WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, July 24, 2010

สรุปข่าวรอบวัน 23-07-53

ที่มา Asia Update TV



ข่าววันละคำ 23-07-53

จาก(เป่าคดี?)เอสซี แอสเสท-(ฆ่าตัดตอน?)คดี258ล้าน

ที่มา มติชน

โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ท่ามกลางข้อสงสัยมากมาย กรณีมีผู้กล่าวโทษว่า ผู้บริหารบริษัทฉ้อโกงหรือไซ่ฟ่อนเงินของบริษัทจำนวน 263 ล้านบาทและนำไปให้แก่พรรคประชาธิปัตย์(จำนวน 258 ล้านบาท)โดยทำนิติกรรมอำพรางผ่าน บริษัทเมซไซอะ บิชิเนสแอนด์ ครีเอชั่น จำกัด


เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ดีเอสไอมีความเห็นในลักษณะค้านสายตาคนดู แต่เคยทำมาแล้วในยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งอธิบดีดีเอสไอ ในขณะนั้น ไม่ยอมทำความเห็นแย้งอัยการสูงสุดที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ของครอบครัวชินวัตร อย่างรวดเร็ว(ไม่ถึง 15 วัน?) ทั้งๆที่มีความเห็นสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้


ที่สำคัญดีเอสไอไม่ยอมรอความเห็นหรือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ทั้งๆที่ สำนักงาน ก.ล.ต.มีการประสานเป็นการภายในมาแล้วว่า จะส่งความเห็นเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมาให้อย่างเป็นทางการ


จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า ดีเอสไอนั้นอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจการเมืองในแต่ละยุคและพร้อมสนองตอบความต้องการของผู้มีอำนาจเหล่านั้นโดยมิได้คำนึงถึงศักดิ์ศรี ความถูกต้องและผลประโยชน์ของส่วนร่วม


ในการสั่งไม่ฟ้องผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีนฯนั้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการฆ่าตัดตอนคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่บริษัททีพีไอ โพลีนฯบริจาคเงิน 258 ล้านบาทให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ในรูปของนิติกรรมอำพรางผ่านบริษัท เมซไซอะฯเพราะ เชื่อกันว่า เมื่อไม่มีการพิสูจน์ว่า เงินที่ผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีนนำออกจากบริษัท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ดังนั้น แม้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน(ผ่านบริษัท เมซไซอะฯ)ก็ตาม กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง


การเชื่อเช่นนั้นเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541(มาตรา 51)ซึ่งบังคับใช้อยู่ช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดนั้น เพียงแต่หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือสามชิกพรรค รับเงินบริจาคโดยไม่เปิดเผย ก็มีความผิดแล้ว ไม่ว่า เงินจำนวนดังกล่าวจะได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตามซึ่งผู้ใดมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่น้อยกว่า 5 เท่าของเงินบริจาค และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี(เป็นความผิดเฉพาะตัว)


แต่การพิสูจน์ความผิดในกรณีนี้ น่าจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมเพราะมีความผิดในทางอาญาด้วย


อย่างไรก็ตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้พยายามลากประเด็นว่า การที่เงินจากบริษัททีพีไอ โพลีนฯเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย(ฉ้อโกงบริษัทมหาชน) ทำให้ประชาธิปัตย์มีโทษถึงขั้นยุบพรรคซึ่งเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 (มาตรา 65)ซึ่ง กกต.นำมาใช้เป็นโทษย้อนหลังกับผู้ถูกกล่าวหา


นอกจากนั้นยังพยายามลาก(ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมาย จิตนาการเอาเอง?)ว่า การนำเงินดังกล่าวมาใช้หาเสียงเอาเปรียบคู่แข่ง ทั้งๆที่เป็นเงินที่ที่ได้มาจากการฉ้อโกงบริษัทมหาชน เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการไม่ยอมเปิดเผยบัญชีการรับบริจาค เป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเป็นภัยต่อความมั่นคง เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่ต้องเข้ามาใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ จึงมีโทษถึงขั้นยุบพรรค


ความจริงแล้ว"จุดตาย"ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่คดีซึ่งถูกกล่าวหาว่า นำเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทไปใช้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย


กล่าวคือ ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้นำเงินไปทำป้ายหาเสียง แต่กลับนำเงินจำนวน 23.3ล้านบาทไปเข้ากระเป๋าเครือญาติและพรรคของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ผ่านนายธงชัย คลศรีชัย ลูกพี่ลูกน้องจริง


มีโอกาสค่อนข้างสูงที่ประชาธิปัตย์จะต้องถูกยุบพรรค เพราะการนำเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองไปใช้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มีบทบัญญัติให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 ก็บัญญัติไว้ในลักษณะเดียวกัน


ดังนั้น แม้จะเชื่อว่า ดีเอสไอฆ่าตัดตอนคดี 258 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีคดี 29 ล้านบาทคาอยู่ ซึ่งมีข่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่ง"มือดี"ไปช่วย กกต.วางกรอบในการสู้คดี

หวังว่า คงไม่มีถูกฆ่าตัดตอนอีกคดีก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษา

สภายุโรปถกการเมืองไทย (ตอนต้น)

ที่มา มติชน


โดย เกษียร เตชะพีระ


เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมศกนี้ สภายุโรป (European Parliament อันเป็นสถาบันรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั่วสหภาพยุโรป ประกอบด้วยสมาชิก 736 คน จาก 27 ประเทศ และใช้อำนาจนิติบัญญัติสูงสุดร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปหรือ Council of the European Union) ได้เปิดอภิปรายสถานการณ์การเมืองไทยขึ้น ณ ที่ประชุมเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส จึงน่าสนใจที่จะรับฟังและบันทึกไว้ว่ามิตรประเทศคู่ค้าสำคัญมองและเข้าใจเรื่องราวในบ้านเมืองเราอย่างไร ดังต่อไปนี้


(ชมวิดีโอบันทึกการอภิปรายครั้งนี้ได้ที่ www.youtube.com/watch?v=NMlbFwEM7uQ ):


ประธาน: วาระต่อไปคือการอภิปรายญัตติ 6 ญัตติที่มีผู้ยื่นเพื่อลงมติเกี่ยวกับประเทศไทย


MarietjeSchaake เจ้าของญัตติ สมาชิกสภายุโรป (สสย.) จากเนเธอร์แลนด์ สังกัดกลุ่มพันธมิตรนักเสรีนิยมและนักประชาธิปไตยเพื่อยุโรป: เรียนประธานสภา ประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตรุนแรงโดยฝ่ายหนึ่งได้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง อีกฝ่ายหนึ่งได้แก่กองทัพและพวกเสื้อเหลือง มีผู้เสียชีวิตไปแล้วราว 80 คน และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ประชาธิปไตยถูกคุกคามและประเทศตกอยู่ใต้ภาวะฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศ


ภาวะฉุกเฉินส่งผลให้มีการเซ็นเซอร์ แหล่งสื่อสารต่างๆ อาทิ โทรทัศน์, วิทยุและอินเทอร์เน็ตถูกสกัดกั้น การหยุดยั้งความรุนแรงเป็นเรื่องสำคัญมากและเราขอส่งเสริมให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจในกระบวนการหยุดยั้งความรุนแรง


ทว่า ในการหาทางฟื้นฟูความสงบนั้น ภาวะฉุกเฉินไม่ควรถูกฉวยใช้ไปจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของบุคคล การเซ็นเซอร์ควรต้องยุติได้แล้วและเสรีภาพของสื่อรวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกจำต้องได้รับการฟื้นฟู


คุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสภายุโรปในความสัมพันธ์อันทรงคุณค่ากับประเทศไทย


Cristian Dan Preda เจ้าของญัตติ สสย.จากโรมาเนีย สังกัดกลุ่มพรรคประชาชนยุโรป (คริสเตียนเดโม-แครต): ดังที่พวกเราทั้งหลายคงสังเกตเห็นได้เพราะมันเป็นหัวข้อข่าวหลักมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนว่าประเทศไทยได้ประสบกับบรรยากาศความรุนแรงทางการเมืองที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนอื่นผมใคร่ขอแสดงความรู้สึกสมานฉันท์กับบรรดาครอบครัวของผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงบนท้องถนน ผมคิดว่ากรณีที่เราเห็นอยู่นี้ผมใคร่บรรยายว่าเป็นการเผชิญหน้าตามปกติวิสัยระหว่างหลักเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคม กับความจำเป็นที่รัฐบาลต้องรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง กระแสเหตุการณ์ผันผ่านไปอย่างรวดเร็วยิ่งในระยะไม่กี่วันและไม่กี่ชั่วโมงหลังๆ นี้ ดูเหมือนกรุงเทพฯจะกลับเข้าสู่ความสงบแล้วพอสมควรแม้ว่ามันจะลุกเป็นไฟเมื่อคืนภายหลังกองกำลังรัฐบาลเข้าแทรกแซงก็ตาม

เราหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงระลอกใหม่ที่อาจก่อตัวแผ่ขยายขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อประกันว่าความหวังดังกล่าวนี้จะปรากฏเป็นจริง เราจำต้องรู้จักดำเนินการแต่พอประมาณเพราะประชาธิปไตยไม่อาจครองชัยชนะได้ด้วยความรุนแรง ผมคิดว่ารัฐบาลจำจะต้องดำเนินการตามโรดแมป (แผนที่นำทาง) ที่เสนอไว้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม


ผมยังเชื่อด้วยว่าการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้และลงโทษผู้กระทำผิดเป็นมาตรการอันจำเป็นเพื่อประกันให้เกิดการปรองดอง


Veronique De Keyser เจ้าของญัตติ สสย.จากเบลเยียม สังกัดกลุ่มพันธมิตรก้าวหน้าของนักสังคมนิยมและนักประชาธิปไตยในสภายุโรป:เรียนประธานสภา ผู้ชุมนุม "เสื้อแดง" ได้ถูกปราบปรามอย่างนองเลือด ดิฉันใคร่ขอกล่าวเพียงสิ่งต่อไปนี้เพราะไม่ปรารถนาจะราดน้ำมันลงบนกองไฟเนื่องจากระเบียบขั้นตอนในกรณีเร่งด่วนของสภายุโรปกำหนดให้เรามุ่งผ่อนคลายวิกฤตและหาทางแก้ไขมากกว่าจะไปโหมเพลิงแค้นของประชาชน


ประการแรกเลยทีเดียว พลเมืองคนใดก็ตามย่อมมุ่งมั่นไขว่คว้าการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้โดยชอบธรรม นั่นเป็นสิทธิที่มิอาจปฏิเสธได้และควรมอบให้แก่ประชาชนไทยทั้งปวง นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองครั้งหนึ่งก็เคยเสนอทางเลือกนี้แล้วก็ถูกฝ่าย "เสื้อแดง" ปฏิเสธไป ตอนนี้เราต้องกลับไปสู่ทางเลือกนี้อีก


ประการที่สอง ดิฉันขอประณามการยิงกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วงและปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมในหลายวันหลังนี้ซึ่งแหล่งข่าวทางการระบุว่าได้คร่าชีวิตเหยื่อไปอย่างน้อย 12 คน รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาลีและทำร้ายคนบาดเจ็บมากมาย ถึงเวลาที่ต้องหยุดความรุนแรงที่ได้แพร่กระจายไปทั้งประเทศแล้ว


ที่ดิฉันประณามข้างต้นนั้น ดิฉันไม่ได้ส่งเสริมให้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ใคร่เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกแก่การเจรจาหาทางออก, ประกันว่าภาวะฉุกเฉินที่ประกาศไปนั้นไม่จำกัดเสรีภาพของบุคคลหรือเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งขืนไปจำกัดเข้าก็รังแต่จะทำให้ยิ่งตึงเครียดหนักขึ้น และดิฉันใคร่ขอร้องเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อนายกฯอภิสิทธิ์ให้พิจารณาจัดการเลือกตั้งใหม่


ความปั่นป่วนวุ่นวายในขณะนี้เสี่ยงที่จะทำให้ประเทศแตกแยก ในภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทถือวัฒนธรรมลาว อาจมีการคัดค้านที่แทบถึงขั้นก่อการกำเริบต่อภาคกลาง กรุงเทพฯ และภาคใต้ซึ่งล้วนเป็นที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ นี่อาจนำไปสู่การปรากฏขึ้นของขบวนการกึ่งก่อการร้ายเข้าทำการโจมตีสิ่งที่อาจเรียกว่าระบบราชการกับชนชั้นนำอันเป็นป้อมปราการแห่งอำนาจ


มีความจำเป็นขั้นเด็ดขาดที่จักต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง, การเจรจา, และยุติความรุนแรงขณะที่ธำรงรักษาเสรีภาพเอาไว้ แน่ละว่านี่เป็นถ้อยคำง่ายๆ ที่บางทีอาจจะค่อนข้างไร้เดียงสาในสภาพความรุนแรงของโลกสมัยใหม่ มติของสภาที่ว่านี้ถูกจงใจเลือกเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจปะทุระเบิดขึ้นได้ในประเทศไทยและเปิดช่องให้เกิดการสานเสวนา


แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถปัดเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งปวงทิ้งไปได้


Barbara Lochbihler เจ้าของญัตติ สสย.จากเยอรมนีสังกัดกลุ่มพันธมิตรพรรคเขียว/ยุโรปเสรี: เรียนประธานสภา ภาพความโกรธแค้น ความรุนแรงและพังพินาศในกรุงเทพฯยังสดใหม่อยู่ในจิตใจเรา แม้ว่าบัดนี้ความใส่ใจจะหันเหออกไปจากสถานการณ์อันตึงเครียดยิ่งในเมืองหลวงของไทยแล้วระดับหนึ่ง ทว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะรุนแรงขึ้นอีกก็หาได้หมดสิ้นไปไม่ ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มที่เรียกกันว่าเสื้อแดงกับรัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังได้ส่งผลให้มีผู้ถูกสังหารไปแล้วกว่า 70 คน และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน รัฐบาลได้ประกาศว่าจะสืบสวนกรณีการตายเหล่านี้และกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในไม่กี่วันหลังนี้ก็จะต้องรวมไว้ในการสืบสวนนี้ด้วย


มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาสาเหตุมูลฐานของการประท้วงและปะทะซ้ำซากเหล่านี้เพื่อหาทางแก้ไขทางการเมืองที่ดำเนินการได้จริง ประชาชนไทยส่วนหนึ่งตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างหนักและถูกกีดกันทางสังคม


คนเหล่านี้รู้สึกขุ่นเคืองอย่างแรงกล้าที่พวกตนถูกกระทำต่ออย่างไม่เป็นธรรมและขาดสิทธิ


พวกเขากำลังต่อสู้กับสภาพที่มาตรฐานการครองชีพของตนค่อนข้างต่ำ ปัจจัยอื่นก็มี อาทิ การคอร์รัปชั่นอย่างโจ๋งครึ่มและกว้างขวางในแวดวงผู้นำทางการเมือง รวมทั้งในบรรดาผู้กุมตำแหน่งรับผิดชอบในภาคประชาสังคมด้วย ถ้าจะหาทางออกกันอย่างยั่งยืนแล้วปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ต้องถูกเปิดโปงแก้ไข มากกว่าเพียงแค่ยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันลงเท่านั้น


เราขอเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์อย่างจริงจังในการหาทางออกจากวิกฤตใหญ่ครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ในการให้ได้มาซึ่งทางออกดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต้องใช้แต่วิธีการสันติและประชาธิปไตยเท่านั้นและพวกเขาจำต้องได้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรปสำหรับเรื่องนี้


Marie-Christine Vergiat เจ้าของญัตติ สสย.จากฝรั่งเศสสังกัดกลุ่มสมาพันธ์รวมฝ่ายซ้าย-ซ้ายเขียวสแกนดิเนเวียของยุโรป: เรียนประธานสภา ถึงบัดนี้นับเป็นเวลาหลายสัปดาห์มาแล้วที่ขบวนการประชาชน "เสื้อแดง" ได้ชุมนุมแสดงพลังในกรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องให้เคารพประชาธิปไตย พวกเราพึงระลึกว่าแม้นายกรัฐมนตรีจะเพิ่งครองอำนาจมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.2008 กระนั้นก็ตามรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เป็นผลพวงจากรัฐประหารของทหารที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2006


พวก "เสื้อแดง" เรียกร้องอะไรหรือ? เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก, ยุบสภา, จัดเลือกตั้งเร็วขึ้น - สรุปสั้นๆ ก็คือ เรียกร้องประชาธิปไตยนั่นเอง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมศกนี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศแผนปรองดองที่ตั้งอยู่บนการจัดเลือกตั้งให้เร็วขึ้นอันโด่งดังนั้น แต่แล้วการลอบสังหารนายพลขัตติยะ สวัสดิผล ผู้บัญชาการของฝ่าย "เสื้อแดง" เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมก็ทำให้การเจรจาสิ้นสุดลง


นี่คือบริบทที่เราได้จัดเตรียมมติที่อยู่ต่อหน้าเรานี้ขึ้น เมื่อวานนี้ กองทัพได้เข้าแทรกแซงและสังหารผู้คนไปหลายคนรวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาลี สำหรับเราแล้ว มันจำเป็นอย่างยิ่งที่มติซึ่งเรากำลังจะลงคะแนนกันนั้นจะต้องสะท้อนรวมเหตุการณ์เหล่านี้เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อบรรดาผู้นำหลักของขบวนการ "เสื้อแดง" ได้ยอมจำนนทันทีและเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ


อันที่จริงแล้วมันเป็นเรื่อง...(ฟังไม่ชัดเจน-ผู้เขียน)...ต่างหากที่กำลังถูกตั้งคำถาม ...(ฟังไม่ชัดเจน-ผู้เขียน)...ยังคงนิ่งเงียบอย่างน่าประหลาดใจ สารที่เราจักต้องสื่อส่งไปก็คือจะยัดเยียดประชาธิปไตยให้ด้วยกำลังมิได้ และการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยส่งกองทัพเข้าไปพร้อมสั่งกำชับว่าเห็นเมื่อไหร่ยิงได้เลยก็เป็นเรื่องรับไม่ได้เช่นกัน มติตอนนี้ไม่แม้แต่ประณามความรุนแรงดังกล่าว พวกเราจึงจะไม่ลงคะแนนสนับสนุนมัน


ประชาชนไทยมีสิทธิที่จะได้ประชาธิปไตยมาและเราจักต้องทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดรัฐประหารโดยทหารขึ้นอีก


Adam Bielan เจ้าของญัตติ สสย.จากโปแลนด์สังกัดกลุ่มนักอนุรักษนิยมและนักปฏิรูปยุโรป: ประเทศไทยซึ่งจนกระทั่งไม่นานมานี้เคยถูกถือเป็นป้อมปราการแห่งประชาธิปไตยและเสถียรภาพในเอเชียอาคเนย์ ได้ประสบเหตุการณ์อันน่าตื่นตระหนกที่สุดในรอบเกือบกึ่งศตวรรษเมื่อเร็วๆ นี้


การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไประหว่างฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งรู้จักกันในนามพวก "เสื้อแดง" กับฝ่ายรัฐบาลและกองทัพ มีผู้ถูกสังหารกว่า 60 คน รวมทั้งชาวต่างชาติซึ่งมีพลเมืองกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในนั้นด้วย มีผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 2,000 คน และกรุงเทพฯเมืองหลวงก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก


แน่ละว่าครอบครัวของเหยื่อทั้งหลายคู่ควรจะได้รับการแสดงความเห็นอกเห็นใจ เศร้าเสียใจและสมานฉันท์ของเรา แต่เราต้องตระหนักด้วยว่าทุกวันนี้ชาติไทยแตกแยกกันอย่างร้ายแรง สิทธิมนุษยชนประการต่างๆ อาทิ เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการพูดถูกจำกัดอย่างหนัก และยากยิ่งที่จะแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วยวิธีการสันติในทางการเมือง


ดังนั้น แรงกดดันจึงจำเป็น - แรงกดดันระหว่างประเทศรวมทั้งจากสหภาพยุโรป - ต่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายเพื่อที่พวกเขาจะกลับมาเจรจากันใหม่และพยายามแก้ไขข้อพิพาทโดยวิถีทางการเมือง ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง

“สมปอง เวียงจันทร์” จากรากหญ้าสู่ คปร. ทางเดินใหม่บนแผนที่เดิม

ที่มา มติชน

สมปอง เวียงจันทร์

โดย โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ศูนย์ข่าวอิศรา www.community.isranews.org/

แม่ค้าปลาบ้านวังสะแบงใต้ ต.หนองแสงใหญ่ อ.โขงเจียม อุบลราชธานี ที่ล้มละลายเพราะโครงการรัฐอย่าง“เขื่อนปากมูล” โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ศูนย์ข่าวอิศรา พาไปหาคำตอบว่าทำไมเธอกลายมาเป็นแกนนำการต่อสู้ของคนรากหญ้ากว่า 20 ปี และวันนี้“สมปอง เวียงจันทร์”วัย 60 เป็นชาวบ้านคนเดียวในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.)


อยากให้เริ่มเล่าจากความเป็นมาของปัญหาเขื่อนปากมูล


เขื่อนปากมูลเกิดขึ้นจากนโยบายส่งเสริมพลังงานของรัฐ มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) เป็นผู้รับผิดชอบ เริ่มศึกษาแนวเขตครั้งแรกปี 2528 ครอบคลุม 3 อำเภอ 70 หมู่บ้าน โดยอ้างว่าเราจะกินดีอยู่ดี ใช้น้ำไฟฟรี อุปโภคบริโภคดีขึ้น แต่ไม่เคยพูดถึงข้อเสียทั้งที่เขื่อนสร้างปิดปากน้ำมูลซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก แถมตอนทำประชาคมก็เชิญแต่ผู้นำไป ไม่ฟังเสียงค้านชาวบ้าน สุดท้าย กฟผ. ก็ลงมือสร้างจริงปี 2532


เขื่อนปากมูลสร้างปัญหาอะไรให้ชาวบ้านหรือ?


บ้านวังสะแบงใต้เป็นชุมชนปลายน้ำ ไม่มีพื้นที่การเกษตร ยึดอาชีพประมงเป็นหลัก ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างคนบ้านใกล้และไกลน้ำ กระทั่งปีที่ระเบิดหินสร้างเขื่อนช่วง 2534-2535 ส่งผลให้ปลาสูญพันธุ์ ชาวบ้านล้มละลาย เงินลงทุนหายกลายเป็นหนี้สินเพราะทำมาหากินไม่ได้ ต้องส่งลูกหลานเข้ากรุงเทพฯ พอน้ำท่วมต้องย้ายชุมชนไปอยู่ที่ใหม่ วิถีชีวิตเปลี่ยน ดูแลกันลำบาก ห่างไกลข้อมูลข่าวสาร เกิดปัญหาลักเล็กขโมยน้อยเป็นประจำ คือสังคมใหม่ที่ไม่เคยเจอ เขื่อนก็คือศัตรูของเรานับแต่นั้น


การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่เริ่มจากจุดไหน อย่างไร?


เราเห็นกรณีตัวอย่างจากเขื่อนสิรินธร ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ทำกิน แม้รัฐจัดสรรที่ดินนิคมสร้างตนเองให้ แต่ต้องอพยพเข้าเมืองเพราะทำกินไม่ได้ สภาพแบบนี้เราไม่อยากได้ การให้รื้อบ้านเดิมแล้วมาสร้างใหม่นั่นคือปัญหาและคิดอย่างเดียวว่า “กูไม่อยากได้เขื่อน ถ้าไม่หยุดก็ค้านอย่างเดียว”


แต่ก็เหมือนเราสู้กับช้างใหญ่ที่เป็นเจ้าเป็นนายซึ่งลำบากมาก ยิ่งคนจนด้วยยิ่งไม่กล้า เราเลยต้องระดมพี่น้องจากสิรินธรส่วนหนึ่งที่มีแรงพอ อาศัยเวทีคนอื่นร่วมชุมนุม แต่เสียงไม่ดังพอแถมสังคมก็ยังตราหน้าว่าเป็นแรงงานรับจ้าง ทำให้เป็นแรงกดดันรวมตัวที่สันเขื่อนยึดหลุมระเบิด กลายเป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่ว


แล้วทำไมแม่สมปอง ถึงเข้ามาร่วมเป็นแกนนำการต่อสู้คนหนึ่ง?


เรามีแรงบันดาลใจอย่างมด(วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดแนวทางให้ชาวบ้านรู้สึกมีกำลังใจ ทำความเข้าใจเรื่องสิทธิชุมชน บวกกับคณะกรรมการสิทธิเสรีภาพเขตอุบลราชธานี ทำให้เรารู้ว่าแม่น้ำน้อยแต่สู้ไฟได้ เมื่อรวมกับความเจ็บปวดที่ กฟผ. เปรียบหมู่บ้านเราเป็นบ้านพักชั่วคราว(ตอนนั้นมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์)ยิ่งทำให้เจ็บปวด “นี่บ้านกูแท้ๆอยู่กันมาเป็นร้อยแต่บอกว่าแค่บ้านพักชั่วคราว ยังไงต้อลุกสู้เต็มที่ ตายเป็นตาย” นี่เองที่ทำให้ชาวบ้านและแม่ลุกขึ้นสู้แบบหัวชนฝา


พอมีข้อมูลจากนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและเอ็นจีโอที่ลงพื้นที่ศึกษาถึงผลกระทบการสร้างเขื่อนทำให้น้ำท่วมที่ชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูลพวกนี้มาก่อน จึงรวมตัวกันโดยส่งตัวแทนมาบ้านละ 5 คน ตั้งเป็นคณะกรรมการชีวิตและลุ่มน้ำชุมนุมกดดันในพื้นที่และที่รัฐสภา ตอนนั้นเราเป็นแม่ครัว พอดีครั้งหนึ่งที่รัฐเรียกตัวแทนไปเจรจา แต่ไม่มีแกนนำหลักอยู่ แม่จึงเข้าเข้าไปเป็นตัวแทนและถูกเลือกให้เป็นแกนนำ


จนถึงวันนี้ ปัญหาเขื่อนปากมูลได้รับการแก้ไขไปถึงแค่ไหน น่าพอใจไหม?


เราค่อยๆไปทีละก้าว การได้รับการยอมรับจากสังคม สร้างคนให้รู้จักสิทธินี่แหล่ะคือชัยชนะ ส่วนเรื่องเขื่อนมีมติ ครม.ให้เปิดปีละ 4 เดือน แต่เราบอกให้เปิดถาวรถึงจะฟื้นฟูชีวิตเราจริง อีกเรื่องคือการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการฟื้นฟู เพราะ กฟผ. ใช้วิธีทำคลองส่งน้ำให้ ทั้งที่เราไม่ได้ทำไร่ทำนา คนหาปลาต้องเปิดเขื่อน หรือไม่ก็ต้องจัดสรรที่ดินทำกินให้

ล่าสุดรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา 2 ชุด คือคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น และคณะกรรมการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมานำเสนออีกครั้งหนึ่งว่าจะทำตามทำข้อเรียกร้องของเราหรือไม่


อะไรคือความหมายของ “หมู่บ้านแม่มูลยั่งยืน”?


จริงๆเราอยู่อย่างยั่งยืนมานานแล้ว แต่การเข้ามาแย่งทรัพยากรต่างหากที่ทำให้เราไม่ยั่งยืน หมดอนาคต ไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีหลักประกัน อย่างพวกนักการเมืองที่มาหาคะแนนเสียงพวกนี้เราเบื่อมาก เพราะประวัติศาสตร์สมัยคัดค้านเขื่อน คนกลุ่มนี้ตอนแรกคือผู้สนับสนุนเรา ทำให้ศรัทธาเลือกเขาเข้ามา สุดท้ายก็พาคนมาสลายการชุมนุม สมัยนั้นเป็นรัฐมนตรีสมัยนี้ก็เป็นอยู่


สมัชชาคนจน ที่เรียกว่าเป็นตำนานแรกๆของม็อบชาวบ้าน ก็เกิดจากการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล

แรกๆเราสู้แล้วเกิดสู้ได้ คนจนทั่วประเทศเลยเสนอปัญหามา แต่เราไม่ใช่รัฐบาล เขาเลยบอกว่าอย่างนั้นรวมตัวกันครั้งแรกของ 7 เครือข่ายทำเป็นสัญญาประชาคมในนาม “สมัชชาคนจน” เมื่อปี 2538 ทำงานชิ้นแรกด้วยการชุมนุมยาวนานที่สุด 99 วันจนรัฐบาลยอมแพ้


ต่างคนต่างมาแต่มีปัญหาเดียวกันคือคนจนเข้าไม่ถึงทรัพยากร อยากมีอำนาจที่ไม่ได้ใช้ข่มเหงคนอื่น แต่มีเพื่อจัดการกับทรัพยากรของเราอง


จนถึงวันนี้มองว่าการต่อสู้ของสมัชชาคนจนบอกอะไรกับสังคม และให้อะไรกับคนรากหญ้า?

สังคมไม่เคยเท่าเทียม การใช้กฎหมายและเลือกปฏิบัติรวมถึงความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง มีอยู่ทั่วไปและขยายวงกว้าง ขณะที่คนรากหญ้ารู้จักคิด ต่อสู้ และรู้สิทธิมากขึ้น เพราะกติกาของสมัชชาบอกเสมอว่าใครยิ่งมีแต้มต่อมากมักเอาชนะได้ง่าย

ม็อบบนถนนยังจำเป็นตราบเท่าที่กลุ่มนายทุนยังไม่ลดบทบาทหรือยังไม่มีจิตสำนึก และตราบใดที่ชาวบ้านยังเข้าถึงทรัพยากรไม่ได้ จัดการชีวิตหรือเลือกทางเดินเองไม่ได้ ตราบนั้นม็อบต้องอยู่ เพราะนี่คือทางตรงที่คนจนจะเข้าถึงรัฐได้โดยไม่ต้องรอกระบวนการยาวนานของรัฐ


เป็นผู้หญิงที่อยู่แถวหน้าบนเวทีการต่อสู้ มีปัญหาบ้างหรือเปล่า?

บทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้ทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะความละเอียดอ่อนที่มีมากกว่า งานบางงานอาศัยความแข็งแรงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าถามว่าจริงๆมันเหมือนหรือต่างกันไหม แม่ว่าไม่ต่างนะ ทุกเพศเท่าเทียมเพราะเวทีการต่อสู้มักมีเป้าหมายเดียวกัน ถ้าทำให้สมดุลน่าจะดีกว่า


การมาเป็นแกนนำปากมูล มันเกิดจากความบังเอิญ แต่หลังจากนั้นชาวบ้านเขาเห็นแววว่ากล้าพูดกล้าจา กล้าต่อรอง คล่องแคล่ว ความจริงไม่มีอะไร แม่แค่เอาความทุกข์ความเจ็บปวดที่อัดอั้นไประบายให้รัฐฟังเท่านั้น ทุกอย่างมันเกิดที่ใจทั้งสิ้น

แต่ปัญหาของการเป็นแกนนำหญิงก็มีอยู่ ข้อจำกัดต่างๆทั้งการอยู่กิน การดูถูกเอาเปรียบจากผู้ชายแม้กระทั่งกลุ่มเดียวกันเอง แต่เราต้องสู้เพราะไม่อยากให้ใครคิดว่าแทนที่จะช่วยกลับมาสร้างปัญหาเพิ่ม


ตั้งแต่เรื่องเขื่อนปากมูล..มาสมัชชาคนจน..ถึงวันนี้ การต่อสู้ให้อะไรกับชีวิตแม่สมปอง?


เรามีเพื่อนร่วมเดินบนทางเดียวกันเยอะ ประสบการณ์ทำงานที่สรุปเป็นบทเรียนได้เรื่อยๆทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งและค่อยๆปรับปรุง เหมือนเรียนรู้ไปพร้อมกับการต่อสู้ สำคัญมากคือเราได้ความภูมิใจ


คิดว่าอะไรทำให้ได้รับเลือกเป็นหนึ่ง คปร. และรู้สึกอย่างไรที่เป็นชาวบ้านคนเดียว?


จากคนเรียนจบ ป. 4 ทำงานตรงนี้มาเกือบ 20 ปี บทบาทอาจเด่นออกมาเรื่อยๆ ประสบการณ์มากขึ้น รู้และเข้าใจปัญหาของคนจนแทบทุกเรื่อง คนคงรู้จักและเลือกจากตรงนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่คนทำงานตรงนี้มีเหมือนกันคือมีความในใจในการแก้ปัญหาของพี่น้อง แม่อาจโดดเด่นเรื่องการพูดจา แต่ถ้าจะหาทางออกเราพูดคนเดียวไม่ได้หรอก ต้องอาศัยเพื่อน บางคนคิดดีกว่าเราแค่เขาไม่พูดเท่านั้นเอง


ปกติก็เคยอยู่อย่างนี้เพียงแต่ไม่เป็นทางการเท่าครั้งนี้ แต่แม่จะภูมิใจมากถ้า คปร.ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและชาวบ้านมาช่วยกันหนุนหลังจริงๆ แต่ถ้าไม่เป็นตามเจตนา เรายินดีถอยได้ไม่มีปัญหา สำคัญคือต้องระวังไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง


ประโยคแรกที่แม่พูดในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคืออะไร?


ประเทศไทยมีคนกำลังป่วยอยู่เยอะ คณะกรรมการปฏิรูปเปรียบเหมือนหมอต้องรักษาคนป่วยให้หาย ถ้าหายเมื่อไหร่สังคมจะรับเราได้ ต้องทำให้สังคมกระจ่างว่าเราไม่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังอย่างที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยการหาทางออกทำให้สังคมเชื่อและเข้าใจ เห็นเป็นรูปธรรมแบบนี้จะแก้ได้เปราะหนึ่ง เราจะเข้าหาเขาได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนคนก็ไม่อยากร่วม

ในฐานะตัวแทนชาวบ้านใน คปร. วางบทบาทตัวเองไว้แค่ไหน อย่างไร?


เราก้าวเข้ามาตรงนี้เพื่อทำหน้าที่ดึงคนรากหญ้าให้เข้ามาให้มากที่สุด ทำอย่างไรให้เขามีพื้นที่ ไม่ต้องคิดเรื่องว่าจะปรองดองหรือไม่ เพราะเราไม่ใช่เครื่องเมืองของนักการเมือง


ถ้าจัดลำดับความสำคัญ ปัญหาเร่งด่วนของรากหญ้าที่ต้องทำก่อนหลังคืออะไร?

เร่งด่วนคือเรื่องปากท้อง เพราะถ้าคนไม่ได้กินก็ตาย ที่เป็นปัญหามากที่สุดตอนนี้คือเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย การเข้าไม่ถึงทรัพยากรต่างๆ แก้ตรงนี้ได้ค่อยมองเรื่องการสร้างความมั่นคงของประเทศชาติแบบยั่งยืน ทำอย่างไรให้คนกินดีอยู่ดี


ในฐานะแกนนำการต่อสู้ของชาวบ้าน มีความหวังแค่ไหนในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้?


ในภาพใหญ่ยังมองไม่ออก แต่ความหวังของแม่คือการทำให้คนรากหญ้าเข้าไปมีโอกาส มีช่องทางสร้างบทบาทร่วมกัน ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับแรงเหวี่ยงจากเพื่อนๆด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน อีกอย่างคือ คปร. ถ้าเข้าถึงรากหญ้าได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้หมด แต่ถ้าไม่ถึงก็เข้าอีหรอบเดิม


อยากให้ประเทศเปลี่ยนแปลงเยอะที่สุด การชุมนุมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายังขืนดันทุรังอยู่แบบนี้ไม่แน่ต่อไปข้างหน้าอาจเกิดสงครามก็ได้ กลุ่มอำนาจต้องลดบทบาทและอำนาจลง ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น เรื่องพวกนี้ขึ้นอยู่ที่จิตสำนึกด้วย


แม้เป็นการเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะ คปร. แต่จุดยืนของรากหญ้าหนึ่งเดียวอย่าง “แม่สมปอง” ยังคงแน่วแน่บนแผนที่เดินทางเดิม คือ การเบิกทางเปิดพื้นที่ให้คนรากหญ้าที่จนสิทธิ์ จนโอกาส จนอำนาจ และจนเงิน อดีตแม่ค้าปลาปากมูล ทิ้งท้ายว่า..


“อดีตแม่คัดค้าน ขณะที่คุณอานันท์เป็นคนอนุมัติเขื่อน มาวันนี้เราทำงานร่วมเป็นคณะกรรมการชุดเดียว เป้าหมายเดียวคือแก้ไขปัญหาคนจนทั้งประเทศ”

เผือกร้อน "อานันท์" ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเร็ว เผือกในมือ "อภิสิทธิ์"

ที่มา ข่าวสด


พลันที่มติของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) เสนอให้รัฐบาลยกเลิกประกาศและบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

"โดยเร็ว"

หลายคนไม่เพียงแต่อยากได้ฟังคำตอบจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการ

และมีองค์ประกอบอันมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐ มนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ. อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เท่านั้น

หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก หลายคนคงอยากได้ฟังคำอธิบายจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ด้วย

มติของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) นี้ ถือว่าแหลมคม



ที่ว่าแหลมคมมิได้สะท้อนความแหลมคมเฉพาะจาก นายอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะประธานประการเดียว หากที่สำคัญเป็นอย่างมากคือความกาววาวจากกรรมการแต่ละคนด้วย

หลายคนคงจดจำบทบาท นายอานันท์ ปันยารชุน หลังสถานการณ์รสช.ได้

เมื่อคณะรสช.ยึดอำนาจจับตัว พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ไปกักขัง ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง และเชิญ นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เงื่อนไข 1 ของ นายอานันท์ ปันยารชุน คือ ต้องปล่อยตัว พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

เราไม่รู้ว่าก่อนรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) นายอานันท์ ปันยารชุน จะมีข้อต่อรองอะไรลึกๆ กับรัฐบาลและกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บ้าง

นอกเหนือจากความเป็นอิสระในการเสนอชื่อบุคคลเข้าเป็น "กรรมการ"

เพียง 1 เดือนหลังจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย(คปร.) หลายคนก็ถึงบางอ้อเมื่อรับทราบมติอย่างเป็น "เอกฉันท์" ของคณะกรรมการให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็ว

นี่คือตัวตนอันสะท้อนความเป็นอิสระของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.)



ในความเป็นจริง วิญญูชนย่อมสำเหนียกอยู่แล้วว่าการปฏิรูปประเทศไทยจะกระทำอย่างมีศักดิ์ศรีไม่ได้อย่างเด็ดขาด หากกระทำภายใต้ร่มเงาอันมืดครึ้มของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เรื่องนี้ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อาจไม่ได้ฉุกคิด

เรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจไม่ฉุกคิดเลยแม้แต่น้อย

กระนั้น กล่าวสำหรับคนอย่าง นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวสำหรับคนอย่าง นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ย่อมต้องฉุกคิด

น่ายินดียิ่งกว่านั้นที่มตินี้ออกมาอย่างเป็นเอกฉันท์

เมื่อมีมติออกมา ทางหนึ่ง คณะกรรมการก็นำเสนอต่อรัฐบาล ขณะเดียวกัน ทางหนึ่ง ก็เสนอต่อสังคม

อาศัยมาตรการทางสังคมไปผลักดันสำเหนียกและสำนึกของรัฐบาล

นี่คือกระบวนการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) นี่คือความรอบคอบอันมาจากความจัดเจนส่วนหนึ่งของ นายอานันท์ ปันยารชุน และคณะ

หากไม่ทำเช่นนี้ก็ยากที่จะปฏิรูปประเทศไทยได้ในทางเป็นจริง



เหมือนกับพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็น "เผือกร้อน" อันส่งผ่านมาจาก นายอานันท์ ปันยารชุน

ส่งผ่านไปอยู่ในมือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งผ่านไปอยู่ในมือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส่งผ่านไปอยู่ในมือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

คำตอบที่จะได้กลับมานับว่าระทึกในดวงหทัยอย่างที่สุด

สองคิวใหญ่ที่รออยู่!

ที่มา ไทยรัฐ

อภิสิทธิ์

การบ้านข้อแรก ก็วัดใจกันเลย

กับมติที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่เสนอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็ว

เชื่อว่า จะทำให้บรรยากาศทางการเมืองของประเทศดีขึ้น

"พะอืดพะอม" ก็แล้วกัน โดยอาการค้ำคอจากข้อเสนอของทีมอรหันต์ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นเองกับมือ ยากที่รัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะฝืนกระแส เล่นบทยักษ์ลากกระบอง พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป

ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ ลดระดับความชอบธรรม

เอาเป็นว่า ตามสถานการณ์ไฟต์บังคับนับจากนี้ไป เมื่อไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องทุ่นแรงซะแล้ว ก็คงต้องงัดเหลี่ยมเขี้ยวของเซียนยี่ห้อประชาธิปัตย์ เหลือแค่ลูกเก๋าเกมทางการเมือง ประคองจังหวะลากเกมอำนาจกันต่อไป

ในจังหวะเสี่ยงพลิกคว่ำพลิกหงายได้ตลอดเวลา

ที่แน่ๆรัฐบาลต้องเจอกับแรงกระแทกที่รออยู่ข้างหน้า 2 คิวใหญ่ๆ

คิวหนึ่งตามสัญญาณที่นายกฯอภิสิทธิ์แย้มไต๋ จะเดินหน้าแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ คิดว่าจะเรียบร้อย

แต่ไม่ทันไรก็เห็นร่องรอยของความลักลั่น

ตามโพยตัวเต็งลอตแรกที่ปล่อยออกมา มีชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. ที่ตามข่าวถูกดันให้ขึ้นอาวุโสอันดับหนึ่ง เพื่อเบียดแซงหน้า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ที่จ่อรออยู่ก่อนใคร แต่ติดล็อกเพราะมีสถานะเป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ประเพณีปฏิบัติขัดกับเงื่อนไขอำนาจทางการเมือง

เรื่องของเรื่อง ตามปรากฏการณ์พิลึกพิลั่น นายกฯอภิสิทธิ์ตั้ง ผบ.ตร. ตัวจริงไม่ได้ ต้องให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ลากเก้าอี้รักษาการกันมาเป็นปีๆ

ในสถานการณ์ที่กระแส "ตำรวจมะเขือเทศ" ยังไม่จางไป

คนสีกากีตั้งแต่ระดับหัวแถวไปยันปลายแถว ยังถูกหวาดระแวงจากฝ่ายประชาธิปัตย์ ฝักใฝ่ขั้วอำนาจ
เก่าอย่างฝังรากลึก ยังถอนรากถอนโคน ล้างขั้วกันไม่สะเด็ดน้ำ

ไม่มี "ตัวเล่น" ที่เชื่อได้อย่างสนิทใจ

อยู่ๆนายกฯอภิสิทธิ์จะทุบโต๊ะตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ มันคงไม่ง่ายแน่

แค่คิวคุมแถวตำรวจก็เหนื่อยแล้ว อีกฟากหนึ่งยังมีคิวโยกย้ายขุนทหารตามคิวเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคม

ล่าสุด "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เรียกบิ๊กทหารใหญ่ ไล่ตั้งแต่ พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ

ถกโผโยกย้ายแม่ทัพนายกองใหญ่

ตามข่าว ฟันธงชื่อของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอง ผบ.ทบ. เลื่อนขึ้นเป็นจ่าฝูงกองทัพบกคนใหม่ ไม่พลิกโผ

แต่ยังกั๊กกันอยู่ที่ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ทางหนึ่ง "บิ๊กป๊อก" ชงชื่อ พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาค 1 ขึ้นชั้น 5 เสือ ขัดลำกับ "บิ๊กตู่" ที่ลุ้นดัน พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง เสธ.ทบ. ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่น นั่งเป็น เสธ.ทบ. เพื่อทำงานเข้าขากัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ตามสัญญาณหยั่งเชิงกันแค่ยกแรก

โดยธรรมชาติของโผโยกย้ายขุนทหารใหญ่ต้องลุยบี้กันอีกหลายยก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ขุนพล "บูรพาพยัคฆ์" เบียดขุนศึก "วงศ์เทวัญ" หลุดวงโคจร

ล็อกคิวจ่าฝูงกองทัพบก ต่อแถวยาวกันไปอีกหลายช่วงคน

ศึกแห่งศักดิ์ศรี คงไม่ยอมหลบให้กันง่ายๆ

ในจังหวะที่ยังไม่ปิดกล่องก็พลิกโผกันได้ แม้แต่เก้าอี้ ผบ.ทบ.คนใหม่ ก็ยังมีชื่อของ "บิ๊กแผ้ว" พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบก รอเสียบได้ทันที

เกมอำนาจในหมู่ขุนทหาร เดิมพันคุมแถวกองทัพ

อย่างไรเสีย ก็ต้องมีแรงตกกระทบใส่รัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่ได้.

ทีมข่าวการเมือง รายงาน

วงจรการเมือง (อุบาทว์)

ที่มา ไทยรัฐ


จนถึงวันนี้ คุณธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษยังพูดไม่หยุดกับกรณีตามล้างตามเช็ดผู้ก่อการร้าย และค้าอาวุธสงคราม ล่าสุด มีการต่อรองกับผู้ต้องหาให้เปิดปากรับสารภาพแลกกับดีเอสไอจะกันตัวภรรยาและมารดาไว้เป็นพยาน ก็แปลกดี คดีสำคัญทางความมั่นคง แต่อธิบดีดีเอสไอเอามาปูดเป็นรายวัน เอามาต่อรองกันเอิกเกริก มีจุดมุ่งหมายอะไรไม่ต้องไปอธิบายให้เมื่อยตุ้ม

แล้วกรณีคนตายที่วัดปทุมฯ แล้วกรณีที่เพชรของกลางหายไปเป็นถุง ทำไม่รู้ไม่ชี้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในที่สุดไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือไม่อิสระก็ถูกใช้เป็นกลไกในการชิงอำนาจทางการเมืองอย่างโจ๋งครึ่ม แต่อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับขบวนการยุติธรรมแล้วถูกบิดเบือนจะกระทบถึงมาตรฐานการเมืองการปกครอง เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่แยกอำนาจการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการเอาไว้ชัดเจน

สิ้นเดือนนี้เป็นต้นไป การเมืองคงมีคลื่นใต้น้ำกันอีกกระทอก ก่อนที่จะเปิดสภาวันที่ 1 ส.ค. ประมาณ 18 ส.ค. งบประมาณวาระ 2-3 เข้าสภา ที่หวั่นไหวก็เพราะเป็นกฎหมายทางการเงิน รัฐบาลจะอยู่จะไปก็ตรงนี้ ถ้าพลาดพลั้งจะไปโทษเสื้อแดงก็คงกระไรอยู่ เงื่อนปมอยู่ที่ว่า คนที่เป็น รมต.จะโหวตไม่ได้ เสียงของรัฐบาลก็ปริ่มน้ำเต็มที พรรคเพื่อแผ่นดินจะเอาคืนหรือเปล่าก็ไม่รู้ เงียบผิดปกติ

อัตราเสี่ยงสูง

ยังมี ส.ส.ที่รอการวินิจฉัย ขาดคุณสมบัติ จากศาลรัฐธรรมนูญอีกจำนวนหนึ่ง ไม่ต้องรอคดียุบพรรค หรือคดีเอสเอ็มเอส ลุ้นวิกฤติเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลก็สนุกแล้ว

เพราะฉะนั้น ระยะนี้ปรากฏการณ์ งูเห่า รายการดูด ส.ส.จากฝ่ายค้านก็คงจะเป็นเรื่องปกติ หลังงบประมาณผ่านสภาไปแล้วจะยุบสภาหรือพรรคแตกอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง

การเมืองฝุ่นตลบ

เมื่อขึ้นมาโดยวิธีบิดเบือน ก็ต้องอาศัยกลไกการบิดเบือนเพื่อความอยู่รอดไปตลอด ถ้ามองในภาพการเมืองใหญ่จะเห็น จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ กลายเป็นช่องว่างให้การบริหารประเทศไม่มีเสถียรภาพ เป็นเผด็จการรูปแบบใหม่ในรัฐสภา

เป็นช่องทางที่จะใช้เงินในการซื้ออำนาจ

ต่อไปถ้ามีเศรษฐีกำเงินมาซื้อเสียงในสภาเพื่อโหวตให้ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจที่จะไปแต่งตั้ง ครม.ก็คงไม่มีอะไรขัดขวาง หรืออยากจะเปลี่ยนขั้วการเมืองก็ใช้เงินซื้อ ส.ส.เป็นต้น อีกหน่อยก็จะมีอาชีพ ส.ส.รับจ้าง เอาเงินมาลงทุนเลือกตั้งแล้วรอไปค้ากำไรในสภา วงจรอุบาทว์เช่นนี้จะทำให้เงินเป็นใหญ่ ร้ายแรงกว่าการซื้อเสียงและไม่มีทางป้องกันเมื่อทุกอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นกับดักให้นักการเมืองมีจิตสำนึกต่ำลงไปทุกที

เผด็จการนายแน่มาก.

หมัดเหล็ก

การ์ตูนเซีย 24/07/53

ที่มา ไทยรัฐ

การ์ตูนเซีย

2 มาตรฐาน กรมสอบสวนคดีวิเศษ! Double Standard Investigation

ที่มา โลกวันนี้


เรื่องจากปก
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 6 ฉบับที่ 269 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 23 กรกฏาคม 2010
โดย ทีมข่าวรายวัน

ดูภาพใหญ่

ครบ 3 เดือนหลังเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่จบลงด้วยชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ 90 ศพ บาดเจ็บและพิการอีกเกือบ 2,000 คน และไม่รู้ว่าถูกจับขังลืมอีกกี่ร้อยคน ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยังอ้างความจำ เป็นในการคง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป

แม้จะมีการทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 ครั้งใน 8 จังหวัดก็ตาม แต่ก็ไม่ต่างกับราวคุณหมอเลี้ยงไข้ หรือเป็นเพียงการหาเสียงและพยายามกลบเกลื่อนซากศพและกองเลือด ซึ่งวันนี้นายอภิสิทธิ์ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบและไม่มีคำตอบให้สังคมกับการสังหารโหดอย่างเลือดเย็นที่เกิดขึ้น แต่กลับกล่าวหาและไล่ล่าคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามต่อไปด้วยข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” และ “ล้มสถาบัน”

7 เหตุผลคง พ.ร.ก.ติดหนวด

ในขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ้าง 7 เหตุผลในเอกสารลับที่จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปคือ 1.ยังมีการชุมนุมทางการเมืองอยู่ ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะนัดชุมนุมโดยทันที 2.หลายพื้นที่ใช้ช่องทางการสื่อสารปลุกระดมทั้งวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียม 3.ยังมีการเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวาย 4.มีความเคลื่อนไหวนอกประเทศ 5.มีการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับเยาวชน 6.มีการยุยงสร้างความแตก แยกให้เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการและประชาชน และ 7.มีการข่มขู่ที่จะก่อวินาศกรรมและทำร้ายบุคคลสำคัญระดับวีไอพี

แต่มีรายงานว่านายอภิสิทธิ์ได้ให้รัฐมนตรีด้านความมั่นคงกำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติให้บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายและตอบคำถามสังคม เพราะมีข่าวมาว่าแม้แต่ตำรวจจราจรบางคนยังอ้างคำสั่ง ศอฉ. จับประชาชนที่ทำผิดกฎหมาย

ที่นี่มีคนตาย!

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คนเสื้อแดงก็ยังคงออกมาต่อสู้และเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสันติวิธี แม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่พยายามขัดขวางหรือจับกุมก็ตาม เช่น นักเรียนและนักศึกษาที่เชียงรายจำนวน 3 คน ถือป้าย “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์” ยังถูกหมายเรียกในข้อหา “ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

เช่นเดียวกับนายนที สรวารี ผู้ร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรม “วันอาทิตย์สีแดง” ที่ราชประสงค์ ถูกจับกุมขณะตะโกนว่า “เราเห็นคนตาย ที่นี่มีคนตาย เพื่อนเราถูกฆ่า เอาชีวิตเพื่อนเราคืนมาแล้วพวกเราจะปรองดองด้วย” ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แต่ที่น่าอนาถที่สุดคือป้าย แยกราชประสงค์ที่คนเสื้อแดงและภาคประชาชนผูกผ้าแดง และมาร่วมกันแสดงออกทางการเมืองผ่านกิจกรรมต่างๆเท่าที่จะทำได้ เพื่อรำลึกและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยใช้สโลแกนว่า “ณ จุดนี้มีคนตาย” และ “ที่นี่มีคนตาย” ก็ถูกปลดออกไป โดยอ้างว่าปลดออกไปเพื่อทำความสะอาดจากสีที่ถูกพ่น ทั้งที่ไม่น่าเป็นไปได้เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าดูแลอยู่ตลอดเวลา จนเจ้าหน้าที่ต้องเอาป้ายมาแสดงต่อสื่อมวลชนว่าถูกพ่นสีจริง แต่ก็ไม่ค่อยมีคนเชื่อว่าถูกพ่นก่อนถอดป้าย จนในวันต่อมาเจ้าหน้าที่ต้องรีบนำกลับมาติดตั้งกลับคืนที่เดิม

ข่มขืน-ทำร้าย-ข่มขู่

ขณะที่คนเสื้อแดงอีกจำนวนมากที่ถูกข่มขู่ กลั่นแกล้ง และทำร้าย อย่าง น.ส.จรรยาภรณ์ แก้วนอก อายุ 39 ปี ที่มาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีถูกข่มขืนระหว่างมาชุมนุมตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม และได้แจ้งความต่อ สน.ปทุมวันแล้ว หลังจากนั้นยังถูกทำร้ายร่างกายจนกระดูกข้อต่อแก้ม ขวาแตกจากชายนิรนามบริเวณ สถานีรถไฟหัวลำโพงเมื่อเช้าวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งมีหลักฐานการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลกลาง แต่ผ่านมากว่า 2 เดือนแล้วคดีก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เช่นเดียวกับนางศิณีนาถ ชมพูษาเพศ อายุ 29 ปี ถูกยิงที่หัวเข่าทะลุเจ็บสาหัสและถูกจับข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะอยู่ในเหตุการณ์เผาศาลากลาง นอกจากนี้กลุ่มแม่ยกพ่อยก “อภิสิทธิ์” ยังเขียนจดหมาย ข่มขู่ ด่าทอ และสาปแช่งนางหอม ศิลปะ วัย 82 ปี ซึ่งดูแลลูกของนางศิณีนาถ 3 คนในบ้านผุพังอย่างหยาบคาย และเหยียดหยามว่าเป็นครอบครัวคน เสื้อแดง เป็นคนอีสานที่ทั้งใจ ง่าย โง่ ขายตัว ยอมเป็นขี้ข้าทักษิณ และขอให้คนทั้งตระกูลตายโหง ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ที่เล่นงานนายวิทวัส ท้าวคำลือ หรือ “มาร์ค V11” จนต้องออกจากรายการเรียลิตี้ “ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7” เพียงเพราะไปโพสต์ในเฟซบุ๊คด่านาย อภิสิทธิ์ไม่รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมจนมีคนตาย แม้จะใช้ถ้อยคำข้อความที่ไม่สุภาพเพราะใช้ภาษาแบบเด็กวัยรุ่น แต่หากแยกคำหยาบคายออกแล้วจะพบว่าเนื้อหาที่โพสต์ก็สะท้อนความจริงได้อย่างน่าขบคิด

ตุลาการอัมพาต!

แต่เหตุการณ์สังหารโหดจากผ่านฟ้าฯถึงราชประสงค์ที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถลบความทรงจำของคนเสื้อแดงและประชาชนที่รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยได้ การออกมาต่อสู้อย่างสันติวิธีและการแสดงออกผ่านกิจกรรมต่างๆเท่าที่ทำได้จึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำได้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งกลายเป็นอำนาจครอบจักรวาลที่เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารนำมาข่มขู่และจับกุมประชาชนทั่วประเทศ ไม่ต่างกับกฎหมายภายใต้การปฏิวัติรัฐประหารของระบอบเผด็จการทหาร

เพราะวันนี้มีแต่ “ผู้ถูกกระทำ” 90 ศพกลายเป็นวิญญาณที่ไม่รู้จะเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากใคร เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ปราศจาก “ผู้กระทำ” ส่วนผู้บาดเจ็บก็ไม่มีเสียงที่จะร้องออกมาให้สังคมได้ยิน เพราะสื่อของคนเสื้อแดงถูกปิดตายทั้งหมด ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ผ่านดาวเทียม และวิทยุชุมชน ทั้งยังถูกตามข่มขู่คุกคามอีก

ส่วนคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯซึ่งเข้าไปตรวจสอบในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครก็พบว่ามีการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยผู้ถูกคุมตัวไม่มีทนายให้คำปรึกษา ไม่สามารถติดต่อญาติและครอบครัว และมีปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาล

แม้แต่กระบวนการยุติธรรมปรกติก็ยังเป็นอัมพาตชั่วขณะ จนศาลเองก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่เข้ามาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีอำนาจมากมายอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เตะออกไปทั้งหมด เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 17 ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน??

กระบวนการยุติธรรมไทยวันนี้จึงเหมือนคำ 2 คำที่มีความหมายแยกออกจากกัน คือคำว่า “ยุติ” กับคำว่า “ธรรม” คือ “เลิกแล้วซึ่งความเป็นธรรม” ในสังคมขณะนี้นั่นเอง

ดีเอสไอไล่บี้เสื้อแดง

โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ที่เป็นกรรมการ ศอฉ. และรับผิดชอบคดีคนเสื้อแดงและนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และ “ล้มสถาบัน” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมือน “ชงเอง กินเอง” เพราะทั้งกล่าวหาและสอบสวนเอง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของดีเอสไอได้ว่ามีความยุติธรรมและตรงไปตรงมาหรือไม่

ตั้งแต่เหตุการณ์ 10 เมษายน ยิ่งเห็นบทบาทและตัวตนของนายธาริตได้ชัดเจนในการรุกไล่กล่าวหาและไล่ล่าคนเสื้อแดงในข้อหาเป็นผู้ก่อการร้ายและสะสมอาวุธร้ายแรง หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยข้อหา “ล้มสถาบัน” ในขณะที่มีข้อกังขา เรื่องหลักฐานและอาวุธต่างๆที่ดีเอสไอนำมาแสดงนั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่านำมาจากไหน และได้มาอย่างไร เช่นเดียวกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรมก็มีคำถามเรื่องการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตที่ไม่มีการเปิดเผยให้ญาติผู้เสียชีวิตและประชาชนรับรู้เลย

อย่างคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ซึ่งมีผู้เข้าข่ายกระทำ ผิด 27 คน ดีเอสไอก็อ้างหลักฐานจากแผนผังของ ศอฉ. และยืนยันว่ามีหลักฐานการกระทำเป็นเครือข่ายตามสื่อออฟไลน์ออนไลน์ มีทั้งท่อน้ำเลี้ยง แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากคดีผู้ก่อการร้ายที่มีแต่คำแถลงกว้างๆ โดยไม่มีหลักฐานชัดเจนมาแสดง แต่ ศอฉ. และดีเอสไอก็ใช้อำนาจตรวจสอบและหยุดการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลและนิติบุคคลเกือบ 200 ราย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาหลายคนได้แจ้งความกลับและเรียกร้องขอความเป็นธรรม ทั้งที่รู้ดีว่าไม่มีผลใดๆ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ความคุ้มครองการทำงานของเจ้าหน้า ที่ แม้แต่การฆ่าและทำร้ายประชาชนก็ตาม

ฮากลิ้งคดี “ไอ้หรั่ง”

แต่ที่เป็นข่าวฮือฮาล่าสุดคงหนีไม่พ้นกรณีนายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 25 ปี ที่ดีเอสไอระบุว่าเป็นลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ถูกดีเอสไอระบุว่าก่อเหตุร้ายแรงในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงถึง 8 คดี รวมทั้งการยิงเอ็ม 79 เมื่อวันที่ 10 เมษายน จน พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารบูรพาพยัคฆ์ เสียชีวิต ซึ่งนายสุรชัยได้รับการฝึกจาก เสธ.แดง และยังพาไปฝึกที่ไต้หวันอีกด้วย

แต่ดีเอสไอก็หน้าแตกเมื่อทางไต้หวันยืนยันว่าตรวจสอบชัดเจนแล้วว่านายสุรชัยไม่เคยเดินทางไปไต้หวัน ขณะที่นายธาริตก็กลับคำให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเดินทางไปจีนแทน เช่นเดียวกับการอ้างคำให้การของนายสุรชัยที่ยอมรับเรื่องก่อเหตุร้าย แต่ต่อมาดีเอสไอก็พลิกคำพูดว่านายสุรชัยยังไม่ยอมให้การ

โดยดีเอสไอกลับยื่นข้อเสนอจะดูแลภรรยาและแม่นายสุรชัยหากยอมเป็นพยานในคดีถูกล่อซื้ออาวุธสงคราม ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอนำอาวุธสงครามและเครื่องกระสุนมากมายมาแสดงและยืนยันว่าเป็นหลักฐานที่ล่อซื้อจากนายสุรชัยด้วยเงินเพียง 60,000 บาทเท่านั้น จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือที่นายสุรชัยที่หนีข้ามไปถึงเขมรแต่สามารถกลับมาขายอาวุธมากมายได้ และขายถูกมากเพียง 60,000 บาท นอกจากราคาถูกมากแล้วยังน่าสงสัยอีกว่าขนมาได้อย่างไรทั้งจำนวนและน้ำหนักมากขนาดนั้น? เหมือนกรณีนำอาวุธสงครามมาก มายมาแสดงหลังปราบปรามคนเสื้อแดงว่ายึดได้จากที่ชุมนุม โดยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเลยว่ายึดได้จากที่ไหนและเมื่อใด ขณะที่ผู้สื่อข่าวก็ไม่เคยรู้เห็นเลย ทั้งที่เกาะติดในพื้นที่ชุมนุมแทบตลอด 24 ชั่วโมง

ล้มคดีไซฟ่อนเงินทีพีไอ

แต่ดีเอสไอกลับทำให้คนทั้งประเทศต้องอึ้งไปตามๆกันที่จู่ๆก็มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในความ ผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ข้อหายักยอกเงินหรือไซฟ่อนเงินบริจาค 258 ล้านบาทให้กับคนในพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ เนื่องจากการสอบสวนของทีมสอบสวนชุดก่อนหน้านั้นที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นหัวหน้า ใช้หลักฐานจากคำบอกเล่าโดยไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่สามารถเอา ผิดได้

ที่คดีนี้น่าสนใจเพราะเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะยุบพรรคตามความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ โดยคดีนี้ดีเอสไอรับมาเป็นคดีพิเศษเมื่อกลางปี 2551 และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ก็เคยออกมาตำหนิดีเอสไอที่ส่งหนังสือชี้แจงมาให้ว่าไม่ได้มีอะไรชัดเจน เลยว่าใครทำผิดอย่างไร รวมทั้งการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารทีพีไอฯเกี่ยวกับการยักยอกเงิน

นายธาริตจึงถูกวิจารณ์ว่าเหมือนพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังจะถูกฝังลงหลุม เพราะความเห็นไม่สั่งฟ้องทีพีไอฯ รวมไปถึงเรื่องการทำนิติกรรมอำพรางจ้างบริษัท แมสไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ทำสื่อโฆษณา ที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย แม้ กกต. และอัยการจะออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกันก็ตาม ทั้งข้อกล่าวหาก็มีข้อมูลหลักฐานหนักแน่นพอที่จะชี้ให้เห็นความผิดจนนำไปสู่การยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้

แต่ไม่ว่านายธาริตจะอธิบายชี้แจงอย่างไรคงหนีไม่พ้นข้อครหาเรื่อง “เส้นใหญ่” และถูกมองว่ารับใช้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้ก็เร่งทำคดีก่อการร้ายและคดีล้มสถาบันอย่างหามรุ่งหามค่ำ ในขณะที่สังคมตั้งคำถามว่าทำไมดีเอสไอต้องมีคำสั่งไม่สั่งฟ้องผู้บริหารทีพีไอฯในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะเช่นนี้

กรมสอบสวนคดีวิเศษ

บทบาทและพฤติกรรมของดีเอสไอขณะนี้จึงถูกมองและมีการตั้งคำถาม ซึ่งมีหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน ป้องกันปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมพิเศษหรือคดีพิเศษนั้น มีอำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาก มาย ไม่ว่าจะกล่าวหา ใส่ร้าย และจับกุมใครก็ได้ โดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือหลักฐานเหมือนกระบวนการยุติธรรมปรกติ

“กรมสอบสวนคดีพิเศษ” จึงน่าจะเรียกว่า “กรมสอบสวนคดีวิเศษ” มากกว่า เหมือนนายกรัฐมนตรีที่ขณะนี้คือ “ผู้วิเศษ” ทั้งที่เป็นผู้สั่งการให้ “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” จนทำให้มีประชาชนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตถึง 90 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน นอกจากจะไม่มีความผิดและไม่มีสำนึกทางการเมืองที่จะแสดงความรับผิดชอบใดๆแล้วยังอ้างความชอบธรรมใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็น พ.ร.ก.ฉกฉวย ที่ตัวเองเคยประณามว่าเป็นกฎหมายเผด็จการ มาไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่หยุดยั้งอีกด้วย

เพราะคำว่า “นิติรัฐ” หรือ Rule of Law หมายถึงการปกครองที่ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่และมีมาตรฐานเดียว เหมือนคำว่า “นิติธรรม” ที่หมายถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เป็นธรรม และเสมอภาค ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ประกาศวันที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า “จะยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และจะเคารพในกระบวนการและเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”

แต่วันนี้นายอภิสิทธิ์กลับถูกวิจารณ์และประณามว่ากำลังดึงประเทศไทยถอยกลับไปสู่ระบอบเผด็จการภายใต้อำนาจของกองทัพ โดยใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ศอฉ. และดีเอสไอเป็นเครื่องมือทางการเมือง


DSI ที่เป็นหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมจึงถูกตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการใช้อำนาจว่ายังทำหน้าที่อย่างยุติธรรม ตรงไปตรงมา โปร่งใส และเสมอภาคจริงหรือไม่

เพราะมิเช่นนั้น DSI ที่ย่อมาจากคำว่า Department of Special Investigation อาจกลายเป็นเพียง Double Standard Investigation

รับรอง 2 มาตรฐานโดยกรมสอบสวนคดี “วิเศษ” เพื่อ “ผู้วิเศษ” เท่านั้น!

“ประชาชนธรรมดา” หรือ “ไพร่” ไม่เกี่ยว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 269 วันที่ 24-30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

คนไม่มีสิทธิ์(แดง) "ขอแจม" นัดพบครั้งแรกหลังพลัดพราก ณ สวนสนุก

ที่มา มติชน







ชมรมคนรักอุดร

น.ส.ผ่องพรรณ ริยะขัน

น.ส. ฐิตาลี ศรีธงไชย-นายถวิล ขำวงค์














โดย ชฎา ไอยคุปต์

หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ผ่านไปกว่า 2 เดือนแล้ว
กลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องกลับบ้านอย่างไม่เต็มใจหลังจากมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ
กระชับวงล้อมบีบให้เสื้อแดงต้องยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับบ้าน
และคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงต่อในอีกหลายพื้นที่
กระทั่งล่าสุดกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกไล่กลับบ้านกลับมารวมตัวกันใหม่อีกครั้ง
ที่ลานจอดรถสวนสยามในเวทีปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม
ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ



บรรยากาศเวทีปราศรัยหาเสียงวันนั้นดูเหมือนจะเป็นเวทีปราศรัยการชุมนุมของคนเสื้อแดงมากกว่า
เมื่อประชาชนทั่วทุกสารทิศแต่งกายด้วยชุดสีเสื้อแดงเสียเป็นส่วนใหญ่มาพร้อมกับสัญลักษณ์ธงแดง ตีนตบ
ทุกคนต่างเดินทางมาที่สวนสยามเพื่อร่วมฟังแกนนำพรรคเพื่อนไทยปราศรัยหาเสียงบนเวที
ท่ามกลางพื้นที่เฉอะแฉะหลังฝนตก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประมาณคนลดลงทั้งที่เดินทางมาจับจองพื้นที่กัน
ตั้งแต่ก่อนเที่ยงและทยอยมาเรื่อยๆในช่วงเย็น



สำหรับชาวบ้านที่เดินทางมาฟังปราศรัยมีทั้งคนในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง
ที่ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนแต่เดินทางมาให้กำลังใจ
บางคนมาไกลจากภาคอีสานโดยเฉพาะกลุ่มคนรักอุดรที่นัดแนะกันมาให้กำลังใจ
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เบอร์ 4
นางประยงค์ แก้วกล้า ชาวอุดรธานี บอกว่าเคยเป็นแม่ครัวให้กับผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์กว่า 2 เดือน
และกลับบ้านเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ตอนที่มีการสลายการชุมนุม
กลุ่มคนรักอุดรกว่า 10 คน เหมารถกระบะจ่ายคนละ 200 บาท เดินทางมาตั้งแต่เมื่อวาน(22ก.ค.)
เพื่อร่วมฟังปราศรัยและมาช่วยนายก่อแก้วหาเสียง
โดยตระเวนขับรถไปยังเขตเลือกตั้งที่ 6 ไม่ค่อยรู้ทางกันเท่าไร
ขับไปย่านคลองสามวา บึงกุ่ม
นั่งท้ายกระบะโบกไม้โบกมือให้กับคนกรุงเทพฯตะโกนให้ช่วยลงคะแนนให้นายก่อแก้ว
ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีคนกรุงเทพฯยังโบกมือให้พวกเราที่มาจากบ้านนอก
แม้จะไม่ค่อยรู้ทางแต่ก็ขับไปเรื่อยๆ


"พวกเรามาเองอยู่บ้านก็อึดอัดเพราะมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะใส่เสื้อสีแดงก็ไม่ได้
เพราะมีคนคอยจับจ้องจึงเดินทางมาที่นี้เพราะว่าคิดถึงพี่น้องคนเสื้อแดงและแกนนำ
พวกเรายังจำกันได้ดีตอนที่ถูกปืนไล่ยิงต้องหนีตายปีนรั้วโรงพยาบาลตำรวจเข้าไปหลบภัย"

นางประยงค์ กล่าว


น.ส.ผ่องพรรณ ริยะขัน อายุ 27 ปี ขึ้นไปนั่งฟังปราศรัยบนหลังรถ ให้สัมภาษณ์ว่า
เคยเป็นอาสาพยาบาลที่แยกราชประสงค์ เดินทางมาจากบางนา หลังจากเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.
พวกเราต้องแยกย้ายกันกลับบ้านแบบไม่เต็มใจวันนี้มาดูบรรยากาศคิดถึงคนเสื้อแดง
แม้พวกเราจะนัดเจอกันเป็นกลุ่มย่อยบ่อยครั้ง
แต่วันนี้ได้มาดูบรรยากาศเห็นคนเสื้อแดงเดินทางมาเป็นจำนวนมาก
รู้สึกดีใจที่คิดว่าเราไม่ได้สู้คนเดียวแม้พื้นจะเฉอะแฉะแต่ก็ยังนั่งทนฟังกัน
และรู้สึกตื่นตันตั้งแต่ขับรถเข้ามาเห็นรถจอดเต็มไปหมด


"นับว่าเป็นจังหวะดีที่คนเสื้อแดงจะได้มาเจอกันมาเห็นแบบนี้แล้วรู้สึกอบอุ่นขึ้น
หลังจากที่เจอมรสุมมานาน สงสารชาวบ้านที่เขามาชุมนุมตอนที่เป็นพยาบาลอาสา
ก็ได้ช่วยแจกจ่ายยาให้ผู้ชุมนุม ได้เห็นความอดทนของพวกเขาที่ต้องจากบ้านมาไกลมาต่อสู้
เพื่อเรียกร้องความถูกต้องความเป็นธรรมแต่สุดท้ายก็ต้องกลับบ้านไปพร้อมความทุกข์
หากที่ไหนมีเวทีเสื้อแดงจะไปร่วมทุกครั้ง
และรอดูว่าที่จะมีการจัดคอนเสิร์ตที่สมุทรสาครจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ถ้ามีก็ไป "
น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว


น.ส. ฐิตาลี ศรีธงไชย ชาวโคราช เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาคร
เพื่อมาร่วมฟังปราศรัยเหมารถกระบะมา 3 คัน มากันทั้งหมด 60 คน ให้สัมภาษณ์ว่า
ยอมทิ้งบ้านเกิดเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้กับกลุ่มคนเสื้อแดง
หลังจากที่มีกำนันผู้ใหญ่บ้านแวะเวียนไปหาที่บ้านถามหาบอกว่า
จะช่วยเยียวยาทั้งที่เราไม่ได้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตแทนที่จะไปช่วยเหลือคนที่บาดเจ็บล้มตาย
เชื่อว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์จึงตัดสินใจลาขาดจากบ้านเกิด
โดยบอกแม่ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเราจะไม่กลับไปอีกแล้ว
เพื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่จะได้ไม่ต้องมารบกวนแม่ที่อายุมากแล้วให้เป็นทุกข์และกังวลอีก

แม้เราจะไม่ใช่แกนนำก็ยังถูกตามไล่ล่าอีกแบบนี้ไม่มีความยุติธรรมอีกแล้ว
เชื่อว่าการติดตามของเจ้าหน้าที่เกิดจากการสแกนชื่อตอนที่ออกมาจากวัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 20 พ.ค.


"ที่มาไม่ใช่ว่าเราจะชอบทักษิณ(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี)
เมื่อก่อนมาร่วมชุมนุมทุกวันหลังเลิกงานพวกเราก็เหมารถกันมาเอง
ไม่ชอบที่ประเทศต้องมี 2 มาตรฐาน ไม่มีทางออกให้คนจน
รู้สึกว่าตอนนี้โดนคุกคามโดนติดตาม มาเห็นเพื่อนเสื้อแดงวันนี้รู้สึกว่าดีใจ
หลายคนที่เจอกันบอกเหมือนกันว่าโดนไล่ล่า ทางการบอกว่าเข้ามาหาในแบบปรองดองแต่กับคนตายไม่ไปเยียวยา
แล้วตอนนี้เราจะไปบอกใครให้มาช่วยเราได้ จะสู้จนกว่าเราจะไม่มีชีวิต
เพราะเราผ่านความกลัวที่สุดในชีวิตมาแล้ว การหนีตายจากเสียงปืนเสียงระเบิดไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว
ถ้าสู้ไม่ได้ก็ถอยทำอะไรได้ก็ทำไป คนที่มาวันนี้ล้วนแต่พกความแค้นไว้แทบทั้งนั้น "
น.ส. ฐิตาลี กล่าว


ขณะที่นายถวิล ขำวงค์ ชาวจังหวัดตราด อายุ 45 ปี ที่ร่วมเดินทางมากับชาวสมุทรสาคร
ให้สัมภาษณ์ว่า
ที่มาร่วมชุมนุมไม่ได้เดือดร้อนอะไรส่วนตัวแต่ทนไม่ได้ที่เห็นคนภาคเหนือกับภาคอีสานถูกดูถูกดูแคลน
พวกเขาเลือกผู้นำประเทศมาก็ถูกกล่าวหาว่าโง่ขายเสียง พอมาร่วมชุมนุมก็ถูกไล่ยิงไล่กลับบ้าน
ประเทศไม่มีความยุติธรรมในสังคมจึงเจ็บใจแทน แม้เราจะเป็นชาวจังหวัดตราดก็ไม่อาจทนนิ่งเฉยได้
สังคมไทยไม่ต้องการปรองดองเพียงแค่ผู้นำมีคุณธรรม จริยธรรมสังคมไทยจะเดินได้เอง



"การได้มาเห็นคนเสื้อแดงรวมตัวกันอีกครั้งได้เห็นภาพเก่าๆก็รู้สึกท้อใจอยากถามว่า
สังคมเป็นอะไรไปทำไมปล่อยให้ผู้นำประเทศโกหก หลอกลวง บางครั้งคิดว่าจะสู้ทำไม
เพราะเราก็อยู่สบายแล้ว แต่ทนดูไม่ได้จริงๆวันที่เขาให้โทรเข้าไปแสดงความเห็นตามโครงการรัฐบาล
ผมโทรไปถามว่า คนไทยโง่หรือนายกฯอภิสิทธิ์(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี)โกหกเก่ง
คนตายยังไม่มีใครลุกขึ้นว่าทำไมไม่มีใครออกมาเรียกร้องหาคุณธรรมจากผู้นำบ้าง"
นายถวิล กล่าว


นายถวิล บอกอีกว่า ในวันที่มีการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์หลังจากที่แกนนำประกาศยุติตัวเอง
ได้หนีเข้าไปหลบในวัดปทุมวนารามวรวิหารกับเพื่อนๆ
และไปนอนหมอบอยู่ข้างพยาบาลอาสา 2 คนที่ถูกยิงเสียชีวิต
และนักข่าวต่างชาติที่ถูกยิงบาดเจ็บ ชีวิตที่ต้องมานอนหมอบกระสุนในประเทศที่เรียกว่าประชาธิปไตย
คนต้องมาหลบกระสุนปืนของทหารที่ยิงลงมาจากรางรถไฟฟ้า



"หลังจากที่ผมช่วยหามคนแก่เข้าไปพฐมพยาบาลภายในวัดด้านใน
นึกถึงสภาพที่หามคนเจ็บเข้าไปแล้ว
ลูกชายของเขาเมื่อเห็นพ่อถูกยิงเริ่มสติแตกเขาวิ่งถอดเสื้อเพื่อจะออกไปถามทหารว่า "ยิงพ่อกูทำไม"
ยังดีที่มีคนเสื้อแดงคอยฉุดรั้งไม่ให้ออกไป
จากนั้นผมกลับไปยังจุดเดิมที่มีคนหมอบอยู่
ตอนนั้นนักข่าวฝรั่งถูกยิงแล้วจะเข้าไปช่วยทันทีก็ไม่ได้
เพราะกลัวถูกกระสุนปืนต้องค่อยๆคืบคลานเลาะกำแพงเข้าไปหามเข้าไปในวัดชั้นในเพื่อปฐมพยาบาล
แล้วคืนนั้นก็ไม่มีใครกล้านอนในที่โล่งต้องเข้าไปนอนอัดกันภายในป่าหลังวัด
รอจนตอนสายวันรุ่งขึ้นตำรวจเข้ามารับบอกว่าหากทหารจะยิงต้องยิงนายตำรวจก่อน
พวกเราถึงกล้าออกมา
เห็นชัดว่าทุกคนเครียดมาก น้ำจะกินก็ยังไม่มี
ตอนเช้ายังมีเสียงปืนดังอีกคิดดูว่าเหมือนอยู่ในสงคราม"
นายถวิล กล่าว


ขณะที่ 2 ยายเสื้อแดงทีกำลังยืนรอรถอยู่ข้างถนนหน้าสวนสยามหารถที่จะผ่านไปแถวตลิ่งชั่น
เพื่อจะต่อรถเมล์กลับบ้านที่พุทธมณฑล สาย 4
นางพร ตรีโครต อายุ 61 ปี ชาวจังหวัดหนองคายที่มาอยู่กรุงเทพฯกับลูกบอกว่า
จะโบกรถไปแถวตลิ่งชั่นแต่ต้องดูให้ดี
เพราะว่ามีรถผีด้วยจะเรียกแท็กซี่ก็ไม่ได้รอโบกรถคนเสื้อแดงขอติดรถกลับด้วยดีกว่า



ระหว่างนั้นก็มีรถประจำทางสายหนึ่งผ่านมาคนบนรถเรียกยายทั้ง 2 ให้ขึ้น
และบอกว่ารับแต่คนเสื้อแดงน่าเสียดายที่รถคันดังกล่าวไม่ได้ผ่านไปทางตลิ่งชั่น



นางพร บอกว่า อึดอัดอยากมาร่วมชุมนุม
วันนี้ขอลูกออกจากบ้านมาแต่เช้าจากพุทธมณฑลนั่งสาย 123 มาลงสนามหลวง
และต่อรถเมล์สาย 60 มาถึงสวนสยาม แต่ตอนกลับไม่เห็นรถสาย 60




ขณะที่ถนนหน้าสวนสยามมีฝั่งละ 3 เลน มีรถจอดอยู่ 3 แถว และเหลือเพียงช่องทางเดียวให้รถผ่านไปได้
ทำให้การจราจรติดขัด หลังจากที่ยายทั้งสองยืนรอรถสักพัก
ก็มีรถคนเสื้อแดงขับผ่านมาแล้วชวนยายขึ้นรถไปด้วยและยายก็ขึ้นรถไปอย่างไม่ลังเลบอกว่า
คนนี้จำได้รู้จักกันแม้ว่ารถคันดังกล่าวจะไปลาดพร้าวซึ่งเป็นคนละเส้นทาง
แต่ยายก็ขอสัญจรไปกับคนที่ไว้ใจดีกว่า
แม้จะต้องไปหลงอยู่แถวลาดพร้าวก็ยอม แต่ไม่ยอมขึ้นรถคนแปลกหน้าเด็ดขาด "กลัวกลับไม่ถึงบ้าน"

ภาพปราศรัยใหญ่นัดสุดท้ายเบอร์1 VS เบอร์4

ที่มา Thai E-News




2บรรยากาศ-ภาพเวทีปราศรัยใหญ่นัดสุดท้ายของนายก่อแก้ว พิกุลทอง ผู้สมัครหมายเลข 4 พรรคเพื่อไทย กับเวทีปราศรัยของนายพนิช วิกฤตเศรษฐ์ เบอร์ 1 พรรคประชาธิปัตย์

The Bangkok Massacres การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ

ที่มา thaifreenews


โดย ลูกชาวนาไทย


ผมดาวน์โหลด "สมุคปกขาวเรื่อง "การสังหารหมู่ที่กรุงเทพ : ข้อเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบ" ของโรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม มาแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด เพราะยาวถึง 76 หน้า คงต้องใช้เวลาอ่านพอสมควร



โลกยุคใหม่ ไม่เหมือนอเมริกันยุค wild wide west ที่ป่าเถือน ตัดสินกันด้วยกำลัง อำนาจอิทธิพล ใครมีปืนก็ฆ่าคนเล่นเพื่อรักษาอำนาจของตนได้ โดยไม่ต้องแคร์หรือรับผิดชองอะไร

โลกยุคนนี้ไม่ได้เหมือนก่อนยุครัชกาลที่ 4 หรือก่อนยุค "ครองเกรสแห่งเวียนนา" หรือก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ใครจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องสนใจอะไรกับชาวโลก

โลกยุคนี้ไม่ใช่ "ป่า" และใช้กฎของป่าเหมือนแต่ก่อน แต่มันเป็นโลกที่มี "กฎระเบียบพอสมควร" แม้ว่า ยังไม่เป็น "โลกแห่งกฎหมาย " (รัฐแห่งกฎหมาย) อย่างนสิ้นเชิงเลยก็ตาม แต่มันก็เริ่มมี องค์กร สถาบัน และกรอบทางกฎหมายระดับโลกขึ้นมาแล้ว

การฆ่าคนเพื่อรักษาอำนาจ โดยไม่สนใจความถูกต้อง ความยุติธรรม เชื่อมั่นในพลังแห่ง "การโฆษณาชวนเชื่อของตน" จนในที่สุด ก็ตกหลุมจนได้

สมุคปกขาวของ เรื่อง "การสังหารหมู่ที่กรุงเทพ" ของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม จะกลายเป็นหลักฐานสำคัญทางคดีต่างๆ ที่จะดำเนินการกับผู้มีอำนาจ และสั่งการให้มีการสังหารหมู่ในช่วงเมษา-พฤษภา 53 เป็นอย่างดี บางคนอาจคิดว่ามันไม่มีผลอะไร แต่ผมคิดว่า "ยามที่ผู้มีอำนาจ ยังมีอำนาจอยู่ ก็อาจใช้อำนาจของตนยับยั้งเรื่องแบบนี้ได้ชั่วคราว" แต่ยามใดที่สิ้นอำนาจลง เมื่อนั้นมันจะมีผลย้อนกลับมาทันที ไม่มีใครมีอำนาจได้ตลอดกาล

การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่รวันดา หรือที่ยูโกสลาเวีย หรือตอนนี้ที่โซมาเลีย "ผู้บงการสังหาร" ก็ถูกนำตัวมาลงโทษ ตอนหมดอำนาจแล้วทั้งสิ้น

และหลักฐานแบบนี้ ก็มักเป็นชนวนสำคัญทำให้ "เผด็จการหมดอำนาจลง" เพราะมันเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้

คดีนี้ไม่มีอายุความ สามารถหยิบขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ในอนาคต อังกฤษ 17 ปีแล้ว นายกรัฐมนตรียังต้องออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ เมื่อผลการสอบสวนย้อนรอยกลับมา

ใครที่คิดจะเป็น "ผู้ยิ่งใหญ่" ติดประวัติศาสตร์ ตอนนี้ไม่ได้เป็นแน่นอนแล้ว ฟันธง

ขั้นตอนในการนำเรื่องนี้ขึ้น ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ยังอยู่อีกยาวไกลพอสมควร

แต่ก็มีการ "ก้าว ๆ แรกไปแล้ว" และมีหลักฐานที่ชัดเจนพอสมควร ที่สำคัญตอนนี้คือ การรวบรวมหลักฐาน พยานต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพราะเป็นการสังหารโหด "ท่ามกลางกล้อง วิดีโอ เป็นจำนวนมากที่สุดในโลกก็ว่าได้" เป็นการสังหารหมู่ ที่มี ภาพถ่ายทุกแง่ทุกมุม

วันนี้ เพราะยังมีอำนาจอยู่ จึงคิดว่าไม่สะเทือน แต่ที่จริงๆ มันสะเทือนแล้ว

ปล. ใครอยากอ่าน ก็ไปดาวน์โหลดเอาเองที่นี่นะครับ

http://www.scribd.com/doc/34676324/The-Bangkok-Massacres-A-Call-for-Accountability


โดย ลูกชาวนาไทย


ผมเห็นข่าวทีั่่พรรคประชาธิปัตย์ตอบโต้แล้ว ก็ใช้วิธีการเดิมคือ "การดิสเครดิสทนายความฝ่ายตรงข้าม" เหมือนที่ทำกันในประเทศไทย เพราะ "สามารถควบคุมสื่อไทยได้ "และคนไทย ก็ยังเป็นประชาชนที่ไม่ค่อยมีวิจารณญาญมากนัก การใช้คำพูดสร้างกระแส "หลอกลวง "อาจใช้ได้กับคนบางกลุ่มอยู่

แต่การ "ดิสเครดิสทนายฝ่ายตรงข้าม" มันไมไ่ด้ผล ในประเทศที่เจริญแล้ว เพราะสิ่งที่ต้องทำคือ "การตอบโต้หลักฐาน" ที่เขายกเอามาขึ้นเป็นประเด็น

ไม่ใช่ยกคำพูดแบบที่เทพไทยพูดว่า "ทนายก็ต้องทำตามคนจ้าง "แน่นอน ทนายก็ต้องทำตามคนจ้าง แต่เขาคงไม่สร้าง "หลักฐานเท็จ เหมือนระบบยุติธรรมของไทย เขาทำหน้าที่ "รวบรวมหลักฐาน" เพื่อฟ้อง หรือให้คนได้เห็น

หากไม่มีหลักฐานมาหักล้างหลักฐานของเขา การ "ใช้โวหารเหมือนที่ถนัดในเมืองไทย" ก็ไม่ได้ผล

ก็เพราะเมืองไทยมันวิ่งกับระบบยุติธรรมได้ จึงไม่ค่อยสนใจหลักฐาน

แต่เรื่องนี้ เป็นระดับโลก ทนายความระดับโลก เขาไม่ยอมเสียชื่อเสียงเขาแน่นอน

ยังไงก็ตายครับ

ทนาย ปชป. เก่งแต่ในบ้าน อย่าง มรว. เสนีย์ ไปต่อสู้กับทนายฝรั่งเรื่องเขาพระวิหาร ยังเสียเขาพระวิหารไปเลย

แต่มาหลอกคนไทยว่า ยังไม่ได้เสีย เพราะตัดให้แต่ "ปราสาทไป" หลอกกันเอง

แต่คำตัดสินของศาลโลกคือ ปราสาทตั้งบนดินแดนเขมร ตามแผนที่ฝรั่งเศส มันเสียทั้งที่ดิน และพื้นที่ 4.7 ตร.กม. นั่นแหละ

แต่ พวก ปชป. ถนัดในการหลอกคนในประเทศ


โดย dreamcatcher

เห็นด้วยกับคุณ ลูกชาวนาไทยทั้งหมดครับ

และขอยืนยันเคยอ่านเอกสารที่บางเว็บมาลงเป็นภาษาอังกฤษ

แต่แปลใจความว่า ปราสาท และอาณาเขต ครับ

ผมก็ว่า ศาลโลกไม่ปัญญาอ่อน ตีความยกให้แค่ปราสาทครับ

แล้วทนายฝ่ายเราไม่เคยไปดูพื้นที่จริง แล้วโทษว่าคนที่ไปสำรวจผิดแต่

ศาลโลกบอกว่า แล้วทำไมไม่ไปดูพื้นที่จริงจะไปโทษแต่ลูกน้องศาลไม่รับฟังหัวหน้าต้องรับผิดชอบทั้งหมดครับ

"เงื่อนไขแห่งความรุนแรง" โดย กาหลิบ

ที่มา thaifreenews

โดย Porsche

เขียนโดย Nangfa

คอลัมน์ : เมืองไทยหรือเมืองใคร?
เรื่อง : เงื่อนไขแห่งความรุนแรง
โดย : กาหลิบ

ไม่ เป็นความลับอีกต่อไปแล้ว
สิ่งที่ระบอบเผด็จการโบราณของไทยกำลังบีบคั้นฝ่ายประชาชนอยู่ในขณะนี้
กำลังนำบ้านเมืองไปสู่ความรุนแรงและการเผชิญหน้ารอบใหม่

รู้ตัวหรือ ไม่รู้ตัวก็ไม่ทราบได้
แต่คำสั่งลับๆ ในรูปการพยักหน้า และคำพูดสั้นๆ สองสามคำจากปากของคนแก่บางคน
กำลังทำให้บ้านเมืองที่ปริร้าวอยู่แล้วใกล้จะถึงคราวแตกแยกออกเป็นเสี่ยง
คนนี้เขาไม่พูดอะไรเยอะหรอกครับ
เพราะเขาใช้เวลาหลายสิบปี
สร้างเครื่องมือแห่งอำนาจมาจนอยู่ตัว ถึงเวลาก็นำมาใช้ได้อย่างแนบเนียน

ควบคุมอำนาจได้อย่างแน่นแฟ้น แต่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย
เพราะไม่เคยปรากฏหลักฐานว่าสั่งการให้ไปฆ่าฟันใคร

ระบอบก็เลยอยู่ได้มาตลอด

ปัญหาคือต่อไปจะรวมสังขารได้ติดหรือไม่

ขณะ นี้คนไทยนับล้านกำลังถูกข่มขู่คุกคามราวกับอยู่ในบ้านป่าเมืองเถื่อน
โดยเฉพาะที่ภาคอีสานและภาคเหนือ
ซึ่งเป็นฐานเคลื่อนไหวหลักสำคัญของขบวนการ ประชาธิปไตย
ต่างส่ายหน้ากันอย่างคับแค้นใจ เพื่อนฝูงพี่น้องถูกฆ่าตาย
บางคนถูกลากตัวไปคุมขังชนิดขังลืม
บางคนถูกยัดคดีไม่รู้จักกี่คดีชนิดไม่ให้เห็นเดือนเห็นตะวัน ถูกข่มขู่
บางคนต้องหนีตายหรือไปกบดานเสียที่อื่น

บ้านเมืองระส่ำ ระสายเพียงเพราะคนแก่บางคนเกิดความไม่มั่นคงทางใจ
และสั่งการอย่างต่อเนื่อง ให้ล้มทำลายขบวนการภาคประชาชนเสียให้จงได้
จนข้าราชการผู้รับคำสั่งจำนวนมากรู้สึกละอายใจไม่อยากทำ
และแอบเอาข้อมูลมาบอกกล่าวให้ฝ่ายประชาชนฟังกันทั่วเมือง
หลายคนรอดตัวรอดตายได้ก็เพราะข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหารแตงโมเหล่านี้

ผู้ เฒ่าผู้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยบางคนถูกขู่ถึงบ้าน
เพราะมีลูกหลานไปพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยอยู่กับเขา
นี่ได้ข่าวว่ายายที่อุบลราชธานีท่านหนึ่งได้รับจดหมายด่าประณามหยามเหยียด ว่า
“โง่ เป็นขี้ข้าทักษิณ” เพียงเพราะยายแกมั่นคงอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย
และไม่เอาด้วยกับระบอบโบราณ
และ ซากเดนของคนเหล่านั้น

การข่มขู่บุคคลที่หาตัวไม่ได้ ก็ไปกระทำกับครอบครัวเขา
เพราะรู้ว่าครอบครัวเป็นแก้วตาดวงใจของแต่ละคน
อย่างกรณี “หรั่ง” เสแสร้งว่าดีกับแม่และพี่น้องของเขา จะกันตัวเป็นพยาน ไม่เอาโทษ
แต่ความหมายอันแท้จริงคือ
การข่มขู่ว่าข้าจะเล่นงานครอบครัวพ่อแม่พี่น้องของ เอ็งเสียเมื่อไหร่ก็ได้
ความตื้นเขินแบบนี้นอกจากจะตบตากันไม่ได้แล้ว ประชาชนยังรู้สึกสะอิดสะเอียน
ทำร้ายเขายังไม่พอ ยังเห็นว่าเขาเป็นคนโง่เง่าเต่าตุ่นอีกหรือนี่

ต่อไปพฤติกรรมเยี่ยง นี้จะหนักขึ้น
เขารู้ดีว่าครอบครัวไม่ได้เห็นคล้อยตามกันไปทุกคน อันเป็นสิ่งธรรมดาสามัญเสียเหลือเกิน
เขาก็จะจี้ลงบนแผลนั้น เพื่อทรมานใจคนเป็นพ่อเป็นแม่
และอาจรวมไปถึงญาติผู้ใหญ่ที่มีบารมีในบ้าน ให้รู้สึกถึงความไม่ลงรอยกันในครอบครัว
ทำให้เกิดความเศร้าใจ
ในที่สุดก็อาจออกปากขอร้องให้ลูกหลานในฝ่ายประชาธิปไตยยอม “ถอย”
จากจุดยืนทางการเมืองโดยเห็นแก่ประโยชน์สุขของครอบครัวตัวเองก่อน

สิ่งเหล่านี้จะเกิดแล้วเกิดอีก เพราะฝ่ายทรราชโบราณเชื่อว่าแบบนี้จะได้ผล

หารู้ไม่ว่าฝ่ายประชาชนเขาก็มีขีดจำกัดของเขาอยู่ด้วย

การ แพร่พิษร้ายของเผด็จการไปทั่วประเทศขณะนี้
สุดท้ายจึงเป็นเงื่อนไขแห่งความรุนแรงที่ช่วยกันสร้างขึ้นในบ้านเมืองโดยตรง
นานเท่าไหร่กว่าพิษร้ายจะไหลซึมไปทั่วตัวนั้น บอกได้ยาก
รู้เพียงว่าไม่นานนักก็จะเห็นผลตอบกลับแล้ว

เมื่อถึงวันนั้นอย่ามาถามว่า
อุบัติเหตุทางสังคมและการเมืองในประเทศนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

ไม่มีเวลาให้แกล้งโง่ครับ.

http://democracy100percent.blogspot.com/2010/07/blog-post_23.html


โดย game001

เมื่อถึงวันนั้นอย่ามาถามว่า
อุบัติเหตุทางสังคมและการเมืองในประเทศนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

ไม่มีเวลาให้แกล้งโง่ครับ.
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ผมว่านี่ละเป็นสิ่งที เจ้า...นายทั้งหลายต้องการ ภาวะวุ่นวาย
เพื่อเป็นเงื่อนไขบริหารอำนาจพิเศษ (เช่น พรบ.พรก.ทั้งหลาย)
เพื่อไม่ให้มีการเลื่อกตั้ง และต่างชาติก็ช่วยไม่ได้เพรามีข้ออ้างอยู่

สิ่งนี้ฟังดูตลกฟ่ายรัฐบาลอยากให้วุ่นวาย แต่ฟ่ายต่อต้านอยากให้สงบ
แต่นี่คือความจริง ผมไม่รู้ว่าส่วนบนของพรรคเพื่อไทยทำไมไม่สื่อสารให้เข้าใจกัน
ส่งสัญญาณให้มันชัดเจนหน่อย


โดย dreamcatcher

กระทู้นี้น่าสนใจมากครับ เพราะช่วงนี้เรากำลังเริ่มมีกิจกรรมกันใหม่

ผมอยากให้ช่วยระดมความคิดว่า เราจะทำอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงเงื่อนไขความรุนแรง

เห็นด้วยกับคุณ game 001 ว่าบางฝ่ายต้องการให้เกิดความรุนแรง

ผมเสนอว่า

การชุมนุมไม่ควรทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ในทุกแง่

ความคิดนี้เกิดจากเมื่อไม่นานผมไปทาน ข้าวที่ร้าน แบล็คแคนย่อน
พอดีได้คุยกับน้องที่เป็นเด็กเสริฟที่คุ้นเคยกัน แต่ผมไม่ได้แวะไปร่วมปี
เค้าก็บ่นว่าคนน้อย ยิ่งช่วงชุมนุมคนน้อยมากพี่เขยเค้าที่ทำโรงแรม
ก็โดนปลดช่วงนั้นยังหางานไม่ได้
ส่วนรัฐบาลนี้เค้าก็ว่ากู้ไปเรื่อยๆยังมองไม่เห็นทางว่าอะไรจะดีขึ้นเลย

ผมก็เลยรู้ว่าคนบางกลุ่มเค้ายุ่งในชีวิตมาก ไม่ได้เป็นแดงหรือเหลือง
แต่เค้าต้องหาปัจจัยสี่ที่ทำให้ชีวิตเค้ารอด
การที่จะบอกว่า เค้าต้องเสียสละ งานเสียทุกๆอย่างเพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้าผมว่ามันดูลอยๆไปครับ
ถ้าเราจะช่วยแก้ปัญหาสังคมเราต้องรู้ก่อนว่าปัญหานั้นคืออะไร ต้องฟังคนที่เค้ามีปัญหา

คราวนี้ชุมนุมที่ไหน ไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน ถ้าจุดมุ่งหมายเราเพื่อ
อธิบายบอกเล่าความจริงที่เกิด รวมทั้งอธิบายแบบโยนิโสมนสิการ
ก็น่าจะลองติดต่อขอใช้ที่วัดเช่นวัด พระธรรมกาย หรือ พุทธมณทล
หรือที่เอกชนต่างๆ

ต้องกำหนดวัตถุประสงค์การชุมนุมให้ชัดเจนว่าเพื่อแผยแพร่ข่าวสาร
เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ไม่ใช่ชุมนุมเพื่อกดดันให้เปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดย
การปิดล้อมบางสถานที่ ไม่ว่าจะโดยตรง หรือทางอ้อม
เพื่อให้เป็นเงื่อนไขสู่การเปลี่ยนแปลง
แต่ก็จะเป็นเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรงได้เช่นกัน