ถ้าความทรงจำยังมิลืมเลือน ราวหนึ่งเดือนที่ผ่านมา TPBS สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิชุมชนไท และสภาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย มีบุคคลสำคัญ อย่างนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอำนาจเผด็จการทหารคมช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายสน รูปสูง ประธานสภาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวให้ปฏิรูปประเทศไทย แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
และพวกเขาอ้างว่า พวกเขาเป็น “ภาคประชาชน” ผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องทางการเมือง ?
เมื่อสามวันที่ผ่านมา นายประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายบรรเจิด สิงคเนติ มูลนิธิสถาบันเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และนายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ได้เสนอสมัชชาปฏิรูประเทศไทย เพื่อปฏิรูปประเทศไทย
พวกเขาอ้างว่า เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมค่อนข้างสิ้นหวังกับนักการเมือง ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนแปลงกันขนานใหญ่ และในวันที่ 20 พฤษภาคม นี้เขาจะจัดเวทีใหญ่ มีนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ร่วมงานด้วย
และพวกเขาก็ชอบอ้างว่า พวกเขาเป็น “ภาคประชาชน” ผู้เป็นกลางทางการเมือง ?
แต่พวกเขาก็หาได้เป็นรากหญ้าตัวจริงไม่ พวกเขาไม่ได้ทำการผลิต ไม่ได้ใช้แรงงานทำมาหากิน พวกเขาไม่จบเพียงชั้น ป.4 เหมือนมวลชนผู้ยากไร้ที่พวกเขาชอบเอ่ยอ้าง แต่พวกเขาทำโครงการ หางบประมาณ และ “สถาปนาตนเอง” เป็น “ผู้นำรากหญ้า” เป็น “ผู้นำภาคประชาชน” เป็น “ผู้นำภาคประชาสังคม” นั่นเอง โดยที่มวลชนผู้ยากไร้ก็ไม่ได้เลือกตั้งเขา
และพวกเขาก็ไม่เคยเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เหมือนนักการเมืองที่พวกเขาจงเกลียดจงชังว่าเชื่อถือไม่ได้ มีเล่ห์เหลี่ยมไม่ควรคบหาสมาคมด้วยยิ่งนัก
สำหรับผู้ที่สนใจการเคลื่อนไหวอย่างเกาะติดการเมืองในห้วงสามสี่ปี่ที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า พวกเขาทั้งหลายล้วนเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร 19 กันยายน 49 เป็นผู้สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลสุรยุทธ์ เป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ เป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งเปิดเผยและแนบเนียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม
สรุปได้ว่า พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นเครือข่ายอำมาตย์ทั้งสิ้น แม้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นองคมนตรี ไม่ได้เป็นผู้นำกองทัพ ไม่ได้เป็นท่านตุลาการ
แต่พวกเขาเป็น “ภาคประชาชน” ที่ไม่ชอบประชาธิปไตย ไม่นิยมให้ผู้ปกครองผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง พวกเขาไม่ชอบให้ประชาชนเลือกพวกเขา แต่ชอบการแต่งตั้งจากชนชั้นนำ ชนชั้นสูง บางคนได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีความมั่งคงแห่งชาติ(คมช.) เป็นคตส. บางคนลงสมัครคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
พวกเขายังคิดว่า “ประชาชนโง่ ถูกซื้อ” จึงเลือกผู้แทน ได้แต่นักการเมืองที่ไม่ดี ทำให้การเมืองไทยสกปรก
พวกเขาจึงมองว่า การเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาธิปไตย เนื่องเพราะ “คนดี มีคุณธรรม” อย่างพวกเขาไม่มีโอกาสได้รับการเลือกตั้งเป็นแน่
“ภาคประชาชน” ของพวกเขา จึงเห็นว่า คนเราไม่เท่ากัน คนจนยังโง่อยู่จะให้เท่ากับคนชั้นกลาง คนชั้นสูง ผู้มีการศึกษา ได้อย่างไรกัน
พวกเขาชวนกันเชื่อว่า หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง คนเราเท่ากัน ของระบอบประชาธิปไตย ใช้กับสังคมไทยไม่ได้ เพราะเรามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไงท่านทั้งหลาย
“ภาคประชาชน” ของพวกเขา มีความรักชาติยิ่งชีพ ครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงต้องทวงคืนเขาพระวิหาร เพราะพวกเขมรปล้นไป เราคนไทยจึงยอมไม่ได้
“ภาคประชาชน” ของพวกเขา มีมาตรฐานยิ่งนัก ช่วงรัฐบาลสมชายต้องการให้ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกจากทำเนียบ ออกจากสนามบิน พวกเขาเคลื่อนไหวอย่างเอาการเอางานไม่ให้รัฐบาลสมชายใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุม พวกเขาต้องการ “สิทธิมนุษยชน”
แต่เมื่อรัฐบาล อภิสิทธิ์ คนดีของพวกเขา “ขอพื้นที่คืน” โดยการใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปราบปรามคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตยให้รัฐบาลยุบสภา และทำให้คนเสื้อแดงต้องถูกสังหารสูญเสียชีวิต 25 ชีวิต และบาดเจ็บนับพัน พวกเขาไม่ได้เรียกร้องต้องการ “สิทธิมนุษยชน” อีกแล้ว พวกเขาบอกว่า “ยุบสภาไม่ได้แก้ไขปัญหา สังคมไทยต้องปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งเป็นข้ออ้างหนึ่งของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ที่บอกต่อสังคมว่าได้คุยกับภาคประชาชนแล้วเช่นกัน
พวกเขาจึงเป็นส่วนหนึ่งทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์อย่างปฏิเสธไม่ได้
พวกเขาบอกว่า “แปรวิกฤตเป็นโอกาส” หรือว่า พวกเขา ”ฉวยโอกาสบนกองศพวีรชนไพร่” ผู้สละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งสังคมต้องร่วมกันทวงถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาลและฆาตรกรสั่งฆ่าประชาชนก็ต้องถูกลงโทษ มิใช่หรือ?
พวกเขาทั้งหลายจึงเป็นได้เพียง “อำมาตย์ภาคประชาชน” นั่นเอง
ข้อเสนอการยกร่างจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยเป็นองค์การมหาชนอิสระของพวกเขานั้น มีกำหนดระยะดำเนินงาน 5 ปี มีกรรมการไม่เกิน 21 คน ประกอบด้วยผู้มีความรู้หรือมีประสบการณ์ด้านพัฒนาประชาธิปไตย การพัฒนาสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนของสังคม
จะเป็นเช่นเดียวกับองค์กรมหาชนทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ? ซึ่งล้วนแต่มีคำถามและถูกวิจารณ์จากสังคมกันว่า เป็นองค์กรมียุทธศาสตร์คับแคบ มีแนวทางที่นิยมเผด็จการรวมศูนย์อำนาจ เสนอทางออกต่อชาวบ้านให้รู้จักพอเพียงพึ่งตนเอง การบริหารจัดการองค์กรที่ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีส่วนร่วม ขัดกับหลักธรรมาภิบาลที่พวกเขาชอบอ้างอิงทั้งสิ้น
แต่กลับเป็นองค์กรที่พิจารณางบประมาณให้เฉพาะพรรคพวกที่เป็นพวกนิยมอำมาตย์ เอางบประมาณอุปถัมป์ผู้นำชาวบ้านบางคนให้เชื่องเชื่อฟังตน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ นำงบประมาณใช้เคลื่อนไหวขัดขวางระบอบประชาธิปไตย เล่นพรรคเล่นพวกไม่มีหลักการ มีแต่หลักกู และใช้เงินงบประมาณที่เป็นภาษีประชาชนเพื่อครอบงำชาวบ้านให้ขึ้นตรงต่อองค์กรมหาชนที่ชอบระบอบอำมาตยาธิปไตยมากกว่าสร้างสรรค์ประชาธิปไตย
สภาประชาชนปฎิรูปการเมืองที่พวกเขาเสนอมา ผู้เข้าร่วมก็คงเป็นเครือข่ายอุปถัมป์ค้ำชูของพวกเขา หน้าเดิมๆ คนเก่าๆ ที่ทำมาหากินกับพวกเขาเสมอมา และห่างเหินคนในหมู่บ้านตนเอง เป็นผู้นำลอยจากฐานมวลชน เพราะต้องยุ่งกับการประชุมสัมมนากินกาแฟ โรงแรมหรู ค่าเบี้ยเลี้ยงคุ้ม ที่พักอย่างดีมีทั้งแอร์และน้ำอุ่น มีคาเฟ่ฟังเพลงยามค่ำคืน ไม่ใช่ตากแดดทนฝน นอนตากยุงเหมือนคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์
และก็คงล็อบบี้กันเองภายใน เลือกกันเองว่าจะเอาใครเป็นกรรมการ 21 คน ประชาชนนอกเครือข่ายอำมาตย์ไม่เกี่ยว ยิ่งประชาชนคนเสื้อแดง คงต้องถอยไปเลยไปไกลๆ แม้ว่าคนเสื้อแดงจะมีมวลมหาชนทั้งปริมาณและคุณภาพมากกว่ามวลชนพวกเขานับร้อยพันเท่าก็ตามเถิด
ส่วนผู้มีความรู้ด้านการพัฒนาประชาธิปไตยที่พวกเขาว่า ก็คงจะกลายเป็นผู้มีความรู้ในการพัฒนาระบอบอำมาตยาธิปไตยให้เข้มแข็ง โกหกพกลม หลอกลวงโลกได้ทุกสมัยของสังคมมากกว่าการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างที่กล่าวอ้าง... แต่ที่แน่ๆ งบประมาณคงไหลมาเทมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นแน่
เพราะการปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้นำโดยรัฐบาลอำมาตย์ เครือข่ายอำมาตย์ และอำมาตย์ภาคประชาชน
คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า “ปฏิรูปประเทศไทยบนกองศพวีรชนไพร่” จะเป็นเช่นไร ?
และ “กาลเวลาจะพิสูจน์ผู้คนด้วยเช่นกัน”