ระวัง! “มาร์ค” สับขาหลอก!!
เลิก พ.ร.ก.-ยุบสภา ง่ายเกินเหตุ?
ในยามสบายใจ ในยามที่ได้อย่างใจแล้ว คนเรามักจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ บางเรื่องที่น่าจะพูดยาก ก็กลับกลายเป็นเรื่องที่พูดง่าย
ก็ ดูอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากสบายอกสบายใจ จากการที่พรรคประชาธิปัตย์ สามารถรอดพ้นจากคดียุบพรรคได้ฉลุย 2 คดีรวด
จะไม่ให้อารมณ์ดีได้อย่างไร
ดัง นั้นแม้ว่าในวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น”วันรัฐธรรมนูญ”บรรดาพี่น้องกลุ่มเสื้อแดง จะมีการแสดงพลัง มีการแสดงออกถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง
ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ รู้สึกเฉยๆ
เสื้อ แดงจะปล่อยนกพิราบ จะจุดเทียนสดุดีวีรชน จะมีพิธีปล่อยโคมไฟสีแดง จะนำเชือกสีดำขึงพานรัฐธรรมนูญ และผูกนกกระดาษสีแดงไว้รอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
รวมทั้งแม้ว่าประชาชนคนเสื้อแดงจะมาร่วมกิจกรรมเป็นหลักหมื่น จะพากันตะโกนให้ปล่อยเสื้อแดง ปล่อยแกนนำ เอาความยุติธรรมคืนมา
รวม ทั้งเรื่องคดีที่เป็นสำนวนของ”กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ ดีเอสไอ ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ นำมาเปิดเผยว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหาร และก็นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ยอมรับว่าเป็นข้อมูลในสำนวนของดีเอสไอจริง และกองทัพก็ไม่ได้ปฏิเสธนั้น ขนาดว่าจะให้มีการนำสำนวนไปยื่นให้กับเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
และนำคดีของผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นไปยื่นให้สถานทูตญี่ปุ่น พร้อมกับยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ด้วย... มาร์คก็ยังเฉยๆ
จะเห็นว่า การยกคำร้อง 2 คดีรวดของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นยาแก้เครียด และทำให้อารมณ์ของนายอภิสิทธิ์ ดีจริงๆ
ดัง นั้นเมื่อนายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ ผู้ประสานงานแนวร่วมพลเมืองไท นำคนเสื้อแดงประมาณ 30 คนมายื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้สร้างแนวทางให้เกิดความสงบสุขแก่ประเทศไทย โดยยกเลิกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย
รวม ทั้งยังเรียกร้องให้ นายกฯ ประกาศกำหนดการยุบสภาอย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมาดำรงตำแหน่งได้ไม่สง่างาม และควรปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมแค่มาตรฐานเดียว
อย่าเห็นว่าคน เสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยเป็น”พลเมืองชั้นสอ” หยุดไล่ล่า ใส่ร้ายป้ายสีกับคนเสื้อแดง ความสงบสุขของประเทศไทยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ ถ้าทำได้พวกเราพร้อมที่จะหยุดเคลื่อนไหวทันที
และพร้อมต้อนรับนายกฯ สู่จังหวัดเชียงใหม่และทุกเขตที่เรามีแนวร่วม และเราจะเดินเป็นเพื่อน คอยปกป้องโดยที่นายกฯ ไม่ต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่รปภ.ครั้งละพันคน
ซึ่งหากเป็นนายอภิสิทธิ์ ช่วงก่อนตัดสินคดียุบพรรค ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการฟังผ่านๆ ฟังเฉยๆ
แต่ ว่าเที่ยวนี้ นายอภิสิทธิ์ กลับยอมรับว่า กำลังเตรียมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เท่ากับสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น แต่การยุบสภาเป็นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งต้องติดตามว่าภายหลังเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปใช้กฎหมายปกติแล้ว สถานการณ์เป็นอย่างไร เพราะไม่อยากให้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินระหว่างเลือกตั้ง
จน ถึงวันนี้เงื่อนไขยุบสภาทั้ง 3 ข้อของตน ถือว่าใกล้เคียงมากแล้ว เหลือเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเปิดประชุมสภาสมัยหน้า ถ้าผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ ก็ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม
ส่วน ว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ จะนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งได้เลยใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถือว่าบ้านเมืองพร้อมอีกขั้นหนึ่ง หากดูปฏิทินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าคณะกรรมาธิการร่วมชุดที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นประธาน ทำงานเสร็จในช่วงปิดสมัยประชุม เมื่อเปิดมาก็นำเข้าสู่การพิจารณาในวาระสอง ก่อนเว้นวรรค 15 วัน และเข้าพิจารณาในวาระสามได้ทันที
ซึ่งเมื่อถูกถามว่า แบบนี้การยุบสภาก็ไม่น่าเกินมีนาคมหรือเมษายนปีหน้าใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบทันทีว่า “ก็เป็นไปได้”
สอด คล้องกับที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ.ศอฉ. เป็นประธานประชุมศอฉ. โดยมีพล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ร.อ. กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ. แถลงว่า ได้มีการประชุมหารือ 2 เรื่องสำคัญ คือ เรื่องที่กลุ่มการเมืองนำความไปชี้แจงทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมว่า มีทหารเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุมช่วงเดือนเม.ย. 2553
และเรื่องที่ 2 มติศอฉ.ที่จะนำเสนอรัฐบาลถึงแนวโน้มของสถานการณ์และแนวคิดยกเลิกพ.ร.ก.ฉุก เฉิน ซึ่งจากการติดตามของศอฉ.เห็นว่าสถานการณ์โดยรวมมีทิศทางคลี่คลายในทางที่ดี ขึ้นเรื่อยๆ ศอฉ.จึงมีมติจะนำเสนอรัฐบาลในสัปดาห์หน้าว่าควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้ง 4 จังหวัด คือ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ
ส่วนจะเลิกหรือไม่เลิกเมื่อไหร่นั้น เป็นดุลพินิจของนายกฯ โดยจะให้เลขาธิการสมช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 14 ธ.ค.
ซึ่ง หากยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็จะบังคับใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงในหมวดที่ 1 ซึ่งเป็นกฎหมายภาคปกติ เพียงแต่จะตั้งคณะกรรมการทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์ หากเกิดเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มมีความรุนแรง เจ้าหน้าที่จะได้บูรณาการร่วมกันทำงานได้สะดวกขึ้น โดยจะใช้แผนรักษาความสงบเรียบร้อยของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ตามมาตรา 7 วงเล็บ 2 มารองรับดูแลความสงบเรียบร้อย
โดยยึดโครงสร้างการทำงานของกอ.รมน. ทหารจะเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ส่วนตำรวจจะเป็นผู้ปฏิบัติหลัก
แต่ หากสถานการณ์แนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นก็นำพ.ร.บ.ความมั่นคงในหมวดที่ 2 มาบังคับใช้ นำเรื่องเสนอเข้าครม. เพื่อประกาศพื้นที่ที่เห็นว่าสถานการณ์มีความรุนแรงกำหนดเป็นพื้นที่ พ.ร.บ.มั่นคง โดยกำหนดเวลาที่แน่นอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือเทศกิจจำนวนหนึ่งจะถูกบรรจุเป็นเจ้าพนักงาน รวมถึงการตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ความมั่นคง หมวดที่ 1 มาตรา 7 ระบุว่า ให้กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักรและรายงานคณะรัฐมนตรี ดำเนินการต่อไป
และกอ.รมน.ยังมีอำนาจหน้าที่เสนอแผนและแนวทางปฏิบัติงานต่อครม. ด้วย
ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ ได้ย้ำว่าอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันรักษาบรรยากาศทางการเมือง เพราะศอฉ.ยืนยันแล้วว่าจะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนปีใหม่ โดยอาจจะเสนอครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า ดังนั้นถ้าต้องการเห็นการยุบสภาก็ไม่ควรเคลื่อนไหวจนเกิดปัญหา และหันกลับมาร่วมมือกันเพื่อให้ยุบสภาโดยเร็ว
อนึ่ง ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์-รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย” โดยมีนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายณัฐพล ใจจริง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา นายสมศักดิ์ เจียมธีระสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร
โดยนายสุธาชัยกล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะประเทศไทยมีพวกเนติบริกรที่มีหน้าที่ในการร่างรัฐ ธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2521 ส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิม โดยชนชั้นนำไทยมักจะแสร้งพูดว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ในทางความจริงแล้วถูกปฏิบัติให้ต่ำที่สุด ถูกฉีกได้ง่ายที่สุด
นาย ณัฐพล กล่าวว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ระบอบการปกครองของมีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ เปรียบได้กับนิทานเรื่องแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ เพราะยักษ์ถูกจับใส่กล่องไม่ให้มีกระบอง แต่หลังปี 2490 เป็นต้นมา ได้มีกลุ่มอำนาจเดิมเปิดกล่องแพนโดร่าให้ยักษ์ออกจากกล่อง ทำให้อำนาจของประชาชนถูกบิดพลิ้วจนกลายเป็นการปกครองที่แปลกประหลาด
ด้าน นายสมศักดิ์ เจียมธีระสกุล กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับไทยส่วนหนึ่งเกิดจากชนชั้นนำประเมินประชาชนต่ำไป ด้วยการใช้ 2 มาตรฐานซ้อน 2 สองมาตรฐาน เห็นได้จากคดีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช่โอกาสนี้สร้างเครดิตให้กับตัวเองด้วยการยุบ พรรคประชาธิปัตย์ เพราะก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความเป็นกลาง ลักษณะแบบนี้สะท้อนว่าชนชั้นนำต้องการรักษาอำนาจลูกเดียว
เชื่อว่าการทำแบบนี้วันหนึ่งแรงเหวี่ยงจะสะท้อนกลับมา
ทั้ง นี้บรรยากาศการจัดงานดังกล่าวได้รับการตอบรับจากคนเสื้อแดงมาร่วมงาน จำนวนมากจนล้นห้องประชุม ทำให้ผู้จัดต้องเปิดห้องประชุมอีกห้องเพื่อรองรับที่ชั้น 3 ของตึกคณะนิติศาสตร์ โดยมีการยิงสัญญาณผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แต่ก็ประสบปัญหามีภาพแต่ไม่มีเสียงเป็นระยะๆ ทำให้คนเสื้อแดงส่งเสียงโห่ร้องไม่พอใจ โดยระบุว่ามีการตัดสัญญาณหรือก่อกวนสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้คนเสื้อแดงต้องลงมารวมตัวฟังกันด้านล่างหน้าลานคณะนิติศาสตร์ โดยมีการเปิดเสียงผ่านลำโพง