ที่มา ประชาไท
บทความนี้อุทิศให้กับ
อ.สุรพศ ทวีศักดิ์,
อากง อำพล
ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
โจ กอร์ดอน
และผู้ได้รับความไม่เป็นธรรมท่านอื่นๆ
อันเนื่องมาจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
"สังฆสภาประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งมีพระเถระผู้เป็นชั้นอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งพระอนุเถระผู้เป็นชั้นศิษย์ เมื่อต้องเข้าประชุมโต้เถียงกันในสภาโดยฐานะเป็นสมาชิกเท่ากันก็เป็นเหตุให้ เสื่อมความเคารพยำเกรง ผิดหลักพระธรรมวินัย เสียผลในทางปกครอง ทั้งเป็นเหตุให้เสื่อมความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน จะอ้างว่าอนุวัตร ตามพระพุทธานุญาตที่ให้สงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรมทั้งปวง ทำนองเดียวกับระบอบการปกครองบ้านเมืองที่ให้ประชาชนมีส่วนมีเสียงในการ ปกครองนั้นไม่ได้" [1]
ข้อโต้แย้งเพื่อล้มพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2484 โดย ในปี 2490 ใน สำเนาหนังสือร้องเรียนและบันทึกคำชี้แจงประกอบหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับพระ ราชบัญญัตคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2518, น.1-24
“...ถ้าเกิดองค์กรใดก็ตามมีสามอำนาจในองค์กรเดียว องค์กรนั้นสมควรเรียกว่า ‘มาเฟีย’ มากกว่า คือถ้าจะออกกฎเอง ตามหลักสากลก็ต้องเป็นการออกกฎในกรอบของกฎหมายแม่บทที่ตราขึ้นโดยสภา แต่การวินิจฉัยสั่งการ เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้หากจะให้เป็นที่สุดเหมือนกับเขาใช้อำนาจตุลาการเอง อันนี้ยอมไม่ได้ องค์กรเหล่านี้สามารถออกคำสั่งได้ แต่คำสั่งที่ออกมาต้องไม่เป็นที่สุด ต้องสามารถถูกฟ้องร้องต่อศาลได้”
คำให้สัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปี 2554 [2]
ชัยชนะของการผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2484 มิได้จีรังยั่งยืน แต่เป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติที่ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป การพ่ายแพ้ที่ไม่อาจยืนกฎหมายดังกล่าวในสังคม นอกจากจะแสดงให้เห็นกลไกการจัดการอำนาจในสังคมสงฆ์แบบประชาธิปไตยที่พังทลาย ลงไปแล้ว ยังทำให้เราเห็นได้ว่าคุณค่าของแนวคิดประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐานมาตั้งแต่ ปี 2475 ถูกปู้ยี่ปู้ยำอย่างย่อยยับทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับชาติ การเมืองระดับท้องถิ่นในเทศบาลทั่วประเทศ นับเป็นความสำเร็จในการลบมรดกของคณะราษฎรออกจากแผนที่ประเทศไทย ในอีกด้านก็คือ การรุมฉีดยาขนานเดิมที่เปี่ยมล้นอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่ผู้สมัครอยู่ที่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ การทำความเข้าใจความเสื่อมสลายของอุดมการณ์ประชาธิปไตยของกฎหมายฉบับนี้จึง เป็นกระจกสะท้อนถึงสังคมการเมืองไทยและทำให้เราประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ที่ผ่านมาได้แม่นยำมากขึ้นด้วย
พลังจากการสั่งสมของระบบศักดินาและอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมในสังคมไทยมีราก ฐานที่ลงลึกและสลับซับซ้อนมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมันถูกผูกอยู่กับโครงสร้างทางการเมืองแบบจารีตที่มีอายุยาวนาน ดังนั้นระบบอุปถัมภ์ที่มีต่อคณะสงฆ์นั้นยึดโยงตั้งแต่ยอดบนสุดคือ สถาบันกษัตริย์จากนั้นก็ลดหลั่นมาสู่เจ้านาย ขุนศึก ขุนนาง และชาวบ้าน
การตีกลับของพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสามารถคว่ำอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบคณะราษฎรลงไปได้นั้นผ่านการบ่มเพาะและ ต่อสู้มาจนสุกได้ที่ หากมองแบบโลกคู่ขนานกันกับโลกของฆราวาสแล้ว ภายในโลกของของคณะสงฆ์ เราก็จะเห็นการขับเคี่ยวต่อสู้ที่เข้มข้นไม่แพ้กัน แต่พลังของพ.ร.บ. 2484 นับว่ายังมีโอกาสอยู่รอดยาวนานกว่า หลังจากที่อุดมการณ์และตัวบุคคลในนามคณะราษฎรได้ถูกโค่นทำลายไปแล้วตั้งแต่ ต้นทศวรรษ 2490
การเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คดีสวรรคต และจุดจบคณะราษฎร
แม้ปรีดี พนมยงค์จะขึ้นมามีอำนาจ ด้วยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้นๆ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นในปี 2489 ความมั่นคงดังกล่าวช่างไม่ยั่งยืน กลุ่มอำนาจของเขาพังทลายลงด้วยข้อกล่าวหาทางการเมือง จากพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างประชาธิปัตย์ กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ผสมโรงกับข้อกล่าวหาทุจริตคอรัปชั่นโดยพรรคพวกของปรีดี ทำให้รัฐนาวาของคณะราษฎรปีกซ้ายกลุ่มปรีดี ต้องพบจุดจบด้วยการรัฐประหารในปี 2490 รัฐประหารครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ทหารทำการยึดอำนาจโดยด้วยกำลังและฉีกรัฐธรรมนูญอันเป็น กฎหมายสูงสุดของประเทศทิ้ง สำหรับผู้เขียนแล้วนับเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายอุกฉกรรจ์ที่ได้ทำลายบรรทัด ฐานทางสังคมการเมืองที่เชื่อมั่นในความเสมอภาคของคน มันไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นการโต้กลับจากฟากฝั่งอนุรักษ์นิยมเพื่อรื้ออุดมการณ์ของคณะราษฎร และสร้างอุดมการณ์และความชอบธรรมทางการเมืองของตนขึ้นมาใหม่
นั่นคือ ต้นแบบของการรัฐประหารที่กลายเป็นวงจรขบวนการอุบาทว์ ที่ทหารใช้กำลังยึดอำนาจและถ่ายเทอำนาจรัฏฐาธิปัตย์มาสู่ตนโดยสร้างข้ออ้าง ที่อิงแอบกับสถาบันทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม รัฐธรรมนูญที่เคยศักดิ์สิทธิ์และถูกยกย่องว่าจะอยู่ชั่วกัลปาวสานกลับถูก เหยียบย่ำและฉีกทิ้งง่ายๆ เพื่อสถาปนาความชอบธรรมของหมู่คณะของคน วิธีการนี้สืบทอดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงครั้งล่าสุดในปี 2549
พลังอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมนานาชนิดเติบโตอย่างโรแมนติก บีบคั้นอารมณ์ มีสีสันภายใต้การเมืองวัฒนธรรมของฝ่ายขวาเติบโตและขายดิบขายดี วรรณกรรมที่เป็นหมุดหมายที่สำคัญก็คือ สี่แผ่นดิน ศัตรูเก่าของคณะราษฎร ที่เป็นนักโทษการเมืองรวมทั้งปัญญาชนฝ่ายขวาก็ผลิตผลงานสารคดีการเมืองเพื่อ ตอกย้ำความเลวร้ายของคณะราษฎร
พร้อมทั้งสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเก่าและพวกพ้องอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
อาจกล่าวได้ว่าความล่มสลายพ่ายแพ้ของคณะราษฎร นอกจากจะปราชัยต่อกำลังทหาร (ที่พ่ายแพ้อย่างราบคาบในกบฏวังหลวงปี 2492 ) แล้ว ยังสู้ไม่ได้เลยกับกระแสนิยมในด่านวัฒนธรรมอันโรแมนติกโหยหาวันหวาน โลกหลัง 2490 จึงกลายเป็นโลกคนละใบกับ 15ปีที่แล้ว ที่คนสามัญขึ้นมากู่ร้องตะโกนต่อชัยชนะในนามของความเสมอภาค
รอยปริแตกในคณะสงฆ์ การเสี้ยมสอนและความอ่อนแอ
การเมืองในคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นมานานนมตั้งแต่ก่อนที่โครงสร้างการปกครอง ของคณะสงฆ์จะเดินตามแนวคณะราษฎรเสียอีก ในโครงสร้างใหม่แม้โดยอำนาจการปกครองจะถูกแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 เพื่อถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกัน แต่ปัญหาหลักกลับเป็นอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมที่ยังเกาะแน่นอยู่ภายในสังคม สงฆ์อย่างแข็งแกร่ง ระบบเส้นสายและอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกก็ถือเป็นด่านกั้นสำคัญที่ไม่ค่อยจะลง ตัวกับแนวคิดแบบมนุษยนิยม เหตุผลนิยม และความเสมอภาค ที่มากับระบอบประชาธิปไตย
จุดอ่อนที่สำคัญของระบอบใหม่ก็คือ มันมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะทำให้ฝ่ายอำนาจเก่ารุกกลับมาใช้อำนาจเข้าไปล้ม ล้างการดำรงอยู่ของกฎหมายฉบับนี้
การเมืองในจีวร กับ ความขัดแย้งระหว่างมหานิกาย
การแตกแยกของคณะสงฆ์ ไม่ได้แยกเป็น 2 เสี่ยง เฉพาะมหานิกาย กับ ธรรมยุตเพียงเท่านั้น พบว่าในมหานิกายเองก็ยังแบ่งฝ่ายเป็นมหานิกายดั้งเดิมและ มหานิกายแปลงอีก ที่มีของเรื่องนี้อยู่ที่ “จีวร”
สมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จพระสังฆราช ได้พยายามเปลี่ยนรูปแบบการครองผ้าด้วยการนำไปสู่เป็นวาระหลักประชุมในปี 2457 [3] ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่จะบีบให้พระมหานิกายครองจีวรแบบธรรมยุต ในครั้งนั้นได้ทำให้พระมหานิกายเกิดความเห็นเป็น 2 ฝ่ายนั่นคือ ฝ่ายที่สนับสนุนที่เป็นพระผู้ใหญ่ก็คือ สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) วัดมหาธาตุ และพระพรหมมุนี (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม และพระอีก 10 รูป กับอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือ พระพิมลธรรม (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา ญาณฉนฺโท) วัดระฆังโฆสิตาราม และพระเทพเวที (น่วม) วัดสระเกศ [4] นี่คือ รอยปริแตกที่นำไปสู่การแบ่งฝักฝ่ายในมหานิกาย การวินิจฉัยดังกล่าวในเวลาต่อมา ได้กลายเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับจากพระผู้มีอำนาจชั้นผู้ใหญ่ ให้พระชั้นผู้น้อยปฏิบัติตาม [5] อย่างไรก็ตามเรื่องการครองจีวรก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ปล่อยให้เกิดความคลุมเครือต่อไป แต่นั่นก็ได้บ่มเพาะความไม่ไว้วางใจกันในมหานิกายขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เนื่องจากการความหวาดระแวงของมหานิกายที่มีต่อธรรมยุตว่าจะเข้ามาครอบงำมหา นิกาย อันเป็นประสบการณ์ความเจ็บปวดโดยตรงที่พวกเขาเคยเผชิญมา
มหานิกาย กับตำแหน่งสังฆนายกที่หลุดลอย
หากมองเพียงผิวเผินจะเห็นว่า เมื่อคณะราษฎรกลับมาเป็นใหญ่ ได้ส่งผลดีต่อการกลับมามีอำนาจของมหานิกายด้วย สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศนเทพวราราม (แพ ติสฺสเทโว) ได้รับตำแหน่งพระสังฆราช หลังจากที่ธรรมยุตครองตำแหน่งนี้มาถึง 2 สมัยติดต่อกันมา
อย่างไรก็ตามในโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์หลังจากพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ได้แบ่งอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ในทางปฏิบัติแล้ว ตำแหน่งสำคัญที่สุดก็คือ สังฆนายก ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารที่จะทำหน้าที่วางนโยบายในการผลักดันความก้าวหน้า ของคณะสงฆ์ดุจดั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือกันว่าเป็นตำแหน่งที่กุมอำนาจเหนือกว่า ประธานสังฆสภา ประธานวินัยธร และสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นประมุขเสียอีก
แคนดิเดทสังฆนายกที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งของฝ่ายมหานิกายก็คือ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ ขณะที่ฝ่ายธรรมยุต คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) อย่างไรก็ตามด้วยความที่สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เป็นพระมหานิกายแปลง และยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าวชิรญาณวโรรสมาก่อน ทั้งยังเป็นผู้ที่ผลักดันให้การศึกษาของมหาธาตุวิทยาลัยมีความเติบโตก้าว หน้ามาก จึงมีศิษย์ที่เป็นทั้งพระในฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต [6] ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายธรรมยุตทำให้สมเด็จพระวันรัต (เฮง) ถูกระแวงแก่คณะสงฆ์มหานิกายดั้งเดิม ไม่เพียงเท่านั้นในสายตาของคณะปฏิสังขรณ์ฯ เห็นว่าหลังจากที่คณะได้ดำเนินการเรียกร้องพ.ร.บ.สงฆ์อย่างเปิดเผย ในครั้งนั้นกลับไม่พบพระจากวัดมหาธาตุและวัดเบญจมบพิตรที่อาจนับว่าเป็นวัด มหานิกายแปลงเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยเลย [7] เหล่านี้คือ ความกังขาต่อความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งสำคัญของ สมเด็จพระวันรัต (เฮง)
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)
ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่า ทำไมแทนที่ฝ่ายมหานิกายจะรวมตัวกันหนุนให้สมเด็จพระวันรัต (เฮง) ขึ้นเป็นสังฆนายกรูปแรกในประวัติศาสตร์ กลับกลายเป็นว่า ฝ่ายมหานิกายนั่นแหละที่กีดกันมหานิกายกันเอง จนในที่สุด สมเด็จพระวันรัต (เฮง) ต้องไปรับตำแหน่งประธานสังฆสภาเสีย ความขัดแย้งนี้กลับเป็นผลดีแก่ฝ่ายธรรมยุตที่มีความเป็นเอกภาพมากกว่า ในที่สุดก็สามารถผลักดันให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) ขึ้นเป็นสังฆนายกได้สำเร็จ
เมื่อพิจารณากลับไปที่อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 แล้วจะพบว่า การจัดสรรตำแหน่งครั้งนี้ไม่ได้ทำให้มหานิกายมีความได้เปรียบเลย กลับเป็นฝ่ายธรรมยุตได้ดำรงตำแหน่งผู้กุมอำนาจบริหารสูงสุดนั่นคือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) วัดบรมนิวาส ในตำแหน่งสังฆนายก (2485) [8] และอำนาจตุลาการ นั่นคือ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ชื่น สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศ ในตำแหน่งประธานคณะวินัยธร (2485) [9] ถือเป็น 2 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย
ประชุมสังคายนาพระไตรปิฏก ธรรมวินัยเพื่อรวมคณะสงฆ์
ระเบิดเวลาที่ฝ่ายธรรมยุตตระหนักดีนั่นก็คือ การระบุไว้ในบทเฉพาะกาลว่าภายใน 8 ปีหลังประกาศใช้กฎหมายนี้จะให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกและรวมนิกายทั้งสอง ให้เป็นหนึ่งเดียว หลังจากรัฐบาลเปิดวัดประชาธิปไตย (ซึ่งต่อมาก็คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน) ในปี 2485 ก็เริ่มเดินหน้าจัดการสร้างความเอกภาพในวงการสงฆ์ โดยการเริ่มผลักดันการสังคายนาพระไตรปิฎกโดยมีนัยเพื่อการชำระความเข้าใจให้ ตรงกันเพื่อที่จะรวมทั้งสองนิกายให้เป็นหนึ่งเดียว การประชุมครั้งแรกมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2486 ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระสังฆราช (ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศน์ฯ เป็นประธานในการประชุม แม้จะมีผู้เข้าร่วมอย่าง คณะสังฆมนตรี พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อธิบดีกรมการศาสนา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และกรรมการสังคายนาพระธรรมวินัยก็ตาม แต่การประชุมที่มีในครั้งหลังๆ ก็ไม่สามารถสร้างความคืบหน้าจนต้องเลิกราไปในที่สุด [10] นัยของสังคายนาคือ การรวมนิกาย เป็นสิ่งที่ฝ่ายธรรมยุตไม่ยอมให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องนี้ถูกทำให้เงียบและหายไปในที่สุด
การเมืองในอายุขัย การเมืองในความตาย
ความตายไม่ใช่การสิ้นสุดหรือจุดจบของการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตและอำนาจ เท่านั้น แต่เป็นโอกาสของอำนาจใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ด้วย ความตายจึงผูกพันอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในทางการเมืองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในสังคมอนุร้กษ์นิยมที่ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส ที่ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ ผู้มีอาวุโสมาก และมีเส้นสายอุปถัมภ์ที่แข็งแกร่ง ก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น ในคณะสงฆ์จึงพบปัญหาว่า กว่าที่พระผู้ใหญ่จะขึ้นมามีอำนาจในการปกครอง แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์มามากเพียงใด แต่สังขารและความสดใหม่ในเชิงสร้างสรรค์นั้นก็มีข้อจำกัดเสียแล้ว กรณีของสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ที่ว่ากันว่าได้ขึ้นตำแหน่งสมเด็จในอายุที่น้อยมาก นั่นก็คือเมื่ออายุได้ 58 ปีแล้ว [11] ดังนั้นจึงไม่น่าสงสัยเลยว่า พระชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจอยู่ล้วนแก่พรรษา และสังขารร่วงโรยเกือบทั้งสิ้น ยังไม่รวมปัญหาที่ว่าพระผู้ใหญ่ที่เจ็บป่วยไม่สามารถดำเนินการในตำแหน่งตัว เอง ได้มอบหมายให้พระลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ดำเนินการแทนอีก
หลังพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 มรณกรรมของพระผู้ใหญ่ 2 รูปใกล้ๆกัน กลับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองในคณะสงฆ์มหานิกาย เพราะว่าพระทั้งสองนั้นเป็นบุคลากรที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) วัดมหาธาตุ มรณภาพเมื่อปี 2486 มีผลให้ตำแหน่งประธานสังฆสภาตกอยู่กับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) อีกปีถัดมา สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ฯ สิ้นพระชนม์ในปี 2487 [12] ประมุขของสงฆ์ และผู้กุมอำนาจอธิปไตยทั้งสามคือ สังฆนายก ประธานสังฆสภา และประธานวินัยธร จึงอยู่ในอำนาจของพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุตทั้งหมด
สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว 2399-2487)
ความตายของพระเถระหลังจากนี้ ยิ่งก่อปมเงื่อนทางการเมืองในคณะสงฆ์ให้ทวีขึ้น อย่างที่พระในสังคมสงฆ์ไม่อาจจะจินตนาการได้
ล้ม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ภาคแรก
ความเข้มแข็งอันเนื่องมาจากเอกภาพและการกุมสภาพนำของฝ่ายธรรมยุต ได้นำไปสู่การหาวิธีถอดสลักระเบิดเวลาเรื่องการรวมนิกายออก พบการระบุว่าในช่วงที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพในช่วงรอยต่อของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นว่ากันว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่ง ร่วมกันเสนอร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับใหม่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พิจารณาด้วยซ้ำ [13] อย่างไรก็ตามระหว่างนี้พระผู้ใหญ่ในฝ่ายมหานิกายก็ได้ไหวตัวทันและจับตาการเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่
ข้อขัดแย้งเรื่องการตั้งสังฆนายก
แม้ว่าในปี 2489 จะมีการประชุมสังฆสภา ได้มีการเลือกพระธรรมวโรดม (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ เป็นประธานสังฆสภา และพระปิฎกโกศล (พระธีรภทฺโท) วัดประยุรวงศาวาส เป็นรองประธานสังฆสภา [14] ซึ่งล้วนเป็นพระจากมหานิกาย แต่ในปีเดียวกันนี้ก็ถือว่าเป็นระยะที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งของสังฆนายก ด้วย ตำแหน่งอันสำคัญยิ่งของคณะสงฆ์นี้ทางฝ่ายธรรมยุตได้เดินหน้าผลักดันให้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นสังฆนายก สืบเนื่องจาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) [15] โดยไม่พิจารณาว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) จะชราภาพมากแล้วที่อายุ 74 ปี
ขณะที่ฝ่ายมหานิกายเองก็มีแคนดิเดทอยู่หลายตัวเลือกนั่นคือ สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) อายุ 70 วัดพระเชตุพน, พระพรหมมุนี (ปลด กิตฺติโสภโณ) อายุ 57 วัดเบญจมบพิตร, พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) อายุ 55 วัดมหาธาตุ [16] อย่างไรก็ตามดังที่ทราบกันเมื่ออำนาจอธิปไตยและประมุขของคณะสงฆ์อยู่แต่ใน มือพระธรรมยุต ในที่สุดการโต้แย้งการผลักดันคนของธรรมยุตโดยพระฝ่ายมหานิกายก็ไม่เป็นผล เพราะในที่สุดฝ่ายธรรมยุตก็บรรลุเป้าหมาย
ข้อโต้แย้งที่ว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) ชราจนเกรงจะทำงานไม่ไหว ก็ได้การแต่งตั้งให้พระธรรมปาโมกข์ (จวน อุฏฺฐายี) สังฆมนตรีว่าการองค์กรเผยแผ่ เป็นผู้สั่งการในตำแหน่งสังฆนายก [17] ทั้งที่มีอาวุโสน้อยกว่าแคนดิเดทฝ่ายมหานิกาย การตัดสินใจตั้งสังฆนายกโดยไม่มีมาตรฐานและลำเอียงเข้าฝ่ายธรรมยุตอย่าง จะแจ้งเช่นนี้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับพระมหานิกายอีกครั้ง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
สำนักอบรมครูวัดสามพระยา สุมกำลังโต้ธรรมยุต
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมหานิกายตั้งสำนักอบรมครูวัดสามพระยา เพื่อสกัดกั้นฝ่ายธรรมยุตในการล้มพ.ร.บ.ปัจจุบัน ปี 2489 พระปริยัตโศภน (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถร) วัดสามพระยา ได้เป็นแกนนำในจัดตั้งสำนักอบรมครูวัดสามพระยา (ส.อ.ส.) โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังคือ พระพรหมมุนี (ปลด กิตตฺโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร และพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) วัดมหาธาตุ [18] เป้าหมายลึกๆของการตั้งสำนักนี้เพื่อใช้เคลื่อนไหวสกัดกั้นความพยายามของ ฝ่ายธรรมยุตที่จะคว่ำพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 นั่นเอง แต่จุดประสงค์การจัดตั้งสำนักอย่างเป็นทางการนั้นชี้ว่า เน้นการปลูกฝัง ความรู้ ความฉลาด ความสามารถ และความประพฤติดีให้เกิดขึ้นแก่ผู้รับการอบรม และมีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์และกิจการพระศาสนา ขนบธรรมเนียมและการศึกษาให้ "อวดแก่ศาสนาอื่นๆให้ได้" ที่น่าสนใจก็คือ ได้มีการเชิญพระมหาเปรียญและพระคณาธิการ (พระสังฆาธิการ) ในระดับต่างๆ จากกรุงเทพและต่างจังหวัดมารับการอบรมเป็นรุ่นๆ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส ซึ่งระหว่างการบรรยายก็มีการพูดจาพาดพิงถึงคณะสงฆ์ธรรมยุตอย่างรุนแรงและตรง ไปตรงมา [19] ความเคลื่อนไหวในสำนักนี้จึงเป็นป้อมค่ายที่ฝ่ายมหานิกายส่วนหนึ่งใช้ในการระดมบุคลากร และหลอมรวมความคิดต่อต้านธรรมยุตอย่างแข็งขัน
ปฏิกิริยาจากการกระทำดังกล่าวก็คือ มีคำวิจารณ์ถึงสำนักอบรมครูวัดสามพระยาว่าเป็น "ลัทธิอุบาทว์" "สำนักอั้งยี่สามพระยา" ทั้งยังเรียกร้องให้บอยคอตต่อสำนักนี้ นอกจากนั้นฝ่ายธรรมยุตเอง เมื่อพลันทราบข่าวก็ได้มีหนังสือเวียนไปถึงพระสามเณรในสังกัดว่า มีพระนิกายหนึ่งได้รวมตัวกล่าวจ้วงจาบคณะของตนอย่างรุนแรงโดยไม่คำนึงถึง ความถูกต้องตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย แต่ขอให้จงตั้งในอาการสงบและใช้ขันติธรรมให้ถึงที่สุด [20]
ความเคลื่อนไหวของสำนักอบรมครูวัดสามพระยา อาจนับได้ว่าเริ่มจุดติด เมื่อพระทั้งหลายในมหานิกายได้ให้ความสนใจ ผู้เข้าร่วมจำนวนมากจนมีการกล่าวไว้ว่า ประสบปัญหาที่พักอาศัยและการขบฉัน ปาฐกถาพิเศษแต่ละครั้งก็มีบรรพชิต คฤหัสถ์ รวมถึงสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นอันมาก [21] การณ์ทั้งหลายเหมือนจะไปได้ดีและเข้าทางต่อการเคลื่อนไหวของฝ่ายมหานิกาย แต่ก็เกิดสะดุดด้วยขัดแย้งภายในอีกเหตุการณ์หนึ่ง นั่นคือ ปัญหาที่มาจากการมรณภาพของสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) วัดพระเชตุพนฯ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ปี 2490 [22]
วัดสามพระยา ที่ตั้งสำนักอบรมครูวัดสามพระยา ฐานต่อต้านฝ่ายธรรมยุตของฝ่ายมหานิกาย
จี้ที่จุดอ่อน แบ่งแยกแล้วปกครอง แคนดิเดทชิง มท.1 ของสงฆ์
การเพลี่ยงพล้ำของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายไม่ได้อยู่ที่การสูญเสียบุคลากร เท่านั้น แต่ความขัดแย้งร้าวฉานภายในมหานิกายเองก็ทำให้ความเป็นเอกภาพเริ่มเสื่อม คลายลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อแคนดิเดทที่จะชิงตำแหน่ง สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง นับเป็นพระผู้ใหญ่ทั้งสองรูปจากมหานิกายอย่าง พระพรหมมุนี (ปลด กิตตฺโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร และพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) วัดมหาธาตุ ที่เคยสนับสนุนการดำเนินการของสำนักอบรมครู วัดสามพระยา โดยชื่อชั้นแล้ว ทั้งสองล้วนมีความสามารถที่โดดเด่น เหมาะสมนับได้ว่าาตำแหน่งนี้เทียบเท่ากับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของทางโลกเลยทีเดียว [23] เป็นที่สงสัยว่า การที่ผู้มีอำนาจฝ่ายธรรมยุตเลือกพระพิมลธรรม (ช้อย) ให้ดำรงตำแหน่งนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างให้เกิดช่องโหว่ที่จุดเกรงใจนี้เอง การทำให้เกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงใจระหว่างพระทั้งสองรูปนั้น ยังกระทบชิ่งไปถึงสำนักอบรมครูวัดสามพระยาด้วย ทำให้การดำเนินกิจกรรมของสำนักนี้ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีจนมีลักษณะอ่อนตัวลง อีกอย่างเห็นผล [24] พระพิมลธรรม (ช้อย) ได้รับแต่งตั้งในเดือนเมษายน 2490
อ้างประชาธิปไตยและไตรปิฎก เพื่อล้มประชาธิปไตยในคณะสงฆ์
เมื่อธรรมยุตกระชับอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในตำแหน่งสำคัญได้อีกครั้ง ความเคลื่อนไหวเพื่อคว่ำพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 ก็ค่อยๆเผยตัวออกมาในที่แจ้ง โดยเฉพาะหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2489 ฝ่ายธรรมยุตพลิกเกมโดยหยิบฉวย มาตรา 13 ที่ว่าด้วย “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน” [25] มาตีความว่า การดึงดันที่จะรวมนิกายเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรานี้ การดำเนินการอย่างเป็นระบบแสดงออกมาอย่างชัดเจนในจดหมายของพระเถรธรรมยุตที่ ลงนามพระเถระ 22 รูป ตั้งแต่พระระดับสังฆนายกลงมา โดยยื่นให้แก่ สมเด็จพระสังฆราช [26] ซึ่งมีประเด็นสำคัญในการโจมตีพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 อยู่ 2 เรื่องหลักได้แก่ การละเมิดต่อกฎอันได้แก่ พระธรรมวินัยหรือพระไตรปิฎก รัฐธรรมนูญ ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกัน ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ ความบกพร่องในตัวบทของกฎหมายดังกล่าว
การละเมิดต่อพระธรรมวินัยนั้น นอกจากรัฐบาลที่ผ่านมาจะออกกฎหมายโดยออกตัวว่าจะตีความการปฏิบัติเพื่อรักษา พระธรรมวินัยแต่ก็เห็นว่า ไม่สามารถทำได้จริง [27] และการที่พ.ร.บ.มีความตั้งใจที่จะรวมนิกายทั้งสองนั้น ถือเป็นการละเมิดพระวินัยเรื่องห้ามภิกษุนานาสังวาส ซึ่งนั่นก็ถือว่าการเหยียดและกล่าวหาพระมหานิกายว่าไม่เป็นอุปสัมบันไม่เป็น พระอีกด้วย [28]
การละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ อ้างเรื่องบทเฉพาะกาล 8 ปีขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2489 ที่ให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา นอกจากนั้นที่น่าสนใจ มีการนำประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกรณีต่างประเทศด้วย [29]
การละเมิดต่อธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา การสังคายนาจะไม่ทำให้รวมนิกายได้ อ้างการทำไตรปิฎกฉบับงานพระบรมศพ ร.6 ปี 2470 ที่ผ่านมาก็ไม่ทำให้รวมนิกายได้ [30] และไม่เป็นไปตามคลองธรรม อ้างว่า พ.ร.บ.เกิดขึ้นเพราะถูกฝืนใจบังคับให้ผิดจากพระวินัย [31] ธรรมยุตมีน้อยกว่ามหานิกาย ในทางปฏิบัติมหานิกายจะกลืนธรรมยุตให้เปลี่ยนลัทธิที่นิยมมาช้านาน กฎหมายนี้จึงเป็น "กฎหมายซ่อนเงื่อน" [32]
แต่เหตุผลที่น่าจะตรงใจของฝ่ายต่อต้านมากที่สุดน่าจะเป็นข้ออ้างที่ว่า พ.ร.บ.ฯ นี้ขัดกับวิธีปกครองสงฆ์ จากเดิมที่เคยปกครองแบบอุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ พ.ร.บฯนี้ทำให้สงฆ์เป็นรูปการเมือง "สังฆสภาประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งมีพระเถระและผู้เป็นชั้นอุปัชฌาย์อาจารย์ ทั้งพระอนุเถระผู้เป็นชั้นศิษย์ เมื่อต้องเข้าประชุมโต้เถียงกันในสภาโดยฐานะเป็นสมาชิกเท่ากัน ก็เป็นเหตุให้เสื่อมความยำเกรงผิดหลักพระธรรมวินัย เสียผลในการปกครอง ทั้งเป็นเหตุให้เสื่อความเคารพยำเกรง ผิดหลักพระธรรมวินัย" [33]
นอกจากนั้นการชำระคดี พวกเขายังอ้างคติทางศาสนาถือว่า ปล่อยผู้กระทำผิดคนเดียวไว้ในศาสนา ย่อมทำให้หมู่เสื่อมเสีย เป็นเหตุให้พระศาสนาเศร้าหมอง ต้องแก้ไขไม่ให้เป็นที่รังเกียจสงสัยของหมู่ และไม่ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ผู้ละเมิดพระวินัย และไม่เห็นด้วยกับกฎหมายบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายมีหลักเกณฑ์ที่จัดการแก่ ผู้กระทำผิดที่ในบางกรณีแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ได้จริงตามกฎหมายก็ปล่อยผู้กระทำผิด ถือกันตามคติที่ว่าปล่อยคนผิด ดีกว่าลงโทษผู้ไม่ผิด หากสงสัยไม่มีหลักฐาน ก็ยกผลประโยชน์ให้จำเลย ซึ่งสวนทางกับคติพุทธศาสนาแบบที่พวกเขาเข้าใจ [34]
หนังสือเพื่อคว่ำพ.ร.บสงฆ์นี้เขียนขึ้นใน ปี 2490
แคนดิเดทชิง มท.1 ของสงฆ์ และความแตกแยกของมหานิกายรอบใหม่
มรณกรรมของพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ในเดือนมกราคม 2491 นับเป็นการจากไปของพระผู้ใหญ่ที่มีความสำคัญเนื่องจากว่า พระรูปนี้ครองถึง อีกรูป 3 ตำแหน่ง นั่นคือ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เจ้าคณะตรวจการภาค 1 และสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
ในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุนั้นในที่สุดก็ตกเป็นของ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดสุวรรณดาราม อยุธยา โดยราบรื่น แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญก็คือ ตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ที่ว่างลง อย่าลืมว่าตำแหน่งนี้ ก็เคยเป็นตำแหน่งที่ล่อให้เกิดความขัดแย้งมาแล้วในครั้งหนึ่ง พระปริยัติโศภณ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา ได้แสดงความเห็นว่า ควรให้ สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ขึ้นครองตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เพราะนอกจากสมเด็จพระวันรัต (ปลด) เคยเป็นเคนดิเดทคู่กับพระพิมลธรรม (ช้อย) มาก่อนแล้ว ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายธรรมยุต ดังนั้นสมเด็จพระวันรัต (ปลด) จึงมีความเหมาะสมในตำแหน่งเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่คู่แคนดิเดทในครั้งคือ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดสุวรรณดาราม อยุธยา อันเป็นพระในสายวัดมหาธาตุ ซึ่งในมุมมองของพระปริยัติโศภณ (ฟื้น) แล้วถือว่าเป็นคนอ่อน อาจถูกธรรมยุตครอบงำได้ [35] ซึ่งไม่นับว่ามีคุณสมบัติมากพอที่จะต่อกรกับฝ่ายธรรมยุต
ความคิดดังกล่าวพระปริยัติโศภณนำไปปรึกษาไปทั่ว และพบว่าส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มว่าจะเห็นด้วย [36] แต่การตัดสินใจแต่งตั้งจากตำแหน่งนี้จาก สังฆมนตรี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2491 กลับพลิกโผ และกลายเป็นว่า พระธรรมไตรโลกาจารย์ได้ขึ้นครองตำแหน่งนี้แทน เหตุการณ์นี้ทำให้พระปริยัติโศภณ (ฟื้น) เสียหน้าและทำการลาออกจากตำแหน่ง สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาทันที [37]
ด้วยวิธีเช่นนี้จึงทำให้ฝ่ายมหานิกาย ถูกแบ่งเป็น 2 เสี่ยงด้วยความขัดแย้ง คือ สายวัดเบญจมบพิตร นำโดย สมเด็จวันรัต (ปลด)-สายวัดสามพระยา นำโดย พระปริยัติโศภณ (ฟื้น) กับอีกเสี่ยงคือ ฝ่ายวัดมหาธาตุ นำโดย พระธรรมไตรโลกาจารย์ [38] ความขัดแย้งได้บานปลายไปสู่ระดับโครงสร้างและมีผลทำให้พ.ร.บ.คณะสงฆ์จบชีวิต ลง และเกิดกรณีที่อัปยศที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในสังคมไทย
ตั้งสังฆนายก ต้องมหานิกายเท่านั้น!
ตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองที่ว่ายิ่งใหญ่แล้ว ตำแหน่งสังฆนายกยิ่งแล้วใหญ่ วิกฤตสังฆนายกประทุขึ้น หลังมรณกรรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณถาวโร) สังฆนายก ในเดือนมิถุนายน 2494 มีผลให้สังฆมนตรีถูกยุบไปด้วย การแต่งตั้งสังฆมนตรีรูปใหม่นั่นคือ พระศาสนโสภณ (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ขึ้นเป็นพระสังฆนายก ในเดือนมิถุนายน 2494 [39] ความขุ่นเคืองจนเกินรับไหวของคณะสงฆ์มหานิกาย ได้ระเบิดออกมาด้วยการเคลื่อนไหวโค่นล้มสังฆนายกรูปใหม่หมาดๆ
ในสายตาของพระมหานิกายแล้ว สังฆนายกรูปใหม่จะเป็นใครไม่ได้นอกจาก สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรที่สมทั้งวัยวุฒิและฐานันดรศักดิ์มากกว่า ยังไม่นับว่า สมเด็จพระวันรัต (ปลด) พลาดจากตำแหน่งสำคัญมาตั้งแต่สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง เนื่องจากที่ผ่านมานั้นการพิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ก็อยู่แต่ในมือคณะสงฆ์ธรรมยุติ ส่วนพระมหานิกายถูกกีดกันออกมา สภาพดังกล่าวดำรงมาตั้งแต่ปี 2485-2494 ในเวลาเกือบสิบปีที่สังฆนายกมาจากธรรมยุต [40]
ประเด็นร้อนนี้ถูกยกระดับขึ้นเมื่อ พระเทพเวที (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา ได้ยกประเด็น "สองหัวสองหาง" ขึ้นมาตอบโต้ธรรมยุต เพื่อให้แยกสังฆนายกของทั้งสองฝ่าย ท่าทีเช่นนี้ไปกันได้กับความอึดอัด และสิ่งที่พระมหานิกายจำนวนมากคิดอยู่ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในการล่าลายเซ็นพระ เมื่อนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงครามทราบเรื่อง ก็ขอร้องให้ใช้วิธีอื่นเพราะเกรงจะทำให้สงฆ์แตกแยกมากกว่าที่เป็นอยู่ [41]
อย่างไรก็ตามเมื่อพระทั้งหลายได้ตกกระไดพลอยโจนไปแล้ว ด้วยการลงนามอย่างเปิดเผย ประเมินกันแล้วว่าถ้าหากหยุดเคลื่อนไหวก็คงจะพบกับหายนะด้วยอำนาจการปกครอง ที่ไม่เป็นธรรมที่กดทับอยู่ จึงเสี่ยงเดินหน้าต่อไปพึ่งพระผู้ใหญ่ในมหานิกาย และได้รับคำปรึกษาว่า ให้ไปขอลายเซ็นจาก พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ซึ่งบัดนั้นเป็นสังฆมนตรีองค์การปกครอง อันจะส่งผลการเคลื่อนไวมีน้ำหนักและมีความชอบธรรม
จากม็อบสงฆ์โค่นสังฆนายกธรรมยุต สู่ข้อตกลงตำหนักเพชร
ในเบื้องต้นพระพิมลธรรม (อาจ) กล่าวปฏิเสธในการลงนามด้วยเหตุผลว่า หากร่วมลงนามแล้ว ก็จะถือได้ว่าเป็นผู้เสียหาย มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะทำให้สูญเสียความเป็นกลางไม่สามารถโต้แย้งในที่ประชุมสังฆมนตรีได้ หรือโต้แย้งก็อาจไม่มีน้ำหนัก อย่างไรก็ตามพระที่ยกโขยงกันมาล่าลายเซ็นได้ทั้งปลอบทั้งขู่ จนมีผู้เหลืออดบริภาษต่อพระพิมลธรรม (อาจ) ว่า "ไอ้ชาติลาวตาขาว" ถึงจุดนั้นทำให้พระพิมลธรรม (อาจ) เปลี่ยนใจลงนามให้ แต่มีข้อแม้ว่า จะขอแก้ไขหนังสือฉบับนั้นด้วยตนเอง ซึ่งในวันต่อมาก็มีหนังสือสองฉบับไปที่นายกรัฐมนตรี ในเรื่อง "ขอถวายตำแหน่งสังฆนายกแด่สมเด็จพระวันรัต" และสมเด็จพระสังฆราช เรื่อง "ขอร้องให้ทรงพระกรุณาแต่งตั้งสมเด็จพระวันรัตเป็นสังฆนายก" [42] หลังจากที่พระพิมลธรรม (อาจ) ยื่นหนังสือไปแล้วและรอคอยอย่างใจเย็น พระอีกส่วนหนึ่งที่เป็นระดับเจ้าคณะตรวจการภาค เจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค เจ้าคณะจังหวัด และผู้แทนเจ้าคณะจังหวัด รวม 71 รูปทั่วประเทศ ก็ลงนามยื่นหนังสือลงวันที่ 30 มิถุนายน 2494 สนับสนุนมติพระจำนวน 47 รูปที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ กดดันอย่างหนักเข้าไปอีก [43]
พลังที่กดดันอย่างมากนี้ ในที่สุดก็นำไปสู่การประชุมที่ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศ ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2494 โดยคณะธรรมยุตยินยอมให้แต่งตั้งพระฝ่ายมหานิกายเป็นสังฆนายก แต่ต้องรับเงื่อนไข คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ในการปกครองส่วนกลาง ให้คณะสังฆมนตรีบริหารร่วมกัน แต่ปกครองบังคับบัญชาตามนิกาย การปกครองส่วนภูมิภาคให้แยกตามนิกาย [44] ต่อมาข้อตกลงนี้เรียกว่า "ข้อตกลงตำหนักเพชร" ที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อที่ประชุมที่ข้อสรุป สมเด็จพระสังฆราชก็แจ้งว่า พระศาสนโศภณ (จวน) ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งสังฆนายกแล้ว [45] คล้ายกับว่าเตรียมการกันมาก่อน อย่างไรก็ตามในความขัดแย้งนี้ที่แบ่งการปกครองอย่างชัดเจนขึ้น กลับทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างนิกายที่จะสร้างผลงานในอาณาจักรของตนมากขึ้น [46]
ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศ
พุทธทาสกับการวิจารณ์โครงสร้างปกครองสงฆ์ [47]
ในสังคมการเมืองสงฆ์ เรายังพบบันทึกที่พุทธทาสภิกขุวิจารณ์โครงสร้างการปกครองสงฆ์ โดยบันทึกไว้ในหน้าที่ระบุวันที่ 18-21 มีนาคม 2495 วิจารณ์ว่าควรจะปรับเปลี่ยน เพราะมีลักษณะเป็นเผด็จการโดยตรงและโดยอ้อม ไม่เป็น “สังฆาธิปไตย” หรือไม่เป็นไปตาม “ธรรมวินัยแท้” พุทธทาสได้เขียนถึง “ระบอบการปกครองใหม่” โดยแบ่งเป็น 3 แผนก นั่นคือ ส่วนวิชาการ (เทฆนิค) คณาจารย์, ส่วนบริหาร (4 องค์การณ์) คณาธิการ และส่วนสมณธรรม โดย 2 ส่วนแรกน่าจะเป็นกลุ่มคามวาสี และกลุ่มสุดท้ายน่าจะเป็น ธรรมาจารย์, อรัญวาสี หรืออาจกล่าวได้ว่า ให้จัดการปกครองโดยแยกแยะจากวัตรปฏิบัติที่ต่างกันไปนั่นเอง นอกจากนั้นพุทธทาสยังเสนอให้เปลี่ยนการปกครองระดับจังหวัดใหม่ ให้มีตำแหน่ง “ผู้กำกับการกรรมการสงฆ์จังหวัด” (หรือเจ้าคณะจังหวัด) ที่ “รอบรู้ทั้งปริยัติและปฏิบัติ มีคุณธรรมสูง แตกฉานในกฎระเบียบ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ฯลฯ” แม้จะอายุน้อยก็ตาม สามารถถวายความคิดเห็นหรือ “ควบคุมผู้เฒ่า” ได้ ซึ่งในจังหวัดจะให้มี 5 องค์การนั่นคือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ องค์การสาธารณูปการและ องค์การสมณธรรม องค์การสุดท้ายน่าจะเป็นการสนับสนุนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมที่พุทธทาสสนใจ อยู่ ตำแหน่งนี้พุทธทาสมีความเป็นว่าจะต้องเป็น “คนหนุ่มที่ดี ที่สามารถ ทันสมัย และสมบูรณ์ด้วยสติปัญญา” และเห็นว่า การอยู่ในตำแหน่งตลอดกาลนั้นเป็น “เผด็จการอยู่ในตัว”
อนึ่งการวิจารณ์ดังกล่าวก็มีบริบทของมันอยู่ เมื่อเราพลิกดูบันทึกวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2495 พบว่า พระพิมลธรรม (อาจ) สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองมาที่สุราษฎร์ธานี และมีกำหนดการจำวัดที่สวนโมกข์ด้วย ขณะนั้นพุทธทาสมีสมณศักดิ์เป็น พระอริยนันทมุนี พระราชาคณะชั้นสามัญ (ได้รับการแต่งตั้งในปี 2493) แน่นอนว่า พุทธทาสเป็นพระผู้ใหญ่ที่ต้องรู้เห็นกับสภาพสังคมสงฆ์ในสมัยนั้นเป็นอย่างดี และไม่อาจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาการเมืองของสงฆ์ในขณะนั้นได้ นี่คือหลักฐานส่วนหนึ่งที่พุทธทาสเกี่ยวพันกับปัญหาการเมืองสงฆ์
พุทธทาสลิขิตธรรม บันทึกนึกได้เอง แสดงบันทึกว่าด้วยชีวิต ศาสนา สังคม การเมือง สันติภาพ และหลักคิดสำคัญเล่มนี้แสดงให้เห็นวิธีคิดเกี่ยวกับ การเมืองการปกครองสงฆ์ในปี 2495
การเติบโตของฝ่ายซ้ายและการเชิดชูความดีแบบปัจเจกชน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในทศวรรษ 2490 การเติบโตของอุดมการณ์ไม่ได้มีเพียงเฉพาะฝ่ายขวาที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยม ราชาชาตินิยมเท่านั้น แต่ฝ่ายซ้ายอุดมการณ์สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ต่างก็มีพื้นที่ “บนดิน” มีโอกาสสื่อสารกับสาธารณะอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในลักษณะสื่อสิ่งพิมพ์ การรวมกลุ่มจัดตั้งทางการเมืองฝ่ายซ้าย เช่น สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย พรรคสหชีพ ฯลฯ อย่างไรก็ตามกลางทศวรรษ 2490 ที่การเมืองระหว่างประเทศเข้มข้น แม้รัฐบาลไทยได้ยกเลิก พ.ร.บ.การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2489 แต่กระนั้นพ.ร.บ.ลักษณะดังกล่าวก็ปรากฏอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2495 ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันก็เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า กบฏสันติภาพ ซึ่งเป็นการจับกุมกวาดล้างนักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวน 104 คน เป็นนักโทษการเมืองที่ติดคุกยาวนานไปจนถึงปี 2500 ที่น่าสนใจก็คือ จากช่องทางดังกล่าวพบว่า มีพระวิปัสสนาเข้าไปสอนกรรมฐานแก่นักโทษการเมืองจำนวนหนึ่ง และหนึ่งในนั้นก็คือ พระพิมลธรรม (อาจ) แห่งวัดมหาธาตุ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งๆที่เรื่องคุณธรรม ความดีงาม ก็ถูกพร่ำหาอยู่ไม่ขาดปาก แต่กลับเป็นความดีที่แยกขาดจากโครงสร้างอันอยุติธรรม เป็นความดีที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยอำนาจอันไม่ชอบธรรม สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดนั่นก็คือ การที่คณะรัฐประหาร 2490 อ้างความเป็นคนดีมีศีลธรรม และเหตุผลทางจริยธรรมต่างๆนานา โค่นล้มรัฐบาลด้วยข้ออ้างเรื่องทุจริต และกรณีสวรรคต ยังไม่นับว่ากรณีสวรรคตที่ปรีดี พนมยงค์ถูกใส่ร้าย ด้วยกลเกมสกปรกอย่างการจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” นั้น คนดี นักศีลธรรมทั้งหลายก็ไม่ได้มีบทบาทออกมาช่วยรับรองเกียรติ ด้วยจิตใจอันมีศีลธรรมแม้แต่น้อย หรือเป็นว่าเมื่อศีลธรรมเข้าตาจนหน้ามืดตามัว สังคมคนดีก็ปราศจากสติปัญญาที่จะแยกแยะได้ว่า ใครดีใครชั่ว ดังนั้นเมื่อฝ่ายรัฐประหารและอนุรักษ์นิยมสร้างปีศาจปรีดี พนมยงค์ขึ้นมา ความบ้องตื้นของสังคมไทยก็อ้าแขนรับอย่างอบอุ่น พระพิมลธรรม (อาจ) เองก็ถูกผลักให้เดินทางที่โหดร้ายไม่แพ้กับปรีดีในเวลาต่อมา
คอมมิวนิสต์ก็เป็นอรหันต์ได้?
เรื่องหนึ่งที่พระพิมลธรรม (อาจ) ถูกใส่ร้ายและประเด็นการเมืองทางโลกด้วยนั่นก็คือ ข้อหาที่เกี่ยวพันกับคอมมิวนิสต์ กระทั่งมีการกล่าวถึงขนาดว่า คอมมิวนิสต์บวชเป็นพระได้หรือไม่ พระพิมลธรรม (อาจ) ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาที่จะให้คอมมิวนิสต์บวชได้ ข้อกล่าวหานี้เป็นอีกด้านหนึ่งของคำตอบทำนองว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของพระกิตติวุฑโฑในอีกราว 2 ทศวรรษต่อมา แต่ในครั้งนี้อาจเรียกว่า “คอมมิวนิสต์ก็เป็นอรหันต์ได้” [48] ในคราว “กบฏสันติภาพ” ในปี 2495 อันเนื่องมาจากการตั้งคณะกรรมการสันติภาพ พบว่าพระพิมลธรรม (อาจ) ได้มีบทบาทในการเข้าไปสอนวิปัสสนากรรมฐานในเรือนจำด้วย อย่างน้อยมีนักโทษการเมือง 2 คนที่เข้าเรียนกรรมฐานด้วยนั่นคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และสมัคร บุราวาส จากจำนวน 104 คน จากบันทึกของสมัคร บุราวาสได้ระบุไว้ว่า เริ่มเรียนวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ปี 2498 [49]
ภาพการปล่อยตัวนักโทษการเมือง กรณีกบฏสันติภาพ ปี 2500 ภายในภาพมีกุหลาบ สายประดิษฐ์รวมอยู่ด้วย
รัฐประหาร 2500
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลวิเคราะห์ไว้ว่า ความโหดเหี้ยมและมือเปื้อนเลือดของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีเผ่า ศรียานนท์ ทหารเก่าที่กลายมาเป็นอธิบดีกรมตำรวจและได้ก่อกรรมทำเข็ญต่างๆนานาและมี อำนาจอยู่ในมืออย่างล้นเหลือนั้น ได้ทำให้เหล่าปัญญาชน นักเคลื่อนไหว นักปฏิวัติ “เลือดเข้าตา” ได้เห็นว่า เผ่านี่แหละที่เป็นศัตรูหมายเลข 1 จึงได้โจมตีเผ่าด้วยความรู้สึกว่า กำลังทำในสิ่งที่ถูกจริยธรรม ได้ทำการล้างแค้นให้เหยื่อที่ถูกเผ่าฆ่า ขณะที่เผ่าเป็น “มาร” แต่พวกปัญญาชนเป็น “นักรบจริยธรรม” ที่มีหน้าที่ปราบมาร ขณะที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ไม่ต้องลงแรงมาก เพียงแต่
รู้จักจังหวะปรากฏตัว และทำตัวให้เป็นขวัญใจประชาชน ในที่สุดก็ทำการรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน 2500 [50] นั่นทำให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม หมดอำนาจและต้องลี้ภัยและไม่ได้กลับเมืองไทยตราบจนชีวิตหาไม่
รัฐประหารซ้ำ 2501 และการฉีกรัฐธรรมนูญ
การรัฐประหารในปี 2500 โดยยอมให้มีรัฐสภากันอยู่ แม้จะมีถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาภาพลักษณ์ แต่ปรากฏว่า สิ่งที่ผู้ยึดอำนาจทนไม่ได้ก็คือ ความวุ่นวายที่ตามมาจากการมีสภา พรรคการเมือง เสรีภาพของสื่อมวลชน แม้กระทั่งองค์กรของเหล่ากรรมกร ในที่สุดจึงมีการยึดอำนาจซ้ำและไม่มีการอ้อมค้อม คณะรัฐประหารได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปพร้อมๆ กับอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ล้มเลิกสภา สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะเผด็จการอย่างเต็มตัว รัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501
ในวงการสงฆ์นั้น ตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2500 การที่รัฐบาลเก่าสนับสนุนพระสงฆ์โดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย เมื่อเปลี่ยนขั้วนั่นก็ทำให้ สำนักอบรมครูวัดสามพระยาที่มีบทบาทเผชิญหน้าคณะธรรมยุต ที่นำโดยพระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา เจ้าคณะจังหวัดพระนคร ต้องยุติกิจกรรมลงอย่างสิ้นเชิง [51]
เดือนพฤศจิกายน 2501 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น) สิ้นพระชนม์ ได้มีการแต่งตั้ง สมเด็จพระวันรัต (ปลด) สังฆนายก เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชตามพระราชบัญญัติ [52]
พระพิมลธรรม (อาจ) กับความขุ่นเคืองของสฤษดิ์
ระหว่างที่พระเถระรุ่นใหญ่ล้มหายตายจากไปเรื่อย พระพิมลธรรม (อาจ) ก็ได้สร้างผลงานขึ้นอย่างโดดเด่นในฐานะสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง และยังมีความใกล้ชิดกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งยังเคยแวะไป
สนทนากับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ที่ญี่ปุ่นอีกด้วย การเข้าพบครั้งนั้นทำให้มิตรสหายและบุคคลต่างๆ ก็เข้าไปนมัสการอยู่เนืองๆ สิ่งเหล่านี้เข้าหู สฤษดิ์์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติอย่างแน่นอน และนั่นทำให้พระพิมลธรรม (อาจ)ไม่เป็นที่ไว้วางใจต่อสฤษดิ์ คนอย่างสฤษดิ์จะคิดอย่างไรเมื่อเกิดการเปรียบเทียบเมื่อ การเดินทางไปอีสานของเขาที่มีคนมาต้อนรับไม่มากนัก ผิดกับพระพิมลธรรมที่พระสงฆ์และประชาชนพากันต้อนรับอย่างเนืองแน่น [53]
ป.พิบูลสงคราม และพระพิมลธรรม (อาจ)
สมรภูมิประชุมสัมมันตนาพระคณาธิการทั่วราชอาณาจักร
เดือนเมษายน 2503 สมเด็จพระวันรัต (ปลด) สังฆนายกและผู้บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช จัดประชุมสัมมันตนาพระคณาธิการทั่วราชอาณาจักร โดยเชิญพระจำนวน 523 รูป อันประกอบด้วย เจ้าคณะตรวจการภาคทุกรูป, เจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาคทุกรูป, เจ้าคณะจังหวัดทุกรูป และเจ้าอาวาสในจังหวัดพระนครและธนบุรี [54] โดยมีนัยการเมือง มีการกล่าวว่าจะเชื่อมต่อพระศาสนาในการสร้างความเจริญให้กับชาติสอดคล้องกับ เจตนารมณ์ของคณะปฏิวัติ สอดคล้องกับการส่งสาส์นมาปวารณาตัวช่วยเหลือเรื่องแก้ไข พ.ร.บ. ของสฤษดิ์ และโอกาสนี้ยังถือว่าเป็นการเชิญพระทั้งหลายมาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพอดีต สมเด็จพระสังฆราชอีกด้วย [55]
งานนี้ยังมีเบื้องหลังว่า เป็นความตั้งใจของสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ที่จะดันให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม ขึ้นเป็นสังฆนายก จึงได้นำสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) กับ พระพิมลธรรม (อาจ) มาบรรยายประชันกัน แต่ผลปรากฏว่า พระพิมลธรรม (อาจ) บรรยายได้คมคาย กว้างขวางและแจ่มชัดกว่า [56]
การประชุมครั้งนี้ยังมีวาระว่าด้วยการเลือกสมเด็จพระสังฆราชด้วย พระธรรมนายก (สมบูรณ์ จนฺทเถร)ได้เปิดประเด็นสนับสนุน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) วัดสระเกศ ที่มีคุณสมบัติเหนือกว่า
ด้านพรรษา เมื่อเทียบกับสมเด็จพระวันรัต (ปลด) ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า เรื่องนี้คงเป็นดำริของพระพิมลธรรม (อาจ) เนื่องจาก พระธรรมนายก(สมบูรณ์)เป็นศิษย์วัดมหาธาตุและรู้กันว่าเป็นมือซ้ายของพระพิมล ธรรม (อาจ) หลังจากนั้นมา จึงมีข่าวลือและใบปลิวโจมตีพระพิมลธรรมสารพัด ขณะที่พระพิมลธรรมกลับวางเฉย ไม่ชี้แจงใดๆ โดยให้เหตุผลว่า การตนเองที่ลนลานไปชี้แจงโดยผู้ใหญ่ไม่ได้เรียกไปนั้นทำไม่ได้และบัณฑิตเขา ไม่ทำกัน [57]
พระมหารัชชมังคลาจารย์ วัดสัมพันธวงศ์ มอบของที่ระลึกแก่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ งานวางศิลาฤกษ์ พระอุโบสถหลังใหม่ วัดสัมพันธวงศ์ปี 2506
สังฆราชใหม่ สังฆนายกใหม่ ตัดตอนกลุ่มอำนาจเก่า
สมเด็จพระวันรัต (ปลด) ขึ้นแท่นได้รับการสถาปนาให้เป็น สมเด็จพระสังฆราช ในเดือนพฤษภาคม 2503 [58] และในเดือนเดียวกัน สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) ก็ขึ้นเป็นสังฆนายก [59] การขึ้นมีอำนาจของสังฆนายกใหม่ได้ตัดสังฆมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งอยู่เดิมออก ไปจำนวนมาก ข้อพิรุธก็คือ เมื่อปรับคณะสังฆมนตรีแล้ว สังฆนายกลนลานออกแถลงการณ์ชี้แจง [60] แน่นอนว่าการตั้งสังฆมนตรีครั้งนี้ เพื่อการสกัดให้พระพิมลธรรม (อาจ) หลุดจากวงโคจร และทำให้พระที่สนับสนุนพระพิมลธรรม (อาจ) ต้องหลุดวงอำนาจการปกครองคณะสงฆในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น พระศาสนโศภณ (ปลอด อตฺถการี) วัดราชาธวาสวิหาร (ธรรมยุต) , พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศ (ธรรมยุต) [61], พระธรรมปิฎก (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (ธรรมยุต) พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) วัดราษฎร์บำรุง จังหวัดชลบุรี พระเถระสายมหาธาตุ และมือขวาพระพิมลธรรม [62] นี่คือ จุดเริ่มต้น
ภาพซ้าย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) (2432-2505)
ภาพขวา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) สังฆนายก (2440-2514)
โศกนาฏกรรมพระพิมลธรรม (อาจ)
เรื่องร้ายแรงอันน่าละอายนี้ เกิดขึ้นเดือนสิงหาคม 2503 สังฆนายกและสังฆมนตรี รับทราบคำร้องเรียนจากการประชุมร่วมกับตำรวจสันติบาลว่า มี 2 ผู้เสียหาย ได้กล่าวหาว่า พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เสพเมถุนธรรมทางเวจมรรค (ร่วมเพศทางทวารหนัก) กับพวกตนจนสำเร็จความใคร่ การกล่าวหาเช่นนี้ ตามกระบวนการยุติธรรมของสงฆ์ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 แล้ว จะต้องมอบเรื่องให้คณะวินัยธร ที่ถืออำนาจอธิปไตยทางตุลาการ แต่ที่น่าตกใจก็คือ สังฆนายก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) กลับด่วนวินิจฉัยเองด้วยการเขียนหนังสือสั้นๆ เสนอสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) [63] กระนั้นสมเด็จพระสังฆราช ก็รับลูกต่อทันควันด้วยการออกหนังสือไปยังพระพิมลธรรม (อาจ) มีข้อความที่น่าสนใจว่า
"ด้วยทางการตำรวจได้ทำการสอบสวนเรื่องความประพฤติของ ท่านได้ความประจักษ์แล้ว...ขอให้ท่านพิจารณาตนด้วยตน ขอให้ท่านออกเสียจากสมณเพศ และหลบหายตัวไปเสีย จะเป็นการดีกว่าที่จะปรากฏโดยประการอื่นๆ เพื่อรักษาตัวท่านเอง และเพื่อเห็นแก่วัดและพระศาสนา"
พระพิมลธรรม (อาจ) ก็ตอบจดหมายกลับไป โดยมีใจความว่า ข้อเสนอที่ให้หนีไปนั้นไม่เป็นผลดีต่อวัดมหาธาตุและศาสนาโดยรวม และโดยส่วนตัวก็ไม่เป็นธรรม หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 22 กันยายน 2503 พระพิมลธรรม (อาจ) เองก็ไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวจากการปรักปรำ อีกสองวันต่อมา ปรากฏคณะสงฆ์วัดมหาธาตุจำนวน 465 รูปได้ทำหนังสือและลงนามยืนยันความบริสุทธิ์ [64]
อย่างไรก็ตามทางเบื้องบนก็มีจดหมายให้ชี้แจง และแม้พระพิมลธรรม (อาจ) จะชี้แจงกลับไป ก็ดูราวกับว่าไม่มีผลใดๆ ซ้ำยังเดินหน้าตัดสินโดยข้ามกระบวนการที่ชอบธรรมโดยการประกาศถอดสมณศักดิ์ ในเดือนพฤศจิกายน 2503 ไม่เฉพาะกับพระพิมลธรรม (อาจ) เท่านั้น แต่พระศาสนโสภณ (ปลอด อตฺถการี) วัดราชาธิวาส ที่สนับสนุนพระพิมลธรรม (อาจ) ด้วยข้อหาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยออกมาในนามของประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลายเซ็น สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2503 [65] การโค่นล้มพระพิมลธรรมจึงได้ดึงเอาอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวพันเพื่อทำลายศัตรูของตนอย่างสิ้นคิด
แม้จะถูกถอดสมณศักดิ์ พระพิมลธรรม(อาจ) ที่กลายเป็นพระอาสภเถระ ก็ยังตั้งมั่นเพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ของตน แม้ว่าจะลงเอยด้วยการใช้อำนาจรัฐมาบีบบังคับให้สึกด้วยการส่งสันติบาล ไปจับกุม ณ วัดมหาธาตุ ในวันที่ 20 เมษายน 2505 ด้วยข้อหาว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร พระอาสภเถร ไม่แสดงอาการขัดขืน แต่ขอเจ้าหน้าที่ตำรวจเขียนบันทึกสั่งการงานที่คั่งค้างอยู่อย่างองอาจ ก่อนจะถูกนำตัวไปสันติบาล [66] เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่พบว่า ระหว่างจับกุมได้กรมตำรวจ ได้นำแถลงการณ์ส่งไปออกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อ้างความจำเป็นในการจับกุมคราวนี้ว่า
"ถ้าปล่อยไว้ก็จะเป็นภยันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อสถาบัน ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการจับกุมตัวมาดำเนินคดีต่อไป" [67]
ในที่สุดก็พระอาสภเถระก็ถูกกระชากผ้ากาสาวพัสตร์ออกไปโดยคำสั่งของสังฆ มนตรีโดยผู้ลงมือคือ พระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา และพระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว ฐิตวีโร) วัดไตรมิตร ทำให้ต้องเปลี่ยนไปครองผ้ากาสาวพัสตร์สีขาวแทน การสึกจบลงด้วยการที่อดีตพระอาสภเถระเดินทางไปจำพรรษาในฐานะอาคันตุกะ ณ สันติปาลาราม ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2505 ถูกทำให้หายไปจากวงการสงฆ์อีกสิบกว่าปี [68] การใช้อำนาจในการสึกให้ขาดจากความเป็นพระนั้น เป็นโทษสูงเทียบได้กับการประหารชีวิตเลยทีเดียว การใช้อำนาจบนกระบวนการไม่ชอบธรรมอย่างเลวร้ายเพื่อทำลายบุคคลๆเดียว นอกจากจะเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ภายใต้กฎหมาย เดียวกันแล้ว ยังเป็นการบิดเบือนกระบวนการทางกฎหมายเพื่อรับใช้เป้าหมายอย่างไร้ความชอบ ธรรมอย่างยิ่ง โศกนาฏกรรมชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ที่สุดท้ายต้องลี้ภัยและตายในต่างแดน ก็มีจุดจบที่เอน็จอนาถไม่ต่างไปจากพระพิมลธรรม (อาจ) เลย
พระพิมลธรรม (อาจ) ในชุดห่มขาว
ลายมือของพระพิมลธรรม (อาจ) อ่านได้ว่า “ถึงแม้ว่าจะมีผู้มีใจโหดร้ายทารุณแย่งชิง ผ้ากาสาวพัตรของกระผมไป กระผมก็จะนุ่งห่ม ผ้ากาสาวพัสตรชุดอื่นแทน ซึ่งกระผมมีสิทธิตาม พระธรรมวินัยและกฎหมาย จึงขอให้ท่านเจ้าคุณ ผู้รู้เห็นอยู่ ณ ที่นี้ โปรดทราบและเป็นสักขีพยาน ให้แก่กระผมตามคำปฏิญาณนี้ด้วย - อาสภเถร!”
แม้ทั้งสองจะถูกใส่ร้าย แต่เรายังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่า สังคมร่วมสมัยจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อความไม่ถูกต้องนี้อย่างไร สอดคล้องกับคำอธิบายทางด้านศีลธรรม จริยธรรม ในสังคมไทยที่แทบจะไม่ได้ยึดโยงกับหน้าประวัติศาสตร์ ทั้งยังแสร้งลืมราวกับว่า คุณงามความดี และคนดีมีศีลธรรมทั้งหลายบริสุทธิ์ อยู่ลอยเหนือจากความจริงจากสังคม คนที่ถูกลงโทษก็สมควรด้วยแล้วกับความผิดโดยไม่ตั้งคำถาม หรือไม่ก็จำนนต่อความบ้อท่าของตัวเอง หรือที่สุดจะโทษว่าเป็นกรรมของบุคคล ก็สุดแล้วแต่จะอธิบายกัน
คำพูดที่พระพิมลธรรม (อาจ) เคยพูดไว้กับ สมัคร บุราวาศ เมื่ออยู่ในเรือนจำไม่อาจสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นกับเขาได้เลยนั่นคือ
“วิปัสสนากรรมฐานนี้แหละจะนำสันติภาพอันถาวรมาสู่โลกนี้ได้” [69]
ล้มพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ภาคสอง
ความอื้อฉาวจากกรณีพระพิมลธรรม ยิ่งทำให้สังฆสภาไม่สามารถดำเนินการอย่างราบรื่น พระที่เป็นสมาชิกสภามักยื่นกระทู้ถามเสมอ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม สังฆนายก และสังฆมนตรีรูปอื่นก็ไม่สามารถตอบต่อสภาให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างสังฆสภากับสังฆมนตรี แน่นอนว่าเป็นอุปสรรคต่อการปกครองคณะสงฆ์ให้ราบรื่น ในที่สุดก็ไปสู่การยกเลิกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ อย่างไรก็ดี แรงต้านพระราชบัญญัติคณะสงฆ์นี้เป็นไฟสุมขอนมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 แล้ว ความวุ่นวายอันเนื่องมาจากการโต้เถียงทางความคิดที่ละเมิดต่อลำดับศักดิ์สูง ต่ำในสังคมสงฆ์ การถ่วงดุลตรวจสอบไม่ให้เกิดอำนาจที่ฉ้อฉล ก็ทำให้การปกครองสงฆ์เป็นไปอย่างไม่สะดวกใจสำหรับพระสงฆ์บางคน [70]
เขียนด้วยมือประชาชน ลบด้วยส้นตีนเผด็จการ
ที่ประชุมคณะสังฆมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมการ 5 รูปเมื่อเดือนตุลาคม 2501 เพื่อพิจารณาข้อบกพร่องของพ.ร.บ.เดิม โดยสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน) สังฆนายก เป็นประธาน ซึ่งประเด็นที่คณะสงฆ์เห็นว่าเป็นปัญหาคือ ความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2489 มาตรา 13 ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่พระฝ่ายธรรมยุต 22 รูปนำเสนอเมื่อปี 2490 มาแล้ว [71] จึงได้มีการดำเนินการยกร่างพ.ร.บ. ไม่พบว่าร่างดังกล่าวมีความคืบหน้าเพียงใด เรื่องพ.ร.บ.ใหม่เป็นข่าวอีกทีก็คือ การที่สภาร่างรัฐธรรมนูญในอำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2505 โดยมีพระอรรถการีย์นิพนธ์ เป็นประธานกรรมาธิการ และกรรมาธิการคนสำคัญที่เป็นพระเปรียญเก่าอย่าง ปิ่น มุทุกันต์ ยศพันเอก [72] (ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศาสนาในปี 2506) ร่างดังกล่าวแทบจะไม่มีเสียงคัดค้าน อาจเป็นเพราะว่า กฎหมายดังกล่าวมีใบสั่งมาจากสฤษดิ์ การคัดค้านจึงถูกทำให้เงียบลงโดยปริยาย และในที่สุดสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ลงมติเห็นควรใช้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นกฎหมายด้วยผลคะแนนผู้เห็นด้วย 112 เสียง และไม่เห็นด้วย 1 เสียง กฎหมายดังกล่าวก์ถือว่าผ่านที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 ธันวาคม 2505 เรียกว่า พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 [73]
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ตราเมื่อ 25 ธันวาคม 2505
ทั้งที่ปัญหาการจัดการเชิงโครงสร้างดังกล่าวต้องการระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลและความรับผิดชอบ การล้มกระดานโครงสร้างดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการใช้อำนาจเข้าไปจัดการปัญหา ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆถูกแก้ไขไปอย่างฉาบฉวย และกลับทำให้คณะสงฆ์และพุทธศาสนากลับเข้าไปอยู่ปริมณฑลที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ ดังเดิม ในบรรทัดฐานของสังคมไทยในยุค “ปฏิวัติ” ที่นำโดย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่เป็นหัวหอกสำคัญในการรื้อฟื้นอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ราชาชาตินิยมอย่างเต็มกำลัง ขณะเดียวกันก็ได้ทำการกวาดล้างเสี้ยนหนามตั้งแต่ฝ่ายซ้าย มาจนถึงฝ่ายเสรีนิยม กดหัวให้อยู่ใต้บรรยากาศเผด็จการ
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกันแล้ว สังคมสงฆ์เมื่อถูกตามใจด้วยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 กฎหมายดังกล่าวถูกแก้ไขอีกครั้งในปี 2535 โดยไม่กระทบกับโครงสร้างเดิม มาจนถึงปัจจุบันทำให้เห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญทางโลกจะหกล้มหกลุก ลองผิดลองถูกในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ โดยเฉพาะฉบับหลังๆที่ให้ความสำคัญกับประชาชน สิทธิของคนในระดับต่างๆมากขึ้น แต่กฎหมายของคณะสงฆ์ก็ยังผดุงซึ่งอำนาจของพระในกลุ่มเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในความลี้ลับสนธยาของวงการสงฆ์ ทั้งยังประสานเสียงไปกับการเติบโตของสังคมความเชื่อ พุทธพาณิชย์ และนับวันการปกครองสงฆ์ก็นับวันจะประสบปัญหาอันเนื่องมาจากความหลากหลายของ ลัทธิพิธีจำนวนมาก เซลล์ย่อยๆเหล่านี้ หากไม่มีอำนาจวาสนาบารมีมากพอ ก็จะถูกอำนาจรัฐที่มอบมาสู่มือสงฆ์ ทำลายล้างและบดขยี้ แต่หากว่าเซลล์นั้นเข้มแข็งและเกาะเกี่ยวกันแน่น หรือกระทั่งมีเส้นสายมากพอ นับวันสิ่งเหล่านั้นก็จะเริ่มกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือในอนาคตก็จะเข้ามากลืนกินสิ่งที่สงฆ์พยายามรักษาไว้อย่างสุดชีวิตนั้นก็ ได้.
อ้างอิง:
- แสวง อุดมศรี. การปกครองคณะสงฆ์ไทย (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย), 2533, น.230
- กองบรรณาธิการประชาไท. "คุยกันยาวๆ กับ ‘วรเจตน์ ภาคีรัตน์’: อ่านกันชัดๆ ว่าด้วยความพยายามเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ" . http://prachatai.com/journal/2011/09/37007 (21 กันยายน 2554)
- แสวง อุดมศรี. การปกครองคณะสงฆ์ไทย (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย), 2533, น.113
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน,, น.115
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.120
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน,, น.184
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน,, น.184
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.190
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.193-195
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.204
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.184
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.204-206
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.212
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.206
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.207
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.211
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.209
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.213
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.213-214
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.214
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.214
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.216
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.216-217
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.218
- "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ใน ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 30 เล่มที่ 63 , 10 พฤษภาคม 2489
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.220 และ 232
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.224
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.220-221
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.222
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.222
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.228
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.228
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.230
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.230
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.237
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.238
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.238-239
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.241
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.250
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.252
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.254
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.261-262
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.265
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.266
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.266
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.274
- พุทธทาสภิกขุ. พุทธทาสลิขิตธรรม บันทึกนึกได้เอง (กรุงเทพฯ : สวนโมกขพลารามและคณะธรรมทานสุราษฎร์ธานี, พิมพ์ครั้งที่ 2), 2548
- "คอมมิวนิสต์สายพระ" http://board.palungjit.com/archive/t-117430.html (8 มีนาคม 2551) ในระยะสั้นผู้เขียนมีข้อจำกัดในการหาแหล่งข้อมูลชั้นต้น ข้อมูลดังกล่าวจะตัองรอการยืนยันจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออีกครั้ง
- สมัคร บุราวาศ. หนึ่งเดือนในวิปัสสนา (กรุงเทพฯ : ศยาม), 2544, น.8
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. "deja vu ทักษิณ VS นายกฯพระราชทาน, พิบูล-เผ่า VS สฤษดิ์." ใน ประชาไทออนไลน์. http://prachatai.com/journal/2006/03/7681 (10 มีนาคม 2549)
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.278-279
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.279
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.278-279
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.283
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.282-283
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.283
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.285-286
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.287
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.289
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.290-291
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.293
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.294
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.296
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.299-300
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.306-307
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.308-310
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.310
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.322
- สมัคร บุราวาศ. เรื่องเดียวกัน, น.36
- แสวง อุดมศรี. เรื่องเดียวกัน, น.323
- กรมการศานา. “รายงานการประชุมคณะสังฆมนตรี ครั้งที 15/2501” วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2501 ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร” อ้างใน พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. การปกครองคณะสงฆ์ไทยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539, น.218
- รัฐสภา. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ทำหน้าที่นิติบัญญัติ)” เล่ม 4. พ.ศ.2505 อ้างใน พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.219
- รัฐสภา. รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ทำหน้าที่นิติบัญญัติ)” เล่ม 4. พ.ศ.2505, น.1193 อ้างใน พระมหาวรชัย กลึงโพธิ์. เรื่องเดียวกัน, น.219