นายสมัคร สุนทรเวช จะเห็นคนตายกี่ศพ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับ ใครฆ่าประชาชน
ป่วยการที่จะมาไล่บี้ถามหาคาดคั้นกับคนเห็นเหตุการณ์ว่ามีคนตายกี่คนกันแน่ แต่ควรจะต้องไปไล่บี้ถามหาว่าใครฆ่าประชาชน ต่างหากเล่า
ที่สำคัญกว่าจำนวนคนตายว่ากี่ราย กี่ศพ และใครฆ่าประชาชน ก็คือ ทำไมรัฐบาล ผู้บริหารบ้านเมืองในขณะนั้นไม่ป้องกัน ไม่สกัดกั้น ไม่ยับยั้งการฆ่าประชาชน
จากบันทึกของคนเดือนตุลา ใน เวปไซต์ www.2519.net ได้ลำดับเหตุการณ์ก่อนจะเกิดกรณี 6 ตุลาคม 2519 ว่าเค้าลางความเลวร้ายและรุนแรง สัญญาณแห่งหายนะ มีแนวโน้มให้เห็นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2519 ซึ่งมีการโฆษณาชวนเชื่อใส่ร้ายขบวนการนักศึกษาที่กำลังเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างหนักหน่วง
นับจากเดือนมิถุนายน ถึง เดือนตุลาคม เป็นเวลา 4 เดือนเต็ม ที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เสมือนเป็นการยั่วยุให้เกิดการปะทะของนักศึกษา กับกลุ่มมวลชนที่ได้รับการฟูมฟักจากทหารบางกลุ่ม และใช้สื่อวิทยุยานเกราะ และสื่อหนังสือพิมพ์ดาวสยาม และ บางกอกโพสต์ โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่า ขบวนการนักศึกษาเป็นผู้มีเจตนาร้ายต่อประเทศชาติ และพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่มีเป้าหมายโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์
หลายครั้งที่มีการเอ่ยอ้างถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มักจะมีตัวละครหลักอยู่เพียง 3 ตัว คือ นักศึกษา ตำรวจ-ทหาร และ สื่อ ไม่ทราบว่าเป็นความตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินในห้วงเวลานั้น หรือเป็นเพราะไม่มีใครให้ค่า ให้ราคารัฐบาลในขณะนั้น ทั้งๆ ที่รัฐบาลเป็นผู้มีหน้าที่บริหารประเทศให้เกิดความสงบเรียบร้อย และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ให้ได้รับความปลอดภัย
เป็นไปได้อย่างไรที่รัฐบาลในขณะนั้น ปล่อยให้มีการใช้สื่อของรัฐและสื่อเอกชน ปลุกระดมมวลชน ให้เข้าใจผิดต่อขบวนการนักศึกษา ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นผู้มีแผนการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และ มีพฤติกรรมหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงสักเรื่องเดียว
อีกทั้งรัฐบาลยังดำเนินการจับกุมแกนนำนักศึกษา ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามที่สื่อตั้งข้อกล่าวหา ไปคุมขัง แต่ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่ให้ขับจอมพลถนอม กิตติขจร ในคราบของเณร ออกจากประเทศไทย โดยอ้างว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของจอมพลถนอม ที่จะอยู่ในประเทศไทยได้ ทั้งๆ ที่จอมพลถนอม เป็นผู้ทำลายระบบประชาธิปไตย และทำลายรัฐธรรมนูญ มาก่อน ท่าทีและการดำเนินการของรัฐบาล จึงเท่ากับเป็นการจงใจยั่วยุให้ขบวนการนักศึกษาลุกฮือขึ้นมานั่นเอง
รัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน แต่ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ และไม่สามารคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ ในขณะนั้น ก็คือ รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ มีม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเรียกตามภาษาการเมืองทั่วไปว่า เป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หรือ รัฐ บาลหม่อมเสนีย์ นั่นเอง
จากลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 ที่ปรากฎอยู่ในเวปไซต์ www.2519. net ระบุว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างยิ่ง กล่าวคือ หลังจากที่ขบวนการนิสิตนักศึกษา ได้รับชัยชนะจากการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้สำเร็จ แม้จะมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของนักศึกษาและประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับคือ การได้ประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ประเทศไทย หลังจากที่ห่างหายไปนานกว่าสิบปี ที่อำนาจอธิปไตย ไม่ได้เป็นของปวงชนชาวไทย แต่ไปตกอยู่ในมือทรราชนับเนื่องจากจอมพล สฤษฎิ์ ธนะรัชต์ จนถึงจอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร
หลังจากที่พลังนักศึกษาและประชาชน ร่วมกันขับไล่ทรราชออกไปจากประเทศไทยได้แล้ว ขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้า ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มพลังที่สำคัญในการคานอำนาจ เป็นดุลอำนาจใหม่ของสังคมไทย ที่ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ ตำรวจ และทหาร ที่เคยได้ประโยชน์จากการที่มีอำนาจอยู่ในมือและทำอะไรได้ตามใจชอบ ต้องเสียประโยชน์ จากากรถูกขบวนการนักศึกษาตรวจสอบ และเปิดโปง
ความไม่พอใจและแผนการที่จะกำจัดขบวนการนักศึกษาก่อรูปก่อร่างขึ้นมา ในหมู่นาย ทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ที่พ่ายแพ้เสียอำนาจไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยการจัดตั้งมวลชน อาทิ ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นนักเรียนอาชีวะ นัก เรียนช่างกล ขึ้นมาเป็นกลุ่มพลัง ก่อกวนบ้านเมือง หาเรื่องทำร้ายนักศึกษา สร้างสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ตำรวจและทหารได้ออกมาแสดงบทบาท และปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นการเติบโตของขบวนการนักศึกษา ไปถึงขั้นทำลายล้างอย่างสิ้นเชิง
เหตุการณ์ นิสิตนักศึกษาและประชาชนนับแสนเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จบลงด้วยชัยชนะเป็นของประชาชน หลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศ
แต่เพียง 3 ปี ชัยชนะของนักศึกษาและประชาชน เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก็พลิกผันแปรเปลี่ยนเป็นความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับเมื่อถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยมีการใช้เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงไม่ให้จอมพลถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศไทย ของขบวนการนักศึกษา มาเป็นเงื่อนไข และกล่าวหาบิดเบือนว่านักศึกษาไม่ได้ต้องการประชาธิปไตย ไม่ได้คัดค้านจอมพลถนอม แต่ มีเป้าหมายโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
วันที่ 29 สิงหาคม 2519 บุตรสาวจอมพลถนอม เข้าพบม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่บ้านพัก เพื่อเจรจาขอให้จอมพลถนอม กลับประเทศไทย เพื่อบวช
วันที่ 31 สิงหาคม 2519 คณะรัฐมนตรี มีมติไม่ให้จอมพลถนอม เดินทางกลับประเทศไทย
วันที่ 2 กันยายน 2519 แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ติดใบปลิวต่อต้านการเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม โดยมีขบวนการนักศึกษาเข้าร่วม
วันที่ 3 กันยายน 2519 นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่ามีมือที่สามจะสวมรอยเอาการกลับมาของจอมพลถนอม เป็นเครื่องมือก่อเหตุร้าย
เป็นการปรากฎชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช ครั้งแรกในบันทึกลำดับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในเวปไซต์ www.2519.net ในฐานะผู้กล่าวเตือนให้ระมัดระวัง “มือที่สาม” จะก่อเหตุร้าย มิใช่ในฐานะผู้ก่อเหตุร้าย ทั้งก่อด้วยตนเอง หรือสนับสนุน และเป็นการปรากฎชื่อของนายสมัคร สุนทรเวช เพียงครั้งเดียวในบันทึกลำดับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
แม้รัฐบาลจะมีมติไม่เห็นด้วยกับการกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร แต่ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ในคราบของสามเณร ก็อาศัยผ้าเหลืองห่มตัว เดินทางจากสิงคโปร์ มาถึงวัดบวรนิเวศ เมื่อเวลา 10.00 น. โดยมีนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไปรอต้อนรับ
พฤติการณ์ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่แตกต่างจากปากว่าตาขยิบ ทั้งๆ ที่มีมติคณะรัฐมนตรีว่าไม่ให้เข้าประเทศไทย แต่เมื่อจอมพลถนอม เดินทางมาถึง กลับมีทหารชั้นผู้ใหญ่ไปรอต้อนรับและให้ความคุ้มครอง อีกทั้งวิทยุยานเกราะของทหาร ยังโจมตีนักศึกษาที่ต่อต้านคัดค้าน ว่าเป็นผู้ทำลายศาสนา
โฆษกรัฐบาลแถลงว่าจอมพลถนอม เข้ามาบวชตามที่ได้ขอรัฐบาลไว้แล้ว และ น่าจะพิจารณาตัวเองได้หากเกิดความไม่สงบขึ้น
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะขับจอมพลถนอม ออกนอกประเทศ ตรงกันข้ามกลับเปิดโอกาสให้จอมพลถนอม พำนักอยู่ในประเทศไทย ได้ตามความพึงพอใจ และไม่มีมาตรการใดๆ กำกับดูแลเป็นพิเศษ แต่ปล่อยให้เป็นไปตามวินิจฉัยของจอมพลถนอม เอง
ท่าทีของรัฐบาลต่อการกลับมาเข้ามาของจอมพลถนอม ทำให้ขบวนการนักศึกษาไม่พอใจ เพราะจอมพลถนอม คือหัวหน้าทรราชที่ทำลายประชาธิปไตยของประเทศไทย ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน
วันที่ 21 กันยายน 2519 นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่ารัฐบาลมีมติจะให้จอมพลถนอม ออกไปนอกประเทศโดยเร็ว
วันที่ 23 กันยายน 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ทหารเตรียมกำลังเต็มอัตราศึก และ สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศให้ตำรวจจับนักศึกษาที่ติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม
วันที่ 24 กันยายน 2519 พนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 คน ที่เป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกสังหารและแขวนคออย่างโหดเหี้ยม
วันที่ 25 กันยายน 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ขบวนการนักศึกษา และ แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เรียกร้องให้ขับจอมพลถนอม ออกนอกประเทศ และ เร่งจับฆาตรกรสังหารพนักงานการไฟฟ้า โดยเร็ว
วันที่ 30 กันยายน 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าข้อเรียกร้องให้พระถนอม ออกนอกประเทศนั้น รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีมติไม่ให้จอมพลถนอม เข้าประเทศ แต่ก็ไม่ขัดขวาง และดำเนินคดี เมื่อจอมพลถนอม แอบเข้าประเทศ แล้วยังมาบอกว่าไม่สามารถขับออกไปได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ขบวนการนักศึกษา และญาติวีรชนที่เสียชีวิตเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ประท้วงกันอย่างต่อเนื่อง
4 ตุลาคม 2519 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่ามีตำรวจกลุ่มหนึ่ง เป็นผู้สังหารโหดพนักงานการไฟฟ้านครปฐม ที่ต่อต้านจอมพลถนอม ในขณะที่นักศึกษามหาวิทยา ลัยธรรมศาสตร์ แสดงละครล้อเลียนการสังหารโหดพนักงานไฟฟ้านครปฐม ที่ถูกฆ่าแขวนคอ
การแสดงละครของนักศึกษา ถูกสถานีวิทยุยานเกราะบิดเบือนให้ประชาชนเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีแผนการโค่นล้มสถา บันพระมหากษัตริย์ โดยบอกว่า ผู้แสดงเป็นคนถูกแขวนคอมีหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชาย
5 ตุลาคม 2519 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยไม่มีนายสมัคร สุนทรเวช ร่วมเป็นรัฐมนตรี
หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เผยแพร่ภาพการแสดงละครล้อการแขวนคอของนักศึกษา โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่าการแสดงดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สถานีวิทยุยานเกราะ โดยพ.อ.อุทาร สนิทวงศ์ ประกาศว่า “เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และ “ขอให้รัฐบบาลจัดการกับผู้ทรยศเหล่านี้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนองเลือดที่อาจจะเกิดขึ้น หากให้ประชาชนชุมนุมกันแล้ว อาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้”
เวลา 21.30 น. นายประยูร อัครบวร รองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ของศนนท. ได้นำนักศึกษา 2 คนที่แสดงเป็นพนักงานการไฟฟ้าที่ถูกแขวนคอ มาแถลงข่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่า “ทางนักศึกษาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม จึงให้ร้ายป้ายสีบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่น โดยดึงเอาสถาบันที่เคารพมาเกี่ยวข้อง”
ถัดมาอีกเพียง 10 นาที คือ เวลา 21.40 น. รัฐบาล ก็ออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ว่า “ตามที่มีการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ศกนี้ มีลักษณะเป็นการหมิ่นหรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท รัฐบาลได้สั่งการให้กรมตำรวจดำเนินการสอบสวนกรณีนี้โดยด่วนแล้ว”
หลังจากนั้น สถานีวิทยุยานเกราะ ก็ปลุกระดมมวลชนและลูกเสือชาวบ้านให้ไปรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจับกุมผู้กระทำการหมิ่นองค์สยามมกุฎราชกุมารมาลงโทษ และ กล่าวหานักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519
6 ตุลาคม 2519 เวลา 08.10 น. นาทีแห่งการเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนผู้บริสุทธิ์ ก็อุบัติขึ้น โดย พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวณชายแดน หรือ ตชด. พร้อมอาวุธสงครามครบมือบุกเข้าในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักศึกษาชุมนุมกันอยู่ประมาณ 3,000 คน
การระดมยิงเข้าใส่ของตชด. ทำให้นักศึกษาเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในขณะที่ส่วนใหญ่ยอมจำนน ถูกจับถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง นอนกลางสนามฟุตบอลที่ร้อนระอุ แต่อีกส่วนหนึ่งตกใจวิ่งหนีออกด้านหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝั่งสนามหลวง ก็ถูกรุมประชา ทัณฑ์จนบาดเจ็บเสียชีวิต บางรายถูกจับแขวนคอ บางรายถูกเผาสด
3 ชั่วโมงที่ล้อมปราบและเข่นฆ่าอย่างอำมหิตผ่านพ้นไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นักศึกษาที่รอดตายกว่าพันชีวิต ตกอยู่ในกรงเล็บของมัจจุราชที่เรียกว่า ตำรวจและทหาร โดยมีศพเพื่อนๆ ล้มตายอยู่หลายคนและหลายจุด เป็นพยานหลักฐานความโหดร้ายของผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่า
11.50 น. สำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่านายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล
12.00 น. รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ว่า 1.เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสยามมกุฎราชกุมารได้แล้ว 6 คน จะดำเนินการฟ้องศาลโดยเร็ว 2. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์การปะทะกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว 3. รัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด
เป็นแถลงการณ์ที่บ่งบอกถึงความเด็ดขาดของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เลือกข้างแล้วว่าจะยืนอยู่ตรงข้ามกับนิสิตนึกศึกษาประชาชน ที่ถูกเข่นฆ่าล้มตายในมหาวิท ยาลัยธรรมศาสตร์ และดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสถานีวิทยุยานเกราะ และลูก เสือชาวบ้านที่ถูกปลุกระดมขึ้นมา ทุกประการ ทั้งยังกล่าวหาว่านักศึกษา ดำเนินการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งต่อมามีพยานหลักฐานปรากฎชัดว่านักศึกษา เป็นผู้ถูกใส่ร้าย โดยสถานีวิทยุยานเกราะของทหาร เป็นผู้บิดเบือนข้อมูลข่าวสารหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อด้วยความเข้าใจผิด
แต่อีกเพียง 6 ชั่วโมงต่อมา พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของรัฐบาลหม่อมเสนีย์ ก็ประกาศยึดอำนาจปกครองแผ่นดิน เป็นการสิ้นสุดวาระของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยของเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง
จากลำดับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของคนเดือนตุลา ในเวปไซต์ www.2519.net ที่ได้นำมาบอกกล่าวข้างต้นนี้ มีข้อพึงสังเกตและตั้งคำถามหลายประการด้วยกัน ดังนี้
1. พึงสังเกตว่า มีการใช้สื่อมวลชน ได้แก่วิทยุ และหนังสือพิมพ์ เป็นเครื่องมือปลุกระดมมวลชน และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ให้ประชาชนหลงผิด เข้าข่ายการโฆษณาชวนเชื่อ ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง แบ่งแยกคนในชาติเป็นฝักฝ่าย และทำร้ายซึ่งกันและกัน โดยขาดสติ ไม่ยั้งคิด ซึ่งวิธีการเช่นนี้ ได้ถูกนำมาใช้โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และสื่อเครือข่ายผู้จัดการ จนทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อย่างรุนแรง และกลายเป็นเงื่อนไขให้ทหารก่อการรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549
2. พึงสังเกตว่า มีการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อประโยชน์ทางการเมือง และใส่ร้ายผู้อื่น ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่จงรักภักดี ในทุกครั้งที่มีการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองและยึดอำนาจปกครองแผ่นดิน
3. พึงตั้งคำถามแก่พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่าแม้จะมีอายุเพียง 11 ปี ในขณะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่ก็ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย มาเป็นอย่างดี และ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม ในห้วงเวลาที่มีการปลุกระดมมวลชนสร้างความแตกแยกให้คนในชาติ และ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในห้วงเวลาที่มีการเข่นฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า...
เหตุใด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่หาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น ทั้งๆ ที่มีเค้าลางมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2519 และมีความพยายามที่จะก่อเหตุวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองมาโดยตลอด
เหตุใด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงปล่อยให้จอมพลถนอม เข้ามาในประเทศไทยได้ และไม่ดำเนินการกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ไปรอต้อนรับและคุ้มครองความปลอดภัยให้จอมพลถนอม ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดมติคณะรัฐมนตรี
เหตุใด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่เชื่อนายสมัคร สุนทรเวช ว่าจะมีการใช้การเดินทางกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม เป็นเงื่อนไขสร้างความวุ่นวายขึ้นในประเทศ
เหตุใด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ขับจอมพลถนอม ออกนอกประเทศ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเป็นชนวนให้นักศึกษาชุมนุมประท้วงและมีโอกาสที่จะเกิดการปะทะกันได้โดยง่าย เนื่องจากมี “มือที่สาม” รอสร้างสถานการณ์อยู่แล้ว
เหตุใด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงพูดจาภาษาเดียวกับสถานีวิทยุยานเกราะ กล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เหตุใด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ดำเนินการกับสถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งดำเนิน การปลุกระดม สร้างความแตกแยกให้แก่คนในชาติ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
เหตุใด รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดยอม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของทหาร และตำรวจ จึงไม่ออกคำสั่งหยุดการเข่นฆ่านักศึกษา ของตำรวจและทหาร แต่กลับปล่อยให้มีการล้อมปราบและสังหารโหด ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มีผู้ล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมาก
ต้องถามว่า พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ ได้รับคำสั่งจากใคร จึงสั่งการให้ตชด. บุกเข้าไปยิงนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต้องถามว่า ในฐานะรมว.มหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมตำรวจ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินการอย่างไรบ้าง เมื่อเห็นตำรวจฆ่านักศึกษา
ต้องถามว่า นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้น แสดงบทบาท ท่าทีอย่างไรเมื่อเห็นการประหารโหดนักศึกษา ด้วยเหตุที่เชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ต้องถามว่า ในขณะที่นักศึกษาถูกล้อมปราบและเข่นฆ่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงบทบาทอย่างไรบ้าง ต่อการทำหน้าที่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และรักษาความสงบเรียบร้อยของคนในชาติ
ต้องถามว่า นับแต่การสังหารโหดเริ่มต้นเมื่อเวลา 08.10 น. จนถึง 11.50 น. ที่รัฐบาลแถลงว่าได้ตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงที่ตำรวจและทหารใช้อาวุธสงครามสังหารโหดนักศึกษา รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกคำสั่งให้ตำรวจและทหารหยุดปฏิบัติการ บ้างหรือไม่ และมีรัฐมนตรีคนใด ไปดูเหตุการณ์ สถานการณ์ในพื้นที่หรือไม่
ต้องถามว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การบริหารราชการแผ่นดิน ในห้วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปเป็นรัฐบาลทั้งก่อนเกิดเหตุและวันเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 บ้างหรือไม่ และมีความเห็นอย่างไรกับบทบาทท่าทีของพรรค และรัฐมนตรีของพรรค ที่คิดแต่หนีเพื่อเอาตัวรอด และปล่อยให้นักศึกษาประชาชน ถูกเข่นฆ่าล้มตายเป็นใบไม้ร่วง
ต้องถามว่า หลังการเข่นฆ่านักศึกษาผ่านพ้นไป ทำไมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงออกแถลงการณ์ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่ารัฐบาลเลือกที่จะยืนฝั่งตรงข้ามกับนักศึกษา ซึ่งเป็นผู้พ่ายแพ้ในวันนั้น ด้วยการจะดำเนินการส่งฟ้องผู้ถูกตำรวจจับกุมข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเร็ว ทั้งๆ ที่ก็รู้อยู่ว่าเป็นข้อหาที่เกิดขึ้นจากการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของสื่อ มิใช่เกิดจากพฤติกรรมของนักศึกษา จริงๆ
ต้องถามว่า หลังจากเหตุการณ์นองเลือดผ่านพ้นไป เหตุใด พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จึงก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปด้วย
คำถามข้อสุดท้ายนี้ พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะตอบไม่ได้ในวันนั้น แต่วันนี้ พรรคประชา ธิปัตย์ น่าจะตอบได้แล้ว เพราะมีช่องทางที่จะค้นหาความจริงได้แล้ว เนื่องจากขณะนี้บุคคลในครอบครัวของพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ คือ พล.อ.วินัย ภัทยิกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เลขาธิการคมช. เป็นนายทหารที่รู้เห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น ได้เข้ามามีความสัมพันธ์อันดีกับพรรคประชา ธิปัตย์ ในฐานะพ่อของส.ส.สกลธี ภัทยิกุล ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรคประชาธิปัตย์
ไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล และมีคำถามมากมายเกี่ยวกับบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานั้น ที่ยังไม่มีคำตอบจวบจนวันนี้ จะหวนกลับมาอีกครั้งจากการขยายประเด็นของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจะเล่นงาน นายสมัคร สุนทรเวช แต่ดูเหมือนว่า รายการนี้จะเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ
ในขณะที่ นายสมัคร สุนทรเวช ต้องตอบ 1 คำถามว่าเหตุใดจึงพูดว่าเห็นคนตาย 1 คน
แต่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมจึงไม่ป้องกัน และไม่สกัดกั้นการเข่นฆ่านักศึกษาประชาชน
อ่านประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 จบลงเที่ยวนี้ ผมเชื่อแล้วว่าพรรคประชาธิปัตย์ รู้ดีที่สุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ ตั้งแต่ต้นจนจบ
เพราะฉะนั้น หากใครอยากจะถาม อยากจะรู้อะไรเกี่ยวกับ 6 ตุลาคม 2519 ต้องถามพรรคประชาธิปัตย์ จะได้คำตอบดีที่สุด
แต่อย่าลืมตอบคำถามหลายข้อของผมด้วยนะครับ
ประดาบ
จาก hi-thaksin