ที่มา ประชาไท
ไฟแนนเชียลไทมส์ ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์นายกอภิสิทธิ์ โดยผู้สื่อข่าว David Pilling and Tim Johnston เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้งที่จะมาถึง รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่ยังค้างคาใจใครหลายคน เช่น การสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และบทบาททหารในการเมืองไทย โดยประชาไทเลือกบทสัมภาษณ์บางส่วนที่น่าสนใจมาแปลและนำเสนอ ดังนี้
000
ไฟแนนเชียล ไทมส์: บรรยากาศในการหาเสียงครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
อภิสิทธิ์: ดีครับ ผมเอ็นจอยกับการได้ออกไปพบปะผู้คนจากหลายกลุ่ม เช่น ชาวนา คนงานในโรงงาน ชาวบ้านในตลาด และอื่นๆ
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่มีคนบอกว่าคุณไม่ค่อยชอบอยู่กับชาวนาและคนงานนะ แต่นั่นอาจจะเป็นการป้ายสีก็ได้
อภิสิทธิ์: ผมก็เห็นด้วย ครั้งนี้เป็นการสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ 8 ของผมแล้ว ยังไม่นับครั้งอื่นๆที่ผมลงสมัครเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่ผมต้องไปหา เสียงอีก ที่มีคนพูดว่าผมไม่ค่อยชอบพบปะผู้คน ผมว่าคงไม่ค่อยจริงเท่าไหร่ เพราะผมทำมาเป็น 20 ปีแล้ว
ไฟแนนเชียล ไทมส์: โพลล์ดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่เลยนะ (สำหรับประชาธิปัตย์)
อภิสิทธิ์: ผมว่าก็ดูโอเคนะ ก็เป็นการแข่งขันที่เฉียดฉิว และจริงๆผมก็ชอบเป็นม้ารองบ่อน เพราะทำให้เราได้ทำงานกันแข็งขันมากขึ้น
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ดูแล้วท่าทางคุณไม่น่าจะได้เป็นเสียงข้างมาก
อภิสิทธิ์: ผมว่าไม่จริง ยังเป็นไปได้อยู่ ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นประเด็นในตอนนี้ คือโครงการประกันรายได้สำหรับชาวนา ที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าเขาค่อนข้างมั่นใจ แต่จริงๆ แล้วชาวนาจำนวนมากรู้สึกว่านโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นภัยมากกว่า
ไฟแนนเชียล ไทมส์: โพลล์ของพรรค ปชป. ว่ายังไงบ้าง..?
อภิสิทธิ์: เราตามหลังอยู่นิดหน่อย การจัดสรรที่นั่งซับซ้อนนิดหน่อยในระบบแบบนี้ แต่เราก็ประเมินว่า สองพรรคใหญ่จะได้เสียงรวมกันราว 400 เสียง ซึ่งแต่ละพรรคก็น่าจะได้ประมาณ 200 ที่นั่ง
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณคิดว่าประเด็นหลักๆ ในช่วงอาทิตย์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งคืออะไร คิดว่าจะแย่ลงไหม??
อภิสิทธิ์: ผมคิดว่าทางเลือกก็ค่อนข้างชัดเจนนะ ในแง่ของนโยบาย ที่ผมพูดถึงเรื่องชาวนาไป ผมว่าอันนี้เป็นความแตกต่างที่ชัดเจน เราจะดีใจมากถ้าชาวนาได้ตัดสินใจในเรื่องนั้น แต่ผมคิดว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้ก็คือ เพื่อไทยมุ่งไปที่การนิรโทษกรรมและการฟอกตัวทักษิณค่อนข้างมาก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดของประเทศและของประชาชน ประชาชนต้องการจะแก้ไขปัญหาปากท้องมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น และประชาชนก็อยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดอย่างเร่งด่วน สิ่งที่ประชาชนไม่น่าอยากจะเห็น ก็คือความขัดแย้งและปัญหาที่ไม่จบสิ้นต่างหาก
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ถ้ามองว่านี่เป็นการทำประชามติเรื่องทักษิณล่ะ ซึ่งจริงๆแล้วก็เหมือนจะใช่...
อภิสิทธิ์: ถ้าเพื่อไทยอยากให้การเลือกตั้งเป็นการทำประชามติเรื่องทักษิณ ก็ให้เปิดเผยพูดกันตรงๆไปเลย แล้วก็หยุดหาเสียงโดยนโยบายอย่างขึ้นค่าแรงวันล่ะ 300 บาทได้แล้ว เพราะคนจะได้รู้กันว่าเลือกตั้งไปแล้วจะได้อะไร
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่สโลแกนหาเสียงของเพื่อไทยที่ว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ยังชัดเจนไม่พออีกหรือ
อภิสิทธิ์: ก็ใช่ แต่คนงานในโรงงานอาจจะคิดว่า ทักษิณจะทำให้ค่าแรงขึ้นได้เป็น 300 บาท แต่จริงๆแล้วทักษิณคิดแต่เรื่องของนิรโทษกรรมตนเอง ซึ่งมันไม่แฟร์ต่อผู้เลือกตั้ง
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ถ้าเขาอยากจะนิรโทษกรรม...
อภิสิทธิ์: แล้วอีกกี่เดือนล่ะกว่านิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ ทำไมปัญหาของประชาชนต้องมาทีหลังปัญหาส่วนตัวของทักษิณล่ะ?
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพื่อไทยต้องหยุดการดำเนินงานทางด้านนโยบายนี่
อภิสิทธิ์: ทักษิณกลับมาไม่ได้
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ถ้าเพื่อไทยสามารถดำเนินการนำเขากลับมาได้ และบริหารรัฐบาลไปได้พร้อมๆ กัน?
อภิสิทธิ์: พวกเขาก็เคยลองแล้วในช่วงรัฐบาลสมัคร(สุนทรเวช) และรัฐบาลสมชาย(วงศ์สวัสดิ์)
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ที่คุณได้ไปพูดที่ FCCT ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่างประชาธิปัตย์ กับเลือก ความวุ่นวาย…
อภิสิทธิ์: ผมพูดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่างการนำประเทศก้าวไปข้างหน้า ก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งเก่าๆ และการกลับไปสู่ความขัดแย้ง แน่นอนว่าข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมจะเป็นข้อเสนอที่สร้างความวุ่นวาย และจะทำให้สังคมเราแตกแยกอีกครั้ง
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ถ้าคนไทยส่วนใหญ่อยากได้นิรโทษกรรม และเลือกเช่นนั้น...
อภิสิทธิ์: แล้วเราจะรู้ได้ยังไง..?
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ก็มันเป็นส่วนหนึ่งของการไปออกเสียงนี่
อภิสิทธิ์: ก็อย่างที่ผมบอก คุณอาจจะทำลายความเชื่อใจของประชาชนก็ได้ เพราะผมได้ไปพูดคุยกับคนที่บอกว่าจะเลือกเพื่อไทย เขาบอกว่าที่เลือกเพราะอยากได้ค่าแรงขึ้นเป็น 300 บาท ดังนั้นคุณจะฟันธงว่าอย่างนั้นก็ไม่ได้
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ....ว่าคนเลือกเพราะอยากให้มีการนิรโทษกรรม?
อภิสิทธิ์: ถูกต้อง พรรคเพื่อไทยหาเสียงด้วยนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจะเรียกคะแนนเสียงอย่างเดียว ดูอย่าง นโยบายแจกไอแพดให้เด็กนักเรียน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท โครงการจำนำข้าว นโยบายที่ว่านี้ ใช้งบประมาณราวๆ ทั้งหมดสามเท่าของงบที่มีอยู่
ไฟ แนนเชียล ไทมส์: สมมุติว่าเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาลพรรคร่วม หรือเป็นเสียงข้างมาก คุณคิดว่า คุณเอง และคนรอบข้างจะยอมรับผลที่ว่าได้หรือไม่
อภิสิทธิ์: เรายอมรับผลการเลือกตั้งเสมอ
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ในประวัติศาสตร์มีเหตุการณ์ที่มีการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยการรัฐประหาร
อภิสิทธิ์: จริงหรือ เมื่อไหร่ล่ะที่การเลือกตั้งไม่ถูกยอมรับ และถูกรัฐประหาร เรามีรัฐประหารในระหว่างการเลือกตั้งต่างหาก
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ก็มีเหตุการณ์ในอดีตที่ว่า ฝ่ายต่อต้านทักษิณ ใช้วิธีนอกเหนือจากประชาธิปไตยเข้ามาจัดการ...
อภิสิทธิ์:ไม่ จริง ที่จริงแล้วพรรคการเมืองของทักษิณมีการกระทำผิดกฎหมาย นี่คือเหตุผลที่พรรคไทยรักไทยถูกตัดสินยุบพรรค เช่นเดียวกับพรรคพลังประชาชน จะเห็นว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงต่างหาก เราคิดว่าการรัฐประหาร เป็นการทำให้ประเทศเดินถอยหลัง เราไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหาร
ไฟ แนนเชียล ไทมส์: คำถามคือว่า ฝ่ายตรงข้ามทักษิณจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่เพื่อไทยชนะได้หรือไม่ คุณได้พูดไปชัดเจนว่าคุณจะยอมรับผลที่ออกมา แต่ผู้เล่นอื่นๆ ในการเมืองไทยล่ะ เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกองทัพ จะยอมรับหรือไม่
อภิสิทธิ์: พวกเขาก็ควรจะยอมรับ
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แล้วคุณเชื่อว่าพวกเขาจะยอมไหม
อภิสิทธิ์: ก็คิดว่าคงยอมนะ ตอนสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่มีอะไรผิดปรกติเกิดขึ้น จนกระทั่งเขาเริ่มพูดถึงการนิรโทษกรรม เพราะประชาชนรู้สึกว่ามันเป็นข้อเสนอที่ขัดกับหลักนิติรัฐ เราไม่เคยมีข้อตัดสินศาลหรือกรณีใด ๆ ที่ทำไปเพื่อฟอกตัวคนใดคนหนึ่ง ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาสนใจผลประโยชน์ส่วน ตัว ก่อนผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ถ้าทางเพื่อไทยเริ่มดำเนินการแผนนิรโทษกรรม คุณคิดว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายไหม
อภิสิทธิ์: ก็มีความเสี่ยงอยู่ ถ้าพวกเขาไม่กระทำผิดกฎหมาย พวกเขาก็คงจะไม่ถูกยุบพรรค
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณเห็นหลักฐานว่าพวกเขาทำผิดกฎหมายบ้างหรือไม่
อภิสิทธิ์: ตอนนี้เรายังไม่รู้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็พูดถึงสองสามกรณีที่อาจเกิดการตัดสิทธิผู้ลง สมัครได้ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ว่าจริงๆ แล้ว เขาก็พูดกันว่าทุกพรรคการเมืองก็ใช้วิธีการแบบเดียวกันหมด ?
อภิสิทธิ์: เราเองก็มีผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิเหมือนกัน ทุกพรรคก็อยู่ภายใต้กฎนี้
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณคิดว่ามันเป็นกฎหมายที่ดีหรือเปล่า
อภิสิทธิ์: ก็คิดว่าดีนะ และคิดว่าต้องมีการบังคับใช้ที่ดีกว่านี้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องถึงกับยุบพรรคการเมือง แต่ผมคิดว่าคณะกรรมการบริหารพรรคควรจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะว่าที่ทำผิดไปก็ทำในนามของพรรค
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ควรจะรับผิดชอบในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ทั้งพรรค?
อภิสิทธิ์: แต่ก็ควรจะมีความรับผิดชอบร่วมในหมู่คณะกรรมการบริหารพรรค ถ้าการกระทำดังกล่าวทำไปเพื่อผลประโยชน์ของพรรคมากกว่าเพื่อปัจเจกบุคคล
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่มีความรู้สึกในหมู่ประชาชนว่ากฎหมายบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม
อภิสิทธิ์: ก็นั่นเป็นเพราะว่าคุณฟังความข้างเดียวน่ะสิ ลองคิดถึงกรณีที่ทักษิณและเสื้อแดงชนะบ้าง พอเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมไม่เห็นเขาบ่นเรื่องความไม่ยุติธรรมบ้าง
ไฟแนนเชียล ไทมส์: สงสัยเพราะพวกเขาคิดถึงแต่กรณีที่พวกเขาแพ้กระมัง
อภิสิทธิ์: แล้วก็ไม่เห็นพูดถึงกรณีที่ตัวเองชนะบ้าง
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ถ้าคุณดูกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายแพ้แล้ว....
อภิสิทธิ์: ก็เราไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ ถ้ามีคนเดินมาหาแล้วต่อยหน้า แล้วถูกลงโทษ คุณสมควรต้องถูกลงโทษไปด้วยหรือ..?
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ประชาธิปัตย์ก็หลุดพ้นการตัดสินในกรณีทีพีไอ โพลีนได้...
อภิสิทธิ์: ผมก็จะบอกให้ว่าในกรณีนั้น ตอนแรกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด จนกระทั่งเสื้อแดงไปชุมนุมที่สำนักงานกกต. เขาจึงเปลี่ยนผลการตัดสิน
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณกำลังบอกว่าผลการตัดสิน กกต. ขึ้นอยู่กับแรงกดดันหรือ
อภิสิทธิ์: ใช่..! และคุณจะเห็นว่าคำร้องที่ส่งไปร้องเรียนให้ตรวจสอบพรรคไทยรักไทย และเพื่อไทย ไม่ได้ดำเนินการจากพวกเราเลย เราไม่เคยไปแทรกแซงหรือข่มขู่ใครทั้งนั้น หลายๆ กรณีที่โจมตีพรรคประชาชาธิปัตย์นั้นมาจากพรรคของทักษิณทั้งนั้น แม้กระนั้นพวกเขากลับบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค
ไฟ แนนเชียล ไทมส์: คุณคิดว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ที่ไปตราหน้าแกนนำเสื้อแดงบางคนที่ลงสมัครเลือก ตั้งในพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
อภิสิทธิ์: เราใช้คำนิยามตามกฎหมายสากลระหว่างประเทศ คิดว่ากำหนดขึ้นหลังช่วง 9/11 (เหตุการณ์ถล่มตีกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์)
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลกหรือ ที่คนระเบิดสถานีตำรวจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังถูกมองว่าเป็นอาชญากรธรรมดา?
อภิสิทธิ์: ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางส่วนก็ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นการก่อการร้าย
ไฟแนนเชียล ไทมส์: อืม.. ไม่เคยได้ยินกรณีหลังเลย
อภิสิทธิ์: ก็นั่นไง
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณรู้ไหมว่ามีจำนวนเท่าไหร่
อภิสิทธิ์: ไม่นะ แต่ผมก็ได้สอบถามไป เขาว่าขึ้นอยู่กับกรณีๆไป ว่าตรงตามคำนิยาม (ว่าด้วยการก่อการร้าย) หรือไม่ ปัญหาเกี่ยวกับภาคใต้ที่ทำให้การดำเนินข้อหาการก่อร้ายเป็นเรื่องยาก เพราะความรุนแรงถูกเชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องบางอย่าง ส่วนข้อเรียกร้องที่ว่านั้นจะเป็นอะไรก็อีกเรื่อง
ไฟ แนนเชียล ไทมส์: คุณค่อนข้างกระตือรือร้นในการเปิดช่องทางที่จะสื่อสารกับผู้ก่อความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนใต้ ความคืบหน้าเป็นยังไงบ้าง
อภิสิทธิ์: ผมคิดว่าการพูดคุยเพื่อรับฟังมุมมอง และปัญหาจากพวกเขาเป็นประโยชน์มาก และผมก็รู้ว่าเจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงานพยายามจะเปิดช่องทางสื่อสารดังกล่าว
ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจดำเนินการอะไรใช่ไหม
อภิสิทธิ์: ยัง...อย่างน้อยเพราะในจังหวัดชายแดนใต้มีกลุ่มต่างๆที่หลากหลาย และไม่ได้มีเอกภาพเท่าแต่ก่อน และเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครออกมารับผิดชอบ ไม่ได้มีข้อเรียกร้องอะไร
ไฟ แนนเชียล ไทมส์: คุณมองอย่างไรต่อสถานการณ์ต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว มีคนจำนวนมากเสียชีวิต ในคนหลายพันคนที่ไม่มีอาวุธ ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มติดอาวุธอยู่ข้างในบ้าง
อภิสิทธิ์: เราก็พยายามเต็มที่เพื่อที่จะแยกสองกลุ่มออกจากกัน เราใช้ความอดทนอดกลั้น และได้เสนอทางออกทางการเมือง ที่มักถูกปฏิเสธจากฝ่ายนั้นเสมอ
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณพูดถึงข้อเสนอให้มีการเลือกตั้ง ?
อภิสิทธิ์: ใช่ ซึ่งก็จะเป็นหกเดือนก่อนหน้าจากปัจจุบัน เราไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย และรับมือสถานการณ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณรู้ไหม เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในตะวันออกกลาง มีหลายคนมาบอกกับผมว่า “เราเข้าใจ ว่ามันเป็นเรื่องซับซ้อน”
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณรู้สึกเสียใจในสิ่งที่ทำไปไหม มีอะไรที่อยากจะทำต่างออกไปบ้าง
อภิสิทธิ์: ผมไม่แน่ใจว่าเราจะทำอะไรต่างออกไปได้หรือเปล่า แต่ผมเสียใจเสมอในความสูญเสีย
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ทำไมการสืบสวนเหตุการณ์ไม่คืบหน้าเร็วกว่านี้
อภิสิทธิ์: ควรจะไปถามคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่า เขาจะบอกคุณเรื่องอุปสรรคที่เจอ และผมเองก็คิดว่ามันก็น่าจะเป็นเรื่องยากในการค้นหาความจริงเบื้องลึกได้ ในเมื่อยังมีสถานการณ์ความวุ่นวายยังคงอยู่
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ทำไมเขาไปมองที่เหตุการณ์ในตะวันออกกลางแล้วบอกว่าเขาเข้าใจล่ะ
อภิสิทธิ์: เพราะคุณจะเห็นว่ามันมีความรุนแรงและความสูญเสียมากมายที่เกิดขึ้น
ไฟ แนนเชียล ไทมส์: แต่ในกรณีนั้นฝ่ายที่ผิดน่าจะเป็นพวกรัฐบาลเผด็จการไม่ใช่หรือ คุณคงไม่อยากถูกนำไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลพวกนั้นหรอกนะ ?
อภิสิทธิ์: ใช่... แสดงว่าคุณก็คิดได้ว่าเราไม่ได้เป็นรัฐบาลเผด็จการ
ไฟ แนนเชียล ไทมส์: คุณคิดว่าการใช้สไนเปอร์เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นเรื่องเหมาะสมหรือ ไม่ ฮิวแมนไรท์วอทช์บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ conflict zone (พื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่อนุญาตให้รัฐใช้อาวุธสงครามได้ - ผู้แปล)
อภิสิทธิ์: ตอนนี้มีหลักฐานชัดเจนแล้วหรือ??ว่ามีการใช้สไนเปอร์?
ไฟแนนเชียล ไทมส์: เรามีรูปของคนที่ใช้อาวุธสไนเปอร์ และพลแม่นปืน
อภิสิทธิ์: ผมได้อธิบายไปแล้วว่าคนในรูปกำลังทำอะไร คุณก็เห็นคลิปแล้ว มีรูปผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังจะจุดไฟเผารถยนต์ เขาจึงถูกยิงเข้าที่ขา
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ฉะนั้นการยิงเข้าที่หัวก็ไม่ได้มาจากปืนสไนเปอร์เลย ?
อภิสิทธิ์: เราก็ไม่ได้มั่นใจ 100% แต่การที่คุณมีรูปกลุ่มคนอยู่บน (รางรถไฟฟ้า) ซึ่งกำลังควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม และด่วนสรุปว่าพวกนั้นเป็นมือสไนเปอร์ที่ยิงประชาชน คงไม่ค่อยถูกต้องเท่าไรนัก เรามีหลักฐานชัดเจนว่าคนที่อยู่ด้านบน ยิงผู้ชายคนหนึ่งในที่ชุมนุมเข้าที่เท้า เพราะต้องการหยุดไม่ให้เขาไปจุดไฟเผารถเท่านั้น
ไฟแนนเชียล ไทมส์: การยิงคนเข้าที่ขา เพื่อหยุดคนไม่ให้ไปแตะต้องรถยนต์ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้อย่างนั้นหรือ?
อภิสิทธิ์: แล้วถ้าเป็นคุณ คุณจะทำยังไง ?
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ผมก็ไม่รู้
อภิสิทธิ์: ข้อกล่าวหาที่ใหญ่ที่สุดที่เกี่ยวกับการยิงสไนเปอร์ น่าจะเป็นกรณีวัดปทุม ไหนคุณลองบอกซิว่าแรงจูงใจในการยิงที่เกิดขึ้นคืออะไร ตอนนั้นการชุมนุมก็จบลงแล้ว ทำไมทหารถึงต้องอยากจะยิงประชาชนด้วยในเมื่อการชุมนุมจบลงแล้ว
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณกำลังพูดว่าไม่มีใครถูกยิงในวัดอย่างนั้นหรือ
อภิสิทธิ์: ไม่ใช่! มีคนถูกยิงในวัดปทุม แต่ใครยิง เรายังไม่รู้ เป็นเรื่องของคณะกรรมการสืบสวนที่ต้องค้นหาความจริง แต่การสรุปว่าคนในวัดปทุมถูกยิงโดยทหารเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ ผมรู้ว่าคำสั่งในตอนนั้นชัดเจนมาก คือไม่ให้เข้าไปในพื้นที่นั้นเพราะมีคนอยู่ที่วัด เหตุผลเดียวที่ทหารต้องเข้าไปอยู่บริเวณนั้น เป็นเพราะเซ็นทรัลเวิร์ล และสยามสแควร์ถูกไฟเผา ทหารจึงต้องไปช่วยดูรถดับเพลิง นั่นเป็นสิ่งที่เขาทำ
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ฉะนั้นคุณก็ค่อนข้างมั่นใจว่าทหารไม่ได้ยิงใคร?
อภิสิทธิ์: ที่แน่ๆ คือทหารไม่ได้รับคำสั่งให้ยิงประชาชน นอกจากเป็นไปเพื่อป้องกันตัวเอง และผมเองคิดแทบตายก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่า ทำไมทหารถึงอยากยิงประชาชน เพราะถ้าทำจริงก็จะส่งผลเสียต่อรัฐบาลและทหารเอง ทำไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมา น่าจะมีเหตุผลที่เชื่อถือได้ว่า เมื่อทหารยิงปืนลงมาจากรางรถไฟฟ้าบีทีเอส เขากำลังสู้อยู่กับคนที่ยิงสวนมาจากรถดับเพลิงและรถพยาบาลมากกว่า มีนักข่าวต่างประเทศคนหนึ่งโทรมาหาผมแล้วบอกว่า เขาถูกยิงและต้องการรถพยาบาล เราพยายามจะส่งรถพยาบาลเข้าไป แต่เมื่อรถพยาบาลขับเราเข้าไปกลับถูกยิงโจมตี เราจึงต้องให้กำลังทหารไปคุ้มครองรถพยาบาล การปะทะเช่นนี้ก็เกิดขึ้น
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณคิดว่า สิ่งที่ประสบความสำเร็จที่ได้ทำไปแล้วในการปรองดองคืออะไรบ้าง
อภิสิทธิ์: ประเด็นหลักๆ ก็คือว่า เราต้องการรัฐบาลที่คำนึงถึงปัญหาของทุกฝ่าย ผมพยายามจะเข้าถึงทุกกลุ่ม เมื่อมีข้อเสนอแนะว่าเราควรจะให้ความช่วยเหลือแก่คนเสื้อแดง รวมถึงการให้ประกัน เราก็จัดการให้ ผมคิดว่า เราจัดให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาเสื้อแดงราว 50 คนได้ คนเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแกนนำเสื้อแดงเลยด้วยซ้ำ แต่พอพวกเขาออกมาได้ เขาก็คงไม่มาสนับสนุนผมเท่าไหร่ แต่นี่แหละคือการทำงานเพื่อประชาชนทุกคน คุณก็ต้องพยายามดูแลทุกฝ่ายให้เรียบร้อย ผมได้ตัดสินใจจะหมดวาระเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้ประชาชนสามารถมีสิทธิตัดสินใจ นี่คือสิ่งที่เราได้ธรรมที่เป็นรูปธรรม แต่แน่ล่ะคุณไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ และถ้าการปรองดอง หมายถึงการยอมรับทุกอย่างและเข้าทางทักษิณล่ะก็ ผมไม่คิดว่ามันเป็นการปรองดองสำหรับประเทศนี้ได้ ทำไมเพื่อไทยเริ่มรู้สึกลังเลเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมตอนนี้ก็ไม่ทราบ
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คิดว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการยุติความแตกแยกได้หรือไม่
อภิสิทธิ์: ผมคิดเช่นนั้น ถ้าเราได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลอีก ก็จะเป็นสัญญาณว่าประเทศนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามปัญหาเรื่องทักษิณ และจะทำให้ดีที่สุดในสี่ปีข้างหน้า เพื่อพิสูจน์ว่าทุกคนมีสิทธิมีเสียง
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณได้โพสต์บทความที่น่าสนใจในเฟซบุ๊กเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเหตุผลอะไรหรือเปล่าที่ทำเช่นนั้น
อภิสิทธิ์: ผมก็แค่อยากจะชี้แจงให้คนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง มีการคาดเดาไปต่างๆนาๆ มีความคิดเห็น คำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เยอะแยะไปหมด ผมได้เลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าวมาตลอดเพราะไม่อยากพูดถึง ผมแค่อยากทำงานของผมไป แต่เมื่อเวลาช่วงเลือกตั้งใกล้มาถึง มันน่าเหลือเชื่อมากที่มีคนก็เริ่มพูดกันในหลายเรื่องๆ ที่ไม่จริงเลย ผมจึงอยากชี้แจงให้คนเข้าใจถูกต้อง
ไฟแนนเชียล ไทมส์: มีความรู้สึกทั่วไปว่า กองทัพเป็นพลังทางการเมืองที่มีอำนาจสูงในประเทศนี้
อภิสิทธิ์: ผมว่าที่คุณพูดมามันแปลกๆ หน้าที่ของกองทัพระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว การรัฐประหารก็ชัดเจนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เราไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ความจริง ผมเป็นผู้นำพรรคคนแรกด้วยซ้ำที่ออกมาพูดวา เราคิดว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิด แต่หลังจากการเลือกตั้ง และอำนาจกลับมาสู่มือประชาชนแล้ว กองทัพก็ได้มีบทบาทช่วยรัฐบาลรักษากฎหมาย และผมก็แปลกใจทีทักษิณออกมาพูดว่า เขาเสียใจเรื่องนโยบายภาคใต้ ที่อนุญาตให้ตำรวจและทหารใช้นโยบายยุติธรรมแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทางเราเป็นกลุ่มที่เข้าไปดูแลปัญหาดังกล่าว และชี้ว่าเราต้องลดอำนาจพิเศษของทหาร ต้องให้ทหารเป็นทหารอาชีพ ทำตามนโยบายของรัฐบาล ทำไมคนถึงตีความว่าทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน ในเมื่อจริงๆแล้ว ควรจะมองว่า “มีตัวอย่างที่ชัดเจนว่ากองทัพทำตามนโยบายของรัฐบาล” ด้วยซ้ำ
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คิดว่าเป็นไปได้ไหมว่าจะมีการรัฐประหารหากเพื่อไทยชนะ
อภิสิทธิ์: (หากเพื่อไทยชนะ) จะเสี่ยงต่อความไม่มีเสถียรภาพ คุณก็ลองถามตัวเองดู ในฐานะพรรคการเมือง และตัวแทนของประชาชน คุณจะเอาอนาคตของประเทศมาเสี่ยงเพียงเพื่อที่จะได้ฟอกตัวให้กับคนคนเดียว อย่างนั้นหรือ ผมคิดว่ากองทัพก็เห็นแล้วว่า พวกเขายังคงต้องแบกรับปัญหาจากการรัฐประหารคราวที่แล้ว ทำไมเขาถึงอยากจะหาเรื่องใส่ตัวอีก
ไฟแนนเชียล ไทมส์: ทำไมกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงตัดขาดกับคุณ
อภิสิทธิ์: ผมขอไม่แสดงความคิดเห็น
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณมองว่านโยบายบางส่วนของคุณมีลักษณะเป็นประชานิยมหรือไม่
อภิสิทธิ์: ก็แล้วแต่ว่าคุณนิยามมันว่าอะไร ที่ผมมั่นใจก็คือว่านโยบายของเราค่อนข้างรับผิดชอบ เรามีนโยบายที่ส่งเสริมให้คนออมเงินเป็นครั้งแรก ซึ่งแตกต่างจากสมัยทักษิณ กองทุนเงินออมระดับชาติ ทำให้คนมีประกันสังคม และจ่ายสบทบ เมื่อเราจัดการปัญหา เช่น เรื่องหนี้ เราก็ไม่ได้ใช้นโยบายเลื่อนชำระหนี้ แต่เราทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้ไปเข้าระบบธนาคาร ซึ่งเป็นวิธีที่แตกต่างกันมาก
ไฟแนนเชียล ไทมส์: คิดว่าสองปีที่ผ่านมา ได้มีส่วนทำอะไรให้แก่ประเทศไทยมากที่สุด
อภิสิทธิ์: สำหรับประเทศชาติ คือ การกอบกู้ประเทศจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งตอนนี้เราก็มีฐานเศรษฐกิจที่แข็งแรงมาก ส่วนสำหรับประชาชน ผมว่าโครงการประกันรายได้ชาวนา เป็นโครงการที่ทำให้ชีวิตของชาวนาไทยหลายล้านคนต้องเปลี่ยนไปในทางขึ้น นอกจากนี้ การศึกษาฟรี และเบี้ยผู้สูงอายุก็ยังนับว่าเป็นนโยบายที่มีประโยชน์มากเช่นเดียวกัน
หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ของบทความ เมื่อเวลา 11.45 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2254