เพื่อไทย
Friday, April 11, 2008
แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ จับทักษิณเป็นตัวประกัน
แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับ จับทักษิณเป็นตัวประกัน
Submitted on 05 April 2008 - 02:41:43. Category: Uncategorized. Tags:
พิณผกา งามสม/พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ
เมื่อกระแสแก้รัฐธรรมนูญ เริ่มต้นด้วยการถูกโจมตีว่าจะเป็นการเบิกทางให้กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับเข้ามามีที่อยู่ที่ยืนในเวทีการเมืองไทยอีกครั้ง มิหนำซ้ำยังเป็นการ
ปูทางไปสู่การฟอกตัวของอดีตนายกผู้ซึ่งตามทัศนะของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มองว่าเป็นเหตุแห่งความวิบัติทั้งสิ้นทั้งมวลของประเทศชาติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็กลายมาสู่เรื่องการเอาทักษิณหรือไม่เอาทักษิณ
แบบกลยุทธ์ขายเบียร์พ่วงเหล้า คือถ้าไม่เอาทักษิณก็ต้องไม่แก้รัฐธรรมนูญ ถ้าใครจะแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นพวกทักษิณ ว่ากันตามจริงแล้ว ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรในโครงการสร้างการเมืองไทยที่เกิดขึ้นเวลานี้ ก็ถูกจับโยนลงไปเป็นประเด็น เอาทักษิณกลับมา หรืออย่าเอาทักษิณกลับมา.....นับเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ หนึ่งเดียวของโลกจริงๆ
รับไปก่อน แก้ทีหลัง
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญไปที่ไหนก็บอกชาวบ้านให้รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลัง สำทับอีกทีโดยนายจรัญ ภักดีธนากุล ก่อนที่จะมีการลงประชามติ พ่วงด้วยการบอกอีกซ้ำๆ ว่าหากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญก็จะไม่มีเลือกตั้ง ถึงเวลานี้ดูเหมือนไม่มีใครทบทวนความจำอันแสนสั้นและเลือนรางเสียแล้ว
เมื่อประเด็นแก้รัฐธรรมนูญถูกจุดขึ้นโดยฝ่ายรัฐบาล ในห้วงเวลาที่ รายชื่อ พรรคการเมือง 3 พรรค อันได้แก่ พลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอันอาจจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ โดยพลัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาตอบโต้ทันทีว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นเหตุแห่งวิกฤตการเมือง ในขณะที่พลังเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใหญ่อย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกมากล่าวหาโดยทันทีว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีการยุบพรรครวมทั้งเพื่อฟอกตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ทั้งยังหวังว่าจะเป็นการปูทางให้ทักษิณกลับมาสู่เวทีการเมืองไทยอีกครั้ง
กระทั่งในการเสวนาวิชาการโดยพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการพ่วงด้วยคำขู่ว่าพันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวทันทีที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ
ดูทีว่า ฝ่ายพันธมิตรฯ และพรรคฝ่ายค้านมีความกลัวอย่างสุดขีดว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลนำโดยพรรคพลังประชาชนจะนำไปสู่ความอยู่รอดปลอดภัยของ 3 พรรคการเมือง แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายมองว่า 3 พรรคนี้ ดูท่าว่าจะชะตาขาดไปแล้ว เพราะแม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญจริง ก็คงไม่ทันการกับคดีที่ขณะนี้ไปอยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
อะไรบ้างที่ถูกเสนอให้แก้ และอะไรบ้างที่ไม่ควรแก้ ในรัฐธรรมนูญ 2550
5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์นำมาเป็นเจ้าแรกว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ โดยประเด็นแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นสุดท้ายในแถลงการณ์คัดค้านการยุบพรรคการเมือง โดยเหตุผลหลักของคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวคือ บทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้นขัดกับหลักนิติธรรม โดยเฉพาะบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ลงโทษแบบเหมารวม คือทำผิดคนเดียว ลงโทษทั้งพรรค เป็น "การฝืนพัฒนาการทางกฎหมายของโลกและจะทำให้สถานะทางกฎหมายของประเทศตกต่ำลงในสายตาของนานาอารยะประเทศ" อันที่จริงอาจารย์ 5 ท่านได้จำแนกมาโดยละเอียดถึง 10 ประเด็น เฉพาะกรณีมาตรา 237 ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า บทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรค อาจารย์ 5 ท่านดักคอ (ใครก็ไม่รู้) เอาไว้ก่อนว่าเมื่อกฎหมายมีอยู่อย่างนี้และมีปัญหาต่อหลักนิติธรรมอย่างรุนแรงตั้งหลายข้อดังได้กล่าวไปนั้น เวลาที่จะพิจารณาคดีพรรคการเมือง ก็คงจะตีความไปตามตัวบทอย่างซื่อๆ ไม่ได้ หากแต่ต้องยึดเอาทั้งหลักนิติรัฐและนิติธรรมเป็นที่ตั้ง ตบท้ายว่า เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไข อย่างน้อยก็มาตรานี้แหละ
จากนั้น ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งใน 5 อาจารย์กลุ่มดังกล่าวได้เขียนบทความออกมาแสดงความเห็นส่วนตัวว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ต้องมีอย่างน้อย 5 ประเด็นได้แก่
•1. ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.
•2. ที่มาของส.ว.
•3. การรับรองให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นให้ดำรงตำแหน่งต่อไปได้เต็มวาระ
•4. กระบวนการยุบพรรค อำนาจของ กกต.ในการแจกใบเหลือง-ใบแดงแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และ
•5. มาตรา 309 ที่ "ได้เสกให้ ๑.) คำสั่ง คปค. ๒.) ประกาศ คปค. ๓.) การปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศ คปค. ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๙ และ ๔.) การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับ ๑-๓ ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่ว่าโดยแท้จริงแล้วจะชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ตาม กลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ทุกประการ"
นี่ดูจะเป็นข้อเสนอที่ชัดเจนที่สุดที่ถูกเสนอออกมา ก่อนที่กระแสแก้รัฐธรรมนูญได้เด่นทางเข้าสู่สงครามน้ำลายระหว่างฝ่ายค้าน รัฐบาล และพันธมิตรฯ
รัฐธรรมนูญ 2540 ทางกลับคือการเดินทางต่อ
วันที่ 30 มี.ค. วรพล พรหมิกบุตร อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ซึ่งถูกติดป้ายเป็นฝ่าย นปก. ไปแล้ว และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกมาประสานเสียงกันโดยมิได้นัดหมาย ให้นำเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นพื้นฐานในการแก้รัฐธรรมนูญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่านับถึงวินาทีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ก็ยังถูกอ้างอิงถึงว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา และเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนร่วมมากที่สุดเช่นกัน
แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ต้องมีปัญหา และปัญหานั้นถูกพูดถึงตั้งแต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีอายุครบ 7 ปีด้วยซ้ำไป โดยนายชุมพล ศิลปะอาชากล่าวเชิงรับว่า รัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเริ่มมีปัญหาและคงต้องถูกนำมาพิจารณากันอีกสักครั้งว่าจะปรับแก้อะไรได้บ้าง ครั้งนั้น เป็นช่วงแรกๆ ของวิกฤตองค์กรอิสระที่เริ่มดำเนินไปไม่ได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว
เช่นเกี่ยวกันกับข้อวิจารณ์จากวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่วิพากษ์องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่ามีเส้นแบ่งของอำนาจที่ไม่ชัดเจน และจะก่อให้เกิดปัญหาในภายหลังได้ นอกเหนือจากประเด็นองค์กรอิสระแล้ว ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่แม้จะถูกอ้างเสมอว่า ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่มีอิทธิพลชี้นำโดยทั้งให้ข้อมูล รวมทั้งโน้มน้าวความคิดความเชื่อของประชาชนก็หนีไม่พ้นเหล่านักวิชาการอรหันต์ทั้งหลายที่ได้ข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
ข้อสังเกตนั้นย่อมนำไปสู่การแก้ไข และรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ถูกโจมตีหนักขนาดที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำลังเผชิญว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็น ปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย และเป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การรัฐประหารเงียบ เว้นเสียแต่จะมีใครอยากจะกล่าวหาว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้คนอย่างทักษิณ เข้ามาทำลายประชาธิปไตยไทยก็ช่วยยกมาตราไหนสักมาตรามาอ้างด้วย
ขณะที่บรรดาเซียนการเมือง และกูรูทั้งหลายออกมาแลกหมัด เอ๊ย แลกเปลี่ยนกันฝุ่นตลบอยู่เรื่องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ และถ้าแก้แล้วจะแก้แบบไหน เสียงหนึ่งที่แหวกกระแสเอามากๆ ดังมาจากฝั่งนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวที่จับตาเรื่องการเจรจาเอฟทีเอของรัฐบาลไทยมาตั้งแต่สมัยของ รัฐบาลไทยรักไทย ออกมาดักทางรัฐบาลที่กำลังเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่ารํฐธรรมนูญ 2550 จะถูกวิพากษ์หรือวิจารณ์ว่าอย่างไร แต่ในนั้นก็มีมาตราหนึ่งที่เข้าท่าเข้าทาง ก็คือมาตรา190 แต่ก็ขณะนี้กำลังถูกวิปรัฐบาลเสนอเข้าไปพิจารณาแก้ไขด้วย
หัวใจหลักในการผลักดันมาตรา 190 คือการอุดช่องว่างช่องโหว่สำคัญจากมาตรา 224 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ตีความให้รัฐบาลไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างจริงจังและไม่ต้องนำเอฟทีเอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ โดยการผลักดันทำผ่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนสำคัญ อย่าง สุริชัย หวันแก้ว
อย่าลืมนับเสียงประชาชน
ความคืบหน้าของเรื่องแก้รัฐธรรมนูญขณะนี้ อยู่ในชั้นที่วิปรัฐบาลเสนอต่อรัฐสภาแก้หรือยกเลิกจำนวน 5 มาตรา อันได้แก่ 1. แก้ ม. 237 ว่าด้วยการยุบพรรค 2 ยกเลิกมาตรา 309 3) แก้ไขมาตรา 266 ว่าด้วยการโยกย้ายข้าราชการ 4) ให้ประชาชนเสนอกฎหมาย - เพิ่มเติมให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ทุกเรื่อง จากเดิมให้เสนอกฎหมายได้แค่เฉพาะในหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และ 5 เสนอแก้มาตรา 190 ดังได้มีเสียงคัดค้านเกิดขึ้นแล้ว ส่วนการแก้มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคก็มีการออกมาคัดคานโดยคณาจารย์ 41 คนจาก 9 สถาบัน ไม่เหมาะสมเพราะเป็นกรณีที่พรรคการเมืองและนักการเมืองมีส่วนได้เสียเอง
ในฝุ่นควันของการอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญ และการเดินหน้าไปของฝ่ายพรรครัฐบาล ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักเรียนรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายอิ ตั้งข้อสังเกตกับประชาไทด้วยเสียงนุ่มๆ สไตล์เขา เป็นหนักแบบส่งหมัดตรงไปยังปลายคางนักการเมืองและกูรูทั้งหลายว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนุญ 2550 จะมีข้อผิดพลาดเลวร้ายอย่างไร
แต่ขณะนี้สิ่งที่เราได้ยินกันก็เพียงแต่ได้ยินการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างผู้เชี่ยวชาญ หรือชี้นำเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ผ่านประชามติจากประชาชนถึง 14 ล้านเสียง แม้จะมีข้อกล่าวหาว่ามีการปล่อยข่าวลวง หรือจะอธิบายแบบที่คนต้านทักษิณถนัดก็คือ เสียงไม่เอาก็มีตั้ง 10 ล้านเสียง ชนะกันไม่ขาด แต่เราก็ไม่สามารถเพิกเฉยต่อ 14 ล้านเสียงได้ หากจะแก้รัฐธรรมนูญจะทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นการเพิกเฉยต่อ 14 ล้านเสียง........นี่เป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่ฝ่ายเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งอ้างอิงตัวเองอยู่บนฐานของประชาธิปไตยต้องฝ่าไปด้วย เพราะอย่างน้อยฐานที่ชอบธรรม และการเคารพเสียงของประชาชน เคยช่วยรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งอยู่ได้ตั้ง 10 ปี (หุหุ) ถ้าไม่มีรัฐประหาร
(ขอขอบคุณพิณผกา งามสม/พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ บทความที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นสื่อสองทิศทาง...เพื่อทางออกประเทศไทย ขอบคุณอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง)
คืนรัง
ใครกันแน่ ตอแหลประชาชน
แม้ว่าวาทกรรมที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประดิดประดอยออกมาจะไร้น้ำหนักลงทุกวัน เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายในเนื้อหาสาระที่ขาดข้อเท็จจริง มีแต่การสร้างถ้อยคำเพื่อให้ร้ายรัฐบาลก็ตาม
แต่ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับบ้านนี้เมืองนี้สักเท่าไร ที่ปล่อยให้คนแค่ 4-5 คน ออกมากล่าวหา ชักจูงด้วยความพยายามให้ประชาชนหลงเชื่อว่าบ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย หลงเชื่อว่ารัฐบาลกำลังทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
ทั้งที่หากแกะรอยแถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เคยออกมาทั้ง 5 ฉบับแล้ว จะเห็นได้ชัดว่ามีความเท็จอยู่เป็นกระบุง แถมบางเรื่องก็เป็นเพียงการคาดเดาอย่างคนมองโลกในแง่ร้าย
ทั้งที่บางเรื่องราวยังไม่เกิดขึ้น และหลายเรื่องราวไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงดังที่พยายามกล่าวหาด้วยซ้ำไป
ยิ่งมาถึงแถลงการณ์ฉบับที่ 6 "ต่อต้านรัฐประหารเงียบ" ยิ่งแทบไม่มีเค้าความจริงแม้แต่บรรทัดเดียว
ว่ากันตั้งแต่ชื่อเรื่องก็ผิดเสียแล้ว เพราะสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชาชน ออกปากเรียกร้องคือการได้คืนมาซึ่งระบอบประชาธิปไตย และไม่เอาเผด็จการ
แต่ใครกันแน่ที่เชื้อเชิญให้เกิดการยึดอำนาจ และออกท่านิยมชมชอบการ "รัฐประหาร" ความจริงแล้วผมไม่อยากจะหยิบเรื่องราวนี้มาเขียนถึงเสียด้วยซ้ำไป เพราะอาจจะเป็นการใช้พื้นที่อย่างไม่คุ้มค่า
แต่ก็ไปสะดุดเอาเนื้อหาในแถลงการณ์ที่ว่า การมีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของรัฐบาลเป็นเล่ห์เพทุบายหลอกประชาชน
ในขณะที่ก่อนหน้าที่ขณะที่หลายฝ่ายมีการพูดถึงการแก้ไข มาตรา 237 และ มาตรา 309 ก็กล่าวหาว่ารัฐบาลจะทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง
เลยไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแบบไหนพันธมิตรฯ ถึงจะเห็นด้วย หรือหากเป็นผลงาน เป็นแนวคิดของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ให้ตั้งธงไว้ก่อนว่าผิดทั้งหมดอย่างนั้นหรือเปล่า
แล้วข้อความต่อไปนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จมากน้อยแค่ไหนกันแน่...
"พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่เคยปฏิเสธที่จะให้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมและความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย ไม่มุ่งประสงค์ลบล้างความผิดของตัวเองและพวกพ้องให้มีอภิสิทธิ์อยู่เหนือกฎหมาย ไม่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล..."
ซึ่งคงจะต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า แล้วสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่มันผิดเงื่อนไขดังที่ว่าตรงไหน มีอะไรที่ชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ส่วนรวม มีอะไรบ้างที่ส่อว่าจะขัดต่อหลักนิติธรรม
ทั้งที่กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่เกิด รูปแบบ แนวทางในการแก้ไขยังไม่ได้ถูกกำหนด แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ออกมาหาเหตุกล่าวหาเสียก่อนล่วงหน้า
รวมทั้งประเด็นที่ระบุว่า "ต้องไม่มุ่งลบล้างความผิดของตัวเองและพวกพ้อง" ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ตีความ มาตรา 309 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าอย่างไร
หรือคิดแค่ว่า "อะไรที่เป็นประโยชน์กู พวกกู ถูกทั้งหมด"
ยิ่งได้ฟังต่อมาถึงจุดยืนของกลุ่มพันธมิตรฯ ยิ่งอ่อนอกอ่อนใจไปกันใหญ่ เพราะไม่คิดว่าพันธมิตรฯ จะดูถูกประชาชนด้วยการเอาความเท็จมาบอกเล่าถึงขนาดนี้
กลุ่มพันธมิตรฯ อ้างเสียงประชามติ 14 ล้านเสียงที่รับร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันความเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด โดยไม่พูดถึงอีก 10 ล้านเสียงที่ไม่เห็นด้วย
ไม่พูดถึงแผน "ประชาธิปไตยสีขาว" ไม่พูดถึงทหารที่ลงไปเดินในภาคเหนือ ภาคอีสาน และไปให้ข้อมูลผิดๆ กับประชาชน จนเกิดการไข้วเขว
ยังไม่รวมถึงการสร้างความหวั่นไหว ด้วยการบอกว่าหากผลออกมาประชาชนไม่รับร่าง รธน.50 จะมีการหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ ซึ่งไม่ได้การันตีว่าจะเป็น รธน.40 หรือไม่
ที่สำคัญมีการหลอกลวงจากรัฐบาลขณะนั้นที่พูดเอาง่ายๆ ว่า "รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขทีหลัง" ซึ่งก็ทำให้ได้คะแนนสนับสนุนไปอีกมหาศาล
เพราะประชาชนอยากจะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป และเมื่อมีการเลือกตั้งประชาชนก็เลือกพรรคพลังประชาชน ที่ชูนโยบายในการแก้ไข รธน.50 มาอย่างถล่มทลาย
เท่านี้ก็เป็นการสะท้อนชัดแล้วว่าความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเป็นอย่างไรกันแน่
ขณะที่ประการสุดท้ายพันธมิตรฯ อ้างว่าประชาชนทั้งประเทศเหลืออดกับรัฐบาล ที่ไม่ให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ก็ยิ่งเป็นเรื่องตลก
เพราะรัฐบาลชุดนี้มีการลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ามาทำงาน ยาวเป็นบัญชีหางว่าว
แถมล่าสุดก็ยังแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยให้เกษตรกร ออกมาแก้ปัญหาราคาข้าว และยังมีเรื่องของโครงการ SML ที่อีกไม่กี่วันเงินจะลงไปถึงชาวบ้านงวดแรกหมื่นล้านบาท
ลำพังแค่ทำงานได้ไม่กี่วันก็น่าจะมีผลงานมากกว่ารัฐบาล 1 ปี 5 เดือน ที่มาจากเผด็จการด้วยซ้ำไป
เห็นชัดเช่นนี้แล้วเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจและตัดสินได้ว่า...
ใครกันแน่ที่ "ตอแหล" หลอกลวงประชาชน...!!
'วรเจตน์' หนุนแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ นายจอม เพชรประดับ ในรายการ "ถามจริง ตอบตรง" ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เกี่ยวประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยอาจารย์วรเจตน์เสนอแก้ไข รัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ และทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนได้มีส่วนร่วม ชี้หากแก้รัฐธรรมนูญด้วยสมมติฐาน ‘เอา' หรือ ‘ไม่เอา' ทักษิณ ก็ได้แค่กฎหมายที่มีกลไกพิกลพิการ สังคมไม่ไปไหน
ทั้งนี้ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น 1 ใน 5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประกาศสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ผ่านมาได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านบทบาทของตุลาการภิวัฒน์ ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2549 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษ กกต.ชุด พล.ต.อ. วาสนา เพิ่มลาภ และถือเป็นหัวหอกสำคัญของกลุ่มที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในช่วงการลงประชามติ
หนุนแก้ รธน. ทั้งฉบับเพราะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
นายวรเจตน์กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ การดีเบตร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติในวันที่ 19 ส.ค. ฝ่ายคัดค้านมองว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างและหลักการหลายเรื่อง ใช้ไปนานจะมีปัญหาต่อบ้านเมืองในระยะยาว
ประเด็นในขณะนี้มี ประการที่หนึ่ง จะแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ประการที่สอง หากจะมีการแก้จะแก้บางมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ แต่ขณะนี้ก็มีเสียงคัดค้านว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งประกาศใช้มา เพราะฉะนั้นอย่าแก้ ให้ใช้บังคับไปก่อน เพราะฉะนั้นการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะมีต่อไป แต่ผมคิดว่าเสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะดังกว่า ปัญหาคงอยู่ที่จะแก้บางมาตราหรือแก้ทั้งฉบับ
ซึ่งผมเห็นว่าควรจะแก้ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ไขเฉพาะบางมาตราจะไม่ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และปัญหาบางอย่างอาจจะไปปะทุขึ้นเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเรื่อยๆ อีกประเด็นคือหากการแก้เฉพาะบางมาตรา อาจจะมองได้ว่าเป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใดพรรคหนึ่ง การแก้ทั้งฉบับจะเป็นการนำประเทศออกจากวิกฤติรัฐธรรมนูญ
สำหรับระยะเวลาในการแก้ไขนั้นเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความจริงตั้งแต่การเลือกตั้งเลย เราเห็นความแปลกประหลาดและความผิดปกติของระบบเลือกตั้ง ประชาชนหลายคนคงข้องใจว่าทำไมเวลามีการเลือกตั้ง จังหวัดของเขาไปรวมกับจังหวัดอื่น การเลือกตั้ง ส.ว. ทำไมจังหวัดใหญ่ จังหวัดเล็กถึงมี ส.ว. ได้คนเดียวเหมือนกัน นี่คงเป็นปัญหาที่มีมาอยู่แล้ว ตามมาด้วยปัญหาการยุบพรรค ซึ่งมีการกระทบประเทศเราด้วย หากรอช้าต่อไป ยิ่งช้าไปเท่าไหร่ ความเสียหายก็จะยิ่งเกิดขึ้น
เวลาที่เราพูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ แน่นอนมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นรูปธรรมโดยตรงเพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่จะมีปัญหาในระยะยาว คือปัญหาพวกนี้เราจะมองไม่เห็น เราจะเห็นก็ต่อเมื่อมันเป็นกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางการเมือง และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กระทบต่อปากท้องไปในที่สุด เมื่อถึงตรงนี้นายจอมถามว่าจึงต้องแก้ตอนนี้ นายวรเจตน์กล่าวว่า "ถูกต้องครับ"
หากแก้ทั้งฉบับ ต้องแก้ ‘กระบวนการ' แก้
นายวรเจตน์กล่าวต่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญถ้าแก้ทั้งฉบับ ต้องแก้ที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกระบุไว้ใน ม.291 ซึ่งระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำอย่างไรบ้าง และเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา แต่ความมุ่งหมายนั้นคงเป็นเพียงการแก้บางมาตรา แต่ถ้าจะแก้ทั้งฉบับเราต้องย้อนกลับไปเหมือนกับที่เรามีประสบการณ์ก่อนปี 2540 นั่นคือต้องมีการตั้งองค์กรขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แล้วก็เอาทุกภาคส่วนเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายจอมถามว่า คิดอย่างไรที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เสนอว่าให้เอาญัตติในสภาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวรเจตน์ตอบว่า ผมไม่แน่ใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการแก้บางส่วนหรือทั้งฉบับ แต่เห็นว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญบางส่วนในพรรคประชาธิปัตย์คงไม่เห็นด้วย แต่ถ้าแก้ทั้งฉบับน่าจะเห็นด้วย ผมจำได้ว่าตอนที่ดีเบตเรื่องนี้กันที่เชียงใหม่ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางท่านก็บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีปัญหาอยู่ แต่อยากให้มันผ่านประชามติไปก่อนแล้วค่อยไปแก้
ความเข้าใจของผมคือถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีการจัดตั้งองค์กรที่ยกร่างกันขึ้นมาใหม่ แล้วก็มีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย น่าจะไม่มีใครคัดค้าน โดยนายวรเจตน์คาดว่าหากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างต่ำคงใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี
นายจอมถามว่าหากใช้เวลาแก้รัฐธรรมนูญนานจะมีปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ นายวรเจตน์ตอบว่า "เสถียรภาพของรัฐบาลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง แต่อย่างที่บอกถ้ารัฐธรรมนูญมีปัญหาแล้วใช้วิธีแก้แบบ ‘ปะชุน' บางมาตรามันก็ไม่แก้ปัญหาอะไร เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนมาร่วมกันทำขึ้นมาใหม่ แล้วก็ให้มีกระบวนการที่มีความชอบธรรมกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 คิดว่าในที่สุดน่าจะดีกว่า"
แก้ ม.237 ทำตามหลักการ เพื่อให้คนผิดรับผิดไม่เกี่ยวกับคนไม่ทำผิด
ต่อคำถามว่า หากรัฐบาลคิดจะแก้เพียง ม.237 มาตราเดียว อาจถูกมองได้ว่าแก้เพื่อให้พรรคการเมืองของตัวเองพ้นผิดหรือไม่ ดร.วรเจตน์กล่าวว่า หากแก้เพียงมาตรานี้มาตราเดียวก็คงมองได้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหากับบทบัญญัติใน ม.237 เป็นการแก้เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดไป แล้วตอนนี้หลายส่วนในสังคมก็พูดแบบนี้ นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็อธิบายแบบนี้ แต่ผมอยากให้เราดูปัญหาในระดับหลักการมากกว่าดูว่าบทบัญญัติมาตรานี้เขียนไว้ว่าอย่างไร
ผมเห็นว่า ม.237 คงเป็นมาตราหนึ่งที่ควรแก้ไขแน่นอน เพราะหลักการมันไม่ถูกต้อง หมายความว่าหากตีความตัวบทของมาตรานี้ตามถ้อยคำก็คือ สมมติผมเป็นกรรมการบริหารพรรคอยู่พรรคหนึ่ง คุณจอมก็เป็นด้วยอยู่ในพรรคเดียวกัน แล้วผมไปมีปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง อาจไปกระทำการโดยไม่ชอบ ไม่ถูกต้องมา แล้วก็ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผลก็คือว่าถ้าตีความตามถ้อยคำใน ม.237 มันจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง เมื่อยุบพรรคแล้วคุณจอมก็จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้งด้วย ทั้งที่คุณจอมไม่ได้ทำอะไรผิด
นายจอม ถามต่อว่า แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้ ได้เทียบเคียงกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระดับการบริหารองค์กร ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิด ย่อมมาจากการสั่งการหรือนโยบายของผู้บริหาร หมายความว่าผู้บริหารต้องรับผิดชอบ
นายวรเจตน์ตอบว่า ผมยังไม่พบกฎหมายหรือข้อกฎหมายแบบนี้เลย ที่อ้างกันอยู่นี้มีสองเรื่องคือ กรณีที่ลูกจ้างไปกระทำละเมิดบุคคลภายนอก แล้วให้นายจ้างรับผิดแทนลูกจ้างไปก่อน กฎหมายนี้มีเพื่อคุ้มครองคนที่ได้รับความเสียหายจากลูกจ้าง คือลูกจ้างไปขับรถชนคนอื่นในทางการที่จ้าง ผู้ได้รับความเสียหายเขาอาจมาฟ้องนายจ้างได้ พอนายจ้างได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายแล้ว ก็อาจไปไล่เบี้ยกับลูกจ้างได้
แต่ไม่มีข้อกฎหมายที่บอกว่าถ้าลูกจ้างไปกระทำความผิด ลูกจ้างติดคุก นายจ้างต้องติดคุกด้วย หรือไปตัดสิทธิการประกอบอาชีพของนายจ้าง มันไม่มีข้อกฎหมายแบบนี้ แม้แต่เรื่องกฎหมายฮั้วหรือเรื่องอื่น กฎหมายก็ยอมให้คนซึ่งเกี่ยวพันพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนผิด แต่ตามรัฐธรรมนูญโดยถ้อยคำ ถ้าคุณจอมไปทำการบริหารพรรคการเมือง คุณจอมไม่มีสิทธิพิสูจน์ จริงๆ ที่มีปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง คือกรณีพรรคชาติไทย ก็ชัดเจนว่าในทางข้อเท็จจริงกรรรมการบริหารพรรคคนอื่นไม่ได้รับรู้ด้วย นี่จึงเป็นความอึดอัดใจในข้อกฎหมายที่ว่ายุบพรรคแล้วตัดสิทธิ์คนอื่นที่เขาไม่ได้ผิด
นายจอมถามว่า ทำไมกรรมการบริหารพรรคจึงไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับลูกพรรค นายวรเจตน์ตอบว่า กฎหมายตามถ้อยคำเขียนว่า ให้ถือว่าเป็นการกระทำของพรรค เมื่อยุบพรรคแล้วให้ตัดสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเลย ถ้าตีความตามถ้อยคำ
ซึ่งผมได้ออกแถลงการณ์ไปว่าการตีความรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ตีความไปตามถ้อยคำไม่ได้ ถ้อยคำเขียนลักษณะนี้จริง ถ้าจะเขียนให้มีผลในทางกฎหมายแบบนี้ ต้องไปยกเลิกหลักการหลายหลักการในรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องเลิกหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม เลิกหลักประกันสิทธิเสรีภาพ เลิกหลักประชาธิปไตย เราจะประกาศไม่ได้ว่าเป็นรัฐชนิดนี้นะฮะ เราต้องประกาศว่าเราเป็นรัฐเผด็จการและอื่นๆ ก่อน ถึงจะใช้กฎหมายมาตรานี้ได้ตามถ้อยคำ เพราะฉะนั้นผมจึงมีความเห็นว่า เรื่องนี้หาทางออกได้โดยการตีความเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ตอนนี้มันกลายเป็นปัญหาทางการเมืองไปแล้ว แล้วไม่มีใครคิดหาทางออกทางกฎหมายแบบนี้
เพราะฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันก็ถูกต้องตามหลักการที่มันควรจะเป็น และผมไม่เห็นว่าจะทำให้เกิดคนที่มีส่วนได้เสีย จนแก้ไม่ได้แต่อย่างใดอย่างที่มีการกล่าวอ้าง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้คนผิดได้พ้นผิดไป กรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดก็ยังต้องรับผิดต่อไป แต่คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยเขาไม่ควรรับผิด ผมยังไม่เห็นว่าการแก้ไขตรงนี้มันบกพร่องตรงไหน เหมือนที่พูดกันว่าแก้ให้พ้นผิด เพราะเขาไม่ได้ผิดอยู่แล้ว กฎหมายไม่ได้ไปแก้ว่าคนซึ่งไปซื้อเสียงแล้วถูกตัดสินว่าผิดห้ามไม่ให้เขารับผิด เขาก็ต้องรับผิดอยู่ แต่คนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยไม่ควรต้องรับผิด
ต่อข้อถามของนายจอม ที่ว่ามีนักกฎหมายออกมาระบุว่าถ้าแก้หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ ม. 237 เท่ากับทำลายระบบกฎหมายของชาติ นายวรเจตน์ตอบว่า ถ้าการรัฐธรรมนูญแล้วมีผลแบบนั้นจริง ผมคงเป็นคนแรกๆ คงออกมาคัดค้านเคลื่อนไหว ถ้าคุณจอมติดตามดูอยู่ จะเห็นผมวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่มาตรา 309 ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่ามาตรานี้มาก อย่างที่บอกการแก้มาตรานี้ไม่ได้แก้เพื่อล้างความผิดของคนกระทำผิด ตัวสมาชิกพรรคการเมืองหรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งยังคงต้องรับผิดอยู่ ไม่ได้แก้ว่าถ้าเขาทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด แต่เขาทำให้ถ้อยคำที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนที่จะไปเอาผิดกรรมการบริหารพรรคคนอื่นที่ไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องรับผิด ซึ่งสอดคล้องกับ ‘หลักทั่วไป'
ปัญหาที่พูดกันอยู่ตอนนี้คือ แล้วคนเหล่านี้มีส่วนได้เสียไหม ถ้าตีความเรื่อง ‘ส่วนได้เสีย' แบบที่เข้าใจกันอยู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำไม่ได้เลย มีบางคนบอกว่าให้แก้ไขเสียก่อนที่การกระทำจะเกิดขึ้น ก็ยังไม่ทันมีสภาเลยก็มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว มันจะแก้ไขได้อย่างไร ถ้าตีความกันแบบนี้ ผมเรียนว่าแม้แต่ ส.ส.จะแก้กฎหมายเรื่องพรรคการเมือง เรื่องนักการเมืองก็ทำไม่ได้ แม้แต่จะแก้กฎหมายภาษีก็ไม่ได้ เพราะตัวเองเป็นผู้เสียภาษา ดังนั้นผมจึงมองไม่ออกว่ามันจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์เรื่องส่วนได้เสียอย่างไร
ม.309 ไม่มีที่ไหนในโลกเขียนแบบนี้
ส่วนกรณี ม.309 ที่มีการมองว่า หากแก้กฎหมายข้อนี้ จะเป็นการนิรโทษกรรม ให้กับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหรือไม่นั้น ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ม.309 เขียนไว้ว่าอย่างไร ตอนที่มีการดีเบตรัฐธรรมนูญกัน ฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญก็พูดชัดในวันที่ดีเบตว่า ม.309 รับรองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายให้มันชอบ ผมยังถามว่าถ้าการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วจะไปเขียนรับรองทำไม ไม่มีความจำเป็นต้องเขียน ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง 111 คน ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง คตส.
ที่นี้ปัญหาคือ ม.309 ในทางถ้อยคำไม่ได้มีความหมายเท่านี้ ม.309 ถ้าอ่านดูแล้วมีความหมายรับรองการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการรับรองการกระทำซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่บอกให้มันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่เขียนกฎหมายแบบนี้ มีแต่รัฐธรรมนูญของเราที่เขียนแบบนี้ ซึ่งมันผิดหลัก
ประเด็นก็คือ ตอนนี้มีคนกลัวว่าหากมีการแก้ไข จะไปกระทบ 111 คน และ คตส. ผมเรียนว่าไม่กระทบ เพราะว่า 111 คน ถูกเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งยังมีผลในทางกฎหมายอยู่ จะทำลายผลตรงนี้ได้ต้องมีการตรากฎหมายขึ้นเพื่อทำลายผลของกฎหมาย อย่างที่เรียกกันว่าการนิรโทษกรรม
เลิก ม.309 ไม่กระทบ คตส. แต่เพื่อให้ คตส. ถูกตรวจสอบตามระบบ
ส่วน คตส. เกิดขึ้นจากประกาศของ คปค. ความจริงผมไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรเฉพาะกิจแบบนี้ขึ้นมา แต่เขาเกิดขึ้นจากตัวประกาศของ คปค. หมายความว่า แม้เลิก ม.309 นี้ ตัวองค์กรนี้ก็จะอยู่ต่อไป เพราะได้รับการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติตอนที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สิ่งที่ดีก็คือ ม.309 เดิมรับรองการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดพรุ่งนี้หรือเมื่อวาน ให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อเลิกมาตรานี้ไป กระบวนการต่างๆ ของ คตส. ที่ทำกันไป ถ้าชอบด้วยกฎหมายมันก็ใช้ได้ไม่มีปัญหา ก็ถูกต้อง มันไม่ได้ไปลบล้างหรือล้มเลิก
แต่ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเราในฐานะคนที่มโนสำนึกธรรมดาเหมือนกัน สิ่งที่ไม่ชอบก็ควรไม่ชอบ ถ้า คตส. ดำเนินกระบวนการสอบสวนโดยไม่ถูกต้อง โดยไม่ชอบ ผลการสอบสวนก็ต้องไม่ชอบ มันไม่ควรถูกรับรองเอาไว้ล่วงหน้าว่ามันชอบ
นายจอมถามต่อว่า ถ้ายกเลิกมาตรานี้ หลายคนกลัวว่า สิ่งที่ คมช. หรือประกาศ คปค. ก็เริ่มต้นกันใหม่หมด นายวรเจตน์ตอบว่า ต้องไปดูว่าประกาศต่างๆ เหล่านั้น เมื่อมาตรวจวัดกับ ‘มาตร' ในทางรัฐธรรมนูญแล้ว มันมีประกาศไหนที่ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ต้องไปดูทีละเรื่อง กรณี คตส. เขาตั้งขึ้นมา ตัวประกาศ คปค. คตส. ยังอยู่ แต่การกระทำของ คตส. ต่างหากจะถูกตรวจสอบว่าที่ คตส. ทำไปนั้น ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซี่งเป็นหลักปกติ เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว กระบวนการต่างๆ ที่ทำกันไปโดยองค์กรต่างๆ ควรที่จะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
ผมเรียนว่าถ้า คมช. ทำอะไรโดยที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ต้องเกรงว่าจะมีปัญหา แต่กระทำการโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ควรต้องมีปัญหาใช่ไหมครับ
ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญกันจริง กว่าที่รัฐธรรมนูญจะแก้ไข คตส. ก็หมดวาระไปแล้ว เขาอยู่ในวาระอีกแค่ 2 เดือน คตส.เป็นองค์กรเฉพาะกิจ แรกเริ่มเดิมที่จะตั้งขึ้นมา 1 ปี ก็จะได้ระยะเวลาพอดีกับที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งความจริงควรจะเลิกไปตั้งแต่ครบปีหนึ่งแล้ว แล้วส่งเรื่องให้ ปปช. ดำเนินการต่อไป เพราะ ปปช. เป็นองค์กรในระบบ แต่ สนช. ไปต่ออายุ คตส. จนอยู่มาทุกวันนี้ เลยทำให้ คตส. เป็นองค์กรที่มีปัญหากับระบบรัฐธรรมนูญที่มันเริ่มเดิน
ต่อข้อถามที่ว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ม.309 จะเกิดปัญหากับเอกภาพของรัฐบาลไหม นายวรเจตน์ตอบว่าเป็นไปได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่เถียงในทางกฎหมาย บางกรณีก็ยากแก่การทำความเข้าใจของคนทั่วไป ต้องฟังผู้ที่มีเสียงดังในทางสังคมเป็นสำคัญ ว่าคนเหล่านั้นอธิบายอย่างไร ซึ่งเสียงส่วนใหญ่จะอธิบายในลักษณะตรงกันข้ามกับผม
ตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมบอกกับผู้ร่างบางท่านว่า ถ้าจะเขียนเรื่อง คตส. ก็รับรององค์กรไป รับรองให้ คตส. มีอยู่ อย่าไปรับรองการกระทำ เพราะเราไม่รู้ว่า การกระทำนั้นจะชอบหรือไม่ชอบ เราไม่ควรเขียนเช็คเปล่าให้ใคร ว่าสิ่งที่เขาไปถูกต้อง หรือชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ ไม่ควรเป็นแบบนี้
เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้ากังวล และเพื่อให้ระบบกฎหมายเดินไป ผมคิดว่าก็แก้ไป ยกเลิก ม.309 ไป ถ้ากังวลเรื่อง คตส. ก็เขียนรับรอง คตส. ให้เขาอยู่จนครบวาระ แต่การกระทำของเขาต้องถูกตรวจสอบโดยเกณฑ์ทางกฎหมายว่าชอบหรือไมชอบ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ประกาศตัวไม่ได้ว่าเราเป็นนิติรัฐ
ขืนตีความ ‘ส.ส.แก้ไข รธน. คือประโยชน์ทับซ้อน' จะไม่มีใครแก้กฎหมายอะไรได้
ต่อข้อถามที่ว่า กรณีที่มีกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญบอกว่าจะใช้วิธีรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอน ส.ส.ที่ยื่นญัตติแก้ไข รธน. โดยบอกว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ (แก้ ม.237 เพื่อให้พ้นจากการยุบพรรค) เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการขัดกันซึ่งผลประโยชน์นั้น ดร.วรเจตน์ กล่าวว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะ ม.122 พูดเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในอาณัติมอบหมาย หรือครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยปราศจากการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ มาตรานีเขียนรับรองสถานะของ ส.ส. และ ส.ว. เอาไว้ให้เขาทำหน้าที่อย่างอิสระ
ประเด็นคือ การที่ตีความเรื่องนี้ ต้องดูว่าการที่เขากระทำการนั้นเป็นเหตุถอดถอนหรือไม่ ถ้าเขาใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งไปในทางมิชอบถอดถอนได้ แต่การแก้รัฐธรรมนูญ มันคงเอาเรื่องนี้มากล่าวอ้างไม่ได้ อย่างที่ผมบอก ถ้าตีความแบบนี้ ใครๆ ก็แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเองก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราจะถูกมองว่ากระทำการแก้ไขเพื่อตัวทั้งสิ้น กฎหมายพรรคการเมือง หรือ การออกฎหมายบางฉบับ ก็จะกระทำมิได้เลย ความมุ่งหมายคงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ามีการเข้าชื่อกันจริง ถามว่าใครจะเป็นคนถอดถอน เพราะจะกลายเป็นว่าทุกคนกลายเป็นคนที่มีส่วนได้เสียกันหมดทั้งสภา
พรรคการเมืองเป็นที่ร่วมของคนคิดอ่านเหมือนกัน ตั้งมาแล้วไม่ควรให้ยุบง่ายๆ
เรื่องการยุบพรรคนั้น พรรคการเมืองเมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว หลักทั่วไปในโลกเขาไม่ให้ยุบกันง่ายๆ เพราะพรรคเป็นที่รวมของคนที่มีความคิดความอ่านทางการเมืองคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะบ้านเราที่สถาบันทางการเมืองมันค่อยๆ พัฒนาไป ลองนึกดูถ้ายุบพรรคทำได้ง่ายๆ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองโดยบัญญัติในมาตรานี้ก็อาจถูกยุบพรรคเหมือนกันทั้งที่มีอายุมากว่า 60 ปี มันคงไม่ถูกต้อง ใครทำผิดต้องเอาผิดคนนั้น แล้วการตีความเรื่องนี้ต้องตีความให้สอดคล้องกับหลักการที่มันควรจะเป็น สังคมจะได้มีทางออก ขอให้พูดกันในหลักการ อย่าพูดในผลประโยชน์เฉพาะหน้าใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นายจอมถามว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้เป็นธรรม ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมโดยประชาชน นายวรเจตน์ตอบว่าโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการแก้ไขแล้วว่าให้ญัตติมาจากใคร พิจารณากันอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ถ้าเดินตามกลุ่มของผู้ที่ต้องการแก้ไขบางมาตรา โอกาสที่ประชาชนมีส่วนร่วมอาจจะน้อย เขาอาจไปฟังความเห็นความเห็นของประชาชน แต่อาจจะน้อย ถ้าเกิดว่าดำเนินกระบวนการในการยกร่างรัฐธรรมนูญกันทั้งฉบับ ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมในหลายลักษณะ
ในความเห็นผม คนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีที่มาตามความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเข้ามาส่วนหนึ่ง บวกกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ประกอบกันขึ้นเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญมีความชอบทำ ไม่ใช่การให้ผู้มีอำนาจตั้งบุคคลกลุ่มหนึ่งขึ้นมายกร่าง
ผมคิดว่าหากทุกคนต่างถอยกันคนละก้าวแล้ว และยอมรับว่ารัฐธรรมนูญมันมีปัญหาจริงๆ ในทางหลักการ ปัญหาคือ บางฝ่ายคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา แต่ผมเองเห็นว่าเป็นปัญหา และปัญหาที่เห็นมันไม่ใช่ปัญหาที่มองย้อนในอดีต แต่มันเป็นปัญหาระดับหลักการ เราจะไม่ทะเลาะกัน ถ้าหากเราพูดเรื่องหลักการที่ควรจะเป็นว่ามันจะเป็นอย่างไร รัฐธรรมนูญควรเขียนหลักการก่อน รัฐธรรมนูญควรมองไปข้างหน้าว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมไทยใฝ่ฝันจะไปให้ถึงอาจไม่ต้องยาวมาก ที่เหลือก็ทำเป็นกฎหมายในระดับรองลงมา เวลามีปัญหาทางการเมืองจะไม่กระทบกับรัฐธรรมนูญ
ชี้การเมืองแบ่งสองขั้ว แต่สังคมไทยต้องพ้นไปจากเรื่อง ‘เอา' หรือ ‘ไม่เอา' ทักษิณ
นายวรเจตน์กล่าวต่อไปว่า สภาพทางการเมืองตอนนี้มันแบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งมีอำนาจทางการเมือง ขั้วหนึ่งมีอำนาจในทางกฎหมาย แล้วสองขั้วนี้ปะทะกัน แล้วตอนนี้ฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมืองต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนขั้วที่มีอำนาจทางกฎหมายไม่ต้องการแก้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกันในระบบการเมือง ซึ่งประชาชนต้องรู้เท่าทัน และยกระดับปัญหานี้ไปสู่ปัญหาในระดับเชิงหลักการ ถ้าจะเถียงกันเชิงหลักการว่าไปได้แค่ไหน ไม่ใช่ไปจนสุดอย่างเรื่องยุบพรรคการเมือง ที่ยุบไปแล้วก็เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาซึ่งสืบสาวมาจากพรรคการเมืองเดิมซึ่งประชาชนก็ยังเลือกอยู่ ถามว่าที่สุดประเทศชาติได้อะไรจากการเล่นเกมการเมืองและกฎหมายในลักษณะเช่นนี้
นายจอมถามต่อว่า กลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาหลายกลุ่มในขณะนี้จะเผชิญหน้ากันหรือไม่ในอนาคต นายวรเจตน์ตอบว่า ประเมินยาก ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะและวิธีการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือตอนนี้บ้านเมืองเรายังไปไม่พ้นจากปัญหา ‘เอา' หรือ ‘ไม่เอา' คุณทักษิณ ยังเป็นแบบนี้ เพียงแต่มันแปรรูปไปเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การออกเสียงลงประชามติ มีคนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มมองไปไหนปัญหาเรื่องหลักการ ไม่ได้มองว่า ‘เอา' หรือ ‘ไม่เอา' คุณทักษิณ แต่ตอนนี้ปัญหานี้ยังดำรงอยู่และต่อสู้กันต่อไป
ถ้าคนที่เป็นชนชั้นนำในสังคมยังมองไปไม่พ้นจากปัญหานี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะปะทะกัน
พรรคการเมืองซึ่งร่วมรัฐบาลพรรคใหญ่สุดคือพรรคพลังประชาชน ได้หาเสียงเอาไว้ว่าเมื่อเป็นรัฐบาลสิ่งหนึ่งแก้ไขคือแก้รัฐธรรมนูญ แต่น่าเสียดายไม่มีการพูดกัน ในที่วันแรกๆ ที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าทำตั้งแต่ตอนนั้น และกำหนดกระบวนการแก้ไขให้ชัดเจน แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลจะน้อย แต่ตอนนี้ในเชิงระยะเวลามาเกิดเอาในช่วงที่มีปัญหายุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค ซึ่งยังไม่ได้ยุบพรรคกลไกยังอีกหลายขั้นตอน แต่ข้อกฎหมายมันพอมองไปได้
ตอนนี้เลยเป็นปัญหา ทุกคนเลยหวาดระแวงกันหมด ไม่คิดว่าจะดำเนินการไปเพื่อหลักการที่มันควรจะเป็น ในที่สุด ทุกฝ่าย รัฐบาลเองคงทำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นระบบ ขั้นตอนที่จะเสนอเป็นอย่างไร ให้พ้นไปจากปัญหาเรื่องแก้เพื่อตัวเอง อีกเรื่องต้องฟังคำอธิบาย และพ้นไปจากเรื่อง ‘เอา' หรือ ‘ไม่เอา' คุณทักษิณ คุณทักษิณไม่ได้อยู่กับเราตลอดกาล บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้าอีก เรามาทะเลาะกันด้วยเรื่องแค่นี้ เอามาเป็นปัญหาหลักทางสังคม ก็ได้กฎหมายที่มีกลไกพิกลพิการและทำให้สังคมไม่ไปไหน
เรื่องเรียกร้องให้ยึดอำนาจ สะท้อนวุฒิภาวะทางสังคมว่าไม่ยอมโต
นายจอมถามว่า คิดว่ากองทัพกังวลแค่ไหนกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ นายวรเจตน์กล่าวว่า กองทัพคงกังวล และได้รับบทเรียนจากการยึดอำนาจว่า การยึดอำนาจใน พ.ศ. นี้ไม่แก้ปัญหาทางการเมือง การใช้กำลังยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่แก้ปัญหาอะไรเลยในช่วงปีที่ผ่านมา
ต่อข้อถามที่ว่า ยังคงมีการเรียกร้องให้มีการยึดอำนาจกรุ่นๆ อยู่นั้น นายวรเจตน์กล่าวว่า นี่เป็นปัญหาเรื่องวุฒิภาวะทางสังคม เรายังเด็กอยู่มาก ไม่ยอมโต หลายคนคิดว่ามีปัญหาต้องแก้ด้วยการยึดอำนาจ ซึ่งมันไม่แก้ปัญหา และปัญหาที่มันอยู่มันก็ยิ่งอยู่
พัฒนาการในทางประชาธิปไตย มันไปไกลพอสมควร จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกหลายอย่างที่เป็นปัญหาทางประชาธิปไตยแฝงเร้นในรัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุดผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องหนีไม่พ้นกระแสให้ยอมรับหลักนิติรัฐและนิติธรรมในประชาธิปไตย ก็ต้องเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่ดี เลยเป็นปัญหาเวลาตีความทางกฎหมาย ว่าคุณจะให้คุณค่ากับหลักการพวกนี้อย่างไร
ผมเองเห็นยังว่าเพื่อให้ระบบเดินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการสูญเสีย ปัญหาระดับหลักการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็ควรว่ากันไปตามระบบ ไปตามหลักที่ควรจะเป็น เอาเหตุเอาผลมาพูดกัน อย่าตั้งธง มันก็จะไปได้
ชี้ชนชั้นนำไทยเสียรังวัดไปมาก หลังทุ่มกำลังกำจัดทักษิณ
นายจอมถามว่า สังไทยขาดที่พึ่ง ขาดคนชี้แนะ ขาดอะไรที่พอออกมาแสดงความคิดเห็นทุกคนยอมรับและไปร่วมกัน เราขาดกลุ่มคนกลุ่มนี้ไหมครับ
นายวรเจตน์ตอบว่า ก็อาจเป็นไปได้ ผมเห็นว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำในสังคมไทยทุกส่วน ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปอย่างมาก ทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างไปจัดการกับคุณทักษิณ เราละเลยคุณค่า ละเลยหลักการที่ควรจะเป็น วันนี้สังคมไทยมีปัญหามาก ถึงที่สุดใครพูดอะไรก็ไม่มีใครฟังใคร ผมคิดว่ายังไม่สายถ้าเราจะย้อนกลับมาดู ทำอย่างที่มันควรจะเป็น อย่าไปปักธง อย่ามีอคติกันไว้ก่อน ใช้กฎหมายให้มันเสมอกันกับทุกฝ่าย ในวันพรุ่งนี้ (8 เม.ย.) กตต. จะประชุมกันเรื่องการยุบพรรค ผมเห็นว่าประเด็นในข้อกฎหมายที่ผมและเพื่อนๆ 4 คน เสนอว่าจะการตีความ ม.237 ต้องคำนึงหลักประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐนั้น ถ้า กกต. ตีความในหลักการนี้น่าจะแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง
วอนฝ่ายค้านแก้ รธน. อย่าอ้างผลประชามติ เพราะไม่ได้มาตรฐานสากล
นายวรเจตน์ยังเสนอแนะว่า รัฐบาลก็คงต้องฟังทุกๆ ฝ่าย และพยายามหาคนซึ่งน่าจะเป็นกลางหรือคนพอฟังอยู่บ้างมาพูดคุยกัน เพื่อออกไปจากสภาพความขัดแย้งแบบนี้ แต่อย่างที่บอกว่าอย่าปักธงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขไม่ได้ โดยที่มีการอ้างเรื่องของการออกเสียงประชามตินั้น ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งเห็นว่าการอ้างดังกล่าวมันอ้างไม่ได้
เพราะการทำประชามติที่ทำในคราวที่แล้ว ไม่ใช่การทำประชามติในรงะดับมาตรฐานสากล เราคงรู้ว่าหลายคนรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปเพียงเพื่อให้ประเทศพ้นสภาพที่พ้นสภาวะรัฐประหาร ให้ประเทศกลับสู่หนทางประชาธิปไตยไปก่อน ถึงตอนนี้เมื่อกลับมาสู่ระบบแบบนี้มันคงต้องเดินต่อไป ถ้าใครคิดว่าเป็นนักประชาธิปไตย เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้องมองประเด็นนี้เป็นหลัก ถ้ามองประเด็นนี้เป็นหลักแล้วจะคุยกันได้ ถ้ามองประเด็นอื่นเป็นหลักจะคุยกันไม่ได้ทั้งสองข้าง
ชวนสังคมจินตนาการเปลี่ยนผ่าน รธน. จากเวอร์ชั่น 2534 มาเป็น 2540
ในช่วงสุดท้าย นายจอมถามว่า ทุกฝ่ายจะทำอย่างไรให้ประเทศพ้นไปจากหนทางตันจากการแก้รัฐธรรมนูญ นายวรเจตน์ตอบว่า เราอาจต้องย้อนเวลากลับไป อย่างยุคก่อน 2540 เรามีประสบการณ์ที่จะผ่านตัวรัฐธรรมนูญจาก 2534 มาเป็น 2540 อย่างไร อีกทีหนึ่งคือย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. ที่มีการพูดเรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราน่าจะย้อนกลับไปตรงจุดเวลานั้น และทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสาธารณะ ทำองค์กรที่มีความชอบธรม ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้สังคมไทยมีเป้าหมายเดินกันไป ไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างเท่านั้นเอง แล้วมันก็แก้ไม่ได้
ที่เหลือเป็นเรื่องในระดับกฎหมาย แม้ผมเองส่วนตัวจะเห็นว่า เรื่องนี้ ในภาวะการณ์ที่สู้กันทางการเมืองแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่ว่าเราต้องใช้ความพยายาม อย่าได้กลายเป็นว่า เมื่อผ่านอีกหลายปีข้างหน้าแล้วมองย้อนกลับมาในอดีตต่างสำนึกเสียใจกันหมด ว่าเราไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการเอาบ้านเมืองออกจากปัญหา แล้วมานั่งเสียใจกันภายหลัง
กคพ.เร่งรัดดีเอสไอ ทำคดีเพชรซาอุใหม่ [11 เม.ย. 51 - 04:31]
วานนี้ (10 เม.ย.) พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ครั้งที่ 1/2551 ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าได้รายงานผลการทำงานของดีเอสไอที่ผ่านมา โดยมีคดีพิเศษที่รับมาดำเนินการทั้งสิ้น 407 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 269 คดี อยู่ระหว่างการดำเนินการ 138 คดี นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้รับคดีความผิดทางอาญาไว้เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ 6 คดี ส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง และการทำธุรกรรมทางการเงิน ขณะเดียวกัน มีมติไม่รับเป็นคดีพิเศษ 4 เรื่อง ซึ่งจะแจ้งไปยังผู้ร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามช่องทางปกติ
โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามกรณีต่างๆ รวมถึงมีมติเสนอแนะคณะรัฐมนตรี ออกกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษตามความผิดทางอาญาตามกฎหมาย จำนวน 10 ฉบับ และออกกฎกระทรวงกำหนดความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นคดีพิเศษเพิ่มเติม
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้เร่งรัดให้มีการนำคดีเพชรซาอุดีอาระเบีย กลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาใหม่เป็นการเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
เปิดบ้านรดน้ำดำหัว 'ป๋าเปรม' ไร้เงา 'นายกฯ - ครม.' ไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา
'เปรม' เปิดบ้านรดน้ำสงกรานต์ ไร้เงา 'สมัคร' และคนในรัฐบาล อัดคนไม่สืบสานวัฒนธรรมคือ 'คนไม่รักษาชาติ' เน้นรู้รักสามัคคี ซื่อสัตย์ สุจริต เหมือนเดิม 'วินัย' นำผบ.เหล่าทัพตบเท้าอวยพร
ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดบ้านพักรับรองให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ และฝ่ายพลเรือน เข้าร่วมพิธีรดน้ำดำหัวเพื่ออวยพร เนื่องในประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2551 ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงกลาโหม พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แทนนำคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมพิธีรดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะเป็นผู้นำเหล่าทัพเข้าตบเท้าอวยพร
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เข้าร่วมพิธี ประกอบด้วย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และคณะข้าราชการทหารระดับสูง อาทิ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เสนาธิการทหาร ที่นำคณะนายทหารเหล่าม้าเข้าอวยพร และพล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 รวมถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เข้าร่วมพิธีด้วย
พล.อ.วินัย กล่าวอวยพรว่า เนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ขอถือโอกาสอันเป็นมงคลปฏิบัติตามประเพณีไทย ด้วยการมารดน้ำ และขอพรจากท่าน เพื่อความเป็นสิริมงคล พวกตนตระหนักถึงอุดมการณ์อันแน่วแน่และบริสุทธิ์ของท่านที่ได้มุ่งมุ่นต่อการบริหาร ชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักมาตลอดระยะเวลานาน ซึ่งท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังความรู้ความสามารถ มุ่งเน้นความเจริญ ความมั่นคงของชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ สร้างสรรค์พัฒนากองทัพให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ พร้อมทั้งให้ปลูกฝังให้มีความรัก ความสามัคคี ความสมานฉันท์ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามกระแสพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด
'การมุ่งมั่นในความดีทำให้ท่านได้รับความเชื่อถือ ศรัทธาจากข้าราชการ และประชาชนทุกหมู่เหล่า และพวกผมมีความภาคภูมิใจที่มีท่านเป็นแบบอย่างแห่งความดี ในเรื่องของความเสียสละ อดทน ซื้อสัตย์สุจริต มีความจงรักภักดี มีคุณธรรมและจริยธรรม ตลอดจนอบรมสั่งสอนให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งฝังอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคน และจะยึดถือเป็นแบบอย่างในการครองตนในการปฏิบัติราชการ และร่วมกันประกอบคุณงามความดี เพื่อตอบแทนบุญทุนแผ่นดินตลอดไป' พล.อ.วินัย กล่าว
จากนั้น พล.อ.เปรม กล่าวอวยพรแก่คณะนายทหารว่า ขอขอบใจเพื่อนทุกคนที่ระลึกถึง และมีความปรารถนา ดีต่อกัน ประเพณีสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมของเรา การรักษาวัฒนธรรมของชาติก็คือ การรักษาชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ คนไทยทุกคน ส่วนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราต้องยึดมั่นไว้ให้ได้ ตลอดชีวิต ของเรา สิ่งที่พวกเรา ต้องยึดถือ ยึดมั่นคือ ความซื่อสัตย์สุจริต ต่อตนเองและชาติบ้านเมือง เพื่อเกียรติยศและชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ชาติบ้านเมืองของเรา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เราเคารพเทิดทูนบูชาอย่างสูงสุด ได้มอบพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสแก่พวกเราตลอดระยะเวลา 61 ปีที่ทานทรงครองราชย์ ขอให้เรารับใส่เกล้าใส่กระหม่อม นำไปปฏิบัติและสอนคนอื่นให้ปฏิบัติ
พล.อ.เปรม กล่าวว่า ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ใหญ่ในองค์กรต่างๆ โปรดภูมิใจในการทำความดีแก่ส่วนรวม และชาติบ้านเมือง โปรดมั่นใจในการที่จะเป็นคนดี และตัวอย่างที่ดีของชาติบ้านเมืองเพื่อให้คนอื่นปฏิบัติตาม โปรดระลึกว่าบ้านเมืองจะสงบสุข หากพวกเราเข้าใจซึ่งกันและกัน รักกัน สามัคคีกัน รู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกัน คิดว่านี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเหน็ดเหนื่อยเพื่อพสกนิกรของพระองค์ท่าน เราที่เป็นข้าราชการชอบที่จะสนองพระบรมราโชวาท และพระราชราชดำรัสเหล่านั้น เพื่อตอบแทนบุญคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและแผ่นดินนี้
'ที่พูดโปรดอย่าเข้าใจผิดว่า ท่านทั้งหลายไม่ได้ทำอะไรอย่างที่ผมพูด ท่านทำมาโดยตลอด ผมรู้ดี ผมรู้จักแทบทุกคน แต่ที่ผมพยายามพูดเพื่อเป็นกำลังใจแก่พวกเราว่า โปรดทำความดีเถิด ความดีจะคุ้มครอง ป้องกันพวกเรา คนที่ทำความดีไม่มีวันที่จะประสบต่อความชั่วร้ายต่างๆ จะมีแต่คนยกย่องสรรเสริญ ขอให้มั่นใจในการทำความดีตอบแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสในวันสงกรานต์ขออัญเชิญพระสยาม เทวาธิราชปกป้องพวกเราให้มีความปลอดภัยต่อสิ่งร้ายต่างๆ และขอให้ประทานกำลังใจ ความเข้มแข็งแก่พวกเราในการทำความดีต่อชาติบ้านเมือง' พล.อ.เปรม กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า อย่างไรก็ตาม พิธีรดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ในปีนี้ไม่มีบุคคลสำคัญทางการเมือง เข้าร่วมอวยพรเหมือนทุกปีที่มีรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญเข้าอวยพร อาทิ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในปีนี้มีเพียง นายพงศ์พโยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่นำข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ นอกจากนี้ นางจิราภรณ์ ฉายแสง ภริยานายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าไทยรักไทย เดินทางมาร่วมพิธีด้วย พร้อมทั้งอวยพรให้ พล.อ.เปรม มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งพล.อ.เปรมได้กล่าวทักทายอย่างเป็นกันเอง อย่างไรก็ตาม บรรยากาศพิธีในปีนี้ไม่คึกคักเหมือนทุกปีที่ผ่านมาHi--thaksin
เย็นแค่วันสงกรานต์? [11 เม.ย. 51 - 04:24]
จากบ้านสี่เสาเทเวศร์ผ่านถนนราชดำเนินวกเข้าทำเนียบรัฐบาลระยะทางใกล้ๆก็แค่ช่วงไม่กี่ป้ายรถเมล์เท่านั้นเอง
แต่กลับไกลแสนไกลหากเทียบกับความหมายทางใจที่แฝงอยู่
กับปรากฏการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น สงกรานต์ปีนี้ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นหัวแถวนำเหล่าขุนทหารเข้ารดน้ำขอพร “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ตามประเพณีที่ทำกันมาทุกปี
ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม นำทีม พล.อ.บุญ-สร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ตบเท้ากันพรึบพรับ
ทั้งๆที่ “ลุงหมัก” นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็นั่งทำงานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลห่างกันไม่ถึง 2 กิโลเมตร
ก็อย่างว่า หนทางใกล้แต่ใจอยู่ไกลกัน
และก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยได้เห็นสักเท่าไหร่ สงกรานต์ปีนี้ เหล่าขุนทหารใหญ่ที่นำโดย พล.อ.วินัยและผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ได้เคลื่อนขบวนจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ผ่านถนนราชดำเนิน มุ่งหน้าเข้าทำเนียบรัฐบาล
ตบเท้าเข้ารดน้ำขอพรนายกรัฐมนตรี
ที่แน่ๆมุกนี้เล่นเอาจอมโผงผางอย่าง “ลุงหมัก” ทั้งซึ้งทั้งปลื้มอกปลื้มใจ กล่าวขอบคุณเหล่าขุนทหารซะหยาดเยิ้ม
“ที่ผู้นำเหล่าทัพทุกคนแสดงไมตรีจิต มากันด้วยใจกันในวันนี้ จะขอจดจำเหตุการณ์วันนี้ไว้นานตลอดไป ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมานั้น มีความตั้งใจในการทำงานร่วมกับกองทัพในฐานะ รมว.กลาโหม เพื่อให้งานเดินหน้าไปได้ด้วยดี
ก็ขอให้ข้าราชการทุกเหล่าทัพและตำรวจ มีความมุ่งมั่นทำงานในหน้าที่ โดยร่วมกันรักษาความมั่นคงของชาติให้ดีที่สุด”
ยิ่งกว่าน้ำชุ่มฉ่ำ เย็นวาบอยู่ในหัวใจ
เหล่าขุนศึกนายกองเล่นบทประคองน้ำหนัก “เช็กบาลานซ์” ในจุดที่สมดุล
การันตีสถานะ “ลุงหมัก” ก็ไม่ธรรมดา
และก็เป็นอะไรที่บังเอิญคิวตรงกันพอดิบพอดี คิวของ “ป๋าเปรม” ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ คิวของ “ลุงหมัก” ที่ทำเนียบรัฐบาล
อีกด้านหนึ่งที่อาคารชินวัตร 3 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ถือโอกาสก่อนเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้รัฐมนตรี อดีตลูกพรรคใกล้ชิด และกองเชียร์นับร้อยเข้ารดน้ำขอพรวันสงกรานต์
3 รายการประชัน
และที่บังเอิญคล้ายกันอีก “ป๋าเปรม” กล่าวให้โอวาทเหล่าขุนทหาร โปรดระลึกว่า บ้านเมืองจะสงบสุข หากพวกเราเข้าใจซึ่งกันและกัน รักกัน สามัคคีกัน
รู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกัน นี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น
“ลุงหมัก” ก็บอกกับผู้นำเหล่าทัพว่า มีความตั้งใจในการทำงานร่วมกับกองทัพในฐานะ รมว.กลาโหม เพื่อให้งานเดินหน้าไปได้ด้วยดี ก็ขอให้ข้าราชการทุกเหล่าทัพและตำรวจ มีความมุ่งมั่นทำงานในหน้าที่
โดยร่วมกันรักษาความมั่นคงของชาติให้ดีที่สุด
ในโทนเดียวกัน อดีตนายกฯ ทักษิณก็ฝากผ่านทีมงานใกล้ชิด ให้พรให้ทุกคนโชคดี และขอให้ปีใหม่ไทยเป็นการเริ่มต้นใหม่ของทุกคน
อย่าคิดล้างแค้น จองล้างจองผลาญกัน
ต่างคนต่างขอ ต่างฝ่ายต่างพูดให้อภัยซึ่งกันและกัน ให้เลิกล้างแค้น เลิกจองล้างจองผลาญ ให้ร่วมกันรักษาความมั่นคงของชาติ
ฟังแล้วก็ใจชื้นขึ้นเป็นกองเลย
จากที่เสียวๆกับข่าววงในให้จับตาเดือนพฤษภาคม.
ทีมข่าวการเมือง รายงาน
Thursday, April 10, 2008
‘นิวส์วีค'ขึ้นปก‘ทักษิณ' หนึ่งในแบบอย่างผู้นำเอเชียที่ปชช.โหยหา!
นิวส์วีค นิตยสารชื่อดังของสหรัฐที่วางจำหน่ายทั่วโลกฉบับล่าสุด ขึ้นปก 4 ผู้นำในเอเชีย...สะดุดตาตรงหนึ่งในนั้นมีรูปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย รวมอยู่กับ นายหม่า อิง จิ่ว ผู้นำหมาดๆ ของไต้หวัน นายลี เมียง บัก ประธานาธิบดีนักธุรกิจของเกาหลีใต้ และ นายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งนำพรรคฝ่ายค้านผงาดขึ้นท้าทายพรรคอัมโนเป็นครั้งแรก
ประเด็นที่นิวส์วีคนำเสนอก็คือ The Politics of Practical Nostalgia หรือ การเมืองแห่งการโหยหาอดีตที่ทำได้จริง...ฟังชื่ออาจวกวน แต่ประเด็นของประเด็นก็คือ การเลือกตั้งที่ผ่านมาของทั้ง 4 ประเทศ (ซึ่งลงเอยด้วยความปราชัยของฝ่ายอำนาจเก่า) สะท้อนให้เห็นว่า ในห้วงยามที่ปัญหาเศรษฐกิจกำลังบีบรัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน สิ่งที่ชาวเอเชียกำลังโหยหาก็คือ วันคืนเก่าๆ ที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านชาวเมืองมีการงานมั่นคง มีการเลื่อนชั้นทางสังคม และผู้นำที่สัญญาว่าจะนำ Good Old Days เหล่านั้นกลับมาก็คือ คนที่ประชาชนจะเทคะแนนให้
ในเอเชียเวลานี้ดูเหมือนว่า การกำหนดนโยบายที่มองโลกในแง่ความเป็นจริง
และมีการเปลี่ยนแปลงได้เพื่อผลลัพธ์ที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน กำลังอยู่เหนืออุดมการณ์และนโยบายที่ไม่ยืดหยุ่นของอำนาจเก่าในอดีต
ในช่วงทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้และไต้หวันเคยขยายตัวถึง 8-9% แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสองดินแดนนี้เติบโตเฉลี่ยแค่ 5% ล้าหลังอัตราเฉลี่ยของตลาดเกิดใหม่ซึ่งอยู่ที่ 6.5%
นายลี เมียง บัก ให้คำมั่นสัญญาแบบเห็นภาพเป็นตัวเลขด้วยแผน 747 ว่า เขาจะผลักดันให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัว 7% ประชาชนมีรายได้ต่อหัว 40,000 ดอลลาร์ภายในหนึ่งทศวรรษ และเศรษฐกิจเกาหลีจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
ขณะที่ นายหม่า อิง จิ่ว ก็มาแนวเดียวกันด้วยแผน 633 ซึ่งตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 6% ต่อปี ประชาชนมีรายได้ต่อหัว 30,000 ดอลลาร์ในปี 2016 และลดอัตราการว่างงานให้เหลือ 3%
ทั้งนายลีและนายหม่าต่างก็สนับสนุนการลดกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจและการลดภาษีธุรกิจ เพื่อดันตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค และทั้งคู่ยังมีเมกะโปรเจ็กต์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและขยายการลงทุน นั่นคือ นายลีมีโครงการสร้างคลองเชื่อมภาคเหนือและภาคใต้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ขณะที่นายหม่ามีโครงการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน การขยายสนามบินและสถานีขนส่งมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งการเปิดสัมพันธ์มิติใหม่กับจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี การย้อนกลับไปหาอดีตอันรุ่งเรืองก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งอิ่มตัวเกินกว่าจะขยายตัวได้รวดเร็วเท่ากับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ซึ่งตอนนี้มีมูลค่า GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ที่ 950 ล้านดอลลาร์ การจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ได้ถึง 7% อย่างที่ นายลี เมียง บัก สัญญิงสัญญาไว้ นั่นหมายถึงว่า เกาหลีต้องสร้างผลผลิตในประเทศเพิ่มอีก 67 พันล้านดอลลาร์ต่อปี! แต่ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน การขยายตัวในอัตราเดียวกันนี้ ต้องเพิ่ม GDP อีกแค่ 25 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
กล่าวกันถึงปฏิกิริยาในมาเลเซียและไทย ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ของนิวส์วีคบอกว่า "ดราม่า" และเห็นได้ชัดกว่ากรณีของไต้หวันและเกาหลีใต้เสียอีก
ในมาเลเซีย พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคเล็กๆ เกือบจะโค่นพรรคพันธมิตรรัฐบาลที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ครั้งประกาศเอกราชเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนได้อย่างหวุดหวิด ขณะที่ นายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเคยงัดข้อกับอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ในหลายประเด็น รวมทั้งเรื่องการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ก็ผงาดขึ้นมาท้าทายรัฐบาลอีกครั้ง และนโยบายต่างๆ ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง อาทิ นโยบาย "ภูมิบุตร" ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนเชื้อสายมาเลย์ ก็กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่
ในประเทศไทย นิวส์วีคบอกว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้ทำลายวงจรของการปฏิวัติที่ล้าหลัง โดยในอดีตนั้น ผู้นำทหารจะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยตั้งรัฐบาลพลเรือนที่เป็นพรรคพวกกันขึ้นมาสืบทอดอำนาจ แต่ในปัจจุบัน เพียงแค่ 14 เดือนหลังจากทำรัฐประหารอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายผู้นำทหารก็ถูกกดดันโดยกระแสสังคมให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่าชัยชนะเป็นของฝ่ายที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ
บทความของนิวส์วีคอ้างคำกล่าวของ ธิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีที่เคยเป็นในประเทศไทย ตอนนี้กระแสทั้งในประเทศและนอกประเทศอยู่ข้างทักษิณ
บทความของนิวส์วีคยังบรรยายต่อว่า ความสำเร็จในการใช้นโยบายเศรษฐกิจเพื่อตอบรับกระแสโลกาภิวัตน์คือปัจจัยหลักที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นสู่อำนาจ และเป็นเครื่องอธิบายการกลับมาของเขา ในช่วง 5 ปีภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชนบทเติบโตขึ้น และไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่สามารถลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมจากการทุ่มงบประมาณด้านสาธารณูปโภคและการช่วยเหลือคนจน เช่น การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน และการประกันสุขภาพ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และส่งเสริมการค้าอย่างแข็งขัน...จากนั้น รัฐบาลทหารก็เข้ามา ซึ่งทำให้นักลงทุนหนีหาย อีกทั้งยังชูแนวนโยบาย "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเน้นความมีเสถียรภาพมั่นคงมากกว่าการเติบโต...ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร เศรษฐกิจของไทยในปีที่แล้วขยายตัวเพียงแค่ 4.8% เท่านั้น
บทความของนิวส์วีคสรุปว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่า การเกิดขึ้นของผู้นำหน้าใหม่ที่เป็นนักปฏิบัติและมองโลกแง่ในความเป็นจริง จะเป็นการเปลี่ยนกรอบความคิดครั้งใหญ่ในเอเชีย หรือเป็นแค่แฟชั่นที่จะผ่านไปในฤดูกาลหน้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาเหล่านั้นจะทำอะไรให้เกิดขึ้นได้จริงบ้างในทางปฏิบัติ
และงานนี้คงไม่นานเกินรอ
hi-thaksin
Wednesday, April 9, 2008
ปธ.วุฒิสภา ล้ำเส้น ออกความเห็นชี้นำ ค้านการแก้ไข รธน.
ประธานวุฒิสภา ปัด ไม่มีอำนาจดำเนินการกรณี “ไชยา” แต่ดันออกความเห็นชี้นำ ค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้ คู่สมรสของนายไชยา สะสมทรัพย์ ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินกรณีการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 เลยกำหนด 30 วัน ส่งผลให้นายไชยา ขาดคุณสมบัติสิ้นการเป็นรัฐมนตรีนั้น
ต่อเรื่องนี้ นายประสบสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยวุฒิสภาไม่มีอำนาจในการดำเนินการ
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ ประธานวุฒิสภา ไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไข โดยเห็นว่า ควรจะมีการรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปจนกว่าจะครบ 1 ปี แล้ว จึงมีการแก้ไข
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขั้นพิจารณาจำต้องใช้เสียงของทั้ง 2 สภา รวมกัน ซึ่งในฐานะประธานวุฒิสภาแล้ว ควรต้องวางตัวเป็นกลาง เพื่อให้สมาชิก ส.ว.ได้ใช้ความคิดเห็นอย่างอิสระ แต่นายประสบสุข ได้ออกความคิดเห็นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาเป็นระยะนับแต่ได้เป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งนายประสบสุขเป็น 1 ใน 74 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2550
ปัดฝุ่นคดี ปรส. / ดีเอสไอ เดินหน้าส่งอัยการฟ้องสิ้นเดือนนี้
ทั้งนี้ คดีการขายสินทรัพย์ 56 สถาบันการเงิน เมื่อครั้งเศรฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2540 ซึ่งต่อมาพบว่าเกินความเสียหายนับหมื่นล้านบาท และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำการสอบสวนมาอย่างต่อเนื่อง จนท้ายสุด ดีเอสไอมีมติให้ส่งสำนวนต่ออัยการฟ้องร้องเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 แต่ก็เงียบหายไป
ล่าสุด ดีเอสไอ ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ในที่ประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าคดีการขายสินทรัพย์ 56 สถาบันการเงิน ขององค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยการประชุมประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายวิชช์ จีระแพทย์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีช่วยเหลือทางกฎหมาย ร่วมประชุมใช้เวลาประชุมประมาณ 3 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการขายสินทรัพย์ 56 สถาบันการเงินของ ปรส.เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 พนักงานสอบสวนได้เคยมีมติให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดในคดี ปรส.ไว้แล้ว
ซึ่งที่ประชุมได้มีความเห็นยืนยันให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาตามฐานความผิดและบทกฎหมายที่เคยมีความเห็นไว้เมื่อ 22 ตุลาคม 2550 ที่สำคัญวันนี้ ดดยนายวีรพงษ์ ได้ให้ข้อสังเกตสำคัญหลายประการ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนส่งอัยการภายในปลายเดือนเมษายนนี้ต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิดกรณีนี้ ในฐานขายสินทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ 2502 มาตรา 11 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86
โดยผู้ต้องหาประกอบด้วย ผู้กระทำความผิดหลัก 2 ราย และผู้สนับสนุนอีก 6 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคลหรือบริษัท 4 บริษัท และในนามบุคคลอีก 2 คน ส่วนจะเป็นใครบ้าง ดีเอสไอยังไม่สามารถเปิดเผยให้ทราบได้ แต่จะเปิดเผยได้ทั้งหมดเมื่อส่งสำนวนให้อัยการในปลายเดือนเมษายนนี้
สำหรับผู้บริหารคณะกรรมการปรส. ในขณะนั้น ประกอบด้วย นายอมเรศ ศิลาอ่อน เป็นประธานกรรมการบริหาร และนายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ เป็นเลขานุการ และอยู่ในช่วงของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
นพ.สุรพงษ์ เชื่อการแก้ไข รธน.ทำให้ต่างชาติมั่นใจไทยมีพัฒนาการ ปชต.
ทำเนียบรัฐบาล 9 เม.ย. – “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ระบุทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่เรื่องกระบวนการ โดยเฉพาะวิธีที่จะทำให้หลายฝ่ายมีส่วนร่วมจะต้องหารือกันต่อไป มอบหมายวิปรัฐบาลเป็นแกนนำประสาน ยืนยันการแก้ไข รธน.ทำให้ต่างชาติมั่นใจว่าไทยมีการพัฒนาทางประชาธิปไตย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่พรรคเพื่อแผ่นดินยังมีเงื่อนไขว่า ควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ว่า ควรดำเนินการไปทีละขั้น โดยขณะนี้เราเริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีหลายมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการวิจารณ์ตั้งแต่ก่อนลงประชามติแล้ว และมีผู้ที่ออกมาให้ความเห็นว่า ให้รับไปก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว จากนั้นค่อยมาแก้ไข ซึ่งหลักการที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าคนจำนวนมากเห็นด้วยว่าควรจะแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย แต่ในแง่ของกระบวนการและวิธีการเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป ว่าวิธีใดที่จะทำให้หลายฝ่ายมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ก็มาคุยเรื่องกระบวนการว่าจะทำอย่างไร เมื่อถามว่าระดับแกนนำที่ นพ.สุรพงษ์ เป็นผู้ประสาน ได้มีการนัดหารือหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า มอบหมายให้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาลไปดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่ามีการประสานอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว โดยประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ต่อข้อถามว่า พรรคชาติไทยไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขมาตรา 309 จะเป็นเงื่อนไขให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะความเห็นที่หลากหลายนี้จะนำไปคุยกันต่อถึงกระบวนการว่า การที่จะได้มาถึงแนวทางแก้ไขนั้น ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน หากเสียงส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าควรจะแก้หรือเพิ่มเติมอย่างไร คงจะเป็นไปตามนั้น ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การที่พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่แสดงความชัดเจนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ต่างชาติไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตรงกันข้าม การที่เรามีทิศทางว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ต่างชาติจะเกิดความมั่นใจว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาทางประชาธิปไตย ซึ่งการรับฟังความเห็นเป็นเรื่องที่ดี “การที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ทุกคนเห็นพ้องกันว่าควรจะแก้ ยังไม่มีใครบอกว่าไม่ควรแก้เลย เพียงแต่ว่าจะแก้อย่างไรเท่านั้น” นพ.สุรพงษ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-04-09 15:13:11
พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุหากได้เงินคืนจะตั้งกองทุนเอเชีย
กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – “พ.ต.ท.ทักษิณ” ปาฐกถายืนยันปล่อยวางและเลิกเล่นการเมือง หันมาทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ขณะเดียวกัน จี้รัฐบาลเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ ระบุหากได้เงินคืนจะตั้งกองทุนเอเชีย สร้างความเชื่อมั่นในภูมิภาค ผู้สื่อข่าวรายงานจากโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (9 เม.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “คิดเป็น ทำเป็น ปั้นเด็กไทยให้เรียนรู้ และรู้โลก” โดยมี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล นายวราเทพ รัตนากร นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล นายประชา มาลีนนท์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เข้าร่วม พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ขอบคุณที่ช่วยกันบริจาคเงินเข้ามูลนิธิไทยคมกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ 2 ส่วน คือ เป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ยากไร้ ซึ่งจะนำไปสมทบกับทุนส่วนตัวที่ใช้ไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งจะจัดทำโครงการพิเศษช่วยเด็กหูหนวก ด้วยการฝังไมโครชิปด้านหลังหู ทำให้กลับมาได้ยิน จำนวน 10 คน อายุระหว่าง 3-13 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่าโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงมาก ความไม่แน่นอนสูง มีความยุ่งยากซับซ้อน และความไม่ชัดเจน จึงต้องมีวิสัยทัศน์ในการเข้าใจโลก มีมุมมองที่ชัดเจน มีความเด็ดขาดแม่นยำ ส่วนตัวเป็นห่วงอนาคตของประเทศ หลังจากที่ทำงานเพื่อประเทศชาติมาหลายปี อยากจะหาทางช่วยในทุกทางที่ช่วยได้ การลงทุนกับเด็ก เหมือนเป็นการเตรียมการให้กับประเทศในอนาคต “เด็กเปรียบเหมือนเจนเนอเรชั่นที่สอง หากไม่มีคุณภาพ ประเทศก็จะไม่มีคุณภาพด้วย โลกทุกวันนี้การพัฒนาสมองเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไปบริหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจในวันข้างหน้า หากไม่มีคนที่มีคุณภาพ ประเทศก็จะแย่ ผมเป็นห่วงเด็กไทยคิดไม่เป็นและมีอยู่ทั่วไป ทั้งที่มีวัตถุดิบที่ดี มีความเก่งอยู่ในตัว แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าแสดงออก ขาดการเจียระไนที่ดี” พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังการปฏิวัติที่ผ่านมา พยายามคิดตลอดเวลา ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่สอนให้ปล่อยวาง ไม่เครียด หลังจากนั้นจึงได้เดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก เพื่อค้นหาสิ่งต่าง ๆ นำมารวบรวมช่วยเหลือประเทศ ตนยืนยันว่าจะไม่กลับมาเล่นการเมืองแล้ว อยากทำหน้าที่ในฐานะคนไทย อย่างน้อยก็ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะช่วยสร้างบ้านเมืองให้เดินไปสู่ทิศทางที่ดีในวันข้างหน้าได้ ตนอยากให้ประเทศไทยทำอะไรที่คิดสร้างสรรค์ เพื่อหาปัญหาของสิ่งที่เกิดขึ้น คิดวิธีแก้ การจัดการต้องเริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ขณะนี้การศึกษาต้องเน้นใช้ทฤษฎีควบคู่ด้วยการเชิญครูกับเด็ก ให้เด็กสามารถมีความคิด แสดงออกได้อย่างเต็มที่ เกิดการพัฒนา เชิงความคิดสร้างสรรค์ ต้องมองในทางบวกให้มาก ซึ่งขณะนี้เป็นปัญหาอยู่ เด็กไทยคิดในทางบวกน้อย ดังนั้น จึงอยากให้เกิดการพัฒนาทางความคิดตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ให้เป็นตัวแทนของเรา พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวอีกว่า ปีนี้ราคาน้ำมันคงถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแน่นอน ดังนั้น ถึงเวลาลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์แล้ว เพราะค่าเงินบาทแข็ง รัฐบาลต้องเร่งทำโดยด่วนด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคเอกชนร่วมกัน และหากมีอะไรก็ควรหันหน้าพูดคุยกัน ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะเดินขบวน ไม่มีประโยชน์ ต้องช่วยกันเสนอแนะแนวคิดแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์กับรัฐบาล ที่ผ่านมาหลายประเทศก็สนใจมาลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ โดยเฉพาะตอนที่ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่รัฐต้องส่งสัญญาณให้ดี และประชาชนในบ้านเมืองมีความสามัคคี “และหากได้เงินคืนมาก็สนใจจะไปตั้งกองทุนเอเชีย สร้างความเชื่อมั่นในภูมิภาค นำเงินสดที่อยู่ในโลกขณะนี้เข้าประเทศเยอะ ๆ เพื่อจะช่วยคนไทย แต่ก็อยากให้คนไทยรวมพลังให้ได้มากกว่านี้ เลิกขัดแย้งทะเลาะกัน ปล่อยวาง อย่าถือทิฐิใส่กัน มองโลกในแง่บวก ช่วยกันทำในสิ่งที่ดี บ้านเมืองจะได้ไปได้ ที่ผ่านมาก็สนับสนุนให้คนรักกีฬา เพราะกีฬาจะสอนให้คนมีวินัย เคารพกฎกติกา ทำอะไรอยู่ในระเบียบ” พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าว อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีกำลังใจให้ทุกคน ที่มาให้กำลังใจตนและอยากให้กำลังใจคนไทย ยอมรับว่าชีวิตในต่างประเทศมีทั้งความสุขและความทุกข์ แต่ขณะนี้ปล่อยวางแล้ว เพราะคิดว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ชีวิตก็มีแค่นี้ บางคนบอกว่าดีที่ชีวิตเกิดมาครั้งหนึ่งได้รู้จักทั้ง นรก สวรรค์ ในชาติเดียว ที่ผ่านมาเดินทางไปที่ญี่ปุ่นก็ถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่ มีการตรวจค้นซักถามมากกว่าบุคคลธรรมดา ซึ่งบางครั้งไม่สามารถเล่ารายละเอียดได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้นำระดับสูงของหลายประเทศโทรศัพท์มาให้กำลังใจ พอกลับมาถึงเมืองไทยก็มีพรรคพวกชวนตั้งมูลนิธิ 111 เพื่อทำประโยชน์ให้กับส่วนร่วม แต่ตนไม่ได้พูดอะไรมาก ต้องยอมรับว่าคนที่เข้ามาทำงานทางการเมืองจะมีประมาณร้อยละ 50 ที่รักประชาชน รักประเทศชาติบ้านเมือง อยากทำงานให้ส่วนร่วม.-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-04-09 15:06:39
สนนท.ยื่นหนังสือให้สภาฯ ยกเลิก รธน.ปี 50 พร้อมคำสั่ง คปค.
รัฐสภา 9 เม.ย.- สนนท.ยื่นหนังสือให้สภาฯ ยกเลิก รธน.ปี 50 แล้วนำ รธน.ปี 40 มาเป็นต้นร่างปรับแก้ เพื่อแก้วิกฤติการเมือง พร้อมเสนอให้ยกเลิกประกาศคำสั่งของ คปค.ด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.40 น. วันนี้ (9 เม.ย.) ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นำโดย นายพงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา เลขาธิการ สนนท. ได้ยื่นหนังสือต่อ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณายกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจาก สนนท.มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.กันยายน 2549 จึงขอเรียกร้องต่อสภาฯ ให้ยกเลิก แล้วนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นต้นร่าง เพื่อแก้ไขวิกฤติทางการเมืองอย่างเร่งด่วน รวมทั้งขอให้ยกเลิกประกาศคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และขอให้สภาฯ สนับสนุนส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย โดยจัดให้มีการเลือกตั้งทุกระบบ พร้อมทั้งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่ยอมรับว่าบางจุดยังมีข้อบกพร่อง ก็ควรนำส่วนดีของปี 2550 มาปรับใช้พ่วงกับรัฐธรรมนูญปี 2540
ส่วนญัตติที่ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาปัญหารัฐธรรมนูญที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเสนอมานั้น รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ต้องให้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลประสานมา ทั้งนี้ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเร่งรีบที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ และมีผลกระทบต่อประชาชน.-สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-04-09 14:59:52
นายกฯ สั่งปลด ผบ.ตร.ออกจากราชการไว้ก่อน
กทม. 9 เม.ย. - นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปลดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการไว้ก่อน กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง โดยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 733/2551 ลงวันที่ 8 เมษายน ให้ปลด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงใน 3 เรื่อง คือ โครงการเช่ารถ ซึ่งมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต ฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้ให้เช่ารถ รวมถึงสั่งการโดยใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน และแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในกองบังคับการต่าง ๆ โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และกฎระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รับแจ้ง หรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์. -สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-04-09 01:07:54
Tuesday, April 8, 2008
จรรยาบรรณหมอดู [8 เม.ย. 51 - 14:13]
หมอเทวดาสมัยสามก๊ก ชื่อฮูโต๋...เก่งในการรักษาจนถูกเรียกว่าหมอเทวดา แต่ไม่เก่งในการ...รู้จัก รู้ใจคน ตอนไปรักษาโรคปวดหัวให้โจโฉ เสนอวิธีผ่ากะโหลก
โจโฉโกรธ ว่ารับแผนคู่แค้นทางการเมืองมาฆ่า สั่งจับไปขังคุกมืดไว้...จนตาย
เป็นอันว่า โจโฉไม่ศรัทธาหมอรักษาคน...แต่ไพล่ไปศรัทธา... หมอดู
หมอดูเอกสมัยสามก๊ก เป็นลูกประมุขชนเผ่าลังยา...ชื่อกวนลอ นิสัยชอบสุรา พอๆกับชอบดูดาว ศึกษาดาราศาสตร์แตกฉาน ก็ไล่เรียงไปศึกษาโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ วิปัสสนา อุตุนิยมวิทยา มนุษยลักษณวิทยา ฯลฯ
เรียนรู้เจนจบ จนได้ฉายาว่า...ขงเบ้ง ผู้หยั่งรู้ดินฟ้า
แต่ขงเบ้งคนนี้ ไม่โด่งดังเปรี้ยงปร้างเท่าขงเบ้ง...จูกัดเหลียง กุนซือเล่าปี่
กระนั้น ชื่อเสียงกวนลอก็โด่งดังไปเข้าหูตันสูจุ้น เจ้าเมืองเปงหงวน ตันสูจุ้น เชิญกวนลอเข้าจวน ประลองปัญหาด้านดาราศาสตร์ กวนลอเอาชนะตันสูจุ้นได้ ชื่อเสียงก็เลื่องลือยิ่งขึ้น
สังข์ พัธโนทัย เขียนไว้ใน พิชัยสงครามสามก๊ก กวนลอแสดงวิชาช่วยชีวิตคนไว้มากมาย เจอเด็กหนุ่มอายุ 19 ปี รู้ว่าจะตายในสามวัน
เมื่อถูกขอร้องให้ช่วย กวนลอแนะวิธีให้เอาเครื่องเซ่น ไปสังเวยสองเทวทูต เทวทูตกินสินบนแล้วก็จำใจช่วย แก้ตัวเลขอายุเด็กหนุ่มจาก 19 ปี เป็น 99 ปี...ไม่เพียงรอดตาย ยังอายุยืนจนแก่เฒ่า
นับแต่นั้น กวนลอก็ไม่ยอมทำนายเรื่องตายให้ใคร อ้างว่า การเอาความลับของมฤตยูมาเปิดเผย
ผิดจรรยาบรรณหมอดู
ดังขนาดนี้ ไม่ช้า...ท่านสมุหนายกโจโฉก็เรียกตัวเข้าไปให้ช่วยทำนายชะตาบ้านเมือง
“หมูป่าจะรบกับเสือโคร่ง...” กวนลอทำนาย “ถ้าท่านยกทัพไปภาคใต้ จะเสียแขนข้างหนึ่ง”
โจโฉถามถึงอนาคตตัวเอง กวนลอทำนายว่า “ท่านจะเป็นราชสีห์อยู่ในวัง ลูกหลานท่านจะมีเกียรติสูงยิ่ง” เมื่อถูกขอให้ทำนายรูปลักษณ์ “คนมีบุญญาธิการขนาดท่าน ยังจะปรารถนาอะไรยิ่งไปกว่านี้อีก”
โจโฉถามว่า “อันเมืองกังตั๋ง (ก๊กซุนกวน) กับเสฉวน (ก๊กเล่าปี่) จะเป็นศัตรูกับข้าพเจ้าหรือไม่” กวนลอบอกว่า “เวลานี้กังตั๋งเสียแม่ทัพ ส่วนเสฉวนกำลังยกทัพมาโจมตีท่าน”
ไม่ช้า...ม้าเร็วก็รายงาน “โลซกแม่ทัพกังตั๋งตาย เล่าปี่ เตียวหุย (ก๊กเล่าปี่) ยกทัพมายึดช่องเขาใกล้เมืองฮันต๋ง” โจโฉก็เพิ่มความ เลื่อมใสกวนลอ ถามคำถามสุดท้าย สงครามคราวนี้จะชนะหรือแพ้
กวนลอบอกว่า ถ้าท่านยกทัพไป ไฟจะไหม้ใหญ่ในพระนครหลวง...
ไม่นาน เรื่องราวก็เป็นไปตามที่กวนลอทำนาย โจโฉตั้งให้เป็นโหรประจำราชสำนัก กวนลอปฏิเสธ จัดเงินทองให้ กวนลอก็ไม่รับ อ้างว่าเป็นหมอดูเพื่อประชาชน
ว่าแล้ว กวนลอก็ลาโจโฉ สัญจรเร่ร่อนไปช่วยประชาชน
อ่านสามก๊กถึงตอนนี้ พอได้ข้อสรุปว่า บทเรียนจากหมอฮูโต๋ ทำให้กวนลอรู้แจ้งว่า นายนิสัยแบบโจโฉ ขืนภักดีรับใช้ นอกจากอนาคตจะไม่รุ่งแล้ว ไม่แน่ว่า...ตัวก็อาจจะตาย
หมอดูสมัยสามก๊กนอกจากทายแม่นแล้ว ยังรู้จักเหลี่ยมคูการ เมือง...รู้ดีว่า หากการเมืองพลิกด้าน...ตัวเองก็พลอยไม่รอด
ไม่เหมือนหมอดูสมัยใหม่...สมัยไหนก็ไม่รู้ ทายผิดแล้ว ก็ยังหน้าด้านทายผิดต่อไปอีก.
กิเลน ประลองเชิง