ที่มา ประชาไท
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
11 มิถุนายน 2552
ชื่อบทความเดิม: ความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี
ก. เกริ่นนำ
ในการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ครั้งแรก เมื่อปี 2537 บริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด และบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ซึ่งมีบริษัท อิเล็คตริก พาวเวอร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด หรือ ‘เจเพาเวอร์’ บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เอ็กโก’ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ในทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ได้ชนะการประมูลไอพีพี จำนวน 2 โครงการด้วยกัน คือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,400 เม็กกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกกำลังการผลิตติดตั้ง 700 เม็กกะวัตต์ ตามลำดับ รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสองโครงการ 2,100 เม็กกะวัตต์
ต่อมา ภายหลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่ง คือ บ้านกรูดและบ่อนอก ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เพราะมีประชาชนในพื้นที่จำนวนมากต่อต้านขับไล่ ในที่สุดรัฐบาลกับบริษัทเจ้าของโครงการจึงได้ยุติโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ด้วยการย้ายพื้นที่ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้ามาที่จังหวัดสระบุรี แล้วรวมเป็นโครงการเดียวในชื่อ ‘โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2’ ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 1,468 เม็กกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินที่ถูกต่อต้านอย่างหนักเพราะก่อมลพิษสูง
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว โดยมีบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด (มหาชน) [1] หรือ ‘กัลฟ์อิเล็คตริกฯ’ ดำเนินการบริหาร
ในการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ครั้งที่สอง เมื่อปี 2550 กัลฟ์อิเล็คตริกฯ ได้ก่อตั้งบริษัทลูกชื่อว่าบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด (กัลฟ์ เจพีฯ) ขึ้นมาเพื่อดำเนินการแข่งขันประมูล และได้ชนะการประมูลเป็นจำนวน 2 โครงการด้วยกัน คือ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง และโครงการโรงไฟฟ้าเสม็ดใต้หรือบางคล้า ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งโครงการละ 1,600 เม็กกะวัตต์ รวมสองโครงการเท่ากับ 3,200 เม็กกะวัตต์
ข. สายสัมพันธ์ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย
สำหรับการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ครั้งที่สอง คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานได้มีคำสั่งที่ 8/2550 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (‘คณะอนุกรรมการฯ’) โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน คือ นายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตลอดจนประเมินและคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เหมาะสมเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ต่อไป มีข้อน่าสังเกตว่ากระบวนการประมูลครั้งนี้มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายได้ ดังนี้
1) นายพรชัย รุจิประภา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน และเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการของรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่รัฐวิสาหกิจเข้าไปร่วมทุนหลายแห่ง กล่าวคือ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประธานกรรมการเอ็กโก ซึ่งมี กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. และประธานกรรมการในบริษัทที่ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่น บริษัท ปตท. เคมีคอล จำกัด(มหาชน) และบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด(มหาชน)
และยังเป็นประธานอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนอีกด้วย!
ซึ่่งบุคคลดังกล่าวมี ‘สองฐานะ’ ในขณะเดียวกัน กล่าวคือ
หนึ่ง - เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอหรือซองประมูลขอเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา เพราะว่าเอ็กโกและบริษัทลูกของเอ็กโก คือกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ เป็นบริษัทที่ยื่นข้อเสนอหรือซองประมูลในครั้งนี้ด้วย
ซึ่งทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. หรือบริษัทที่ กฟผ. เข้าไปร่วมทุนด้วย
สอง - เป็นผู้พิจารณาผลของการยื่นข้อเสนอหรือซองประมูลนั้นเอง เพราะนายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานอนุกรรมการฯ
2) 26 มิถุนายน 2550 คณะอนุกรรมการฯ ได้เปิดขายซองประมูลแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั่วไป ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี
26 กรกฎาคม 2550 กระทรวงพลังงาน ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือเกี่ยวกับคุณสมบัติของประธานอนุกรรมการฯ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอหรือซองประมูล ว่ามีความเป็นกลางหรือไม่
ก่อนวันที่ 26 กันยายน 2550 คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วินิจฉัยว่า
“นายพรชัย รุจิประภา ประธานอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอ หรือประธานกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนออยู่หลายแห่ง บุคคลผู้นี้จึงมีสองฐานะในขณะเดียวกัน ทั้งกรณีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอให้พิจารณาและเป็นผู้พิจารณาผลของการยื่นข้อเสนอนั้นเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงพิเคราะห์ได้ว่า การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอหรือประธานกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่จะยื่นข้อเสนออาจเป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่ง พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กรณีเช่นนี้ เจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการ ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองย่อมไม่อาจทำการพิจารณาต่อไปได้ และต้องงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือต้องเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้น” [2]
26 กันยายน 2550 ได้มีคำสั่งจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน แต่งตั้งนายวีรพล จิรประดิษฐ์กุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นประธานอนุกรรมการฯ แทนนายพรชัย รุจิประภา
19 ตุลาคม 2550 ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนได้ทำการยื่นซองประมูลหรือข้อเสนอการผลิตและขายกระแสไฟฟ้าให้กับรัฐ ตามโครงการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
7 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้อนุมัติให้โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า ของกัลฟ์ เจพีฯ เป็น 2 ใน 4 โครงการที่เป็นผู้ชนะการประมูลไอพีพี ครั้งที่สองนี้ในที่สุด
3) ถึงแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.จะเห็นชอบให้ถอดนายพรชัย รุจิประภา ออกจากการเป็นประธานอนุกรรมการฯ เพื่อลบข้อครหาจากสาธารณชนเรื่องการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณา แต่กระบวนการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ในครั้งนี้ ไม่อาจหลุดพ้นสภาพ ‘การเป็นผู้มีส่วนได้เสีย’ หรือ ‘ความไม่เป็นกลาง’ หรือ ‘การผูกขาด’ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่เป็นฝ่ายของตัวเองลงไปได้
เนื่องจากว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่จะต้องเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ได้ส่งบริษัทในเครือของ กฟผ. เอง หรือบริษัทที่ กฟผ. เข้าไปร่วมทุนด้วย คือเอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ มาเป็นผู้ยื่นซองประมูลหรือข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ดังนั้น กฟผ. จึงเป็นหน่วยงานที่มีสองฐานะในขณะเดียวกัน ทั้งกรณีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอให้พิจารณา และเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทในเครือของตัวเองที่ผ่านการพิจารณาเข้ามา
4) มีกระบวนการคล้ายสมยอมกันขึ้นระหว่างเจเพาเวอร์ เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ เพื่อตัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง กฟผ. และเอ็กโก กับกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ว่าทั้งสองบริษัทหลังนี้ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. หรือบริษัทที่ กฟผ. เข้าไปร่วมทุนอีกต่อไปแล้ว เพื่อให้พ้นมลทินเรื่องการถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูลในการเข้าประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง
ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2550 ก่อนที่คณะอนุกรรมการฯ จะเปิดขายซองประมูล มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์หลายสำนักเป็นไปในทำนองว่ากัลฟ์อิเล็คตริกฯ จะทำการขอซื้อหุ้นบริษัทตัวเองจากเอ็กโกที่ถืออยู่ 50% คืนทั้งหมด เพราะเกิดข้อขัดแย้งกัน เนื่องจากเอ็กโกขัดขวางการเจริญเติบโตของบริษัทโดยไม่ยอมให้กัลฟ์อิเล็คตริกฯ ยื่นซองประมูลโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง เพราะเอ็กโกก็แสดงความจำนงยื่นซองประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งนี้เช่นเดียวกัน เอ็กโกจึงเกรงว่าหากยื่นซองประมูลพร้อมกันทั้งสองบริษัทจะเกิดข้อครหาการถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูลได้
ในหนังสือพิมพ์หลายสำนักรายงานคล้ายๆ กันว่าเอ็กโกพร้อมเจรจาขายหุ้นกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ทั้งหมดให้เจเพาเวอร์ โดยมีเงื่อนไขว่าเอ็กโกจะยังคงถือหุ้นในบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ที่ถือหุ้นอยู่ 99.99% โดยเอ็กโกต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นฯ อยู่ 50% (หรือยินดีซื้อเพิ่มเติมทั้งหมดก็ได้) แม้ว่าจะไม่ได้ถือหุ้นใน กัลฟ์อิเล็คตริกฯ แล้วก็ตาม เนื่องจากกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นฯ เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 ขนาดกำลังการผลิต 1,468 เม็กกะวัตต์ โดยเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ กฟผ. ยูนิตแรก 734 เม็กกะวัตต์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา และจะจ่ายไฟฟ้ายูนิตสองเข้าระบบ กฟผ. อีก 734 เม็กกะวัตต์ ในเดือนมีนาคม 2551 เพื่อแลกกับการที่กัลฟ์อิเล็คตริกฯ จะแยกตัวออกมาจากเอ็กโกอย่างเด็ดขาด และมีอิสระในการดำเนินการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง และครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตด้วยตัวเอง
ในท้ายที่สุด ถึงแม้โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองที่เอ็กโกยื่นซองประมูลทั้ง 3 โครงการ รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,800 เม็กกะวัตต์ จะผ่านการพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคทั้งหมด แต่ในขั้นสุดท้ายก็ไม่อาจผ่านการอนุมัติให้เป็นผู้ชนะการประมูลได้แม้สักโครงการหนึ่ง แต่โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า ของกัลฟ์ เจพีฯ ซึ่งเป็นบริษัทหน้าใหม่ในวงการ เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 [3] (คณะอนุกรรมการฯ ได้เปิดขายซองประมูลแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั่วไป ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือไอพีพี ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550) โดยบริษัทแม่คือกัลฟ์อิเล็คตริกฯ กลับเป็นผู้ชนะการประมูลได้ทั้งสองโครงการที่ยื่นซองประมูลเลยทีเดียว
จึงเป็นสิ่งที่น่ากังขาเป็นอย่างยิ่งว่าเอ็กโก และกัลฟ์อิเล็คตริกฯ เล่นละครตบตาประชาชนหรือไม่ ทำไมเอ็กโกจึงไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในครั้งที่สองได้แม้สักโครงการหนึ่ง หรือเป็นเจตนาคล้ายสมยอมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ให้กัลฟ์ เจพีฯ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาโดยกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ซึ่งมีบริษัทแม่คือเจเพาเวอร์เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ต่างชาติที่ถือหุ้นใหญ่อยู่ในทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ได้โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง คือโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า กำลังผลิตติดตั้งรวม 3,200 เม็กกะวัตต์ แล้วให้เอ็กโกมีสิทธิ์เข้าไปถือหุ้นโดยตรงในโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 แทน
การเล่นละครตบตาเช่นนี้ก็เพื่อที่จะทำให้ผู้แข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองรายอื่นๆ ได้คลายความกังวลสงสัยว่า กฟผ. เอ็กโกและกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ไม่ได้ถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูลให้แก่บริษัทในเครือของตัวเองหรือบริษัทที่ตัวเองเข้าไปร่วมทุนด้วย และทำให้ประชาชนผู้อยู่ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองที่เฝ้าติดตามดูสถานการณ์ไม่สามารถสาวโยงใยหรือสายสัมพันธ์ไปถึง ‘กระบวนการถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูล’ ระหว่าง กฟผ. เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ได้อย่างง่ายดาย
ค. ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน
ปัจจุบัน เอ็กโกยังคงถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน 50% ในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ อยู่เช่นเดิม และบริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ถือหุ้นอันดับสอง [4] และเมื่อดูรายชื่อกรรมการในเอ็กโกและกัลฟ์อิเล็คตริกฯ จะพบว่ามีความสัมพันธ์เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ดังนี้
1) นาย วินิจ แตงน้อย ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้มีอำนาจลงนามของเอ็กโก และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ผู้มีอำนาจลงนามของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ [5]
2) นายศักดา ศรีสังคม ดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการเงิน กรรมการบริหารความเสี่ยง กรรมการกำกับธุรกิจในเครือ และกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของเอ็กโก และมีตำแหน่งเป็นกรรมการของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ [6]
3) นายสกุล พจนารถ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารโครงการของเอ็กโก และเป็นกรรมการในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ [7]
ดังนั้น การสร้างข่าวความขัดแย้งในการแย่งชิงการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองของเอ็กโกและกัลฟ์ อิเล็คตริกฯ จนถึงขั้นที่กัลฟ์ อิเล็คตริกฯ จะขอซื้อหุ้นคืนจากเอ็กโกทั้งหมด เพื่อจะได้เป็นอิสระไม่ถูกกีดกันจากเอ็กโกในการแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองและครั้งต่อๆ ไปในอนาคตนั้น จึงเป็นการเล่นละครตบตาประชาชนทั้งประเทศ!
ภายหลังจากที่กัลฟ์ เจพีฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ เป็นผู้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองแล้ว มีกระบวนตัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง กฟผ. เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2551 มีข่าวออกมาว่ากัลฟ์ เจพีฯ บริษัทแม่ของบริษัท เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด และบริษัท สยาม เอ็นเนอร์จี จำกัด ผู้ชนะประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง คือโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า ตามลำดับ เตรียมแยกตัวออกจากกัลฟ์อิเล็คตริกฯ หลังแจ้งเกิด 2 โรงไฟฟ้าใหม่กำลังผลิตรวม 3,200 เม็กกะวัตต์ เฉือนชนะเอ็กโก บริษัทแม่ของกัลฟ์อิเล็คตริกฯ ที่ไม่มีนโยบายให้บริษัทลูกเติบโตในธุรกิจไฟฟ้าอีกต่อไป โดยมีเจเพาเวอร์ จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่เพื่อเตรียมลุยธุรกิจโรงไฟฟ้าในไทย ตั้งเป้าประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีรอบต่อไป รวมไปถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือเอสพีพีด้วย
ข้อเท็จจริงในปัจจุบันก็ยังพบว่ากัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ยังมีสายสัมพันธ์เป็นบริษัทแม่-ลูกกันอยู่ ถึงแม้โครงสร้างผู้ถือหุ้นในบริษัททั้งสองมีสายสัมพันธ์โยงใยที่ดูเหมือนยุ่งเหยิงไปหมด เพื่อไม่ให้สามารถแกะรอยความสัมพันธ์บริษัทแม่-ลูกได้ชัดเจนก็ตาม แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัททั้งสองล้วนเป็นบริษัทลูกของเจเพาเวอร์ บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ กัลฟ์อิเล็คตริกฯ มีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองรองจากเอ็กโก ด้วยสัดส่วนจำนวนหุ้น 49% คือ บริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ส่วนกัลฟ์ เจพีฯ มีผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งคือบริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติไทย ซึ่งทั้งสองบริษัท คือ เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) สัญชาติเนเธอร์แลนด์และสัญชาติไทย ล้วนมีสำนักงานอยู่ในที่แห่งเดียวกัน คือ เลขที่ 388 อาคารเอ็กเชนทาวเวอร์ ห้อง 2003 ชั้น 20 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย กรุงเทพฯ [8]
เมื่อดูรายชื่อกรรมการในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ก็ยังพบว่ามีสายสัมพันธ์เป็นบริษัทแม่-ลูก อยู่เช่นเดิม ดังนี้
1) นายสารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้มีอำนาจลงนามในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในกัลฟ์ เจพีฯ ด้วย [9]
2) นายมาซาฮิเดะ ทาคาราย่า เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในกัลฟ์ เจพีฯ ด้วย [10]
ดังนั้นเอง เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ยังเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นเครือเดียวกันหรือเป็นบริษัทแม่-ลูกกันทั้งในประเด็น ‘ผู้ถือหุ้น’ และ ‘กรรมการบริษัท’ ทั้งก่อนทำการประมูล ในขณะทำการประมูลและหลังจากเป็นผู้ชนะการประมูล ประกอบกับ กฟผ.ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในเอ็กโก [11] (และเอ็กโกเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกัลฟ์อิเล็คตริกฯ) จึงทำให้กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ มีสถานภาพเป็นบริษัทในเครือ กฟผ.หรือบริษัทที่ กฟผ.เข้าไปร่วมทุนอีกทางหนึ่งด้วย จึงเห็นได้ว่าความสัมพันธ์เชื่อมโยงทั้ง 4 บริษัท ที่กล่าวมาไม่อาจลบล้างข้อครหาการถือหุ้นไขว้และฮั้วประมูลลงได้ เพราะว่า กฟผ.เป็นหน่วยงานที่มีสองฐานะในขณะเดียวกัน ทั้งกรณีเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ยื่นข้อเสนอให้พิจารณา และเป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทในเครือของตัวเองที่ผ่านการพิจารณาเข้ามา
ง. สรุป
1) การถือหุ้นไขว้และ ‘ไขว้กรรมการบริษัท’ ใน กฟผ. เอ็กโก กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ในลักษณะเช่นนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการฮั้วประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการสมคบคิดกันทำลายความเป็นธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาลในสังคมไทย ทำลายความไม่เป็นธรรมในกิจการพลังงาน นำมาซึ่งการผูกขาด ปิดกั้นโอกาสของบริษัทหรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในพวกของตน ทำลายการค้าหรือการแข่งขันอย่างเสรีที่เป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
2) กระบวนการไม่ชอบธรรมของการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองเช่นนี้ น่าที่จะมีการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในครั้งแรกเมื่อปี 2537 ว่ามีลักษณะเข้าข่ายการถือหุ้นไขว้และการไขว้กรรมการบริษัทซึ่งนำมาฮั้วประมูลที่เป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเช่นครั้งที่สองนี้หรือไม่ เพราะหากปล่อยให้พฤติกรรมเช่นนี้ลอยนวลต่อไปเกรงว่าจะมีกระบวนการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเยี่ยงนี้ในการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งต่อๆ ไป ในอนาคตได้
3) ขณะนี้กัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ได้ผูกขาดการผลิตไฟฟ้าในจังหวัดสระบุรีเอาไว้ โดยมีโครงการโรงไฟฟ้าในจังหวัดสระบุรีถึง 8 แห่ง [12] ด้วยกัน คือ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือไอพีพี 2 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 และหนองแซง รวม 3,068 เม็กกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหรือเอสพีพี 6 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแก่งคอย 1 หนองแคโคเจนเนอเรชั่น (นิคมฯหนองแค) สระบุรีเอ (ต.ตลิ่งชัน อ.เมือง) สระบุรีบี (นิคมฯหนองแค) คอมไบน์ ฮีท แอนด์ เพาเวอร์ (นิคมฯเอสไอแอล) และอิสดัสเทรียล โคเจน รวม 650 เม็กกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 3,718 เม็กกะวัตต์
4) สาเหตุของการฮั้วประมูลเพื่อให้กัลฟ์ เจพีฯ ได้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีในครั้งที่สอง ทั้ง 2 แห่ง คือ โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงและเสม็ดใต้หรือบางคล้า ก็เพราะบริษัทเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสองได้ทำการซื้อที่ดินกำหนดสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าเอาไว้ล่วงหน้าก่อนยื่นซองประมูลแล้ว และต้องการเป็นกลุ่มบริษัทผูกขาดการเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของจังหวัดสระบุรีด้วย จึงทำการฮั้วประมูลด้วยวิธีที่แยบยลลึกซึ้งเพื่อให้ได้สิทธิในการผลิตไฟฟ้าตามโครงการไอพีพีครั้งที่สองนี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้การซื้อที่ดินเอาไว้ล่วงหน้าต้องสูญเปล่าหากไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูลขึ้นมา
5) การกระทำการไขว้หุ้นและไขว้กรรมการบริษัทนำมาซึ่งการฮั้วประมูลและการผูกขาดการเป็นกลุ่มบริษัทรายใหญ่แห่งเดียวในการผลิตไฟฟ้าให้กับจังหวัดสระบุรีได้ (หรือใช้วิธีเดียวกันนี้เพื่อผูกขาดการเป็นบริษัทรายใหญ่ผลิตไฟฟ้าในจังหวัดอื่นๆ ได้ในอนาคต) จึงทำให้เห็นได้ว่ากลุ่มบริษัทนี้จะไม่หยุดแค่เพียงโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 8 แห่ง ในจังหวัดสระบุรีอย่างแน่นอน น่าที่จะมี ‘โครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง 2’ หรือ ‘โครงการโรงไฟฟ้าภาชี 1’ ในเขตจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อติดกับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง 1 ที่ชนะการประมูลตามโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีในครั้งที่สองนี้
ดังนั้น ภาคประชาชนควรที่จะทำการต่อต้านการฮั้วประมูลและการผูกขาดในกิจการไฟฟ้าเช่นนี้ หากรัฐไม่แก้ไขปัญหานี้ก็เท่ากับว่าโครงการประมูลไอพีพีที่ผ่านมาทั้งสองครั้งและครั้งต่อๆ ไปส่อไปในทางล้มเหลว เพราะไม่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงน่าที่จะเสนอทางออกเพื่อป้องกันการฮั้วประมูลและผูกขาดเช่นนี้ ด้วยการเสนอให้ยกเลิกโครงการประมูลไอพีพีในครั้งนี้และในรอบต่อๆ ไป และนำเสนอการผลิตไฟฟ้าทางเลือกใหม่ๆ ที่กลุ่มบริษัทรายใหญ่เหล่านี้จะไม่สามารถฮั้วประมูลและผูกขาดอีกต่อไปได้ นั่นก็คือการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ สะอาดและปลอดภัยมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น โดยเสนอให้จังหวัดสระบุรีและจังหวัดอื่นๆ ที่พบเห็นพฤติกรรมฮั้วประมูลและผูกขาดการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทต่างๆ เป็น ‘จังหวัดพลังงานแสงอาทิตย์’ หรือ ‘จังหวัดพลังงานลม’ หรือทั้งสองอย่าง เพื่อพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าในระดับครัวเรือน ชุมชนและท้องถิ่นให้มากขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันการฮั้วประมูลและการผูกขาดที่ได้ผลดีที่สุด
และผลประโยชน์ทางอ้อมหรือทางตรงที่ได้อีกอย่างหนึ่งจากจิตสำนึกต่อต้านการฮั้วประมูลและการผูกขาดเช่นนี้ ก็คือพลังงานสะอาดและปลอดภัยจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และลม โดยเฉพาะประชาชนชาวจังหวัดสระบุรีและเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ล้วนแบกรับมลพิษอุตสาหกรรมที่อยู่รายรอบค่อนข้างสูงเหลือเกิน และกำลังจะมีมลพิษเพิ่มขึ้นมาอีกจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
6) ควรที่จะมีการตรวจสอบกัลฟ์อิเล็คตริกฯ และกัลฟ์ เจพีฯ ว่ามีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติมากกว่าของไทยหรือไม่ กล่าวคือ กัลฟ์อิเล็คตริกฯ ถือหุ้นโดยเอ็กโก 50% ที่เหลือถือหุ้นโดยเจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) สัญชาติเนเธอร์แลนด์ 49% และอีก 1% ถือโดยมิตรพาวเวอร์ (ไทยแลนด์) ซึ่งถือหุ้นโดยคนญี่ปุ่นทั้งหมด [13] ซึ่งอาจจะเป็น ‘ผู้ถือหุ้นแต่เพียงในนาม’ หรือนอมินีให้กับเจเพาเวอร์ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่ามีบริษัทต่างชาติถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้ถึง 50% เท่ากับเอ็กโก
ส่วนกัลฟ์ เจพีฯ มีเจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) บริษัทจดทะเบียนในไทย ถือหุ้นเกือบทั้งหมด ซึ่งบริษัทนี้ถือหุ้นโดยเจเพาเวอร์ประเทศญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง หากว่าเจเพาเวอร์ประเทศญี่ปุ่นถือหุ้นส่วนใหญ่ในเจเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) บริษัทจดทะเบียนในไทยจริงนั่นก็เท่ากับว่ากัลฟ์ เจพีฯ เข้าข่ายเป็นบริษัทต่างชาติ ไม่ใช่บริษัทของคนไทย
หากเป็นเช่นนั้นทั้งสองกรณี จึงน่าสงสัยว่าบริษัททั้งสองได้รับสิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนในกิจการไฟฟ้าอย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องของภาษีนำเข้าและส่งออกของรายการเงินสด สินค้า อุปกรณ์ เครื่องจักร ฯลฯ ประเภทต่างๆ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ภาษีการค้า การแสดงงบกำไร-ขาดทุน การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนต่างๆ แก่รัฐและประชาชนไทย หรือมีความเป็นไปได้อย่างไรว่าหากบริษัททั้งสองเข้าข่ายเป็นบริษัทต่างชาติแล้วจะสามารถเข้ามาลงทุนในกิจการไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเสรีได้อย่างไร
7) การถือหุ้นไขว้และไขว้กรรมการบริษัท การฮั้วประมูล และการผูกขาดที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้การประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพีครั้งที่สองที่ผ่านมานั้นเป็นโมฆะ
...........................................................................................................................................
[1] เดิมคือบริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 โดยการร่วมหุ้นกันของบริษัท อิเล็คตริก พาวเวอร์ ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด หรือ ‘เจเพาเวอร์’ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เอ็กโก’ จากประเทศไทย และบริษัท มิตรพาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 49 : 50 : 1 ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้ภาครัฐ ตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนและส่งเสริมให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ (ข้อมูลออนไลน์. เข้าถึงได้จาก http://www.gulfelectric.co.th/www/th/about_company.html วันที่ค้นข้อมูล 20 พฤษภาคม 2552)
[2] บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่อง ความเป็นกลางของกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง : กรณีประธานคณะอนุกรรมการประเมินและคัดเลือกข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทที่จะยื่นข้อเสนอ. เรื่องเสร็จที่ 631/2550. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กันยายน 2550
[3] ข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091017012028021090068095111011066&mftype=a089 (วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2552)
[4] บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท กัลฟ์อิเล็คตริก จำกัด(มหาชน) ในวันประชุมสามัญประจำปีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551
[5] ข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091019012026018090067092103011071&mftype=a091 และ http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091019012029020090067092111008064&mftype=a091 (วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2552)
[6] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 5
[7] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 5
[8] บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2552
[9] ข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091019012029020090067092111008064&mftype=a091 และ http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091017012028021090068095111011066&mftype=a089 (วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2552)
[10] อ้างแล้วในเชิงอรรถ 9
[11] ข้อมูลออนไลน์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=EGCO&language=th&country=TH (วันที่ค้นข้อมูล 10 มิถุนายน 2552)
[12] ข้อมูลออนไลน์. เข้าถึงได้จาก http://www.gulfelectric.co.th/www/th/about_company.html และ http://www.gulf.co.th/gulfjp/TH/aboutus/index.php (วันที่ค้นข้อมูล 20 พฤษภาคม 2552)
[13] ข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า. เข้าถึงได้จาก http://www.dbd.go.th/corpsearch/corpdetail.phtml?mfno1=a092003091017012029016090071091104014069&mftype=a089 (วันที่ค้นข้อมูล 21 พฤษภาคม 2552)