WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, July 17, 2010

บันทึกเสียงก่อแก้ว

ที่มา Voice TV

อวสานประชาธิปัตย์ ?

ที่มา มติชน

โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

ได้อ่านคำร้องคดีที่อัยการสูงสุดยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีการรับเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 258 ล้านบาทในลักษณะนิติกรรมอำพรางผ่าน บริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัดแล้ว เห็นว่า ชะตาของพรรรคการเมืองเก่าแก่แห่งนี้อาจถึงกาลอาสานในอนาคตอันใกล้เพราะมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานค่อนข้างแน่นหนา


คำร้องดังกล่าวแบ่งการพิจารณาออกเป็น 5 ประเด็นคือ


หนึ่ง มีการจ่ายเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ให้บริษัท เมซไซอะฯจริงหรือไม่


สอง การทำสัญญาจ้างระหว่างบริษัท ทีพีไอฯ กับบริษัท เมซไซอะฯ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่


สาม บริษัท เมซไซอะฯดำเนินกิจกรรมตามสัญญาจ้างทั้ง 8 โครงการให้กับบริษัททีพีไอ จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการทำนิติกรรมอำพราง


สี่ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับประโยชน์จากกรณีที่บริษัท ทีพีไอฯโอนเงินผ่านบริษัท เมซไซอะฯ หรือไม่ อย่างไร


ห้า พรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำผิดหรือไม่ หากพรรคกระทำผิดต้องรับโทษใด


ทั้ง 5 ประเด็นนั้น ในคำร้องของอัยการสูงสุดพยายามเรียงร้อยเชื่อมโยงจนทำให้เห็นว่านายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการพรรคในขณะนั้น(ปี 2547-2548)กับนายธงชัย คลศรีชัย ลูกพี่ลูกน้องของนายประดิษฐ์(เป็น ลูกของนางเยาวลักษณ์ น้องสาวของนายวิศาล ภัทรประสิทธิ์ บิดาของนายประดิษฐ์) เป็นตัวการสำคัญในการรับเงินจำนวน 258 ล้านบาทจากบริษัท ทีพีไอฯโดยใช้นายประจวบ สังขาว กรรมการผู้จัดการบริษัท เมซไซอะฯเป็นตัวกลางทำสัญญา 8 สัญญา(ปลอม)โดยที่ไม่มีการทำธุรกรรมกันจริงเพื่อปกปิดหรืออำพราง


จากนำเงินส่วนหนึ่งไปทำป้ายหาเสียงให้กับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ประมาณ 42.4 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐาน(ในคำร้อง)ว่า เงินอีกนับร้อยล้านบาทหายไปไหน(เข้ากระเป๋าใคร?) เพราะเมื่อมีการนำเงินจากของทีพีไอฯโอนเข้าบัญชีของบริษัทเมซไซอะฯแล้ว มีการกระจายเงินทั้งในรูปเงินสด-เช็คไปยังบุคคลต่างๆ 4 กลุ่มคือ


กลุ่มนายประจวบ สังขาวกรรมการผู้จัดการบริษัท เมซไซอะฯ และเครือญาติ และคนใกล้ชิด ประมาณ 155.6 ล้านบาทซึ่งนายประจวบอ้างว่า มีการถอนเป็นเงินสดๆไปให้กับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์


กลุ่มนายธงชัย คลศรีชัย และคนใกล้ชิด 33.7 ล้านบาท


กลุ่มบุคคลใกล้ชิด นายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคในขณะนั้น 46.4 ล้านบาท


กลุ่ม บริษัทห้างร้านที่มีการทำธุรกรรมการค้ากับบริษัท เมซไซอะฯจริงประมาณ 42.4 ล้านบาท

พยานหลักฐานที่สำคัญที่สนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าวได้แก่


1.คำให้การของพยาน ซึ่งนอกจากนายประจวบ สังขาวที่ระบุว่า"นายธงชัย คลศรีชัย" (มีนายประดิษฐเป็นผู้สั่งการ)เป็นผู้จัดการเรื่องเงินที่ได้รับจากทีพีไอฯทั้งหมดแล้ว พยานอื่นๆล้วนให้การที่สอดคล้องต้องกัน


แม้แต่พยานซึ่งเป็นคนใกล้ชิดนายธงชัยเองคือนางพัชราภรณ์ ถิรเลิศพานิชย์ ซึ่งเป็นดองผ่าน"นายนคร คลศรีชัย"พี่ชายนายธงชัยว่า ได้รับโอนเงินจากบริษัท เมซไซอะฯ 20 ล้านบาทโดยไม่มีมูลหนี้ จากนั้น ได้ทยอยถอนเงินสดครั้งละไม่เกิน 2 ล้านบาท(เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องรายงานต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)คืนให้แก่นายธงชัยจนครบ


2.หลักฐานจากกรมสรรพากรในเรื่องใบกำกับภาษีปลอม 3 บริษัทคือ บริษัทชัยชวโรจน์ บริษัท พีจีซี อินเตอร์เนชั่นแนล และ หจก.สินวัฒนาเอเชีย เอ็นเตอร์ไพร์สที่ออกให้แก่บริษัท เมซไซอะฯเพื่อใช้เป็นหลักฐานเพื่ออ้างว่า บริษษัทเมซไซอะฯมีการทำธุรกรรมกับบริษัททั้งสามในการจัดป้ายหาเสียงให้แก่พรรคประชาธิปัตย์จริง


แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัททั้งสามไม่มีการทำธุรกรรมใดๆ และยังถูกเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย


3.ในการจัดทำป้ายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ 50,000 แผ่น มีการใช้เงินจากบริษัททีพีไอฯดำเนินการไปก่อน เมื่อทางพรรคได้รับเงินจากกองทุนพัฒนาการพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แทนที่จะมาดำเนินการจัดทำป้ายหาเสียงให้ตรงตามวัตถุประสงค์ แต่กลับนำมาจ่าย ให้กับบริษัท เมซไซอะ ฯ 23,314,200 บาท และให้บริษัท เมซไซอะฯ ออกใบเสร็จ(ปลอม?)ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงการใช้จ่ายเงินรายงานแก่ กกต.


จากนั้นนายประจวบได้โอนเงิน 23 ล้านบาทเศษไปยังบุคคลกลุ่มต่างๆ แล้วให้บุคคลดังกล่าวถอนเป็นเงินสดมอบกลับคืนให้กับนายธงชัย คลศรีชัย


จากข้อเท็จจริงข้างต้นอาจสรุปได้ว่า เงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง แทนที่จะนำไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ตามที่แจ้ง กกต.กลับนำเข้ากระเป๋าส่วนตัว?


น่าเสียดายที่ กกต.ใจเร็วขาดความรอบคอบ ถ้ารวมคดีการใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาทเข้ากับคดีนี้และเชื่อมโยงให้เห็นว่า มีการนำเงินจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองเข้ากระเป๋าส่วนตัวของผุ้บริหารพรรคได้


ชะตากรรมของพรรคประชาธิปัตย์คงริบหรี่เต็มที

เปรียบเทียบกฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ ระวัง! รธน.จะไม่ใช่กฎหมายสูงสุดอีกต่อไป!!!

ที่มา มติชน

อาจารย์ พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความ เรื่อง เปรียบเทียบกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของชาติ: พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พ.ร.ก.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.pub-law.net มติชนออนไลน์ เห็นคุณค่าของบทความดังกล่าว จึงนำมาเสนอดังนี้


ภาระหน้าที่สำคัญที่สุดของรัฐ คือ การรักษาความสงบภายในและการป้องกันภัยจากภายนอก ภาระหน้าที่การรักษาความสงบได้ส่งผลให้รัฐต้องมีโครงสร้าง มีองค์กรที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการรักษาความสงบโดยเฉพาะ อันได้แก่ องค์กรฝ่ายปกครอง องค์กรตำรวจและองค์กรทหารโดยมีรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุดของฝ่ายบริหารเป็นผู้บังคับบัญชา องค์กรเหล่านี้ก็จะต้องอาศัยอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากไล่พิจารณาบรรดากฎหมายทั้งหลายที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารแล้วก็จะพบว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษที่สุด

กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ผิดปรกติ เป็นเหตุฉุกเฉินและมีความร้ายแรงถึงขนาดที่กฎหมายที่บังคับใช้ในยามปรกติไม่สามารถจัดการสถานการณ์นั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเพราะกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงเป็นกฎหมายที่มีทั้งพระเดชและพระคุณ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่นักนิติศาสตร์จะให้ความสนใจกับกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษเหล่านี้

แนวคิดเกี่ยวกับความมั่นคง

พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ(1) กล่าวว่า “ความมั่นคงแห่งชาติ หมายถึง การทรงตัวอยู่อย่างแน่นหนาถาวร ดำรงเอกราช มีเสรีภาพแห่งชาติ มีความสงบสุขภายในประเทศ มีความแน่นอนในชีวิตเศรษฐกิจของพลเมือง คาดหมายรายได้ของรัฐได้ถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริง ค่าของเงินตรามีเสถียรภาพ รัฐไม่ต้องประสบความยุ่งยากระส่ำระสาย ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ง่าย ผู้คนพลเมือง รู้สึกมีความปลอดภัยมีความหวังและความไว้วางใจในอนาคต และยังไว้วางใจต่อไปอีกว่า ถึงแม้ผันผวนหรือเหตุร้ายอันใดจะเกิดขึ้นมา รัฐสามารถจะต่อสู้หรือป้องกันได้”

พ.อ. ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง(2) ตุลาการศาลทหารกรุงเทพ ได้ให้ความหมายของความมั่นคงแห่งชาติ ว่า “ความมั่นคงแห่งชาติ คือ ความแน่นหนาและทนทานของกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ภายใต้โครงสร้าง เดียวกันและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลกลาง หรือ อีกนัยหนึ่งคือ ความแน่นหนาและทนทานต่อภัยคุกคามต่าง ๆ ของกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ภายใต้โครงสร้างเดียวกันและอยู่ภายใต้ การปกครองของรัฐบาลกลาง”

เอกสารประการศึกษาวิชาความมั่นคงศึกษา (Security Studies) ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้ให้ความหมายของความมั่นคงแห่งชาติไว้ว่า "ความมั่นคงแห่งชาติ หมายถึงสภาวการณ์หรือสภาพที่รัฐชาติ ภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีอำนาจอธิปไตยในการปกครองดินแดนดังกล่าวด้วยตนเอง ที่สามารถดำรงอยู่ด้วยความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็น เกณฑ์การเสี่ยงใด ๆ ความเกรงกลัว ความกังวล และความสงสัย มีความเจริญก้าวหน้า มีเสรีต่อแรงกดดันต่าง ๆ ซึ่งจะประกันให้เกิดอำนาจหน้าที่ของแต่ละส่วนภายในชาติดำเนินไปได้อย่าง อิสระ มีความแน่นแฟ้นเป็นปึกแผ่น มีความแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงไปโดยง่าย มีความอดทนต่อแรงกดดันต่าง ๆ ที่มากระทบในทุก ๆ ด้าน ทั้งในด้านเอกราช อธิปไตย ในด้าน

บูรณภาพแห่งดินแดน ในด้านสวัสดิภาพ ความปลอดภัยและผาสุกของประชาชน ในด้านการปกครองของประเทศและวิถีการดำเนินชีวิตของตน อีกทั้งจะต้องมีขีดความสามารถที่จะพร้อมเผชิญต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น"(3) ดังนี้วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจึงได้แบ่งประเภทของความมั่นคงแห่งชาติออกเป็น 5 ด้าน คือ ความมั่นคงแห่งชาติด้านการเมือง ความมั่นคงแห่งชาติด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงแห่งชาติด้านสังคมจิตวิทยา ความมั่นคงแห่งชาติด้านป้องกันประเทศ และลำดับสุดท้ายคือความมั่นคงแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพลังงานและสิ่งแวดล้อม(4)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “ความมั่นคงของชาติ” นั้นมีลักษณะร่วมคือการรักษาความเป็นอิสระของรัฐและความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชนในรัฐ แต่เดิมรัฐจะมองว่าความมั่นคงของชาติจะถูกกระทบโดยภัยคุกคามจากต่างชาติเป็นหลัก แต่หลังจากการก่อวินาศกรรมถล่มตึกเวิร์ดเทรด ณ นครนิวยอร์ก ภัยจากการก่อการร้ายได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐที่กำลังได้รับความสนใจ(5) และส่งผลให้แนวคิดเรื่องความมั่นคงของชาติเปลี่ยนไป

ปัจจุบันแนวคิดเรื่อง “ความมั่นคงของชาติ” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะความมั่นคงของ “รัฐ” ในฐานะนิติบุคคลสมมุติเท่านั้น แต่จะกินความรวมไปถึง “ความมั่นของของมนุษย์” (human Security) ในชาตินั้นๆ ด้วย ทั้งนี้สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ได้แบ่งประเภทความมั่นคงของมนุษย์ในรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2552 ออกเป็น 6 มิติ(6) ได้แก่ ความมั่นคงทางเศษรฐกิจ ความั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงของปัจเจกบุคคล และความมั่นคงทางการเมือง

ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าเมื่อพิจารณาถึง “ความมั่นคงของรัฐ” เราจะต้องมองรัฐในองค์รวมโดยคำนึงถึงประชาชนและความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ในรัฐนั้น ๆ ด้วย มิใช่มองเพียงแต่ผู้ใช้อำนาจหรือองค์กรที่ใช้อำนาจในรัฐเท่านั้น

กฎหมายพิเศษเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เจริญขึ้นของมนุษย์และกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ส่งผลให้ภัยคุกคามที่จะกระทบต่อความมั่นคงของชาตินั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีความรุนแรงและสามารถขยายตัวส่งผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้รัฐต้องมีกฎหมายพิเศษเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติไว้เป็นการเฉพาะ หลากประเทศได้มีการกำหนดให้รัฐมีอำนาจพิเศษที่จะรักษาความมั่นคงของชาติในยามวิกฤติ ซึ่งที่มาของกฎหมายพิเศษนี้จะมาจากสองแหล่งสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้

สำหรับกรณีที่จัดว่าเป็นเหตุฉุกเฉินมีความจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษสามารถเป็นได้ตั้งแต่ภัยธรรมชาติไปจนถึงระดับสงครามระหว่างประเทศ โดยผู้มีอำนาจประกาศใช้ส่วนใหญ่จะเป็นประมุขของรัฐหรือผู้ที่ใช้อำนาจสูงสุดในการบริหาร ส่วนการสิ้นผลของกฎหมายพิเศษนั้นจะแบ่งออกเป็นตามข้อเท็จจริงและตามกำหนดระยะเวลา

เช่น ประเทศแคนาดา ผู้มีอำนาจประกาศใช้คือ นายกรัฐมนตรี การสิ้นผล 90 วัน หลังจากประกาศใช้ เว้นแต่นายกรัฐมนตรีจะขยายระยะเวลา หรือถูกยกเลิกโดยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐสภา

ประเทศฝรั่งเศส ผู้มีอำนาจประกาศใช้ คือ ประธานาธิบดี การสิ้นผล 12 วันหลักจากประกาศใช้ เว้นแต่รัฐสภาจะเห็นชอบให้ขยายระยะเวลา

ประเทศเยอรมนี ผู้มีอำนาจประกาศใช้ คือ รัฐสภา (Bundestag)การสิ้นผล 1.ยกเลิกโดยรัฐสภา 2.ยกเลิกเมื่อเหตุฉุกเฉินสิ้นสุดลง

ประเทศสหราชอาณาจักร ผู้มีอำนาจประกาศใช้ คือ พระมหากษัตริย์/สมเด็จพระราชินีนาถ สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (Privy Council) นายกรัฐมนตรี การสิ้นผล 7 วันหลักจากประกาศใช้ เว้นแต่รัฐสภาจะเห็นชอบให้ขยายระยะเวลา

เปรียบเทียบกฎหมายความมั่นคงของไทย

ในประเทศไทยมีกฎหมายพิเศษในลักษณะนี้อยู่ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (2) พ.ร.ก. การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ (3) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กฎหมายทั้ง 3 ฉบับข้างต้นนี้ต่างก็มีจุดประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ โดยจะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง โดยมีลักษณะที่คล้ายกันคือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถออกข้อกำหนดที่มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ทั้งนี้เพื่อควบคุมให้สังคมกลับสู่สถานการณ์ปรกติ กระนั้นหากได้พิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่ากฎหมายทั้งสามฉบับมีความแตกต่างกันทั้งใน รูปแบบการจัดการภัยต่อความมั่นคงและระดับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ด้วยมูลเหตุดังกล่าวผู้เขียนจึงปรารถนาให้บทความชิ้นนี้เป็นความรู้เบื้องต้นในการทำความเข้าใจความแตกต่างของกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับ โดยจะทำการเปรียบเทียบจากเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (1) องค์กรผู้ใช้อำนาจ (2) การให้ความหมาย “ภัยต่อความมั่นคง” (3) อำนาจหน้าที่ (4) ระวางโทษ (5) กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจและข้อจำกัด (6) การเยียวยาความเสียหาย

(1) องค์กรผู้ใช้อำนาจ

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้กำหนดให้มีหน่วยงานหนึ่ง เรียกว่า “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” หรือที่รู้จักกันโดยย่อว่า “กอ.รมน.” หน่วยงานนี้จะอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรีแต่มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(8) ผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผู้อำนวยการฯและเสนาธิการทหารบกเป็นเลขาธิการ รับผิดชอบงานอำนวยการและธุรการของ กอ.รมน. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรประกอบด้วยข้าราชการการเมือง ข้าราชการ

พลเรือนและข้าราชการทหารระดับสูง ทำหน้าที่กำกับ ให้คำปรึกษาและเสนอแนะต่อ กอ.รมน.ในการปฏิบัติงาน หากมีกรณีจำเป็นที่จะรักษาความมั่นคงในพื้นที่ของกองทัพภาคใด คณะกรรมการอำนวยการฯ โดยคำเสนอของผู้อำนวยการฯ

(ผอ.กอ.รมน.) จะมีมติให้ตั้ง “กอ.รมน.ภาค”(9) มีแม่ทัพภาคเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคตามที่ผู้อำนวยการฯ มอบหมาย นอกจาก ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค ก็สามารถตั้ง กอ.รมน.จังหวัด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีนี้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัด

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 7 ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งการข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร นายกรัฐมนตรียังสามารถแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจหรือทหารซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ผู้บัญชาการตำรวจ แม่ทัพ หรือเทียบเท่า ให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีสามารถมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ใช้อำนาจตาม

พระราชกำหนดได้ ในกรณีที่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีอาจให้มีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะเพี่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้เป็นการชั่วคราวได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าองค์กรผู้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น คือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูง โดยอาจมีหน่วยงานพิเศษเพื่อจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนหน่วยงานที่ได้รับคำสั่งจะเป็นผู้ปฏิบัติงาน

ประการนี้แตกต่างจากลักษณะของ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่กำหนดให้ กอ.รมน. เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจและ องค์ประกอบของ กอ.รมน.ก็ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนซึ่งแตกต่างกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตรงที่นายกรัฐมนตรีจะต้องไปแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือที่คณะรัฐมนตรีจะต้องไปจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการเฉพาะเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดเป็นการชั่วคราว

พ.ร.บ. กฎอัยการศึกกำหนดให้องค์กรผู้ใช้อำนาจคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร โดยในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร(10) ดังนี้จะเห็นได้ว่าเมื่อใดที่มีการประกาศกฎอัยการศึกแล้วเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะมีอำนาจเต็มในพื้นที่

นอกจากนั้นเมื่อได้มีการประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ศาลทหารจะเข้ามาเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการในคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึกและคดีอาญาที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้าย พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ตัวอย่างเช่น ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าระดับขององค์กรผู้ใช้อำนาจ หรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจตามกฎหมายแต่ละฉบับนั้นแตกต่างกัน โดยพ.ร.บ.กฎอัยการศึก นั้นจะให้อำนาจเต็มที่แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้สามารถปฏิบัติการยุทธวิธีได้ตามที่เห็นสมควร อีกทั้งยังเป็นองค์กรผู้ใช้ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะรวมอำนาจบังคับบัญชาเข้าสู่นายกรัฐมนตรีโดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรตรวจสอบ

ดุลยพินิจภายในฝ่ายปกครอง ส่วน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จะมี กอ.รมน. เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจที่มีลักษณะถาวร เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาก่อนสถานการณ์ไม่ปรกติจะอุบัติขึ้น ครั้นเมื่อเกิดปัญหา กอ.รมน.ก็จะสามารถเข้าแก้ไขได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้มีการแต่งตั้ง

(2) การให้ความหมาย “ภัยต่อความมั่นคง”


พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีเจตนารมณ์ให้มีหน่วยปฏิบัติงานหลักเพื่อรับผิดชอบดำเนินการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรตลอดจนบูรณาการและประสานงานการปฏิบัติร่วมกับทุกส่วนราชการซึ่งจะก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหา ดังนี้การที่จะทราบเงื่อนไขในการใช้อำนาจจึงต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรคืออะไร

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้นิยาม “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” หมายความว่า การดำเนินการเพื่อ ป้องกัน ควบคุม และฟื้นฟูสถานการณ์ใด ที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลายหรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ ให้กลับสู่สภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ(11)

ดังนี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ให้นิยามอย่างกว้างไว้ เปิดช่องให้ตีความถึง “ภัยคุกคามด้านความมั่นคง” เมื่อได้พิจารณาประกอบกับมาตรา 7 (1) แล้วจะพบว่าผู้ที่ใช้ดุลยพินิจในส่วนนี้คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมีหน้าที่ประเมินแนวโน้มของสถานการณ์และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปนอกจากนั้นในมาตรา 15 ได้ระบุเงื่อนไขในการเริ่มใช้อำนาจไว้ สรุปได้ดังนี้

(ก) เป็นกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

(ข) เหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานานทั้งอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน

(ค) คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดได้ โดยให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วไป

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้กำหนดนิยาม “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ไว้อย่างกว้างเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หากแต่ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ได้ให้นิยามที่ชัดเจนและเจาะจงกว่าคำว่า “ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” ที่ปรากฎใน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คำว่า “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามพระราชกำหนดนี้มีความชัดเจนกว่า ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นสถานการณ์ที่กระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความั่นคงหรืออาจทำให้ประเทศส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในสภาวะคับขัน หรือเป็นกรณีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม

(ข) มีความจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ รักษาเอกราช ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ด้วยส่วนรวมหรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเข้าแก้ไขสถานการณ์ก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใช้ในท้องที่หรือใช้ทั่วประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ดีในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อนแล้วดำเนินการขอความเห็นชอบภายหลังภายในสามวันก็ได้ หากพ้นระยะเวลา 3 วัน ยังมิได้รับความเห็นชอบ หรือคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็เป็นอันสิ้นสุดลง(12)

พ.ร.บ.กฎอัยการศึกมิได้ให้นิยามใดๆเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นต้นเหตุให้ใช้อำนาจพิเศษ หากแต่วางหลักการกว้าง ๆ ว่าให้ใช้ได้ในสองกรณี คือ

(ก) เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึก(13)

(ข) เมื่อมีสงครามหรือจลาจลขึ้น ณ แห่งใดให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป้นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆ ของทหารมีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก เฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของกองทหารนั้นได้แต่จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด(14)

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะพบว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้ให้ความหมายของภัยต่อความมั่นคงอย่างกว้างเพื่อให้

ดุลยพินิจแก่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในการเลือกกลไกการแก้ปัญหาตามกฎหมายพิเศษมาบังคับใช้ หากแต่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้กำหนดเงื่อนไขถึงภัยต่อความมั่นคงที่เป็นการเฉพาะ อาทิ การก่อการร้าย การรบหรือการสงคราม ในขณะที่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกก็ได้ให้แนวทางกว้าง ๆ ว่าอาจเป็นภัยจากภายนอกหรือภัยจากภายในราชอาณาจักร โดยยกตัวอย่างไว้ 2 กรณี คือ ภัยจากสงครามและภัยจากการจลาจล สำหรับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไม่ได้กล่าวไว้เฉพาะเจาะจงว่าภัยต่อความมั่นคงนี้ได้แก่อะไรบ้าง

(3) อำนาจหน้าที่

กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนั้นมีจุดประสงค์เพื่อการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขบรรเทาเหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ดังนั้นกฎหมายเหล่านี้จึงกรอบอำนาจหน้าที่ที่เหมือนกัน ได้แก่
(1) ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด
(2) กำหนดพื้นที่ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ที่กำหนด
(3) ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด
(4) ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
(5) ควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคม
(6) กำหนดข้อปฏิบัติหรือข้องดเว้นการใช้เครื่องมือหรืออุปการณ์อิเล็กทรอนิกส์

ส่วนอำนาจที่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ให้อำนาจเพิ่มขึ้นมากกว่าพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้แก่

(1) ห้ามชุมนุมมั่วสุมหรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(2) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจนกระทบค่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในบางเขตพื้นที่หรือทั้งประเทศ
(3) ห้ามการใช้อาคารหรือเข้าไปอยู่ในสถานที่ใด ๆ
(4) กำหนดให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่
(5) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมหรือควบคุมผู้ต้องสงสัยโดยมีหมายศาล
(6) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว ให้ถ้อยคำ หรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่
(7) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึด อายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด
(8) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ต้องมีหมายศาล
(9) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนระงับการสื่อสาร โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยอนุโลม
(10) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยของประชาชน
(11) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร
(12) ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร
(13) ควบคุมการซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้าย
(14) ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง

เมื่อพิจารณากรอบอำนาจ ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกแล้วจะพบว่ากฎหมายได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นอย่างมาก โดยกำหนดไว้ใน มาตรา 6 ว่า ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น ที่จะเกณฑ์ ที่จะห้าม ที่จะยึด ที่จะเข้าอาศัย ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ ที่จะขับไล่ ดังนี้เมื่อใดที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ทหารก็จะเข้ามามีบทบาทในการรักษาความสงบอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะถอยทัพ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 14 (1) กำหนดให้อำนาจแก่ทหารในการที่จะเผาบ้านและสิ่งซึ่งเห็นว่าจะเป็นกำลังแก่ราชศัตรู หรือถ้าแม้ว่าสิ่งใด ๆ อยู่ในที่ซึ่งกีดกับการสู้รบก็ทำลายได้ทั้งสิ้น

กล่าวโดยย่อ กฎหมาย 3 ฉบับข้างต้นนี้สามารถจัดอันดับกรอบการใช้อำนาจของรัฐ จากเบาไปหาหนักโดยเริ่มจาก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ไปสู่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และท้ายสุดคือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก

(4) ระวางโทษ

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 24 ได้กำหนดโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 16 กำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ดีแม้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกนั้นมิได้กำหนดระวางโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะ แต่เป็นที่คาดหมายได้ว่าผู้ที่ฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาให้ได้รับโทษทางอาญาตามฐานความผิดที่มีอยู่แล้วตามกฎหมายประกอบกับ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก ทั้งนี้การพิจารณาคดีดังกล่าวจะพิจารณาโดยศาลยุติธรรม ศาลอาญาศึก หรือศาลทหาร แล้วแต่กรณี

(5) กระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจและข้อจำกัด

พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรวางกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมืองไว้ โดยให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานที่ กอ.รมน. เสนอ(15) นอกจากนั้นยังกำหนดให้ภายหลังจากที่เหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงสิ้นสุดลงหรือสามารถดำเนินการแก้ไขได้ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบตามปรกติก็ให้นายกรัฐมนตรีประกาศให้อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ที่ได้รับมอบหมายสิ้นสุดลงและให้นายกรัฐมนตรีรายงานผลต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบโดยเร็ว(16)

สำหรับข้อจำกัดการตรวจสอบอำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ได้แก่การที่กำหนดให้ บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามหมวด 2 ภารกิจการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และการดำเนินคดีใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องก็จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ยังกำหนดอีกด้วยว่าในการพิจารณาใช้มาตรการหรือวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลจะต้องเรียกเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจ้งข้อเท็จจริง รายงาน หรือแสดงเหตุผลประกอบการพิจารณาด้วย(17)

พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้กำหนดการตรวจสอบดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีโดยให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ให้ความเห็นชอบการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับการจับและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศใน มาตรา 11 (1) กฎหมายกำหนดให้ต้องขออนุญาตจากศาล โดยให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการขอออกหมายอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาบังคับใช้โดยอนุโลม(18)

ส่วนข้อจำกัดในการตรวจสอบการใช้อำนาจ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้กำหนดให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง(19) ดังนี้จึงเป็นการปฏิเสธอำนาจของศาลปกครองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

สำหรับการตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกนั้น การจะประกาศใช้กฎอัยการศึกได้จะต้องมีประกาศพระบรมราชโองการ แม้เมื่อจะเลิกใช้กฎอัยการศึกก็จะต้องมีประกาศพระบรมราชโองการเช่นเดียวกัน ในส่วนการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเป็นการเฉพาะ โดย พ.ร.บ.กฎอัยการศึกได้กำหนดให้ศาลพลเรือนคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้อย่างปรกติ เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาศึกหรือเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร อำนาจพิเศษนี้จะมีอยู่แม้กระทั้งเมื่อได้เลิกใช้กฎอัยการศึกแล้วศาลทหารก็ยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังคงค้างอยู่ในศาลนั้น อีกทั้งยังมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ยังมิได้ฟ้องร้องในระหว่างเวลาที่ใช้กฎอัยการศึกได้ด้วย

(6) การเยียวยาความเสียหาย

เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ออกมาตรการ ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงแล้ว กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้

กอ.รมน. จัดให้ผู้ที่สุจริตและได้รับความเสียหายได้รับค่าชดเชยค่าเสียหายตามควรแก่กรณีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ในขณะที่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดว่าพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดตามกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่(20)

ซึ่งในกรณีนี้ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจะต้องนำความไปฟ้องกับศาลยุติธรรมไม่สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งนี้เนื่องจาก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ปฏิเสธอำนาจของศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งในปัจจุบันจะเป็นองค์กรหลักที่วินิจฉัยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่(21)

จุดน่าสังเกตในกรณีนี้คือ ผลลัพธ์แห่งคดีจะแตกต่างกันหรือไม่ถ้าการละเมิดของเจ้าหน้าที่ถูกพิจารณาโดยศาลซึ่งมีวิธีพิจารณาที่แตกต่างกันและผู้พิพากษาก็มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นหากมองในมุมผู้ได้รับความเสียหาย ต้นทุนในการเรียกร้องความเสียหายและกระบวนการในการฟ้องต่อศาลปกครองก็สร้างภาระแก่ผู้เสียหายน้อยกว่ากว่าการเป็นโจทก์ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐต่อศาลยุติธรรมเพราะการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้นผู้ฟ้องไม่ต้องแต่งทนาย อีกทั้งศาลปกครองก็ดำเนินการพิจารณาแบบไต่สวนซึ่งศาลสามารถหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เองซึ่งจะแบ่งเบาภาระในการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดี

ในกรณีที่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายอย่างใดๆ แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย(22) ทั้งนี้กฎหมายฉบับนี้ได้ให้เหตุผลว่าอำนาจทั้งปวงที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติและดำเนินการตามกฎอัยการศึกนี้เป็นการใช้อำนาจเพื่อป้องกันพระมหากษัตริย์ ชาติ ศาสนา ให้ดำรงอยู่ได้โดยสงบเรียบร้อยปราศจากราชศัตรูภายนอกและภายใน

อนึ่งบทบัญญัติปฏิเสธความรับผิดอย่างใด ๆ นี้มีข้อน่าสังเกตว่า พ.ร.บ.กฎอัยการศึกเป็นบทบัญญัติที่มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งยังใช้รูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งแนวคิดในสมัยนั้นยังมิได้คำนึงถึงสิทธิของเอกชนเท่าใดนัก หากเป็นการเพื่อจะรักษาความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วรัฐก็มิต้องเยียวยาความเสียหายให้เอกชน

กระนั้นหากพิจารณาตามบริบทในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550) มาตรา 60 ได้รับรองสิทธิของบุคคลในการฟ้องหน่วยงานของรัฐไว้ โดยบัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น”

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 32 วรรคห้าได้รับรองสิทธิของผู้เสียหายในการที่จะร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายเพื่อให้ศาลสั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น หรือร้องให้ศาลกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ดังนี้ ผู้เขียนเห็นว่าบทตัดความรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 16 นี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้จะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยหรือต้องรอให้ฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการแก้ไขกฎหมายไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญต่อไป


บทส่งท้าย

หากตั้งคำถามว่าประเทศไทยจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีกฎหมายความมั่นคง คำตอบที่สามารถตอบได้ทันทีคือ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายความมั่นคง ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ทุกรัฐในโลกปัจจุบันมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายในลักษณะนี้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม นานาอารยประเทศที่พึ่งพากฎหมายในการปกครองประเทศต่างก็มีกฎหมายความมั่นคงบังคับใช้ในระบบกฎหมายของประเทศตนเอง

แต่ทั้งนี้ก็มีสิ่งที่นักนิติศาสตร์ควรจะพินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน คือ การให้นิยามและความหมายแก่ “ภัยต่อความมั่นคง” หรือ “ภัยต่อความสงบสุขเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน” เพื่อให้กรอบของกฎหมายมีความชัดเจน จริงอยู่ที่การศึกษาวิเคราะห์ภัยคุกคาม (Threat) ประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงการศึกษาเรื่องความมั่นคงของชาติ (national security)จะเป็นหน้าที่ของนักรัฐศาสตร์

กระนั้นผู้เขียนเห็นว่านักนิติศาสตร์ไทยมีหน้าที่จะต้องนำนิยามที่กฎหมายระบุไว้โดยกว้าง มาตีความและจำแนกให้ชัดเจนมากขึ้น มิเช่นนั้นฝ่ายรัฐเองจะอาศัยอำนาจที่มีอยู่อย่างเด็ดขาดตามกฎหมายความมั่นคงเหล่านี้ในการชิงความได้เปรียบทางการเมือง หรือแม้กระทั่งทำลายคู่แข่งทางการเมืองได้

ผู้เขียนขอยกอุทาหรณ์การใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองที่ปรากฎให้เห็นในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทางทิศใต้มีประเทศมาเลเซียที่มีกฎหมายความมั่นคงเรียกว่า Internal Security Act 1960 (Akta Keselamatan Dalam Negeri) กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า “ISA” ซึ่งพัฒนามาจากกฎหมายต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น แม้ต่อมาสงครามเย็นจะจบลงแล้วกฎหมายฉบับนี้ก็มิได้ลดบทบาทลงแต่อย่างใด รัฐบาลกลางกลับใช้ ISA ในการสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมสื่อ การดักฟัง การจับกุม การลดทอนเสรีภาพทางวิชาการ และการอื่น ๆ ที่สร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่รัฐบาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีอดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม ที่ถูก ISA ทำลายอนาคตทางการเมือง

ในขณะที่ทางทิศตะวันตกของไทยก็มีประเทศพม่าที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในจำกัดอนาคตทางการเมืองของนาง ออง ซาน ซูจี หรือการปราบปรามการประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์พม่าในปี พ.ศ. 2550

ดังนี้ เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย เราควรที่จะตระหนักเสมอว่ากฎหมายความมั่นคงนั้นเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งนั้นมีคุณอนันต์สามารถนำพาความสงบสุขมาให้แก่ประเทศชาติและประชาชนได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นมันก็สามารถทำลายสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองเพราะ การใช้สิทธิเสรีภาพประเภทนี้จะกระทบทางตรงต่อความมั่นคงของรัฐบาลซึ่งหากไม่แยกความมั่นคงของรัฐบาลออกจากความมั่นคงของรัฐก็จะส่งผลให้การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษนั้นบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะ

ฉะนั้นหากนักกฎหมายไทยไม่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบความชอบธรรมในการใช้อำนาจตามของกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงเหล่านี้ ก็เห็นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยคงจะไม่ใช่กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์สูงที่สุดอีกต่อไป
----------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ
1. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, “เอกสาร วปอ. หมายเลข 008 คู่มือเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ”, ม.ป.ท., 2548, หน้า 3.
2. ธีรนันท์ นันทขว้าง, ความมั่นคงของชาติในยุคหลังสงครามเย็น, เผยแพร่วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ที่http://www.tortaharn.net/contents/index.php?option=com_content&task=view&id=131&Itemid=75 , เข้าถึงเมื่อ 15 พ.ค. 2552
3. วิชัย ชูเชิด, “เอกสารประการศึกษาวิชาความมั่นคงศึกษา (Security Studies) ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก” ม.ป.ท., 2547: หน้าที่ 15
4. วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
5. Sadako Ogata, “State Security- Human Security”, Fridtjof Nansen Memorial Lecture 2001, United Nations University Public Lectures, UN House, Tokyo, 12 December 2001, page 9-10.
6. สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย, “ความมั่นคงของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคต รายงานการพัฒนาคนของประเทศไทย ปี 2552”, ม.ป.ท. , กรุงเทพ, 2553, หน้า 8.
7. Nan D. Hunter, “The Law of Emergencies: public health and disaster management”, Burlington, Butterworth-Heinemann, 2009, page 74
8. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 5
9. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 11
10. พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 6
11. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 3
12. อนึ่ง พ.ร.ก. การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 5 วางหลักว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ในครั้งหนึ่ง ๆ นั้นจะประกาศได้คราวละไม่เกินสามเดือน หากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลานายกรัฐมนตรีจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นคราวๆ ไป
13. พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 2
14. พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 4
15. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 7 (2)
16. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 15 วรรคสอง
17. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 23
18. พ.ร.ก. การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 12
19. พ.ร.ก. การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 16
20. พ.ร.ก. การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 17
21. โปรดดู พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (3)
22. พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มาตรา 16

อาวุโส การเมือง ไทยรักไทย ถึง เพื่อไทย 12 ปีที่ละล้าละลัง

ที่มา ข่าวสด


ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับหัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับประธานภาค ภายในพรรคเพื่อไทย ล้วนเป็นประเด็น

เป็นประเด็นเพราะยังไม่มีความแจ่มชัดในเรื่องหัวหน้าพรรค

เป็นประเด็นเพราะมี "กระแส" ปรากฏออกมาเป็นระยะถึงความไม่พอใจที่มีต่อ นายพายัพ ชินวัตร ประธานภาคอีสาน

คล้ายกับว่าเป็นคนละเรื่อง แต่ในที่สุดกลับกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

เพราะความต้องการที่ผลุบๆ โผล่ๆ เป็นระยะๆ ก็คือ ความต้องการที่จะขยายบทบาทของส.ส.ให้มีมากยิ่งขึ้น

นั่นก็คือ หัวหน้าพรรคก็มาจาก ส.ส. นั่นก็คือ ประธานภาคก็มาจากส.ส.

บนพื้นฐานของเหตุผลที่ว่า หากมิใช่ส.ส.หัวหน้าพรรคก็ไม่มีบทบาทในสภา ไม่สามารถเป็น "ผู้นำฝ่ายค้าน" ได้

ยิ่งกว่านั้น หากมิใช่ส.ส.ก็อาจไม่เข้าใจความรู้สึก ความต้องการของส.ส.



ตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่มิใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย

ล้วนมีปัญหา

มีปัญหาเพราะว่าไม่ว่าส.ส.ไม่ว่าสมาชิกพรรคหรือมวลชนของพรรค ต่างรวมศูนย์ไปอยู่ภายใต้อำนาจและบารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ยากที่จะมีผู้ใดสามารถดำรงสถานะหัวหน้าพรรคได้อย่างแท้จริง

อย่าว่าแต่บุคคลระดับ นายสมัคร สุนทรเวช เลย แม้กระทั่ง นายพายัพ ชินวัตร นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย

ก็นั่งอย่างไม่เต็มก้นเท่าใดนัก

เหตุผลมิได้อยู่ที่ว่า นายพายัพ ชินวัตร ไม่ได้เป็นส.ส.ประการเดียว หากที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังอยู่ที่ นายพายัพ ชินวัตร มิใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากกว่า

นี่คือปัญหาของพรรคเพื่อไทย นี่คือปัญหาของส.ส.ภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย



น่าสนใจก็ตรงที่บารมีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถปลุกระดมมวลชนเรือนแสนให้หลั่งไหลเข้ามาชุมนุมในกทม.ได้อย่างยืดเยื้อและต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 เดือน

แต่บารมีนี้กลับไม่สามารถทำให้พรรคเพื่อไทยมีพรรคภาพอันแข็งแกร่งได้

พรรคภาพในที่นี้มีความหมายตรงไปตรงมาคือ ภาวะแห่งความเป็นพรรคที่แข็งแกร่งและเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง

มั่นคงด้วยสมาชิกพรรคที่เห็นด้วยกับแนวทาง

มั่นคงด้วยแนวทางอันสอดรับกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี

กลายเป็นว่าพรรคมีปัญหาเรื่องหัวหน้าพรรค เรื่องประธานภาคบางภาคที่สำคัญ

กลายเป็นว่าพรรคยังไม่สามารถกำหนดตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้แม้เวลาของการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่งวดเข้ามาเป็นลำดับ

ตรงนี้ต่างหากที่พรรคเพื่อไทยต้องถามตนเอง ถาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร



จากเดือนกรกฎาคม 2541 มาถึงเดือนกรกฎาคม 2553 เป็นเวลา 12 ปีแล้ว

เวลา 12 ปีของพัฒนาการจากพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคพลังประชาชนเป็นพรรคเพื่อไทยสมควรมีการทบทวนบทบาทและความหมายอย่างจริงจัง

เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งในปี 2554 ได้อย่างองอาจ สง่างาม

แฉทุจริต

ที่มา ข่าวสด


คอลัมน์ เหล็กใน




ไม่ธรรมดาแน่นอนที่ภาคเอกชนอดรนทนไม่ไหว ต้องออกมาแฉปัญหาการทุจริต

เพราะตามปกติแล้วเอกชนได้แต่ก้มหน้าก้มตา จ่ายทั้งบนโต๊ะ-ใต้โต๊ะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

ยิ่งกับกลุ่มราชการ หรือนักการเมือง เอกชนต้องยอม"เป็นใบ้-ตาบอด" ไม่รู้ไม่เห็นใดๆ ทั้งสิ้น

จึงเมื่อนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่าเมืองไทยยามนี้มีปัญหาคอร์รัปชั่นระดับ 30-40%

จากในอดีตที่โกงกินหรือหักค่าหัวคิว 3-5% เท่านั้น

และยิ่งน่ากลัวเมื่อคาดการณ์ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ยอดเงินคอร์รัปชั่นน่าจะพุ่งไปถึง 50%

มีการยกตัวอย่างงบประมาณแผ่นดินปีละ 3-4 แสนล้านบาท ในห้วงเวลานี้เข้ากระเป๋าคนโกงไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

การออกมาแบบนี้ต้องถือว่าขีดความอดทนถึงที่สุดแล้ว

เชื่อว่านี่มิใช่การกล่าวอ้างอย่างลอยๆ เพราะหากดูความเป็นไปของรัฐบาลที่ผ่านมาจักพบว่ามีเสียงครหาเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างมากมาย

อย่างโครงการไทยเข้มแข็ง และโครงการโน้นโครงการนี้ นักการเมืองและข้าราชการประจำอิ่มหมีพีมันไปตามๆ กัน

ยังไม่นับอีกหลายโครงการที่ถูกจับไต๋ได้ก่อนจึงต้องยุติไป(ชั่วคราว) อาทิ โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ที่ถูกขนานนามว่าเป็นโครงการรถเมล์ฝังเพชร เพราะค่าเช่าแพงรากเลือด

ล่าสุดปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกรอบ

เขื่อนนี้ในทางความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับทรัพยากร และการทำลายระบบนิเวศก็ไม่คุ้มอยู่แล้ว บวกกับปัญหาเรื่องผลประโยชน์การประมูล หรือไม้ใหญ่ที่จะถูกตัด

ว่ากันว่าหากผลักดันได้จริง จะมีนักการเมืองร่ำรวยอีกมหาศาล

การออกโรงของภาคเอกชนที่กระทุ้งรัฐบาลให้หันมาใส่ใจปัญหาการคอร์รัปชั่น จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและสนับสนุนอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะแนวคิดให้นายนันเดอร์ วอน เดอลูว์ ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย รับผิดชอบในเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะมองว่าฝรั่งน่าจะกล้าพูดมากกว่าคนไทย

และหากข้อมูลออกมาตอกหน้าแงรัฐบาล อย่างน้อยก็ได้รับผลกระทบไม่มากเท่าเอกชนไทย

เหมือนหลายๆ กรณีที่ใครก็ตามซึ่งอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล หรือแสดงออกไม่ถูกใจ มักจะโดนเล่นงานไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ขนาดเด็กๆ อย่าง "มาร์ค วี11" ผู้เข้าประกวดบ้านเอเอฟ ที่สุดท้ายถูกกดดันจนต้องถอนตัวและกล่าวขอโทษ หลังเขียนข้อความแสดงความไม่พอใจนายกฯ กรณีสลายม็อบ และต้องการให้ยุบสภา

โครงการแฉทุจริตคอร์รัปชั่นนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง หากรัฐบาลใจกว้างพอและนำข้อมูลที่ได้ไปปรับแก้จะเป็นประโยชน์กับตัวเองและประเทศชาติอย่างมหาศาล

ว่าแต่ว่ารัฐบาลจะใจกว้างพอหรือเปล่า!?

กาบัตรล่วงหน้าฉลุย ไร้คนร้องเรียน ให้พท.นอนเฝ้าหีบ

ที่มา ไทยรัฐ

ผอ.กกต.เขต 6 เผยเลือกตั้งล่วงหน้าเขต 6 วันแรก ฉลุย ไร้เรื่องร้องเรียน คนแห่ใช้สิทธิเฉลี่ยเขตละ 1-2 พันคน ไฟเขียวให้คนเพื่อไทย นอนเฝ้าหีบบัตรเลือกตั้ง-ติดกล้องซีซีทีวี ชี้แนวโน้มเลือกตั้งจริงจะมีคนมาใช้สิทธิ์ไม่ต่ำ 70%...

เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายมนัส ปสาทรัตน์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำเขตเลือกตั้งที่ 6 กทม. เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 ล่วงหน้าวันแรก ว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง และผู้มาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง ไม่มีเหตุการณ์หรือข้อร้องเรียนใดๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละเขตเลือกตั้งคนเดินทางมาใช้สิทธิ์ล่วงหน้าประมาณ 1,000-2,000 คน

"วันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้คนมาเลือกตั้ง คนมาใช้สิทธิค่อนข้างมาก มีแนวโน้มที่ดีในวันที่ 25 ก.ค. ดูแล้วการเลือกตั้งถือว่าเป็นปกติจะมีประชาชนเดินทางมาเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 70% ตามที่ตั้งเป้าไว้" ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ประจำเขตเลือกตั้งที่ 6 กล่าว

อย่างไรก็ตาม กกต.ได้มีการระมัดระวังดูแลความปลอดภัย การเก็บรักษาหีบบัตร ให้เจ้าหน้าที่อยู่เวรอย่างเข้มงวดไม่ละเว้น ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาร้รองเรียนได้ ส่วนเรื่องที่ทางฝ่ายผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยแจ้งมาว่าจะมีการนอนเฝ้าหีบบัตรเลือกตั้งและมีการถ่ายทอดซีซีทีวีนั้น ทาง กกต.ก็ไม่ขัดข้อง เนื่องจากทำไปตามหน้าที่ ยืนยันความโปร่งใส จะส่งใครมาอย่างไรก็ยินดี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์เรื่องการดูแลการเลือกตั้ง.

ถ้าจะเกิดเหตุพลิกผัน

ที่มา ไทยรัฐ

มิ่งขวัญ

ตามเดิมพันก็อย่างที่นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยดังๆบนเวทีที่ตลาดปัฐวิกรณ์ ถ้าหากนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครของพรรค แพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 จะเป็นการส่งสัญญาณไปทั่วประเทศ

เมืองหลวงแตกพ่าย ก็ไม่ต้องพูดถึงภาคอีสานกับภาคเหนือ

โดยเกมมันจึงต้องทุ่มกันสุดตัว อย่างกับคิวล่าสุดที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาค กทม. คุมทีม "หางเครื่องชุดใหญ่" อันประกอบไปด้วยนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมฯ นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล นายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ

เปิดวิกเรียกแต้มจากคนดูในเขตบึงกุ่ม

ตามคิวเฮี้ยบๆที่ "เทพเทือก" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สั่งให้ ส.ส.ที่มาร่วมปราศรัยลงชื่อก่อนขึ้นเวที เพื่อเป็นการเช็กชื่อตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคฯ ได้กำชับให้ ส.ส.เวียนกันมาช่วยหาเสียงให้นายพนิช

เกณฑ์ทัพ เรียกแถวระดมพล ประชาธิปัตย์โหมสุดกำลัง

ตามอาการแกว่งๆ โดยเฉพาะเมื่อโดนชนักปักหลัง คดียุบพรรคที่โดนดัก 2 เด้ง ทั้งกรณีเงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท และปมอำพรางเงินบริจาค 258 ล้าน จากบริษัททีพีไอฯ โอกาสเป็นน้อยกว่าตาย

กระแสวูบวาบ กำลังภายในหดหาย

โดยยุทธศาสตร์ก่อนอื่นเลย ประชาธิปัตย์จึงต้องอุดรอยรั่วในพื้นที่เมืองกรุงไว้ก่อน ไม่ให้เขื่อนแตกทลายไปทั่วประเทศ

เพราะนั่นหมายถึงหายนะใหญ่

สถานการณ์เลวร้ายจะประดังมาพร้อมกัน กระแสตก โดนยุบพรรค ลูกแถวระส่ำ ประชาธิปัตย์ยากที่จะรักษาตั๋ว ยื้อสิทธิเป็นแกนหลักในการถือครองอำนาจรัฐต่อไป

ฝ่ายคุมเกมดีดลูกคิดแล้ว รังแต่จะขาดทุน

ตามเกมต้องเปลี่ยนตัวผู้เล่นใหม่

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกจะไหลไปเข้าทางพรรคเพื่อไทย

ตามจังหวะที่บังเอิญสอดรับกับวงสัมมนา ส.ส.อีสาน "เฮียมิ่ง" นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ สวมบทเซียนการเมือง ฟันธง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะยุบสภา ตัดหน้าคิวยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในราวปลายเดือนสิงหาคม

แล้วก็ตั้งเป้า พรรคเพื่อไทยจะกวาด ส.ส.รอบหน้า 250-270 ที่นั่ง

เบิ้ลได้ถูกจังหวะเวลาซะด้วย

แน่นอนไม่ใช่เรื่องคุยโม้คำโตเกินไป กับตัวเลข 250-270 ของ "เฮียมิ่ง" แต่ในหมายเหตุว่า พรรคเพื่อไทยต้องอยู่ในสถานการณ์แน่นปึ้ก ไม่เสี่ยงแพ้ภัยตัวเองไปซะก่อน

กับประเด็นที่ขัดๆกันอยู่ในข่าวเดียวกัน

ทางหนึ่ง "เฮียมิ่ง" ก็แท็กทีมกับนายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยึดกุมสภาพพรรคเพื่อไทย เหยียบตาปลากับ "สารวัตรเหลิม" ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรค ที่จ่อเสียบหัวแม่ทัพอยู่เหมือนกัน

อีกด้านก็เป็นข่าว การเปิดดีลระหว่างอดีตนายกฯทักษิณ กับ "หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯและ รมว.คลัง สมัยรัฐบาลขิงแก่ ดึงมาเป็นแม่ทัพพรรคเพื่อไทย

แต่งตัวรอเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ล่าสุด "หม่อมอุ๋ย" ยอมรับพร้อมปฏิเสธว่า พรรคเพื่อไทยทาบทามจริง แต่เป็นอดีตก่อนเหตุการณ์ความรุนแรง และคนที่ทาบทามไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นคนในพรรค และได้ปฏิเสธไปก่อนแล้วว่า ไม่รับตำแหน่ง

เป็นอันว่า จบข่าว "หม่อมอุ๋ย" ในสีเสื้อพรรคเพื่อไทย

แต่ที่ต้องติดตามตอนต่อไป กับคิวของ ส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนาที่นำทีมโดยนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม และกลุ่มของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีต รมว.ยุติธรรม ที่ไม่ยอมเข้าร่วมงานสัมมนา ส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทย เพราะเซ็งกับระบบบริหารภายใต้การนำของนายพายัพ

ตามข่าววงในแว่วๆว่า ส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่งที่ทนสภาพแร้นแค้นไม่ไหว แต่ไม่กินเส้นกับยี่ห้อ "เนวิน ชิดชอบ" เลยหันไปผูกเสี่ยวอยู่กับกลุ่ม 3 พี "ไพโรจน์ สุวรรณฉวี-พินิจ จารุสมบัติ-ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ" แกนนำใหญ่พรรคเพื่อแผ่นดิน พร้อมร่วมหัวจมท้าย

นี่แหละตัวแปร ถ้าจะมีเหตุพลิกผัน.

ทีมข่าวการเมือง รายงาน

แทรกแซงซิกแซ็ก

ที่มา ไทยรัฐ


นโยบายทางการเงินการคลังที่เข้าภาคบังคับ ถ้ารัฐบาลจะใช้นโยบาย ประชานิยม แบบซี้ซั้วก็ต้องระมัดระวังจะส่งผลกระทบถึงภาระการชำระหนี้ในระยะยาวด้วย คาดว่าสิ้นปีนี้คงถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้ต่างประเทศก้อนใหญ่ รัฐบาลจะหารายได้ เป็นหรือไม่ ก็เห็นๆกันอยู่ แต่ที่ต้องเตรียมตัวเตรียมใจกับมาตรการถอนขนห่าน ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต้องตั้งคำถามไว้ล่วงหน้าว่า ชาวบ้านตาดำๆจะอยู่กันอย่างไร

เพราะสุดท้ายแล้วการดำเนินนโยบายผิดพลาด การชิงอำนาจทางการเมืองไม่ลืมหูลืมตา การทุจริตคอรัปชันกันมโหฬาร รัฐบาลมาแล้วก็ไป แต่ประชาชนไม่รู้จะหนีไปไหน ต้องรับกรรมไปตามระเบียบ

การที่รัฐบาลจะเข้ามามีอำนาจโดยเบ็ดเสร็จทางการเมือง คิดว่าชาวบ้านกินแกลบกินรำ ระวังจะคิดผิด คิดว่ามีคนตายแล้วไม่ต้องรับผิดชอบก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป คิดว่ามีตัวช่วยแล้วจะสามารถหลุดรอดความรับผิดชอบทั้งหมดไปได้ก็อย่าไปคิดไกลขนาดนั้น

การใช้อำนาจกดขี่ประชาชนระวังกระแสตีกลับ การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 ครั้งนี้ ให้จับตาการสั่งสอนรัฐบาลเหลิงอำนาจและเป็นการพิสูจน์ว่าอำนาจเถื่อนจะเอาชนะอำนาจในมือประชาชนได้หรือไม่

วิธีการเข้าแทรกแซงเพื่อยึดอำนาจของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ชักจะล้ำเส้น ไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี ไม่เกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศ จะเนียนขนาดไหน จะตบตาอย่างไร ความจริงก็หนีความจริงไปไม่พ้น ซื้อไทยคมคืนก็เงียบ ทวงเขาพระวิหารก็เงียบ โควตาข้าวก็เงียบ รถเมล์ 4 พันคันก็เงียบ ถนนปลอดฝุ่นก็เงียบ ถนนขึ้นเขาใหญ่ก็เงียบ

ทางหนึ่งเอานโยบายประชานิยมบังหน้า แจกโบนัส ขึ้นเงินเดือน ชดเชยรายได้ทางหนึ่ง ขูดรีดภาษี ขึ้นดอกเบี้ยกันเป็นว่าเล่น สินค้าอุปโภคบริโภค แพงโคตรๆ ถ้าคิดจะแจกเงินมาลดราคาสินค้าไม่ดีกว่าหรือ จะได้ทั่วถึงกับประชาชนทุกชั้น หาเงินก็ไม่ได้ใช้เงินก็ไม่เป็น

มีเรื่องเล่าจากที่ประชุม คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นัดประชุมครั้งแรกหลังจากได้จุฬาราชมนตรีคนใหม่ ที่ประชุมมีวาระสำคัญ 2 วาระคือ การถอดถอนอิสลามกลาง จ.สุราษฎร์ธานีเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามคำพิพากษาของศาลและการรับรองแผนงานของสถาบันฮาลาล

ปรากฏว่ามีการ วอล์กเอาต์ องค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถพิจารณาวาระสำคัญดังกล่าวได้ ซึ่งที่ประชุมประกอบด้วยตัวแทนอิสลามประจำจังหวัด 39 คน และมาจากการเลือกของจุฬาราชมนตรีจำนวน 12 คน เรื่องนี้จะมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการคงไว้ซึ่งสถาบันสำคัญทางศาสนา

ไม่ว่าจะเข็นการปฏิรูปอย่างไรก็เข็นไม่ขึ้นเพราะทุกอย่างมีเจตนาแอบแฝง ดูอย่างคณะกรรมการแก้รัฐธรรมนูญนั่นปะไร

จะเสนอแก้มาตรา 190 ทันที อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ เพราะเป็นมาตราเดียวที่รัฐบาลอยากแก้มากที่สุด เพื่อที่จะทำสัญญากับต่างประเทศ ได้อย่างสะดวกโยธิน ถามว่าเกี่ยวกับการปฏิรูปตรงไหน ฮึ.


หมัดเหล็ก

การ์ตูน เซีย 17/07/53

ที่มา ไทยรัฐ

การ์ตูน เซีย 17/07/53

วิดีโอคลิป: สัมภาษณ์พิเศษ - สมบัติ บุญงามอนงค์

ที่มา ประชาไท

ประชาไท สัมภาษณ์พิเศษ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ บก.ลายจุด หลังจากถูกตำรวจจับไปคุมตัวที่ ตชด.ปทุมธานี นานกว่า 10 วัน ในข้อหา ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน


สัมภาษณ์พิเศษ: สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) from prachatai on Vimeo.

ม.เที่ยงคืนเสนอ “ปฏิรูป” การ “ปฏิรูปประเทศ”

ที่มา ประชาไท

ม.เที่ยงคืนชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอำนาจกว้างขวาง ไม่มีหลักประกันเสรีภาพการแสดงความเห็นของฝ่ายที่คิดต่างจากรัฐบาล เสนอให้เลิก พ.ร.ก. เพื่อให้ความคิดเรื่องปฏิรูปไม่ออกมาแต่ข้างฝ่ายรัฐบาล ชี้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีสลายชุมนุมเมษา-พฤษภามีความสำคัญต่อการปฏิรูป พร้อมเรียกร้องสังคมกดดันให้เกิดการ “ปฏิรูป” การ “ปฏิรูปประเทศ”

เวลา 16.00 น. วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ห้อง 102 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณาจารย์กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบด้วย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ อาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ร่วมกันออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง “ปฏิรูปการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมี นายสมชาย เป็นผู้อ่านแถลงการณ์

ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ “ปฏิรูปการปฏิรูปประเทศไทย” ระบุว่า “ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ในการกล่าวหาและควบคุมบุคคลที่เห็นว่ากระทำการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งแม้กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังมีการกล่าวหาและการควบคุมบุคคลจำนวนมากโดยไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าได้กระทำความผิดในลักษณะใด

อำนาจที่ฉ้อฉลของกฎหมายฉบับนี้จึงย่อมเป็นผลให้บุคคลที่มีจุดยืนแตกต่างจากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐไร้หลักประกันว่าจะสามารถแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจได้อย่างปลอดภัย เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยจึงยากที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางการแลกเปลี่ยนทัศนะอย่างกว้างขวางและการต่อรองอย่างเป็นธรรม จึงต้องมีการยกเลิก พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ความคิดในการปฏิรูปประเทศไม่ปรากฏออกมาสู่สังคมเฉพาะที่มาจากฝ่ายของรัฐบาล ชนชั้นนำ และปัญญาชนที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปคณะต่างๆ เท่านั้น”

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ “ความจริง” และต้องมีผู้ “รับผิด” ต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง ตลอดจนการที่สังคมโดยรวมจะได้หาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความรุนแรง เพื่อจะสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก กระบวนการดังกล่าวนี้สำคัญอย่างมากต่อการที่จะดึงให้ทุกฝ่ายทุกสีให้หันหน้าเข้าหากันโดยต่างก็ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ และเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศในวิถีทางที่ตนสามารถกระทำได้

“มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันกดดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูป “การปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริง ซึ่งการมีส่วนร่วมของสังคมนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผล หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวางอันจะเป็นผลดีต่อสังคมไทยในระยะยาว” ตอนท้ายของแถลงการณ์ระบุ

หลังการแถลงข่าวนายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ตอบคำถามและอธิบายข้อเสนอเรื่องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองและเปิดเผยต่อสังคมว่า การมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่การเปิดเวที ระดมคนร้อยคน หรือสองร้อยคนไปฟัง นอกจากนี้ต้องมีการพิมพ์เอกสารและสื่อทั้งหมดที่คณะกรรมการฯ กำลังดำเนินการสู่สาธารณะชนในวงกว้างและง่ายต่อการเข้าถึง อาจจะพิมพ์สิ่งที่คณะกรรมการฯ จะเสนอในหนังสือพิมพ์หรืออื่นๆ รวมทั้งในบางกรณีเช่นกรรมการที่เป็นชุดตรวจสอบข้อมูลฯ ก็มีความจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลหรือหลักฐานด้วยซ้ำ เพื่อที่สังคมทั้งหมดจะได้เห็นข้ออ่อนหรือจะทำอะไร การเปิดเวทีเพียงครั้งๆ เกรงว่าถ้าทำอย่างนั้นจะคล้ายการทำประชาพิจารณ์จอมปลอมซ้ำรอยรัฐธรรมนูญปี 2550 ท้ายสุดจะไม่ได้อะไรขึ้นมา

นายชำนาญ จันทร์เรือง กล่าวหลังการแถลงข่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 ชุดที่ตั้งขึ้น เป็นเรื่องซื้อเวลาของฝ่ายบริหาร เพราะจริงๆ แล้วฝ่ายบริหารมีหน้าที่ปฏิรูปอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งกรรมการอะไรอยู่แล้ว อำนาจเต็มอยู่ที่ฝ่ายบริหาร คณะรัฐบาลอยู่แล้ว คณะกรรมการทั้งสองชุดตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง ถ้ามีการเสนอขึ้นมาถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วยก็จบ และระยะเวลาทำงานก็เนิ่นนาน 2-3 ปี และไม่แน่ว่ารัฐบาลชุดหน้าจะเอาหรือไม่เอาอย่างไร ก็เป็นการซื้อเวลา แต่การปฏิรูปไม่สามารถเคลื่อนได้ถ้ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่ยกเลิกประกาศธรรมดา แต่ต้องเลิกกฎหมายนี้ไปเลย พ.ร.บ.ความมั่นคงก็ร้ายแรงเต็มที ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดปาก เซ็นเซอร์ ปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ซึ่งขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง และประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากี่เดือนแล้ว ไม่ใช่แค่ฉุกเฉิน แต่เป็นฉุกเฉินฉบับถาวรไปแล้ว โดยรายละเอียดของแถลงการณ์เป็นไปดังแนบท้าย

000

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง “ปฏิรูปการปฏิรูปประเทศไทย”

ในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างรุนแรง รัฐบาลได้นำเสนอกระบวนการ “ปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อเป็นหนทางในการจัดการกับความขัดแย้งและนำสังคมไทยกลับคืนสู่ภาวะสันติสุข โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ได้เข้ามาร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเด็นที่สังคมควรพิจารณาเพื่อให้การปฏิรูปประเทศไทยมีความชอบธรรมและบรรลุผลอันพึงปรารถนา

1. ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งของสังคมการเมืองไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ การที่อำนาจในการอธิบายปัญหา การเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจหรือการวินิจฉัยต่างๆ ตกอยู่ในมือของชนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียว แม้ว่าการปฏิรูปประเทศครั้งนี้จำเป็นจะต้องมีปัญญาชนและชนชั้นนำเข้ามาร่วมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ก็จำเป็นจะต้องมีภาคสังคมเข้ามามีบทบาทในกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเปิดโอกาสให้ภาคสังคมสามารถควบคุมตรวจสอบความคิดและการตัดสินใจของคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละชุดได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานของคณะกรรมการแต่ละชุดต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เปิดเผย เพื่อให้สาธารณชนได้มีโอกาสรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมด ทั้งเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์และการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

2. ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ในการกล่าวหาและควบคุมบุคคลที่เห็นว่ากระทำการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งแม้กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังมีการกล่าวหาและการควบคุมบุคคลจำนวนมากโดยไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าได้กระทำความผิดในลักษณะใด

อำนาจที่ฉ้อฉลของกฎหมายฉบับนี้จึงย่อมเป็นผลให้บุคคลที่มีจุดยืนแตกต่างจากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐไร้หลักประกันว่าจะสามารถแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจได้อย่างปลอดภัย เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยจึงยากที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางการแลกเปลี่ยนทัศนะอย่างกว้างขวางและการต่อรองอย่างเป็นธรรม จึงต้องมีการยกเลิก พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ความคิดในการปฏิรูปประเทศไม่ปรากฏออกมาสู่สังคมเฉพาะที่มาจากฝ่ายของรัฐบาล ชนชั้นนำ และปัญญาชนที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปคณะต่างๆ เท่านั้น

อนึ่ง แม้ว่าบุคคลหลายคนที่เข้าร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะยืนยันถึงเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของตนว่ามิได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่ความมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสังคมต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่า หากสังคมขาดเสรีภาพอย่างแท้จริงในการแสดงความเห็น เสรีภาพของคณะกรรมการแต่ละคนก็จะไม่มีความหมายใดเลย

3. ความขัดแย้งที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างเหตุการณ์เดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการกล่าวหาและการตอบโต้กันว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่สร้างความรุนแรง กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของความไม่ไว้วางใจรวมถึงความเกลียดชังระหว่างผู้คนต่างสีในสังคมไทย

กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ “ความจริง” ทั้งในเรื่องของตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและเงื่อนไขแวดล้อมของความรุนแรง เพื่อนำไปสู่การที่แต่ละฝ่ายจะได้มีความเข้าใจต่อกันมากขึ้น และการที่จะต้องมีผู้ “รับผิด” (accountability) ต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง ตลอดจนการที่สังคมโดยรวมจะได้หาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความรุนแรง เพื่อจะสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก กระบวนการดังกล่าวนี้สำคัญอย่างมากต่อการที่จะดึงให้ทุกฝ่ายทุกสีให้หันหน้าเข้าหากันโดยต่างก็ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ และเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศในวิถีทางที่ตนสามารถกระทำได้

กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต้องดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ก่อนที่พยานหลักฐานจะถูกจัดการหรือสูญหาย และเพื่อให้กระบวนการนี้ไม่ถูกมองว่าเป็นแต่เพียงเครื่องมือในการซื้อเวลาของรัฐบาล ซึ่งความระแวงสงสัยดังกล่าวนี้ย่อมไม่เอื้อต่อการดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เข้ามาสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันกดดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูป “การปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริง ซึ่งการมีส่วนร่วมของสังคมนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผล หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวางอันจะเป็นผลดีต่อสังคมไทยในระยะยาว

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
16 กรกฎาคม 2553

Friday, July 16, 2010

คนไทยรึเปล่า?

ที่มา โลกวันนี้


เรื่องจากปก
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 5 ฉบับที่ 268 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 16 กรกฏาคม 2010
โดย ทีมข่าวการเมือง

“สมัยพฤษภา 2535 การเสียชีวิตมีการบันทึก การชันสูตรอยู่ในเกณฑ์ที่คิดว่าพอรับได้ มีบันทึกแพทย์ ทำให้เห็นแผลแต่ละแผล มีมุม มีลักษณะที่ถูกยิง ปืนที่ใช้ยิงเป็นลักษณะแบบไหน อย่างไร เป็นการจ่อยิง เป็นบาดแผลอย่างไร สมัยนั้น ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ทำการวิเคราะห์เอกสารที่ชันสูตรศพ 39 ศพ จากทั้งหมด 44 ศพ แล้วมีบันทึกที่นำเอามาใช้ได้ ในขณะนั้นอาจารย์วิฑูรย์บอกว่ายังไม่สมบูรณ์ ควรปรับปรุง แต่เหตุการณ์นั้นผ่านมา 18 ปี สิ่งที่น่าตกใจในเชิงระบบการแพทย์เองก็ไม่มีบันทึกครบสมบูรณ์ อย่างน้อยถ้าเทียบกับปี 2535 ตอนนั้นยังมีมากกว่า”

ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ข้องใจการชันสูตรพลิกศพ 90 ศพในเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต เพราะที่ผ่านมาแทบไม่ปรากฏเป็นข่าวใดๆเลย และตั้งคำถามถึงหน่วยแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง 3 กรณีคือ 1.ศพส่งที่ไหนก็ชันสูตรที่นั่น ซึ่งการชันสูตรเป็นแบบไหนเขายังไม่เห็นเอกสาร เขาเพียงแต่เขียนว่าชันสูตร 2.ศพส่งไปที่ ไหนแล้วไปชันสูตรอีกที่หนึ่ง และ 3.ทำไมไม่มีข้อมูลชันสูตรศพทั้งหมด แต่มีเพียงประมาณ 1 ใน 3

2 ใน 3 ไม่มีการชันสูตร?

“ที่น่าสนใจคือ ศพที่ถูกยิงในเหตุการณ์และเสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน มีทั้งหมด 26 ศพ บอกว่ามีการชันสูตรศพ พอหลังจากนั้นคือหลังวันที่ 28 เมษายนมีการปะทะกันบนถนนวิภาวดีรังสิต แล้วมีทหารเสียชีวิตนายหนึ่ง ซึ่งบอกว่ายิงกันเองก็ไม่มีการชันสูตรศพ พอวันที่ 13 พฤษภาคม วันที่ เสธ.แดงถูกยิง จนมาถึงวันที่ 19 และ 20 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตอีก เอา 26 ลบ 90 ทั้ง หมดนี้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีการชันสูตรศพ อันนี้เป็นคำถามของวิธีการว่าเกิดอะไรขึ้นถึงไม่มีการชันสูตรศพที่เหมาะที่ควร และสามารถจะใช้เป็นหลักฐานได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน”

ดร.กฤตยายังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ศพถูกฌาปนกิจไปแล้วส่วนใหญ่ จึงมีข้อมูลน้อยมากหรือไม่มีเลย ซึ่งเป็นการเจตนา เป็นการจงใจหรือไม่ไม่ทราบ แต่ในฐานะทำงานด้านมนุษยชนมีความรู้สึกว่าภาครัฐ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สถาบันการแพทย์ ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องความยุติธรรมจากใคร

90 ศพที่พูดไม่ได้?

ความเห็นของ ดร.กฤตยาไม่ได้แตกต่างจากคนเสื้อแดง นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชนต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อต่างประเทศ ที่เห็นว่ารัฐบาลไทยพยายามกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนความจริงในการใช้กำลังทหารปราบปราม คนเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บเกือบ 2,000 ราย โดยใช้สารพัดนโยบายประชานิยมที่จะทำให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาล หรือประกาศแผนปรองดอง วาทกรรมสวยหรู และตั้งคณะกรรมการต่างๆขึ้นมาปฏิรูปประเทศไทย

แต่ 3 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน หรือ 2 เดือนจากเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม แทบไม่มีความจริงใดๆเกี่ยวกับเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” มาแถลง ให้ประชาชนรับทราบเลย ที่สำคัญรัฐบาลยังต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดสื่อและเว็บไซต์ต่างๆเร่งไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” และ “ล้มสถาบัน” อย่างต่อเนื่อง

เสียงของญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมากมายจึงเงียบสนิทและไม่รู้จะทวงถามความยุติธรรมกับใคร แม้ล่าสุดจะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน แต่นายคณิตแถลงชัดเจนว่าไม่ได้เน้นค้นหาความจริงว่าใครผิดหรือถูกในการสังหารคนเสื้อแดง แต่เน้นแสวงหาความจริงถึงต้นเหตุของความรุนแรงทางการเมือง เพื่อป้องกันความขัดแย้งและฟื้นฟูเยียวยาสังคมให้เกิดความปรองดองในระยะยาว

ยูเอ็นจี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แต่คนเสื้อแดงและประ-ชาชนที่รักความเป็นธรรมไม่ได้สิ้นหวังที่จะทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศมีการเกาะติดและเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลไทยมากกว่าคนไทยและองค์กรต่างๆของไทย

อย่างเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นายอิเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ส่งจด หมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที โดยระบุว่าเป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดหลักการประชาธิปไตย แม้จะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในบางพื้นที่ก็ตาม

โดยเฉพาะการคุมขังคนเสื้อแดงโดยไม่มีการตั้งข้อหาชัดเจน การไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกจับกุม การใช้สถานที่คุมขังในที่ที่ไม่เหมาะสม และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ถูกคุมขังถูกทารุณกรรมหรือไม่ ซึ่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่กลับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่ออ้างความชอบธรรมและสร้างเกราะคุ้มครองให้รัฐบาลและ ศอฉ. หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาฆ่าและทำร้ายประชาชน ทั้งยังปิดสื่อและเว็บไซต์จำนวนมาก ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่จำกัดและขัดต่อหลักการด้านมนุษยชนตามสนธิสัญญานานาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นสมาชิก

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group-ICG) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ศึกษาวิกฤตระดับนานาชาติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ได้เผยแพร่รายงานชื่อ “ประสานรอยแยกในประเทศไทย” เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ที่มีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของประชาชน

อนุญาตให้ฆ่า!

ขณะที่องค์กรสื่อไร้พรม แดนแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พร้อมรายงานที่ได้จากการสืบสวน สัมภาษณ์ และวิเคราะห์จากสื่อมวลชนต่างๆที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งไทยและต่างชาติชื่อ “อนุญาตให้ฆ่า” เรียกร้องรัฐบาลไทยและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้องค์กรต่างๆของสหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนอย่างอิสระและโปร่งใสใน “อาชญากรรม” ที่เกิดขึ้นในไทยระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างชาติเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว ยังกระทบต่อวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างยิ่งอีกด้วย

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 90 ศพนั้น มีนักข่าวต่างประเทศ 2 ราย และผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บถึง 10 ราย บางรายอาจต้องพิการไปตลอดชีวิต ขณะที่รัฐบาลไทยยังเซ็นเซอร์และปิดสื่อที่มีความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลอีกมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

แถลงการณ์ยังระบุว่า แม้รัฐบาลจะสามารถสลายการชุมนุมครั้งใหญ่กลางกรุงเทพฯได้ แต่เป็นชัยชนะที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของทหาร ซึ่งมีพยานมากมายเห็นการยิงประชาชนที่ไร้อาวุธ ขณะที่รัฐบาลอาศัยการประกาศภาวะฉุกเฉินกวาดล้างคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายของประเทศไทยที่ให้การคุ้มครองสิทธิพลเมืองไว้อย่างชัดเจน

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจึงเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระในอาชญากรรมที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะสูญเสียความน่าเชื่อถือในเวทีนานาชาติ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ต้องแสดงความจริงใจเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ รวมทั้งในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้รับคำบอกเล่าจากนักข่าวยุโรปที่อยู่ในพื้นที่วันสุดท้ายของการชุมนุมว่าทหารใช้อาวุธสงครามกับประชาชน และไม่เคารพกติกาสากลในการสลายการชุมนุม แม้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจะอ้างว่ากองทัพมีคำสั่งชัดเจนห้ามยิงประชาชน แต่สามารถใช้กระสุนจริงได้เพื่อป้องกันตัวเองจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย เช่นเดียวกับการยืนยันว่ารัฐบาลให้เสรีภาพสื่อ แต่วันนี้ยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดสื่อและเว็บไซต์ต่างๆอยู่

ทวงถามความยุติธรรม

สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความยุติธรรมให้กับ 90 ศพที่เสียชีวิตนั้น เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) ได้รวมตัวกันประท้วงการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.) ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ที่บ้านพิษณุโลก โดยแต่งกายใช้สัญลักษณ์กาชาดและพระสงฆ์ พร้อมสวมหน้ากากอาบเลือด และนำแผ่นกระดาษพิมพ์รายชื่อผู้เสียชีวิตปูบนพื้นถนน เพื่อแสดงการคัดค้านที่มาของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดว่าไม่ถูกต้อง แต่ไม่ได้แสดงความสนใจแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คกป. ได้แจกจ่ายเอกสารมาจากบทความ “ปฏิรูปไม่ได้ ปรองดองไม่ได้ ถ้าไม่รู้สึกเจ็บปวด” โดยตั้งคำถามถึงจุดยืนของ นพ.ประเวศ ในการเป็นประธาน คสป. ว่า

“ความคิดที่จะมุ่งปฏิรูปอนาคตโดยไม่สนใจไยดีต่ออดีต และอันที่จริงอดีตก็ไม่ใช่เรื่องของเฉพาะโจทก์และจำเลย แต่เป็นเรื่องของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุม แต่เป็นเรื่องของการสูญเสียที่ร้าวลึกของหลายฝ่าย เป็นเรื่องของบาดแผลในจิตใจมนุษย์ ที่คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเยียวยา ทั้งยังเป็นบาดแผลต่อจิตวิญญาณของชนชาติไทย แต่ทำไมประธานกรรมการท่านนี้จึงเริ่มจากการบอกให้มองข้ามอดีต”

นอกจากนี้นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ หนึ่งใน คกป. ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญเสียจากการสลายการชุมนุมก่อน ไม่ใช่เร่งการปฏิรูปที่เป็นเพียงการซื้อเวลา และการเบี่ยงเบนความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์เท่านั้น

มาร์ค V11 เหยื่ออำมหิต

ความปรองดองหรือแผนปฏิรูปของนายอภิสิทธิ์จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะสำเร็จตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าใครฆ่าและทำร้ายประชาชน ไม่ใช่แค่การตั้งกลุ่มอรหันต์มาสร้างภาพและยื้อเวลาให้ตนอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด

ขณะที่อีกด้านหนึ่งใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไล่ล่าและกวาด ล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขบวนการต่างๆกดดันและทำลายฝ่ายตรงข้าม อย่างกรณีนายวิทวัส ท้าวคำลือ หรือมาร์ค V11 ผู้เข้าแข่งขัน “ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7” (AF7) ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ควิจารณ์และขับไล่นายอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่งกรณีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม จนเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ที่กดดันให้ปลดมาร์ค V11 ออกจากรายการ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม มาร์ค V11 ประกาศขอถอนตัวจากการแข่งขัน แม้จะอ้างเหตุผลเพื่อให้ทุกฝ่ายหันมาสมานฉันท์ พร้อมทั้งปฏิเสธข่าวหมิ่นเบื้องสูงก็ตาม แต่คงยากจะให้ผู้ที่ให้กำลังใจมาร์ค V11 มาตลอดเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจอย่างบริสุทธิ์ใจด้วยตัวเอง เพราะนายวทัญญู ท้าวคำลือ บิดาของมาร์ค V11 พูดชัดเจนว่าจะพาลูกชายเข้าพบนายอภิสิทธิ์เพื่อขอโทษ ซึ่งก่อนหน้านี้พ่อแม่ของมาร์ค V11 ไม่ยอมให้ขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ตเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย และต้องการให้เห็นความสมานฉันท์ โดยมาร์ค V11 เองก็ไม่รู้เรื่องมาก่อน

กรณีของมาร์ค V11 จึงถือเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นความแตกแยก ความอคติ และจิตใจที่ใฝ่ต่ำของสังคมไทยขณะนี้ เพราะแม้แต่ความเห็นของเยาวชนคนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นอย่างบริสุทธิ์ตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยยังถูกต่อต้านอย่างรุนแรง แม้แต่นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความกังขาและทวงถามถึงความรับผิดชอบ แทนที่จะแสดงความป็นผู้นำที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เป็นผู้นำที่มีความเอื้ออาทรและเมตตาธรรม จึงไม่แปลกที่วันนี้คนจำนวนมากจะไม่เชื่อความจริงใจของนายอภิสิทธิ์ และไม่เชื่อว่าจะสร้างความปรองดองหรือกลุ่มอรหันต์จะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ

โมฆบุรุษ-โมฆรัฐบาล

คำพูดที่ว่า “เมื่อไม่มีก้าวแรกก็ไม่มีก้าวที่สอง” จึงสอด คล้องกับวิกฤตประเทศไทยขณะนี้อย่างดี เพราะหลายฝ่ายไม่เชื่อและยังกังขาแผนการปรองดองของนายอภิสิทธิ์ หากยังไม่มีคำตอบและคืนความยุติธรรมกับการสังหารโหดประชาชนทั้ง 90 ศพ

แม้แต่นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และหนึ่งใน คปร. ของนายอานันท์ ยังให้ความเห็นต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมว่าเป็น “พฤษภามหาโฉด” ที่ขณะนี้ไม่มีใครไว้วางใจใครได้เลย ตราบใดที่ยังมีการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหรือนายอภิสิทธิ์ “ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมในการปรองดอง นอกจากการลาออก”

เช่นเดียวกับ ดร.กฤตยาที่เห็นว่า หลังเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ถือว่านายอภิสิทธิ์เป็น “โมฆบุรุษ” เพราะวาทกรรม “ก่อการร้าย” ที่นำมาใช้กับคนเสื้อแดง หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่ใช้คำว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” นั้น เหมือนการสร้างความสกปรกให้สะอาด สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล แล้วสร้างความอัปลักษณ์ให้กับคนเสื้อแดง โดยรัฐบาลใช้อำนาจอำมหิตจัดการในสิ่งที่เห็นว่าสกปรก ทั้งนี้ แม้ประชาชนจะเกลียดรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่มีสิทธิเกลียดประชาชน และไม่มีอำนาจสั่งฆ่าประชาชน

“นายอภิสิทธิ์เคยพูดกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ว่านายสมชายเป็นคนหรือไม่ แต่ดิฉันจะไม่ถามว่านายอภิสิทธิ์เป็นคนหรือไม่ เพราะรู้ว่าเป็นคนอยู่แล้ว นอกจากนี้ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา นายอภิสิทธิ์อภิปรายโจมตีนายบรรหารตอนหนึ่ง นายอภิสิทธิ์กล่าวหานายบรรหารว่าเป็นโมฆบุรุษ และในเหตุการณ์นี้มีการสั่งสลายการชุมนุมจนทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่นายอภิสิทธิ์ยังอยู่ในอำนาจ นายอภิสิทธิ์เป็นโมฆบุรุษ และรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นโมฆรัฐบาล”

ดร.กฤตยายังย้ำถึงการชันสูตรศพที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตที่มีแต่ 1 ใน 3 เท่านั้น เห็นได้ชัดเจนจากกรณีของ “น้องเกด” น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาของร่วมด้วยช่วยกัน ที่ถูกยิงที่วัดปทุมวนาราม ซึ่ง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ บอกว่ามีกระสุนค้างที่ตัว แต่ภายหลังฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับบอกว่าไม่มี ซึ่งสรุปได้ว่าการชันสูตรศพของรัฐบาลไม่มีความชัดเจน และสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการอำพรางการฆาตกรรมอย่างอำมหิต

คนไทยรึเปล่า?

สังคมไทยวันนี้จึงไม่ใช่แค่ไม่มีคำตอบกับ 90 ศพ และอีกเกือบ 2,000 ชีวิตที่บาดเจ็บ พิการเท่านั้น แม้แต่จะเรียกร้องความยุติธรรมยังมืดมน เพราะอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใหญ่คับบ้านคับเมือง ที่รัฐบาลอ้างเป็นการบังคับใช้นิติรัฐนั้นกลับนำมาใช้แบบเอาเป็นเอา ตายและบ้าเลือดกับคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม ไม่คำนึงถึงความเท่าเทียม สิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นพลเมืองและสิทธิความเป็นมนุษย์ มีการจับคนที่คิดเห็นตรงกันข้ามไปคุมขังโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาใดๆก็ได้

ขณะเดียวกันรัฐบาลและ ศอฉ. ยังใช้สื่อและวาทกรรมต่างๆเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ทั้งปิดกั้น ควบคุมและแทรกแซงสื่ออย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ปรากฏภาพทหารที่ประทับเล็งปืน หรือการใช้กำลังของทหารที่เกินสมควรแก่เหตุ โดยใช้วาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่นายอภิสิทธิ์และ ศอฉ. ถือเป็นความชอบธรรม

เหมือนพฤติกรรมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. ที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ถามว่า มีคนเห็นว่าทหารยิงประชา- ชน ทาง ศอฉ. ตรวจสอบอย่าง ไร นายสุเทพกลับยกมือชี้ไปที่ผู้สื่อข่าว แล้วถามว่า “เป็นคนไทยรึเปล่า?”

ทั้งที่เป็นคำถามที่ผู้สื่อข่าวอยากทราบความคืบหน้าการเสียชีวิตของ 90 ศพ ซึ่งรัฐบาลและ ศอฉ. ต้องอดทนและทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากที่สุด แต่นายสุเทพกลับแสดงบารมีซึ่งไม่ต่างอะไรกับการข่มขู่ เหมือนเตือนว่าอย่าถามและคิดเช่นนี้อีก ทั้งที่ 90 ศพก็เป็นคนไทยเช่นกัน และยังเป็นคนไทยที่ถูกฆ่าอย่างอำมหิตอีกด้วย

คนที่น่าสงสารและต้องถามตัวเองว่า “เป็นคนไทยรึเปล่า?” จึงน่าจะเป็นคนที่สั่งการ และคนที่ลงมือฆ่าและทำ ร้ายประชาชน!

เหมือนครั้ง 6 ตุลาคม 2519 ที่สังหารโหดนักศึกษากลางเมือง แต่คนฆ่ากลับกลายเป็นวีรบุรุษ เพราะคำว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

เช่นเดียวกับการฆ่าอย่างเลือดเย็นและอำมหิต 90 ศพที่ราชดำเนินถึงราชประสงค์ และ 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ที่ไม่ ใช่แค่ถามว่า “เป็นคนไทยรึเปล่า?” เท่านั้น

แต่ต้องถามว่า “เป็นคนรึเปล่า?” ด้วย!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5 ฉบับ 268 วันที่ วันที่ 17-23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8 คอลัมน์ เรื่องจากปกโดย ทีมข่าวรายวัน