ฝ่ายรัฐบาลพยายามตอกย้ำบ่อยๆว่า การต่อสู้ของคนเสื้อแดง ไม่ได้จบแค่ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ หลังจากนั้นยังมีก้าวต่อไป เช่น นิโทษกรรมให้ทักษิณ ล้มอำมาตย์ ซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่า “อำมาตย์” นั้น จำกัดเฉพาะประธานองคมนตรีลงมา หรือว่าเลยขึ้นไปกว่านั้น
แม้แกนนำเสื้อแดงจะประกาศชัดว่า “ล้มอำมาตย์” ขีดเส้นเฉพาะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ลงมาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับสถาบัน เพราะ พล.อ.เปรม คืออำมาตย์ใหญ่ที่คนเสื้อแดงเชื่อว่าเข้ามาแทรกแซงการเมืองและอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
แต่กระนั้น ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามที่จะแสดงให้สังคมเห็นว่า “ล้มอำมาตย์” กินความไปถึง “ล้มสถาบัน” ด้วย ดังคำแถลงการณ์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทุกครั้งมักจะเน้นให้เห็นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ปกป้อง “สถาบันหลักของชาติ”
ซึ่งสอดรับกับการเคลื่อนไหวของเสื้อสีชมพู เสื้อหลากสี และพันธมิตรฯ (ที่ออกมาขีดเส้นตายให้รัฐบาลจัดการกับเสื้อแดงภายใน 7 วัน) ต่างก็ชูประเด็น “การปกป้องสถาบัน” มาคัดค้านการชุมนุมของเสื้อแดง
การที่รัฐบาล เสื้อสีชมพู เสื้อหลากสี พันธมิตรฯ รวมพลัง “สหบาทา” คนเสื้อแดง ด้วยข้อกล่าวหา “ล้มสถาบัน” นักวิเคราะห์ต่างมองว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขความรุนแรงรอบสองที่สังคมไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
ความจริงแล้ว แม้คนเสื้อแดงจะไม่ประกาศว่า “ยุบสภาเป็นเพียงหลักกิโลเมตรที่ 1” คนที่ติดตามการเมืองย่อมรู้อยู่แล้วว่า การต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะต้องมีก้าวต่อไป ปัญหาจึงไม่อยู่ที่ว่าจะมีหรือไม่มีก้าวต่อไป แต่อยู่ที่ว่าเขาจะทำอะไร และทำอย่างไร
สมมติก้าวต่อไปของคนเสื้อแดงคือนิรโทษกรรมทักษิณ และล้มอำมาตย์ (จะทำอะไรก่อนหลังก็แล้วแต่)
ถามว่า คนเสื้อแดงมีสิทธิ์ประกาศต่อสาธารณะเช่นนั้นในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปนี้หรือไม่ คำตอบคือมีสิทธิ์ เพราะเป็นการเลือกตั้งเสรีในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองย่อมมีสิทธิ์ประกาศนโยบายให้ประชาชนเลือกได้อย่างอิสระ
ถามว่า ถ้าพรรคการเมืองที่คนเสื้อแดงเลือกได้เป็นรัฐบาลแล้ว มีความชอบธรรมที่จะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมทักษิณให้สภาพิจารณาหรือไม่ ตอบว่ามี เพราะคุณทักษิณถูกทำรัฐประหาร และถูกใช้กระบวนการรัฐประหารดำเนินคดี ที่สำคัญการเสนอกฎหมายเช่นนั้นก็เป็นไปตามกระบวนการรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย
ในขณะที่คนเสื้อเหลืองก็มีสิทธิคัดค้าน เช่น ล็อบบี้ ส.ส.,ส.ว.ในสภา หรือใช้สิทธิชุมนุมทางการเมืองที่ไม่ละเมิดกฎหมาย แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับข้อยุติตามกระบวนการประชาธิปไตย
เมื่อคุณทักษิณ ได้รับนิรโทษกรรมแล้ว ก็หมายความว่าคุณทักษิณได้รับความเป็นธรรมจากการที่ถูกรัฐประหาร ถ้าอีกฝ่ายเชื่อว่าคุณทักษิณทุจริตคอร์รัปชันจริง ก็ย่อมที่จะดำเนินการเอาผิดคุณทักษิณตามกระบวนการยุติธรรมปกติในระบอบประชาธิปไตย (ถ้านิรโทษกรรมได้ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าทักษิณไม่โกง แต่เพราะถูกทำรัฐประหาร การรื้อฟื้นคดีทักษิณขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมปกติด้วยเหตุผลว่าทักษิณโกงก็ก็ย่อมเป็นไปได้) และเมื่อนั้น หากศาลตัดสินว่าคุณทักษิณผิดจริงคนเสื้อแดงก็ต้องยอมรับ
ส่วนเรื่องการล้มอำมาตย์ ความหมายของคนเสื้อแดงก็คือ (ประมาณว่า) ต้องการให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่เป็นอิสระจากการครอบงำกำกับของอำมาตย์ หรืออำนาจนอกระบอบที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับอำนาจของประชาชน
ประชาธิปไตยเช่นนี้ เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจของตนเองมากขึ้น อย่างน้อยเมื่อประชาชนเลือกรัฐบาลที่มีนโยบายตอบสนองความต้องการของเขา รัฐบาลนั้นๆก็สามารถทำงานตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างอิสระ ไม่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง หรือทำรัฐประหารอีกต่อไป
การล้มอำมาตย์เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยเช่นนี้ จำเป็นต้องออกกฎหมายปิดทางไม่ให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงการเมือง หรือการบริหารงานของรัฐบาลได้ หรือจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชน และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ (เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นต้น)
ซึ่งการกระทำดังกล่าว (เป็นต้น) นี้ ก็เป็นการกระทำตามครรลองประชาธิปไตย เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (ตามประกาศคณะราษฎร) อย่างแท้จริง ซึ่งหมายความว่าความมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องไม่กระทบต่อการมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน
และสถาบันอื่นๆที่ถือกันว่าต้องไม่แทรกแซงการเมือง เช่น องคมนตรี ทหาร จะต้องมีกฎหมายห้ามแทรกแซงการเมืองและบทลงโทษที่เป็นรูปธรรม ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง
ถามว่า คนเสื้อแดงมีความชอบธรรมที่จะ “ล้มอำมาตย์” ตามครรลองประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ไหม? คำตอบคือ มีความชอบธรรมอย่างยิ่ง เพราะเป็นการกระทำที่พัฒนาความเป็นประชาธิปไตยอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน
และเมื่อได้ประชาธิปไตยที่พ้นจากการครอบงำกำกับของอำนาจนอกระบบแล้ว การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และอื่นๆจึงอาจเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพจริง
ฉะนั้น หลักกิโลเมตรต่อไปของคนเสื้อแดง เช่น นิรโทษกรรมทักษิณ ล้มอำมาตย์ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดครรลองประชาธิปไตย ไม่ใช่การล้มล้างสถาบัน ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวสำหรับสังคมไทย จึงไม่ใช่เงื่อนไขที่จะใช้ทำลายความน่าเชื่อถือของคนเสื้อแดง
แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบกติกาประชาธิปไตยที่จะปิดประตูรัฐประหาร และเป็นรากฐานของสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้นในอนาคต!
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคนเสื้อแดง ก็มีสิทธิ์คัดค้านตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่เห็นต้องโยนข้อหาล้มสถาบัน ก่อการร้าย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการล้อมปราบ หรือกระทั่งใช้ “กฎอัยการศึก”กับคนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ถูกเอาเปรียบ และถูก “ปล้นสิทธิ” มาโดยตลอด
หากเสื้อสีชมพู เสื้อหลากสี พันธมิตรฯ คิดว่าพวกตนเป็นคนมีการศึกษา มีปัญญาสูงกว่าคนเสื้อแดงจริง ก็ต้องสู้กับคนเสื้อแดงด้วยเหตุผลตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่เรียกร้องให้รัฐบาลใช้กองกำลังทหารล้อมปราบ หรือใช้กฎอัยการศึกจัดการกับคนเสื้อแดงอย่างที่ทำกันอยู่ขณะนี้!