการรายงานข่าวเชิงสืบสวนอย่างน้อย ๒๐ เรื่องออกเผยแพร่ผ่านการพิมพ์เป็นหนังสือและเว็บไซต์
๔) กลุ่มนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจำนวนประมาณ ๑๐ คนจาก ๑๐ มหาวิทยาลัยจะได้เข้ามาส่วนร่วมในกระบวนการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์ทัองถิ่น และวิทยุท้องถิ่นทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผ่านการประชุมและสัมมนาอีกไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน จาก ๕๐ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
๕) กลุ่มนักสื่อสารภาคประชาชนและสื่อมวลชนท้องถิ่น จะได้รับประโยชน์จากเนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านวิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่นกว่า ๑,๐๐๐ สถานีทั่วประเทศและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกกว่า ๑๐๐ ฉบับทั่วประเทศ
๖) กลุ่มองค์กรด้านประชาสังคมและสุขภาวะอื่นๆ จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างองค์ความรู้สื่อท้องถิ่น ผ่านการประชุมระดมความคิดเห็น และได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างเครือข่ายกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผ่านการประชุมและสัมมนาอีกไม่น้อยกว่า 200 คน จากทั่วประเทศ
๗) กลุ่มประชาชนผู้รับสาร จะได้ข้อมูลข่าวสารจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้และทักษะทางด้านวิชาชีพต่างๆ พร้อมทั้งจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากข้อมูลข่าวสารที่ผลิตเพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านวิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่นและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทั่วประเทศ”
ฟังดูสวยหรูไหมครับ แต่ถามว่าเห็นผลอะไรบ้าง จากการดำเนินโครงการระยะเวลา 18 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มาถึงเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นเฟสแรก แล้วยังต่อเฟสที่สองอีก 18 เดือน ตอนนี้เข้าเฟสที่ 3 ไปแล้วมั้ง
ผมก็เห็นแต่ตัวเลข แต่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพ
นี่คือสไตล์การให้เงินของ สสส.และเครือข่ายหมอประเวศ ที่กลายเป็นสูตรไปแล้วว่า เอาเงินไปจัดเสวนา เอาชาวบ้านมาเสวนา ให้ค่าเบี้ยประชุม ค่าที่พัก ค่าเดินทาง จ้างคนมาเป็นผู้จัดการโครงการ จ้างทำวิจัย แล้วก็เขียนบทสรุปสวยหรูให้เข้ากับทฤษฎีชุมชนนิยม โดยไม่เคยตรวจสอบเลยว่าค่าใช้จ่ายเพื่อ “งานนามธรรม” เหล่านี้ มันได้มรรคผลที่แท้จริงอย่างไรหรือไม่
ถ้าเราเชื่อว่าวิธีการจ้างคนเสวนาสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ ทำไมกระทรวงศึกษาจัดอบรมเสวนาครู บังคับให้ครูทำรายงานประกอบการเลื่อนขั้นมา 20-30 ปีแล้วจึงปฏิรูปการศึกษา ยกระดับคุณภาพครูไม่สำเร็จ
ให้ตายเถอะ ไม่อยากทุบหม้อข้าวเพื่อนพ้องเลย แต่ผมจะบอกว่า ถ้าอยากพัฒนาคุณภาพนักข่าวให้ได้ผล ให้เงินแค่ปีละ 5-6 ล้านบาทแล้วเน้นโครงการเนื้อๆ ที่ได้ผลเป็นจริงก็พอ (ที่เหลือตัดมาให้ประชาไทดีกว่า ฮิฮิ)
แต่ความที่ สสส.มีเงินเยอะจนไม่รู้จะใช้อะไร และความที่ สสส.มักจะให้เงินเฉพาะองค์กรที่คุ้นเคยไว้วางใจกัน ก็เลยให้เงินตะบี้ตะบันโดยไม่ตรวจสอบผลลัพธ์อยู่อย่างนี้
ถ้ามันเป็นโครงการไกลปืนเที่ยง ไกลหูไกลตา แล้วมีปัญหาเรื่องการใช้เงิน ก็คงพูดได้ว่าอย่าโทษ สสส. แต่โครงการของสถาบันอิศราไม่ใช่อยู่ไกลหูไกลตา เพราะบอกแล้วว่าตัวตั้วตัวตีก็คือ รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.(และเป็นภริยารองผู้จัดการ สสส.อีกตำแหน่งหนึ่ง) ผู้คลุกคลีตีโมงกับสมาคมนักข่าวมาเนิ่นนาน
นอกจากนี้ โครงสร้างค่าตอบแทน ก็เป็นโครงสร้างที่ผ่านการอนุมัติของ สสส. การจ้างผู้จัดการโครงการเงินเดือนแพงทั้งที่มีงานประจำอยู่ ทำไม สสส.จะไม่รู้ แต่ สสส.ทำอย่างนี้กับหลายโครงการ (ได้ข่าวว่า Media Monitor ก็กำลังถูกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.เพ่งเล็งว่าค่าจ้างแพงเกินไป)
ผมยังได้ยินเรื่องเล่าอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสมาคมนักข่าวและสถาบันอิศรา บอกว่าโครงการรณรงค์ด้านสาธารณสุขของ สสส.โครงการหนึ่ง มีนักข่าว 5-6 คนรวมหัวรับไปทำ โดยตั้ง nominee ขึ้นมาเป็นผู้จัดการโครงการ ได้เงินไปแบ่งกัน โครงการนี้ประสบความสำเร็จมาก เป็นข่าวตลอด เพราะนักข่าวแต่ละสำนักช่วยกันผลักดันให้หัวหน้าลงข่าว อย่างน้อยก็ได้ลงเว็บไซต์
เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นบริษัทเอกชน ก็คือสื่อรับซอง แต่พอเป็น สสส.พอเป็นการรณรงค์เรื่องสุขภาพ มันกลับกลายเป็นรับทรัพย์อย่างชอบธรรม ถามจริงว่า สสส.ไม่รู้ หรือ สสส.เกรงใจนักข่าว
ผมจึงเรียกร้องมาหลายครั้งแล้วว่า สสส.ให้เงินใครไปทำอะไร ควรเปิดเผยตัวเลขให้ชัดเจนลงเว็บไซต์ และเชื่อมต่อไปถึงแต่ละองค์กร แจกแจงรายละเอียดว่าคุณใช้เงินทำอะไรบ้าง มีการประเมินผลไหม ได้ผลอย่างไร เช่น สถาบันอิศรา ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารว่าที่ได้เงินมา 2 เฟส เอาไปทำอะไรบ้าง แจกแจงให้ละเอียดยิบ เพื่อสาธารณชนและคนในวงการสื่อด้วยกัน ประเมินผลได้ว่ามันคุ้มค่าไหม
นอกจากนี้ การใช้เงินของ สสส.มันไม่ควรจะเป็นการเอาเงินไป “สร้างเครือข่าย” ที่มีความคิดเห็นเหมือนตัวเองหรือเหมือนหมอประเวศ แบบที่ทำให้สมาคมนักข่าวกลายเป็นกระบอกเสียงของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย แลกกับการให้เงินช่วยเหลือ หรือแบบที่เอาเงินไปซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์ต่างๆ เพื่อให้ลงข้อเขียนสนับสนุนแนวคิดหมอประเวศ
สสส.ต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองว่า “ไม่ว่าแมวสูบบุหรี่หรือไม่สูบบุหรี่ก็จับหนูได้เหมือนกัน” คือถ้าใครเขาจะทำอะไรที่สร้างสรรค์ ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แม้คิดคนละแนวทาง แม้คิดไม่เหมือนหมอประเวศ ก็ต้องให้การสนับสนุน อย่าทำตัวแบบชินคอร์ปสมัยทักษิณเป็นนายกฯ ใครด่าพ่อกูก็ตัดงบโฆษณา
จุ๊ จุ๊ ข้อมูลใหม่
เขียนไปไม่ทันข้ามวัน งานเข้าอีกแล้ว มีผู้ประสงค์ดีส่งข้อมูลมาให้ทันที ว่าสถาบันอิศรากำลังเสนอ “โครงการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย ที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งก็คือการอบรม บสส.บสก.และ บสต.ในเฟสที่สาม โดยครั้งนี้เสนอของบประมาณถึง 9 ล้านบาทเศษ เฉพาะโครงการนี้โครงการเดียว
แน่นอนว่างานนี้ไม่มีทัวร์นอกอีก เพราะความแตกแล้ว แต่ก็มีข้อท้วงติงจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส.ว่าวงเงินสูงเกินไป ไอ้ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2551 ยังไม่มีการประเมินผลเลย ทั้งที่ปกติต้องประเมินผลแล้ว (อ้าว ไม่รู้จักฐานันดรที่สี่ซะแล้ว) นอกจากนี้ก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการเลือกผู้เข้าอบรมว่าเลือกใครและอย่างไร
ลืมบอกรายละเอียดไปนะครับว่า บสส.รุ่น 1 เขากำหนดคุณสมบัติไว้ว่า สื่อระดับหัวหน้าข่าวถึงบรรณาธิการ 25 คน นักวิชาการระดับหัวหน้าภาควิชาขึ้นไป 5 คน ผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชนตั้งแต่ผู้จัดการขึ้นไป 5 คน ผู้บริหารองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและเอกชนตั้งแต่ ผอ.ขึ้นไป 5 คน รวม 40 คน
ส่วน บสก.กำหนดว่า สื่อระดับรีไรเตอร์ถึงผู้ช่วยหัวหน้าข่าว 30 คน นักวิชาการอายุงานสิบปีขึ้นไป 5 คน ผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชนระดับหัวหน้าโครงการขึ้นไป 5 คน ผู้บริหารองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระและเอกชนตั้งแต่หัวหน้าแผนกขึ้นไป ฝ่ายละ 5 คน รวม 50 คน
เฟสใหม่นี่ได้ข่าวว่าจะตัดพวก NGO ออก แต่ไปเพิ่มด้านไหนผมไม่รู้ จะเลือกคนเข้าอบรมด้วยวิธีไหนก็ไม่รู้ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นตัวปัญหา
เรื่องสำคัญคือ การอบรม บสส.บสก.ที่ผ่านมา กลายเป็นดาบทิ่มอก สสส.เข้าอย่างจัง เพราะสถาบันอิศราไปเอากรรมการแพทยสภาเข้ามาอบรมด้วย นั่นคือนาวาเอก (พิเศษ) น.พ.อิทธิพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา เข้ามาอบรม บสก.และนาวาโท น.พ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ กรรมการแพทยสภา กรรมการผู้จัดการ ร.พ.ปิยะเวท อบรม บสส.รุ่น 2 เป็นเลขานุการรุ่นซะด้วย
ถามว่าเป็นคนของแพทยสภาผิดตรงไหน ไม่ผิดหรอกครับ แต่ไม่ใช่แพทยสภาหรือที่เป็นตัวตั้งตัวตีค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข ที่เครือข่ายหมอประเวศเองสนับสนุน โดยหมอธนาธิปและหมออิทธิพรเป็นตัวตั้งตัวตีมีบทบาทสำคัญ
การอบรม บสส.และ บสก.จึงสร้าง “คอนเนคชั่น” ระหว่างแพทยสภากับนักข่าว หมอสองคนนี้เดินเข้านอกออกในสมาคม สนิทสนมกับหัวหน้าข่าว บก.ข่าว ไปทั่ว
การอบรม บสก.ยังเกิดกรณีงามหน้า เมื่อชมรมผู้บริหารสื่อมวลชนระดับกลาง จัดสัมมนาหลักสูตร “ผู้สื่อข่าวสาธารณสุขมืออาชีพ ครั้งที่ 1” ร่วมกับแพทยสภาและสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ “พรีม่า” พูดง่ายๆ ก็สมาคมบริษัทยานั่นละครับ แถมเป็นบริษัทยาข้ามชาติด้วย
งานนี้จัดที่บ้านผางามรีสอร์ท ปราจีนบุรี (ติดวังน้ำเขียว) วันที่ 18-20 มิ.ย.ปีที่แล้ว เขาบอกว่าจัดสัมนนาให้กับสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัทยาต่างๆ ที่มีความสนใจ (ใครไม่สนใจก็บ้าแล้ว)
การสัมมนาครั้งนิ้ นักข่าวทั้งหลายได้เข้ารับฟังข้อมูลจากแพทยสภา และตัวแทนบริษัทยา ซึ่งได้ข่าวว่ามีการอัดเครือข่ายประชาสังคมที่เสนอร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ไปหลายดอก รวมทั้งโจมตีเรื่องการทำ CL ยา ทั้งในและนอกรอบ
หลังจากนั้นเมื่อเดือนธันวาคมนี่เอง ชมรมผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ได้ร่วมกับพรีม่า และแพทยสภา เผยแพร่คู่มือสื่อมวลชนกับงานข่าวสุขภาพ 2553 ซึ่งมีเนื้อหาตามความต้องการของพรีม่าและเหล่าแพทย์พาณิชย์ เผยแพร่ให้ผู้สื่อข่าว องค์กรสื่อ คณะนิเทศศาสตร์และวารสารศาสตร์ต่างๆ
มีข่าวว่า พรีม่ายังเป็นสปอนเซอร์รายสำคัญช่วยควักกระเป๋าให้ผู้เข้าอบรม บสก.ไปทัวร์เกาหลีตามที่เล่าไปแล้ว จริงหรือไม่ สถาบันอิศราช่วยตอบที
บริษัทยาเข้าถึงนักข่าว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ แพทย์ชนบททราบแล้วเปลี่ยน
ใบตองแห้ง
5 มี.ค.54
ป.ล.มีคนถามว่ารู้เรื่องมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ส่งนักข่าว 3 คน นักวิชาการ 1 คนไปอบรมที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินไหม ทำไมต้องไปรับเงินอุดหนุน 3 แสนบาทจากชาตรี โสภณพนิช แห่งแบงก์กรุงเทพ มีภาพมีข่าวลงในสื่อหลายฉบับราว 2 เดือนที่ผ่านมา
เรื่องนี้สอบถามให้แล้วนะครับ ‘จารย์ป๋อง พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิ ท่านเป็นตัวตั้งตัวดีในฐานะศิษย์เก่าวิสคอนซิน ติดต่อจนได้ทุนมา คนได้ไปก็เป็นนักข่าวที่ได้รับรางวัล ไม่มีข้อครหา แต่คำถามที่ว่าทำไมต้องรับเงินเอกชนและจะเป็นหนี้บุญคุณกันหรือไม่ ก็ตอบยาก เพราะเอกชนเหล่านี้ก็บริจาคเงินการกุศลผ่านสื่อต่างๆ ให้เห็นกันประจำ